แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1487

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๘


. ในปัจจุบันนี้มีผู้ที่ศึกษาธรรมและนำไปประยุกต์ใช้กันมาก แต่บางครั้งไม่ใช่เพื่อการเจริญสติหรือเจริญปัญญา อาจจะเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น วัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือเพื่อพัฒนาสังคม ผมมีความคิดว่า ถ้าทำไปโดยขาดความเข้าใจ อาจจะทำให้พระสัทธรรมอันตรธานเร็วขึ้น ท่านอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

สุ. พระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรมของพระองค์ จะต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เรื่องที่เข้าใจว่าเล็กๆ น้อยๆ คือ เรื่องกุศล ก็ ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า เป็นกุศลหรือเปล่า หรือเข้าใจว่าเป็นกุศล แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นกุศล ต้องเป็นเรื่องของการขัดเกลา การอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉทอย่างถูกต้อง

การฟังธรรม จะใส่สีอะไรก็ได้ ใช่ไหม ไม่เกี่ยวกับสีอีกเหมือนกัน ใช่ไหม ซึ่งบางคนอาจจะอบรมมา สะสมมาที่จะพอใจในสีหนึ่งสีใด ก็เป็นฉันทะ เป็นอัธยาศัย แต่ไม่ใช่สีที่จะทำให้ดับกิเลส ต้องเป็นปัญญา การพิจารณาอบรมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น

เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน พุทธบริษัทก็มีทั้งที่ เป็นบรรพชิตและเป็นคฤหัสถ์ สะสมมาอย่างไร สภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยอย่างไร ก็พิจารณาเพื่อรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เรื่องกุศลไม่ควรจะคิดว่า เป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องความเห็นถูกจริงๆ

ท่านที่เคยติดในขนบธรรมเนียมใด ต้องพิจารณาหาเหตุผลให้ได้จึงจะเป็นปัญญา แต่ถ้ายังเพียงทำไปๆ ด้วยความไม่รู้ ในขณะนั้นสติเกิดระลึกจะรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นไม่ใช่กุศล แต่เป็นความสงสัย เป็นความไม่รู้ เป็นความติด

ถ้าทุกคนในขณะนี้จะพิจารณาสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยถอดความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกจากสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ ย่อมจะพิจารณารู้ได้ว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งต่างๆ นั้น ก็เป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นไปโดยไม่ขาดสายนั่นเอง ไม่ว่าจะทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน หรือทางใจที่กำลังคิดนึก

สำหรับชีวิตในวันหนึ่งๆ เมื่อศึกษาเรื่องของจิต จะรู้ได้ว่า โดยทั่วไปของแต่ละบุคคลที่จะพ้นจากจิต ๓๘ ดวง ไม่มีเลย ซึ่งก็ไม่ยากต่อการที่จะจำ

จิต ๓๘ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีครบ เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็ทราบได้ว่า ท่านมีอกุศลจิตครบทั้ง ๑๒ ดวงไหม ถ้า ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ต้องครบทั้ง ๑๒ ดวง

สำหรับอเหตุกจิต ทั้งหมดมี ๑๘ ดวง แต่ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มี ๑๗ ดวง เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นที่มีอเหตุกจิตครบ ทั้ง ๑๘ ดวง

และในชีวิตประจำวัน นอกจากอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑๗ ดวง ยังมีมหากุศลจิต ๘ ดวง ที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในการอบรมเจริญความสงบของจิตและในการอบรมเจริญสติปัฏฐานบ้าง ซึ่งเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มี มหากุศลจิต ๘ ดวง แต่มีมหากิริยา ๘ ดวง

ทั้งหมด อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๗ ดวง มหากุศลจิต ๘ ดวง รวม เป็นจิต ๓๗ ดวง และยังมีมหาวิบากอีก ๑ ดวง ซึ่งเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่ไม่พิการแต่กำเนิด มหาวิบากเป็นผลของมหากุศล เมื่อมหากุศลมี ๘ ดวง ผลของกุศลก็ต้องมี ๘ ดวง คือ มหาวิบาก ๘ ดวง แต่ในบุคคลหนึ่งๆ ตามธรรมดา ถ้าไม่กล่าวถึงตทาลัมพนจิต เพราะว่าต้องแยกตามแต่ละบุคคลไปอีก ถ้ากล่าวโดย ทั่วๆ ไป แต่ละคนที่เกิดมาเป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นมหาวิบากดวงหนึ่งใน ๘ ดวง

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยปกติ มีประมาณ ๓๘ ดวง จะมากน้อยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็สำหรับแต่ละบุคคล เมื่อกระทำตทาลัมพนกิจ

เพราะฉะนั้น ควรจะรู้กิจของกามาวจรจิตซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยประมาณ คือ ๓๘ ดวงนี้ว่า แต่ละประเภททำกิจอะไร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ถอดความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกหมด ก็เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดสาย

สำหรับมหาวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในขณะที่ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีมหาวิบากจิตทำภวังคกิจไหม

ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน หรือในขณะที่เมื่อวิถีจิตทางตาดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น ก็เป็นมหาวิบากจิตดวงหนึ่งดวงใดสำหรับบุคคลหนึ่งใน ๘ ดวง แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ไม่มีมหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ก็มีสันตีรณกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิ

ในขณะที่ตื่น เป็นวิถีจิต ซึ่งเป็นกิจของอเหตุกจิต ๑๗ ดวง อกุศลจิต ๑๒ ดวง และมหากุศลจิต ๘ ดวง ถ้าไม่กล่าวถึงตทาลัมพนกิจ อันนี้ก็ยกเว้นไป แต่ให้ทราบว่า ทางตาในขณะที่เห็นมีจิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีทั้งอเหตุกจิต อกุศลจิต และมหากุศลจิต

สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของกรรม ๑๕ ดวง และเป็นกิริยาจิต ๓ ดวง

สำหรับวิบากจิต ๑๕ ดวง แบ่งเป็นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

ทวิปัญจวิญญาณ ได้แก่

จักขุวิญญาณ อกุศลวิบาก ๑ ดวง กุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจเห็น

โสตวิญญาณ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจได้ยิน

ฆานวิญญาณ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจได้กลิ่น

ชิวหาวิญญาณ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจลิ้มรส

กายวิญญาณ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจรู้โผฏฐัพพะ ที่กระทบกายปสาท

สำหรับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เฉพาะกายวิญญาณเท่านั้นถ้าเป็นกุศลวิบากจะเกิดร่วมกับสุขเวทนา และถ้าเป็นอกุศลวิบากจะเกิดร่วมกับทุกขเวทนา เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาสภาพปรมัตถธรรมโดยไม่คิดถึงเรื่องราว ไม่คิดถึงสัตว์ บุคคล จะเห็นได้ว่า ทุกข์จริงๆ คือ ทุกขเวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณอกุศลวิบากดวงเดียวเท่านั้น นอกจากนั้น เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ถ้าผู้ใดดับกิเลสแล้ว ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ไม่มี แต่ทุกขเวทนาที่เกิดกับอกุศลวิบากกายวิญญาณยังมีอยู่

วันหนึ่งๆ มีทุกข์มากไหม ถ้าถาม ทุกคนที่มีทุกข์จะตอบว่า ทุกข์มาก แต่ ทุกข์มากที่มี เป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจ เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส หรือเป็นผลของกรรม ที่ได้กระทำแล้ว ถ้าเป็นทุกข์ที่เป็นผลของกรรมที่กระทำแล้ว จะเป็นทุกขเวทนาที่กระทบกับสิ่งที่แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตึง ไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สบาย นั่นคือทุกข์กาย เป็นผลของกรรม แต่ส่วนใหญ่ พิจารณาดูว่า ความทุกข์ที่มี ที่แต่ละคนบอกว่า มีทุกข์มากๆ นั้น เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส หรือเป็นทุกข์ที่เกิดจากกรรม

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาอุปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

บทว่า อาตุรัสสะ ความว่า ความเดือดร้อนมี ๓ อย่าง คือ เดือดร้อนด้วยความแก่ เดือดร้อนด้วยความเจ็บป่วย เดือดร้อนด้วยกิเลส

ในความเดือดร้อน ๓ อย่างนั้น ความเดือดร้อนด้วยกิเลส มีบทว่า สัลลวิทธัสสะ ความว่า แทงที่หัวใจด้วยลูกศรคือตัณหาที่ถูกซัดไปด้วยอวิชชา เหมือนถูกแทงด้วยลูกศรคือหอกที่อาบด้วยยาพิษ

นี่คือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ของแต่ละคนในวันหนึ่งๆ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้ว จะเป็นเรื่องของทุกข์ใจ คือ ทุกข์เพราะกิเลสมาก

สำหรับทุกข์กาย มีอยู่เป็นประจำที่กาย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงเลย เพราะว่า ส่วนใหญ่จะเห็นแต่ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสคือทุกข์ใจ ที่เดือดร้อน แสวงหาสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรือสรรเสริญ โดยไม่ได้พิจารณาถึงทุกข์ประจำกาย ซึ่งเป็นผลของกรรม

ทุกคนตื่นมา ต้องทำอะไรบ้าง ทราบไหมว่าถ้าไม่ทำจะต้องเป็นทุกข์กาย หรือที่ทำก็เพราะทุกข์กายนั่นเองจึงต้องทำ

ถ้าไม่ทำความสะอาดร่างกาย ได้ไหม จะเกิดทุกข์กายไหม ต้องเกิดแน่ เพราะฉะนั้น การทำความสะอาดร่างกาย การบริหารร่างกาย หรือแม้แต่การบริโภคอาหาร หรือเพียงแต่จะเช็ดหน้าเช็ดตัว ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้ามีกายอยู่ตราบใด ก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดความไม่สบาย ความระคายเคืองที่กายนั้นเอง แต่เมื่อทำจนชินก็ไม่รู้สึกเลยว่า กายนี้เป็นทุกข์ที่สลัดไม่ออก เพราะว่าหนีไม่พ้นเลย ตราบใดที่ยัง มีกายอยู่ก็จะต้องมีทุกข์ประจำกาย ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ แม้แต่พระอรหันต์ ก็ไม่พ้นจากทุกข์เวทนาทางกาย

ใน อรรถกถาอุปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

ภิกษุอรหันต์ไปสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตในที่ไกล กลับมาแล้วก็เก็บบาตร และจีวรไว้ในบรรณศาลา ลงสระที่เกิดเองขึ้นเองในที่ไกล พอให้ตัวแห้งแล้ว กวาดที่พักกลางวัน ตั้งเตียงตั่งไว้ในที่นั้นแล้วหลับ

จริงอยู่ แม้พระขีณาสพก็มีทุกขเวทนาทางกาย

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ ทุกข์กายยังไม่พอ ยังต้องเพิ่มทุกข์ใจเข้าไปอีก เวลาที่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะว่ากรรมทำให้กายปสาทเกิดขึ้นกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่ไม่สบาย ทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับกายวิญญาณ ซึ่งเป็นอเหตุกวิบากจิต แต่ยังไม่พอ ใช่ไหม เดือดร้อนใจ เป็นห่วง เป็นกังวล เพราะฉะนั้น ข้อความในอรรถกถาอุปมาว่า การที่ทุกข์ใจเกิดขึ้นเมื่อทุกข์กายเกิดแล้ว เหมือนกับ การยิงลูกศรซ้ำไปในลูกศรดอกที่ ๑ ที่ยิงแล้ว

เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น เจ็บปวดทรมาน เหมือนกับการยิงลูกศรไปที่หนึ่ง แต่ยังไม่พอ โทมนัส ความกังวล ความเดือดร้อนใจ ก็อุปมาเหมือนกับยิงลูกศรซ้ำไป ที่เก่าอีกดอกหนึ่ง เพิ่มความทุกข์ทรมานขึ้นอีกสักแค่ไหน

แผลเดียว เจ็บมาก เป็นกายวิญญาณที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา ยังไม่พอ ยังมีกิเลส ความห่วง ความกังวล ความเดือดร้อนใจเกิดซ้ำอีก เท่ากับว่าแผลเก่านั้นเอง และยิงลูกศรไปซ้ำอีกดอกหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความทุกข์ทรมานจะเกิดขึ้นมาก สักแค่ไหน

. สมมติว่า เรามีอกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น เช่น เห็นสีที่ไม่สวย หรือมีใครมาด่าเรา มีเสียงที่ไม่ดีอย่างนี้ อย่างไรจะไม่ทุกข์ ในเมื่อเป็นผลของอกุศล

สุ. ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจเสมอในคำชมและในคำด่าทั้ง ๒ อย่าง ไม่หวั่นไหว ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะไม่หวั่นไหวได้ ใช่ไหม

. ก็คิดว่า เป็นผลของอกุศลกรรมให้ผล

สุ. เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรมในวันหนึ่งๆ ที่ว่าทำกรรมแล้วจะได้รับผลอย่างไร เมื่อไร ก็คือ เริ่มจากการเกิด และในวันหนึ่งๆ ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตมี ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง ซึ่งเกิดตามเหตุ ตามปัจจัยในชีวิตประจำวัน บางท่านอาจจะสงสัยว่า ท่านไม่ได้ถูกกระทบกับโผฏฐัพพะอะไร แต่ทำไมรู้สึกคัน หรือเป็นทุกข์กายเกิดขึ้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว และรูปที่กระทบสัมผัสกับกายปสาทเป็นได้ทั้งภายในและภายนอก เพราะฉะนั้น เมื่อธาตุหนึ่งธาตุใดผิดปกติ คือ เสีย ธาตุดินแข็งเกินส่วนเกิดขึ้นในที่ใดกระทบกับกายปสาทจะทำให้เกิดเจ็บ หรือปวด หรือคันขึ้นได้

นั่นเป็นผลของกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้กายปสาทเกิดขึ้นตามควรแก่การที่จะรู้สิ่งที่กระทบกายที่ไม่เป็นที่สบายในขณะนั้น

เปิด  219
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565