แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1489

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๘


เวลาที่นั่งอยู่ที่นี่ และต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่สำคัญเลยว่าจะได้สิ่งนั้นมาโดยวิธีใด ใช่ไหม จะลุกขึ้นไปหยิบเอง หรือคนอื่นจะเอามาให้ก็ไม่สำคัญ จะจับฉวย ในลักษณะใดก็ไม่สำคัญ สำคัญที่ได้สิ่งนั้นมา

เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะต้องรู้ว่า กำลังนั่ง หรือกำลังนอน หรือกำลังยืน กำลังเดิน ในชีวิตประจำวัน ไม่มี มีแต่ต้องการวัตถุสิ่งใดก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ความสนใจอยู่ที่นั่น

อย่างในขณะนี้กำลังเห็น และกำลังได้ยิน ไม่ได้คิดถึงท่าทางที่ว่านั่งอยู่เลย มีใครบ้างที่ต้องมานั่งคิดว่า กำลังนั่งอยู่ท่านั้นท่านี้ เพราะฉะนั้น เรื่องของพรหมบุคคลก็เหมือนกัน พิสูจน์ได้ในชาติที่ยังไม่ใช่พรหมว่า แท้ที่จริงแล้วรูปที่ปรารถนาที่ต้องการ ก็คือ เพียงรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ส่วนรูปใดไม่ปรากฏ มีใครจะปรารถนารูปนั้น อยากจะได้หัวใจไหม ตับ ปอดต่างๆ คิดไหมว่าวันหนึ่งอยากจะได้ ไม่ต้องสนใจเลย มีอยู่แล้ว และไม่สนใจที่จะเห็น ที่จะสัมผัสด้วย แต่สนใจสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู เพราะฉะนั้น รูปใดที่ไม่ปรากฏ ไม่เป็นที่ตั้งของความปรารถนา ก็ไม่ต้องไปนั่งคิด นั่งนึกว่า จะต้องรู้อย่างนั้น จะต้องรู้อย่างนี้

ถ้าจะคิดว่า ต้องรู้ว่ากำลังนั่ง ก็ต้องมาคิดว่า เดี๋ยวนี้หัวใจอยู่ตรงไหน ปอด อยู่ตรงไหน กระเพาะอาหารอยู่ตรงไหน ใช่ไหม ซึ่งไม่มีใครคิดอย่างนั้นเลยเพราะฉะนั้น ไม่น่าจะสงสัยอะไร เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องพิจารณาให้แน่นอนว่า สิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นเป็นที่ต้องการ ที่ติด ที่แสวงหา

. พระพรหม ถ้าแสดงธรรมเรื่องของสติปัฏฐาน ถ้าแสดงว่า เห็นกาย ในกาย ท่านไม่รู้ว่าเห็นกายในกายนั้น เห็นร้อนตามความเป็นจริง

สุ. สติปัฏฐานตามภูมิ อย่างพรหมไม่มีลมหายใจ ไม่มีการแสดง อานาปานสติในพรหมโลก

. ท่านเคยไปแสดงในเทวโลก อย่างสนังกุมารพรหม ท่านเคยแสดงใน เทวโลก

สุ. ที่ไหนก็ตามที่มีรูปที่ปรากฏ ที่จะให้บุคคลใดรู้ได้ ก็แสดงรูปนั้น กับบุคคลนั้น แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีรูปนั้นที่จะให้ปรากฏ จะไปแสดงรูปนั้นกับบุคคลนั้นทำไม อย่างในพรหมภูมิไม่มีอสุภกัมมัฏฐาน และไม่มีอานาปานสติด้วย ตามภูมิ แต่ภูมิใดที่มีลมหายใจก็แสดงอานาปานบรรพกับบุคคลนั้นได้ เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะมีประโยชน์อะไรถ้าจะแสดงอานาปานบรรพกับรูปพรหม

. ผมสงสัยว่า พระพรหมจะไม่รู้จักร้อนสักนิดเลยหรือ

สุ. โผฏฐัพพะมี แต่ต้องกระทบกับกายปสาทเท่านั้นจึงจะปรากฏ

. ถ้าท่านระลึกถึงโผฏฐัพพะในอดีต

สุ. ก็เป็นเรื่องนึก แต่ไม่ใช่ว่าโผฏฐัพพะกำลังกระทบกับกายปสาท

. แต่ท่านรู้ได้ ใช่ไหม

สุ. เป็นเรื่องนึก แต่ไม่มีทางที่จะให้โผฏฐัพพะปรากฏได้ เพราะว่าไม่มี กายปสาท เช่น ในขณะที่กำลังเห็น จะให้รู้ว่าแข็ง เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับพรหม มีรูปอะไรสติของท่านก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้น

. ถ้าไม่พิจารณาถึงพรหมบุคคล ถ้าเราพิจารณาถึงปัจจุบัน สมมติว่าขณะที่เราเคลื่อนไหวเป็นปกติในชีวิตประจำวัน กายไหวไป หรือเหยียดคู้ไป เราก็รู้ด้วยอาการอันนั้นว่า เราทำอาการอย่างนั้นๆ ไปแล้ว อาการที่รู้อย่างนั้น เราอาศัยธรรมอะไร

สุ. ขณะนี้ รู้ว่ากำลังยืนอยู่ หรือว่ารู้อะไร

. ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่รู้ที่ปรมัตถธรรม หลงลืมสติไปก็อาจจะนึกเป็นท่า เป็นทาง แต่อาจจะรู้ตัวได้ว่า เรากำลังยืนอยู่ แต่จริงๆ แล้ว อิริยาบถไม่มี

สุ. จริงๆ แล้ว คิดดูให้ดีว่า เรารู้ที่อิริยาบถหรือเปล่า หรือไม่มีอิริยาบถ ให้เรารู้เลย เรากำลังเห็น และกำลังได้ยิน กำลังกระทบสัมผัส ถ้าเห็นอาหารก็คิดนึกเรื่องอาหาร และมีการบริโภคอาหาร โดยที่ไม่ได้กังวลในเรื่องของกิริยาอาการท่าทางเลย แม้ว่าวิการรูปมี และเป็นจิตตชรูปเกิดขึ้นเพราะความต้องการของจิต แต่ ขณะนั้นไม่ได้ปรากฏ

เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเพิกอิริยาบถที่เคยคิดว่ามี เพราะว่าความจริงแล้ว เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏแก่จิตขณะหนึ่งๆ เท่านั้น ที่กำลังเป็นอารมณ์ที่ปรากฏจริงๆ

ในขณะนี้ พิสูจน์ได้ คิดถึงท่าทางที่ยืน หรือว่ากำลังเห็นและกำลังฟัง โดยไม่ได้คิดเลยว่า รูปกำลังทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างใด เพราะถ้าคิดถึงลักษณะแข็งที่กระทบพื้น ถ้าไม่นึกต่อไป จะมีลักษณะอาการยืนไหม ก็ไม่มี ก็เพิกอิริยาบถไป

ถ. แต่ที่สงสัย คือ เรารู้ตัว ...

สุ. รู้ตัว คือ เรานึกว่ามีตัว ใช่ไหม ความจำว่ามีตัว อย่าลืม อัตตสัญญา ความทรงจำว่า มีรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ทำให้เห็นว่าเป็นเรา ยังไม่ทิ้งเลย เพราะว่ายังไม่ได้เพิกอิริยาบถ เพราะฉะนั้น จึงมีความยึดถือในสิ่งที่ไม่ปรากฏเลยว่า ยังมีอยู่ ซึ่งความจริงแล้วรูปเกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ตามลักษณะของรูปแต่ละรูปไป และเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ที่จะปรากฏแก่จิต ต้องเป็นทีละลักษณะ หรือ ทีละรูป และอาศัยทวารคือทางที่รู้รูปนั้นแต่ละทวารด้วย ไม่ใช่ให้ไปนั่งนึกเอา

เหมือนอย่างเวลานี้ ถ้าไม่นึกก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า กำลังยืน เพราะว่าเห็น ถ้าใครยังคิดว่ายังยืนอยู่ ก็คือยังไม่เพิกอิริยาบถ ยังทรงจำไว้เหนียวแน่นมากว่า ยังมีอยู่

ความจริงแล้วน่าใจหายว่า ไม่มีอิริยาบถใดๆ เลย นอกจากลักษณะแข็ง ที่ปรากฏที่เท้าหน่อยหนึ่ง และขณะที่กำลังกระทบสัมผัสสิ่งใดก็มีแข็งตรงนั้น หน่อยหนึ่ง ไม่มีตัวตน

. ขณะที่เรารู้สึกได้ว่า เรากำลังเคลื่อนไหวไปอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นความเห็นผิด เป็นอัตตสัญญา

สุ. ถ้ารูปหนึ่งรูปใดไม่ปรากฏก็ยังคงเป็นความทรงจำอยู่ว่า เป็นเรา เป็นแขน เป็นขา เป็นมือ เป็นเท้า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว จิตเกิดขึ้นทีละขณะ และรูปก็ปรากฏทีละทาง เพราะฉะนั้น ต้องมีลักษณะจริงๆ ถ้าลักษณะจริงๆ ปรากฏเมื่อไร เมื่อนั้นเพิกอิริยาบถ คือ อิริยาบถไม่มี แม้แต่เวลานี้จริงๆ ก็ไม่มีอิริยาบถปรากฏ

. และเวลาที่เจริญสัมปชัญญบรรพ ที่ให้รู้ว่า ในการก้าวไป ในการ บริโภคอาหาร ก็ให้รู้อาการอย่างนั้น

สุ. เมื่อรูปปรากฏ เมื่อมีรูปปรากฏ ไม่ใช่ให้ไปนึกจำว่า กำลังมีท่าทางเคลื่อนไหว แต่เมื่อรูปใดปรากฏในแต่ละทวาร ก็รู้ลักษณะของรูปนั้นเพื่อเพิกอิริยาบถ อย่าลืมจุดมุ่งหมายว่า เพื่อเพิกอิริยาบถ จึงจะไม่มีตัวตน ถ้ายังมีอิริยาบถอยู่ ก็ ยังมีตัวตนอยู่

. ถ้าเป็นพรหมบุคคล ท่านไม่มีกายปสาท ก็คงไม่มีความนึกคิดอย่างนี้ ...

สุ. ก็เหมือนกับคนที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ ขณะนี้นึกถึงท่าทางหรือเปล่า ฉันใด พรหมก็ฉันนั้น คือ ไม่ต้องไปนึกถึงท่าทางเลย และสำหรับพรหมก็ไม่มีกายปสาทที่จะ รู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งด้วย

. ถ้าเช่นนั้น อาศัยปสาทอะไรที่ประชุมกันเป็นฆนสัญญา ทำให้ยึดถือว่าเป็นอิริยาบถ เป็นการเคลื่อนไหวขึ้นมา สำหรับพรหมบุคคลที่ไม่มีกายปสาท

สุ. ตราบใดที่ยังไม่เพิกอิริยาบถ ก็ยังมีความสำคัญว่ามีเรา ไม่ว่ารูปใด จะปรากฏทั้งสิ้น

. ขอบพระคุณมาก

. พรหมบุคคลไม่มีกายปสาท เปรียบเทียบกับมนุษย์ ถ้ามนุษย์นั้นมีตา แต่ตาบอด เสียจักขุปสาทไป ผู้นั้นก็ไม่มีทางเห็น เหมือนกันไหม

สุ. แน่นอน

. แบบนี้เข้าใจง่ายดี ไม่ต้องไปห่วงว่าพรหมบุคคลจะมีอะไร ก็ตาบอด จะให้เห็นได้อย่างไร ไม่มีทาง พรหมบุคคลก็ไม่มีทางจะรู้กายปสาท

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีทวารใดสำหรับกระทบกับรูปใด ก็เป็นที่ตั้งของความยึดถือทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมปรากฏเพียงทีละลักษณะ และถ้ายังไม่เพิกอิริยาบถ จะไม่ประจักษ์อย่างนั้นเลยว่า สภาพธรรมปรากฏเพียง ทีละทวาร หรือว่าทีละลักษณะเท่านั้น

ในขณะนี้ไม่ได้มีการคิดว่า กำลังนั่ง หรือกำลังนอน หรือกำลังทำอะไร ถ้าคิดก็หมายความว่า เป็นแต่เพียงความทรงจำว่ายังมีอยู่ ทั้งๆ ที่รูปนั้นไม่ได้ปรากฏเลย

สำหรับลักษณะของกายวิญญาณ คือ จิตที่รู้โผฏฐัพพะ อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายอัพยากตธรรม มีข้อความที่แสดงลักษณะ ๔ ของ กายวิญญาณว่า

มีการรู้โผฏฐัพพะซึ่งอาศัยกายปสาทเป็นลักษณะ

เพราะฉะนั้น จำกัดความอย่างนี้แสดงว่า พรหมไม่มีทางที่จะรู้โผฏฐัพพะ หรือโผฏฐัพพะจะปรากฏกับพรหมไม่ได้เลย เพราะว่าลักษณะของกายวิญญาณนั้น มีการรู้โผฏฐัพพะซึ่งอาศัยกายปสาทเป็นลักษณะ

มีอารมณ์สักแต่ว่าโผฏฐัพพะเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีภาวะเผชิญคือกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

มีความปราศไปของปัญจทวาราวัชชนะที่มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์เป็นปทัฏฐานคือ เป็นเหตุใกล้ที่จะให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ธรรมพิสูจน์ได้จริงๆ ขณะที่กำลังพูดถึงเรื่องกายวิญญาณ ก็มีกายวิญญาณ ในขณะนี้ที่กำลังรู้โผฏฐัพพะ และลักษณะของกายวิญญาณก็เพียงรู้โผฏฐัพพะ เท่านั้นเอง ยังไม่ได้คิดถึงท่าทางอิริยาบถอะไรเลย ใช่ไหม ในขณะที่โผฏฐัพพะปรากฏต้องไม่มีอิริยาบถ

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ ทุกนิทเทส ข้อ ๕๒๐ แสดงกายายตนะ คือ กายปสาทที่ซึมซาบอยู่ทั่วตัว มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่า กายายตนะนั้น เป็นไฉน

กายใดเป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพอันเป็นสิ่งที่ เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ สัตว์นี้ถูกต้องแล้ว หรือถูกต้องอยู่ หรือจักถูกต้อง หรือ พึงถูกต้องซึ่งโผฏฐัพพะที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ด้วยกายใดอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ นี้เรียกว่า กายบ้าง กายายตนะบ้าง กายธาตุบ้าง กายินทรีย์บ้าง โลกบ้าง ทวารบ้าง สมุทรบ้าง ปัณฑระบ้าง เขตบ้าง วัตถุบ้าง ฝั่งนี้บ้าง บ้านว่างบ้าง รูปทั้งนี้เรียกว่า กายายตนะ

แสดงว่ากายายตนะไม่ใช่โผฏฐัพพะ เพราะว่ากายายตนะเป็นรูปที่กระทบกับโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ เวลากระทบแล้วโผฏฐัพพะปรากฏ ก็ลืมว่า ที่โผฏฐัพพะปรากฏได้เพราะมีกายปสาท ซึ่งเป็นสภาพที่กระทบกับโผฏฐัพพะ ถ้ากายปสาทไม่มี ไม่ว่าใครที่ไหน จะเป็นพรหม หรือไม่ใช่พรหมบุคคลก็ตาม ถ้าที่นั่น ไม่มีกายปสาท โผฏฐัพพะจะปรากฏไม่ได้เลย

คำอธิบายต่อไปมีว่า

ที่เรียกว่า กายายตนะ ด้วยอรรถว่า เป็นถิ่นเกิด และเป็นที่ประชุมของธรรม มีผัสสะเป็นต้น

อยู่ที่ตัวของทุกคน เวลานี้กายายตนะหรือกายปสาทรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว แต่ศัพท์ที่ว่า เป็นกายายตนะ ก็เพราะเป็นถิ่นเกิดหรือเป็นที่ประชุมของธรรม มีผัสสะที่กระทบกับโผฏฐัพพะทำให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ขณะนี้มีกายปสาทกำลังกระทบกับโผฏฐัพพะหรือเปล่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และกายปสาทรูปก็ดับ

ที่เรียกว่า กายธาตุ ด้วยอรรถว่า เป็นสภาพว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน

ไม่มีใครสามารถไม่ให้ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้น หรือไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุนี้ได้ เพราะว่ากายปสาทรูปเป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตน คือ เป็นรูปที่มีลักษณะกระทบกับโผฏฐัพพะ

ที่เรียกว่า กายินทรีย์ ด้วยอรรถว่า เป็นใหญ่ในการเป็นปัจจัยให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพะ หรือเป็นใหญ่ในการเป็นปัจจัยให้โผฏฐัพพะปรากฏ

นี่ก็แสดงแล้วว่า ถ้าไม่มีกายปสาท ไม่มีทางที่โผฏฐัพพะจะปรากฏได้เลย

เวลานี้ถ้ามองสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาจจะเข้าใจว่า สิ่งนั้นอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แต่เพียงการดูด้วยตา ไม่สามารถปรากฏลักษณะสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนจริงๆ ได้ เพราะไม่ได้กระทบกับกายปสาทซึ่งเป็นกายินทรีย์ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการที่จะให้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่เป็นโผฏฐัพพะปรากฏ เพราะถึงแม้ว่าจะแข็งหรือจะอ่อน จะเย็นหรือจะร้อน แต่ถ้าไม่มีกายปสาท ก็ไม่มีทางที่ลักษณะที่อ่อน หรือลักษณะที่เย็น หรือลักษณะที่ร้อนนั้นจะปรากฏได้เลย

ที่เรียกว่า โลกบ้าง ด้วยอรรถว่า ต้องย่อยยับแตกทำลาย

ที่เรียกว่า ทวารบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นทางนำอารมณ์ไปสู่จิต

อารมณ์มีปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้าไม่มีทวารต่างๆ ย่อมไม่มีทางที่จะนำอารมณ์ไปสู่จิตได้เลย แต่เพราะว่ามีทางที่เป็นทวาร เป็นรูปพิเศษที่สามารถรับกระทบเฉพาะอารมณ์ของตน จึงทำให้อารมณ์นั้นไปสู่จิตได้

ที่เรียกว่า สมุทร ด้วยอรรถว่า อันใครๆ ให้เต็มไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความไม่พอ ทำให้เห็นได้ว่า กว้างขวางและลึกยิ่งกว่ามหาสมุทร เพราะไม่มีทางที่จะเต็ม ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในโลกมนุษย์ ก็ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอ ยังไม่เต็ม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในสวรรค์ก็ยิ่งน่าเพลิดเพลิน ผู้ใดที่ยังมีความติดความพอใจอยู่ก็รู้ได้ว่า ยังไม่เต็ม เมื่อวานนี้ก็ยังไม่เต็ม วันนี้ก็ยังไม่เต็ม ยังคงปรารถนาต่อๆ ไปอีก เหมือนกับมหาสมุทรซึ่ง อันใครๆ ให้เต็มไม่ได้

ที่เรียกว่า ปัณฑระ ด้วยอรรถว่า บริสุทธิ์

ที่เรียกว่า เขต ด้วยอรรถว่า เป็นแดนเขตของธรรมมากมายมีผัสสะเป็นต้น

เป็นทางที่จะนำให้เกิดกุศลธรรม อกุศลธรรมหลายอย่างทีเดียว

ที่เรียกว่า วัตถุ ด้วยอรรถว่า เป็นถิ่นเกิดของธรรมมีผัสสะเป็นต้น

ที่เรียกว่า ฝั่งนี้ ด้วยอรรถว่า นับเนื่องในกายของตน เพราะว่าปสาทรูป ชื่อว่านับเนื่องในอัตภาพ เพราะอรรถาธิบายว่า ทั้งสรีระ ทั้งขันธปัญจกะ ย่อมเรียกว่า อัตภาพ เพราะเหตุที่พาลชนกำหนดถือเอาว่า นี่เป็นอัตตาของเรา

ที่เป็นฝั่งนี้เพราะว่านับเนื่องในกายของตน ฝั่งนี้นี่เต็มไปด้วยโทษภัยหรือเปล่า มีภัยมากมายเหลือเกินต่อชีวิต ซึ่งถ้าไม่มีรูปร่างกาย ภัยต่างๆ ย่อมไม่สามารถมา แผ้วพานได้เลย แต่มีดบาดบ้าง หรือแม้แต่น้ำท่วม ฝนตก ก็เป็นภัยต่อฝั่งนี้ คือ อัตภาพนี้

เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้ไปสู่ฝั่งโน้น ซึ่งปลอดจากภัยทั้งปวง คือ นิพพาน เพราะถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังมีการยึดถือปสาทรูปที่นับเนื่องในกาย ทั้งสรีระ ทั้งขันธปัญจกะ ย่อมกำหนดถือว่า นี่เป็นอัตตาของเรา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเต็มไปด้วย ภัยนานาประการ

ที่เรียกว่า บ้านว่างบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นของสาธารณะหาเจ้าของไม่ได้

กำลังเป็นเจ้าของตาอยู่หรือเปล่า กำลังเป็นเจ้าของหู เจ้าของจมูก เจ้าของลิ้น เจ้าของกายอยู่หรือเปล่า ดูเหมือนว่าเป็นมาตลอดเวลา แต่ความจริงไม่ใช่เลย เพราะใครสามารถที่จะสั่งได้ว่า ให้กระทบอารมณ์นี้ อารมณ์นั้น เมื่อนั่น เมื่อนี่ และบอกว่า ตาของเรา แต่ทำอะไรกับตาของเราไม่ได้ บอกว่าหูของเรา แต่ทำอะไรกับหูของเราก็ไม่ได้ เพราะแล้วแต่ว่าเสียงจะกระทบหูเมื่อไรก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณธาตุเกิดขึ้นได้ยิน และดับไป แม้แต่ในขณะนี้ ก็แล้วแต่ว่าโผฏฐัพพะจะกระทบกายขณะใด ซึ่งไม่ใช่ของเรา เพราะว่าบังคับไม่ได้ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพะนั้น ก็รู้โผฏฐัพพะนั้น เพราะฉะนั้น เรียกว่า บ้านว่างบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นของสาธารณะหาเจ้าของไม่ได้

เมื่อไรจะรู้จริงๆ อย่างนี้ว่า ไม่ใช่ของเรา

การได้ยินเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เกิดโดยทำอะไรไม่ได้เลย เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย การกระทบอ่อนหรือแข็งแต่ละครั้ง ก็ตามเหตุตามปัจจัย

กายปสาทรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว เพราะว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดกายวิญญาณ ต้องอาศัยกายปสาท ถ้ากายปสาทไม่มี ก็ไม่มีการกระทบกับสภาพที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์เวทนาบ้าง หรือสุขเวทนาบ้าง

ถ้าไม่มีกายปสาท จะตัดทุกข์กายไปได้โดยเด็ดขาด ไม่มีการปวดเจ็บ ไม่ว่า จะเป็นปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดตา หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ย่อมไม่มีเลย แต่เมื่อมีกรรมที่ทำให้กายปสาทรูปเกิด กายปสาทรูปก็ต้องเกิด

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ อธิบายคำว่า กาย มีข้อความว่า

ส่วนในกายนี้ ชื่อว่าอุปาทินนกรูป คือ รูปที่มีใจครอง รูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

ส่วนในกายนี้ ชื่อว่าอุปาทินนกรูป มีอยู่เท่าใด กายายตนะซึมซาบอยู่ใน อุปาทินนกรูปนั้นทั้งหมดเหมือนยางใยในปุยฝ้าย ได้รับอุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาล และความแวดล้อมมีประการดังกล่าวแล้ว ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารของวิถีจิต มีกายวิญญาณเป็นต้น ตามสมควร

เปิด  230
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566