แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1500

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


สำหรับเรื่องของทุกข์ เป็นเรื่องที่ไม่ขาด มีเป็นประจำตั้งแต่เกิดจนตาย

อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาชีวิตสูตร มีข้อความว่า

เราทั้งหลายเป็นผู้ถูกชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ครอบงำแล้ว

ในบทว่า ชาติยา เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

การก่อเกิดครั้งแรกของขันธ์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ ชื่อว่าชาติ ความหง่อม ชื่อว่าชรา ความแตกดับชื่อว่ามรณะ ความเร่าร้อนคือการแผดเผาภายใน (ใจ) ของผู้ถูกความเสื่อมเพราะญาติ โรค โภคะ ศีล และทิฏฐิกระทบกระทั่งชื่อว่าโสกะ ความพิลาปร่ำทางวาจาของผู้ถูกความเสื่อมเสียกระทบกระทั่งแล้วชื่อว่าปริเทวะ การเบียดเบียนทางกายของผู้มีกายถูกโผฎฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนากระทบชื่อว่าทุกข์ การเบียดเบียนทางใจของผู้ที่จิตถูกกระทบกระเทือนในอาฆาตวัตถุทั้งหลาย ชื่อว่าโทมนัส ความลำบากแรงกล้าที่เกิดจากความกลุ้มใจของผู้ถูกความเสื่อม แห่งญาติเป็นต้นกระทบ ผู้ไม่สามารถจะยับยั้งไว้ได้แม้ด้วยการครวญคราง ชื่อว่าอุปายาส ผู้ถูกทุกข์ทั้งหลายมีชาติเป็นต้นครอบงำแล้ว ชื่อว่าถูกทุกข์ติดตามแล้ว

ชาติเป็นต้น ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นตัวทุกข์

อย่าลืม ผู้ถูกทุกข์ทั้งหลายมีชาติเป็นต้นครอบงำแล้ว ชื่อว่าถูกทุกข์ติดตามแล้ว

วันนี้อาจจะยังไม่เห็นทุกข์ แต่ว่าทุกข์ไม่ไกล ประเดี๋ยวก็ถึง เพราะว่าทุกข์ติดตามอยู่เสมอ ตราบใดที่เกิดมาก็ไม่พ้นไปจากทุกข์

ความคิดที่ว่า

แม้ไฉนการทำการตัดขาด คือ กิริยาที่สิ้นสุดลงแห่งกองทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ

ต้องเป็นความคิดของผู้อบรมเจริญปัญญาที่จะให้ดับทุกข์ได้จริงๆ แต่ก่อนจะดับทุกข์ได้ ต้องเห็นทุกข์ก่อน ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็ดับทุกข์ไม่ได้

มีใครพ้นจากชาติไหม ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อมีชาติแล้ว ต้องมีชรา ต้องมีมรณะ และต้องมีความเร่าร้อนจากทุกข์ใจและทุกข์กาย

อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อชาตสูตร ข้อ ๒๒๑ มีข้อความว่า

… พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ธรรมชาติอันเกิดแล้ว มีแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว ไม่ยั่งยืน ระคนด้วยชราและมรณะ เป็นรังแห่งโรค ผุพัง มีอาหารและตัณหาเป็น แดนเกิด ไม่ควรเพื่อยินดีธรรมชาตินั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาตินั้น เป็นบทอันระงับ จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ยั่งยืน ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้นพร้อม ไม่มีความโศก ปราศจากธุลี ความดับแห่งทุกขธรรมทั้งหลาย คือ ความที่สังขารสงบระงับ เป็นสุข ฯ (คือ ไม่เกิดอีกเลย)

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล

จบ อชาตสูตรที่ ๖

เมื่อกี้สิ่งที่เกิดดับแล้ว ขณะนี้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นซึ่งก็กำลังดับ และต่อไปก็มี สภาพธรรมเกิดสืบต่อตามเหตุตามปัจจัยซึ่งเป็นทุกข์ จนกว่าจะสามารถดับการเกิดได้

สำหรับเรื่องของทุกข์กายหรือทุกข์ใจก็ตาม ที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สบาย ใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุติยเวทนาสูตร แสดงลักษณะของทุกขเวทนาที่สาธารณะทั่วไปกับ ทุกบุคคลไม่ว่าใคร มีข้อความว่า

ทุกขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็ดี ถึงฐีติขณะ (ขณะที่ดำรงอยู่) ก็ดี แตกดับไปก็ดี ย่อมเบียดเบียนทั้งนั้น เหมือนลูกศรกำลังเสียบเข้าสรีระก็ดี หยุดอยู่ก็ดี กำลังถอนออกก็ดี ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เห็นทุกข์นั้นโดยความเป็นลูกศร

นี่คือลักษณะของทุกขเวทนา ไม่ว่าขณะที่กำลังเกิด ก็เป็นสภาพที่เดือดร้อน เป็นทุกข์ ในขณะที่ยังไม่ดับ หรือว่าแม้ในขณะที่ดับไป ย่อมเบียดเบียนทั้งนั้น นั่นคือสภาพของทุกขเวทนา

เพราะฉะนั้น เวทนาใดที่เกิดขึ้น และอยากให้เวทนานั้นหมดไปเสียเร็วๆ นั่นคือลักษณะของทุกขเวทนา ซึ่งทุกคนรู้จักลักษณะของทุกขเวทนา เพราะว่าคนที่จะไม่มีทุกขเวทนาเลยนั้น ไม่มี

สำหรับทุกข์ของแต่ละคนในวันหนึ่งๆ ที่เกิดมา ย่อมต่างกันไปตามเหตุ ตามปัจจัย แต่ว่าเมื่อยังมีกายปสาทอยู่ ก็มีปัจจัยทำให้ทุกขเวทนาเกิด

ขอกล่าวถึงทุกข์ของพระราชาองค์หนึ่งใน อรรถกถา ภารทวาชสูตรที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

ภิกษุนั้น ชื่อว่าปิณโฑละ เพราะบวชเสาะแสวงหาก้อนข้าว ในสมัยที่ท่านเป็นพราหมณ์ผู้สิ้นเนื้อประดาตัว ท่านเห็นลาภและสักการะของภิกษุสงฆ์จึงออกบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว ท่านถือเอาบาตรภาชนะขนาดใหญ่เที่ยวไป ท่านดื่มข้าวยาคู เต็มภาชนะ เคี้ยวกินขนมเต็มภาชนะ บริโภคข้าวเต็มภาชนะ

สมัยต่อมา ท่านเจริญอินทรีย์บรรลุพระอรหันต์ ท่านจึงชื่อว่าปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว แต่โดยโคตร ชื่อว่าภารทวาชะ เหตุนั้นรวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะ ดังนี้

วันหนึ่งพระเถระเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสร็จภัตตกิจแล้วคิดว่า ในฤดูร้อน จักนั่งพักกลางวันในที่เย็นๆ

พระอรหันต์มีทุกข์ไหม มี ทุกข์อะไร ทุกข์กาย

ต้องเยียวยาไหม ถ้าสามารถจะกระทำได้ ก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นทุกข์กายไป เพราะฉะนั้น แม้ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะท่านก็เห็นว่า จักนั่งพักกลางวันในที่เย็นๆ

ท่านจึงได้เหาะเที่ยวไปในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ริมฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง

ฝ่ายพระเจ้าอุเทนทรงดื่มมหาปานะตลอด ๗ วัน

นี่คือชีวิตที่ต่างกันของผู้ที่ยินดีในความสุขด้วยการพอใจในรส

ในวันที่ ๗ ทรงรับสั่งให้ตกแต่งพระราชอุทยาน แล้วทรงแวดล้อมด้วยข้าราชบริพารหมู่ใหญ่เสด็จไปพระราชอุทยาน ทรงบรรทมบนพระแท่นบรรทมที่ลาดไว้ ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง นางสนมบำเรอคนหนึ่งนั่งนวดฟั้นพระบาทจนพระราชาบรรทมหลับ

เมื่อพระราชาบรรทมหลับแล้ว เหล่าหญิงร้องรำทั้งหลายก็คิดว่า ในเวลาที่พระราชาบรรทมหลับ เราควรจะสนุกรื่นเริงกัน

เป็นชีวิตปกติธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะของนางสนมกำนันในสมัยโน้น แม้ทุกท่านในสมัยนี้ ก็เช่นเดียวกัน

หญิงร้องรำเหล่านั้นได้เข้าไปยังอุทยาน เที่ยวกินผลไม้น้อยใหญ่ ประดับดอกไม้อยู่ เมื่อเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะก็ต่างห้ามกันและกันว่า อย่าทำเสียงดัง แล้วนมัสการท่านพระเถระ

ท่านพระเถระได้แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น โดยนัยว่า พวกเธอพึงละความริษยา พึงบรรเทาความตระหนี่ เป็นต้น

นี่ก็เป็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคล เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ควรจะได้ฟังธรรมที่เหมาะแก่อัธยาศัย

นางสนมผู้นั่งนวดฟั้นพระบาทของพระราชานั้นอยู่ ก็เขย่าพระบาทปลุกพระราชาขึ้น พระราชาก็ตรัสถามว่า หญิงร้องรำเหล่านั้นไปไหน

หญิงนั้นทูลว่า หญิงร้องรำเหล่านั้น นั่งล้อมพระสมณะองค์หนึ่ง

พระราชาทรงพระพิโรธเหมือนเกลือใส่เตาไฟ กระทืบพระบาท ทรงพระดำริว่า เราจะให้มดแดงกัดสมณะนั้น

นี่คือความโกรธ เป็นทุกข์ไหม ไม่น่าจะเป็นทุกข์เลย แต่ก็เป็นทุกข์ใจเมื่อได้ยินคำที่ไม่น่าพอใจ หรือได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

เมื่อพระราชาเสด็จไป ได้ทอดพระเนตรเห็นรังมดแดงบนต้นอโศก ทรงเอา พระหัตถ์กระชากลงมา รังมดแดงขาดตกลงบนพระเศียรพระราชา ทั้งพระวรกาย ได้เป็นเสมือนเกลื่อนไปด้วยแกลบข้าวสาลี และเป็นเสมือนถูกประทีปด้ามเผาเอา

พระเถระทราบว่าพระราชากริ้ว จึงเหาะกลับไปด้วยฤทธิ์ หญิงแม้เหล่านั้น ก็ลุกขึ้นไปใกล้ๆ พระราชา ทำทีเช็ดพระวรกาย จับมดแดงที่ตกลงที่พื้น โยนไปที่ พระวรกาย และเอาหอกคือปากแทงมดดำมดแดงเหล่านั้นว่า นี้อะไรกัน พระราชาเหล่าอื่นเห็นบรรพชิตทั้งหลายแล้วไหว้ แต่พระราชาพระองค์นี้ ทรงประสงค์จะทำลายมดแดงบนศีรษะ

คือ แทนที่เห็นพระเถระแล้วจะไหว้ กลับมากังวลกับการทำลายมดแดงบน พระเศียร

พระราชาทรงเห็นความผิด จึงรับสั่งให้เรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสถามว่า บรรพชิตรูปนี้ แม้ในวันอื่นๆ มาในที่นี้หรือ

คนเฝ้าพระราชอุทยานกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า

พระราชาตรัสว่า ในวันที่ท่านมาในที่นี้ เจ้าพึงบอกเรา

อีก ๒ - ๓ วัน ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะก็มานั่งที่พระราชอุทยาน เมื่อคนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นก็คิดว่า นี้เป็นบรรณาการใหญ่ของเรา จึงรีบไปกราบทูลพระราชา

พระราชาเสด็จลุกขึ้น ทรงห้ามเสียงสังข์และบัณเฑาะว์เป็นต้น ได้เสด็จไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์ผู้มีชื่อเสียง และได้ขอให้ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแสดงธรรม ซึ่งท่านพระปิณโฑลภารทวาชะก็ได้แสดงธรรมว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสให้เป็นผู้คุ้มครองทวาร ๖

ก็ยังมีโอกาสที่รู้ว่า ผิด และเห็นว่าสิ่งใดควร จนกระทั่งได้ฟังพระธรรม

และไม่ว่าจะเป็นภพไหน ชาติไหน จะเป็นใครก็ตาม จะต้องมีเรื่องของทุกข์ทั้งสิ้น ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ชราวรรคที่ ๕ ชราสูตร ข้อ ๙๖๒ ซึ่งมีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของวิสาขามิคารมาตา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วประทับนั่งผินพระปฤษฎางค์ผิงแดดในที่มีแสงแดดส่องมาจากทิศประจิมอยู่

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว บีบนวดพระกายของพระผู้มีพระภาคด้วยฝ่ามือพลางกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว เวลานี้พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน พระสรีระก็หย่อนย่นเป็นเกลียว พระกายก็ค้อมไปข้างหน้า และความแปรปรวนของอินทรีย์ คือ พระจักษุ พระโสตะ พระฆานะ พระชิวหา พระกาย ก็ปรากฏอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ชราธรรมย่อมมีในความเป็นหนุ่มสาว พยาธิธรรมย่อมมีในความไม่มีโรค มรณธรรมย่อมมีในชีวิต ผิวพรรณไม่บริสุทธิ์ ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน สรีระก็หย่อนย่นเป็นเกลียว กายก็ค้อมไปข้างหน้า และความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ก็ปรากฏอยู่

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ถึงท่านจะติความแก่อันเลวทราม ถึงท่านจะติความแก่อันทำให้ผิวพรรณทรามไป รูปอันน่าพึงใจก็คงถูกความแก่ย่ำยีอยู่นั่นเอง แม้ผู้ใดพึงมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี ผู้นั้น ก็ไม่พ้นความตายไปได้ สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นเบื้องหน้า ความตายย่อมไม่ละเว้นอะไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว

เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ เป็นโรคภัยก็เป็นทุกข์ ตายก็ต้องเป็นทุกข์

ข้อความในอรรถกถาจะอธิบายความละเอียด ซึ่งบางท่านอาจจะไม่สนใจ แต่ถ้าไม่สนใจ อาจจะเข้าใจเรื่องของพระผู้มีพระภาคคลาดเคลื่อนได้

ข้อความในอรรถกถามีว่า

คำว่า ผินพระปฤษฎางค์ผิงแดด ความว่า ในพระสรีระที่เป็นอุปาทินนกสังขาร (คือ ที่มีใจครองที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน) แม้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาร้อนก็ร้อน ในเวลาเย็นก็เย็น ก็สมัยนี้เป็นสมัยหนาว มีน้ำค้างตก ฉะนั้น ในเวลานั้น จึงทรงเอามหาจีวรออก แล้วเสด็จประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ผิงแดด

ถามว่า แสงแดดสามารถข่มรัศมีพระพุทธเจ้าเข้าไปภายในได้หรือ

ตอบว่า ไม่ได้

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรส่องให้ร้อน

ตอบว่า เดชแห่งรัศมีส่องให้ร้อน เหมือนอย่างว่า แสงแดดถูกต้องตัวคนที่นั่งโคนไม้ใต้ร่มที่เป็นปริมณฑลในเวลาเที่ยงไม่ได้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น ความร้อนก็ยังแผ่ไปทุกทิศ เหมือนเอาเปลวไฟมาล้อมรอบฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อแสงแดดไม่สามารถข่มรัศมีพระพุทธจ้าแล้วแทรกเข้าไปข้างในได้ ก็พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับนั่งรับความร้อนอยู่

คือ คนที่แดดกำลังร้อน และนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ แม้ว่าจะไม่ถูกแสงแดด แต่ก็มีความรู้สึกร้อนฉันใด พระวรกายของพระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น แม้ว่าความร้อนไม่อาจจะแทรกเข้าไปในภายในได้ แต่ว่าความร้อนที่มีล้อมรอบอยู่ สามารถทำให้ร้อนได้

ขณะที่ท่านพระอานนท์นวดฟั้นพระผู้มีพระภาค ท่านได้เห็นรอยหย่อนยาน เท่าปลายผม เหมือนขดทองคำในระหว่างปลายพระอังสะ (บ่า) ทั้งสองข้างของพระองค์ผู้ประทับนั่ง จึงเกิดความสังเวช

บางท่านฟังดูอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแก่หง่อมงอม ในเมื่อพระชนมายุถึง ๘๐ พรรษา แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ที่ท่านพระอานนท์เห็นความชราของพระผู้มีพระภาค ก็เพราะท่านพระอานนท์นวดฟั้นพระผู้มีพระภาค และสังเกตเห็นรอยหย่อนยานเท่าปลายผม เหมือนขดทองคำในระหว่างปลายพระอังสะทั้ง ๒ ข้างของพระผู้มีพระภาค

เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะวาดภาพพระผู้มีพระภาคก่อนที่จะปรินิพพานอย่างแก่มาก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เมื่อจะตำหนิความแก่ว่า แม้แต่ในพระสรีระขนาดนี้ก็ยังปรากฏมีความแก่จนได้ จึงกล่าวอย่างนั้น

แม้เพียงเล็กน้อย ท่านพระอานนท์ก็เกิดความสังเวช เพราะไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อน

เมื่อแสดงว่า พระฉวีวรรณที่หมดจดโดยปกติ ไม่อย่างนั้นเสียแล้ว จึงทูลอย่างนี้ว่า

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคหาได้หมดจดเหมือนก่อนไม่ พระเจ้าข้า

เมื่อเวลาที่พระตถาคตเจ้ายังทรงหนุ่มอยู่ พระวรกายไม่มีรอยย่น เหมือน หนังโคที่เขาเอาขอตั้งร้อยเล่มมาดึงขึงให้เท่ากันด้วยประการฉะนี้ ฝุ่นละอองที่มาตั้งไว้ในพระหัตถ์นั้นก็ตกหล่นไป ค้างอยู่ไม่ได้เลย เหมือนถึงอาการเช็ดด้วยน้ำมัน แต่ ในยามแก่เฒ่า (สำหรับคนทั่วไป) เปลวที่ศีรษะก็เหี่ยวห่อไป แม้แต่ข้อต่อก็ห่างกันออกไป เนื้อก็ไม่เกาะกระดูกสนิท ถึงความหย่อนยานห้อยย้อยไปในที่นั้นๆ แต่ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาเป็นเช่นนั้นไม่ อาการดังที่ว่ามานี้ หาได้ปรากฏแก่คน เหล่าอื่นไม่ ปรากฏแต่แก่พระอานนทเถระเท่านั้น เพราะท่านอยู่ใกล้ชิด ฉะนั้น ท่านจึงทูลอย่างนั้น

คำว่า พระวรกายก็ค้อมไปข้างหน้า คือ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระกายตรงเหมือนกายพรหม คือ พระกายของพระองค์สูงตรงขึ้นไปเหมือนเสาหลักทองคำที่ปักไว้ในเทพนคร แต่เมื่อทรงพระชราแล้ว พระกายก็ค้อมไปข้างหน้า และท่านว่า พระกายที่ค้อมไปข้างหน้านี้หาปรากฏแก่คนเหล่าอื่นไม่ ปรากฏแต่แก่พระเถระเท่านั้น เพราะท่านอยู่ใกล้ชิด ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น

คำว่า ความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ทั้งหลายก็ปรากฏ คือ ที่ชื่อว่าอินทรีย์ทั้งหลาย หาใช่อินทรีย์ที่ต้องรู้แจ้งด้วยตาไม่ เพราะโดยปกติพระฉวีวรรณก็หมดจด อยู่แล้ว แต่บัดนี้หาได้หมดจดอย่างนั้นไม่ รอยย่นปรากฏที่ระหว่างปลายพระอังสะ พระกายที่ตรงเหมือนกายพรหมก็ค้อมไปข้างหน้า ด้วยเหตุนี้แล ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยการถือเอานัยว่า ก็แลความที่อินทรีย์มีตาเป็นต้นแปรปรวนไปต้องมี

เปิด  246
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566