แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1492

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๘


ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อม เศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ ฯ

การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้ ก็เพื่อให้พุทธบริษัทมีเพียงทุกขเวทนาทางกายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถที่จะบรรเทาทุกขเวทนาทางใจได้ ถ้าปัญญาเกิด รู้ว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะมีความโทมนัสใจเกิดขึ้นเมื่อได้รับอกุศลวิบาก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูพึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำ บุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางใจ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ

อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้นย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้น ย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่อง สลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง

เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนา ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์ ฯ

ส่วนพระอริยสาวกก็ตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีทุกขเวทนาเกิดและเป็นทุกข์เดือดร้อนใจ ให้ทราบว่า เพิ่มทุกข์ให้กับตนเอง เหมือนกับถูกลูกศรดอกที่ ๑ ทางกายแล้ว ยังไม่พอ ยังต้องถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ที่แผลเก่านั้นซ้ำลงไปอีก เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากทุกข์กายแล้ว ยังมีทุกข์ใจด้วย

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทุกข์ใจน้อยลงไหม ไม่ว่าจะได้รับอกุศลวิบากทางตา หรือ ทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แต่ถ้าไม่รู้ วันหนึ่งๆ ทุกข์ใจ มากเหลือเกิน เพิ่มขึ้นมาอีก

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า เมื่อมีทุกขเวทนาทางกายเป็นลูกศรลูกที่ ๑ ที่เสียบแทง ถ้าความทุกข์นั้นลามมาถึงจิตใจจะเป็นลูกศรลูกที่ ๒ ดิฉันคิดว่า บทสวดที่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เพราะฉะนั้น ทุกข์ทางจิตใจนั้นมีสาเหตุมาจากอุปาทานในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง

ถ. อีกข้อหนึ่ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้น กายก็ดี ใจก็ดี พระพุทธองค์ได้ทรงพบหนทางที่จะดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทุกข์ทางใจ เพราะทุกข์กายนั้นดับไม่ได้ เพียงบรรเทาไปครั้งหนึ่ง ก็หวนกลับมาอีก บรรเทาอีก ก็หวนกลับมาอีก ตลอดชีวิตของเรา เช่น ความหิว การเจ็บไข้ได้ป่วย ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอย่างนี้ เป็นต้น และพระพุทธองค์ตรัสว่า หนทางที่สุดโต่ง ๒ ทางนั้น ได้แก่ ทางที่หย่อนไป คือ กามสุขัลลิกานุโยค ดิฉันคิดว่า คนสมัยนี้เวลาเขาเป็นทุกข์ คือ เกิดอุปาทานในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เขาจะมีอุปาทานว่า นั่นแหละคือตัวเขา เขาย่อมเกิดตัณหา อยากได้ เขาจึงมีทุกข์เร่าร้อนไปด้วยโลภะ และอยากจะดับทุกข์คือโลภะนั้น เขาก็เลยบำเรอด้วยกาม คือ การซื้อ ซึ่งเดี๋ยวนี้ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้น เราไม่มีประมาณในการใช้จ่ายเลย พากันสุรุ่ยสุร่าย เพราะจะใช้ดับทุกข์ด้วยการให้ได้ตามใจอยาก ให้สมใจอยาก ซึ่งนั่นไม่สามารถที่จะดับได้เลย ได้ครั้งเดียว แต่ความอยากนั้นก็ไม่สิ้นไป จะหวนกลับมาอยากอีก อยากอยู่อย่างนี้จนกระทั่งตาย จึงไม่ได้ดับทุกข์ตามทางของพระพุทธองค์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

ส่วนทางที่ตึงเกินไปนั้น คือ อัตตกิลมถานุโยค บางคนเมื่อมีทุกข์ทางใจเกิดขึ้น อยากจะดับทุกข์นั้น ที่ทำอันตรายแก่ตัวเองอย่างที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ถือเป็น อัตตกิลมถานุโยค ใช่ไหม อย่างรุนแรงที่สุด และมีผู้เล่าให้ฟังว่า ลูกเขาเมื่ออายุ ๓ – ๔ ขวบ ถ้าโดนขัดใจอะไร คือ อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ ก็จะวิ่งเอาศีรษะชนฝา ศีรษะก็โน นี่เป็นอัตตกิลมถานุโยคด้วยหรือไม่ที่จะดับทุกข์

สุ. อัตตกิลมถานุโยค คือ ประพฤติทรมานตนด้วยคิดว่า ข้อปฏิบัตินั้นจะทำให้หมดกิเลส แต่ไม่ทราบว่า เด็กคนนั้นคิดในเรื่องกิเลสหรือเปล่า

ถ. คงเกิดกิเลสขึ้นแล้ว คือ โลภ และมีโมหะครอบอยู่ โลภอยากจะได้ เมื่อไม่ได้ก็โกรธ โทสะก็มา ๓ ตัวก็ครบ อยากจะดับทุกข์ ก็วิ่งเอาศีรษะเข้าชนฝา หรือพวกผู้ใหญ่ที่ฆ่าตัวตายอย่างนี้เป็นต้น เมื่อเป็นทุกข์ทางจิตใจถึงที่สุดแล้ว และ ไม่ทราบจะดับโดยอย่างไร ก็ใช้ปืนจ่อเข้าที่ขมับลั่นไก

สุ. แต่นั่นไม่ใช่หนทางที่จะดับทุกข์ พวกที่ปฏิบัติ ๒ ทางนั้นเขาเข้าใจว่า เขาสามารถที่จะดับทุกข์ คือ รู้แจ้งนิพพาน หรือดับกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงแต่แก้เป็น ครั้งคราว

ถ. เขาไม่ทราบอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จึงไม่ได้เดินทางนั้น ซึ่งเป็น ทางมัชฌิมาปฏิปทา ใช่ไหม

สุ. สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาสิวกสูตรที่ ๑ มีข้อความว่าบางคนเวลาที่มีทุกข์ก็ทำกุศล บางคนเวลาที่มีทุกข์ก็ทำอกุศล และบางคนเวลาที่มีทุกข์ก็เฉยๆ คือ ไม่ทำทั้งกุศลและไม่ทำทั้งอกุศล เพราะฉะนั้น แต่ละคนตรวจสอบความมั่นคงในความเข้าใจธรรมในเหตุในผลได้ว่า เวลาใดที่ทุกขเวทนาเกิด ทำอะไร

ถ้าคร่ำครวญโศกเศร้า หรือถือเป็นเหตุที่ต้องทำอกุศลกรรมเพราะทุกขเวทนานั้น แสดงว่า บุคคลนั้นเวลาทุกข์เกิด ก็ทำอกุศลกรรม แต่บางคนไม่เป็นอย่างนั้น ถึงแม้ จะมีความทุกข์ ความเดือดร้อนสักเท่าไร ก็มีความมั่นคงในการทำกุศลกรรม และยังถือเป็นเหตุที่จะต้องทำกุศลด้วย แม้ว่ากำลังมีความทุกข์ นั่นก็เป็นลักษณะหนึ่ง และบางคนก็ปล่อยให้เป็นทุกข์ไป ไม่มีการขวนขวายที่จะทำทั้งอกุศลและกุศล

เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถพิจารณาตนเองได้ว่า เคยทำอย่างไรเมื่อก่อน และเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว เวลาที่มีทุกข์จะทำอกุศล หรือจะทำกุศล หรือจะปล่อยไป

ถ. คำว่า ปุถุชนผู้สดับ มีความหมายแค่ไหน

สุ. ผู้ฟัง และพิจารณา และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพราะถ้าเพียงฟัง เหมือนเป็นการศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง และไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ประโยชน์ที่เกิดจากการฟังก็ไม่มี

ถ. อย่างพวกเราทั้งหลายจัดว่า เป็นปุถุชนผู้สดับแล้วหรือยัง

สุ. แล้วแต่ว่าประพฤติปฏิบัติตามหรือเปล่า ถ้าฟังแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะให้เหมือนกับคนที่ประพฤติปฏิบัติตามก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องแล้วแต่บุคคลจริงๆ

ถ. ปุถุชน มีทั้งผู้ที่ไม่ได้สดับกับผู้ที่ได้สดับ ผู้ที่ได้สดับหมายถึงเข้าใจข้อความที่ฟังและนำไปประพฤติปฏิบัติ ใช่ไหม

สุ. เพราะว่าพระธรรมเพื่อการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม อย่าคิดว่า พระธรรมเป็นวิชาการหนึ่งสำหรับให้เรียนให้จบ แต่ไม่ว่าจะเป็นธรรมข้อใดก็ตาม ที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล เมื่อได้พิจารณาแล้ว จะเป็นปัจจัยให้ประพฤติปฏิบัติตามในทาง ที่เป็นการเจริญกุศลยิ่งขึ้น

ถ. ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ชื่อว่ายังไม่ได้สดับ

สุ. ถ้าไม่เข้าใจ บางครั้งเหมือนกับไม่ได้ฟัง บางคนฟังแล้วเหมือนไม่ได้ฟังจริงๆ

ถ. ถือว่าไม่ได้สดับ

สุ. เพราะว่าไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจจะถือว่าเหมือนฟังแล้วไหม ในขณะที่ฟังและไม่เข้าใจ ก็เหมือนกับไม่ได้ฟังนั่นเอง

ผู้ฟัง อย่างพวกเรา ยังไม่จัดว่าเป็นปุถุชนผู้ได้สดับแล้ว ผมว่าอยู่ใน ประเภทสดับบ้าง ไม่สดับบ้าง เพราะบางทีฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ไม่เอาไปปฏิบัติ ถือว่าเป็นพวกสดับกับไม่สดับ

ถ. มีบางคนพูดว่า ได้ฟังธรรมของท่านอาจารย์แล้วรู้สึกซาบซึ้ง และเข้าใจ ทำให้ได้รับความรู้แจ่มแจ้ง แต่เวลาปฏิบัติเขาบอกว่า ต้องไปปฏิบัติตามอาจารย์ คนนั้นคนนี้ อย่างนี้จะถือว่า เขาฟังธรรมเข้าใจไหม

สุ. ยังไม่ชื่อว่าเข้าใจ ถ้าเข้าใจถูก ต้องปฏิบัติถูก

ถ. ความเข้าใจ ต้องเกื้อกูลแก่การปฏิบัติด้วย

สุ. ถ้าเข้าใจถูก ต้องปฏิบัติถูก การปฏิบัติถูกเป็นเครื่องแสดงว่าเข้าใจถูก

ถ. เท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมาเขาบอกว่า อาจารย์นี่หาผู้บรรยายที่ไหนอย่างนี้ ไม่มีอีกแล้ว แต่เวลาปฏิบัติเขาต้องเอาไปประกอบกับอาจารย์อื่น เพราะอาจารย์อื่นสอนให้ปฏิบัติ แบบนี้ผมคิดว่า เขาคงฟังธรรมของอาจารย์ไม่เข้าใจ เขาเพียงแต่ฟังและชอบใจเท่านั้นเอง แต่ยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจต้องปฏิบัติได้ ไม่ใช่ว่า ฟังอาจารย์เป็นความรู้ แต่เวลาปฏิบัติต้องไปที่สำนักอื่น แสดงว่ายังไม่เข้าใจ

สุ. ถ้าปฏิบัติถูก หมายความว่าเข้าใจถูก เรื่องสำนักเป็นเรื่องที่ไม่ควรกล่าวถึง เพราะว่าทุกคนมีศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่ความเข้าใจ ความเห็น ย่อมมีต่างๆ กันไป เพราะฉะนั้น ถ้าเกื้อกูลสหายธรรมด้วยกันด้วยเหตุด้วยผล ให้เขาพิจารณาให้ตรง ย่อมจะทำให้เขาเกิดระลึกได้ว่า หนทางที่ถูกนั้นคืออย่างไร

ถ. เป็นความเข้าใจของผมเองที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ คือ เบื้องต้นคิดว่า อาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านจะสอนให้เราปฏิบัติได้ ถ้าเราเชื่อท่าน ปฏิบัติตามท่านแล้ว เราก็จะได้ จึงเที่ยวดั้นด้นไปหา และพยายามปฏิบัติ

สุ. ขอขัดตรงนี้นิดหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ คือ ไม่ได้ตั้งต้นด้วยเหตุผลว่าปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งต้นไม่ถูกต้องมุ่งแต่จะปฏิบัติเพื่อให้ได้ จึงข้ามเหตุผล และข้ามความจริงซึ่งเป็นสัจธรรมว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

ถ. เมื่อปฏิบัติไปแล้ว ผมมารู้ตอนหลังว่า ผู้สอนท่านก็ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ ดูหมิ่นดูถูกระดับครูบาอาจารย์ แต่ท่านเองท่านก็ไม่เข้าใจ และยังมาสอนให้เรา ไม่เข้าใจอีก เพราะฉะนั้น เรื่องการปฏิบัติก็เละกันไปใหญ่เลย นี่เป็นประสบการณ์ของผมเองที่ผ่านมา ถ้าหากผมไม่ได้พบอาจารย์ ผมก็ยังคงเคว้งคว้างจับหลักอะไรไม่ได้ อยู่จนกระทั่งป่านนี้ แต่เป็นโชคดีที่ได้ฟังอาจารย์ ซึ่งความจริงอาจารย์ก็ไม่ได้พูดเอง แต่พูดจากหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งเราก็เรียนก็อ่านกันอยู่แล้วแต่เราไม่เข้าใจ เมื่ออาจารย์มาชี้แนะ เราก็สามารถเข้าใจว่า ที่ถูกต้องจริงๆ นั้น เป็นอย่างนี้เอง ที่จะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ความมุ่งหมายของพระธรรมพระสูตรต่างๆ ท่านมุ่งหมายอย่างนี้จริงๆ แต่ส่วนใหญ่ที่เข้าใจที่ปฏิบัติกัน คือ ไม่พยายามที่จะเข้าใจ ซึ่งผมก็ย้ำอยู่เสมอว่า ไม่ต้องไปปฏิบัติหรอก ขอให้ทำความเข้าใจก่อน ถ้ามีความเข้าใจได้เมื่อไร ความเข้าใจนั้นจะปฏิบัติเอง อย่างนี้จะถูกไหม อาจารย์

สุ. ถูกต้อง

ถ. ที่ว่า เราตั้งจิตอุทิศส่วนกุศล ต้องมีเจตสิกดวงไหนประกอบด้วย

สุ. โสภณเจตสิก มีอัญญสมานาเจตสิกด้วย

ถ. ที่เราตั้งจิตแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ใช่ไหม

สุ. เรื่องแผ่เมตตาเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด ขอเรียนถามว่า แผ่อย่างไร

ถ. ตามแบบที่เขาว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพพะยาปัชฌา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ทำนองนั้น

สุ. เดี๋ยวนี้ยังทำอยู่หรือเปล่า

ถ. ทำเป็นอาจิณ

สุ. ทำเป็นอาจิณ ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจชัดเจนจริงๆ แม้แต่ลักษณะของเมตตาคืออย่างไร ขอเรียนถามว่า เมตตานี่คืออย่างไร

ถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งท่อง จะกล่าวถึงสภาพของเมตตาในขณะนี้ได้ไหม เพราะว่าเมตตาเป็นกุศลที่ควรเจริญอย่างยิ่ง ควรจะมีอย่างมากในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่ค้ำจุนโลกจริงๆ เพราะฉะนั้น ลักษณะของเมตตาคืออย่างไร

ถ้าได้เข้าใจ และเป็นผู้ที่เจริญเมตตา จะเป็นผู้มีความสุขทั้งตนเองและบุคคลรอบข้าง เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งท่อง

คำว่า เมตตา แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยว่า เพื่อน เป็นเพื่อน เป็นมิตร คนที่เป็นเพื่อนหวังดีต่อกัน ไม่เป็นศัตรูกันเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นใคร ก็ตามหมายถึงสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกเป็นเพื่อนกับสิ่งที่มีชีวิตนั้นหรือเปล่า ไม่ต้องท่อง

สุนัขอยู่ที่นั่น ความรู้สึกที่มีต่อสุนัขนั้นเป็นอย่างไร จิ้งจก ตุ๊กแก หรือญาติ มิตรสหาย ผู้คนในรถประจำทาง ที่ไหนก็ได้ เมื่อออกมาจากบ้านต้องพบผู้คน มากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ ศาสนาใดทั้งสิ้น มีความรู้สึกเป็นเพื่อนกับคนนั้นหรือเปล่า ไม่ต้องท่องเลย

ถ. ในบท วิรูปักเขหิ เม เมตตัง มีบทหนึ่งว่า เทวะตา รักขันติ หมายความว่า เทวดาย่อมรักษา จะเป็นเทวดาภูมิไหนบ้างครับที่มารักษาเรา

สุ. อยากเห็นอีกว่าเป็นเทวดาภูมิไหน ไม่จำเป็นเลย ขอให้เป็นผู้มีเมตตา เจริญเมตตา และเป็นเพื่อนกับทุกคน

ถ. กระผมก็เชื่อตามคำที่ ...

สุ. อย่าลืมว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องท่อง แต่เห็นใครแล้วเป็นเพื่อนคนนั้นหรือเปล่า ขอให้ระลึกถึงสภาพของจิตทันที เพราะว่าบางทีอาจจะเกิดมานะ ความสำคัญตน แยกฐานะ แยกความรู้ แยกสมบัติ แยกสกุล นั่นไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่เมตตาเลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงคำภาษาบาลี ก็มีความรู้สึกเป็นเพื่อนเท่านั้นเอง และ ต้องเป็นความจริงใจด้วย

เพื่อนสนิทย่อมสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ พร้อมเสมอที่จะเกื้อกูล โดย ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตรกับแต่ละบุคคล แม้แต่ในสถานที่บางแห่ง เคยมีความรู้สึกขุ่นใจ ไม่พอใจใครก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่จะเจริญเมตตา ซึ่งเป็นกุศลที่เจริญไม่ยาก ไม่ต้องไปแสวงหาวัตถุใดๆ มา เพียงแต่พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับทุกคน ในขณะนั้นก็เป็นการอบรมเจริญเมตตาแล้ว และสังเกตว่า ใจจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้ายังไม่เป็น ต้องฝึกหัด

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565