แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1493

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๘


ถ. บทแปลในเมตตานิสังสสูตร เมื่อแปลแล้วได้ใจความทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องของการแผ่เมตตาที่จะให้ผลกับเรา แม้หลับก็ฝันดี อะไรต่างๆ อีกมากมาย เรียนถามอาจารย์ว่า การแผ่เมตตาที่คิดว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีจริง ขอกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูอาจารย์ผู้มีพระคุณ ขอให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขๆ อย่าเบียดเบียนกัน ซึ่งผมคิดว่า เทวดาย่อมรักษา ไม่ว่าจะเป็นภุมมเทวดา รุกขเทวดา หรืออาจจะเป็นเทวดาในพระธรรมบทต่างๆ อานิสงส์ของการแผ่เมตตาที่กระผมได้ทำมาแต่วัยเด็ก ไม่ว่าไปที่ไหนก็มักอยู่ในสภาวะที่ว่า ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ใครคิดร้ายอะไรต่างๆ ก็มักจะถอนความคิดร้าย นั้นไป เพราะฉะนั้น ผมเดินทางไปทั่วประเทศไทย ในที่เปล่าเปลี่ยวกันดาร ไปคนเดียว ไปหามิตรเอาข้างหน้า ขอท่านอาจารย์ช่วยบรรยายขยายความ ในพระไตรปิฎกให้แจ่มแจ้ง

สุ. โกรธใครบ้างหรือเปล่า

ถ. เมื่อก่อนเคยโกรธ ต่อมาปล่อยให้เหมือนกับลูกบอล ใครขว้างมา โดนฝาแล้วย้อนกลับไปเอง

สุ. ไม่ชอบใครบ้างหรือเปล่า

ถ. เมื่อก่อนไม่ชอบ แต่ตอนนี้ชอบหมด

สุ. รำคาญใครบ้างหรือเปล่า

ถ. เมื่อก่อนรำคาญ เดี๋ยวนี้เลิกรำคาญ นัยน์ตาและร่างกายยกให้กาชาดหมดแล้ว สมบัติต่างๆ ไม่ห่วงใยอีกแล้ว ขอเอาแต่ความดีไปสู่สุคติ ขอตามหลังท่านอาจารย์สุจินต์ไปเรื่อยๆ

สุ. ขอติงอยู่นิดเดียว คือ โดยมากมักจะเพ่งเล็งอานิสงส์ ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือศีล หรือแม้แต่การแผ่เมตตาก็ตาม มักจะเพ่งเล็งถึงอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นหรือที่จะได้รับ แทนที่จะคิดว่า การเจริญเมตตาทำเพื่ออะไร

เกิดโทสะ เกิดความตระหนี่ เกิดการสำคัญตน เกิดช่องว่าง เกิดการไม่เป็นมิตร นั่นคืออกุศลจิต แต่กุศลจิตนั้น ตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลว่า ถ้าไม่รีบขัดเกลาบรรเทาในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไปจะเพิ่มความเป็นบุคคลที่หนาแน่นด้วยอกุศลมากยิ่งขึ้นอีกทุกชาติไป แทนที่จะคิดถึงอานิสงส์หรือผลที่ได้รับ ควรคิดถึงว่า อกุศลมากจนเกินกว่าที่จะดับได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการเพื่อละอกุศลนั้นได้เป็นสมุจเฉท ในวันหนึ่ง

ส่วนอานิสงส์นั้น แน่นอน เมื่อกุศลเป็นเหตุ กุศลวิบากย่อมเป็นผล แต่ไม่ควรจะคำนึงถึงอานิสงส์

ถ. เรื่องการแผ่เมตตา ผมเข้าใจผิดมานาน เพิ่งเข้าใจว่าควรเป็นอย่างนี้ เมื่อได้มาฟังอาจารย์ เมื่อก่อนสวดมนต์ไหว้พระแล้วต้องแผ่เมตตาเสมอ เมื่อได้มาฟังและได้อ่านหนังสือเมตตาของอาจารย์ คือ เรายังไม่มีเมตตา จะเอาเมตตาไปแผ่ ได้อย่างไร เราไปท่องๆ ตามหนังสือ ตามบาลีที่ว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพพะยาปัชฌา โหนตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นสุขๆ เถิด อย่ามีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อะไรอย่างนี้ ก็ว่าไป แต่ขณะนั้นใจเราไม่มีเมตตา เมตตาไม่ได้เกิดกับเรา เมื่อไม่เกิดกับเรา ก็แผ่ให้คนอื่นไม่ได้ ใช่ไหม

สุ. ข้อสำคัญ เข้าใจคำว่า แผ่ ไม่ถูกต้อง คือ คิดว่าเป็นการแผ่ด้วยคำพูด แต่แท้ที่จริงต้องอบรมเจริญเมตตา คือ เป็นผู้ที่มีเมตตาในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากคนที่เคยชัง ความชังนั้นจะต้องลดน้อยลง มีความเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้ามีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจจะต้องระลึกได้ว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิด ขณะนั้นไม่มีเมตตา ปราศจากเมตตา ถ้าสติเกิดระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ เป็นผู้ที่มีปกติมีเมตตา ในขณะนั้นเมตตาต่อคนรอบข้างมากขึ้น ใช่ไหม และขยายกว้างไกลออกไป โดยไม่จำเป็นต้อง ใช้คำพูดว่า ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้ แต่ความจริงทิศตะวันออกก็มีคนที่ไม่ชอบ ทิศเหนือ ทิศใต้ก็ยังมีคนที่โกรธอยู่ อย่างนั้นก็เป็นเพียงการแผ่ด้วยปาก แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นความเมตตาที่เจริญ มีในจิตใจ พร้อมที่จะขยายออกไปเรื่อยๆ ได้

ถ. การแผ่เมตตากับการอุทิศส่วนกุศล เป็นคนละอย่าง ถ้าเราสวดมนต์ไหว้พระ หรือทำบุญทำกุศลอะไรก็แล้วแต่ หลังจากสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว ก็อุทิศส่วนกุศล เรานึกว่าการที่เราสวดมนต์ ใจเราต้องเป็นกุศลบ้าง เพราะเรานึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นส่วนใหญ่ และเราอุทิศส่วนกุศลที่เราทำนี้ไปให้บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนภุมมเทวดา อารักขเทวดา อากาศเทวดา หรือเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ตามที่เราจะระลึกนึกถึง การอุทิศอย่างนี้ กับแผ่เมตตา คนละอย่าง ใช่ไหม

สุ. เมตตา คือ สภาพของจิตที่เป็นเพื่อน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นที่เป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศลย่อมมีทางของกุศล

ใจของใครก็ตามที่เป็นอกุศล ย่อมมีทางของอกุศลจิตนั้น ไม่ว่าจะเป็นวาจา ก็เป็นวาจาที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นกาย ก็เป็นกายที่ไม่ดี ฉันใด เวลาที่กุศลจิตเกิด จะไม่อยู่เปล่าๆ ใช่ไหม จะไม่อยู่นิ่งๆ เพราะว่ากุศลจิตเมื่อเห็น กุศลจิตเมื่อได้ยิน กุศลจิตเมื่อได้กลิ่น กุศลจิตเมื่อลิ้มรส กุศลจิตเมื่อกระทบสัมผัส กุศลจิตแม้ขณะที่คิดนึก เพราะฉะนั้น เมื่อมีเมตตาเป็นกุศลจิต ทางของเมตตาประการหนึ่งคืออุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้บุคคลอื่นได้อนุโมทนา

สังเกตจิต จะไม่อุทิศให้คนที่ไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบถึงแม้ว่าจะสิ้นชีวิตไปแล้ว กว่าจะน้อมจิตไปอุทิศให้ คิดดู ตอนแรกๆ อุทิศหรือเปล่า แต่เมื่อใดเห็นว่าควรมีเมตตา ซึ่งบุคคลนั้นก็สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็สามารถทำกุศลและอุทิศให้ มิฉะนั้นแล้วอาจจะเว้น ใช่ไหม อุทิศคนนี้ อุทิศคนนั้น เว้นคนโน้นซึ่งไม่เป็นที่รัก ซึ่งไม่เป็นที่ เคารพนับถือก็ได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิดประกอบด้วยเมตตา แม้ในขณะที่ทำกุศลแล้วก็ด้วยเมตตาจิตนั้นเอง ที่แผ่อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นอนุโมทนาด้วย ในขณะนั้น ถ้าสติพิจารณาลักษณะของจิต จะเห็นสภาพที่มีความเมตตาในขณะที่อุทิศส่วนกุศล

ถ. นี่เป็นความจริง คนที่เราไม่ค่อยชอบ เราทำดีอย่างไร เราก็ ไม่อยากจะให้ เป็นสภาพของจิตอย่างนั้น ที่เราให้โดยมากเราจะนึกถึงท่าน ผู้มีอุปการคุณ ผู้มีคุณต่อเรา เช่น มารดาบิดา และครูบาอาจารย์ ส่วนคนที่เรา ไม่ค่อยชอบ เราไม่นึกถึง หรือนึกไม่ได้ เพราะใจเราไม่มีเมตตาพอที่จะให้เขา

สุ. ธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่เมื่อปัญญาเกิดแล้ว เป็นโยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาโดยแยบคายที่กุศลจิตจะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ายังอุทิศส่วนกุศลให้ใครไม่ได้ ก็พิจารณาดูว่า จะเจริญเมตตาไหม ถ้าจะเจริญ ก็ต้องได้

ถ. ถ้าเราไม่มีเมตตาจริงๆ อานิสงส์ที่จะได้ที่ว่า หลับก็เป็นสุข ตื่นก็ เป็นสุข ไม่ฝันร้าย อะไรเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งมีตั้ง ๑๑ อย่าง ถ้าหากเราไม่มีเมตตา แม้เราจะท่องอย่างไร อานิสงส์ที่ว่านี้คงจะไม่เกิด ใช่ไหม

สุ. ใช่ ซึ่งจะพิจารณาลักษณะของเมตตาได้จากกายวาจาในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่พูด แต่มีเมตตาจิตได้ ใช่ไหม หน้าตาจะยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่หน้าบึ้งหน้าขมวด เพราะว่าขณะนั้นมีเมตตา และเมื่อมีเมตตาแล้วจะพูดอะไรก็ต้องคิดว่า ถ้าพูดอย่างนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นไหม จะทำให้เขาเสียใจไหม จะเป็นโทษไหม หรือ การกระทำทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อกุศลจิตเกิดแล้ว กายวาจาย่อมเป็นไปตามกุศลจิต คือ เมตตานั้น สังเกตได้ในชีวิตประจำวันว่า ผู้ใดมีเมตตามาก ผู้ใดมีเมตตาน้อย

ถ. เมตตาที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในขณะที่เรารู้ว่า เรามีจิตเมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าสติเกิดขึ้น เมตตาก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ด้วย

สุ. ทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏ สติสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรม นั้นๆ ได้

ถ. ผู้ที่เจริญเมตตา แม้แต่เพียงขณะเดียว นิดเดียว ชั่วอึดใจเดียวที่ท่านบอกว่า ชั่วช้างสะบัดหู หรือชั่วงูแลบลิ้น รู้สึกว่าอานิสงส์มากเหลือเกิน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการท่องเมตตาอย่างที่ว่า ผมก็ท่องมานานแล้ว หลับก็ยังไม่ค่อยเป็นสุข ตื่น ก็ยังไม่ค่อยเป็นสุข ยังฝันร้ายอยู่ คือ ยังไม่ได้อานิสงส์ เพราะว่าไปท่องๆ หลงท่องอยู่ตั้งหลายปี เป็นสิบๆ ปี

สุ. ก็เริ่มจากการเห็น และรู้สึกว่า มีเมตตาต่อสัตว์บุคคลนั้นหรือเปล่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในชีวิตประจำวัน

ถ. ขอทราบธรรมที่ตรงกันข้ามกับเมตตา และวิธีฝึกหัดให้เมตตามากๆ

สุ. ต้องมีสติที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับเมตตา คือ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจในสัตว์ ในบุคคลใด ความไม่พอใจในขณะนั้นแสดงให้รู้ว่า ไม่มีเมตตาในบุคคลนั้น

ถ. คำว่า อบรม กับคำว่า เจริญ มีความหมายเหมือนกันหรือต่างกัน

สุ. เหมือนกัน คือ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีเพิ่มขึ้น ทำให้มีมากขึ้น

ถ. อบรมเมตตา กับเจริญเมตตา อย่างเดียวกันหรือ

สุ. ถ้าไม่มี ก็ทำให้มี มีแล้วนิดๆ หน่อยๆ ก็ทำให้เพิ่มขึ้น ให้มากขึ้น

ถ. คำว่า ขจัด กับคำว่า ขัดเกลา มีความหมายเหมือนกันไหม

สุ. แล้วแต่จะคิด ขจัด ทำให้หมดไป ขัดเกลา ก็ค่อยๆ ทำให้เป็นกุศลขึ้น

ถ. เช่น ขจัดขัดเกลาโทสะ

สุ. จะใช้คำอะไรก็ได้ ให้เข้าใจว่า ควรละคลายอกุศลให้เบาบาง

ถ. หรือใช้คำเดียวก็ได้

สุ. ใช้คำไหนก็ได้ ให้เข้าใจ

ถ. อัตตสัญญา คือ นอกจากจะมีความเห็นผิดว่า สภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนแล้ว ยังมีความทรงจำที่ผิดๆ อีก ถ้าพระอริยบุคคลขั้น พระโสดาบันละความเห็นผิดในสภาพธรรมเป็นสมุจเฉทแล้ว ละทิฏฐิได้แล้ว ท่านยังคงมีอัตตสัญญาหลงเหลืออยู่หรือเปล่า

สุ. พระโสดาบันละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล พร้อมทั้งกิเลสในฐานะเดียวกันทั้งหมด เช่น วิจิกิจฉา ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น กิเลสโดยฐานะเดียวกับความเห็นผิด ต้องดับไปด้วย

ถ. ความทรงจำที่ผิดๆ เกี่ยวกับทิฏฐิคงจะหมด แต่ความทรงจำที่เป็นอัตตา ยังมีไหม

สุ. ความทรงจำในสัญญา หรือสมมติบัญญัติต้องมี

ถ. และอัตตสัญญา

สุ. แต่ไม่มีความเห็นผิดว่าเที่ยง

ถ. อัตตสัญญา ยังมีเหลือไหม

สุ. อัตตสัญญา ต้องเกี่ยวกับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น อัตตะ ที่นี่ หมายความว่า ยึดมั่นในความเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวตน

ถ. ขณะที่พระโสดาบันยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปด้วยตัณหาว่า นั่นเป็นของของเรา ขณะนั้นท่านมีความทรงจำไหมว่า เป็นตัวของท่าน

สุ. ต้องตัดกิเลสที่เกี่ยวข้องหรือในฐานะเดียวกับอัตตาหรือความเป็นตัวตนออกหมด แม้ว่าท่านจะมีความทรงจำในสิ่งซึ่งเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิดที่ยึดถือมั่นคงว่า สิ่งนั้นเที่ยง หรือเป็นอัตตา

ถ. ลักษณะสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร

สุ. ถ้าเป็นโลภะ ก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด

ถ. เป็นมานะ ใช่ไหม

สุ. มานะ แล้วแต่ว่าจะเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นหรือเปล่า ถ้าเป็นแต่เพียงความพอใจในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่จำเป็นต้องมีมานะเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีการเทียบเคียง เรา เขา

ถ. ทำไมบางคนชอบมีถีนมิทธะ ไม่ว่าจะฟังธรรมที่วิเศษพิสดาร ฟังไปก็เห็นคล้อยตาม ยกมือไหว้เทปท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวว่า สาธุ คือ ซาบซึ้ง และ เกิดถีนมิทธะ มักจะเป็นเช่นนั้นเรื่อยๆ จะเป็นบาปอกุศลไปอีกนานสักเท่าไร เพราะ ตราบใดที่ร่างกายไม่ว่าจะแข็งแรง หรือจะอ่อนเพลีย เมื่อฟังไปชื่นใจ ดื่มด่ำ ก็มักจะเกิดถีนมิทธะ อีกสักกี่ปีกี่ชาติจึงจะหาย

สุ. ไหว้เทปนี่ คงไม่มีใครไหว้ นอกจากไหว้พระธรรม ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต

ผู้ที่ไม่มีถีนมิทธะ คือ พระอรหันต์ ผู้ที่ไม่มีโลภะ คือ พระอรหันต์ ผู้ที่ไม่มีมานะ คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจว่า ได้ฟังธรรมและได้ผลจากการฟังธรรมแล้ว ขอเรียนให้ทราบว่า ยังไม่เพียงพอ ไม่มีทางเพียงพอ จนกว่าจะบรรลุ อริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าถึงขั้นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ตัวเองว่า กุศลใดๆ ที่ทำ ยังไม่พอ ยังน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับอกุศล ก็จะเป็นกำลังใจทำให้มีศรัทธาที่จะทำกุศลมั่นคงขึ้น

ถ. ทาน คือ การให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่บุคคล ใช่ไหม

สุ. ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรให้

ถ. ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ไม่สมควรแก่บุคคลนั้น ก็ไม่ควรให้ ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. ถ้าให้ ชื่อว่าไม่ใช่ทาน ใช่ไหม เช่น ให้เงินและทองแก่ผู้ที่ไม่ควรรับเงินและทอง

สุ. อยู่ที่เจตนาของผู้ให้ว่า ให้ไปทำไม ให้เพื่อเขาจะได้ใช้สอยเมื่อมีความจำเป็น ขณะนั้นก็เป็นทานได้

ถ. ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ควรใช้สอยเลย ก็ไม่มี ...

สุ. แล้วแต่การพิจารณา

ถ. ถ้าให้ ก็ไม่เป็นประโยชน์ใช่ไหมครับ

สุ. แล้วแต่การพิจารณาว่า ปัจจัยนั้นสมควรเป็นประโยชน์หรือเปล่า เพราะว่าจะต้องมีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค มีเสื้อผ้า มีอาหาร

ถ. แต่การให้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ชื่อว่าเป็นทาน ใช่ไหม

สุ. ที่ถามนี่หมายความถึงให้เงินแก่พระภิกษุ ใช่ไหม เพราะผู้ที่ศึกษา พระธรรมจะเกิดปัญหาว่า เป็นการสมควรมากน้อยเพียงไร เพราะว่า เงินและทอง ควรแก่ผู้ใด รูป เสียง กลิ่น รส ควรแก่ผู้นั้น

สำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ยังเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เงินและทองควรแก่ผู้ใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ควรแก่ผู้นั้น แต่สำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนสู่เพศบรรพชิตแล้ว มีความเป็นอยู่โดยอาศัยบุคคลอื่น

ที่จริงแล้ว ชีวิตการเป็นบรรพชิต เป็นชีวิตที่ลำบาก ไม่เหมือนกับคฤหัสถ์ ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ และต้องเป็นผู้ที่ไม่ยินดีในเงินและทอง

คฤหัสถ์ที่มีความตั้งใจส่งเสริมพระศาสนาจะไม่ถวายเงิน แต่ถวายเป็น วัตถุสิ่งของได้ หรืออาจจะปวารณาว่า เมื่อพระคุณเจ้ามีความประสงค์สิ่งใด ขอให้บอก ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับความสะดวกสบาย พร้อมกันนั้นก็ไม่ทำให้ท่านเป็นผู้ที่ยินดีติดข้องในเงินและทอง

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565