แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1494

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๙


ถ. ผมอยากทราบ ลัทธิมหายานที่บอกว่า ทุกชีวิตดำเนินไปสู่พระนิพพาน

สุ. ถ้าตัดคำว่า มหายาน หรือเถรวาท อาจริยวาทออก และพิจารณาเหตุผลว่า สภาพธรรมใดเป็นสภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้ อวิชชา คือ สภาพที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และถ้าไม่มีการอบรมเจริญกุศล ไม่มีการอบรมเจริญปัญญา ก็ย่อมเต็มไปด้วยความไม่รู้ว่า เกิดมาจากไหน ตายแล้วไปไหน และจะไปถึงนิพพานได้อย่างไร ในเมื่อลักษณะของนิพพานเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้

ถ. ผมคิดว่า เป็นคนดีก็น่าจะพอ

สุ. ยังไม่พอ ดีอะไรก็ตามทั้งหลายในชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดจนกระทั่งถึง ในชาตินี้ ก็ยังไม่พอ ต้องทราบว่า ต้องดีกว่านี้อีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องความเข้าใจในเหตุผล การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

ถ. ผมฟังเทปธรรมทางวิทยุ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ท่านอาจารย์แสดงเกี่ยวกับ พระสูตรที่ท่านพระเถระท่านไปดมดอกบัว เทวดาก็เตือนสติท่านว่า ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น เทวดาได้แสดงกถาให้ท่านพระเถระนั้นถึงซึ่งความสลดใจ เรียนถามว่า ขณะที่จิตของท่านพระเถระสลดใจนั้น จิตของท่านหดหู่ไหม

สุ. สภาพของจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังมีอกุศลจิตเกิดสลับอยู่ได้ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

ถ. ขณะที่สลดใจเมื่อพิจารณาสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตหรือเปล่า

สุ. สลดใจ บางทีไม่ได้หมายความถึงโทสะ แต่หมายความถึงเกิดความ ไม่ประมาท เห็นว่าขณะใดที่โลภะเกิด ขณะนั้นเป็นความประมาทแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อได้เข้าใจว่า แม้แต่เพียงการดมกลิ่นนั้นก็เป็นความประมาท ทำให้ท่านเห็นว่า ท่านได้มีความประมาทมาก

ถ. ความเข้าใจจะเกิดคนละขณะกับขณะที่สลดใจหรือเปล่า

สุ. สลดใจที่เป็นกุศล สังเวช ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ คือ ไม่ขึ้นอยู่กับภาษา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพธรรม

ถ. ถ้าเช่นนั้นสภาพจิตจะเป็นอย่างไร

สุ. สภาพจิต ถ้าเป็นโทสมูลจิต จะสังเกตได้จากเวทนาเจตสิกที่เกิด ร่วมด้วยว่า ต้องเป็นสภาพที่โทมนัส เสียใจ ขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าขณะนั้นเวทนาไม่ใช่อย่างนั้น ก็ไม่ใช่โทสมูลจิต

ถ. ในกรณีที่เราเห็นสังเวชนียสถานของพระผู้มีพระภาค และระลึกถึง พระพุทธคุณ ขณะนั้นอาจจะมีน้ำตาไหล อย่างนั้นไม่ใช่กุศล ใช่ไหม

สุ. ผู้นั้นรู้เองว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน ผู้อื่นไม่สามารถบอกได้

ถ. ถ้าเกิดความสลดใจที่เป็นอกุศลจริงๆ จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ไหม

สุ. คือ เสียใจ อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ เห็นว่าที่แล้วๆ มาเต็มไปด้วยอกุศล เพราะฉะนั้น เห็นโทษ เมื่อเห็นโทษก็เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น และกุศล ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ เช่น การถวายภัตตาหาร ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ ขาดตกบกพร่อง ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ หรือผู้ที่แสดงธรรม ถ้ากล่าวผิดพลาดไปทำให้ผู้ฟังเข้าใจสับสน หรือเข้าใจผิด ในขณะนั้นก็เกิดความเดือดเนื้อ ร้อนใจได้ เพราะฉะนั้น กุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ และอกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้

ถ. ที่ท่านอาจารย์แสดงในเทปว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุสสติ ๖ แก่พระอริยบุคคล มีพุทธานุสสติ เป็นต้น สงสัยว่า อนุสสติมี ๑๐ ทำไม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแค่ ๖ แก่อริยสาวก

สุ. ที่เป็นประจำแก่อัธยาศัยทั่วๆ ไปของพระอริยสาวก เพราะอานาปานสติ พระอริยสาวกบางพวกก็ไม่ได้เจริญ กายคตาสติ พระอริยสาวกบางพวกก็ไม่ได้เจริญ ก็ได้ แต่ใครก็ตามจะขาดพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ไม่มี สำหรับผู้ที่ เป็นอริยสาวก

ถ. อนุสสติสุดท้าย อุปสมานุสสติ ซึ่งระลึกถึงพระนิพพาน ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลจะเจริญอนุสสติขั้นนี้ได้ไหม

สุ. ก็เพียงแต่น้อมพิจารณาเท่านั้นเอง

ถ. เพราะว่านิพพานยังไม่ปรากฏ

สุ. เพียงแต่เข้าใจว่า นิพพานเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพที่มีจริง ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมซึ่งเกิดปรากฏ

ถ. และเทวตานุสสติ จะระลึกอย่างไร

สุ. เทวตานุสสติ คือ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้บุคคลนั้นเป็นเทวดา คือ ระลึกถึงคุณความดี ตั้งแต่คุณความดีของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระคุณของพระธรรม พระคุณของพระอริยสาวก และคุณธรรมที่ทำให้บุคคลนั้นเป็นเทวดา เป็นเรื่องของความดีทั้งนั้น ซึ่งเมื่อนึกถึงแล้วทำให้จิตใจเป็นกุศล คล้อยตามไปที่จะประพฤติปฏิบัติตาม อย่างคุณธรรมของพรหม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมื่อระลึกถึงพรหม ระลึกเพื่ออะไร ระลึกทำไม ก็ระลึกเพื่อจะได้มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขาเพิ่มขึ้น

ถ. กรณีที่เราเซ่นไหว้เทพยดา เช่น ชาวจีนเซ่นไหว้เทพเจ้า ขณะนั้นมีโอกาสเป็นเทวตานุสสติได้ไหม

สุ. ขณะใดที่ไม่ได้ระลึกถึงคุณของเทวดา ขณะนั้นก็ไม่ใช่เทวตานุสสติ แต่เป็นศีลได้ เป็นการแสดงความนอบน้อมต่อบรรพบุรุษได้

ถ. เป็นบุญกิริยา

สุ. แต่ไม่ใช่เทวตานุสสติ อย่างพุทธานุสสติ ก็ไม่ใช่การท่องว่า พุทโธ พุทโธ เปล่าๆ เพราะถ้าแปลคำว่า พุทโธ ก็คือปัญญา สภาพรู้ สภาพตื่น สภาพที่เบิกบานจากอกุศล เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นภาษาบาลีว่า พุทโธ บางคนอาจจะแปลเป็นภาษาไทยว่า ปัญญา ปัญญา หรือ พระปัญญา พระปัญญา พระปัญญา แต่ไม่มีความหมายเท่ากับการน้อมระลึกถึงพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรม จนสามารถดับกิเลสได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการท่อง แต่ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตที่เป็นกุศล

ถ. ผมพยายามระลึกถึงอนุสสติทั้ง ๑๐ ประการ ด้วยความซาบซึ้ง ในพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ต่างๆ และผมคิดเพียงในใจสั้นๆ ว่า ขอกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ผู้มีพระคุณ ขอสัตว์ทั้งปวงจง เป็นสุขๆ เถิด อย่างนี้พอจะใช้ได้ในชีวิตประจำวันทุกลมหายใจได้ไหม

สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเปล่า

ถ. เป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา

สุ. เป็นกุศลแล้ว ก็ใช้ได้ คือ ขึ้นอยู่กับกุศล ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคำที่พูด ข้อสำคัญที่สุดต้องทราบว่า ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลนั้น ทำให้เกิดการกระทำ ทางกาย ทางวาจาอย่างไร

ถ. ผมเริ่มสนใจและซื้อพระไตรปิฎกมาอ่าน เกิดความสงสัยว่า พระไตรปิฎกได้สังคายนามาหลายๆ ครั้ง ขณะนี้ความคลาดเคลื่อนได้มีบ้างหรือเปล่า

สุ. ถ้าพบความคลาดเคลื่อนที่ไหน ก็กรุณาบอกด้วย

ถ. ผมเพิ่งเริ่มอ่าน แต่อาจารย์อ่านมามากแล้ว

สุ. ก็พิจารณาในเหตุในผลไปเรื่อยๆ

ถ. การที่พระไตรปิฎกมีอรรถกถาจารย์มาขยายความ อรรถกถาจารย์เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ ใช่ไหม เริ่มมาขยายความในพระไตรปิฎก

สุ. ที่จริงก่อนนั้น คือ ตั้งแต่สมัยพระมหินทเถระไปแสดงธรรมเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกา แต่อรรถกถาในยุคนั้นจารึกไว้เป็นภาษาสิงหล และท่านพระพุทธโฆษาจารย์แปลกลับมาเป็นภาษามคธ ประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ แต่ว่าอรรถกถามีก่อนนั้น

ถ. เท่าที่ทราบ พระพุทธองค์ให้พระธรรมและวินัยเป็นตัวแทนของพระองค์ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณคงจะทราบว่า พระไตรปิฎกจะบริสุทธิ์ตลอดไป

สุ. อ่านไป และก็ดูสิ่งไหนที่ยังไม่ได้เหตุผล ก็ต้องพิจารณาต่อไป

ถ. พระอรหันต์ที่ท่านเป็นสุกขวิปัสสกะ มีภาวะเป็นอย่างไร

สุ. คือ ท่านเป็นผู้ที่ไม่ได้อบรมฌานสมาบัติมาก่อน เพราะฉะนั้น ท่านสามารถจะดับกิเลสได้โดยเจริญสติปัฏฐาน พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตัวท่าน ซึ่งไม่ใช่ฌานสมาบัติ

ถ. ในปัจจุบันนี้มีผู้ที่อบรมจะเรียกฌานสมาบัติหรือเปล่า ที่ฝึกมโนมยิทธิอะไรแบบนี้

สุ. ต้องดูว่าข้อปฏิบัติของเขาเริ่มอย่างไร ที่จะให้จิตเป็นกุศลมั่นคงขึ้น ถ้าให้ไปนั่งจ้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดและบอกว่า นั่นคือเป็นฌานสมาบัติ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้

ถ. ที่เข้าใจ การฝึกมโนมยิทธิ ฝึกแล้วไปดูนรก ไปดูสวรรค์ได้

สุ. ใครไปได้

ถ. ผู้ที่ฝึกมา มาเล่า

สุ. และจะรู้ได้อย่างไรว่า ไปได้

ถ. เขามาเล่าให้ฟัง สงสัยว่า บุคคลผู้นี้สะสมไปเรื่อยๆ ในอนาคต ถ้าหากบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์ วิชานี้ก็จะติดตามไปหรือ

สุ. การได้รับฟังสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากใคร ควรพิจารณาเหตุที่จะให้เกิดผล อย่างนั้นว่า เป็นเหตุที่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเหตุไม่ถูกต้อง ผู้นั้นอาจจะเข้าใจว่าตนเองได้บรรลุผลที่ถูกต้อง แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะผลที่ถูกต้อง ต้องขึ้นอยู่กับเหตุ เช่น ผู้นั้นจะต้องเห็นโทษของขณะที่เห็นแล้วหลงลืมสติและไม่รู้ว่าจิตสงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส เมื่อเห็นว่าอกุศลช่างเกิดรวดเร็วเหลือเกิน เห็นก็ไม่รู้แล้ว มีความพอใจในสิ่งที่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะเป็นกุศล ก็ต้องโดยให้จิตสงบ

เมื่อระลึกถึงสิ่งที่ทำให้กุศลจิตเกิดแล้ว ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จนกว่าความสงบนั้นจะมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยสัมปชัญญะ และไม่ใช่ว่าเห็นผิดๆ ถูกๆ คลาดๆ เคลื่อนๆ แต่จะต้องมีสติสัมปชัญญะระลึก ที่ลักษณะของอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบที่มั่นคงแต่ละอารมณ์

ถ. พระอรหันต์ที่ท่านได้อิทธิวิธี แสดงว่าในอดีตท่านได้ฌานสมาบัติ

สุ. ท่านที่ได้อิทธิวิธี ก็ต้องเรียนถามว่าสมัยไหน

ถ. สมัยพุทธกาล

สุ. สมัยพุทธกาลนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นเป็นกาลสมบัติ ผู้ที่ได้สะสมบารมีมามากพร้อมที่จะเป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ พร้อมที่จะได้ทั้งฌานสมาบัติ และรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต่างกับบุคคลในยุคนี้สมัยนี้มาก

ถ. พระโสดาบันไม่ไปสู่อบายภูมิ ส่วนบุคคลที่ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ไม่ไปสู่อบายได้หรือเปล่า

สุ. ผลของกุศลย่อมทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็น พระโสดาบัน อกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วยังมีโอกาสทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ผู้ที่จะไม่ปฏิสนธิในอบายภูมิ ต้องเป็นพระอริยบุคคล

ถ. อย่างท่านพระติสสะ ท่านเป็นพระ เป็นผู้มีศีล แต่เวลาใกล้จะตาย ท่านหลงจีวร จึงไปเกิดเป็นเล็น ซึ่งเป็นอบายภูมิ ใช่ไหม

สุ. เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังเกิดในอบายภูมิได้ แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา แม้ว่าจะเห็นประโยชน์ เห็น คุณของพระธรรม แต่กำลังของอกุศลที่สะสมมาก็มีมาก

ทุกคนที่ได้ฟังพระธรรม บางครั้งอาจจะรู้สึกขี้เกียจ หรือว่าบางครั้งอาจจะรู้สึกคลายความสนใจไป และมีความสนุกสนานในทางโลก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ขอให้ทราบว่า อย่าทิ้ง และไม่จำเป็นต้องเร่งรัดบังคับตัวเอง

เพราะฉะนั้น การมีศรัทธาเพิ่มขึ้นจะต้องอาศัยการไม่ขาดการฟัง ฟังไปเรื่อยๆ จะไปเที่ยวสนุกสนานอย่างไรก็ตาม แต่อย่าขาดการฟัง ถ้ามีเวลาว่างก็พิจารณา พระธรรมด้วย และวันหนึ่งความสนใจและความศรัทธาก็จะมั่นคงขึ้น

ถ. การศึกษาธรรม เกิดความเซ็ง เป็นไปได้จริงๆ อย่างผมเองศึกษามาหลายปีแล้ว คือ ติดตามอาจารย์มาก็หลายปีแล้ว แม้อย่างนั้น บางทีจิตยังกระด้าง แข็ง จะไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร แต่ระลึกได้ว่า การที่เราคิดอย่างนั้น เราไปคิดว่า ความคิดอย่างนั้นเป็นตัวเรา เมื่อระลึกได้อย่างนี้ทำให้ความคิดที่แผลงๆ ไปนั้น ระงับไปได้เหมือนกัน อย่างนี้จะเป็นทางที่ถูกหรือเปล่า

สุ. เป็นปกติของชีวิต ซึ่งแต่ละคนจะเห็นได้ว่า เมื่อได้ศึกษาธรรม และเข้าใจธรรมว่า เป็นสิ่งที่ยากแสนยาก ละเอียด และลึกซึ้ง และในชาติหนึ่งภพหนึ่งที่จะสะสมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปจริงๆ เมื่อรู้อย่างนี้ ก็เห็นใจคนอื่นที่เขาฟังและก็บอกว่า ยาก หรือไม่รู้ว่าชาตินี้จะไปได้มากน้อยเท่าไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงจริงๆ เมื่อรู้ว่ายาก ก็ต้องพยายามไปเรื่อยๆ โดยไม่ทิ้ง พร้อมกันนั้นก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า มีปัจจัยที่จะสนุกสนาน ไปเที่ยว ไปรื่นเริงกับ เพื่อนฝูง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องบังคับ แต่กระนั้นสติปัฏฐานก็ยังระลึกได้

ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เห็น ชั่วขณะเดียวจริงๆ และก็ดับ การเห็นเมื่อครู่นี้ ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ การได้ยิน การคิดนึก สุข ทุกข์ กุศล อกุศลใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาสามารถแทงตลอดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แต่ก่อนที่จะเป็นพระอริยบุคคล แต่ละคนต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานตามที่สะสมมาตามความเป็นจริง

สำหรับวันนี้ ขอกล่าวถึงเรื่องของทุกข์จริงๆ ประการเดียวในวันหนึ่งๆ ซึ่งไม่มีใครหนีพ้นเลย ไม่ว่าคนที่ยังมีกิเลสอยู่ หรือว่าคนที่ดับกิเลสหมดแล้ว ทุกข์จริงๆ ในสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ ทุกขเวทนาเจตสิกที่เกิดกับกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ ไม่ใช่ทุกข์จริงทางกายที่จะเจ็บปวดทรมาน แต่ว่าเป็นทุกข์อื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งไม่น่าที่จะเกิด แต่น่าจะบรรเทา หรือแก้ไขได้ ตราบใดที่กายยังไม่เป็นทุกข์

ถ้าวันนี้ใครเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ ให้พิจารณาว่าขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา กายวิญญาณหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ หมายความว่าในขณะนั้นเป็นทุกข์ใจ เป็นทุกข์เพราะความกังวล ความเป็นห่วงในเรื่องของลาภ ในเรื่องของยศ ในเรื่องของสรรเสริญ ในเรื่องของสุข ในเรื่องของทุกข์ ในเรื่องกิเลสต่างๆ เพราะว่าทางที่ได้รับผลของกรรม มี ๕ ทาง ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ที่เป็นวิบากจิตที่รับผลของกรรมโดยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

ถ้าทางตาเห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ และไม่หวั่นไหว จะช่วยทุกข์ ทางใจไปได้ประการหนึ่งแล้ว คือ ไม่จำเป็นต้องมีทุกข์นั้นเกิดเลย

ทางหูก็เช่นเดียวกัน เวลาได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ถ้าใจไม่หวั่นไหว รู้ว่า สภาพได้ยินเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ และการได้ยินนั้น จะไม่กลับมาอีกเลย ผ่านไปหมดแล้ว ก็จะไม่ยึดถือให้มีความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นอุเบกขา เพราะฉะนั้น ทุกข์จริงๆ ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้นเลย คือ ทุกขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณอกุศลวิบาก

วันนี้ทุกขเวทนาอกุศลวิบากที่เกิดกับกายวิญญาณมีหรือเปล่า มีมากไหม หรือเต็มไปด้วยทุกข์อื่นทั้งหมด

ฉะนั้น ทุกข์อื่นทั้งหมดแก้ได้ เพราะว่าไม่ใช่ผลของกรรม แต่เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต ถ้าพิจารณาโดยแยบคายจะทำให้ทุกข์นั้นๆ เบาบางลงไป แต่สำหรับผู้ที่รับผลของกรรมทางกาย ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่ว่าจะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

เปิด  226
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565