แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1498
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙
ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้ สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นจะปรากฏไม่ได้เลย เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ก็ไม่มีการเห็น ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏได้ นี่ในขั้นของการฟัง
และในขณะนี้ สภาพธรรมก็เป็นจริงอย่างที่กำลังฟังนั่นเอง คือ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ และมีสภาพรู้ที่กำลังเห็น มิฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏไม่ได้ แต่ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังเห็นไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ก็ต้องอาศัยสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ไม่มีหนทางอื่น เป็นเรื่องที่ต้องอดทนจริงๆ ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่การทำอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่การทำให้ติดต่อกัน หรือเพียรไปให้ผู้อื่นชี้แจงว่า ตอนแรกทำอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร แต่ต้องเป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยแน่นอนว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น และ สภาพธรรมก็ปรากฏอยู่ตลอด ไม่ขาดเลย ทางตาที่เห็นก็เป็นสภาพธรรม อ่อน แข็ง เย็น ร้อนที่กำลังกระทบก็เป็นสภาพธรรม คิดนึกก็เป็นสภาพธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสภาพธรรม แต่ทำไมไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน
ต้องเข้าใจความหมายของวิปัสสนาธุระว่า หมายความถึงการรู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นของจริง เป็นสัจธรรม เกิดดับ และจะรู้โดยประจักษ์แจ้งจริงๆ ได้ต่อเมื่อ สติเกิดระลึกได้ในวันหนึ่งๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง มากน้อยไม่สำคัญ ขอให้เข้าใจว่า ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ทันทีที่สติเกิดมีสภาพธรรมปรากฏ ต้องศึกษา คือ สังเกต พิจารณา น้อมไปรู้ตามที่เข้าใจ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะของ ธาตุรู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรมที่ปรากฏ
ถ. คำว่า ศึกษา ในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ท่านบอกว่า สิกขติ ซึ่งจะมีอยู่ทุกแห่ง ก็หมายถึงศึกษาในขณะที่รูปธรรมนามธรรมเกิด
สุ. ในขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ ทีละลักษณะ
ถ. ไม่ใช่ศึกษาแบบทำความเข้าใจอย่างปริยัติ ใช่ไหม
สุ. นั่นเป็นคันถธุระ
เมื่อวันเสาร์ก่อน มีชาวแคนาดา ๒ คนไปหา ท่านเป็นผู้ที่ได้ศึกษาปริยัติธรรม เพราะว่าที่นั่นมีการศึกษาพระอภิธรรมบ้าง ท่านมาเมืองไทย และได้มาสนทนาด้วย ท่านกล่าวว่า ขอให้กล่าวธรรมกับท่านโดยให้ถือว่าท่านเป็นผู้ใหม่จริงๆ ยังไม่รู้อะไรเลย และจะแนะนำท่านอย่างไร
ดิฉันได้เรียนให้ทราบว่า ดิฉันจะเริ่มจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นของจริง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ และควรรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมด เมื่อแยกออกเป็นประเภท ก็ได้แก่ นามธรรมชนิดหนึ่ง และรูปธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม จะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมก่อน ไม่ใช่ไม่เข้าใจอะไรเลย และขอให้บอกว่า จะทำอย่างไร ตอนต้นจะเริ่มอย่างไร นั่นไม่ใช่เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา และไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐาน
ขั้นแรก ต้องห่วงเรื่องความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเลย สติจะระลึกที่ไหน ถ้าไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร สติจะเกิดระลึกได้อย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นสติปัฏฐานได้เลย นอกจากจะเป็นสมาธิ ซึ่งไม่ได้เกิดพร้อมกับปัญญา แต่สามารถตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยที่ไม่รู้ว่า จะศึกษาอย่างไร จะพิจารณาอย่างไร จะรู้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่จะต้องฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ซึ่งจะเป็นปทัฏฐาน คือเป็นเหตุใกล้ให้สติเกิดขึ้นระลึกได้ตรงตามที่ได้ฟังว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่สติจะระลึก และปัญญาเริ่มพิจารณาศึกษา จนกว่าจะค่อยๆ รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น
เป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย แต่ส่วนมากถ้าถามว่า จะให้เริ่มอย่างไร มักจะข้ามจากสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วตามปกติ เพราะว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วตามปกติ เสียงที่ได้ยินก็มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วตามปกติ การคิดนึกก็มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วตามปกติ
เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาเพราะมีปัจจัยเกิดขึ้นตามปกติ ก็จะไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่มีวันที่จะกลับมาระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นตามปกติตามเหตุปัจจัยได้
ก็เป็นเรื่องของความอดทน
ถ. การศึกษาจนเข้าใจ มีสัญญา จำได้มั่นคง จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ แต่การเข้าใจโดยจำได้อย่างมั่นคงในขั้นนี้ก็ยังถือว่า เป็นขั้นความเข้าใจในระดับคันถธุระอยู่
สุ. ขณะใดที่สติไม่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่ สติปัฏฐาน ในขณะที่กำลังฟังและเข้าใจ ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มี สติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าในขณะนั้นไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
ถ. การเข้าใจธรรมอย่างถูกต้อง จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติ ไม่ใช่ เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง ผมพยายามเหลือเกินที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่จะเกิดเข้าใจอย่างที่ตั้งใจ บางทีแม้จะอ่านกันครึ่งวันค่อนวัน ความเข้าใจก็ไม่ค่อยเกิด แต่ ถ้าเกิด ก็เกิดโดยค่อยเป็นค่อยไปทีละนิดทีละหน่อย แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจ ที่ถูกต้องที่มั่นคงจนสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดสติ เป็นเรื่องยาก
สุ. และรู้สึกอย่างไร ถ้าสติจะเกิดวันละนิดวันละหน่อยในชีวิตประจำวัน ตามปกติ
ถ. รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ยิ่งยากกว่าความเข้าใจ
สุ. เป็นธรรมดาหรือเปล่า หรือควรจะมากกว่านั้นมากๆ
ถ. สำหรับความต้องการ ก็อยากจะได้มาก แต่ถึงแม้จะอยากอย่างไร ก็เป็นธรรมดาที่ไม่เป็นไปตามที่เราอยาก
สุ. จะอยากอย่างไรก็ได้ บางคนอาจจะอยากถึงกับเป็นพระอรหันต์ในวันนี้ ใช่ไหม แต่ความอยากนั้นถูกต้องตามเหตุที่สมควรไหม ในเมื่อในอดีตอนันตชาติมี การหลงลืมสติมาในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน แม้แต่ในชาตินี้เอง หรือในวันนี้เอง ก็มีปัจจัยที่อกุศลจะเกิดมากกว่ากุศล แต่ความอยาก ก็ยังอยากให้กุศลเกิดมากกว่า หรือสติปัฏฐานเกิดมากกว่า โดยไม่คำนึงถึงเหตุว่า ควรที่อกุศลจิตจะเกิดมากหรือ กุศลจิตจะเกิดมาก
เพราะฉะนั้น คงไม่อยากถึงกับเป็นพระโสดาบันอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ขณะใดที่สติเกิด ก็รู้ว่ามีเหตุปัจจัย สติปัฏฐานจึงเกิดได้
ผู้ฟัง ยิ่งเรียน ยิ่งเห็นว่าลุ่มลึกๆ ไม่ง่าย ผมขอยืนยันด้วยอีกคนหนึ่งว่า ไม่ง่าย ยากและลุ่มลึกมาก อย่างเมื่อกี้ ฟังจากคำที่อาจารย์พูดแล้วก็ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง อย่างเช่นบอกว่า ในขณะที่เห็นแล้วพิจารณาว่า เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่างกัน ถ้าพิจารณาขณะนั้น นั่นแหละคือวิปัสสนาธุระ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ต้องขณะนั้นจริงๆ ถ้าอย่างอื่นคงเป็นคันถธุระ และเหตุปัจจัยที่เป็นคันถธุระนั้นเมื่อเข้าใจแล้วก็เกื้อกูล แต่ขณะที่เห็น หรือขณะที่ได้ยิน มีอยู่ ๒ สิ่ง คือ รูปธรรมกับนามธรรม นี่แน่นอน ผมเองก็พยายาม และยืนยันว่า ยาก
สุ. นี่เป็นประโยชน์ของการฟัง และควรที่จะคิดถึงว่า ความอยากลดลง ไปไหม คือ แทนที่จะอยาก สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ใครเกิดนึกอยากจะมีสติ ก็จะหมดความอยากทันทีที่สติระลึกลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะมีความอยากให้มีสติโดยไม่รู้ว่า ความอยากในขณะนั้นจะน้อยลงได้ก็ต่อเมื่อ สติระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องปกติ แต่โลภะพอใจที่จะให้เป็น อย่างอื่นบ้าง แม้แต่สติเกิดน้อย โลภะก็อยากจะให้สติเกิดมากๆ แต่แทนที่จะอยากให้สติเกิด ก็ระลึกทันที คือ เมื่อนึกอยากขึ้นมาก็ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ความอยากมีสติลดน้อยลงได้
ในคราวก่อนเป็นเรื่องการอุทิศส่วนกุศลในการฟังธรรมและแสดงธรรม เนื่องมาจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้อ่านข้อความเรื่องท้าวสักกเทวราช และในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของ ธรรมทานนั่นแหละ ประเสริฐกว่าทานทั้งหลาย
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๒ ที่ว่า
บรรดารสทุกชนิด รสพระธรรมเป็นยอด
ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า
อนึ่ง รสมีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนประณีตแม้รสอาหารทิพย์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้แหละ ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรสัง ธัมมรโส ชินาติ
ทุกคนได้รสอาหารอยู่ทุกวัน แม้เป็นรสที่ประณีตถึงขั้นอาหารทิพย์ของเทวดา ก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ตกไปในสังสารวัฏฏ์
การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันแต่ละครั้งที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นบริโภคด้วยความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมอกุศลซึ่งจะทำให้ ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้
วันนี้ทุกท่านต้องมีทุกข์แน่ๆ เพียงแต่จะสังเกตหรือไม่ได้สังเกต อาจจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่ทันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่แท้ที่จริงสภาพธรรมทุกขณะเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งนั่นเป็นทุกข์จริงๆ แต่ขณะใดได้ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์ และถ้าสังเกตจะรู้ว่า มีมาก แม้แต่ว่าความขุ่นใจทางตาที่เห็น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหูที่ได้ยินแล้วเกิดขุ่นใจ รำคาญใจ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจคิดเรื่องที่ไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรสที่ประณีตทั้งหลาย ก็ยังไม่สามารถช่วยทำให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากพระธรรมรส คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว และโลกุตตรธรรม ๙ นี้แหละประเสริฐกว่ารส ทั้งปวง เพราะว่าไม่ทำให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ หรือเสวยทุกข์
เวลาที่ท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรมและมีความเข้าใจ มีศรัทธาปสาทะ มีความรู้สึกซาบซึ้ง ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง
ต่อไปเป็นอรรถแห่งปัญหาธรรมข้อที่ ๓ ที่ว่า
บรรดาความยินดีทุกชนิด ยินดีในธรรมประเสริฐ
ซึ่งข้อความมีว่า
แม้ความยินดีในบุตร ความยินดีในธิดา ความยินดีในทรัพย์ ความยินดี ในสตรี และความยินดีมีประเภทมิใช่อย่างเดียว อันต่างด้วยความยินดีในการฟ้อน การขับ การประโคม เป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนความอิ่มใจซึ่งเกิดขึ้นภายในของผู้แสดงก็ดี ผู้ฟังก็ดี ผู้กล่าวสอนก็ดีซึ่งธรรม ย่อมให้เกิดความเบิกบานใจ ให้น้ำตาไหล ให้เกิดขนชูชัน ความอิ่มใจนั้น ย่อมทำที่สุดแห่งสังสารวัฏฏ์ มีพระอรหัตเป็นปริโยสาน ความยินดี ในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรติง ธัมมรติ ชินาติ
วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดีในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการเล่น ในการฟ้อน การขับประโคมดนตรีต่างๆ แต่ว่าความยินดีนั้นๆ ทั้งหมด ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง
ต่อไปเป็นอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๔ ที่ว่า
ความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุ พระอรหัต
มีข้อความอธิบายว่า
ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหา คือ พระอรหัต ซึ่งเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งตัณหา พระอรหัตนั้นประเสริฐกว่าทุกอย่างแท้ เพราะครอบงำวัฏฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตัณหักขโย สัพพทุกขัง ชินาติ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความแห่งพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้อยู่นั่นแล บุคคลเป็นจำนวนมากได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เป็นปกติ ในขณะที่กำลังฟัง ฟังด้วย พิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏด้วย สติเกิดแทรกคั่น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
สำหรับผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานมามากแล้ว มีเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาย่อมสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้
แม้ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วทูลว่า
พระเจ้าข้า เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวก ข้าพระองค์ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้ จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกกับภิกษุสงฆ์ แล้วรับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน แล้วตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง