แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1513

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๙


ในขณะนี้เอง ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงสภาพลักษณะของจิตที่ต่างกันในวาระหนึ่งๆ ที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น

การที่ทวารและวัตถุของสัมปฏิจฉันนจิตไม่เนื่องกัน จึงต้องมีวิตกเจตสิก เกิดร่วมด้วย สำหรับทวิปัญจวิญญาณ คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก โสตวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก อกุศลวิบาก จิต ๑๐ ดวงนี้ แต่ละดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก แต่สัมปฏิจฉันนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ เพราะว่าทวารและวัตถุของสัมปฏิจฉันนจิตต่างกัน

สำหรับจักขุวิญญาณ เกิดที่จักขุปสาท ทำกิจที่จักขุปสาท และดับที่จักขุปสาท แต่สัมปฏิจฉันนจิตเกิดที่หทยวัตถุ อาศัยทวารตาถ้ารับรู้รูปต่อจากจักขุวิญญาณ แต่สัมปฏิจฉันนจิตเองเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตจึงมีเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ๑๐ ดวง คือ เพิ่มปกิณณกเจตสิกอีก ๓ ดวง ได้แก่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และอธิโมกขเจตสิก

นี่คือสภาพที่ต่างกันของทวิปัญจวิญญาณกับสัมปฏิจฉันนะ

จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนี้ไม่ต้องอาศัยเจตสิกเกินกว่า ๗ ไม่ต้องมี วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก แต่ทันที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อ ต้องอาศัยเจตสิกอีก ๓ ดวงเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วย เพราะไม่ได้ทำกิจเห็นแต่ทำกิจรับรู้สีต่อจากจักขุวิญญาณ จึงต้องอาศัยวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพื่อตรึกหรือจรดในอารมณ์นั้น นอกจากนั้นมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะที่ใดก็ตามที่มีวิตกเจตสิก ที่นั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย

วิตกเจตสิก เป็นเจตสิกที่จรดหรือตรึกในอารมณ์ และวิจารเจตสิกเป็นสภาพที่ประคองอยู่ในอารมณ์ที่วิตกจรด ไม่ว่าวิตกจะจรดในอารมณ์อย่างไร วิจารก็ประคองตามไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกกับวิจารเจตสิกก็เกิดร่วมกัน จิตใดที่มี วิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิด แต่ต่อไปจะทราบว่า วิจารเจตสิกเกิดโดยไม่มีวิตกเจตสิกเกิดก็ได้ สำหรับทุติยฌาน ซึ่งมีความชำนาญคล่องแคล่วมาก ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิตกเจตสิกอีกต่อไป จิตก็สามารถสงบระงับ เป็นทุติยฌานได้ แต่สำหรับกามาวจรจิต ที่ใดที่มีวิตกเจตสิก ที่นั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย

อธิโมกขเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปักใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะสัมปฏิจฉันนจิตไม่ใช่จิตที่ทำทัสสนกิจ แต่เป็นจิตที่รับอารมณ์ต่อจากทางจักขุวิญญาณ

สัมปฏิจฉันนจิตไม่เกิดทางมโนทวาร เกิดได้เฉพาะ ๕ ทวาร และรู้ได้เฉพาะ ๕ อารมณ์ และเกิดขณะอื่นไม่ได้นอกจากเมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิต เกิดต่อ โสตวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ฆานวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ชิวหาวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ กายวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ รู้ หรือไม่รู้ ก็เป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงโลกมืดว่า วันหนึ่งๆ แท้ที่จริงอยู่ในโลกที่สว่างมาก หรือในโลกที่มืดมาก ก็เพื่อให้คลายความติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะว่าทางตา ถ้าใครบอกว่ากำลังเกิดดับ ยากแสนยากที่จะเชื่อ ใช่ไหม ถ้าสติไม่เคยระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา และระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ซึ่งสลับกันอย่างรวดเร็ว และยังมีทางใจที่คิดนึกเรื่องที่ได้ยินเป็นต้น หรือสิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส

อย่างเวลาที่รับประทานอาหาร ไม่ได้มีแต่เห็น ใช่ไหม คุยกันด้วย ฟังเพลงด้วย คิดนึกเรื่องต่างๆ ด้วย บางคนอาจจะคิดนึกเรื่องธุรกิจการงาน และมีการกระทบสัมผัสช้อนส้อม เครื่องใช้ในการบริโภค เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วาระที่รู้อารมณ์ทางอื่นนอกจากทางจักขุทวาร มืด ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลย ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ก็ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลย ขณะที่กำลังคิดนึกก็ไม่ได้มีแสงสว่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ถ้าไม่เกี่ยวเนื่องกับทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีที่รับรู้อารมณ์ต่อจากทางจักขุทวารวิถีแล้ว วาระอื่นทั้งหมด คือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มืด พิสูจน์ได้ง่ายมาก เพียงหลับตาเท่านั้นก็มืด แต่ยังมีอ่อน มีแข็ง มีเสียง มีรส มีกลิ่น กระทบปรากฏได้ทั้งหมด

การพิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมตามความเป็นจริงต่างกับ ที่เคยคิด เคยเข้าใจ จะทำให้ละคลายการยึดถือ การติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเข้าใจแล้วว่า ชั่วแวบเดียว ชั่วครู่เดียวเท่านั้นเองที่เห็นตามความเป็นจริง และวิถีจิตวาระอื่นก็เกิดสืบต่อสลับแล้ว และมีการเห็นอีก ชั่ววาระสั้นๆ วิถีจิตวาระอื่นซึ่งมืดก็เกิดดับสืบต่อแล้ว

ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ ที่ว่าสว่างนี่ ชั่วครู่ ชั่วขณะเท่านั้น ก็จะละคลายการยึดติดในสิ่งที่ปรากฏทางตา ละคลายการยึดติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ไม่ใช่ละความพอใจ

จะเห็นได้ว่า ความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา รวดเร็ว แม้ จักขุทวารวิถีจิตยังไม่ดับหมด รูป ๑๗ ขณะยังไม่ทันจะดับ จิต ๑๗ ขณะนี่ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น รูปต้องดับเร็วด้วย จิต ๑๗ ขณะดับเร็วกว่าขณะที่กำลังเห็นและกำลัง ได้ยินในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่รูปยังไม่ดับ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับ สันตีรณจิตดับ โวฏฐัพพนจิตดับ ชวนจิต พอใจหรือไม่พอใจในรูปที่ปรากฏเกิดดับ สืบต่อกัน ๗ ขณะ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ยับยั้งการติดหรือการชอบ แต่ละการที่เคยยึดมั่นถือมั่น ในรูปที่ปรากฏว่าเป็นสภาพที่เที่ยงและไม่ดับ เพราะตามความเป็นจริงแล้วต้องเห็นชั่วขณะสั้นมาก และวิถีจิตวาระอื่นก็เกิดดับสืบต่อ ถ้าพิจารณาลักษณะสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจสืบต่อกันได้จริงๆ ลักษณะของสภาพธรรมย่อมปรากฏตามเป็นจริง คือ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แม้แต่ ทางตาที่คิดว่าไม่ดับเลย ก็ต้องรู้ว่า ความจริงต้องปรากฏสภาพที่ดับได้ เพราะว่ามี วิถีจิตวาระอื่นเกิดสลับที่จะรู้ได้ว่าทางตาต้องดับ

ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ หรือไม่น้อมระลึกถึงสภาพที่แท้จริงในขณะที่รูปแต่ละรูปปรากฏทางทวารแต่ละทวาร ก็จะคิดว่าเป็นโลกที่สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา ไม่ดับเลย แต่การที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็น ชั่วขณะที่สั้นและเล็กน้อยได้ ก็เมื่อปัญญาพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง

ถ. สัมปฏิจฉันนะ เพียงแต่พิจารณาอารมณ์ ใช่ไหม ยังไม่ตัดสินอารมณ์

สุ. สัมปฏิจฉันนะยังไม่ได้พิจารณา สัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ทีละอารมณ์ ทีละทวาร ยังไม่พิจารณาอารมณ์ ต้องสันตีรณจิต

ถ. สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลายเกิดดับสืบต่อปรากฏแก่จิตได้ ทางทวารต่างๆ มีสภาพธรรมเดียว คือ พระนิพพาน ที่แม้ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต ก็ไม่ชื่อว่าเกิดขึ้นหรือดับไป ขอเรียนถามว่า เพราะเหตุใด

สุ. เพราะเหตุใด ก็เพราะสภาพธรรมนั้นมีลักษณะอย่างนั้น อย่าง สังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไป จะเพราะเหตุใดอีกหรือเปล่า ในเมื่อลักษณะของ สภาพธรรมอย่างหนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ถ. แต่ขณะที่สภาพธรรมทั้งหลายปรากฏแก่จิตได้ทางทวารต่างๆ ก็ ชื่อว่าเกิดขึ้น แต่นิพพาน เวลาปรากฏเป็นอารมณ์ของมรรคจิต ปรากฏเป็นอารมณ์ได้ นิพพานเป็นธัมมารมณ์อย่างหนึ่ง แต่เวลาจิตรู้นิพพาน ในขณะนั้นไม่ชื่อว่าเกิดขึ้น และไม่ชื่อว่าดับไป ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

สุ. เพราะว่านั่นเป็นลักษณะของนิพพาน เท่านั้นเอง

ถ. สภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่นิพพาน เวลาเกิดขึ้นปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต ทำไมแสดงลักษณะอาการเกิดขึ้นและดับไป

สุ. เพราะว่าสภาพนั้นมีลักษณะอย่างนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างมี ลักษณะอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

ถ. ผมใคร่จะศึกษาพระอภิธรรม แต่ยังไม่ทราบว่า จะใช้ตำราที่ไหน

สุ. ตำราพระอภิธรรมมีมากที่เขียนกันไว้ ที่พิมพ์ก็มีมาก

ถ. ที่ควรใช้เป็นหลักได้ ผมกลัวว่าจะผิดเพี้ยน

สุ. ตำราคงไม่ผิด แต่ความเข้าใจธรรม การพิจารณาธรรมต้องละเอียด และในการศึกษา ควรจะพิจารณาในเหตุในผล ไม่ใช่เพียงแต่ท่องจำ หรือรู้จักชื่อเท่านั้น แต่ควรรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง โดยชาติ โดยทวาร โดยอารมณ์ โดยกิจ เพื่อจะได้เห็นความเป็นอนัตตาและความแตกต่างกันจริงๆ ของลักษณะ สภาพธรรมแต่ละอย่าง

เช่น จักขุวิญญาณ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ สัมปฏิจฉันนจิตก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ สันตีรณจิตก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ โลภมูลจิตก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ แต่เป็นจิตต่างประเภทกัน และ เกิดสลับกันไม่ได้ ต้องอาศัยปัจจัยแต่ละขณะ โดยสภาพที่เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยว่า เมื่อจิตดวงนี้ดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปคือดวงนั้นเกิดขึ้น เป็นดวงอื่นไม่ได้ เช่น เมื่อจักขุวิญญาณดับไป จักขุวิญญาณเองเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้เฉพาะสัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ

ผู้ฟัง สำหรับปัญหานี้ อย่างคราวก่อนๆ ก็มีผู้ถามว่า ขอไม่เรียน ปรมัตถธรรม ๔ ได้ไหม เรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน ความจริงคำตอบ คือ ไม่ได้ ถ้าจะเจริญวิปัสสนาต้องเรียน แต่เรื่องการเรียน ตัวผมเองศึกษาโดยฟังจาก ท่านอาจารย์ซึ่งเกือบจะบอกได้ว่าผู้เดียวเท่านั้น ไม่ได้ฟังจากที่อื่น แต่ความที่ฟัง มากๆ เข้า ปรมัตถธรรม ๔ ก็เข้าใจได้เอง ไม่ต้องห่วง ปรมัตถธรรม ๔ ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายไว้ พอเพียงที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ ผมขอยืนยันอย่างนี้

สุ. สำหรับอกุศลจิต ถ้าเทียบกับอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ อเหตุกจิตย่อมรู้ยากกว่า เพราะไม่ได้ประกอบด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แต่ จิตนี้มี และเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

สำหรับอเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ คือ ไม่ประกอบด้วย โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิกนั้น มี ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตมี ๑๘ ดวง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง

สำหรับวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๘ ดวง รวมเป็นอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ๑๒ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เพื่อที่จะเตือนให้ระลึกว่า ในขณะนี้เอง ที่กำลังเห็น เป็นวิบากจิต เป็นอเหตุกจิต ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทางหู ทุกๆ ขณะที่ผ่านไปอาจจะหลงลืมสติ และไม่สังเกต ไม่พิจารณา ไม่ได้ระลึกเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นผลของอดีตกรรมที่ทำให้ได้ยินเสียง ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างแต่ละขณะ

จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ ทรงแสดงประเภทของวิบากจิตคือจิตที่เป็นผลของกรรมไว้ ในชีวิตประจำวัน เราก็จะ ไม่คิดเลยว่า นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณแล้ว จะมีวิบากอื่นอีกที่เป็นผลของกรรม และถึงแม้จะทรงแสดงไว้ ก็ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ในการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิตแต่ละขณะ ในวาระหนึ่งๆ ซึ่งมีการเห็น หรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่แม้กระนั้นการศึกษาพระธรรมเรื่องของอเหตุกจิต ก็ยังช่วยให้เกิดการพิจารณาเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว ซึ่งควรที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะมีสภาพธรรมอื่น เช่น สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ ในขณะที่เห็น เกิดต่อจากโสตวิญญาณในขณะที่ได้ยิน เกิดต่อจากฆานวิญญาณ ในขณะที่ได้กลิ่น เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณในขณะที่ลิ้มรส เกิดต่อจากกายวิญญาณในขณะที่กระทบสัมผัส ก็ไม่สามารถจะติดตามระลึกรู้ได้ และไม่จำเป็นที่ใครจะต้องพยายามไปเจริญสติปัฏฐานโดยให้มีสัมปฏิจฉันนจิตเป็นอารมณ์

เมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สุดวิสัยที่จะรู้ได้ จึงควรรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่พิสูจน์ได้ เช่น ในขณะที่เห็น ไม่ต้องคิดว่าขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ หรือ สัมปฏิจฉันนะ หรือสันตีรณะ หรือปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะ แต่ให้ทราบว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิตโดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจ สภาพธรรมโดยถูกต้องที่จะช่วยให้คลายการยึดติดสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ขอกล่าวทบทวนลักษณะของสัมปฏิจฉันนะใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ซึ่งแสดงลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิตว่า

จักขุวิญญาณาทีนัง อนันตรรูปาทิวิชชานนลักขณา มีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ

ตามที่ทุกคนเคยทราบแล้ว เป็นการทบทวนให้ทราบว่า ลักษณะของ สัมปฏิจฉันนะนั้น ไม่เห็น แต่รู้ตามจักขุวิญญาณซึ่งเห็น เพราะฉะนั้น เวลาที่ จักขุวิญญาณเกิดครั้งหนึ่ง จะมีจิตซึ่งติดตามมาด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงจักขุวิญญาณ ที่เห็นเท่านั้น ทันทีที่จักขุวิญญาณดับไปจะมีจิตที่ติดตามมา คือ สัมปฏิจฉันนจิต สำหรับทางทวารหู จมูก ลิ้น กาย ก็โดยนัยเดียวกัน

รูปาทีนัง สัมปฏิจฉันนรสา มีการรับอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นรสะ

ลักษณะของจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ คือ เมื่อทวิปัญจวิญญาณจิตดับ ต้องมีหน้าที่ต้องรับรูปนั้นต่อ

ตถาภาวปัจจุปัฏฐานา มีภาวะอย่างนั้น คือ รับอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ

เวลานี้แม้ว่าสัมปฏิจฉันนะไม่ปรากฏ แต่การที่ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นเป็นการแสดงแล้วว่าต้องมีสัมปฏิจฉันนะ มิฉะนั้นเพียงจักขุวิญญาณที่เห็นและดับ จะไม่มีการรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร หรือเสียงที่ได้ยินเป็นอะไร แต่เมื่อเห็นแล้วรู้ว่าเป็นอะไร ได้ยินแล้วรู้ว่าหมายความว่าอะไร ต้องแสดงว่า เมื่อทวิปัญจวิญญาณ ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะต้องรับอารมณ์นั้นต่อ

จักขุวิญญาณาทิ อปคมนปทัฏฐานา มีความไปปราศของจักขุวิญญาณ เป็นต้นเป็นปทัฏฐาน

เมื่อทวิปัญจวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากสัมปฏิจฉันนจิต

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565