แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1516

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๙


ถ. ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด คำว่า มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ หมายความว่าอย่างไร

สุ. ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะทั้ง ๓ ที่ไม่แยกกัน สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เกิดดับ ใช่ไหม ต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับนั่นเองที่ไม่เที่ยงนั้นแหละเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ถูกไหม โดยชื่อ

และขณะนี้ อะไรกำลังไม่เที่ยง ประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงหรือเปล่า แต่พูดถึงไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดอะไรเลย เป็น สามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย หมายความว่าสภาพที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลายจะต้องมีสามัญญลักษณะ คือ ไม่เที่ยง เกิดดับ เป็นอนัตตา ถ้าเรากล่าวถึงโดยชื่อก็ไม่ประจักษ์ แต่ขณะใดที่กำลังประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป นั่นคือ ไตรลักษณะ

ถ. แม้ขณะนี้ ก็มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ได้ใช่ไหม ถ้ามีปัญญา

สุ. ถ้าวิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ก็มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์

ถ. ต้องวิปัสสนาญาณหรือ

สุ. แน่นอน แม้วิปัสสนาญาณต้นๆ ยังไม่มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ทั้งๆ ที่ เกิดดับ เวลานี้มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่านามธรรมรูปธรรมเกิดดับ รู้โดยฟัง ใช่ไหม และ มีใครบ้างที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นี่ต้องอีกขั้นหนึ่งแล้ว และผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ยังไม่ถึงอุทยัพพยญาณ ก็ไม่ประจักษ์ ไตรลักษณ์

ที่จริงแล้วการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ไม่ต่างกับขณะนี้เลย เพียงแต่ว่าปัญญาต่างกัน ปัญญาขั้นการฟัง ฟังสักเท่าไรก็ยังไม่ประจักษ์ว่าอะไรเกิดอะไรดับ แต่เข้าใจว่าต้องดับและต้องเกิด อย่างในขณะที่กำลังเห็นและได้ยิน ต้องรู้ว่า เห็นต้องดับได้ยินจึงเกิดได้ และขณะที่ได้ยินต้องไม่มีเห็น นี่คือความเข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม จะต่างกับขณะนี้ไม่ได้เลย แต่ปัญญาสามารถแทงตลอดปรุโปร่งในลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ตามขั้นของวิปัสสนาญาณ

ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแรก ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏโดย สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนทีละอย่างจริง แต่ปัญญาไม่ได้น้อมพิจารณาการดับไป การเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง เหมือนในขณะนี้ ใช่ไหม ขั้นของการฟังยัง สลัวมาก รู้ว่าเห็นไม่ใช่ได้ยิน แต่แยกไม่ออก เพราะว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ ทีละอย่าง แต่ปรากฏเหมือนหลายอย่างติดๆ กัน พร้อมกันด้วย ใช่ไหม

และเวลาที่สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง ควรใส่ใจในการปรากฏ คือ การเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละอย่าง แต่ปัญญาที่มีกำลังอ่อนไม่ได้ทันใส่ใจในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏให้เห็นทีละอย่าง เพียงแต่ว่ามนสิการ รู้แจ่มแจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นที่ปรากฏ ทีละอย่างๆ แต่ปัญญาที่ยังอ่อนไม่ได้พิจารณาว่า แต่ละอย่างที่ปรากฏนั้น เกิดและดับ และอีกอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นและก็ดับ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณ แต่ละขั้นจึงต้องอาศัยการเจริญอบรมจนกว่าปัญญาจะคมกล้าจริงๆ

ถ. เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่เกิดขึ้นทีละอย่าง แต่เกิดขึ้นพร้อมกัน ใช่ไหม

สุ. ไตรลักษณะเป็นลักษณะ ๓ ซึ่งไม่แยกกันเลย จึงชื่อว่าไตรลักษณะ

ถ. ผมสงสัยมานานแล้วว่า อนิจจังก็คือทุกขัง ทุกขังก็คืออนัตตา แต่หาคำตอบไม่ได้ ที่อาจารย์บอกว่า แยกกันไม่ได้ ผมเพิ่งเข้าใจวันนี้ว่า แยกกันไม่ได้จริงๆ

สุ. คงเคยได้ยินคนพูดว่า อนิจจัง เวลาของตกแตก ไม่เที่ยง บางคน บอกว่า มันเป็นทุกข์ บางคนบอกว่า มันไม่ใช่ตัวตน แต่ขณะเดียวกันนั่นเอง สภาพ ที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไปต้องเป็นทุกข์แน่ๆ เพราะไม่ยั่งยืน ใช่ไหม และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น แล้วแต่แต่ละบุคคลในขณะที่ไตรลักษณ์ปรากฏ ว่าจะเห็นความเป็นอนิจจัง หรือจะเห็นความเป็นทุกข์ หรือจะเห็นด้วยความ เป็นอนัตตา คือ ปัญญาพิจารณาในลักษณะที่เป็นอนัตตา แต่ไม่แยกจากกันเลย ในลักษณะที่ไม่เที่ยงนั่นเอง แล้วแต่ว่าของตกแตกและจะบอกว่าอย่างไร หรือเจ็บไข้ ได้ป่วยก็คือความไม่เที่ยง จะพูดว่าอย่างไร พูดว่าทุกข์ หรือพูดว่าอนัตตา หรือพูดว่าไม่เที่ยง

ถ้าวันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้เป็นโรคร้ายแรงจะบอกว่าอย่างไร ทุกข์ ปรากฏให้เห็น อนิจจัง ไม่เที่ยงเลยเมื่อวานนี้ก็ยังแข็งแรงดี หรือว่าอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ฉันใด เวลาที่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏเกิดขึ้นและดับไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เตรียมเลือกได้ไหม ก็ไม่ได้อีก ว่าจะเป็นผู้ที่ใส่ใจในลักษณะที่เป็นอนิจจัง หรือใส่ใจ ในลักษณะที่เป็นทุกข์ หรือว่าใส่ใจในลักษณะที่เป็นอนัตตา

การศึกษาปรมัตถธรรมมีทางที่จะงงได้มาก ถ้าคิดมากเกินไปในเรื่องพยัญชนะ แต่ถ้าคิดว่าพยัญชนะคือคำที่บ่งบอกลักษณะของปรมัตถธรรม เราก็จะไม่ยึดติด ในพยัญชนะจนเกินควร แต่พยายามเข้าถึงลักษณะของปรมัตถธรรมตรงตามที่พยัญชนะนั้นบ่งมากกว่าจะไปค้นคว้าว่า พยัญชนะนี่เป็นอย่างไร

อเหตุกจิตมี ๑๘ ดวง เป็นอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีใครไม่มีอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวงนี้ เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีผลของกรรมที่เป็นกุศลวิบากบ้าง อกุศลวิบากบ้าง สำหรับอเหตุกจิตอีก ๓ ดวงที่เหลือ เป็นกิริยาจิต

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความอธิบายจิตที่เป็นกิริยาว่า

ในพระบาลีนั้น คำว่า เป็นกิริยา คือ เพียงการกระทำ ก็ในบรรดากิริยาจิตทุกดวงทีเดียว กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นย่อมไม่มีผลเหมือนดอกไม้ลม (คือ ดอกไม้ที่ไร้ผล) กิริยาจิตดวงใดถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกต้นไม้ที่มีรากขาดเสียแล้ว

เพราะฉะนั้น สำหรับพระอรหันต์ ท่านไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต มีแต่ วิบากจิต กับกิริยาจิต

วิบากจิตเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วซึ่งยังให้ผลอยู่ตราบใดที่ยัง ไม่ปรินิพพาน พระอรหันต์มีแต่โสภณจิต คือ จิตที่ดีงาม ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผล จึงเป็นกิริยาจิต และถึงแม้จะถึงความเป็นชวนะก็ไม่เป็นเหตุ คือ ไม่เป็นกุศลหรือ อกุศล เพราะว่า กิริยาจิตดวงใดถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกต้นไม้ที่มีรากขาดเสียแล้ว

อเหตุกกิริยาจิตมี ๓ ดวง ฉะนั้น ต้องมีจิตอีกประเภทหนึ่งที่เป็นสเหตุกกิริยาจิต คือ ประกอบด้วยโสภณเหตุที่ดี

อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เพราะถ้าประกอบกับโลภะ โทสะ โมหะ ต้องเป็นอกุศล และถ้าประกอบกับอโลภะ อโทสะ อโมหะ ต้องเป็นโสภณะ ต้องเป็นสภาพที่ดีงาม ซึ่งสำหรับ อเหตุกกิริยา ๓ ดวง ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ นั้นเลย

สำหรับอเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง ได้แก่

อุเปกขาสหคตัง ปัญจทวาราวัชชนจิตตัง เป็นกิริยาจิตที่รำพึงถึงหรือรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

อุเปกขาสหคตัง มโนทวาราวัชชนจิตตัง เป็นกิริยาจิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่ กระทบทางใจ ในขณะที่มีการคิดนึกรู้อารมณ์ทางใจวิถีจิตแรกที่เกิดต้องเป็น มโนทวาราวัชชนจิต

โสมนัสสสหคตัง หสิตุปปาทจิตตัง เป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มหรือการยิ้ม ของพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง แต่สำหรับ พระอรหันต์มีอเหตุกกิริยาจิตครบทั้ง ๓ ดวง

การที่จะได้รับผลของกรรมแต่ละครั้งหลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว จะเห็นได้ว่า เวลาที่กรรมหนึ่งกรรมใดจะให้ผล ให้เห็นทางตา หรือให้ได้ยินเสียงทางหู ให้ได้กลิ่นทางจมูก ให้ลิ้มรสทางลิ้น ให้รู้โผฏฐัพพะทางกายนั้น วิบากจิตจะเกิดทันทีไม่ได้ เพราะว่ากรรมหนึ่งกรรมเดียวในสังสารวัฏฏ์ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด และดำรงความเป็นบุคคลนั้นโดยจิตเกิดดับสืบต่อเป็นภวังคจิตประเภทเดียวกันตลอดระหว่างที่ยังไม่มีการรับผลของกรรมอื่น หรือยังไม่มีการคิดนึกใดๆ ทางใจ แต่ถ้าจะมีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ภวังคจิตที่จะเปลี่ยนสภาพจากภวังค์ และวิบากจิตอื่นจะเกิดขึ้นรับผลของกรรม วิบากจิตนั้นจะเกิดต่อจากภวังคจิตทันทีไม่ได้ ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน

สำหรับทางปัญจทวาร วิถีจิตแรกเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หลังจากนั้นจึงเป็นวิบากจิต ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น ถ้าผลของกรรม เป็นทางหู โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่กระทบ ถ้ากรรมให้ผลทางจมูก ฆานวิญญาณก็เกิดขึ้นรู้กลิ่นทางจมูก แต่ก่อนที่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณจะเกิด ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาต้องเกิดก่อน

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่เห็นโดยปริยัติทราบว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว จักขุวิญญาณจึงเห็นได้ และที่จะคิดนึกทางใจ แม้ในขณะที่ฝัน ถ้ายังเป็นภวังค์อยู่ ฝันไม่ได้ คิดนึกทางใจไม่ได้

ถ้าจะมีการฝันเกิดขึ้น มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน ต่อจากนั้นจึงเป็น กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่นึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดปรากฏเป็นความฝันขึ้น นี่เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ

เพราะฉะนั้น สำหรับวิบากจิตที่จะเกิดทางใจ เฉพาะขณะที่ทำตทาลัมพนกิจเท่านั้น เวลาที่ใครคิดนึก จะดี จะชั่ว ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ใช่วิบาก กุศลจิตเป็นเหตุ อกุศลจิตเป็นเหตุ ต้องรู้ว่า วิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลมีเท่าไร และวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลมีเท่าไรจึงจะไม่ปะปนกัน ไม่อย่างนั้น บางคนอาจบอกว่า คิดอย่างนี้ก็เป็นวิบาก ความจริงคิดไม่ใช่วิบาก คิดต้องเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเข้าใจเรื่องของอเหตุกจิตโดยตลอด จะเข้าใจพระอภิธรรมโดยตลอด เพราะว่าเรื่องของอเหตุกจิตเป็นชีวิตประจำวัน และพระอภิธรรมก็คือชีวิตประจำวัน ที่ต่างกันไปโดยละเอียดมากในชีวิตของแต่ละบุคคลในสังสารวัฏฏ์แต่ละภพ แต่ละชาติ

สัทธรรมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาธรรมนานัตตญาณนิทเทส ข้อ ๑๘๔ มีข้อความว่า

ความต่างแห่งผัสสะ อาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น

ขณะนี้ทุกคนไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่มีตาเหมือนกัน มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แต่คิดคนละอย่าง หรือแม้แต่ขณะที่เห็นกับขณะที่ได้ยิน คนหนึ่งอาจจะเห็น คนหนึ่งอาจจะได้ยิน อีกคนหนึ่งอาจจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ความต่างแห่งผัสสะ คือ การกระทบอารมณ์ อาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น และการเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกันอีก บางคนก็เห็นชัด จักขุปสาทดี บางคนก็เห็นไม่ค่อยชัด จักขุปสาทไม่ดี

เพราะฉะนั้น แม้แต่การเห็นชั่วขณะหนึ่งที่เกิดก็ยังต่างกันไป เพียงแค่เห็น ยังต่าง นอกจากจะเห็นต่างกัน ได้ยินต่างกัน ได้กลิ่นต่างกัน ลิ้มรสต่างกัน แต่ละขณะ

ความต่างแห่งเวทนา คือ ความต่างแห่งจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น

เห็นแล้วความรู้สึกต่างกันไหม ต่างกัน บางคนชอบแสงแดด บางคนไม่ชอบ ชอบฝน นี่เป็นเรื่องของความรู้สึก เห็นแดดด้วยกัน คนหนึ่งสดชื่น อีกคนหนึ่งไม่สบาย ทั้งๆ ที่เห็นสิ่งเดียวกัน ความรู้สึกก็ยังต่างกัน เพราะฉะนั้น จิตที่วิจิตรต่างกันมากมายแต่ละขณะ จะทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ที่วิจิตรต่างกันออกไปอีกมากเท่าไร เมื่อกระทบปรากฏให้เห็นได้ยินต่างกันแล้ว และความรู้สึกที่เห็นได้ยินต่างกันแล้ว สัญญา ความจำในสิ่งที่ปรากฏก็ยังต่างกันด้วย

ทุกท่านกลับไปบ้าน อาทิตย์หน้าพบกันอีกที ถามว่าใครจำอะไรได้บ้าง ความจำของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใช่ไหม ไปเที่ยวด้วยกัน บางคนจำเรื่องนี้ได้ บางคนจำเรื่องนั้นได้ บางคนจำอะไรไม่ได้เลย แล้วแต่แต่ละบุคคล

นอกจากจะเห็นต่างกัน ทำให้เกิดความรู้สึกต่างกัน และความจำต่างกันแล้ว ความดำริ หรือการตรึก การนึกคิดในเรื่องที่เห็นก็ยังต่างกันด้วย

เห็นสิ่งเดียวกัน บางคนเฉยๆ บางคนเกิดกรุณา ทนไม่ได้ ต้องช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนในขณะนั้น นี่เป็นความดำริที่ต่างกัน เวทนาก็ต่างกัน สัญญาก็ต่างกัน ความดำริก็ต่างกัน ฉันทะ ความพอใจใน สิ่งต่างๆ ก็ยิ่งต่างกันไป

เสื้อผ้าของแต่ละคนในวันนี้ไม่เหมือนกันเลย ดูลาย ดูดอก ดูสี ดูแบบ ก็ ต่างๆ กันไปตามฉันทะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็มีความเร่าร้อนต่างกัน บางคนอาจจะเร่าร้อนด้วยโทสะ บางคนอาจจะเร่าร้อนด้วยโลภะ บางคนอาจจะเร่าร้อนในรูป บางคนอาจจะเร่าร้อนในเสียง บางคนอาจจะเร่าร้อนในรส เพราะฉะนั้น ก็ชอบทำอาหาร เพราะเร่าร้อนในรส แสวงหารส ที่อร่อย บางคนเรื่องอาหารไม่เป็นไร อะไรก็ได้ง่ายๆ นั่นเป็นความเร่าร้อนที่ต่างกัน ทำให้เกิดการแสวงหาที่ต่างกัน

เมื่อการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างกัน เพราะฉะนั้น การได้ ก็ต่างกันตามการแสวงหา แล้วแต่ว่าใครจะได้รูปอย่างไร ใครจะได้เสียง ได้รส ได้กลิ่น ได้โผฏฐัพพะอย่างไร ก็เป็นไปตามการแสวงหาและการเร่าร้อน ซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทตราบใด ก็ยังต้องมีกรรมและมีการได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ความสำคัญที่ควรเข้าใจเรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ กิจการงานของจิตทั้งหมด ทั้งในโลกนี้และโลกอื่นๆ ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งมีเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น

ในอดีตที่เคยเกิดกันมาแล้วมาก และในปัจจุบัน และในอนาคตที่จะเกิดต่อไป ไม่ว่าจะเกิดในโลกนี้อีก หรือจะเกิดในสวรรค์ ในภูมิใดๆ ก็ตาม จิตที่เกิดขึ้นนั้นจะทำกิจการงานทั้งหมดเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น

สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านกำลังทำหน้าที่ เมื่อเกิดมาแล้วในโลกก็มีหน้าที่ทุกคน แต่ตามความเป็นจริง ไม่ใช่หน้าที่ของใคร แต่เป็นหน้าที่ของจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน จิตประเภทอื่น เช่น อกุศลจิต ไม่สามารถทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ หรือกามาวจรโสภณจิต คือ มหากุศลจิตก็ดี รูปาวจรจิตก็ดี อรูปาวจรจิตก็ดี โลกุตตรจิตก็ดี ทำกิจไม่ได้ครบ ทั้ง ๑๔ กิจ แต่สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ

เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาและเข้าใจเรื่องของอเหตุกจิตโดยละเอียดขึ้น จะทำให้เข้าใจปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตั้งแต่เกิดจนตายล้วนเป็นการเกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ ของจิต เจตสิก รูปแต่ละประเภท ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจนกระทั่งทำให้ไม่รู้ว่า เป็นกิจของจิต เจตสิก รูป แต่เข้าใจว่า เป็นสัตว์บุคคลที่ทำกิจการงานต่างๆ

เปิด  330
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565