แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1518

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙


เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบตา กิจต่อไป คือ กิจที่ ๔ ทัสสนกิจ จิตที่ทำกิจนี้เป็นอเหตุกวิบากจิต ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง

แสดงให้เห็นว่า อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ คือ

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๔ คือ ทัสสนกิจ

โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๕ คือ สวนกิจ ได้ยินเสียง

ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๖ คือ ฆายนกิจ ได้กลิ่น

ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๗ คือ สายนกิจ ลิ้มรส

กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำกิจที่ ๘ คือ ผุสสนกิจ รู้อารมณ์ที่กระทบสัมผัสกาย และเมื่อดับไปแล้วก็ถึงกิจที่ ๙ คือ สัมปฏิจฉันนกิจ รับอารมณ์ต่อจาก ทวิปัญจวิญญาณ

เมื่อดับไปแล้วเป็นกิจที่ ๑๐ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ที่ สัมปฏิจฉันนจิตรับไว้

ถ้ามีแต่เพียงการเห็น การได้ยินซึ่งเป็นวิบาก ได้แก่ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเหล่านี้ คงจะไม่มีความสำคัญอะไร แต่ความสำคัญ คือหลังจากนี้แล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด

ทุกคนที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ชอบ ได้ไหม ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรือถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จะให้ไม่เกิดความ ไม่ชอบ ได้ไหม

แสดงให้เห็นว่า ถ้าเพียงเห็นแล้วไม่มีกิเลสเลย ก็สบายมาก ไม่เดือดร้อนอะไรเลย แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าวิบากจิตจะเกิดเพราะเป็นผลของกรรมทำให้ได้รู้อารมณ์ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ดับไปแล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่กุศลจิต ที่จะเกิดต่อ หรืออกุศลจิตที่จะเกิดต่อ แต่ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด ต้องมี กิจอีกกิจหนึ่งเกิดต่อจากสันตีรณกิจ คือ โวฏฐัพพนกิจ

ทุกคนอยากให้กุศลจิตเกิด แต่ทำไมกุศลจิตไม่เกิด ก็เพราะว่าโวฏฐัพพนจิต พิจารณาอารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นปัจจัยให้เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว อกุศลจิตเกิด ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากให้อกุศลจิตเกิด แต่ยับยั้งไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจที่ตัดสินหรือว่ากำหนดให้จิตต่อไปเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าพิจารณา โดยแยบคาย กุศลจิตก็เกิด ถ้าพิจารณาโดยไม่แยบคาย อกุศลจิตก็เกิด

ดังนั้น โวฏฐัพพนกิจ เป็นกิจที่ ๑๑ และจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ คือ อเหตุกกิริยาจิตอีกดวงหนึ่ง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต เวลาที่เกิดทางปัญจทวาร ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ

เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตมี ๒ กิจ ถ้าเกิดทางปัญจทวารทำ โวฏฐัพพนกิจ ถ้าเกิดทางมโนทวารทำอาวัชชนกิจ เหมือนยามชั้นในที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดต่อ แต่นี่ยังเป็นปัญจทวารวิถี ยังไม่ใช่มโนทวารวิถี เพราะว่ารูปยัง ไม่ดับ และจะเห็นได้ว่า ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด ต้องแล้วแต่จิตที่ทำ โวฏฐัพพนกิจ ซึ่งได้แก่มโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดต่อ เป็นกิจที่ ๑๑

กิจที่ ๑๒ คือ ชวนกิจ ได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์ เพราะว่าไม่ต้องรับไว้ ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องตัดสิน จึงทำกิจแล่นไปด้วยอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด หรือด้วยกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด

ทุกคน ดูเหมือนว่ารู้เรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิต ใช่ไหม แต่ทราบไหมว่า กุศลจิตและอกุศลจิตทำกิจอะไร ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลจิตเป็นอย่างไร และอกุศลจิต เป็นอย่างไร ก็ยังไม่พอ เพราะการที่จะเห็นว่า กุศลจิตและอกุศลจิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จำเป็นต้องรู้ถึงกิจหน้าที่ของกุศลจิตและอกุศลจิตด้วยว่า กุศลจิตและอกุศลจิตไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ ไม่ได้ทำโวฏฐัพพนกิจ แต่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์

ถ้าเป็นโลภมูลจิต ก็พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ โลภมูลจิตจะเกิดดับสืบต่อกัน ถึง ๗ ขณะในขณะที่ทำชวนกิจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากข้างหน้า ฉะนั้น สำหรับสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เป็นวิบากจิต แต่สำหรับกุศลจิตและอกุศลจิต ที่ทำชวนกิจนั้น ไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า นี่เป็นกิจที่ ๑๒

ในวันหนึ่งๆ จะขาดกิจเหล่านี้ไหม ขาดแต่ปฏิสนธิกิจใช่ไหม เพราะว่าเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวและดับไป แต่หลังจากนั้นไม่ขาดเลย มีจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ มีจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ มีจิตเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ มีจิตเกิดขึ้นทำสวนกิจ ล้วนแต่เป็นจิตแต่ละประเภททั้งนั้นในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ซึ่งควรจะทราบด้วยว่า จิตแต่ละประเภทนั้นทำกิจอะไร

สำหรับกุศลและอกุศลนั้นทำชวนกิจ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้า เป็นพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลและอกุศล เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไป กิริยาจิตก็เกิดต่อ ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก แต่ต้องเกิดขึ้นทำชวนกิจ เพราะว่าไม่มีใครสามารถไม่ให้มีชวนจิตเกิดหลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว

กิจที่ ๑๓ คือ ตทาลัมพนกิจ เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากชวนะ ใครจะรู้หรือไม่รู้ จิตก็เกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความสนใจ การศึกษาพระธรรมจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นมีตทาลัมพนจิตเกิด เมื่ออารมณ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่ชัดเจน คือ หลังจากที่ชวนจิตดับไปแล้ว แต่รูปยังไม่ดับ วิบากจิตก็เกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ เป็นกิจที่ ๑๓

ในวันหนึ่งๆ ยกเว้นปฏิสนธิกิจ และจุติกิจซึ่งเป็นกิจที่ ๑๔ จิตจะต้องเกิดขึ้น ทำ ๑๒ กิจเท่านั้นเอง แค่ ๑๒ กิจ แต่ไม่มีใครรู้ ทั้งๆ ที่ในขณะนี้เองจิตก็กำลังเกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ ใน ๑๒ กิจ กิจที่ ๑๔ ยังไม่ถึง แต่วันหนึ่งจะต้องถึง

ถ. ในขณะที่ตื่นอยู่ ก็ทำภวังคกิจหรือ

สุ. ระหว่างที่ไม่มีการรู้อาอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ. นั่งเหม่ออย่างนี้หรือ

สุ. เห็นหรือเปล่า

ถ. ไม่เห็น เพราะไม่มี ...

สุ. เหม่อๆ นั่น เห็นไหม

ถ. คิดว่าไม่เห็น

สุ. ไม่เห็น จะเรียกว่าเหม่อไหม

ถ. อาจจะหลับตา

สุ. ได้ยินเสียงไหม

ถ. ก็ควรจะมี

สุ. แต่ตามความเป็นจริง วันหนึ่งๆ ภวังคจิตเกิดมาก เพราะต้องคั่น ทุกวาระหนึ่งๆ ซึ่งมีการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู

ถ. เพราะว่าทำหน้าที่ดำรงภพชาติอยู่แล้ว ใช่ไหม

สุ. ใช่ โดยไม่รู้อีกเหมือนกันใช่ไหมว่า ในขณะนี้เองภวังคจิตก็เกิดขึ้น คั่นระหว่างวิถีจิตทางตาที่เห็น และวิถีจิตทางหูที่กำลังได้ยิน

เรื่องกิจของจิต ๑๔ กิจ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าขณะนี้เป็น กิจอะไร เพียงแต่ว่าชื่ออาจจะยาก เช่น ขณะที่เห็น จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ธรรมดา โดยสภาวะลักษณะคือเห็น แต่โดยชื่อคือทัสสนกิจ ถ้าไม่ใช้คำนี้ อาจจะต้องใช้ภาษาอีกมากมายหลายชาติ แต่ถ้าใช้คำนี้คำเดียว ทุกชาติใช้ภาษาเดียวกัน คือ ทัสสนกิจ ทำให้เข้าใจได้ แต่โดยสภาวะลักษณะ คือ จิตที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และในขณะที่ได้ยินเสียง สภาวะลักษณะก็คือจิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน คือ รู้เสียง แต่ถ้าใช้หลายภาษา แต่ละภาษาก็มากอีก เพราะฉะนั้น ใช้ภาษาเดียว สวนกิจ คือ กิจได้ยิน ไม่ว่าใครก็ตามมีภาษาของตนเองเป็นภาษาอะไร ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว ก็ใช้คำว่า สวนกิจ

สรุป ที่ได้ศึกษาแล้ว อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจ ๑๔ กิจ ดังนี้ คือ

ปฏิสนธิกิจ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ภวังคกิจ ที่เป็นอเหตุกจิต ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

อาวัชชนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

ทัสสนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

สวนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ฆายนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

สายนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ผุสสนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

สัมปฏิจฉันนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

สันตีรณกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๓ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง กุศลวิบาก ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก

โวฏฐัพพนกิจ ได้แก่ อเหตุกจิต ๑ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต

ชวนกิจ ได้แก่ อเหตุกะ ๑ ดวงที่ทำชวนกิจ ได้แก่ หสิตุปปาทจิต คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้น ก็มีกำลังอ่อน เป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าอารมณ์จะกระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ เป็นปัจจัยควรแก่การเกิดโสมนัสหสิตุปปาท ก็จะทำให้มีการแย้ม หรือการยิ้มเพียงเห็นไรฟันของพระอรหันต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่ พระอรหันต์ยิ้ม จะยิ้มด้วยอเหตุกจิตที่เป็นหสิตุปปาท เพราะพระอรหันต์ยิ้มด้วย มหากิริยาจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาได้ด้วย แต่ให้ทราบว่า การยิ้มของพระอรหันต์ที่เป็นอเหตุกจิตที่ทำชวนกิจนั้น มี ๑ ดวง คือ หสิตุปปาทจิต

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีอเหตุกจิตที่ทำกิจอื่น แต่ไม่มีอเหตุกจิตที่ทำ ชวนกิจเลย เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตที่ทำชวนกิจต้องเป็นกุศลหรืออกุศลเสมอไป

เพราะฉะนั้น อย่าลืม ที่ได้ศึกษาเรื่องของจิตมาแล้วทั้งหมด ๓๐ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ทำกิจอะไรบ้าง และสำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ทำกิจเดียว คือ ชวนกิจ ทำกิจอื่นไม่ได้

กิจต่อไป คือ ตทาลัมพนกิจ อเหตุกจิตที่ทำตทาลัมพนกิจมี ๓ ดวง คือ สันตีรณจิต ๓

และสำหรับจุติกิจ อเหตุกะที่ทำจุติกิจมี ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ และอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑

ถ. การเรียนรู้จิตต่างๆ เช่น อเหตุกจิต อย่างนี้ ในการปฏิบัติ ในการเจริญสติปัฏฐาน เรามีโอกาสที่จะรู้ได้หรือเปล่า

สุ. ไม่ใช่จงใจให้รู้ภวังคจิต ไม่ใช่จงใจให้รู้อาวัชชนจิต ไม่ใช่จงใจให้รู้ จักขุวิญญาณ ไม่ใช่จงใจให้รู้สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต แต่ แล้วแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อ

อย่างในขณะที่กำลังเห็น โดยวิถีจิตทราบว่ามีจิตหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่ จักขุวิญญาณเท่านั้น ไม่ใช่มีแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเท่านั้น ยังมีสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และไม่ได้ให้จงใจมาแยกว่า ขณะนี้เป็นจิตไหน เพียงแต่จะให้ทราบว่า จิตเกิดดับมีอายุที่สั้นมาก จิตใดที่เกิดเพียงชั่วขณะเดียว อย่างปัญจทวาราวัชชนจิตจะเร็วสักแค่ไหน ในขณะนี้ที่ดูเสมือนว่าเห็นและได้ยิน พร้อมๆ กัน แต่ความจริงปัญจทวาราวัชชนจิตทางจักขุทวารวิถีดับไปก่อน ปัญจทวาราวัชชนจิตทางโสตทวารวิถี ห่างไกลกันมาก

เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตามที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว สติไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตนั้นได้ ในวิถีจิตวาระหนึ่งๆ ที่มีการเห็น ในขณะที่กำลังเห็นนี่ ถ้าจะ รู้จิตว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล จะต้องเป็นในขณะที่จิตเกิดดับซ้ำกัน ถึง ๗ ขณะ คือ ในขณะที่เป็นชวนวิถี

ถ. ถ้าเกิดครั้งแรก ไม่มีโอกาสรู้ได้แน่นอน

สุ. ไม่มีเลย เพราะว่าขณะจิตเดียว คิดดู จะเร็วสักแค่ไหน

ถ. อย่างภวังคจิต มีโอกาสที่จะรู้ได้ไหม

สุ. ควรรู้ และต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็แยกทวารทางตากับทวารทางหูไม่ออก

ถ. การศึกษาเรื่องจิตต่างๆ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะรู้ จำเอาไปพูด ไปสนทนากันเฉยๆ แต่เป็นเรื่องที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติ หมายความว่า ในการปฏิบัติเราต้องรู้ ต้องเข้าใจในนามธรรม คือ จิตเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ตามที่สติปัญญาสามารถจะรู้ได้

สุ. นี่เป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรลืมเตือนตัวเองหรือผู้อื่นที่กำลังศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาทำไม นี่สำคัญที่สุด ถ้าศึกษาเรื่องของจิตเจตสิกและรูปมาก แต่ ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะมีประโยชน์ไหม รู้แต่เรื่องของจิต ของเจตสิก ของรูป แต่ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ เพราะว่า สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ศึกษาเป็นเรื่องมาแล้วว่า จักขุวิญญาณมีกี่ดวง ทำกิจอะไร เกิดเมื่อไร

จะเห็นได้ว่า การศึกษาของพุทธบริษัทในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานนั้น ศึกษาเพื่อเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็รู้ว่า สัจธรรม สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏนั้น เป็นสิ่งที่ควรศึกษา โดยพิสูจน์ โดยแทงตลอด โดยประจักษ์แจ้งในลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ตรง เป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์และได้ทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น การฟัง หรือการศึกษาปรมัตถธรรม เพื่อเกื้อกูลให้เห็นความ เป็นอนัตตาของสภาพธรรม เพื่อให้สติระลึกได้ในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง มิฉะนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย

การศึกษาทั้งหมด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าจะศึกษาเรื่องเหล่านั้นไปทำไม

ถ. อกุศลวิบากจิต ๗ ทำไมไม่เรียกว่า อเหตุกอกุศลวิบากจิต ๗

สุ. เพราะเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล จะไม่มีสเหตุกวิบากเลย

ถ. จึงละไว้ในฐานที่เข้าใจ

สุ. ถูกต้อง ถ้าเข้าใจเรื่องเหตุผลว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วต้องเป็นเหตุให้เกิดผล และผลนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเหตุคือเจตสิก ๖ ดวงเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะอกุศลกรรมเท่านั้นที่ทำให้เกิดอเหตุกจิตที่เป็นอกุศลวิบาก แต่แม้ กุศลกรรมที่ทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดอเหตุกจิตที่เป็นกุศลวิบากด้วย เช่น จักขุวิญญาณเห็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลวิบาก โสตวิญญาณได้ยินเสียงที่ดี เป็นกุศลวิบาก โดยไม่มีเจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะว่ากรรมใดๆ ที่ทำแล้ว ต้องให้ผล โดยไม่จำเป็นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมกับวิบากจิตนั้นๆ แต่ถ้าเป็นกรรมที่ให้ผลดี วิบากจิตเพิ่มขึ้น ก็มีทั้งที่เป็นอเหตุกวิบากและสเหตุกวิบาก

เปิด  272
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565