แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1524

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๙


ถ้าจำแนกจิตโดยวิญญาณธาตุ จะมีวิญญาณธาตุ ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ เป็น ๕

และมโนธาตุ ๑ รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ คือ รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งมโนธาตุมี ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง

จิตที่เหลือทั้งหมดเป็นมโนวิญญาณธาตุ

รวมเป็นวิญญาณธาตุ ๗

ท่านที่สนใจ จะศึกษาได้จากอรรถกถา ฎีกาต่างๆ เช่น วิสุทธิมรรค และ อรรถกถาของพระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง และถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ยาก เพราะว่า เป็นการรวบรวมจิตประเภทต่างๆ เพื่อกันความหลงลืม และเพื่อให้ระลึกได้ถูกต้อง ไม่ปะปนกัน

ต่อไปเป็นเรื่องของโสภณจิตที่เป็นกามาวจร

กามาวจรจิตทั้งหมดมี ๕๔ ดวง เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง จิตทั้ง ๓๐ ดวงนี้ไม่เกิดร่วมกับโสภณเจตสิก จึงเป็นอโสภณจิต ไม่ใช่จิตที่ดีงาม อกุศลจิตไม่ดีงามแน่ อเหตุกจิตก็ไม่ดีงาม เพราะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เหลือคือกามาวจรจิต ๒๔ ดวง ทั้งหมดเป็นกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอกุศลจิตก่อน เพราะว่าเกิดบ่อย ควรรู้ และเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากต่อไป

พิสูจน์ได้ ใช่ไหม วันนี้กุศลจิตเกิดมาก หรืออกุศลจิตเกิดมาก ถ้าจิตใดเกิดมาก ควรรู้จิตนั้นไหม เพื่อที่จะได้สังวร เพื่อที่จะได้ระวัง โดยสภาพของความเป็นปุถุชน มีใครว่ากุศลมากกว่าบ้าง มีไหม ตามความเป็นจริง

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ควรศึกษาเรื่องของอกุศลจิตก่อนว่า ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่คิดนึก ก็ด้วย โลภะบ้าง โทสะบ้าง ส่วนกุศลจิตในวันหนึ่งๆ เกิดน้อย และไม่ได้เกิดโดยง่าย บางทีอาจจะคิดเรื่องกุศล เพียงคิด แต่กุศลนั้นสำเร็จไหม นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ที่ทรงแสดงอกุศลจิตก่อนเพราะว่า อกุศลจิตเกิดบ่อย และอกุศลจิตนั้นมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีอเหตุกจิต คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งล้วนแต่เป็นอเหตุกจิตทั้งนั้น ถ้าไม่เห็นอกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ แต่เพราะอเหตุกจิตเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมทำให้รูปกระทบกับปสาทและเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และทันทีที่เห็น อกุศลจิตเกิดต่อตามลำดับของวิถีจิตในวาระของการเห็นครั้งหนึ่งๆ ทางหูก็เหมือนกัน เมื่อได้ยินแล้วอกุศลจิตก็เกิดต่อ ซึ่งในวันหนึ่งๆ เห็นเท่าไรเมื่อยังไม่ได้หลับตา และได้ยินอีกเท่าไรในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น อกุศลจะมากสักแค่ไหน

ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง จากวัดญาณสังวราราม ตำบล ห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๙

มีคำถาม ๓ ข้อ

  • ๑. สติเกิดพร้อมกับวิบากหรือไม่
  • ๒. เมื่อรู้ลักษณะความต่างกันของการมีสติและหลงลืมสติแล้ว จะพิจารณาอะไรต่อไป อย่างไร
  • ๓. ช่วยยกตัวอย่างรูปทางใจ มีรูปอะไรที่จะรู้ได้บ้าง

คำถามข้อ ๑. สติเกิดพร้อมกับวิบากหรือไม่

วิบากเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีสติเกิดร่วมด้วยแน่นอน สำหรับกุศลกรรม ให้เป็นผลต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ กุศลกรรมที่เป็นกามาวจรกุศล เช่น ทาน ศีลที่ได้กระทำแล้ว ให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง และเป็นมหาวิบาก ๘ ดวง ซึ่งบางท่านอาจจะมีมหาวิบากไม่ครบ ๘ แต่ทุกท่านต้องมีอเหตุกกุศลวิบากครบทั้ง ๘ ดวง

อเหตุกกุศลวิบาก ได้แก่ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ สันตีรณกุศลวิบาก ๒ คือ อุเปกขาสันตีรณะ ๑ และ โสมนัสสันตีรณะ ๑ นี่เป็นอเหตุกกุศลวิบากซึ่งทุกคนมีครบเมื่อมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ขณะใดที่กุศลให้ผลก็ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่น่าพอใจ

สำหรับอเหตุกะที่เป็นกุศลวิบาก ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็น มหาวิบาก มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

นี่เป็นคำตอบข้อที่ ๑ ซึ่งทุกท่านที่ไม่ได้ตาบอดตั้งแต่กำเนิด ไม่ใช่คนพิการตั้งแต่กำเนิด ไม่มีใครรู้ได้ว่า ขณะที่นอนหลับสนิท ภวังคจิตเป็นมหาวิบาก มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะใครจะรู้สภาพของเจตสิกที่เป็นวิบากที่เกิดกับวิบากจิต ที่เป็นภวังค์ได้ แต่เมื่อเป็นผลของกุศล และเป็นมหาวิบาก ต้องมีสติเจตสิกเกิด ร่วมด้วย แต่ต่างกับสติเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต นี่เป็นเหตุที่วิบากจิตรู้ได้ยากกว่า กุศลจิตและอกุศลจิต โดยชาติ

คำถามข้อ ๒. เมื่อรู้ลักษณะความต่างกันของการมีสติและหลงลืมสติแล้ว จะพิจารณาอะไรต่อไป อย่างไร

ขณะที่มีสติ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่มีสติ เฉยๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติ จะมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นอารมณ์ที่สติกำลังระลึกในขณะนั้น เช่น ทางตา ในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เห็น เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวว่า สติเกิด ไม่หลงลืม และขณะนั้นสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็น้อมไปที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาทรูปเท่านั้น และที่จะรู้จริงๆ และไม่ยึดถือว่าสิ่งที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็จะต้องอาศัยการพิจารณา สังเกต น้อมไปที่จะรู้ความต่างกันของรูปธรรมที่ปรากฏ และนามธรรมที่เห็นซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า หลงลืมสติมากจริงๆ ในขณะที่เห็น เพราะว่าจะมีกี่ท่านที่สติเริ่มจะระลึกในขณะที่กำลังเห็นว่า เหมือนกับดูเงาในกระจก ไม่มีอะไรเลยที่เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในกระจก แต่ก็มีเงาปรากฏให้เห็นว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็เหมือนกับเงาในกระจก ไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นอกจากเป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ถ้ากระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้

และที่ว่าต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องตรงอย่างนี้ ไปตลอด ไม่ว่าสติจะเกิดในขณะใด ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างไปเรื่อยๆ ไม่มีให้ทำอย่างอื่นนอกจากนี้เลยตามคำถามที่ว่า เมื่อรู้ลักษณะความต่างกันของการมีสติและหลงลืมสติแล้วจะพิจารณาอะไรต่อไป อย่างไร

ก็พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏนั่นเอง แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏต่อไป ก็พิจารณาสิ่งนั้นต่อไปอีก เช่น ในขณะที่กำลังนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดและเกิดโทมนัสเสียใจ ขณะนั้นหลงลืมสติ แต่เวลาที่สติเกิดก็ระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพที่กำลัง คิดนึกเรื่องนั้น ถ้าจิตไม่คิด เรื่องนั้นก็ไม่มี และโทมนัสเวทนาในขณะนั้นก็มีไม่ได้เหมือนกัน ถ้าคิดเรื่องที่สนุก โสมนัสเวทนาก็เกิด โทมนัสเวทนาเกิดไม่ได้ แต่บังคับจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางครั้งจิตก็คิดถึงเรื่องที่ทำให้โทมนัสเวทนาเกิด แต่ถ้าสติเกิด ไม่หลงลืม ก็คือรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงชั่วขณะคิด ไม่มีอะไรเลยนอกจากโทมนัสเวทนา ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และถ้าสิ่งอื่นจะปรากฏต่อจากนั้น เช่น ความปีติหรือผ่องแผ้วของจิตที่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สติก็สามารถระลึกลักษณะของกุศลจิตที่ผ่องแผ้ว ที่ไม่โทมนัสในขณะนั้นได้

เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดปรากฏต่อไป เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดปรากฏโดยที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้เลย ซึ่งสติสามารถจะเกิดเมื่อไรขณะไหนก็ได้ เมื่อมีสภาพธรรมอะไรปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่ากับว่าพร้อมทุกขณะ แม้ในขณะนี้เอง

คำถามข้อ ๓. ขอความกรุณาคุณโยมอาจารย์ช่วยยกตัวอย่างรูปทางใจ มีรูปอะไรที่จะรู้ได้บ้าง

แสดงว่า คงได้ฟังปริยัติมาพอสมควรจึงรู้ว่า มีรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวม ๗ รูป เรียกว่า โคจรรูป คือ รูปซึ่งเป็นที่ไปของจิต ที่เป็นอารมณ์ของจิตในชีวิตประจำวัน

ต้องการเห็น แสดงให้เห็นว่า ต้องการรูปทางตา เพราะฉะนั้น รูปทางตา เป็นโคจรรูป เป็นรูปที่ไปของจิต เป็นรูปที่จิตแสวงหา เป็นรูปที่จิตต้องการ ๑ รูป ทางตา

ทางหู สัททรูป คือ เสียง ก็เป็นรูปที่จิตแสวงหา ขวนขวายต้องการ ปรากฏทางหู ๑ รูป

ทางจมูก คือ กลิ่น ๑ รูป ทางลิ้น คือ รสต่างๆ ๑ รูป ทางกาย คือ โผฏฐัพพะ ๓ รูป ได้แก่ ธาตุดินอ่อนหรือแข็ง ๑ รูป ธาตุไฟเย็นหรือร้อน ๑ รูป ธาตุลม ตึงหรือไหว ๑ รูป รวมทั้งหมดรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๗ รูป

ผู้ที่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท จะต้องรู้จัก รูปเหล่านี้ เพราะกระทบสัมผัสปรากฏอยู่ตลอดเวลา คนที่มีตาต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตา คนที่มีโสตปสาทรูปต้องมีเสียงปรากฏ และโดยปริยัติทราบว่า เมื่อ ปัญจทวารวิถีทวารหนึ่งทวารใด มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดดับไปแล้ว และภวังคจิต เกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดก็ขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อ

เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นอารมณ์ทางใจ ไม่ใช่รูปอื่น นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ จักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่ออย่างเร็วที่สุดจนกระทั่งแยกไม่ออกเลยว่า ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มโนทวารวิถีกำลังรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากทางจักขุทวารวิถี

ทางหู ในขณะที่ได้ยินก็เช่นเดียวกัน ขณะที่เสียงปรากฏกับโสตทวารวิถี และโสตทวารวิถีจิตดับหมดแล้วเมื่อเสียงดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น รับรู้เสียงต่อจากทางโสตทวารวิถี เพราะฉะนั้น รูปที่รู้ได้ทางใจไม่ต่างอะไรจาก สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

มีใครรู้รูปอื่นนอกจากนี้ไหม ในวันหนึ่งๆ

ถ้าไม่มี ไม่ต้องสนใจเลย เพราะว่ารูปอื่นนอกจากนี้ สามารถรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น ไม่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ไม่ปรากฏทางลิ้น ไม่ปรากฏทางกาย

ในวันหนึ่งๆ ใครรู้รูปอื่นนอกจากรูป ๗ รูปนี้บ้างทั้งๆ ที่มี เช่น จักขุปสาทรูป ทุกคนมี ถ้าจักขุปสาทรูปไม่เกิดก็ไม่เห็น ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้มีจักขุปสาทรูป แต่ ใครรู้ลักษณะของจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่สามารถรู้ได้ทางใจทางเดียว เพราะว่า มองไม่เห็นจักขุปสาทรูป ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นไม่ใช่จักขุปสาทรูป ไม่ใช่รูปพิเศษที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา

รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ใช่เห็นจักขุปสาทรูป ไม่ใช่เห็น โสตปสาทรูป ไม่ใช่เห็นฆานปสาทรูป ไม่ใช่เห็นชิวหาปสาทรูป ไม่ใช่เห็นกายปสาทรูป แต่รู้ว่ามี

เพราะฉะนั้น รูปอื่นทั้งหมดรู้ได้เฉพาะทางใจ สำหรับผู้ที่สามารถจะรู้ได้และเมื่อรูปนั้นๆ ปรากฏ แต่ถ้ารูปนั้นๆ ไม่ปรากฏ ทำอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้

โดยการศึกษารู้ว่ามีรูปอื่น แต่ขณะที่รูปใดปรากฏ สติระลึก เพื่อรู้ลักษณะของรูปที่ต่างกับลักษณะของนามธรรม เพื่อละการยึดถือว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน ในขณะที่จิตซึ่งเป็นนามธรรมกำลังเห็นรูปซึ่งเป็นรูปธรรมทางตา ในขณะที่จิตกำลังได้ยินเสียงซึ่งเป็นรูปทางหู

เพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่าจะให้รู้รูปอะไร หรือต้องการที่จะรู้รูปอะไร อาจจะเคยได้ยินได้ฟังจากข้อปฏิบัติอื่นที่ว่า ให้รู้รูปอย่างนั้น รูปอย่างนี้ แต่รูปที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏทั้ง ๖ ทวาร คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็คือรูป ๗ รูปนี้เอง

ถ้าขณะนี้ทางตาเห็น จะไปรู้รูปทางใจ รูปทางใจขณะนี้จะเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าขณะนี้กำลังได้ยินเสียง เสียงเป็นรูปที่ปรากฏทางหู ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงนี้เอง อยากจะรู้รูปที่ปรากฏทางใจ ก็คือ เสียงนั้นแหละปรากฏทางใจต่อจากทางโสตทวารวิถีจิต ยังจะหารูปอะไรทางใจที่จะรู้อีก ในเมื่อ ทางตาเห็น ก็ควรจะรู้รูปที่ปรากฏทางตา และรู้ว่า รูปนี่แหละปรากฏทางใจด้วย ต่อจากทางปัญจทวารวิถี

นี่เป็นเรื่องของการอยากรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏหรือเปล่า ขวนขวาย พยายามรู้สิ่งที่ ไม่ปรากฏ แต่ไม่สนใจ สังเกต พิจารณารูปที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้

ยังห่วงรูปอะไรทางใจอีกไหม หรือเมื่อรูปใดปรากฏก็รู้รูปนั้น ให้รู้จริงๆ

รู้จริงๆ คือ สภาพธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งในขณะนี้สภาพธรรมแต่ละอย่างก็เป็นอย่างนั้น แต่ความเกิดดับสืบต่อกัน อย่างเร็วมาก และอวิชชาที่ไม่เคยสังเกต ไม่เคยพิจารณารู้ลักษณะของรูปแต่ละรูป ทำให้ไม่เห็นรูปเหล่านั้นว่า เป็นรูปแต่ละลักษณะซึ่งแยกขาดจากกัน และแต่ละรูปก็ ดับไปแล้ว ถ้าไม่พิจารณา ไม่มีรูปอะไรดับไปเลยในขณะที่กำลังเห็น ยังคงเห็นเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ถ้ายังเห็นอย่างนี้อยู่ก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นชอบในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมเจริญต่อไปอีก จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

จะเป็นเวลาที่นานมากไหม หรือว่าอยากจะให้ได้ผลโดยรวดเร็ว

มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รู้ลักษณะของ สิ่งที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565