แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1526
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๙
ท่านคงเคยได้รับฟังความทุกข์ของคนอื่นบ้าง ใช่ไหม ในขณะนั้นก็ทราบได้ว่า ผู้นั้นกำลังมีความทุกข์ ซึ่งเขาอาจจะปรึกษาท่านหลายเรื่อง และเรื่องที่ปรึกษานั้น ก็ไม่ใช่เพียงวันเดียว เพราะว่าเรื่องแต่ละเรื่องในชีวิตไม่ใช่ว่าจะจบสิ้นไปได้เพียง ในวันเดียว จะต้องมีเรื่องทุกข์ร้อนสืบต่อกันไปแต่ละเรื่องๆ เมื่อจบเรื่องนั้นไม่นานก็จะมีเรื่องอื่นอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของความทุกข์ เรื่องของการปรึกษาหารือ แสดงให้เห็นถึงจิตในขณะนั้นที่ถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรม ซึ่งควรทำอย่างไร
ท่านพระเตลุกานิเถระกล่าวว่า
ขอท่านจงดูสิ่งนั้นเถิด
เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า ในขณะนั้นเป็นอะไร เป็นสภาพจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ต่างกับขณะที่เห็น ต่างกับขณะที่กำลังได้ยิน ต่างกับขณะที่กำลังได้กลิ่น ต่างกับขณะที่กำลังลิ้มรส ต่างกับขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพียงแต่รู้ว่าเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งต่างกับจิตประเภทอื่นๆ ในวันหนึ่งๆ ก็จะทำให้คลายความเดือดร้อนไปได้ เพราะว่าความทุกข์ความเดือดร้อนนั้นอาศัยจิตที่เกิดคิดขึ้นชั่วในขณะนั้น และเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทางตาที่เห็น ในขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ทางตาปรากฏ ขณะนั้นไม่มีทุกข์ใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องราวของกิเลสซึ่งเกิดขึ้นทางใจ และถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาในขณะนั้น จะละคลายอกุศลให้ลดน้อยลง
ข้อความต่อไป
ท่านพระเตลุกานิเถระกล่าวว่า
การไม่ละทิฏฐิน้อยๆ อันลูกศรคือความดำริผิดให้อาจหาญแล้ว ...
ทิฏฐิน้อยๆ ก็มี ใช่ไหม อยู่ที่ไหนเวลานี้ อะไรเป็นทิฏฐิน้อยๆ
ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบุคคลมีสักกายทิฏฐิ ซึ่งไม่เป็นโทษร้ายแรงเท่ากับทิฏฐิอื่นซึ่งเห็นผิดว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็นต้น เพราะฉะนั้น การไม่ละทิฏฐิน้อยๆ อันลูกศรคือความดำริผิดให้อาจหาญแล้ว
มีความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และยังมีความดำริผิด คือ วิตกเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทำให้เกิดดำริผิด เป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้นในขณะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่ว่าอกุศลจิตเกิดมาก ขณะนั้นต้องมีอกุศลเจตสิก คือ ความคิดต่างๆ ในทางที่ผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ
การไม่ละทิฏฐิน้อยๆ อันลูกศรคือความดำริผิดให้อาจหาญแล้ว เราถูกยิงด้วยลูกศรคือทิฏฐินั้น หวั่นไหวอยู่ เหมือนใบไม้ที่ถูกลมพัดฉะนั้น กรรมอันลามกตั้งขึ้นแล้วในภายในของเราย่อมพลันให้ผล กายอันเนื่องด้วยสัมผัส ๖ เกิดแล้วในที่ใด ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ
แม้แต่คาถาของท่านพระเถระ ก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นสภาพ ของจิตก่อนที่ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ จะต้องมีความละเอียดที่จะรู้เรื่องของอกุศลที่ทุกคนมีในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ว่า เป็น อกุศลธรรมประเภทไหน และมากอย่างไร เพราะว่าขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ ใจ ห้ามไม่อยู่ที่จะเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ตามอารมณ์ที่ปรากฏนั้นๆ และอารมณ์ก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมก็ต้องมาก
ท่านกล่าวต่อไปว่า
เราไม่เห็นหมอผู้ที่จะถอนลูกศรของเราได้เลย หมอไม่สามารถจะเยียวยาเรา ด้วยศาตราอย่างอื่นต่างๆ ชนิด
ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ อายุรแพทย์ หรือศัลยแพทย์ ก็ไม่สามารถเยียวยาและถอนลูกศรคือกิเลสออกได้ นอกจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้แล้ว
ท่านกล่าวต่อไปว่า
ใครไม่ต้องใช้ศาตรา ไม่ทำให้ร่างกายเราเป็นแผล ไม่เบียดเบียนร่างกายเราทั้งหมด จักถอนลูกศรอันเสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้ ก็บุคคลนั้นเป็นใหญ่ ในธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ลอยโทษอันเป็นพิษเสียได้ ช่วยยกเราผู้ตกไปในห้วงน้ำ คือ สงสารอันลึก ขึ้นสู่บกได้
ผ่าตัดกิเลสนี่ ไม่สำเร็จ ใช่ไหม นอกจากพระธรรม ที่เมื่อได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเป็นแผล ไม่เบียดเบียนร่างกายเลย สามารถที่จะถอนลูกศรที่เสียบอยู่ในใจของทุกคนออกได้
ทุกครั้งที่เห็น มีลูกศรแล้ว เจ็บไหม ไม่เจ็บ เพราะไม่รู้ แต่ความจริงถ้ามี ความกระวนกระวายนิดหนึ่งที่เกิดเพราะความปรารถนา เพราะความพอใจ ขณะนั้น ไม่สงบ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะถ้าสุขจริง สงบจริง ไม่ต้องการอะไร แต่เมื่อ ยังต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ยังเพลิดเพลินพอใจในสิ่งที่ปรากฏอยู่ ย่อมแสดงว่า ในขณะนั้น ไม่สงบเลย เพราะถ้าสงบจริงๆ จะไม่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ทั้งสิ้น
ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า
เราเป็นผู้จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ อันเป็นที่สุดแห่งธุลี เป็นห้วงน้ำลาดไปด้วยมายา ริษยา ความแข่งดี และความง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีใครจะนำออกได้ ความดำริทั้งหลายอันอาศัยซึ่งราคะ เป็นเช่นกับห้วงน้ำใหญ่ มีเมฆ คือ อุทธัจจะ เป็นเสียงคำรน มีสังโยชน์เป็นฝน ย่อมนำบุคคลผู้มีความเห็นผิดไปสู่สมุทร คือ อบาย
เวลาน้ำท่วมกลัวมาก ใช่ไหม เวลาที่น้ำป่าพัดมาอย่างแรง ทุกคนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่กิเลสพัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไหลไปสู่สมุทร คือ อบาย ได้
กระแสตัณหาทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาเพียงดังเถาวัลย์เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ ใครจะพึงกั้นกระแสตัณหาเหล่านั้นได้ ใครเล่าจะตัดตัณหาอันเป็นดังเถาวัลย์นั้นได้
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทำฝั่งอันเป็นเครื่องกั้นกระแส ตัณหาเหล่านั้นเถิด อย่าให้กระแสตัณหาอันเกิดแต่ใจ พัดท่านทั้งหลายไปเร็วพลัน ดังกระแสน้ำพัดต้นไม้อันตั้งอยู่ริมฝั่งฉะนั้น
พระศาสดาผู้มีอาวุธ คือ ปัญญา ผู้อันหมู่ฤๅษีอาศัยแล้ว เป็นที่พึ่งแก่เรา ผู้มีภัยเกิดแล้ว ผู้แสวงหาฝั่ง คือ นิพพาน จากที่มิใช่ฝั่ง พระองค์ได้ทรงประทานบันไดอันนายช่างทำดีแล้ว บริสุทธิ์ ทำด้วยไม้แก่น คือ ธรรม เป็นบันไดมั่นคงแก่เราผู้ถูกกระแสตัณหาพัดไปอยู่ และได้ตรัสเตือนเราว่า อย่ากลัวเลย เราได้ขึ้นสู่ปราสาท คือ สติปัฏฐานแล้ว พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้ยินดีในร่างกายของตนที่เราได้สำคัญในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร ก็เมื่อใดเราได้เห็นทางอันเป็นอุบายขึ้นสู่เรือ เมื่อนั้นเรา จักไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ได้เห็นท่า คือ อริยมรรคอันอุดม พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทางอันสูงสุดเพื่อไม่ให้บาปธรรมทั้งหลายมีทิฏฐิและมานะเป็นต้น ซึ่งเป็นดังลูกศร เกิดในตน เกิดแต่ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าทรงกำจัดโทษ อันเป็นพิษได้ ทรงบรรเทากิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน อันตั้งอยู่แล้วในใจของเราตลอดกาลนาน
เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเห็นอกุศลของตัวเองก่อน และยิ่งเห็นละเอียดขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์ มากกว่าที่จะรู้ว่าได้ทำกุศลไว้มากเท่าไร เพราะถ้ารู้ว่าทำ กุศลไว้มากเท่าไรโดยที่ไม่พิจารณาอกุศลของตนเอง จะไม่รู้เลยว่า อกุศลมากกว่ากุศลที่ได้ทำไว้แล้วมาก เพราะฉะนั้น ทำกุศลเท่าไรก็ยังไม่พอ และถ้ารู้ว่ามีอกุศลมากเท่าไร ก็เป็นผู้ตรงจริงๆ ว่า อกุศลประเภทใดมีมากมีน้อย และน่ารังเกียจแค่ไหน ซึ่งกิเลสและโทษภัยของกิเลสเป็นสิ่งที่เห็นยาก อย่างโลภะ รู้ว่าไม่ดี เป็นกิเลส แต่การที่จะ เห็นโทษเห็นภัยของโลภะนี่ ยากจริงๆ
และการดับกิเลส ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นๆ ต้องพิจารณาธรรมในชีวิตประจำวันโดยทั่วและโดยตลอด แม้จะไม่ใช่ในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะ ของสภาพธรรม แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ไว เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า ในวันหนึ่งๆ กุศลเกิดขณะใด มีอกุศลแทรกหรือเปล่า หรือในขณะที่กำลังเป็นอกุศลนั้น มีกุศลเกิดขึ้นระลึกลักษณะสภาพที่เป็นอกุศลในขณะนั้นบ้างหรือเปล่า และการเห็นโทษ ไม่ใช่เห็นเพียงโทษของกิเลส แต่ต้องเห็นแม้โทษของกุศลวิบาก คือ ผลของบุญ ผลของกุศลกรรม ซึ่งเป็น สิ่งที่เห็นยาก เนื่องจากบางท่านทำกุศลเพราะหวังผลของกุศล และบางท่านเพราะกลัวผลของอกุศลจึงทำกุศล เพื่อจะได้ผลของบุญนั้นๆ แต่ผู้ที่มีปัญญาต้องเห็นแม้โทษ ของผลของกุศลด้วย เพราะถ้าไม่เห็นโทษของผลของกุศล จะไม่สามารถละความติด ความพอใจในผลของบุญนั้นๆ ได้
อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาปุพเพนิวาสานุสสติญาณนิทเทส มีข้อความว่า
แม้ยังไม่ใช่ทุกขอริยสัจจะซึ่งเห็นยาก เพียงทุกข์ของผลบุญก็ไม่เห็นว่า ยังเป็นโทษ
คือ ไม่ว่าจะเสวยผลบุญพร้อมด้วยสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ยังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะไปได้ เมื่อไม่รู้อย่างนี้ คือ ไม่เห็นโทษของผลบุญอย่างนี้ ก็ ปรารภปุญญาภิสังขาร มีการกระทำบุญต่างๆ แต่ว่าบุญนั้นๆ ไม่ใช่การเจริญ สติปัฏฐาน จึงยังเป็นบุญที่นำทุกข์มาให้ คือ นำชาติ ชรา มรณะมาให้อีก
ดุจตั๊กแตนปรารภถึงการตกไปในเปลวไฟฉะนั้น
ตั๊กแตนคงจะคิดว่า อยู่ในเปลวไฟจะเป็นสุข เพราะว่าสว่างไสวดี แต่ความจริงร้อนและเป็นเหตุให้เกิดมรณะ ความตาย
และบางคนก็ถึงกับปรารภอปุญญาภิสังขาร ถึงแม้จะได้รับผลของบุญแล้ว แต่ก็ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอใจ ยังติด เพราะฉะนั้น ก็หวังที่จะได้อีก แต่เมื่อไม่ได้ด้วยกุศลก็คิดในทางที่เป็นอกุศล
เมื่อติด พอใจในผลของบุญ และไม่มีความพอ เท่าไรก็ไม่พอ ไม่ว่าจะได้ ทรัพย์สมบัติเท่าไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างไร จึงยังปรารภ อปุญญาภิสังขาร คือ การกระทำอกุศลกรรมต่างๆ การทุจริต เช่น อทินนาทาน ถือเอาทรัพย์ที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นของตนเป็นต้น ด้วยความสำคัญว่า เป็นสุข เพราะถูกกิเลสครอบงำ
ดุจเด็กอ่อนปรารภการเล่นคูถฉะนั้น และดุจคนอยากตายปรารภการ กินยาพิษฉะนั้น
ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศล
อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรมทั้งหมด
อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอรูปฌานกุศล
บางท่านเห็นโทษของรูป รู้ว่าถ้ายังมีรูปอยู่ ก็ยังมีการกระทำที่เกิดจากอกุศล พ้นไปไม่ได้เลย จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะประกอบกิจการงาน แม้ไม่ใช่ ทุจริตกรรม แต่ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยอกุศลจิต การศึกษา การเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ที่โลกก้าวไปอยู่เรื่อยๆ ในทางโลกย่อมตรงกันข้ามกับในทางธรรม เพราะว่าในทางโลกเป็นไปด้วยโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของรูป เห็นโทษของการมีรูป ที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำด้วยอกุศลจิต จึงเพียรที่จะดับรูป ให้มีแต่นามธรรมเท่านั้นในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งจะต้องอบรมเจริญอรูปฌานกุศลต่อจากรูปปัญจมฌานกุศล เมื่อได้ถึงอรูปฌานกุศลและไม่เสื่อม เวลาที่ใกล้จะตายอรูปฌานกุศลเกิด เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว อรูปฌานกุศลนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ
เมื่อไม่รู้ความที่สังขารเป็นทุกข์เพราะความแปรปรวนในวิบากอันไม่มีรูป คือ ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรม จึงปรารถนาอเนญชาภิสังขาร
ดุจคนหลงทิศปรารภการเดินทางมุ่งไปเมืองปีศาจฉะนั้น
นี่เป็นขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็จะต้องมีกุศลจิต อกุศลจิต กุศลกรรม อกุศลกรรม แล้วแต่ว่า จิตขณะใดจะเกิดขึ้นเพราะกุศลเป็นปัจจัย หรืออกุศลเป็นปัจจัย
ถ. วิธีที่จะละอกุศลจิต คือ เห็นโทษของอกุศลจิต ใช่ไหม
สุ. ใช่ และยังต้องเห็นโทษของผลของกุศลคือผลของบุญด้วย
ถ. คือ ต้องพิจารณาทั้ง ๒ อย่าง
สุ. พิจารณาว่า ขณะที่ได้ผลของบุญนั้น ได้แล้วเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เพราะถ้าได้มาแล้วติด และเกิดอกุศลมากมาย ผลบุญนั้นก็ทำให้อกุศลเพิ่มพูนขึ้น ต้องละเอียด และขอให้เห็นอกุศลของตนเอง
เรื่องของกุศลนี่ ถ้าทำไปโดยไม่หวัง และเห็นอกุศลมากขึ้นจะดีกว่าไหม คือ กุศลก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ผูกพันในกุศลนั้น ไม่ติดหรือไม่หวังในผลของกุศลใดๆ และพิจารณาเห็นอกุศลของตนเองละเอียดขึ้น ย่อมจะเป็นประโยชน์ ซึ่งการที่กุศลจิตแต่ละขณะจะเกิด จะเห็นได้ว่า ยากกว่าขณะที่อกุศลจิตจะเกิด
ถ. อย่างเวลาที่อกุศลเกิด บางทีสติระลึกรู้แล้วแต่ก็ยังทำอยู่ แสดงว่า เราเห็นโทษน้อยไปหรือเปล่า
สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น หิริและโอตตัปปะจึงมีหลายขั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่มีหิริและโอตตัปปะที่จะเห็นโทษของการที่ยังเห็นสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่ แต่ผู้ใดที่เห็นโทษแล้ว ก็ขวนขวายที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน มิฉะนั้นจะดับกิเลสใดๆ ไม่ได้เลย ถ้ายังคงเห็นสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนโดยเที่ยงแท้อยู่
ถ. การสะสมปัญญาของบุคคลที่สามารถจะบรรลุเป็นพระโสดาบันหรือ พระอรหันต์ได้ แต่เมื่อเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ไม่สามารถบรรลุได้เลย เพราะอะไร
สุ. เพราะปฏิสนธิจิตไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วย โสภณเจตสิกใดๆ ทั้งสิ้น
ถ้าจะอุปมากับคนที่มีสมบัติมาก แต่ว่าติดคุก ในขณะที่ติดคุกนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะใช้สมบัติของตนเองเลย ฉันใด เวลาที่ปฏิสนธิจิตเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ก็ไม่สามารถเจริญกุศลถึงขั้นที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่การสะสมนั้น ไม่สูญหาย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สัตว์มีอัธยาศัยต่างๆ กันด้วย ซึ่งผู้ที่เลี้ยงสัตว์จะสังเกตอัธยาศัยที่ต่างกันของสัตว์ได้