แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1527
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๙
ขอเล่าเรื่องแมวของคุณธงชัย ชื่อขันเงิน เป็นแมวที่รูปร่างก็ไม่สวย ซึ่งก็เป็น ผลของอกุศลกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิด้วยอเหตุกอกุศลวิบาก และไม่มีกรรมที่จะมาเกื้อกูลให้เป็นสัตว์ที่สวยงามด้วย แต่ว่านิสัยดี นิสัยแปลกมาก คุณธงชัยเล่าว่า เคยทดลองขันเงินหลายครั้ง เช่น มีปลาทอดอยู่บนโต๊ะ และคุณธงชัยก็เห็นขันเงิน นั่งอยู่ ซึ่งปกติขันเงินจะไม่หยิบอาหารบนโต๊ะเลย คุณธงชัยแอบดู เห็นขันเงินมอง ปลาทอดบนโต๊ะ และยกมือ ๒ ข้างขึ้น หรือจะเรียกว่าเท้าหน้าก็ได้ คุณธงชัยก็เกือบจะห้ามขันเงิน แต่ก็คอยดูต่อไปอีก ก็เห็นขันเงินเอื้อมไป และก็หยุด
ถ้าเป็นคนก็คงสงสัยว่า จะมีหิริโอตตัปปะที่สามารถวิรัติในขณะนั้นได้ไหม ห้ามใจของตัวเอง แม้ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ที่จะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพอใจมากสำหรับแมว เพราะเป็นปลาทอด แต่ขันเงินก็หักใจ ลงจากโต๊ะ เดินออกไป
และขันเงินก็เป็นผู้ที่มีจิตใจดีในเรื่องของการบริโภค แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ตัวเองชอบ เช่น กุ้ง หรืออาหารที่ถูกปาก แต่ถ้ามีแมวตัวอื่นอยู่ใกล้ๆ ขันเงินจะปล่อยให้แมวตัวอื่นกินก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่เหลือกุ้งไว้สำหรับขันเงินอีก เพราะแมวที่กินก่อน กินกุ้งหมดไปแล้ว ขันเงินก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นเวลาอื่น ขันเงินต้องเป็นใหญ่ คือ ขันเงินอยู่ก่อน เพราะฉะนั้น แมวที่มาทีหลังจะเป็นใหญ่กว่าขันเงินไม่ได้ เว้นเวลาที่บริโภค ซึ่งตัวที่มาทีหลังนี่ก็รู้ดี ถึงเวลากินก็เหยียบหัวขันเงิน ทำทุกอย่างได้หมด ขันเงินก็ไม่ว่าอะไรเลย ปล่อยให้กินจนอิ่มเรียบร้อยแล้ว ขันเงินจึงไปกินต่อ
เพราะฉะนั้น การสะสมอุปนิสัย ถึงแม้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน และไม่มีสติปัญญาพอที่จะฟังธรรมเข้าใจ หรือพิจารณาเหตุผลให้ยิ่งกว่านั้น แต่การสะสมของหิริบ้าง โอตตัปปะบ้าง ก็ไม่สูญหายไปไหน ทำให้สามารถมีอัธยาศัยที่ดีงามต่างๆ กันได้
อีกตัวหนึ่ง เป็นสัตว์เลี้ยงของคุณดวงเดือน เป็นเป็ดตัวเล็กๆ ชื่อเจ้ากิ๊บ เดินตามเสมอ ไม่ว่าจะไปไหน ถึงแม้เวลาที่รับประทานอาหาร เจ้ากิ๊บก็จะนอนอยู่ที่รองเท้า และเวลาที่เจ้ากิ๊บมีเพื่อนใหม่ เจ้ากิ๊บก็จะสอนเพื่อนใหม่ให้กินรำ ให้กินน้ำ ให้กินแหน สาธิตให้ดูจนกระทั่งจะเรียกว่าพุงป่อง หรือไม่ทราบว่าส่วนไหนของเป็ดที่ทำให้เห็นว่า เจ้ากิ๊บก็แย่หน่อยเพราะการสาธิต
นี่ก็คงจะเป็นความเมตตากรุณาของสัตว์ดิรัจฉาน แม้ตัวเล็กนิดเดียว แต่เมื่อ ตัวอื่นเล็กกว่า ก็ยังมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือตามประสาสัตว์
เพราะฉะนั้น การสะสมของกุศลและอกุศล ไม่สูญหาย แม้ว่าไม่ได้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก หรือมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ก็ยังมีโอกาสทำให้สิ่งที่สะสมมานั้น ทำให้กายวาจาเป็นไปตามการสะสมได้
ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง จากวัดญาณสังวราราม ตำบล ห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง ชลบุรี ซึ่งมีคำถาม ๓ ข้อ คือ
ข้อ ๑ การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ
ข้อ ๒ เห็นสีเป็นรูป ส่วนการรู้ว่าเป็นสีแดง สีเขียวเป็นนาม ใช่หรือไม่
ข้อ ๓ ในปัญญา ๔ อย่าง มีสาตถกสัมปชัญญะ ถึงอสัมโมหสัมปชัญญะ ขณะที่สติเกิดจะมีครบทุกข้อหรือไม่ หรือว่าเป็นหัวข้อธรรมสำหรับพิจารณาของผู้ที่จะเจริญสติ
สำหรับคำถามข้อที่ ๑ การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ
ถ้าเป็นสักกายทิฏฐิ คือ เห็นผิดจากสภาพธรรม คือ เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะว่ารูปธรรมไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพังอย่างเดียว หรือรูปเดียว ต้องมีรูปเกิดร่วมกันหลายๆ รูป และเมื่อประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็ปรากฏสภาพรูปร่างสัณฐานทำให้เกิดความทรงจำว่ารูปที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร เช่นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เท่านี้เอง แต่เมื่อธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมรวมกัน เป็นกลุ่มก้อนเกิดขึ้นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ทำให้จดจำรูปร่างสัณฐานนั้น และรู้ว่า เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้ หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อมีความเข้าใจถูกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏได้เฉพาะเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ และไม่ลืมที่จะพิจารณาว่า ความจริงต้องเป็นเพียงเท่านี้เอง และ ถ้าปัญญาสามารถรู้ต่อไปได้จริงๆ ว่า ที่เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ นั้น ไม่ใช่ทางปัญจทวารวิถี คือ ไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิตที่กำลังมีเฉพาะรูปทางตาที่ยังไม่ดับ เป็นอารมณ์ แต่ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อแล้ว ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น ขณะนั้นก็ไม่เป็นสักกายทิฏฐิ นี่ก็ตอบคำถามที่ว่า การเห็น การได้ยิน และอื่นๆ อย่างไรจึงไม่เป็นสักกายทิฏฐิ
แต่สักกายทิฏฐิจะดับหมดเป็นสมุจเฉท เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน
ขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ขณะนั้นปัญญาเกิดพร้อมกับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสังเกตพิจารณาจนปัญญาความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็ไม่เป็นสักกายทิฏฐิ ไม่ว่าจะเป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน
ถ. ขณะที่สติเกิด เราจะเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงธรรม อย่างหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น แต่ขณะที่เป็นอกุศลจิต เช่น หลงลืมสติไปด้วยโลภะ ก็จะเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นญาติบ้าง เป็นพี่น้องบ้าง ขณะนั้นเห็นผิดหรือเปล่า
สุ. แล้วแต่ประเภทของอกุศลจิต ถ้าเป็นโลภะ มี ๘ ประเภท คือ โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ และโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ขณะใดที่เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เช่น เชื่อจริงๆ ว่า ต้องมีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม อย่างนั้นก็เป็นสักกายทิฏฐิ เชื่อว่าเที่ยง ขณะนี้ไม่มีการเกิดขึ้นและดับไป ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ก็เป็นสักกายทิฏฐิ
แต่ถ้าเป็นเพียงขณะที่พอใจโดยไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็เป็น โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ถ้าเป็นโทสมูลจิต ก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นโมหมูลจิต ก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย
ถ. ถ้าเป็นเพียงรู้ความหมายแค่นั้นและพอใจ แต่ยังไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นในลักษณะที่ท่านอาจารย์กล่าว ก็ยังเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. ถ้าขณะใดเกิดความพอใจ แต่มีความสงสัยลังเลในสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์หรือสัมปยุตต์
สุ. ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ยึดมั่นในความเห็นผิดนั้นแน่นอน ก็ เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าเป็นความสงสัย ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เพราะว่ามีความสงสัยซึ่งเป็นวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ก็เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าท่านสนทนากับผู้ที่มีความคิดความเห็นต่างๆ ก็พอที่จะรู้ได้ว่า คำพูดอย่างไร และการกระทำอย่างไร เป็นไปด้วยโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อย่างคนที่ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด หรือไม่เชื่อเรื่องกรรม ขณะนั้น ที่กล่าววาจาอย่างนั้น ก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นวจีทวาร
ถ้ามีการกระทำทางกาย ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ที่เป็นทางกายทวาร
ต่อไปปัญหาข้อที่ ๒ เห็นสีเป็นรูป ส่วนการรู้ว่าเป็นสีแดง สีเขียว เป็นนาม ใช่หรือไม่
เวลาพูดว่า เห็นสี หรือว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แยกสีทิ้งไปได้ไหม คือ จักขุทวารวิถีที่กำลังเห็นในขณะนี้ สภาพธรรมพร้อมที่จะให้พิสูจน์ ขณะนี้กำลังเห็น มีสีเป็นสิ่งที่ถูกเห็น หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มีสีสันอะไรเลยและจะไปรู้สีแดง สีเขียวทีหลัง ตามความเป็นจริง สภาพธรรมพิสูจน์ได้
เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เวลาที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ เพียงเห็น ไม่มีสีสันอะไรเลย อาจจะเข้าใจอย่างนั้น ซึ่งไม่ถูก เพราะว่าไม่ต้องพูดถึง คำว่าสี จะเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำตาล สีเหลือง สีอะไรก็แล้วแต่ แต่พูดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริง สีอะไรก็ช่าง หรือว่าสีอะไรก็ได้ ถูกไหม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่สนใจในสีสันเลยว่า เป็นสีเขียว สีแดง สีฟ้า สีน้ำเงิน แต่ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ในขณะนี้
การที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะไขว้เขวไม่ได้ ต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ทางตาเห็นอย่างไร ทางใจก็รับรู้สิ่งที่ทางตาเห็นนั้นต่อ แล้วแต่ว่าจะมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งใด ก็นึกถึงสิ่งนั้น เพราะว่าในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นับสีไม่ถ้วน ใช่ไหม สีที่เป็นสี่เหลี่ยมก็มี สีที่เป็น จุดกลมก็มี สีที่เป็นลวดลายต่างๆ ก็มี สีที่เป็นเส้นยาวๆ เป็นทางก็มี มีสีมากมาย นับสีไม่ถ้วนจริงๆ แต่ทุกสีปรากฏทางตา
แทนที่จะคิดว่า เวลาที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เพียงเห็น ไม่รู้สี และจะไปเห็นเป็นสีต่างๆ ทางใจ ก็ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ไม่สนใจในสีที่ปรากฏ คือ ไม่สนใจเลยว่าจะเป็น สีแดง สีเขียว สีฟ้า เมื่อลืมตาขึ้นมาปรากฏสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นคือสิ่งที่กระทบกับ จักขุปสาท จึงปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้ว่า ทางตามีเพียงสิ่งที่ปรากฏ ชั่วขณะที่เห็นสว่างอย่างนี้ เพราะว่าทางหูที่กำลังได้ยินเสียงไม่สว่างเลย เรียกได้ว่า มืด ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่นก็มืด ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รสปรากฏก็มืด ขณะที่กายกระทบสัมผัสก็มืด ขณะที่ใจคิดนึกเรื่องต่างๆ ก็มืด
เพราะฉะนั้น ที่สว่าง ชั่วขณะเล็กน้อยที่สุด อาจจะเรียกได้ว่า ชั่วแวบเดียวเท่านั้น และวิถีจิตทางทวารอื่นก็เกิดสืบต่อ แต่เนื่องจากรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทบ่อยๆ ก็ทำให้สิ่งที่ปรากฏ ที่มองเห็น ที่สว่างอยู่ขณะนี้ปรากฏสืบต่อ เหมือนกับว่า ทวารอื่นซึ่งมืดนั้นไม่ปรากฏเลย แต่ตามความเป็นจริงแล้วควรจะเข้าใจว่า ชั่วขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้สั้นแค่ไหน ระหว่างที่มีโสตทวารวิถีจิตเกิดคั่น ระหว่างที่มีภวังคจิต เกิดคั่น ระหว่างที่มีมโนทวารวิถีจิตที่กำลังคิดนึกเรื่องสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเกิดคั่น
เพราะฉะนั้น ทางตาที่สว่าง สั้นมาก ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ จะไม่ใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำให้คลายการติดยึดมั่นในนิมิตและอนุพยัญชนะที่เคยพอใจยึดมั่น ในสิ่งที่ปรากฏ
ถ้ามีการคลายความพอใจ และรู้ว่าทางตาเพียงชั่วขณะสั้นๆ เล็กน้อย เท่านั้นเอง และทางทวารอื่นก็ไม่ได้ปรากฏสีสันวัณณะอย่างนี้เลย จะทำให้รู้ว่า ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นสีสันอะไรก็ไม่สนใจทั้งสิ้น เพราะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะคลายความติดใน นิมิตอนุพยัญชนะ และจะหมดความสงสัยด้วย เพราะว่าทางใจที่รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ ก็ไม่ต่างกับทางจักขุทวารวิถีซึ่งกำลังเห็นในขณะนี้
ทางตาเห็นอย่างไร ทางใจก็รู้ในรูปร่างสัณฐาน และถ้าเป็นปัญญา ก็สามารถที่จะเพิ่มความรู้เป็นญาณจริยาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้เป็นเพียงชั่วเดี๋ยวเดียว เท่านั้นเอง ซึ่งถ้ารู้ว่าชั่วขณะเดียวก็คลายความสนใจ คลายความยึดมั่นลงไป เท่าที่สติจะระลึกได้ และปัญญาจะพิจารณาได้
ก็คงหมดข้อสงสัยที่ว่า เห็นสีเป็นรูป ส่วนการรู้ว่าเป็นสีแดง สีเขียวเป็นนาม ใช่หรือไม่
สภาพรู้ทั้งหมดเป็นนาม สภาพที่ไม่รู้เป็นรูป เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เวลาที่จิตเห็น ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นสีต่างๆ แต่คงไม่มีใครที่จะเตือนตัวเองว่า นี่กำลังเป็น สีอะไรๆ ใช่ไหม แต่มีรูปร่างสัณฐานจากสีต่างๆ ที่ปรากฏทำให้รู้ในความหมายของ สิ่งที่ปรากฏได้ ต้องรู้จุดประสงค์ว่า การที่จะระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังเห็น ในขณะนี้ เพื่อประโยชน์อะไร
ก็เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น ถ้ารู้อย่างนี้ ก็ไม่สนใจทั้งนั้น สีอะไรก็ไม่เป็นไร เพียงแต่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ และถ้าขณะนั้นระลึกจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นจะสนใจไหมว่าสีอะไร นี่เป็นคำถามในมุมกลับให้พิจารณาว่า ถ้าขณะนั้นกำลังพิจารณา รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นจะสนใจไหมว่าเป็นสีอะไร เพราะถึงแม้ว่าจะเป็น สีอะไร ทั้งหมดก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น
ขณะนี้พิสูจน์ได้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่สนใจแล้วที่จะรู้ว่าเป็นสีอะไร เพราะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น
คำถามสุดท้าย ข้อ ๓ ในปัญญา ๔ อย่าง มีสาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ และอสัมโมหสัมปชัญญะ ขณะที่สติเกิดจะมีครบทุกข้อหรือไม่
ขณะที่ปัญญาพิจารณาถูกต้อง ครบ แต่ถ้าทีละข้อๆ ไม่ครบแน่ ใช่ไหม เช่น บางท่านคิดถึงสาตถกสัมปชัญญะ รู้ประโยชน์ของการที่จะเจริญกุศลว่า กุศลเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และการอบรมเจริญปัญญาก็เพื่อละคลายการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ในขณะนี้สติยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ชื่อว่ามีแต่สาตถกสัมปชัญญะ แต่ขณะใดที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นเป็นการรู้ที่ถูกต้อง ก็ต้องพร้อมทั้งสัมปชัญญะ ๔ เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่ รู้ประโยชน์ของสติ และต้องรู้ด้วยว่าสัปปายะจริงๆ คือ ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง ที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปแสวงหาอย่างอื่นเลย
ในสัปปายสูตรที่ได้เคยกล่าวถึง สภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงของรูป ของนาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสัปปายะ เป็นสิ่งที่ควรจะทำให้ปัญญาสามารถเกิดขึ้นรู้ความจริงได้ และขณะที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกำลังปรากฏ และสติระลึกที่อารมณ์นั้น อารมณ์นั้นก็เป็นโคจรสัมปชัญญะเป็นปัญญาที่รู้ว่า ไม่ต้องไปแสวงหาอารมณ์อื่น ไม่ต้องทำอย่างอื่น เพียงระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที