แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1528

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๙


บางท่านกล่าวว่า เวลาที่ท่านไม่ได้ฟังธรรม จิตใจของท่านเพลิดเพลินไปใน เรื่องอื่น หลงลืมสติอย่างมาก จำเป็นต้องสวดมนต์ก่อนจิตจะได้มั่นคงขึ้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่ท่านระลึกอย่างนั้นและทำอย่างนั้น เพราะว่าเคยชินต่อการ ที่จะสวดมนต์ เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าสวดมนต์หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ท่านท่องคาถา เช่น คาถาชินบัญชร ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการสวดมนต์หรือเปล่า แต่ความคุ้นเคยต่อการที่เคยท่องก็ทำให้คิดว่า จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก่อน นี่เป็นการขาดสัปปายสัมปชัญญะ เพราะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยว เป็นทุกข์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควร เป็นสัปปายะที่จะให้เกิดการระลึกได้ แต่เมื่อยังเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้น้อย ไม่ชำนาญเท่ากับคาถาที่เคยสวดอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น การเสพคุ้นของการกระทำเช่นนั้น ก็ทำให้เกิดความคิดที่จะต้องสวดมนต์ก่อน

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าวันก่อนๆ นั้น สติจะเกิดมากสักเท่าไร หรือว่าสติจะเกิดน้อยสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องของวันก่อนๆ และไม่ต้องคิดถึง วันข้างหน้าด้วย เพราะว่าขณะนี้มีสิ่งที่สติจะระลึก ศึกษา เพื่อจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ใช่เรา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในวันหนึ่งๆ จะมีอุปสรรคขัดขวางจากการที่เคยสะสมการกระทำอย่างอื่นๆ มาแล้วหลายประการ เช่น อาจจะคิดว่าต้องทำสมาธิก่อน นี่อย่างหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสจริงๆ จะ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที เพื่อเป็นการเสพคุ้นกับ สติปัฏฐานที่จะให้มีกำลังขึ้น ไม่ว่าจิตใจจะเดือดร้อนระส่ำระสาย กระวนกระวาย ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนชินแล้ว จะไม่คิดเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย แต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นทันทีได้

เพราะฉะนั้น จะพิจารณาได้ว่า การกระทำอย่างไรเป็นข้อปฏิบัติที่ตรง ที่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และการกระทำอย่างไรซึ่งยังติดอยู่ และไม่ใช่เป็นหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ทุกอย่างต้องอาศัยการอบรม แล้วแต่ว่าจะอบรมทางไหน จะคุ้นชินกับการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันว่า มักจะกระทำอย่างนั้น แต่ถ้าเป็น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทำอย่างอื่นเลย เมื่อสติเกิดก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทันที

มีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในคำถามข้อที่ ๓

การที่จะรู้สภาพของกุศลจิต กับการที่จะรู้ว่านี่เป็นผลของกุศล อย่างไหนจะง่ายกว่ากัน

ขณะนี้หรือทุกวันๆ ก็ได้ ธรรมเป็นเรื่องที่พิจารณาได้ และคำตอบก็ตรง ต้องเป็นจริงอย่างนั้น วันหนึ่งๆ มีกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็มีกุศลจิตบ้าง แต่การที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นผลของกุศลกับการที่จะรู้ลักษณะของกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ อย่างไหนจะรู้ได้ง่ายกว่ากัน ในชีวิตประจำวัน เวลาที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้างก็ได้ ทราบได้โดยความเป็นอนัตตาว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะทุกคนอยากจะได้สิ่งที่ดีทั้งนั้น ทุกคนอยากจะได้สิ่งที่น่าพอใจทั้งนั้น แต่บางกาลก็ได้ บางกาลก็ไม่ได้ ตามเหตุ คือ อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคน เห็นสิ่งที่น่าพอใจมาก ก็รู้ว่าเป็นผลของกุศลที่มาก ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจน้อย ก็รู้ว่าเป็นผลของกุศลที่น้อย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จึงมีสิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายน้อย

มีสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ที่จะให้รู้ว่า อดีตกุศลที่ได้กระทำแล้ว มีมากหรือมีน้อยอย่างไร

แต่กุศลจิต ขณะที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ รู้ยากไหม ขณะที่สงบจากอกุศล

บางท่านกล่าวว่า ท่านได้ฟังเรื่องของเมตตามานาน รู้เรื่องของเมตตาว่า เมตตาต้องเป็นความรู้สึกที่เป็นไมตรี เป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูลอำนวยประโยชน์สุขให้คนอื่น นี่เป็นเรื่องเมตตาที่ท่านรู้ แต่ไม่เคยรู้ลักษณะหรือสภาพเมตตาที่กำลังเกิด กำลังเป็น จนกระทั่งลูกชายของท่านพนันฟุตบอล ท่านก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะให้เพื่อนของลูกชายต้องเสียเงิน ซึ่งก็เป็นค่าขนมหรือค่าอาหารของเด็กที่ยังไม่มีรายได้ จึงไม่สมควรที่จะกระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็เห็นสมควรที่จะตักเตือนลูก ก็บอกว่า ไม่สมควรที่จะพนัน สามารถที่จะทายได้ว่า ใครจะชนะ ใครจะแพ้ แต่ ไม่ควรทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะถ้าชนะพนันเขา ได้เงินของเขามา เพื่อนที่เสียเงินจะต้องเดือดร้อน ในขณะที่ท่านเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น ท่านรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็น จิตที่ประกอบด้วยเมตตา เพราะว่าไม่อยากให้คนอื่นต้องเดือดร้อน ซึ่งแต่ก่อนนี้ท่าน ไม่เคยรู้สึกเลยว่า เมตตามีลักษณะอย่างนี้ มีความหวังดี แม้แต่ในเรื่องของบุคคลอื่น ก็ไม่ต้องการให้มีฝ่ายที่จะต้องเกิดความเดือดร้อนขึ้น

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อาจจะอ่านเรื่องของเมตตา หรือหนังสือที่เกี่ยวกับเมตตา แต่เวลาที่เมตตาเกิด ก็น้อยมากจนไม่ได้สังเกต ทำให้ไม่รู้ว่าเมตตาจริงๆ มีลักษณะอย่างไร จนกระทั่งเมตตาเกิดขณะใด พร้อมทั้งการสังเกตลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงทำให้รู้ว่า ขณะที่เป็นเมตตาต่างกับขณะอื่น ถ้ามีความยินดีที่จะพนัน และไม่คำนึงถึงผู้ที่จะต้องเสียเงินในการพนัน ในขณะนั้น เป็นจิตประเภทไหน ก็ต้องเป็นอกุศลจิต แต่เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นและประกอบด้วยเมตตา จึงทำให้ความคิด คิดด้วยเมตตา และการกระทำก็กระทำด้วยเมตตา

การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว และในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีกุศลกรรมอื่นที่จะให้ผล ก็ให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเมื่อเป็นผลที่น่าพอใจ ก็ทำให้เป็นผู้ที่มีรูปสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ มีลาภ มียศต่างๆ กันไปตามกรรมที่ได้กระทำ ซึ่งแต่ละคนก็สามารถ ที่จะพิจารณาผลในปัจจุบันและรู้ถึงเหตุในอดีตว่า เป็นผลของกุศล หรือของอกุศล

แต่ผลของกุศลที่ได้รับ จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตหรือกุศลจิต นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณามาก เพราะทุกท่านทราบว่า กุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบากที่เป็นผล และผลของกุศลคืออิฏฐารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับอิฏฐารมณ์ต่างๆ แล้ว ก็ควรพิจารณาต่อไปอีกว่า จิตที่เกิดต่อจากนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าผลของกุศลเป็นที่ต้องการ เช่น รูปสมบัติ ทุกคนต้องพอใจที่จะเห็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดีทางตา เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า ยังมีความพอใจในผลของกุศลที่เป็นรูปสมบัติมากไหม หรือบางครั้ง บางคราวก็พิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และถ้าจะให้ละเอียดจริงๆ คือ ปรากฏเพียงขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ในวันหนึ่งๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความติด ความเหนียวแน่นในสิ่งที่น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยาก จะละได้ เพราะไม่ใช่แต่เฉพาะในรูปสมบัติเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นในเสื้อผ้า ในอาหาร ในของใช้ ในเครื่องใช้เครื่องอุปโภคต่างๆ ความติดในอิฏฐารมณ์ซึ่งเป็นผลของ กุศลกรรมนั้นมากมาย ในเรื่องของรูปสมบัติ ก็เป็นที่ต้องการ ในเรื่องทรัพย์สมบัติ ก็เป็นที่ต้องการอีก

เพราะฉะนั้น ทุกท่านปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีความยินดี มีความต้องการ มีความปรารถนาในผลของกุศล และถ้าพิจารณาจริงๆ ทั้งๆ ที่เห็นว่าอกุศลมีมาก แต่อกุศลนั้นๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับไปได้เลย ถ้าพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า เป็นไปทั่วหมด ตลอดไปตั้งแต่รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ

และเวลาที่มีทรัพย์สมบัติแล้ว จะมากจะน้อยอย่างไรก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีอกุศลจิตที่มีความยึดมั่นในทรัพย์สมบัตินั้นเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะว่า ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอย่างสะดวกสบายไม่ขัดสนก็จริง แต่ ควรที่จะพิจารณาว่า ทำให้เกิดอกุศล ความติดข้องในทรัพย์สมบัติอย่างเหนียวแน่น จนยากที่จะละคลายหรือเปล่า

พระผู้มีพระภาคทรงรู้กำลังของกุศลจิตและอกุศลจิตของสัตว์โลกทั้งหมด พระองค์ทรงแสดงการใช้ทรัพย์ที่สมควร ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปัตตกัมมสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ทุกท่านก็ทราบว่า ท่านเป็นเอตทัคคะในการ บริจาคทาน และท่านเป็นผู้ที่ได้รับผลของอดีตกุศลกรรมมาก

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก ในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

การที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้เห็นโทษของอกุศลและเจริญกุศลยิ่งขึ้น พระองค์ต้องทรงแสดงโดยลำดับจริงๆ เพราะถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ทรงชี้ทางที่จะดับกิเลส แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะจับกิเลสหรืออกุศลที่ตนสะสมมาทิ้งไปได้หมด แต่จะต้องอาศัยการเข้าใจในเหตุผลที่ทำให้รู้จักตัวเองตรงตามความเป็นจริง และรู้ว่า ยังมีอกุศลและกิเลสมากมายแค่ไหน ซึ่งการที่จะดับกิเลสอกุศลเหล่านั้น ต้องอาศัยกุศลธรรมที่จะต้องอบรมเจริญขึ้นจริงๆ ไม่ใช่จะฟังแต่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่รู้จักกำลังของตนเองในเรื่องของกุศลและอกุศล ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

ต้องเหมือนกันหมดสำหรับทุกคน ในเมื่อเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่

ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

คือ ทุกคนที่กำลังหาทางที่จะดับกิเลส แต่ก็ยังไม่หมดความปรารถนาในธรรม ที่น่าปรารถนา แม้ว่าจะไม่เอ่ยออกมาเป็นวาจาว่า อยากจะได้โภคะที่เกิดขึ้นโดย ทางธรรม แต่การกระทำของทุกคนในทุกวัน เป็นการแสวงหาโภคะในทางธรรม เพราะว่ายังปรารถนาอยู่ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญกุศลต้องตรง ต่อความเป็นจริงว่า ธรรมประการที่ ๑ ก็เป็นธรรมประการที่ ๑

ประการที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตร นี้เป็นธรรมประการที่ ๒

ทุกท่านมีญาติ มีมิตรสหาย ไม่ใช่มีตัวคนเดียว เพราะฉะนั้น ก็มีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นโดยฐานะต่างๆ โดยฐานะของญาติที่ใกล้ชิด และญาติที่ห่างไกล เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์ แต่ถ้าไม่มียศ ซึ่งยศในที่นี้ได้แก่ บริวารสมบัติ ก็ย่อมไม่ได้ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต คือ ชีวิตจะไม่ราบรื่นสมบูรณ์ไปได้ถ้าขาดบริวาร ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยทำกิจธุระต่างๆ

เพราะฉะนั้น คนที่มีทรัพย์ บางครั้งไม่สามารถได้สิ่งที่ต้องการถ้าขาด บริวารสมบัติ หรือบริวารยศ ดังนั้น นอกจากทรัพย์ ก็ยังปรารถนาผู้ช่วยทำกิจธุระ ซึ่งเป็นบริวารสมบัติด้วย นี่เป็นธรรมที่น่าปรารถนาประการที่ ๒

ใครยังไม่มีเรื่องเดือดร้อนก็รู้สึกว่า ช่วยตัวเองได้ ใช่ไหม แต่ถ้าจะทำกิจ การงานอะไรสักเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น และ ยิ่งเป็นงานใหญ่ ยิ่งเห็นได้จริงๆ ว่า ขาดมิตรสหายเพื่อนฝูง หรือผู้ที่ช่วยทำกิจธุระไม่ได้

ประการที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

เป็นความจริงไหม ที่จะให้มีอายุอยู่นาน คือ ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการได้กลิ่น ต้องการลิ้มรส ต้องการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส บางคนอาจจะบอกว่า ไม่อยากจะเกิดอีก แต่ถ้ายังอยากจะเห็นเดี๋ยวนี้ ก็แสดงว่ายังต้องการที่จะเกิดอีก ยังไม่สามารถตัดความยินดีพอใจในภพในชาติได้

เพราะฉะนั้น ทุกคนก็รักษาตัวเองให้มีสุขภาพดี ให้ร่างกายแข็งแรง เพราะว่าจะได้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่อๆ ไปอีกนานๆ

ธรรมประการที่ ๔ ที่น่าปรารถนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ทุกคนรู้แน่ว่าจะอยู่โลกนี้ไม่นาน และอยู่ได้ไม่ตลอดไป และเมื่อยังปรารถนาอิฏฐารมณ์ ปรารถนาความสะดวกสบาย ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ ก็คือ การปรารถนาไปสู่สุคติโลกสวรรค์

บางคนอาจจะบอกว่า อยากเกิดในโลกนี้อีก คุ้นเคยกับโลกนี้ ยังไม่อยาก จากโลกนี้ไปง่ายๆ ถ้าคิดว่าอยากจะอยู่ในโลกนี้ อยากจะอยู่ในโลกนี้เมื่อ โลกนี้เป็นอย่างไร คือ อยากจะอยู่ในโลกนี้ เมื่อโลกนี้สบายๆ ไม่มีความทุกข์ ไม่มี ความเดือดร้อนต่างๆ ใช่ไหม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อยากจะอยู่ในโลกนี้ที่เหมือนสวรรค์ ไม่ใช่อยากจะอยู่ในโลกนี้ที่เหมือนกับนรก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกคนที่เกิดมาแล้ว ไม่พ้นจากความปรารถนาเหล่านี้

และถ้าไม่รู้จิตใจของตนเองตามความเป็นจริงว่า ทุกวันๆ ไม่พ้นจากความปรารถนา ๔ อย่างนี้เลย จะดับกิเลสได้อย่างไร

เปิด  248
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565