แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1531
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๙
สำหรับการที่จะไม่ติดและไม่ประมาทในสุขวิบากต่างๆ ในผลของบุญ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงชีวิตของพระองค์เองเป็นตัวอย่าง
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สุขุมาลสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าประวัติ ของพระองค์เอง ข้อความมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์โดย ส่วนเดียว ได้ยินว่า พระชนกรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีไว้เพื่อเรา ภายในนิเวศน์ ให้ปลูกอุบลไว้สระหนึ่ง ปทุมไว้สระหนึ่ง ปุณฑริกไว้สระหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่เรา เราไม่ได้ใช้ไม้จันทน์เมืองกาสีเท่านั้น ผ้าโพก เสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่มของเราล้วนเป็นผ้า ในเมืองกาสี มีคนคอยกั้นเศวตฉัตรให้เราตลอดคืนตลอดวัน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน ธุลี หญ้า หรือน้ำค้าง อย่าเบียดเบียนพระองค์ท่านได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรามีปราสาท ๓ หลัง ปราสาทหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว
ซึ่งข้อความในอรรถกถากล่าวว่า
ประสาทที่อยู่ในฤดูหนาวมี ๙ ชั้น เครื่องลาดพื้น ผ้าม่าน เพดาน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ทำด้วยผ้ากัมพล จิตรกรรมก็เขียนเป็นกองไฟลุกสว่างอยู่ในชั้นนั้นๆ หน้าต่างเปิดในตอนกลางวัน ปิดในตอนกลางคืน เพื่อให้รับความร้อน
ปราสาทอีกหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน ซึ่งอรรถกถาแสดงว่า
มี ๕ ชั้น แต่ละชั้นยกสูง ไม่คับแคบ เพื่อให้รับไอความเย็น ประตูและหน้าต่างปิดไม่สนิทนักมีช่องและติดตาข่าย จิตรกรรมที่เขียน เป็นดอกบัวสีต่างๆ เครื่องลาดพื้น ผ้าม่าน เพดาน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าโพกศีรษะ ทำจากผ้าเปลือกไม้ ทำน้ำตกไว้ตามที่ใกล้หน้าต่าง บนยอดประสาทก็ยกก้อนหินขึ้นสูงถึงหลังคา ให้สายน้ำไหลออกมาเหมือนคราวฝนตก เสียงน้ำไหลจะเป็นเหมือนเสียงฟ้าร้อง ประตูและหน้าต่างต่างๆ ในปราสาทหลังนี้ ปิดไว้ในเวลากลางวัน และเปิดในเวลากลางคืน
ปราสาทอีกหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน ซึ่งอรรถกถาแสดงว่า
มี ๗ ชั้น ปราสาทหลังนี้ไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป เพื่อให้ได้รับอากาศ ทั้ง ๒ ฤดู คือ ทั้งเย็นและร้อน ประตูหน้าต่างบางบานก็ปิดสนิทดี บางบานก็ห่าง แม้จิตรกรรมในปราสาทนั้น บางแห่งก็ทำเป็นกองไฟลุกโชน บางแห่งก็ทำเป็น สระธรรมชาติ ผ้าลาดพื้นเป็นต้นในปราสาทหลังนี้ก็ปนกันทั้ง ๒ ชนิด คือ ทั้งผ้ากัมพลและผ้าเปลือกไม้ ประตูกับหน้าต่างบางบานก็เปิดตลอดกลางคืน แล้วปิดตอนกลางวัน บางบานก็เปิดในตอนกลางวัน แล้วปิดตอนกลางคืน
ปราสาททั้ง ๓ หลัง ส่วนสูงมีขนาดเท่ากัน แต่มีความต่างกันในเรื่องชั้น
คือ ปราสาทสำหรับฤดูหนาวมี ๙ ชั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นชั้นที่เตี้ยต่ำกว่าประสาทหลังอื่น ปราสาทสำหรับฤดูร้อนมี ๕ ชั้น เพราะฉะนั้น ปราสาทชั้นนี้ก็สูงกว่าหลังอื่น ส่วนปราสาทฤดูฝนมี ๗ ชั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า
เรานั้นแล ถูกบำเรอด้วยดนตรีซึ่งไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน บนปราสาทอันเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มิได้ลงมาข้างล่างปราสาทเลย ในนิเวศน์แห่ง พระชนกของเรา เขาให้ข้าวสาลีระคนด้วยมังสะแก่ทาสกรรมกรบุรุษ ทำนองเดียวกับที่ในนิเวศน์ของคนอื่น เขาให้ข้าวป่นอันมีน้ำส้มเป็นที่สอง ฉะนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นซึ่งประกอบด้วยความสำเร็จเห็นปานดังนี้ เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ก็ยังคิดเห็นดังนี้ว่า ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เห็นคนอื่นแก่ ก็ล่วงตนเองเสีย แล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคน มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ได้เห็นคนแก่เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมา ในความเป็นหนุ่มเสียได้โดยประการทั้งปวง
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องความเจ็บความตายโดยนัยเดียวกัน คือ ทำให้พระองค์ละความเมาในความไม่มีโรค และละความเมาในชีวิต ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงว่า
เหตุผลที่พระผู้มีพระภาคตรัสสุขสมบัติของพระองค์เอง ด้วยฐานะเพียงเท่านี้ ดังพรรณนามาฉะนี้ เมื่อตรัสเล่าก็หาได้ตรัสเล่าเพื่อความลำพองพระทัยไม่ แต่ ตรัสเล่าเพื่อแสดงถึงลักษณะของความไม่ประมาทนั่นเองว่า เราตถาคตสถิตอยู่ ในสมบัติแม้เห็นปานนี้ ก็ยังไม่ประมาทเลย
เพราะฉะนั้น ทุกคน ไม่ลืมที่จะเป็นผู้ที่เห็นคุณของกุศล แม้จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการด้วย และยังต้องพิจารณาจิต ของตนเอง ถ้าขณะไหนมีอกุศลประเภทใดที่น่ารังเกียจ เช่น มานะ ความสำคัญตน ความริษยา ความตระหนี่ และเห็นโทษของอกุศลนั้นๆ ในขณะนั้น ก็ย่อมจะ ขจัดอกุศลนั้นๆ ให้เบาบาง แต่ถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศลที่ตนเองมี ย่อมไม่คิดที่จะ ละอกุศลนั้นๆ
เวลาที่เห็นอกุศลของคนอื่น ขอให้พิจารณาดูว่า ท่านมีความรู้สึกอย่างไร เป็นการสอบจิตใจของท่านเองว่า เพิ่มกุศลขึ้นบ้างไหมเมื่อเห็นอกุศลของคนอื่น เพราะส่วนใหญ่แล้ว มักจะเห็นอกุศลของคนอื่น แต่เวลาที่คนอื่นมีอกุศล จิตใจของท่านเป็นอย่างไร
เมื่อคิดที่จะละอกุศลของตนเอง เวลาที่เห็นอกุศลของคนอื่น จิตใจของท่าน เป็นอย่างไร มีความเข้าใจในจิตใจของคนนั้น และเห็นใจ อดทนต่ออกุศลของคนอื่นบ้างไหม
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่อดทนในอกุศลของคนอื่นเลย ใจของท่านคิดติเตียน และไม่ใช่แต่เฉพาะใจ บางทีก็กล่าวเป็นวาจาติเตียนอกุศลของคนอื่น เป็นอย่างนั้น บ้างไหม ไม่อดทนต่ออกุศลของคนอื่น ติเตียนแม้ในใจ บางครั้งก็ล่วงออกมาเป็นวาจาด้วย และบางครั้งก็ถึงกับแสดงทางกาย เป็นความไม่พอใจในอกุศลของคนอื่น แทนที่จะคิดว่า ท่านเองก็มีอกุศลอย่างนั้นๆ เหมือนกัน เพียงแต่ในขณะนั้นไม่ปรากฏ หรือว่าไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ารู้ว่าคนอื่นมีอกุศลอย่างไร ท่านเองก็มีอกุศลอย่างนั้น เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็น่าที่จะเข้าใจ เห็นใจ และอดทนต่ออกุศลของคนอื่นได้
ถ้าท่านสามารถมีความอดทนต่ออกุศลของคนอื่นเพิ่มขึ้น ย่อมแสดงว่า พระธรรมได้ขัดเกลาจิตใจของท่านที่เคยไม่อดทนต่ออกุศลของคนอื่นเพราะรู้สึกว่าอดทนได้ยาก แต่ถ้าในขณะนั้นเป็นกุศลจะรู้สึกว่า อดทนได้โดยไม่ยาก
ผู้ที่ฟังพระธรรม เห็นคุณประโยชน์ และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง จะรู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดยากกว่าอกุศล และเวลาที่กุศลจิตเกิด ก็จะเกิดเพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ สั้นมาก แทรกสลับกับอกุศลซึ่งมีมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทานก็ดี หรือศีลก็ดี หรือการคิดนึกก็ดี จะเห็นได้ว่า ส่วนที่เป็นกุศลเล็กน้อย เกิดแทรกกับขณะที่เป็นอกุศลที่มีมาก
วันหนึ่งๆ คิดถึงเรื่องอะไร ตาเห็นสิ่งใด คิดถึงสิ่งนั้น ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่า เป็นอกุศลตามสิ่งที่ตาเห็น ได้ยินเสียงอะไร ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้อีกว่า เป็นอกุศลคล้อยตามเสียงที่ได้ยินนั้นแล้ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยากเหลือเกินที่ใครสามารถจะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลธรรมได้บ่อยๆ เนืองๆ ในวันหนึ่งๆ
แต่สำหรับผู้ที่สะสมกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่สะสมไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง มีกำลัง วันหนึ่งก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริงได้ ซึ่งจะต้องศึกษาเรื่องของธรรมโดยละเอียด ทั้งที่เป็นอกุศลและทั้งที่เป็นกุศล ซึ่งท่านผู้ฟังสามารถศึกษาต่อไปเองได้จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา
สำหรับเรื่องที่กล่าวถึงแล้ว เป็นเรื่องของอโสภณจิต ๓๐ ดวง
และสำหรับกามาวจรจิต คือ จิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะแม้ในขณะนี้ มี ๕๔ ดวง เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมเป็นอโสภณจิต ๓๐ ดวง
ส่วนกามาวจรจิตอีก ๒๔ ดวง เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง ซึ่งมี ๓ ชาติ คือ
กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง เป็นชาติกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล เรียกว่า มหากุศลจิต ๘ ก็ได้
กามาวจรวิบากจิต ๘ ดวง เป็นชาติวิปาก เป็นผลของกามาวจรกุศล เรียกว่า มหาวิบากจิต ๘ ก็ได้
และกามาวจรกิริยาจิต ๘ ดวง เป็นจิตของพระอรหันต์ เป็นชาติกิริยา ซึ่งดับ ทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายดี ก็ไม่ใช่กุศล เพราะว่า ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลคือวิบาก เรียกว่า มหากิริยาจิต ๘ ก็ได้
นี่เป็นกุศลที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นไปในทาน ในศีล เป็นไปในความสงบของจิต และเป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งยังเป็นกามาวจรจิตอยู่ ยังไม่ใช่รูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต
การศึกษาเรื่องของกามาวจรโสภณ เป็นสิ่งที่จะทำให้เข้าใจได้ถูกต้องว่า จิตประเภทใด ขณะใด ยังเป็นกามาวจรโสภณจิตอยู่ มิฉะนั้นแล้วบางท่านขณะที่กำลังทำสมาธิเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ หรือไม่ใช่แม้สมถภาวนา หรือ สติปัฏฐาน แต่ก็เข้าใจว่าเป็นถึงรูปาวจรกุศลจิต คือ เข้าใจว่าเป็นฌานจิต ขั้นต่างๆ หรือบางคนก็อาจจะคิดว่าถึงขั้นอรูปฌานกุศลแล้ว หรือโลกุตตรกุศลแล้ว
เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับกามาวจรจิต ไม่ใช่รูปาวจรกุศลจิต คือ ไม่ใช่ฌานจิต และไม่ใช่โลกุตตรจิต
ในขณะที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่โลกุตตรจิต ไม่ใช่ฌานจิต แต่เป็นกามาวจรกุศลจิต
มีใครคิดว่าได้ฌานแล้วบ้าง หรือมีใครคิดว่าได้บรรลุมรรคผลแล้วบ้าง ซึ่งความจริงแล้วเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล
สำหรับความหมายของคำว่า กุศล ใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ได้แสดงความหมายของกุศลศัพท์ว่า
กุศลศัพท์ ใช้ในความหมายว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และสุขวิบาก
หมายถึงว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เมื่อไม่มีกิเลสก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งตนเองและกับบุคคลอื่น
โรคทางกายเห็นได้ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่มีใครต้องการเลย ส่วนโรคทางใจไม่เคยเห็น แต่ถ้าทราบว่าขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นเป็นโรค เพราะฉะนั้น จิตมีโรคหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคอิสสา โรคมัจฉริยะ มีประเภทของโรคต่างๆ ซึ่งปรากฏอาการได้จากคำพูดหรือว่าการกระทำ
แต่สำหรับกุศลธรรมนั้นไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่มีโทษ นอกจากนั้นสำหรับกุศลบางประเภท ก็เป็นความฉลาด และกุศลทุกประเภท มีสุขเป็นวิบาก
ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ยังธรรมอันลามกที่บัณฑิตเกลียดให้สะเทือน ให้เคลื่อนไหว ให้หวั่นไหว คือ ให้พินาศ
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า บั่นรอน คือ ตัดสภาพที่นอนอยู่ ด้วยอาการที่น่าเกลียด คือ อกุศล
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า พึงถือเอา พึงยึดเอา คือ พึงให้เป็นไปด้วยญาณที่ชื่อว่ากุสะ เพราะทำสิ่งที่น่าเกลียดให้เหลือน้อย คือ เบาบาง
นี่คือทุกๆ ขณะที่กำลังเป็นกุศล แม้ในขณะนี้
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ย่อมตัดซึ่งฝ่าย แห่งสังกิเลสทั้งสองภาค คือ ที่เกิดแล้วและที่ยังมิได้เกิด เหมือนอย่างหญ้าคาบาด ฝ่ามือที่ลูบคมหญ้าคาทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ตัด คือ บั่นรอนอกุศล ดุจหญ้าคา
กุศลมีวิบากเป็นสุข หาโทษมิได้เป็นลักษณะ อกุศลมีวิบากเป็นทุกข์ มีโทษ เป็นลักษณะ อัพยากตะมีความไม่มีวิบากเป็นลักษณะ
นี่คือสภาพของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
ถ. สภาวะของความรู้สึกนั้น จะเป็นความรู้สึกเช่นเดียวกันกับอุเบกขา ของสภาวะไหม
สุ. คำว่า อัพยากตะ หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกิริยาจิต ขณะนั้นเป็นอัพยากตะ ขณะใดที่เป็นวิบากจิต ขณะนั้นเป็นอัพยากตะ รูปไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล เป็นอัพยากตะ นิพพานไม่ใช่กุศลและอกุศล เป็นอัพยากตะ
เพราะฉะนั้น อัพยากตะ หมายความถึงจิต เจตสิก รูป นิพพาน ที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่หมายความถึงความรู้สึกอย่างเดียว ต้องแล้วแต่ชาติว่า ความรู้สึกนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าความรู้สึกนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ความรู้สึกนั้นจึงเป็นอัพยากตะ
ถ. ถ้าอย่างนั้น ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา ก็ยังเป็นกุศล ใช่ไหม
สุ. อุเบกขาเป็นความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดได้ทั้งกับกุศล อกุศล และกิริยา จึงยากที่จะสังเกต อย่างเวลาที่รู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่กุศลได้ เป็นโลภะได้ เป็นโมหะได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องพิจารณาลักษณะของความเฉยๆ นั้นว่า ความเฉยๆ นั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด
ถ. ขอบพระคุณ สภาวะที่ว่านั้นเคยพบมาแล้ว อุเบกขาเฉยๆ ที่เป็นโลภะ