แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1533

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กฎกราคม ๒๕๒๙


ด้วยเหตุนี้ลักษณะที่ปรากฏที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั้น มีลักษณะเพียงแข็ง หรืออ่อนเฉพาะตรงส่วนที่ปรากฏ ซึ่งสติปัฏฐานจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัด แม้ในขณะนั้นว่า เราทั้งตัวไม่มี และตามความเป็นจริงก็ไม่มี เพราะว่าไม่ได้ปรากฏ

เฉพาะส่วนที่ปรากฏเล็กน้อยนิดหน่อยนั่นไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะต้องทิ้งส่วนที่เคยใหญ่โตเกาะกุมรวมกันเป็นรูปร่างกายทั้งหมด ที่เป็นอัตตา จนเหลือเฉพาะส่วนที่เล็กนิดเดียวที่ปรากฏ จึงจะประจักษ์แจ้งได้ว่า ขณะนั้นเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ขณะใดที่มีรูปชนิดหนึ่งชนิดใดปรากฏที่กายส่วนหนึ่งส่วนใด สติระลึกเพื่อที่จะศึกษารู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นก็กำลังเกิดดับ แต่ปัญญาขั้นแรกยังไม่สามารถประจักษ์การเกิดดับของรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

ไม่ใช่ความทรงจำในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเลย ไม่ใช่ให้ไปคิดถึงผม ถึงเล็บ ถึงฟัน ถึงหนัง แต่สภาพธรรมใดที่เคยยึดถือว่าเป็นกายและปรากฏ จะต้องพิจารณาจนกว่าจะรู้ชัด

บางท่านสติปัฏฐานวันหนึ่งๆ ก็ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็เห็นผมบ้าง หรือสัมผัสกระทบผมบ้างก็แล้วแต่ในขณะนั้นซึ่งมีความรู้สึกว่าเป็นผม แต่โดยปรมัตถธรรมแล้วเป็นแต่เพียงรูปแข็ง ธาตุแข็งที่ปรากฏ ซึ่งผู้เจริญสติปัฏฐานจะต้องไม่มีความทรงจำว่ายังเป็นผมอยู่ เพราะถ้ายังเป็นผมอยู่ ก็ยังเป็นผมของเรา แต่ต้องรู้ว่าลักษณะนั้น เป็นเพียงสภาพแข็งที่ปรากฏเท่านั้น

ถ้าหาได้แล้วว่า ที่กายนี่ ยึดถือร่างกายส่วนไหนตรงไหนว่าเป็นเรา ก็เจริญ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ ก็เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรพใดในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้ง ๑๔ บรรพ แม้แต่ลมหายใจ ก็เป็นของจริง ขณะใดที่ลมหายใจปรากฏ ขณะนั้นเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานระลึกที่ลมที่ปรากฏเพื่อจะได้รู้ชัดว่า ลมในขณะนั้น ก็ไม่ใช่อัตตา ไม่มีส่วนอื่นที่จะปรากฏรวมกับลมที่กำลังปรากฏเลย

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่าง ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เกิด และก็ดับ เพราะตามความเป็นจริง ในขณะที่กำลังระลึกที่ลักษณะของแข็ง แม้แข็งในขณะนั้น ก็กำลังเกิดดับ แต่เมื่อดับแล้วก็เกิดอีก ดับแล้วก็เกิดอีกๆ แต่ปัญญายังไม่คมพอที่จะแยกขาดลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไประลึกที่อื่นเลย ระลึกที่กายและเฉพาะ รูปหนึ่งรูปใดที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่เคยรู้ชัดในลักษณะของรูปนั้น จึงยึดถือรูปนั้นว่า เป็นเรา

ถ. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บางแห่งเห็นว่าเจริญง่าย เพราะเป็น รูปหยาบ ก็เจริญแต่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยอ้างว่า ในอรรถกถามีพูดถึงว่า อุปมาเหมือนประตูเมืองมี ๔ ด้าน เข้าเพียงด้านเดียวก็ถึงพระราชวังเหมือนกัน ซึ่ง ผมเคยให้คำตอบเขาไปว่า จะต้องเจริญทั้ง ๔ อย่างตามที่ได้เคยศึกษามา แล้วแต่ สติจะระลึก จะเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดก็แล้วแต่ ส่วนเรื่องประตูเมือง ผมก็อธิบายว่า ถ้าเรายังไม่รู้ว่าประตูนี้จะเข้าถึงพระราชวังได้ ก็ไม่กล้าเข้าไป จะต้องรู้ก่อนว่าทุกประตูนี้เข้าถึงพระราชวังได้ ถ้ายังไม่รู้ว่าทุกประตูเข้าถึงพระราชวังได้ เคยเข้าได้ประตูนี้ประตูเดียวก็จะเข้า ส่วนประตูที่ยังไม่เคยผ่านเลย เราจะกล้าเสี่ยง เข้าไปหรือ เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าให้ถูกทั้ง ๔ ทางก่อน อย่างนี้จะมีเหตุมีผลไหม

สุ. ควรที่จะได้พิจารณาว่า เจริญสติปัฏฐานทำไม ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน น่าจะตอบได้ว่า เจริญสติปัฏฐานทำไม

ก็เพื่อเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นี่คือจุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญเพื่อไม่รู้ ทางตาที่กำลังเห็นก็ไม่รู้ เห็นมาตั้งกี่ภพกี่ชาติในสังสารวัฏฏ์ด้วยความไม่รู้ ก็จะไม่รู้ต่อไป หรือในขณะที่ได้ยิน ก็จะเจริญสติปัฏฐานเพื่อไม่รู้นามธรรมและรูปธรรมทางหูที่กำลังได้ยิน ถ้าเป็นอย่างนั้น อวิชชาก็ยังเต็ม ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏที่เป็นของจริงซึ่งมี ๒ อย่าง จะรู้หรือจะไม่รู้ ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น จะรู้หรือไม่รู้ ในขณะที่กำลังลิ้มรส จะรู้หรือไม่รู้ ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัสแม้ในขณะนี้เอง จะรู้หรือไม่รู้ ในขณะที่กำลังคิดนึก จะรู้หรือไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะพิจารณา ซึ่งแล้วแต่ฉันทะ ความต้องการ แต่ควรที่จะได้ทราบว่า ถ้ายังไม่รู้ ก็ยังไม่ละ เพราะว่าไม่เคยรู้สภาพธรรมจึงเข้าใจผิดยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นสิ่งที่เที่ยง ที่ไม่เกิดดับ

เพราะฉะนั้น แม้แต่ในขั้นต้นก็ควรจะได้พิจารณาว่า เจริญสติปัฏฐานทำไม ถ้าเพื่อไม่รู้ ก็แล้วไป อยากจะไม่รู้ต่อไปก็ช่วยไม่ได้ แต่การที่จะดับกิเลสได้ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ดับกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสเกิดจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าอกุศลธรรมจะเกิดบ่อยเป็นประจำทุกวัน ก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล อย่างทางตา ที่กำลังเห็นและไม่รู้ความจริง ก็ไม่รู้ว่านั่นแหละเป็นอกุศลธรรมแล้ว เพราะความไม่รู้ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงทำให้เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง

ในขณะที่ได้ยินก็ไม่รู้อีก ขณะใดที่ไม่รู้ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม แต่ชีวิตตามความเป็นจริงก็ยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นการกระทำต่างๆ ที่ดีงาม ในชีวิตประจำวันซึ่งแปลกจากปกติ ที่กล่าวว่า แปลกจากปกติ เพราะว่าปกติ เป็นอกุศลอยู่เสมอ ขณะที่เห็นก็เป็นอกุศลแล้ว ขณะที่ได้ยินก็เป็นอกุศลแล้ว ขณะที่คิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ ก็เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมต่างๆ ย่อมแปลกจากที่เคยเป็นอกุศล แต่แม้อย่างนั้น ก็ยังไม่สามารถแยกลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลกับจิตที่เป็นกุศลได้ ถ้าไม่เจริญ สติปัฏฐาน เพราะว่าอกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว กุศลจิตที่เกิดขึ้นก็ดับไป อย่างรวดเร็ว และอกุศลจิตก็สามารถที่จะเกิดแทรก

กุศลจิตเกิดแทรกอกุศลจิตได้ฉันใด ในขณะที่กำลังเป็นวาระของกุศล อกุศลจิตก็เกิดแทรกได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถึงแม้ว่าในวันหนึ่งๆ จะมี อกุศลมาก ก็ยังมีโอกาสได้กระทำกุศล หรือว่าในวันหนึ่งๆ ที่มีกุศลหลายชั่วโมง อกุศลก็ยังเกิดแทรกได้อย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด ขณะที่เป็นอกุศลก็ผ่านไปโดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นขณะที่อกุศลธรรมกำลังปรากฏให้รู้ว่าตนเองยังมีอกุศลธรรม เพราะถ้าเทียบกับบุคคลอื่น อาจจะพอใจว่ามีอกุศลน้อยกว่าคนอื่น แต่ถ้าเทียบกับผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ย่อมเห็นว่าตนเองยังมีอกุศลธรรมมาก และถ้าเห็นว่าตนเองมีอกุศลธรรมมาก ย่อมเป็นเหตุให้ละคลายอกุศลธรรมได้

สำหรับวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า กุศลจิตที่เกิดขึ้นกระทำกุศลกรรมต่างๆ นั้นเป็นไปตามฉันทะของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา ซึ่งบางท่านอาจจะช่วยเหลือบุคคลอื่น หรือว่าบางท่านอาจจะให้ทานวัตถุสิ่งของเป็นประโยชน์แก่คนอื่น กุศลธรรมเป็น ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย ตามฉันทะ ทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่อง การไตร่ตรองเหตุผลในธรรม ซึ่งจะต้องไตร่ตรองให้ได้เหตุผลจริงๆ มิฉะนั้น อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้

สำหรับปรมัตถธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลธรรมและอกุศลธรรม ไม่จำกัด เชื้อชาติ ผิวพรรณวรรณะ หรือว่าประเพณีวัฒนธรรม ไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะพุทธศาสนิกชน แม้ชาติใดก็ตาม ศาสนาใดก็ตาม ก็มีการกระทำกุศลอยู่เสมอ แต่ต่างกันที่ว่า กุศลประเภทที่เป็นญาณวิปปยุตต์เกิดได้ง่าย และเกิดได้บ่อยกว่า กุศลที่เป็นญาณสัมปยุตต์

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร ข้อ ๕๑ – ๗๒ มีข้อความโดยย่อว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี

วาเสฏฐสามเณรกับภารทวาชสามเณรเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากปราสาท อันเป็นที่หลีกเร้น (คือ ที่พักผ่อนในเวลาเย็น) ทรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท

สามเณรทั้ง ๒ ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อว่าจะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ เมื่อท่านทั้ง ๒ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ชวนกันเดินตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ผู้กำลังเสด็จจงกรมอยู่

หวังที่จะได้ฟังธรรมจากพระองค์แม้ในขณะที่ทรงจงกรมอยู่ เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ทรงอนุเคราะห์โดยไม่จำกัดเวลาเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสถามสามเณรทั้ง ๒ รูปว่า

การที่ท่านทั้งสองมีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์นั้น พวกพราหมณ์ไม่ด่าว่าเธอทั้งสองบ้างหรือ

สามเณรทั้งสองนั้นก็กราบทูลว่า พวกพราหมณ์พากันด่าว่าท่านด้วยคำ เหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

พวกพราหมณ์พากันด่าว่าท่านด้วยถ้อยคำอันเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อน อย่างไรเล่า

สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า

พวกพราหมณ์พากันว่าอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม

เจ้าทั้งสองคนมาละวรรณะที่ประเสริฐสุดเสียแล้ว ไปเข้ารีตวรรณะที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละพวกที่ประเสริฐที่สุดใดเสีย ไปเข้ารีตวรรณะเลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย

นี่เป็นความเห็นผิด ซึ่งสะสมมาเนิ่นนาน จึงมีความคิดอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พวกพราหมณ์ไม่รู้ความเป็นมาของโลกจึงกล่าวว่า พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม

แต่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมัยปฐมกัป ก็เกิดจากมารดาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พวกที่เข้าใจอย่างนั้นจึงกล่าวตู่พรหม

พรหมในรูปพรหมภูมิ เป็นผลของรูปฌานกุศล ไม่ได้ทำให้คนอื่นเกิดได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่าพรหมทำให้เขาเกิดขึ้น พวกนั้นย่อมกล่าวตู่พรหม

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

วรรณะมีอยู่ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้มีปกติฆ่าสัตว์ มีปกติลักทรัพย์ มีปกติประพฤติผิดในกาม มีปกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมบมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด

ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล ก็นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่า ไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน อกุศลธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ และแม้ในพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ ฯลฯ

ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล ก็นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ ก็นับว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ ก็นับว่าเป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม นับว่าควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ

ไม่ว่าจะเกิดกับใคร กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ซึ่งธรรมทุกอย่างไม่จำกัดวรรณะ ไม่จำกัดชาติ ผิวพรรณ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ฉะนั้น ผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพวกพราหมณ์ที่อวดอ้างอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม

บรรดาวรรณะทั้ง ๔ นั้น ผู้ใดเป็นภิกษุ สิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสียแล้ว ลุถึงประโยชน์ ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยชอบธรรมแท้ มิได้ปรากฏโดย ไม่ชอบธรรมเลย

เวลาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่มีการกระทำใดๆ เลยที่เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

ด้วยว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งหลาย ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหลัง

จริงไหม กุศลธรรมย่อมเป็นที่สรรเสริญชมเชย ไม่ว่าในขณะที่กำลังกระทำ ซึ่งมีผู้เห็น หรือแม้แต่ในกาลภายหน้า คือ ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงไป ๑๐๐ ปี ๑๐๐๐ ปี ๒๕๐๐ กว่าปี กุศลธรรมหรือธรรมฝ่ายดีก็เป็นธรรมฝ่ายดี ธรรมใดเป็นธรรมที่ประเสริฐ ธรรมนั้นก็เป็นธรรมที่ประเสริฐ

เปิด  229
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565