แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1534
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กฎกราคม ๒๕๒๙
พระผู้มีพระภาคตรัสกับวาเสฏฐะและภารทวาชะสามเณรว่า
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบแน่ชัดว่า พระผู้มีพระภาคทรงผนวชจาก ศากยตระกูล ก็พวกศากยตระกูลยังต้องเป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ แต่ถึงกระนั้นกิริยาที่นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม อันนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังทรงกระทำต่อพระผู้มีพระภาค ด้วยทรงถือว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระชาติสูง พระองค์มีชาติต่ำกว่า ดังนี้
แต่ที่จริงพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไหว้ นอบน้อมพระธรรมนั่นเทียว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมในพระผู้มีพระภาคอยู่ด้วยอาการอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า
นี่ก็เป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นความจริง ที่ทุกคนย่อมนอบน้อมในคุณธรรม สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคุณธรรม ไม่ว่าคุณธรรมนั้นจะมีอยู่ในผู้ใด และเมื่อ นอบน้อมในผู้ใดก็แสดงว่า นอบน้อมในคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้น ไม่ใช่นอบน้อม ในอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากันทิ้งเหย้าเรือนเสียมาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้มาถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็นพวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้า ทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่รากแก้ว คือ อริยมรรคประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใด ผู้หนึ่งในโลกไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่ พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูตก็ดี พรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคต
ซึ่งพวกพราหมณ์เข้าใจว่า พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ แต่ พระศากยบุตรทั้งหลายเป็นผู้ที่ มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่รากแก้ว คือ อริยมรรค เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ คือ การตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระโอษฐ์ของ พระผู้มีพระภาค คือ เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งพวกพราหมณ์เข้าใจว่า พวกพราหมณ์เป็นผู้ที่เกิดจากปากของพรหม เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม ซึ่งพวกพราหมณ์เข้าใจว่า พราหมณ์เป็นผู้เกิดจากพรหม เป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้น ซึ่งพวกพราหมณ์เข้าใจว่า พรหมเนรมิตพวกพราหมณ์ขึ้น และผู้ที่เป็นพระศากยบุตร คือ ผู้ที่เป็น พุทธสาวก เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ซึ่งพวกพราหมณ์คิดว่า ตนเป็นทายาทของ พระพรหม
นี่เป็นความต่างกันของความเชื่อ และความคิดเห็น
ถ. ธรรมกายในที่นี้พยัญชนะก็ชัดเจนว่า เป็นชื่อหนึ่งของตถาคต.
สุ. ชื่อของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ. แต่มีสำนักหนึ่งอ้างว่า เป็นวิชาหนึ่ง เป็นวิชาธรรมกาย
สุ. ต้องศึกษาพระธรรมโดยละเอียด แม้จะอ้างว่ามีใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร แต่ต้องทราบด้วยว่า ข้อความใน อัคคัญญสูตร แสดงว่า ธรรมกายเป็นชื่อของตถาคต
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกำเนิดของโลกและมนุษย์ในโลก หลังจากที่โลกพินาศไปแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นมาของผู้ที่เข้าใจว่า พรหม เป็นผู้ให้กำเนิด
ข้อ ๖๒ - ข้อ ๖๓ ทรงแสดงกำเนิดของวรรณะกษัตริย์ และกำเนิดลัทธิความเชื่อของพราหมณ์
ข้อ ๖๕ ทรงแสดงการอุบัติของวรรณะแพศย์และวรรณะศูทร
ข้อ ๖๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอยู่ ที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกสมณะจะเกิดมีขึ้นได้จากวรรณะทั้ง ๔ นี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
ถ้าเป็นของจริงแล้วพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร หรือสมณะก็ตาม พวกวรรณะแพศย์ก็เป็นวรรณะแพศย์เหมือนกัน พวกวรรณะกษัตริย์ก็เป็น วรรณะกษัตริย์เหมือนกัน พวกวรรณะศูทรก็เป็นวรรณะศูทรเหมือนกัน พวก วรรณะพราหมณ์ก็เป็นวรรณะพราหมณ์เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ธรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็ต่างกันที่กุศลกรรมและอกุศลกรรมของแต่ละท่าน
อกุศลธรรมไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีชั้นวรรณะ เป็นปรมัตถธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกทั้งสิ้น ฯ
ไม่มีใครช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นวรรณะใด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
นี่ก็เป็นไปตามเหตุ ไม่ว่าใครจะเป็นพราหมณ์ มีความคิด ความเชื่ออย่างไร ก็ตาม แต่ถ้ากายสุจริต วจีสุจริต ให้ผลเมื่อไร ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... มีปกติกระทำกรรมทั้งสอง (คือ ทั้งสุจริตและทุจริต) ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ มีความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ
ตรงตามเหตุตามผลทุกอย่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าในยุคไหน สมัยไหน ความเห็นที่ปะปนกันก็ยังมีมาก เช่น บางท่านเชื่อคำสอนของพระผู้มีพระภาค แต่ ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ วรรณะใดเป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว วางภาระเสียได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยธรรมแท้จริง ไมใช่นอกไปจากธรรมเลย
พระธรรมทั้งหมด ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เป็นเรื่องของกุศลธรรมและอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุ และกุศลวิบาก อกุศลวิบากซึ่งเป็นผล และแม้การที่จะเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยการที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ก็โดยธรรมแท้จริง ไม่ใช่นอกไปจากธรรมเลย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุด ในประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิตคาถาไว้ว่ากษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะเป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้ สนังกุมารพรหมขับถูก ไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบ อัคคัญญสูตรที่ ๔
เป็นข้อเตือนพุทธบริษัทได้ไหม ถ้ายังมีความเห็นที่ถูกบ้างผิดบ้างปะปนกันอยู่ ซึ่งจะทราบได้แน่นอนว่า ความเห็นส่วนใดที่ยังผิดยังคลาดเคลื่อน ก็ต่อเมื่อได้ฟัง พระธรรม ศึกษาพระธรรม และพิจารณาเหตุผลโดยละเอียด โดยรอบคอบจริงๆ มิฉะนั้นยังละความเห็นผิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด
ความเห็นผิดที่ไม่ตรงต่อสภาพธรรมมีหลายอย่าง เช่น ความเห็นที่ว่า วรรณะหนึ่งวรรณะใดบริสุทธิ์ และดีกว่าวรรณะอื่น ทำให้บางศาสนาไม่เผยแพร่ คำสอน และไม่ชักชวนให้ใครนับถือศาสนาของตน เพราะเชื่อว่าคนชาติอื่นไม่ใช่ชาติ ที่ถูกเลือกสรร จึงเป็นศาสนิกของศาสนานั้นไม่ได้
คนที่จะเป็นศาสนิกของศาสนานั้นได้ ต้องเป็นคนที่เกิดมาเป็นเชื้อชาตินั้นเท่านั้น ศาสนาอย่างนี้ก็มี ใช่ไหม จำกัดบุคคลที่จะนับถือศาสนานั้นว่า ถ้าไม่ได้ เกิดมาเป็นคนชาตินั้น ก็นับถือศาสนานั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ศาสนานี้ไม่เผยแพร่ เพราะไม่ได้ชักชวนให้ใครนับถือ คนที่จะนับถือได้ต้องเป็นคนที่ถูกเลือกสรรแล้วเท่านั้น
บางศาสนาก็กระทำสิ่งที่ดี แต่ก็สอนว่า ถ้าไม่เชื่อถือพระผู้เป็นเจ้าจะตกนรก ซึ่งถ้ามีความเชื่อมั่นคงอย่างนี้ ก็พยายามที่จะเผยแพร่ บางท่านก็มีความเห็นว่า ใครก็ตามที่ได้ฟังคำสอน คำชักชวนแล้ว แต่ยังไม่ยอมเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ผู้นั้นจะต้องตกนรก
มีอาจารย์ทางโลกของดิฉันท่านหนึ่ง สมัยที่ยังเรียนหนังสือ ท่านผู้นี้ถูกชักชวนให้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าบ่อยๆ แม้ว่าท่านผู้นี้ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจ โดยละเอียด แต่ท่านก็ตอบผู้ที่หวังดีที่พากเพียรชักชวนท่านว่า แม้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของท่านเอง ท่านก็ยังไม่ได้ศึกษาโดยถ่องแท้ ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง โดยประจักษ์ จะให้ท่านไปนับถือศาสนาอื่นได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่า ท่านขาดวิจารณญาณและเหตุผลที่สมควร เพราะฉะนั้น ควรรอให้ท่านศึกษา พุทธศาสนาให้เข้าใจแจ่มแจ้งโดยประจักษ์ก่อน และถ้าเห็นว่าพุทธศาสนาไม่มีเหตุผลสมควรถูกต้อง ก็จะยอมนับถือศาสนาอื่น
นี่ก็เป็นคำตอบของท่านผู้นั้น และท่านก็ได้กล่าวว่า อีกประการหนึ่ง ถ้า พระผู้เป็นเจ้ามีจริงตามที่มีผู้ชักชวนให้ท่านเชื่อ ท่านก็เชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องยุติธรรม เพราะฉะนั้น ท่านคงจะไม่ต้องตกนรกเพียงเพราะไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการกระทำดีและชั่วของแต่ละบุคคลนั้นย่อมสำคัญกว่า ถ้าเป็นพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ ต้องยุติธรรมพอที่จะพิจารณาการกระทำดี การกระทำชั่ว ไม่ใช่ต้องตกนรกเพียงเพราะไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้า และประการสุดท้าย ท่านได้ขอร้องผู้ที่มาชักชวนท่านให้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าว่า ถ้าท่านผู้นั้นเชื่อว่าผู้ใดก็ตามที่ได้ยินคำสอนให้เชื่อ ในพระผู้เป็นเจ้าแล้วไม่เชื่อจะต้องตกนรก ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง และผู้นั้นหวังดีต่อท่านจริงๆ ก็อย่าได้ชักชวนท่านอีกต่อไป มิฉะนั้นแล้วท่านผู้ที่ชวนนั่นแหละจะทำให้ท่าน ตกนรก เพราะว่ามาชักชวนท่านและท่านไม่เชื่อ
นี่เป็นการให้พิจารณา ให้เห็นความคิดความเห็นต่างๆ แม้ว่ายังไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาโดยละเอียด โดยถ่องแท้ โดยเข้าใจแจ่มแจ้ง แต่จะต้องเริ่มจากการเป็นผู้ที่มีเหตุผลและพิจารณาความถูกต้องในเหตุและในผล มิฉะนั้นไม่สามารถพิจารณาความละเอียดลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาได้
สำหรับพุทธศาสนิกบางคนที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่เชื่อว่ามีนรก สวรรค์ ไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิด ไม่เชื่อเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า ก็เป็นการแสดงว่า ท่าน ไม่เชื่อในเหตุ และไม่เชื่อในผลด้วย และไม่เชื่อในเรื่องการดับกิเลสด้วย เพราะเหตุ ที่จะให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงการเกิดในชาตินี้ชาติเดียว
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เชื่อในเรื่องการเกิดดับสืบต่อกันของสภาพธรรม การสะสมเหตุปัจจัยเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ หรือว่าการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะดับ กิเลสได้ ก็เท่ากับว่า ค้านพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด
ความเห็นผิดทั้งหลาย เนื่องมาจากอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ และไม่รู้ด้วยว่า วิชชานั้นเป็นสภาพที่รู้ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของอวิชชา และไม่รู้ลักษณะของวิชชา ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกและ เจริญหนทางที่จะดับอวิชชาได้