แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1535

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กฎกราคม ๒๕๒๙


ถ. เมื่อสักครู่นี้ ท่านบอกว่าให้พิจารณาส่วนที่เล็กที่สุดของกาย ผมไม่เข้าใจสภาวะของสติและสัมปชัญญะที่มีปัญญา พิจารณาส่วนที่เล็กที่สุดของกาย สภาวะนั้นเป็นอย่างไร และความเข้าใจเป็นอย่างไร

สุ. ขออนุโมทนาที่ถามตั้งแต่ตอนต้นตามความเป็นจริง เพราะถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสติและปัญญาแล้ว เท่าที่ได้ฟังพระธรรมทั้งหมดย่อมเป็นแต่เพียงเรื่องราวของรูป แต่ธรรมสามารถพิสูจน์ได้ ก่อนที่จะได้ฟังเรื่องสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ย่อมมีความยึดถือร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่า เป็นร่างกายของเรา ใช่ไหม

ถ. กำลังใจจะแก่กล้าอย่างไร จึงจะวางตัวกายนี้ได้ ภาวะนั้นคือปัญญา ทำอย่างไร ผมไม่เข้าใจ

สุ. เป็นเรื่องของวิชชา ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมีอำนาจที่จะวาง แต่ต้องเข้าใจว่า วิชชาเป็นความรู้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างที่กายเวลานี้ หลับตาแล้วมีอะไรปรากฏบ้าง ยังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง

ถ. หลับตาก็มืด

สุ. ไม่มีอะไรเหลือเลยหรือ ที่เคยยึดถือตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ขณะที่หลับตามีอะไรปรากฏบ้าง

ถ. ขณะที่หลับตา ไม่ปรากฏ ขณะที่ลืมตา ปรากฏ และอุปาทานว่า เป็นของเรา

สุ. ขณะที่ลืมตา เห็นสีสันวัณณะต่างๆ ฉะนั้น เพื่อกั้นทวารทางตาไม่ให้ปนกับทวารอื่น ก็โดยหลับตาเท่านั้นเอง เพียงหลับตาลง

ถ. ก็ไม่มีอะไร

สุ. ที่กายมีส่วนหนึ่งส่วนใดปรากฏบ้างไหม

ถ. ไม่ปรากฏ

สุ. หายไปเลยหรือ

ถ. คือ ดำมืดไปเลย

สุ. ความจริงต้องเป็นความจริง แต่นี่ยังไม่จริง หาเจอเมื่อไรก็พบความจริง

ถ. สงสัยว่า หาอย่างไร

สุ. กำลังยืนอยู่ ใช่ไหม หลับตาลง มีอะไรปรากฏตรงไหนบ้าง

ถ. ลมหายใจ

สุ. เริ่มพบแล้ว ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม นอกจากลมหายใจแล้ว ยังมีอย่างอื่นปรากฏไหม

ถ. เคยถามตัวเองว่า ระหว่างที่กำลังจะตาย ช่วงนั้นไม่มีลมหายใจ แล้วไปอยู่ที่ไหน

สุ. ยังไม่ถึงเวลานั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ยังไม่มาถึง ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เช่นเดียวกับสภาพที่ดับหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ถ้าปัญญาสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนในภายหน้า ปัญญาที่รู้แล้ว ก็เป็นปัญญาที่รู้แล้ว ถ้ารู้ในขณะนี้ แต่ถ้าขณะนี้ยังไม่รู้ ใกล้จะตายก็รู้ไม่ได้เพราะว่าขณะนี้ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความรู้ต้องมีในขณะนี้จึงจะพึงหวังได้ว่า ก่อนจะตาย ก็อาจจะรู้ได้ ถ้ามีเหตุสมควรแก่ผล

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้ามีความเข้าใจเริ่มต้นแล้ว อย่าทิ้ง จะต้องพยายามพิจารณาให้เข้าใจยิ่งขึ้น เช่น ที่กาย มีส่วนของกายส่วนใดปรากฏ จริงหรือไม่จริง

ถ. เห็นทั้งตัวเลย

สุ. เห็นอย่างไร เห็นทั้งตัว

ถ. หมายความถึงติดหมดเลย

สุ. ไม่ใช่ติด เอาของจริงๆ ไม่ใช่นึกเอา ถ้าหลับตาแล้วมีอะไรปรากฏ เริ่มใหม่

ถ. เมื่อสักครู่นี้ก็เห็นแต่ลม

สุ. อย่างอื่นมีไหม

ถ. อย่างอื่นไม่รู้

สุ. ทำไมจะกะเกณฑ์ที่ลม

ถ. เพราะเป็นส่วนที่รับได้ และเป็นส่วนที่ละเอียดที่สุด

สุ. เวลานี้มืออยู่ที่ไหน

ถ. มือกำลังประสาน

สุ. มีแล้วใช่ไหม หลับตาลง ส่วนที่ยังประสานกัน ที่ยังกระทบสัมผัส แข็ง ยังมีไหม

ถ. มี

สุ. มี ลืมตาขึ้น เหมือนเดิมไหม

ถ. เหมือนเดิม

สุ. เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ของจริงทางกาย ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา สิ่งที่ปรากฏที่กระทบที่แข็งก็เป็นของจริง ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ชัดว่า อย่างอื่นไม่ได้ปรากฏเลย

ถ. รู้ชัด แล้วละอย่างไร

สุ. ยัง ยังไม่ละ รู้ว่ามีก่อนเท่านั้นเอง แค่นี้ยังละไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่า ที่จะละได้ก็ต่อเมื่อสติระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งแข็งนั้นเอง จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ขณะนี้ความทรงจำว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายังไม่หมดไปเลย แม้จะกล่าวว่าให้ระลึกที่มือว่าแข็งไหม ก็ปรากฏว่าแข็ง แต่ส่วนอื่นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายังจำไว้ว่ายังมีอยู่ ลึกลงไปในจิตใจทุกคนก็ยังเข้าใจว่า ยังมีเราอยู่ตั้งแต่ ศีรษะตลอดเท้า แต่เมื่อมือกระทบกัน สัมผัสกัน แข็งปรากฏ ก็แสดงให้เห็นความจริงว่า รูปอื่นไม่ปรากฏเลย ไม่มีเลย นอกจากจะจำไว้ แต่ถ้าไม่ใช่เพราะจำไว้ ต้องปรากฏ ใช่ไหม

ถ้ารูปนั้นมีจริง ไม่ใช่เพราะจำไว้ รูปนั้นต้องปรากฏ แต่เมื่อไม่ปรากฏก็แสดงว่า เพียงจำไว้ว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ยึดรูปทุกรูป ซึ่งความจริงแตกย่อย กระจัดกระจายออก และกำลังทยอยกันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกระทบสัมผัสส่วนไหนที่แข็ง ก็เป็นเพียงรูป หาใช่เราไม่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนทั้งสิ้น แต่เมื่อมีความทรงจำว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้ลึก และเหนียวแน่นเหลือเกิน ก็ต้องอาศัยการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เฉพาะที่ปรากฏ เพื่อยืนยันว่าไม่มีเราแน่นอน มีแต่ลักษณะแข็งเพียงเล็กน้อยที่ปรากฏ เท่านั้นเอง

ถ. ที่จะระลึกรู้

สุ. และศึกษา รู้ว่าลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรม นี่เป็นขั้นต้น

ถ. ศึกษาที่จะให้รู้นี่ คืออย่างไร

สุ. ศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก พิจารณา จนกว่าจะรู้ว่าลักษณะที่รู้ ในขณะนั้นต่างกับสภาพของรูปแข็ง และลักษณะที่รู้นั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น เราก็ไม่มี เพราะว่ารู้แข็งก็ดับ

ถ. โดยไม่ติดทุกสภาวะที่อาจารย์บรรยายมา

สุ. จนกว่าจะไม่ติด ต้องค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ

ถ. กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ผมได้อ่านจากพระไตรปิฎก มีทั้ง อานาปานสติบรรพและปฏิกูลมนสิการบรรพ และมีอีกหลายอย่าง รวมทั้งอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ใช่ไหม คือ ผมก็ลืมไปแล้ว แต่สงสัยว่า อานาปานสติจะเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้อย่างไร

สุ. ทรงแสดงไว้มาก ตามอัธยาศัย เพราะว่าขณะนี้ทุกคนก็มีลมหายใจ แล้วแต่ว่าสติของใครจะระลึกหรือไม่ระลึกที่ลมหายใจ ทุกคนมีผม แล้วแต่ว่าสติของใครจะระลึกหรือไม่ระลึกที่ผม

สติปัฏฐาน คือ ขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย และสภาพปรมัตถธรรมก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสติปัฏฐานคือขณะที่สติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม จะได้ยินอย่างนี้อยู่บ่อยๆ เสมอๆ แต่ วันหนึ่งๆ เดี๋ยวก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวก็คิดอย่างนี้ รวมทั้งเห็นผมด้วย สัมผัสผมด้วย ตัดเล็บด้วย เห็นเล็บด้วย เพราะฉะนั้น มีขณะใดบ้างที่จิตเกิดขึ้นเป็นไปในกายและสติระลึกได้ แม้ว่ายังไม่ใช่สติปัฏฐาน คือ ไม่ได้ระลึกที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

แม้ได้ศึกษาว่าไม่มีอะไรเลยในโลกนี้และโลกไหนๆ นอกจากนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ได้ยินอย่างนี้ก็ยังเป็นเรา ยังเป็นผมของเรา ยังเป็นเล็บของเรา ยังเป็นลมหายใจของเรา ได้ยินทั้งในพระสูตรบ้าง ในพระอภิธรรมบ้าง แต่ก็มีปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้แต่ละขณะจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลญาณวิปปยุตต์บ้าง เป็นกุศลญาณสัมปยุตต์บ้าง เป็นไปในการที่จะเห็นความเป็นปฏิกูลของผมบ้างเวลาที่ผมไม่สะอาด หรือผู้ที่มีปัญญา แม้ผมจะไม่ปรากฏความไม่สะอาด ก็ยังเห็นโทษของการที่จะต้องบำรุงรักษาต่างๆ

เพราะฉะนั้น เรื่องของใจเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ยับยั้งไม่ได้ ความคิดของ แต่ละคนก็อาจจะเป็นไปในเรื่องของความสงบบ้าง ในเรื่องของสติปัฏฐานบ้าง

ถ้าใครจะระลึกถึงความเป็นปฏิกูล โดยที่ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิดขึ้นระลึก เห็นความเป็นปฏิกูลแล้วระลึกรู้ว่า ถ้าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานจะต้องรู้ลักษณะปรมัตถธรรม แม้ในขณะที่กำลังสัมผัสผม ชั่วขณะที่คิดถึงความเป็นปฏิกูล สติปัฏฐานก็เกิดระลึกได้ว่า ขณะนั้นที่คิดอย่างนั้น ที่กระทบสัมผัสอย่างนั้น ที่เห็นอย่างนั้น เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

ถ. ถ้าเป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ สามารถเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานได้

สุ. แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้ทุกคนไปทางย้อน หรือย้อนไปทางอื่น คือจะต้องเริ่มจากการท่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าใครเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานแล้ว ก็เป็นสติปัฏฐานโดยตรง แต่แม้เป็นสติปัฏฐานโดยตรง ก็ยังห้ามใจไม่ได้ที่จะเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลญาณวิปปยุตต์บ้าง หรือเป็นกุศลที่เป็นไปใน ความสงบ นึกถึงความเป็นปฏิกูลบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว สติจะต้องระลึกที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม หลังจากระลึกลักษณะที่เป็นปฏิกูลแล้ว

ถ. ขณะที่ระลึกลักษณะความเป็นปฏิกูล จิตก็สงบได้ ไม่เป็นโลภะ

สุ. ขณะนั้นสติปัฏฐานจะต้องเกิด และรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

ถ. แต่ถ้าเห็นสีทางตา ก็ไม่รวมอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สุ. ไม่จำเป็นต้องแยกว่าเป็นบรรพไหน ทางที่จะรู้ของจริงมี ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ. ถ้าเป็นรส ก็ ...

สุ. ทุกอย่าง ๖ ทาง

ถ. เป็นกายาหรือ

สุ. แล้วแต่ ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อ แต่จะไม่พ้นจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าไม่พ้นจากสติปัฏฐาน ๔ จำเป็นต้องใส่ชื่อไหมว่า ขณะนี้เป็น สติปัฏฐานไหน

ถ. แม่ชีมาจากจังหวัดอ่างทอง การเจริญวิปัสสนาสติปัฏฐาน อย่าง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะที่รู้สึกเวทนา เช่น ปวดหรือเมื่อย จะรู้ตรงไหน

สุ. ถ้าพูดถึงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายความว่า ขณะนั้นสติระลึกลักษณะของความรู้สึก แล้วแต่ว่าจะเป็นความรู้สึกอะไรก็ได้ ถ้าขณะนั้นเกิดเจ็บตรงไหน สติก็ระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังเจ็บ เพราะว่าความเจ็บหรืออาการที่ เป็นทุกข์ของกายมีหลายลักษณะ บางอย่างก็คัน บางอย่างก็ปวด เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสภาพความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ระลึกในลักษณะที่เป็นเพียง สภาพความรู้สึกอย่างหนึ่งเท่านั้น

ถ. ให้ระลึกรู้ที่นามธรรม ใช่ไหม

สุ. ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าต้องที่ไหน เพราะถ้าสติปัฏฐานเกิด จะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ โดยเลือกให้ไม่ได้ แล้วแต่ว่าสติขณะนั้นเกิดขึ้นและจะระลึกที่สภาพธรรมใด ซึ่งสติเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว เกิดพร้อมกับมหากุศลและดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีเวลาพอที่ใครจะไปใช้ให้สติ หรือไปบอกให้สติ หรือไปชักชวนให้สติระลึกที่นามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

กิจของสติ คือ ขณะใดที่เกิดขึ้น จะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน

ถ. การเจริญสติปัฏฐานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สำหรับรูปธรรมที่ปรากฏที่ใจ แม่ชียังไม่เข้าใจ สุขุมรูปที่ปรากฏทางใจ

สุ. สุขุมรูป หมายความถึงรูปละเอียด ซึ่งรู้ไม่ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้ได้ทางเดียว คือ ทางใจเท่านั้น แต่ในวันหนึ่งๆ แม้ว่าสุขุมรูปมี เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด แต่ในวันหนึ่งๆ ใครรู้ลักษณะของสุขุมรูปบ้าง หรือแม้แต่รูปที่ไม่ใช่สุขุมรูป เช่น จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ปสาทรูปทั้ง ๕ ไม่ใช่สุขุมรูป เป็นโอฬาริกรูป เป็นรูปหยาบๆ

รูปหยาบทั้งหมดมี ๑๒ รูป ในบรรดารูปหยาบ ๑๒ รูป เป็นรูปที่เป็นโคจรวิสัย คือ เป็นอารมณ์ของจิต ๗ รูป ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส ๔ รูป และโผฏฐัพพะ ๓ รูป รวมเป็น ๗ รูป แต่จักขุปสาทซึ่งไม่ใช่สุขุมรูป ในวันหนึ่งๆ มีใครมีจักขุปสาทรูปเป็นอารมณ์บ้าง ยังไม่ได้กล่าวถึงสุขุมรูปซึ่งละเอียดกว่า เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ มี สุขุมรูปเป็นอารมณ์บ้างไหม

ถ. ไม่เข้าใจลักษณะของรูปที่ปรากฏทางใจ

สุ. ทางตาเห็น ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องเกิด สืบต่อ รู้อารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารวิถีทวารหนึ่งทวารใดทุกครั้ง ถ้าเป็นเสียง ในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง โสตทวารวิถีดับพร้อมกับเสียง ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดอีก มีเสียงเดียวกับที่เพิ่งดับไปนั้นเป็นอารมณ์ นี่คือ รูปที่ปรากฏทางมโนทวารวิถี

ในวันหนึ่งๆ มโนทวารวิถีต้องรับรูปสีต่อจากจักขุทวารวิถี รับรูปเสียงต่อจากโสตทวารวิถี รูปกลิ่น รูปรส รูปโผฏฐัพพะ มโนทวารวิถีต้องรู้ต่อจากทวารนั้นๆ ยังสงสัยไหม

ถ. แม่ชีศึกษาพระอภิธรรมมา มีความสงสัยมาก

สุ. ต้องพิสูจน์ ธรรมต้องพิสูจน์ ทรงแสดงเรื่องรูปไว้โดยประเภท ๒๘ รูป และในวันหนึ่งๆ ทรงแสดงไว้ด้วยว่า มีรูปกี่รูปเป็นอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่ง ไม่พ้น ๗ รูปเลย เพราะว่าเมื่อเสียงปรากฏทางหูแล้ว ก็ปรากฏหรือเป็นอารมณ์ต่อทาง มโนทวารวิถี ซึ่งมีเสียงนั่นแหละเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น รูป ๗ รูปนี้ จึงเรียกว่า โคจรวิสยรูป เป็นรูปซึ่งเป็นวิสัย เป็นโคจร เป็นที่ไปของจิต

เวลาที่จิตเกิดขึ้นจะไม่ไปสู่อารมณ์อื่นเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง ที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่กระทบจมูก รสที่กระทบลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย เท่านั้น ที่ปรากฏ

ถ. หมายถึงเสียงที่ดับไปแล้วหรือเปล่า

สุ. ใช่ มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดสืบต่อจากปัญจทวารวิถีทุกวาระของ ทุกทวาร นี่คือรูปที่เป็นอารมณ์ทางมโนทวารวิถีซึ่งพิสูจน์ได้ เพราะถึงแม้ว่า จักขุปสาทรูปไม่ใช่สุขุมรูป ก็ไม่ได้ปรากฏ แต่ถ้าจะรู้ ต้องรู้ได้ทางมโนทวารวิถี รู้ทางตาไม่ได้ ไม่มีใครเห็นจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป

ถ. เข้าใจแล้ว แม่ชีฟังอาจารย์มาหลายปี มีความเข้าใจมากพอสมควร แต่ความสงสัยก็ยังไม่หมด อย่างอสัญญสัตตาภูมิ นี่ก็ประเด็นหนึ่ง สงสัยว่ามีแต่รูป ไม่มีวิญญาณ ไม่ทราบว่าอยู่ได้อย่างไร

สุ. เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ต้นไม้ใบหญ้า เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง เป็นผลของรูปปัญจมฌานของผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาและ เห็นโทษของนามธรรม เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนเป็นทุกข์เพราะนามธรรมมากกว่า ทุกข์จริงๆ ทางกาย

เป็นห่วง เดือดร้อน มีทุกข์รอบด้านกับตัวเอง ครอบครัว วงศาคณาญาติผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้วที่จะไม่ให้เกี่ยวข้องกับใครเลย ไม่ให้เป็นทุกข์เลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่ได้ร่วมทุกข์ด้วย แต่รูปเป็นทางที่จะให้นามเกิดขึ้นรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น สภาพของนามธรรม ในขณะที่เป็นอกุศลธรรมย่อมเป็นทุกข์ และผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็เพียรหาทางที่จะดับทุกข์ เมื่อถึงรูปปัญจมฌานแล้วก็เห็นว่า ถ้ายังมีนามธรรมอยู่ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถดับนามธรรม ไม่เกิดอีกเลย ก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงมีความหน่าย คลายความต้องการ ในนามธรรมด้วยกำลังของรูปปัญจมฌานซึ่งเกิดก่อนจุติ และหน่ายความพอใจ ในนามธรรม จึงทำให้เฉพาะรูปปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นอสัญญสัตตาพรหม ใน อสัญญสัตตาภูมิ ซึ่งเป็นพรหมภูมิ และไม่มีนามธรรมเกิดเลยระหว่างที่เป็น อสัญญสัตตาพรหม

อุปมาเหมือนลูกธนูที่แล่นไปในอากาศด้วยกำลังแรง สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดเวลานั้น คือ ระหว่างเวลาที่เป็นอสัญญสัตตาพรหมจนกว่ารูปจุติ และกรรมหนึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่ได้ดับกรรม จึงมี ปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของกรรมทำให้เกิดรูป และจิต เจตสิก ต้องในภูมิ ที่มีขันธ์ ๕ ถ้าเป็นผลของกรรมทำให้เกิดแต่เฉพาะนามธรรม คือ จิต เจตสิก ต้องในอรูปพรหมภูมิ และถ้าเป็นผลของกรรมทำให้รูปปฏิสนธิเท่านั้น ก็ต้องใน อสัญญสัตตาพรหมภูมิ

เปิด  251
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566