แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1537

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙


ถ. เอาตัวผมไปเทียบแล้วแย่มาก สวดมนต์ก็ไม่ได้สวด ตักบาตรก็ไม่ได้ตัก แต่มีการบริจาคทานอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ชอบและประพฤติเสมอๆ คือ ชอบฟังธรรม เนื่องจากเป็นคนขี้เกียจอ่านด้วย ซึ่งไม่ต้องลงทุนอะไร เพียงแต่เปิดวิทยุก็เข้าหูเราแล้ว ต้องทำอย่างนี้ ต้องพยายามประพฤติเสมอๆ ถ้าต้องตื่นเช้ารีบไปหุงหาอาหารทำบุญ ก็คงจะลำบาก ได้แต่สั่งคนอื่นว่า เดี๋ยวจะตามไปที่วัด อะไรอย่างนี้ ผมว่าจิตขณะนั้นด้อยเหลือเกิน อาจารย์จะแนะนำอย่างไร

สุ. จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า เหตุประการที่ ๔ คือ ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ คือ เป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรม และเป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผลโดยแยบคาย เกิดความสนใจในเรื่องของการฟังธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นกุศลประเภทนี้ เพราะบางคนได้ฟังธรรมก็รู้สึกว่าดี แต่ไม่ได้ฟังติดต่อกันก็มี เพราะฉะนั้น ก็ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ซึ่งในขณะใดที่ไม่ฟังขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ในขณะใดที่ฟัง จนกระทั่งเป็นอุปนิสัย ย่อมจะอดฟังไม่ได้ ก็จะติดตามฟัง ศึกษา อ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจให้ยิ่งขึ้น ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ ในการศึกษาธรรม แต่ยังไม่ได้ประพฤติเสมอในกุศลข้ออื่น ซึ่งทำให้แต่ละท่านมีการทำกุศลต่างกันจริงๆ

ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัย เพราะว่าพระธรรมย่อมจะเกื้อกูลให้กุศลประเภทอื่น ค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วแต่ว่ากุศลประเภทใดจะเจริญมากกว่าประเภทใด เช่น ถ้าเป็นกุศลในการฟังธรรม ก็คงจะเจริญต่อไปตามที่เคยผูกใจไว้ และตามความประพฤติเสมอ แต่กุศลประเภทอื่นที่ยังไม่ได้ประพฤติเสมอ ก็คงจะต้องรอกาลเวลาต่อไปอีก จนกว่ามีเหตุปัจจัยทำให้กุศลนั้นๆ เพิ่มขึ้น

บางคนอาจจะปีหนึ่งไม่ได้ใส่บาตรเลย และเพิ่มเป็นปีหนึ่งใส่สักครั้งหนึ่ง และต่อไปคงจะเห็นว่า ยังมีโอกาสอื่นอีกที่จะใส่บาตรมากกว่าปีละหนึ่งครั้ง ก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นปีละ ๒ ครั้ง และต่อไปก็อาจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถให้กุศลจิตเกิดขึ้นในขณะหนึ่งขณะใดถ้าปราศจากเหตุที่จะให้กุศลนั้นๆ เกิดขึ้น แม้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่แล้วแต่ฉันทะ การสะสม การที่เคยประพฤติเสมอ

แต่กุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นสภาพที่ดีงาม ไม่ต้องเลือก และเลือกไม่ได้ด้วย เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ จะฝืนอุปนิสัยหรืออัธยาศัยที่สะสมมา ย่อมเป็นไปไม่ได้

สำหรับดิฉันเองก็เช่นเดียวกัน รู้สึกว่าโอกาสที่จะได้กระทำกุศลโดยการประพฤติเสมอโดยการใส่บาตรนี่ ไม่อำนวย แต่ได้กระทำทานเมื่อมีโอกาสที่จะกระทำได้มากกว่า

ถ. สำหรับตัวผมเองคงจะยิ่งกว่า เพราะว่าปีหนึ่งบางทีไม่ได้ใส่บาตรเลย แต่รู้สึกชอบอยู่อย่างเดียว ชอบฟังธรรม คือ ไม่ต้องอ่าน และมีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่ ผมกำลังพิจารณาว่าเป็นกุศลหรืออกุศลกันแน่ เช่น จะทำบุญที่ไหน ที่นั่นขาดแคลนอะไร ก็ยินดีที่จะทำ แต่ถ้าสิ่งนั้นเขามีอยู่แล้วมากมาย และเราก็ซื้อไปอีก ก็ไม่ค่อยพอใจ มักจะเกิดอกุศลขึ้นบ่อยๆ ไม่ทราบว่าลักษณะนี้สมควรที่จะพิจารณาหรือ แก้ไขอย่างไร

สุ. ก็เป็นกุศลจิตกับอกุศลจิตซึ่งเกิดสลับกัน แต่กุศลที่ได้กล่าวนี้ก็เป็นกุศลที่น่าอนุโมทนา เพราะเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าทุกท่านคิดว่ากุศลคือการ ใส่บาตรเท่านั้น และไม่ทำอย่างอื่นเลย ก็ไม่ถูก เพราะตามความเป็นจริงแล้ว กุศล คือ จิตขณะใดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลทั้งหลาย ขณะนั้นจึง สงบจากอกุศล และเป็นกุศล เมื่อจิตสงบแล้ว จึงมีการกระทำหรือทางของกุศลจิต เพราะว่ากุศลจิตที่เกิด เมื่อประกอบด้วยโสภณธรรม คือ โสภณเจตสิกต่างๆ แล้ว จะไม่อยู่เฉยๆ ไม่ใช่ว่าจิตผ่องใสเป็นกุศลแล้วไม่ทำอะไรเลย แต่เมื่อจิตผ่องใส เป็นกุศล การกระทำทางกายก็เป็นสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ และวาจาก็เป็นวาจา ที่เป็นประโยชน์ด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าทำกุศลโดยที่ไม่เลือกหรือไม่คิดว่า กุศลจะต้องเป็นอย่างนั้นเท่านั้น แต่แล้วแต่โอกาสที่กุศลจิตจะเกิดในขณะใด ก็ทำกุศลที่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น นี่จึงถูกต้อง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเกิดอกุศลสลับ ใช่ไหม

ถ. รู้สึกว่า กุศลจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลตามมาเนืองๆ บ่อยๆ

สุ. เป็นไปได้ นี่คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ไม่ว่าอะไรทั้งนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ แม้แต่กุศลก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ เพราะผู้ที่กระทำกุศลยังไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้น เมื่อทำกุศลไปแล้ว กุศลนั้นเองก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลขึ้นได้

มหากุศลจิตมี ๘ ดวง เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง และเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ ดวง แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ความรู้สึกซึ่งเกิดร่วมกับมหากุศลจิต ก็บังคับบัญชาไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าขณะใดที่เป็นกุศลเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา สภาพของจิตจะปลาบปลื้มปีติในกุศลที่ได้ทำ แต่แม้กระนั้นก็ตาม กุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้น บางครั้งก็เป็นกุศลเพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็ไม่ประกอบด้วยปีติและโสมนัส แต่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น ควรจะทราบเหตุของขณะที่ มหากุศลจิตจะเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่แสดงเหตุให้เกิดมหากุศลโสมนัสว่า

ประการที่ ๑ เพราะอารมณ์ประณีต

อารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้จิตเศร้าหมองเป็นทุกข์ หรือทำให้จิต ผ่องใสโสมนัส ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะให้เกิดความโสมนัส ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในการกุศลก็ตาม ถ้าสิ่งที่เป็นวัตถุทานในการกระทำกุศลนั้นเป็นสิ่งซึ่งประณีต ก็ย่อมทำให้เวทนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิตนั้นเป็นโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น อารมณ์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการที่จิตจะเป็นมหากุศลโสมนัส

ประการที่ ๒ เป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธา

คือ ความเลื่อมใสในกุศล ถ้าเป็นคนที่ไม่เลื่อมใสในกุศล แม้มีผู้ชักชวนให้ทำ เขาก็ทำอย่างเฉยๆ ธรรมดาๆ ไม่มีความสนใจ ไม่ได้เกิดความโสมนัส แต่ถ้าเป็นผู้ที่ มีศรัทธา เป็นผู้ที่เลื่อมใสในกุศล ขณะที่มีโอกาสที่จะได้ทำกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ก็เกิดปีติโสมนัสได้ ซึ่งทุกท่านจะสังเกตจากชีวิตประจำวันของท่านเองได้ว่า บางครั้ง ดูเหมือนจะเป็นกุศลที่ไม่มาก แต่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มในกุศลนั้นได้

ประการที่ ๓ เป็นผู้ที่มีความเห็นถูก

จึงเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส เช่น เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่ใช่ในวัตถุ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องแยก เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่ใช่เลื่อมใสในวัตถุ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก และมีความเข้าใจธรรม เห็นพระคุณของ พระรัตนตรัย จะรู้สึกได้ว่า ในขณะนั้นเกิดปีติโสมนัสที่เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นความพอใจในวัตถุ ในขณะนั้นจะกล่าวว่าเป็นมหากุศลโสมนัสได้ไหม นี่เป็นความละเอียด ที่จะต้องแยก

ประการที่ ๔ เป็นผู้ที่เห็นอานิสงส์ของกุศล

เวลาที่กุศลจิตเกิด สภาพของจิตผ่องใส ไม่มีความเดือดร้อนด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่มีการขาดความเมตตาในบุคคลอื่น จะเห็นได้ว่าจิตที่ผ่องใสเป็นกุศลนั้นไม่เป็นโทษเป็นภัย เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ด้วยจิตที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยเป็นเหตุ ย่อมไม่เป็นผลให้เกิดโทษภัยขึ้นได้ เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลาย มีวิบากที่เป็นสุข ไม่ใช่นำมาซึ่งวิบากที่เป็นทุกข์ เมื่อเป็นผู้ที่เห็นอานิสงส์ของกุศล เวลาที่มีโอกาสได้ เจริญกุศล ก็เป็นกุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาได้

นอกจากนั้น ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง ปีติสัมโพชฌงค์ และต้องไม่ใช่ธรรมที่ทำให้เกิดกุศลธรรมดาๆ ในชีวิตวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นการให้ทานบ้าง หรือวิรัติทุจริตบ้าง เพราะว่าปีติสัมโพชฌงค์เป็นองค์ของ การตรัสรู้อริยสัจธรรม เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น กุศลเพิ่มขึ้น ปีติก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ยังไม่พอ ยังต้องมีการอบรมเพื่อที่จะให้เป็นปีติสัมโพชฌงค์ คือ องค์ของการตรัสรู้ อริยสัจธรรม

ธรรม ๑๑ อย่าง ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยปีติสัมโพชฌงค์ คือ

๑. พุทธานุสสติ

๒. ธัมมานุสสติ

๓. สังฆานุสสติ

๔. สีลานุสสติ

๕. จาคานุสสติ

๖. เทวตานุสสติ

๗. อุปสมานุสสติ

๘. การเว้นบุคคลที่มีจิตเศร้าหมอง คือ ผู้ที่เต็มไปด้วยอกุศลประการต่างๆ

๙. การคบบุคคลที่มีจิตผ่องแผ้ว คือ ผู้มีจิตสะอาด เป็นกุศล

๑๐. การพิจารณาพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

๑๑. ความเป็นผู้น้อมไปในปีตินั้นๆ

นี่คือกุศลที่จะเจริญขึ้นอีกๆ จากการฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรมจนเป็น ผู้ที่น้อมประพฤติในกุศลทุกประการ พร้อมทั้งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งมีเหตุ คือ ธรรม ๑๑ ประการ ที่จะทำให้เกิดปีติสัมโพชฌงค์

เช่น พุทธานุสสติ วันหนึ่งๆ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมีโอกาสที่จะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว และยังพิจารณาพระธรรม ยังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปฏิบัติตาม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เมื่อมีความรู้ มีความเข้าใจขึ้นขณะใด ก็จะระลึกถึงพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณของ พระผู้มีพระภาค และสำหรับบางท่าน เวลาที่กุศลจิตซึ่งระลึกถึงพระพุทธคุณเกิดนั้น ปีติสัมโพชฌงค์จะเกิดแผ่ไปตลอดสรีระ นั่นคือลักษณะของความรู้สึกปีติ และโสมนัส ซึ่งมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลต่างๆ กัน

สำหรับธัมมานุสติก็เช่นเดียวกัน การระลึกถึงพระธรรมที่ทรงแสดงให้ ประพฤติปฏิบัติโดยทำให้ปัญญาเจริญขึ้นในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก ทุกขณะในชีวิต ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นในขณะใด ก็จะเห็นพระคุณของพระธรรม จริงๆ ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้ เวลาเห็น และปัญญา จะเกิดขึ้นรู้ว่าขณะที่เห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ก็ย่อมเกิดไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วปฏิบัติตาม และเพิ่มความรู้ขึ้น ย่อมจะเป็นธัมมานุสติที่ระลึกถึงพระคุณของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

สำหรับสังฆานุสติก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีพระอริยเจ้า คือ ผู้ที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ดับกิเลส ทำให้พระรัตนตรัยครบสมบูรณ์ทั้ง ๓ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มี พระอริยสงฆ์ที่ท่านได้สืบต่อพระศาสนามาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ โลกก็จะมืด คือ ไม่มีใครสามารถจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระไตรปิฎก ย่อมเห็นคุณของพระอริยสงฆ์ พระเถระทั้งหลาย เช่น ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอานนท์ เป็นต้น ซึ่งถ้าท่านทั้ง ๒ ไม่ได้กระทำสังคายนา ท่านพระอานนท์ไม่ได้ทรงจำ และสาวกไม่ได้ทรงจำสืบต่อๆ มา ผู้ที่เกิด ในสมัยนี้ย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค

ธรรมประการที่ ๔ สีลานุสติ ต้องเป็นผู้ที่มีศีลพอที่เมื่อระลึกถึงศีลของตน ขณะใด จิตก็ผ่องใสเป็นโสมนัสว่า สามารถที่จะวิรัติทุจริตนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น เป็นการเพิ่มกุศลขึ้น ให้เป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงในการเป็นผู้ที่วิรัติทุจริตต่างๆ ทั้งกาย วาจา แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีศีล ก็ไม่มีการระลึกถึงศีลของตนและเกิดความปีติโสมนัสได้

ประการที่ ๕ จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ได้ถวายแก่ผู้มีศีล ก็ทำให้จิตเกิดปีติโสมนัสได้

หรือการระลึกถึงคุณของเทวดาว่า เทวดามีคุณธรรมอย่างไร ท่านที่ประพฤติปฏิบัติธรรมก็มีคุณธรรมเช่นเทวดา ก็ทำให้เกิดความปีติโสมนัสได้ในกุศลของตนเอง

สำหรับอุปสมานุสสติก็เช่นเดียวกัน เป็นการระลึกถึงสภาพของธรรมที่ดับ กิเลสหมด ไม่มีกิเลสเกิดอีกเลย และย่อมรู้ได้ว่า สภาพธรรมนั้นมี เพราะว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น และได้ดับกิเลสแล้ว

นอกจากนั้น ยังจะต้องเว้นบุคคลผู้มีจิตเศร้าหมอง เพราะว่าการคบหาสมาคมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ละบุคคลอาจจะไม่รู้สึกว่า ท่านเองอาจจะคล้อยตามความคิดเห็นของผู้ที่อยู่ใกล้เคียงทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นความเห็นถูก หรือความเห็นผิด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ดีทางกาย หรือทางวาจา หรือการกระทำที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา ถ้าอยู่กับคนที่ตระหนี่ ก็อาจจะค่อยๆ ตระหนี่ขึ้นทีละน้อย เมื่อเห็นว่า สิ่งนั้นก็ไม่ควรให้ สิ่งนี้ก็ไม่ควรให้ ท่านเองก็จะไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือถ้าอยู่กับผู้ที่มีความเมตตากรุณา เป็นผู้ที่มีจาคะ การเสียสละ สิ่งใดที่ไม่ใช้ ไม่เป็นประโยชน์สำหรับตน ก็บริจาคทันที ไม่มีการที่จะเก็บสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไว้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าอยู่ใกล้บุคคลใด ย่อมจะมีความคิดความเห็นคล้อยตามผู้ที่อยู่ใกล้ ทั้งกาย วาจา และความคิดเห็นด้วย เพราะว่าบางคนที่จิตใจเศร้าหมอง คือ เป็นผู้ที่มีอกุศลมาก มองคนอื่นในแง่ร้าย แทนที่จะเกิดความเข้าใจเห็นใจในอกุศลของคนอื่น ซึ่งบางทีท่านก็อาจจะกระทำไปด้วยโดยไม่รู้สึกตัวเลยว่า ขณะนั้นมีความโน้มเอียงในอกุศลกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ตามท่านผู้นั้น ไปด้วย

และควรคบกับผู้มีจิตผ่องแผ้ว คือ ผู้ที่มีจิตเป็นกุศล

และพิจารณาพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

นี่จะเป็นเหตุให้เกิดมหากุศลโสมนัส ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

เปิด  272
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565