แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1538

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙


สำหรับมหากุศลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง เป็นญาณสัมปยุตต์ และไม่เกิดร่วมกับปัญญา ๔ ดวง เป็นญาณวิปปยุตต์ ซึ่งทุกคนก็อยากจะให้กุศลจิต ที่เกิดทุกครั้งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่กุศลที่เกิดโดยมีปัญญาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ก็น้อยกว่ากุศลที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้ว่า มีการให้ทาน มีการวิรัติทุจริต มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่ในขณะนั้น เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น เหตุที่จะให้เกิดญาณสัมปยุตต์มีในขณะใด มหากุศลญาณสัมปยุตต์จึงจะเกิดในขณะนั้น

ข้อความใน อัฏฐสาลินี ได้แสดงเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ โดยกรรม

การกระทำซึ่งเป็นไปในความรู้ ความเข้าใจ แม้แต่การแสดงธรรมที่ควรประพฤติทางกาย ทางวาจาให้คนอื่นได้ประพฤติตาม ขณะนั้นก็เป็นกุศลเจตนา ที่ต้องการให้บุคคลนั้นมีความประพฤติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ได้ในกาลข้างหน้า หรือการสอนวิชาศิลปะต่างๆ ในการอาชีพให้คนอื่น นั่นก็เป็นกุศลเจตนา และการมีความสามารถในศิลปะ ในการอาชีพ ก็จะต้องมี การใส่ใจสนใจโดยแยบคาย ซึ่งจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้เป็นผู้ที่พิจารณา ทุกอย่างด้วยความละเอียด ด้วยความแยบคาย ทำให้สามารถพิจารณาแม้ในเหตุผลของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ในกาลข้างหน้า

หรือบางท่าน แม้ในครั้งก่อนๆ ก็เป็นผู้ที่ได้เห็นประโยชน์ของปัญญา แต่ในเมื่อปัญญายังไม่ได้เกิดมาก ยังไม่เจริญมาก เพราะฉะนั้น ก็ได้กระทำกุศล เช่น ถวายสักการะและอาราธนาพระธรรมกถึกให้กล่าวธรรมกถา โดยตั้งความปรารถนาขอให้เป็นผู้ที่มีปัญญาและถวายทานหรือทำกุศลประการอื่นๆ และอาศัยกรรมนั้นๆ ที่ได้กระทำปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้กุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ ในภายหลัง

ในขณะนี้ที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจพระธรรมในขณะใด ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งจะปรุงแต่งให้เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นต่อไปอีก คือ ขั้นสติปัฏฐานที่ระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พร้อมกันนั้นอาศัย การฟังซึ่งสะสมเป็นพหูสูตมีความแยบคายที่จะรู้ว่า ขณะที่ได้ยินครั้งหนึ่ง ก็เพราะว่าเป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่อาศัยโสตปสาทรูปเป็นปัจจัย จิตที่ได้ยินก็เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่ได้ยิน แต่เป็นจิตตนิยามซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เมื่อมี การกระทบเสียงขณะใดเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดตามลำดับ และโสตวิญญาณเกิด ขึ้นได้ยินเสียง เพราะเป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง และดับไป แต่ขณะที่เสียงไม่ปรากฏ ขณะที่จิตไม่ได้ยิน ขณะนั้นก็ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น เวลากระทบสัมผัสขณะใดก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงวิถีจิต เย็น ร้อน อ่อน แข็งจึงปรากฏกับกายทวารวิถี

ขณะใดที่ได้กลิ่น ซึ่งขณะนี้ไม่มี แต่เพียงชั่วขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ปรากฏกับ วิถีจิตซึ่งเกิดเพราะฆานปสาทรูปกระทบกับกลิ่นเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังมากๆ และเวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงชั่วครู่ ชั่วขณะ และดับไป ก็จะทำให้เห็นความจริงของสภาพธรรม จนสามารถที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งจะต้องอาศัยกรรม คือ การกระทำ ไม่ว่าจะเป็นทานก็ตาม ก็ปรารถนาความเป็นผู้มีปัญญา หรือการฟังธรรม หรือการอุปการะ การอุปถัมภ์ การเกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้เกิดปัญญา ก็ย่อมเป็นปัจจัย ปรุงแต่งที่จะทำให้มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้

ประการที่ ๒ โดยอุบัติ

โดยการเกิดในภพภูมิที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน เป็นผู้ที่มีความสุขในโลกนั้น เช่น ในโลกสวรรค์ ซึ่งแม้ว่าการเกิดของสติจะช้า เพราะว่าเป็นภูมิของผู้ที่มีความสุขสบาย ไม่มีการเบียดเบียน มีแต่ความร่าเริง เต็มไปด้วยอิฏฐารมณ์ต่างๆ ทำให้สติเกิดช้า ก็จริง แต่โดยการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีส่วนแห่งคุณวิเศษโดยเร็วพลัน คือ สามารถระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงแม้ในสวรรค์ได้

แต่ละท่านที่เกิดในโลกนี้ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า มาจากไหน มาจากนรก ก็ได้ มาจากเปรตก็ได้ มาจากสัตว์เดรัจฉานก็ได้ มาจากมนุษย์ในโลกนี้ก็ได้ คือ เคยเกิดเป็นมนุษย์มาแล้ว เมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดในโลกนี้อีกก็ได้ หรือมาจากสวรรค์ ก็ได้ และถ้าเป็นพรหมบุคคล คือ รูปพรหมภูมิ จะไม่เกิดในอบายภูมิทันที เพราะหลังจากที่จุติจิตดับจากรูปพรหมภูมิ และฌานเสื่อม จะต้องเกิดในสุคติภูมิ แต่ปฏิสนธิจิตจะเป็นญาณสัมปยุตต์ หรือญาณวิปปยุตต์ก็ได้ แล้วแต่กรรม

สำหรับผู้ที่เป็นอรูปพรหมบุคคล เมื่อจุติจิตดับแล้ว ถ้าปฏิสนธิจิตจะเกิดต่อ ในกามสุคติ ปฏิสนธิจิตจะต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ จะไม่เป็น มหาวิบากญาณวิปปยุตต์ เพราะว่าสะสมการที่จะให้กุศลเจริญโดยประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจนกระทั่งสามารถบรรลุความสงบของจิตอย่างมั่นคงถึงขั้นอรูปฌานได้ ดังนั้น เมื่อจุติจากอรูปพรหมภูมิ ปฏิสนธิจิตถ้าเป็นในกามสุคติภูมิจะต้องเป็น มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น โดยอุบัติ ก็คือ เป็นผู้ที่เกิดประกอบด้วยปัญญา

อย่างม้ากัณฐกะ จะเห็นได้ว่า เป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อจุติจิตจากการเป็นดิรัจฉานและปฏิสนธิเป็นเทวดา ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค และรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดในสวรรค์ แม้ว่าเป็นภูมิที่มีอิฏฐารมณ์มากก็ตาม แต่การสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ก็ทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เมื่อได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ประการที่ ๓ โดยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์

คือ ถึงกาล หรือถึงอายุ ถึงกาลเวลาที่ปัญญาจะเกิด

โดยมากผู้ที่มีอายุน้อย จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์น้อย และอาจจะเป็นผู้ที่ขาดความสุขุม รอบคอบ ไม่สามารถพิจารณาในเหตุในผล ในประโยชน์ได้ถูกต้อง โดยสมควรเท่ากับผู้ที่มีอายุถึงกาลเวลาที่ปัญญาจะเกิด เพราะฉะนั้น ในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยเจ้าในอายุเพียง ๗ ขวบนั้น มีเป็นจำนวนน้อย ไม่เท่ากับผู้ที่อยู่ในกาลของอายุที่ปัญญาจะเกิด แม้แต่ ท่านพระราหุลเอง ท่านก็บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ได้ฟังพระธรรม แต่ก็ยังไม่ถึงกาลที่ปัญญาจะสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ต้องอาศัยวัย อายุ หรือ กาลเวลาด้วย

ประการที่ ๔ โดยความห่างไกลจากกิเลส

นี่เป็นข้อเตือนใจว่า ประมาทกิเลสไม่ได้เลย ไม่ว่าใครทั้งนั้น แม้ท่านพระราหุลเอง พระผู้มีพระภาคยังต้องทรงแสดงธรรมกับท่านพระราหุล ซึ่งโดยวัยท่านก็เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายงาม เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความสำคัญตน เป็นปัจจัยให้เกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ถ้าไม่อาศัยพระธรรมเทศนาที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็จะเป็นเหตุขัดขวางการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งผู้ที่ยัง จะต้องอบรมเจริญอีกนานต้องรู้ว่า กิเลสมีกำลังมาก ไม่สามารถประมาทกิเลส ได้เลย จึงต้องสะสมปัญญาและพิจารณาว่า การมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไรที่จะสมควรแก่การให้ปัญญาเจริญ

ข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า

สมดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ปัญญาย่อมเกิดแต่การประกอบแล ความเสื่อมแห่งปัญญาย่อมเกิดเพราะการไม่ประกอบ เมื่อทราบทาง ๒ แพร่งนี้ คือ ทางแห่งความเจริญและความเสื่อมนี้แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะ เจริญงอกงาม ฉะนั้น

อยู่ดีๆ ปัญญาไม่เกิดแน่ๆ ต้องประกอบ คือ กระทำ ในการที่จะให้ปัญญาเจริญ แม้แต่การฟังพระธรรม ก็เป็นการกระทำที่จะให้ปัญญาเจริญ

ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลอยู่ อดไม่ได้ที่จะต้องสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ก็ต้องตอนเย็น ตอนค่ำ แล้วแต่โอกาส แต่ผู้ที่เห็นโทษของการที่จะปล่อยจิตให้คลุกคลีอยู่กับอกุศล ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ละทิ้งการฟังพระธรรม และไม่ละทิ้งการเจริญสติปัฏฐาน

เมื่อกิเลสมี กิเลสก็พาไปที่ต่างๆ และพาให้กระทำความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มั่นคงในการฟังพระธรรม ซึ่งไม่ได้ฟังตลอดเวลา แต่ฟังอยู่สม่ำเสมอ และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะไปสู่ที่ใด ไม่ว่าจะกำลังสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างไร สติก็สามารถเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริงอย่างนั้น

ข้อสำคัญที่สุด คือ ตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกคนจะรู้จักตัวเองชัดเจนถูกต้อง ไม่มีการเสแสร้ง ไม่มีการหลอกตัวเอง และหลอกคนอื่นเลย ไม่ว่าขณะใดจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลซึ่งคนอื่นไม่รู้ สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพ ของอกุศลจิตในขณะนั้น จึงจะเป็นผู้ที่สามารถละและดับอกุศลได้ เพราะว่าเห็นอกุศลตามความเป็นจริง

ถ้ายังไม่เห็นอกุศลตามความเป็นจริง ยังคงคิดว่าไม่เป็นโทษ และไม่รู้ด้วยว่า การสะสมอกุศลมากๆ การเป็นผู้ที่ยังใกล้ชิดต่อกิเลส จะทำให้เพิ่มความไม่รู้ ในลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

ผู้ฟัง เรื่องอกุศลเกิดบ่อยๆ ผมก็เป็นอยู่เป็นประจำ อย่างเมื่อวานนี้ แทนที่จะมาสนทนาธรรมกันที่วัดบวร ก็ไม่ได้มา เพราะว่าอกุศลพัดพาไปถึงจังหวัดสิงห์บุรี เนื่องจากเพื่อนฝูงชวนไปงานแต่งงาน คิดว่าการไปจะพยายามให้เป็นกุศล แต่ก็เพลิดเพลิน กุศลก็เกิดน้อย เวลาพรรคพวกทานอาหาร กินเหล้า มักจะถามธรรมด้วย คือ เวลากินเหล้ามักจะคุยธรรม ซึ่งเขาจะสนใจจริงๆ หรือจะแหย่เราก็ไม่ทราบ แต่ก็พูดไปเท่าที่ผมจะพูดได้ รู้สึกว่าบางทีก็ได้ผล เพราะเขากินเหล้ากันไม่ถึงกับเมามายเสียสติ ก็พยายามดึงมา ก็รู้สึกว่าจะได้ผลอยู่บ้างไม่กี่คน

อีกเรื่องหนึ่ง พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ถ้านึกถึงการทำบุญ จะนึกถึงทาน เป็นส่วนใหญ่ เมื่อนึกถึงทานก็จะนึกถึงปัจจัยของตัวเองว่า เราไม่ค่อยจะมีเงินมีทอง ไม่อยากจะไปทำบุญ เพราะต้องเสียเงินแน่ๆ ก็เลยไม่ค่อยอยากจะไปวัด ผมคิดว่า ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เรื่องการเจริญกุศลอาจารย์ได้พูดอยู่เสมอว่า มีอยู่ตั้ง ๑๐ อย่าง คือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างฟังธรรมก็เป็นบุญกิริยาวัตถุ เราต้องให้เห็นความสำคัญของการฟัง ไม่เฉพาะแต่ให้ทานบริจาคเงินเท่านั้น บางทีบริจาคไป กุศลก็ไม่ค่อยจะได้เท่าไร อยากจะอวดมั่งอวดมี อะไรอย่างนี้ ก็มีอยู่

ผู้ฟัง เรื่องเป็นผู้ไกลต่อกิเลส ถึงแม้อาจารย์จะพูดสั้นๆ แต่ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ซึ่งสรุปแล้วก็คือเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ไม่อย่างนั้น ไม่มีทางเป็นผู้ไกลต่อกิเลสได้ แต่การจะเป็นผู้ไกลต่อกิเลสนี้ยาก เพราะเราไม่คุ้นเคย ความจริงกิเลสอยู่กับเราตลอดเวลา หลับก็อยู่กับเรา แต่ยากจริงๆ เพราะเป็น นามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรม อยู่ที่ไหน ผมว่า นักวิทยาศาสตร์คงจับมาประหารนานแล้ว

ผู้ฟัง พวกเพื่อนๆ ที่กินเหล้าเขาบอกว่า กลัวกิเลส ผมก็บอกว่า กิเลส เก่งอะไรนักหนาจึงกลัว แทนที่เราจะคุ้นเคย แต่กลับไปกลัว กิเลสก็เหมือนนักเล่นกล นี่แหละ ถ้าเราจับให้ดี เราอาจจะรู้ทัน แต่ถ้าเรากลัวอยู่เรื่อย ไม่พยายามที่จะรู้จัก เราก็กลายเป็นเครื่องมือให้ปั่นเล่นตามสบาย เหมือนอย่างที่นักเล่นกลหลอกเราอยู่ เพราะเราจับความไวของเขาไม่ได้ เพื่อนๆ เขารู้สึกจะพอใจเหมือนกันที่ผมพูดว่า กิเลสนี่ไม่มีตัวตน เพราะถ้ามีตัวมีตน เราก็สามารถหยิบจับทิ้งได้ แต่เหนียวแน่นเหลือเกินอยู่ในจิตใจของเรานี้ เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามทำความรู้จักให้มาก แทนที่จะกลัว

สุ. โดยมากกลัวแต่ปาก ไม่ชอบกิเลส ก็ไม่ชอบแต่ปากอีกเหมือนกัน เพราะว่าไม่รู้จักกิเลส อย่างโลภะ ถ้าบอกว่า โลภะ ไม่มีใครชอบ แต่ทุกวันนี้อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีโลภะ

เพราะฉะนั้น จะเห็นความจริงว่า ต้องรู้จักลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น เป็นหนทางเดียว และต้องรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด กิเลสก็ยังคงเจริญเติบโตงอกงามไปเรื่อยๆ ไม่มีใครบั่นทอนทำลายได้

ก็ดีนะ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะ ณ สถานที่ใด ถ้าสนทนาธรรมกันก็ เป็นประโยชน์ ในเมื่อจำเป็นที่จะต้องไปงานสังคม เป็นความจำเป็น การไปก็เป็นภาระ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง หรืออาจจะโดยความพอใจก็ได้ เพราะมีอัธยาศัยอย่างนั้น แต่ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในพระธรรม เมื่อฟังแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงธรรม ก็ พูดในเหตุในผลที่จะเกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้เข้าใจถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

จะอยู่ในสถานที่ใดไม่สำคัญ กำลังทำกิจอะไรก็ไม่สำคัญอีก สติสามารถ จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่ไปผลัดว่า ขณะนี้ไม่ได้ ไม่ได้แน่ๆ ไม่สมควร นั่นไม่เป็นการถูกต้อง

คำว่า ไม่สมควร จะใช้อย่างเดียว คือ ไม่สมควรที่จะหลงลืมสติ แต่ถ้าพูดถึงการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะไม่มีคำว่าไม่สมควรต่อกาละหรือเทศะเลย เพราะว่าจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล เพราะว่าต้องเป็นปกติจริงๆ ปัญญาจะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่เป็นปกติจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งสั้นมาก และขณะต่อไปก็ไม่มีใครไปบังคับให้สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะว่าต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งกุศลและอกุศล แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สติปัฏฐานก็ระลึกเพื่อที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมนั้นๆ

เปิด  248
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566