แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1550

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๙


. เรื่องศรัทธา คือ อยากจะทราบว่า ถ้ามีคน ๒ คน บ้านอยู่ใกล้กัน และอยู่ใกล้วัดวัดหนึ่ง ไปทำบุญตักบาตรที่วัดนั้นเป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด ต่อมาพระวัดนั้นเกิด strike เจ้าอาวาส คนหนึ่งก็เลยบอกว่าหมดศรัทธาแล้ว ไปทำบุญวัดอื่นดีกว่า อีกคนหนึ่งก็บอกว่า ไม่ค่อยศรัทธาเหมือนกัน แต่ไม่มีเวลาไปทำที่วัดอื่น ก็เลยทำที่เดิม ทั้ง ๒ กรณีนี้ ขอเรียนถามว่า ใครมีศรัทธามากกว่ากันซึ่งจะเป็น ผู้ที่สัตบุรุษจะพึงแสดงธรรมให้ฟังก่อน

สุ. โดยมากไม่เข้าใจเรื่องของกุศลจิตจริงๆ คิดว่ากุศลนั้นคือการทำบุญ ใช่ไหม และมีการเลือกบุคคล แต่ถ้าคิดถึงในยุคต่อๆ ไปหลังจากนี้ไปอีก ซึ่งยุคนี้พระพุทธศาสนาก็ผ่านพ้นมาถึง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว พระอรหันต์อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ที่จะเดินบิณฑบาตให้พวกเราได้มีโอกาสใส่บาตร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ผู้ที่มีศรัทธา ออกบวชเพื่อประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยยังมีอยู่ สืบทอดมาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็สืบทอดมาจากท่านพระอานนท์ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ

เพราะฉะนั้น เรื่องกุศลจิตของเรา ไม่ควรที่จะเศร้าหมองด้วยการคิดว่า ต้องการที่จะใส่บาตร หรือทำบุญกับผู้ที่เหมือนอย่างท่านพระสารีบุตร หรือท่าน พระมหาโมคคัลลานะ แต่ถ้าเรามีเจตนาที่เป็นกุศลที่จะถวายภัตตาหารแก่ผู้ที่มีศรัทธาบวช ส่วนความประพฤติของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นภิกษุบุคคลแต่ละรูป ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน เป็นกรรมของท่าน ใจของเราก็ไม่เศร้าหมอง ไม่ว่าท่านจะไปทำอะไรที่ไหน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน เพียงแต่ว่าในขณะนี้พระธรรมวินัยก็ยังสืบต่อมาจนถึงสมัยนี้ ซึ่งยุคสมัยก็จะผ่านไปอีกจาก ๒,๕๐๐ กว่าปี และเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป แต่ว่าศรัทธาของใครมี ที่จะถวายภัตตาหารต่อผู้ที่มีศรัทธาบวช ส่วนความประพฤติส่วนตัวของภิกษุแต่ละบุคคลนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลนั้น

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจิตใจก็ย่อมจะไม่เศร้าหมอง ใช่ไหม ไม่ว่าท่านจะ ลาสิกขาบท หรือว่าท่านจะทำสิ่งซึ่งชาวโลกติเตียน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน

. กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก

. วิตกเจตสิกนั้น อยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ข้อไหน

สุ. สัมมาสังกัปปะ

. ที่อาจารย์กล่าวเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ ในฐานะที่ผมเองได้นั่งสมาธิมามากพอสมควร และหลังจากที่มาฟังอาจารย์สนทนาธรรม ครั้งแรกผมก็จับใจความได้ว่า การอบรมเจริญกุศลจิต กับอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน ขอให้หมั่นระลึกอยู่เสมอว่า สภาพจิตในขณะไหนเป็นกุศล ในขณะไหนเป็นอกุศล หลังจากนั้นมาอาจารย์ก็แนะนำว่า เรื่องการนั่งสมาธิเป็นอย่างไร ถ้าหากยังไม่มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ในขณะที่เป็นอกุศลก็จะไม่รู้ และหลงว่าเป็นกุศล

หลังจากนั้นมา ผมรู้สึกว่าผมพอจะเข้าใจบ้างแล้ว ก็เลิกนั่งสมาธิ ต่อมาผม ก็ได้รับการสั่งสอนว่า การจะนั่ง จะยืน จะเดิน หรือจะทำอะไรก็ตาม แม้แต่จะรับประทานอาหาร จะเข้าห้องน้ำ ก็ให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ผมก็พยายามหมั่นประพฤติอย่างนั้น หลังจากที่ผมได้ฟังอาจารย์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะก้าวหรืออะไร ผมก็ระลึกอยู่เรื่อย ก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาคล้ายๆ กับผมนั่งสมาธิ เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์กล่าวว่า นั่งสมาธิแล้วเป็นอย่างนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ดี และการที่ได้รับการอบรมสั่งสอนว่า จะทำอะไรก็ให้รู้สึกตัวเสมอว่าทำอะไร ผมก็คิดว่า การอบรมหรือเจริญอย่างนั้น ก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ได้มานั้นสามารถที่จะใช้ในขณะที่เดินทางเหนื่อยๆ หรือว่านั่งคอยใครนานๆ เข้าสมาธิก็เพลิน สบายไปอย่างหนึ่ง ผมจึงมีความเข้าใจว่า ลักษณะอย่างนี้ก็เป็นการฝึกสมาธิ ใช่ไหม

สุ. นี่เป็นสมาธิอีกรูปแบบหนึ่ง แน่นอน ค่อยๆ เปลี่ยน แสดงให้เห็นว่า การที่จะทิ้งเลยนี่ยาก ใช่ไหม เพราะว่าเคยอบรมมานาน เพราะฉะนั้น ความคุ้นเคยโดยที่เคยปฏิบัติ กับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อมารวมกันก็ทำให้เกิดสมาธิอีกแบบหนึ่งแน่นอน ถ้าเป็นในลักษณะนี้

. หลังจากที่ผมฟังอาจารย์มากๆ ก็เกิดความเข้าใจว่า การกระทำอย่างนั้น ทำอะไรก็ให้รู้สึกตัว รู้หนอ รู้หนอ อะไรอย่างนี้ ก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง

สุ. ไม่ได้กล่าวว่า รู้หนอ คงจะกล่าวเอง เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลมีอุบายนัยเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ กว่าจะค่อยๆ ทิ้งไปๆ เพราะว่า เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาต้องค่อยๆ ทิ้งความเห็นผิด ทั้งในขั้นความเข้าใจรวมถึงการที่เคยฝึกเคยปฏิบัติผิดมาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทิ้งยาก ต้องอาศัยเหตุผลอย่างสมบูรณ์จริงๆ และเปรียบเทียบให้รู้ว่า ขณะที่เป็นปกติในขณะนี้ ยังไม่ต้องคิดว่าจะต้องรู้ไปทุกอิริยาบถ ทำอะไรก็พยายามประคับประคองให้มีการรู้ตัวอยู่เสมอ แต่ในขณะธรรมดาอย่างนี้ ที่กำลังลืม ไม่ได้คิดว่าจะต้องมานั่งควบคุมอยู่ และมีการระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมจริงๆ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างแข็งที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา จะไม่ปรากฏทั่วตัวเลย ไม่ต้องนั่งประคับประคองอะไรเลย เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังธรรม เป็นเรื่องที่ ต้องประพฤติปฏิบัติ และค่อยๆ แก้ไขสิ่งที่เคยผิด จนกว่าจะหมด

. ผมพอจะเข้าใจบ้างแล้ว ก็อยากจะเรียนให้เพื่อนทั้งหลายที่ชอบปฏิบัติอย่างผม ขอให้ค่อยๆ ละคลาย เพราะผมนี้ยังทิ้งยากเลย บางทีเดินๆ ไป รู้สึกว่า เรากำลังหายใจ ก็กำหนดลมหายใจ เดินไปเรื่อย บางทีก็เพลิน

สุ. เพราะฉะนั้น สมาธิแบบนี้จะเหนื่อย เหนื่อยไหม เหมือนทำงาน

. ทำจนชินแล้วก็ไม่เหนื่อย ที่ช่วยได้อย่างหนึ่ง คือ เป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่เป็นไปเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่จะให้ละให้คลาย เป็นการให้เรายึดติดมากขึ้น คือ จะทำให้เพลิน สุขจริงหนออะไรอย่างนี้

สุ. ต่อไปเวลาที่สัมมาสติเกิด จะรู้ว่าการคลายนี่เบา ผิดจากขณะนี้มาก ที่เคยคิดว่าสุข ที่เคยพอใจ แท้ที่จริงหนัก เพราะในขณะนั้นไม่มีความเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นขณะที่มีสติ ตามปกติ ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น ในมหาสติปัฏฐาน ไม่ควรจะลืมพยัญชนะที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุด คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ธรรมดา แต่ในขั้นต้นยังมีความรู้สึกเหมือนเราเจริญสติ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็ฟังดูเหมือนอย่างนั้น คือ ให้เจริญสติ แต่ ลึกลงไปกว่านั้นเมื่อทราบว่าสติเป็นอนัตตาก็จะรู้ว่า สติเจริญ ไม่ใช่เราเจริญ

. ผมพอจะเข้าใจบ้าง ก็นำมาเรียนให้เพื่อนธรรมฟังกัน ถ้าหากใคร กำลังประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ อยากจะขอให้เลิก

สุ. ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ การที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาททั้งในขั้นการฟัง ในขั้นพิจารณา และในขั้นที่สังเกตว่าขณะนี้ มีความผิดปกติสักนิดหน่อยไหม ถ้ามีความผิดปกติสักนิดหน่อย ต้องทิ้งทันที กลับเป็นปกติเมื่อไร สติเริ่มจะระลึกบ้าง แม้น้อย แต่ก็เป็นสัมมาสติ

สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่าชีวิต วันหนึ่งๆ ซึ่งเต็มไปด้วยอวิชชา ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติเกิดเมื่อใด มีการระลึกได้แม้ในเหตุในผล ในความถูกความควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นเป็นการเกิดขึ้นของสติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในกาลสมัยไหน กุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะสติมีการระลึกได้ มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ทุกคนก็เต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

แม้แต่การที่จะฟังพระธรรมข้อเล็กข้อน้อย หรือว่าข้อความสั้นๆ หรือเป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า คงจะไม่มีความสำคัญเท่าข้อความอื่น แต่ถ้าในขณะนั้น สติเกิด ระลึกได้ พิจารณาข้อความนั้นจริงๆ จะได้ประโยชน์จากพระธรรมข้อนั้น ตามขั้นของความเข้าใจ

เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่ สุขุมลึกซึ้ง แม้เพียงการฟังก็ยังต้องประกอบด้วยสติ หรือฟังด้วยสติ พิจารณาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์ และกุศลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น

สำหรับลักษณะของสติ อาการต่างๆ ของสติ ตามที่กล่าวไว้ใน มิลินทปัญหา สัตตมวรรค สติอาการ ปัญหาที่ ๑ ท่านพระนาคเสนแสดงลักษณะของสติที่เกิดขึ้นด้วยอาการ ๑๗ สถาน ซึ่งจะต้องเริ่มฟังด้วยสติ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจโดยถูกต้อง

อาการ ๑๗ สถาน คือ

๑. อภิชานโตสติ ได้แก่ สติขั้นยอดยิ่ง เป็นสติของบุคคลทั้งหลายที่ระลึกชาติได้ หรือสติของท่านพระอานนท์ที่ทรงจำพระสูตรแม้ได้ฟังเพียงครั้งเดียวได้ทั้งหมด สติของขุชชุตราอุบาสิกาที่ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาครั้งเดียว ก็สามารถแสดง พระธรรมนั้นให้คนอื่นๆ ได้ฟังอย่างครบถ้วนทั้งพระคาถา

เพราะฉะนั้น ก็เทียบได้ว่า สติของแต่ละท่านในชีวิตประจำวัน เป็นสติเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่ใช่สติขั้นพิเศษ เยี่ยม หรือสติขั้นยอดยิ่งดังเช่นสติของ ผู้ที่ระลึกชาติได้ หรือสติของท่านพระอานนท์ที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้แม้เพียงฟัง ครั้งเดียวได้ตลอดหมด หรือแม้แต่อุบาสิกาขุชชุตราซึ่งโดยฐานะก็เป็นอุบาสิกา แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งเดียว ก็สามารถแสดงพระธรรมนั้นให้คนอื่นได้ฟังอย่างครบถ้วนทั้งพระคาถา

นี่ก็เป็นการที่ต้องอบรมเจริญไป เพราะว่าเห็นความยอดยิ่งของสติ ซึ่ง เป็นไปได้ว่า ถ้าอบรมเจริญแล้วย่อมสามารถเป็นสติขั้นยอดยิ่งถึงอย่างนั้น

๒. กุฎุมพิกายสติ ได้แก่ สติของคนทั่วๆ ไป ที่ระลึกได้ว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหน

ข้อนี้ถ้าไม่พิจารณาลักษณะของสติเจตสิก อาจจะคิดว่า ขณะใดที่เกิดนึกขึ้นได้ ขณะนั้นก็เป็นสติ แต่การฟังพระธรรมต้องละเอียด ในเมื่อสติเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก ก็ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ไม่ใช่ขณะที่นึกออกว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหน แต่ขณะใด ที่ระลึกได้ว่า พระธรรมบทไหนอยู่ส่วนไหนของพระไตรปิฎก ขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรือว่าระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงเรื่องการกุศลต่างๆ ระลึกถึงสิ่งที่เนื่องกับการกุศลได้ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นโสภณ ขณะนั้นจึงเป็นลักษณะอาการหนึ่งของสติเจตสิก

๓. โอฬาริกวิญญาณโตสติ ได้แก่ สติของพระโสดาบัน ซึ่งแม้จะหลงลืมไป ก็ไม่ต้องเดือดร้อนกังวลใจอีกต่อไป

เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นผู้ที่ไหลไปตามกระแสของ พระนิพพานสู่ความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีทางที่พระโสดาบันบุคคลจะกลับไปเป็น ปุถุชนอีก และพระโสดาบันท่านก็จะเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ ซึ่งพระโสดาบันจะมีการเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ เพราะฉะนั้น สำหรับโอฬาริกวิญญาณโตสติ จึงได้แก่ สติของพระโสดาบัน เพราะแม้จะหลงลืมไป ก็ไม่ต้องเดือดร้อนกังวลใจอีกต่อไป

๔. หิตวิญญาณโตสติ ได้แก่ ผู้ที่เคยเป็นสุขแต่ก่อน แล้วระลึกถึงความสุขแต่ก่อนๆ

ต้องไม่ลืมว่า สติเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น ระลึกถึงความสุขก่อนๆ ระลึกด้วยจิตอะไร ถ้าระลึกด้วยความสุขที่เคยผ่านความสุขนั้นๆ มาอย่างยอดเยี่ยม และเกิดปีติยินดี ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต หรือในขณะนี้ไม่ได้ประสบกับสุขอย่างนั้น อีกแล้ว เกิดความโทมนัสว่าเคยสุข แต่ ณ บัดนี้ ไม่ได้เป็นสุขอย่างนั้นอีกแล้ว ในขณะที่ระลึกอย่างนั้น ก็เป็นโทสมูลจิต ไม่ใช่กุศล

แต่ถ้าสติระลึกได้ว่า แม้สุขอย่างนั้นก็ไม่กลับมาอีก เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวและดับไป และสภาพธรรมนั้นๆ จะไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น ทุกๆ วัน ทุกๆ ขณะ ที่ทุกคนกำลังเห็น กำลัง ได้ยิน ให้ทราบว่า เพียงชั่วขณะเดียวจริงๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน ดับพร้อมจิต ถ้าจิตไม่เกิดนึกเรื่องนั้นขึ้นมาอีก ก็ไม่มีเรื่องนั้นในความคิดนึกเลย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์อย่างไร เรื่องนั้นก็ปรากฏเพียงชั่วขณะ ที่จิตคิด และเรื่องนั้นก็ดับหมดเมื่อจิตดับเท่านั้นเอง นี่คือชีวิตของแต่ละบุคคล เรื่องราวของแต่ละชีวิตของแต่ละบุคคลในวันหนึ่งๆ

ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ไม่ว่าจะคิดถึงอดีตที่ผ่านมาก็รู้ว่า เป็นเรื่องของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่กลับมาอีก ความเบาใจ ความสบายใจ ก็มี ไม่ต้องผูกพันเยื่อใยกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ขณะนั้นก็เป็น หิตวิญญาณโตสติ

การคิดนึกในชีวิตประจำวันนี้ มีมาก ถ้าสติไม่เกิด ก็ปล่อยให้เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้างกับความคิดนึกนั้นๆ แต่ถ้าสติเกิด ระลึกได้ถึงความไม่มีสาระ เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่คิดและเรื่องนั้นก็ดับพร้อมจิต จะทำให้ไม่เยื่อใย พร้อมกันนั้นก็จะเกื้อกูล แก่สติปัฏฐานด้วย

๕. อหิตวิญญาณโตสติ ได้แก่ สติของผู้ที่เคยตกทุกข์ได้ยากมาก่อน และระลึกถึงความทุกข์ยากต่างๆ

นี่ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าระลึกแล้วเป็นอกุศล ก็ควรที่จะเกิดสติรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ

๖.สภาคนิมิตตโตสติ ได้แก่ ในขณะที่เห็นคนที่คล้ายมารดาบิดาญาติพี่น้อง ที่สิ้นชีวิตแล้วระลึกได้

จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อยู่ที่ใจของคนที่ระลึกถึงมารดาบิดาที่สิ้นชีวิตแล้ว ในขณะนั้นถ้าระลึกด้วยเยื่อใย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าระลึกแล้วแสดงความ นอบน้อมต่อบุคคลนั้นเสมือนมารดาบิดา ขณะนั้นก็ทำให้เกิดกุศลได้ เวลาที่เห็น ท่านผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับมารดาบิดาและมีจิตอ่อนโยน มีความนอบน้อม มีการคิดใคร่ที่จะทำประโยชน์แก่ท่าน แม้ด้วยกายและวาจา ขณะนั้นก็เป็นสติ

เพราะฉะนั้น อาการของสติในวันหนึ่งๆ ก็มีต่างๆ แล้วแต่ว่าขณะใดเป็นสติ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่มารดาบิดา อาจจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือผู้มีพระคุณก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเห็นใคร ระลึกถึงในทางที่จะให้เป็นกุศลย่อมดีกว่าระลึกถึงในทางที่จะให้เกิดอกุศลจิต

บางทีอาจจะมีการกระทำของบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งไม่เป็นที่พอใจ แต่ดูแล้วก็หน้าคล้ายๆ ญาติพี่น้องหรือผู้มีพระคุณ ก็อาจจะอภัยให้ได้เพราะเหมือนๆ กับจะเป็นญาติ อย่างนั้นก็ได้

เรื่องของการคิดนึกที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้จริงๆ เพราะว่าความคิดย่อมวิจิตรแต่ละขณะ บางขณะสติเกิด คิดดี ขณะใดที่สติไม่เกิด ก็คิดตรงกันข้าม ขึ้นอยู่กับว่าสติจะระลึกได้มากน้อยแค่ไหน

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565