แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1542

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๙


ดิฉันขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง ซึ่งคงเป็นวิบากกรรมอันหนึ่งของดิฉัน และไม่ทราบว่าเป็นผลของกรรมในชาติไหน หรือได้เคยกระทำมาแล้วบ่อยมากน้อยอย่างไรไม่ทราบ คือ เป็นคนที่ถ้ารับประทานอาหารจะต้องพบกรวดหรือเม็ดทราย อยู่ในเม็ดข้าวบ้าง หรือในอาหารที่เป็นกับข้าวบ้าง ไม่ใช่ว่าจะบ่อยเป็นประจำ แต่เห็นทีไรก็ต้องนึกว่า ชาติก่อนๆ คงทำกุศลที่ไม่ประณีตเลย ชาตินี้เวลาที่รับประทานข้าว จึงเจอเม็ดกรวดเม็ดทรายแข็งๆ แม้แต่ในขนมซึ่งเป็นถั่วก็จะต้องมีเม็ดกรวดหรืออะไรๆ ซึ่งคนที่รับประทานด้วยกันจะมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบ จะสังเกตหรือไม่สังเกตก็ไม่ทราบ จะระลึกถึงกรรมหรือไม่ระลึกก็ไม่ทราบ แต่สำหรับดิฉันเองพบทีไรจะต้องนึกว่า ต้องเคยกระทำกุศลที่ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น ในอาหารจึงมีกรวดเม็ดเล็กๆ หรือทรายเม็ดเล็กๆ ให้ระลึกได้ถึงอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า กุศลมีทั้งหยาบ มีทั้งประณีต ถ้าเป็นกุศลที่ประณีต ก็ทำด้วยความวิจิตร ด้วยความบรรจง ด้วยความระมัดระวัง นั่นก็ชื่อว่าเป็นกุศลที่ประณีต

กุศลทั้งหลายในสัตว์บุคคลหนึ่ง รวมทั้งในบรรดาสัตว์บุคคลทั้งหลาย ในจักรวาลซึ่งไม่มีประมาณ ในภพภูมิที่ไม่มีประมาณ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กุศลย่อมต่างประเภทเป็นอันมาก แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงกำหนด กุศลเหล่านั้นทั้งหมดโดยอาการทั้งปวงด้วยพุทธญาณอันไม่มีที่สุด

ราวกะว่าทรงชั่งอยู่ด้วยคันชั่งมหึมา ราวกะว่าทรงใส่เข้าในหม้อมหึมาตวงอยู่ แล้วจึงทรงน้อมเข้าไปสู่ความเป็นชั้นเดียวกัน คือ ประเภทเดียวกัน เพราะเป็นธรรมคล้ายกัน โดยความเป็นกามาวจรกุศล ๘ ดวง แล้วทรงแสดงทำให้เป็นส่วนๆ โดยอรรถ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วยและไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นอสังขาริก และเป็นสสังขาริก ด้วยพระมหากรุณาสมกับที่ทรงเป็นโลกวิทูผู้ทรงรู้แจ้งโลกทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล

ถ้าได้ทราบถึงพระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดอย่างนี้ ย่อมจะมีศรัทธาที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งลักษณะของผู้ที่ มีศรัทธา พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฐานสูตร ข้อ ๔๘๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังพระธรรม ๑ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมือ อันล้างไว้ ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน ๑ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ นี้แล ฯ

ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนาจะฟังพระสัทธรรม กำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีศรัทธา ฯ

ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

บทว่า มุตตจาโค ความว่า มีการสละโดยไม่ข้องใจ

คือ ไม่กังวลใจ ไม่เดือดร้อนใจในการสละ

บทว่า ปยตปาณี ความว่า มีมืออันล้างแล้ว

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

ผู้ไม่มีศรัทธาแม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็จัดว่ายังมีมือเปื้อนอยู่นั่นแล

เวลานี้มือเปื้อนหรือเปล่า

แต่คนมีศรัทธา ชื่อว่ามีมืออันล้างสะอาดแล้วทีเดียว เพราะเป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน

ความสะอาดของใจ ของศรัทธา ซึ่งเหมือนมือที่ถือไว้ซึ่งกุศล ไม่ปล่อยกุศล จะเห็นได้ว่า ปกติเราล้างมือกันอยู่เสมอเพราะเห็นว่ามือสกปรก แต่ขณะนั้นก็ควรคิด ที่จะล้างความตระหนี่ของจิตใจด้วยเมื่อได้ทราบความหมายของคำว่า มีมืออันล้างแล้ว เพราะถึงแม้ว่าจะล้างมือสักเท่าไร แต่ยังเป็นผู้ที่ตระหนี่อยู่ แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็จัดว่ายังมีมือเปื้อนอยู่นั่นแล

สำหรับศรัทธาทั่วๆ ไปในวันหนึ่งๆ ก็จะอบรมเจริญขึ้นจนถึงความเป็นผู้ที่ มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาได้ แต่ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาในเหตุในผลของพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว เพียงศรัทธาอย่างเดียว ย่อมจะทำให้เข้าใจผิดและ ปฏิบัติผิดในพระธรรมได้

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายสัทธินทริย์นิทเทส มีข้อความว่า

ธรรมชาติที่ชื่อว่าศรัทธา เพราะเชื่อพระพุทธคุณเป็นต้น อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า ศรัทธา เพราะเชื่อ คือ ดำเนินไปสู่พุทธาทิรัตนะ คือ พระรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ เป็นต้น

อาการที่เชื่อ ชื่อว่าสัททหนา ที่ชื่อว่าน้อมใจเชื่อ เพราะหยั่งลง คือ ดุจแทรกเข้าไปในพุทธคุณเป็นต้น

ถ้าได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ ย่อมเห็นพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และในขณะที่ได้เข้าใจพระธรรม ก็เป็นการดื่มด่ำนอบน้อมใน พระพุทธคุณที่ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น

ที่ชื่อว่าอภิปสาทะ (เลื่อมใสยิ่ง) เพราะเป็นเหตุให้ปวงสัตว์ทั้งหลายเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในพุทธคุณเป็นต้น

จะเห็นความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของท่านที่มีศรัทธา สละทรัพย์บ้าง สละสมบัติทั้งหมดและวงศาคณาญาติ แม้มารดาบิดา และดำรงเพศเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ศรัทธาจะเจริญขึ้นจากความเชื่อในพระรัตนตรัย จนกระทั่งถึงการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งถ้าไม่มีศรัทธา การบรรลุมรรคผลจะมีไม่ได้เลย

แม้แต่คนที่มีศรัทธา หรือไม่มีศรัทธา ย่อมเป็นผู้ที่กลัวภัยของชีวิต แต่ต้องรู้ว่า ขณะใดที่เกิดความกลัวภัยขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้ากุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น ย่อมไม่กลัว เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อบรมกุศลและมีศรัทธามั่นคงจริงๆ ใน พระรัตนตรัย เวลาที่มีภัยเผชิญหน้า เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ความเป็นผู้มีศรัทธาใน พระรัตนตรัยในขณะนั้น จะทำให้เป็นผู้ที่จิตใจไม่หวั่นไหว และจะรู้สึกได้จริงๆ ว่า ในขณะนั้นไม่กลัว แต่ถ้าหลงลืมสติ กุศลจิตไม่เกิด ไม่ระลึกถึงพระรัตนตรัย ขณะนั้นย่อมไม่พ้นจากความกลัวภัยได้

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ธชัคคสูตร ข้อ ๘๖๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่พวกเธอผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงเรา ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอัน พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่ คู่แห่งบุรุษสี่รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป ฯ

ด้วยพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือน ว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่า นรชน ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้า ทรงแสดงดีแล้ว ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ

. ศรัทธาเป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก และศรัทธาเป็นกุศลสาธารณเจตสิกอย่างเดียว ไม่เกิดกับอกุศลเลย ซึ่งต่างกับสมาธิ สมาธิเกิดได้ทั้งในจิตที่เป็นกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่ชาวบ้านเข้าใจ เช่น เชื่อในสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผล อย่างเรื่องหมอน้อยที่ชาวบ้านแตกตื่นกันไปขอยาอะไรอย่างนี้ เชื่อว่าจะรักษาหาย ลักษณะแบบนี้เป็นศรัทธาในพุทธศาสนาหรือเปล่า

สุ. ไม่เป็น ต้องเป็นศรัทธาในกุศลธรรม

. ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นกุศลธรรมอย่างเดียว ไม่เป็นอกุศล แต่สมาธิเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล

สุ. สมาธิมีสัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิ ถ้ามิจฉาสมาธิก็เป็นโลภมูลจิต

. เพราะฉะนั้น การเจริญสมาธิเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะระวังอย่างมาก เพราะจะกลายเป็นเจริญมิจฉาสมาธิไป และจะทำให้เข้าใจไขว้เขวไปใหญ่โต

สุ. ด้วยเหตุนี้ต้องรู้ความต่างกันของโลภเจตสิกกับศรัทธาเจตสิก

. รูปศัพท์ ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ปสาทะ แปลว่า ความเลื่อมใส แต่ส่วนมากคนเห็นสิ่งไหน หรือเห็นคนทำดี หรือพึงพอใจ ก็เกิดความเลื่อมใสขึ้น หรือเกิดศรัทธาขึ้น ทำให้ใช้ศัพท์นี้ไม่ค่อยถูก และไม่ค่อยเข้าใจความหมาย เรียนถามอาจารย์ว่า ศรัทธากับปสาทะนี้ แตกต่างกันอย่างไร

สุ. ความจริงแล้วเป็นลักษณะของศรัทธาเจตสิก เพราะว่าปสาทะต้องเป็นความเลื่อมใสในกุศล ถ้าใช้คำว่า ศรัทธา หมายถึงลักษณะของศรัทธาเจตสิก ต้องมีสภาพที่ผ่องใส เลื่อมใส แต่ต้องเป็นในเรื่องของกุศลธรรมทั้งหมด ถ้าชาวบ้านจะใช้เองก็เป็นเรื่องของชาวบ้าน แบบสติ ก็เป็นสติตามความเข้าใจของชาวบ้าน แต่ถ้าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นลักษณะของศรัทธาเจตสิก

ท่านที่เคยกลัว หรือว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจกลัว หายกลัวเพราะอะไร เคยคิดบ้างไหม จะมีเวลาทันพอที่จะระลึกถึงพระรัตนตรัย พระคุณของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ไหม

. สมัยผมบวชเป็นเณร มีความกลัวเกิดขึ้นขนาดหนัก เพราะว่าตอนเย็นก่อนจะถึงเวลานอน มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเขาเป็นคนมีวิชาอาคม คือ สามารถที่จะปล่อยวัวธนูหรืออะไร ซึ่งเขาเล่าลือกันมาอย่างนั้น และชาวบ้านคนนี้ก็เป็นคนพลัดถิ่นมาจากที่อื่น แกไม่สบาย เป็นไข้จับสั่น มาขออาศัยอยู่วัด พระก็ไม่กล้าขัดขวาง บอกให้ผมเป็นคนจัดการเอง ผมก็บอกว่า ไม่ได้หรอก ต้องไปขออนุญาตจากทายก หรือผู้ใหญ่บ้านก่อนจึงจะมาอยู่วัดได้ เพราะวัดไม่ใช่ของพระโดยตรง เป็นของชาวบ้านบำรุง แกก็ไม่พอใจ ตกกลางคืนผมฝันว่า เดินไปในทุ่งนา มีควายวิ่งมาขวิด ขวิดอยู่จนกระทั่งหน้าอกจะพัง ตื่นขึ้นมาปรากฏว่าบนเพดานมีคล้ายคนมาหมุน และเหมือนกับมีขี้ผงหรืออะไรร่วงลงมาตลอดเวลา ผมก็ระลึกถึงพระพุทธคุณ นึกถึงว่าพระพุทธเจ้ามีจริงเราจึงได้บวช เพราะฉะนั้น พระคุณของพระองค์ต้องคุ้มครองให้ข้าพเจ้าที่บวชนี้พ้นจากอันตราย ระลึกถึงแล้วก็สวดอิติปิโส สวดจนกระทั่งไม่มีหยุด และว่ากรณียเมตตสูตรด้วย สวดซ้ำๆ ซากๆ จนกระทั่งพระที่นอนอยู่ใกล้ๆ ท่านตื่น ท่านก็ได้ยินเหมือนผม แต่ท่านมีคาถาของท่าน ท่านเล่าคาถาแล้ว ขนท่านลุก พรึบพรับ คว้าได้มีดก็ฟันฝาดังตึง และเสียงก็เงียบหายไป

ผมก็มาระลึกถึงว่า เวลากลัวถึงสุดขีด เมื่อไม่มีที่อื่นที่เป็นที่พึ่งได้ น้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ สามารถเป็นที่พึ่งได้จริงๆ ในทางโลกผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ และเคยประสบมา

สุ. นี่เป็นการพิจารณาสภาพของจิตได้ละเอียดขึ้นเมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นอกุศลประเภทไหน และขณะไหนเป็นศรัทธา และขณะที่ศรัทธาเกิดขึ้นแล้วเวลาที่อกุศลจิตประเภทอื่นเกิดขึ้นกับท่านอื่น ก็ย่อมเห็นได้ใช่ไหมว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดไม่ใช่กุศล อย่างตอนคว้ามีด จะเป็นกุศลได้ไหม

นี่เป็นเรื่องความละเอียดของเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องพิจารณาลงไปแต่ละขณะจิตจริงๆ ด้วยความละเอียด

สำหรับผู้ที่จะมีภัยอันตรายต่างๆ ไม่ว่าภัยที่เผชิญหน้า หรือภัยความเดือดร้อนต่างๆ ทำอย่างไรจิตจึงจะไม่กลัวภัยนั้นๆ ได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่การเห็น การได้ยิน ก็ไม่มีการรู้ล่วงหน้าเลยว่า ขณะต่อไปจะมีปัจจัยอะไรที่จะปรุงแต่งให้เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ

แต่ถ้ามีความมั่นคงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างเมื่อมีเหตุปัจจัย ที่จะเกิดก็ต้องเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นเป็นกรรมไหนของตนเองที่ได้กระทำแล้ว ถ้าคิด อย่างนี้ ระลึกอย่างนี้ และเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ในขณะนั้น จะเป็นผู้ที่ ไม่กลัวภัย และขณะนั้นก็ชื่อว่ามีพระธรรมเป็นที่พึ่ง เพราะเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม

เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณ แล้วแต่ว่าจะระลึกโดยสถานใด อาจจะระลึกโดยการประพฤติปฏิบัติทันที เจริญสติปัฏฐานทันที ระลึกถึงกรรมทันที ก็ได้

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565