แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1545

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๙


ผู้ฟัง ก็ยังดีที่ในพระสูตรตอนท้าย อุบาสิกานั้นสามารถช่วยบุตรให้รอดชีวิตได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะที่ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ ธรรม และชีวิตของบุตร ในกรณีอย่างนี้ สมมติว่าเราเลือกธรรม และเราไม่ได้ปฏิบัติช่วยเหลือ ตามควรอะไรเลย ก็จะถูกชาวโลกในสังคมสมัยปัจจุบันมองไปอีกแง่หนึ่ง คือ แทนที่จะเห็นไปในทางกุศล ก็กลับเห็นไปในทางอกุศล อาจจะคิดว่าธรรมของ พระพุทธองค์เป็นธรรมที่สอนให้คนหลีกเร้น และปฏิเสธสิ่งที่ตนเองต้องรับผิดชอบ อะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ก็ยากที่จะอธิบาย

สุ. ต้องแล้วแต่กาละว่า ขณะนั้นเป็นกาละของการฟังพระธรรม หรือว่า เป็นในกาละอื่น ในขณะนี้บางท่านอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายก็ได้ แต่ก็ไม่บอกใคร ก็นั่งฟังพระธรรมต่อไป โดยเกรงว่าคนอื่นจะต้องพลอยวุ่นวายไปด้วย หรือไม่ได้ฟัง พระธรรมต่อไปก็ย่อมเป็นได้ ถ้าเทียบจากสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เพื่อแสดงระดับของศรัทธา คือ ถ้าไม่ใช่อุบาสิกาท่านนั้น เป็นบุคคลอื่น ก็จะไม่ทำอย่างนั้น แต่เมื่ออุบาสิกาท่านนั้นทำอย่างนั้น ย่อมแสดงถึงศรัทธาและความเชื่อมั่น ในกรรม และเมื่อหมดเวลาของการฟังพระธรรมแล้ว อุบาสิกาก็ได้ทำหน้าที่ของอุบาสิกา คือ ช่วยเหลือบุตรด้วยสัจจกิริยา เพราะว่านางได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระโสดาบันแล้ว มีกุศลศรัทธาถึงอย่างนั้น ในขณะที่เห็นลูกถูกงูกัด

ถ้าใครเห็นผู้ซึ่งเป็นที่รัก ที่เคารพนับถือ จะเป็นมารดา บิดา หรือว่าบุตร มิตรสหายก็ตามแต่ กำลังได้รับภัย อาจจะเกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือความทุกข์เดือดร้อนประการใด จิตในขณะนั้นหวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นอกุศลจะดีไหม เศร้าโศก เสียใจ เดือดร้อน ดีไหม หรือเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติและปัญญาในขณะนั้นยังสามารถระลึกถึงกรรมได้ และพร้อมกันนั้นยังรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ได้ด้วย อาศัยสัจจะ คือ ความจริงใจในขณะนั้น สามารถที่จะช่วยเหตุการณ์นั้นได้เมื่อยังไม่ถึงคราวที่กรรมอื่นจะให้ผล

ถ้าเข้าใจเหตุกับผลให้ตรงกัน คือ อกุศลกรรมทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก และกุศลกรรมทั้งหลายก็มีกำลังที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก ซึ่งแล้วแต่ระดับขั้นของกุศลนั้น และแล้วแต่ระดับขั้นของความจริงใจซึ่งเป็นสัจจะนั้นด้วย

เรื่องของการที่กรรมจะให้ผล ไม่มีใครสามารถจะพยากรณ์ได้ เมื่อถึงเวลา ที่กุศลกรรมจะให้ผล โรคภัยไข้เจ็บใดๆ ก็อาจจะหายไปหมดได้ หรืออาจจะทุเลาขึ้น ก็ได้ แล้วแต่ขั้นของกุศลกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป เป็นเรื่อง ของสภาพธรรมจริงๆ แต่สำหรับอุบาสิกาท่านนั้นท่านมองเห็นโทษว่า ถ้าบุคคลอื่นรู้ว่าลูกท่านถูกงูกัด ก็จะทำลายการฟังธรรมในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นคนอื่นจะคิดอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่ แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป เมื่อการฟังธรรมนั้นสิ้นสุดลง ท่านก็อาศัยสัจจะ คือ ความจริงใจของท่านในขณะนั้น ทำให้ลูกของท่านรอดพ้นจากอันตราย คือ ทำลายพิษงูได้

เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ยากที่ใครจะรู้ผล ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม และกรรมก็มีทางของกรรม ซึ่งคนอื่นก็คาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้น ทั้งฝ่าย กุศลกรรมและอกุศลกรรม

. อุบาสิกาได้แสดงสัจจกิริยาอะไร มีบอกไว้ไหม

สุ. ไม่ได้กล่าวไว้ แต่คงจะหมายความถึงความรู้สึกของท่าน ความคิดของท่านในขณะที่ท่านเห็นลูกถูกงูกัด

. ผมเคยฟังพระสูตรเรื่องหนึ่ง การแสดงสัจจกิริยา ต้องแสดงกันทั้งสามีและภรรยา ช่วยกันแสดงลูกจึงได้ฟื้นขึ้นมา ถ้าเป็นสมัยนี้ เขาคงไม่เชื่อกันเรื่อง สัจจกิริยา

สุ. กรรมมีทางของกรรมที่จะให้ผล ทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรม ซึ่งโดยมากเราจะเห็นทางอกุศลกรรม คือ มีเหตุการณ์แปลกๆ ประหลาดๆ เกิดขึ้น โดยที่ไม่น่าจะเกิดเลย แต่เมื่อกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นได้รับ ผลของอกุศลกรรมนั้น อย่างนั้นๆ เฉพาะตนๆ ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็ต้องเป็นอย่างนั้น

. ผมคิดว่า อุบาสิกาที่กำลังฟังธรรมอยู่นั้น ท่านได้วิบากที่ดี คือ ท่านต้องได้ฟังธรรมแน่ เพราะอาจารย์เคยบอกว่า การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี เป็นวิบาก ฉะนั้น ขณะนั้นวิบากของอุบาสิกาต้องดีแน่ ต้องได้ฟัง แม้งูกัดก็ยับยั้งไม่ได้ เพราะวิบากนั้นให้ผลแล้ว ท่านต้องได้ฟังจะได้บรรลุ ส่วนเรื่องการแสดงสัจจกิริยา ฟังๆ ดูแล้วจะเป็นอิทธิฤทธิ์หรือเปล่า

สุ. เป็นผลของกุศล

. เป็นผลของกุศลกรรม

สุ. ใช่ เพราะกุศลกรรมเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังตามสภาพของกุศลนั้นๆ ที่จะให้ผล แล้วแต่ว่ากุศลนั้นมีกำลังแค่ไหน

ผู้ฟัง พูดถึงสัจจกิริยา ผมนึกถึงวัฏฏกปริตร หรือพระปริตรที่ว่าด้วย นกคุ่ม คือ ตามประวัติมีว่า นกคุ่มเพิ่งจะออกจากไข่ใหม่ๆ ขนก็ยังอ่อนๆ อยู่ ขาแข้งก็ยังไม่แข็งแรงที่จะบินได้ และเกิดไฟป่าไหม้มาๆ จวนจะถึงอยู่แล้ว แม่ก็ออกไปหาอาหาร พ่อก็ออกไปหาอาหาร ลูกนกคุ่มก็ตั้งสัจจกิริยา สัจจกิริยานี้ตามศัพท์ หมายความว่า ทำความจริงหรือพูดความจริงนั่นเอง เช่นในนั้นบอกว่า

สันติ ปักขา อะปัตตะนา ... มาตา ปิตา จะ นิกขันตา แปลความว่า มารดาบิดาก็ไม่อยู่ ออกไปข้างนอก ปีกมีอยู่แต่ว่าขนยังไม่มี ยังบินไม่ได้ เท้ามีแต่ ยังไม่แข็งแรง ด้วยการทำสัจจกิริยาอย่างนี้ขอให้ไฟป่าหยุด ไฟป่าก็หยุด มาไม่ถึง นี่เป็นความหมายของคำว่า สัจจกิริยา คือ พูดความจริง ความจริงมีอะไรก็พูดออกไป อย่างเช่นที่ลูกนกคุ่มพูด

สุ. ไม่ทราบว่ามีใครคิดจะใช้สัจจกิริยาอะไรบ้างหรือเปล่า หรือนึกไม่ออกเวลาที่มีภัยอันตราย แต่คงจะได้ยินเรื่องเล่าจากญาติมิตรสหายหลายท่านเหมือนกันว่า เวลาที่ท่านได้รับอันตราย ท่านรอดพ้นจากอันตรายนั้นด้วยอะไร อย่างเช่น ท่านผู้หนึ่งคราวที่เรือล่ม ท่านอยู่ใต้แพ ซึ่งมีหลายคนที่จมน้ำตายเพราะว่าออกจากใต้แพไม่ได้ ท่านผู้นั้นระลึกถึงพระคุณของมารดา ขณะนั้นเองก็มีทางออกจากใต้แพนั้นได้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละท่านก็ไม่ทราบทางของกรรม ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลที่จะให้ผล สุดวิสัยที่ใครจะคิดได้ว่า เหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้นเป็นไป เพราะผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แต่ไม่ว่าผลใดๆ จะเกิด ผู้ที่ยังต้องวนเวียนไปอยู่ในสังสารวัฏฏ์ก็รู้ว่า ท่านมีทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหวท่านก็ต้องได้รับผลของกรรมนั่นแหละ จะเปลี่ยนแปลง ผลของกรรมนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพียงแต่เมื่อได้รับผลของกรรมประเภทใดก็ควร ที่จะพิจารณาจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพื่อจะได้ขัดเกลาอกุศล เพราะว่าเป็นของธรรมดาที่ทุกคนย่อมต้องได้รับผลของกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้างในวันหนึ่งๆ

อีกเรื่องหนึ่ง

เล่ากันมาว่า ภิกษุ ๓๐ รูปเข้าจำพรรษาบนเนินชื่อควรวาฬะ ทุกๆ กึ่งเดือน ในวันอุโบสถจะพูดกันถึงมหาอริยวงศ์ ที่พรรณนาถึงการสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และ การยินดีในภาวนา

พระเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง มาภายหลังนั่งในที่กำบัง ลำดับนั้น งูขว้างค้อนตัวหนึ่งได้กัดท่านจนเนื้อหลุด เหมือนเอาคีมคีบเนื้อออกจากปลีแข้ง

พระเถระมองดูเห็นงูขว้างค้อน คิดว่า วันนี้เราจักไม่ทำอันตรายแก่การฟังธรรม ท่านจับงูใส่ลงในย่าม ผูกปากย่ามไว้ แล้ววางไว้ในที่ไม่ไกล นั่งฟังธรรมอยู่ ขณะอรุณขึ้นนั่นเองพิษงูก็สงบ พร้อมกับพระเถระได้บรรลุผลทั้งสามถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคล พิษงูไหลออกจากปากแผลลงดินไป พร้อมกับพระเถระผู้แสดงธรรม จบธรรมกถาในขณะเดียวกันนั้นเอง

ต่อนั้นพระเถระได้พูดว่า อาวุโสทั้งหลาย เราจับโจรได้ตัวหนึ่ง แล้วแก้ถุงย่ามออก ปล่อยงูขว้างค้อนไป ภิกษุทั้งหลายเห็นจึงถามว่า งูกัดท่านเมื่อไร ท่านก็ตอบ ให้ทราบว่า งูกัดท่านเมื่อเย็นวันวาน

ซึ่งพระเถระทั้งหลายที่ได้ฟังก็เห็นว่า เป็นการกระทำที่ทำได้ยากจริงๆ

สำหรับศรัทธาทั่วๆ ไป จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีกำลัง ยังไม่ชื่อว่ามั่นคง เพราะว่าศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว และศรัทธาที่ดับไปนั้น อาจจะไม่เกิดอีกนานก็ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของศรัทธาที่มีกำลังที่มั่นคงใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ทัฏฐัพพสูตร ข้อ ๑๕

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือสติ ๑ กำลังคือสมาธิ ๑ กำลังคือปัญญา ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธา ในที่ไหน พึงเห็นใน โสตาปัตติยังคะ พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธา ในที่นี้

คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดาบันอย่างหนึ่ง และองค์ธรรมของคุณธรรมของพระโสดาบันบุคคลอีกอย่างหนึ่ง

พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่นี้

พึงเห็นกำลัง คือ สติ ในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ สติ ในที่นี้

พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิ ในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิ ในที่นี้

พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญา ในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจ ๔ พึงเห็นกำลัง คือปัญญา ในที่นี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้แล ฯ

จบ สูตรที่ ๕

เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่า ศรัทธาของท่านถึงความเป็นพละ หรือว่ายังไม่ถึง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธา ในที่ไหน พึงเห็นในโสตาปัตติยังคะ คือ องค์เป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดาบัน ๔ ประการ ได้แก่ การคบสัตบุรุษ ๑ ฟังธรรมของท่าน ๑ พิจารณาธรรม ๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

สำหรับโสตาปัตติยังคะซึ่งเป็นคุณธรรมของพระโสดาบัน ๔ ประการ คือ ความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย ในพระพุทธรัตนะ ๑ ในพระธรรมรัตนะ ๑ ในพระสังฆรัตนะ ๑ และในศีล ๑ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล ๕ เลย

เพราะฉะนั้น ศรัทธาของแต่ละท่านในแต่ละวัน จะต้องอบรมจนกว่าจะมีกำลังที่จะเป็นพละอย่างนั้น

ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่นี้

วิริยะ คือ ความพากเพียรในการเจริญกุศล ในการเจริญปัญญา ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เกิดสัมมาสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่เห็นวิริยะ ซึ่งจะต้องอดทนจริงๆ จะต้องมีความเพียรที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

คิดดูก็แล้วกันว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิริยะ ความเพียรที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะมีกำลังก็เมื่อเป็นสัมมัปปธานเกิดร่วมกับสติปัฏฐานระลึกลักษณะของ สภาพธรรม ซึ่งยากจริงๆ ใช่ไหม ให้ทำอย่างอื่นชั่วโมงหนึ่งก็เสร็จ หรือว่า ๓ วันก็เสร็จ อาทิตย์หนึ่งก็เสร็จ เดือนหนึ่งก็เสร็จ แต่การที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยวิริยะที่เป็นสัมมัปปธานซึ่งเกิดร่วมกับสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จะเห็นวิริยะ ความเพียร ซึ่งจะต้องเพียรไปทุกชาติจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้

พึงเห็นกำลัง คือ สติ ในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔

สติวันหนึ่งๆ ที่เกิด เป็นไปในทานก็น้อยครั้ง เป็นไปในศีลก็น้อยครั้ง แต่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของสติเมื่อสติสามารถระลึกได้ ในขณะนี้นั่นเอง ถ้าสติสามารถจะระลึกได้ ก็เรียกว่าเป็นสติที่มีกำลัง

พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิ ในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔

ถ้าพูดถึงความสงบของจิตที่มั่นคง ต้องเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนา เพราะว่าไม่ใช่ขณิกสมาธิที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชั่วขณะ แต่ต้องเป็นความสงบของจิตที่ระลึกในอารมณ์ที่ทำให้สงบจนกระทั่งจิตสงบเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น

พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญา ในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจ ๔

ขณะใดที่รู้แจ้งลักษณะของอริยสัจธรรม แสดงว่าในขณะนั้นเป็นปัญญา ที่มีกำลัง

ประโยชน์ของศรัทธาจะเห็นได้ว่า จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ตั้งแต่ขั้น ของการฟัง และขั้นที่จะพิจารณาตนเอง แก้ไขตนเอง โดยการขัดเกลาอกุศลธรรม จนกระทั่งเป็นศรัทธาในการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พลวรรคที่ ๒ อนนุสสุตสูตร ข้อ ๑๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราบรรลุถึงบารมีอันเป็นที่สุด เพราะรู้ยิ่งในธรรมที่ไม่ได้สดับแล้วในกาลก่อน จึงปฏิญาณได้ กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้ที่เป็นเหตุ ให้ตถาคตผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นหัวหน้า ผู้เป็นใหญ่ บันลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร กำลัง ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือหิริ ๑ กำลังคือโอตตัปปะ ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือปัญญา ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้แล ที่เป็นเหตุให้ตถาคต ผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นใหญ่ บันลือสีหนาทในบริษัท ประกาศ พรหมจักร

แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง การที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องอาศัยศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา เป็นพละ คือ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง มิฉะนั้นก็ไม่สามารถบรรลุได้

เปิด  340
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565