แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1546

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๙


สำหรับศรัทธาของผู้ที่เป็นสาวก วิตถตสูตร ข้อ ๑๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือสติ ๑ กำลังคือสมาธิ ๑ กำลังคือปัญญา ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง คือ ศรัทธา เป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของ พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่ากำลัง คือ ศรัทธา

ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า มีศรัทธา ความเชื่อในการตรัสรู้ของ พระผู้มีพระภาค หรือว่ายังสงสัย ยังคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ยังคิดว่าไม่จริงที่สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป

นี่เป็นความต่างกันของผู้ฟังพระธรรมและพิจารณาในเหตุผล กับผู้ที่ไม่ได้ฟัง หรือว่าได้ฟังแล้วแต่ไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ข้อที่จะรู้ได้ คือ การปฏิบัติ ถ้าเป็น ผู้ที่เชื่อแน่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสังขารธรรม ที่กำลังเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ถ้าเชื่ออย่างนี้จริงๆ ผู้นั้นปฏิบัติไม่ผิด คือ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จากการไม่รู้เลยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งรู้โดยการฟัง เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม และสังเกตพิจารณา แม้ว่ายังไม่สามารถแยกลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่โดยการฟังบ่อยๆ รู้ว่า สภาพรู้เป็นอย่างหนึ่ง ธาตุรู้เป็นอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ กำลังปรากฏทางตา ถ้าไม่หลงลืม ระลึกได้ ก็เป็นผู้ที่มีความเชื่อในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค เพราะว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง

ก็กำลัง คือ วิริยะ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อ ละอกุศลธรรม ...ฯลฯ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือ วิริยะ

ดูสั้นๆ ใช่ไหม ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมักจะละ เพราะว่าท่านผู้ฟังที่อ่าน หรือที่ฟังก็อาจจะเบื่อ แต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงชี้ให้เห็น สิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งละไม่ได้ ต้องทรงแสดงโดยครบถ้วน แต่ เมื่อข้อความซ้ำกัน ข้อความในพระไตรปิฎกก็ละไว้ เพราะได้กล่าวถึงแล้ว และ มีปรากฏในที่อื่นๆ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ทราบแล้ว แต่จะเห็นได้ว่า วิริยะของใครมีมากในการที่จะขัดเกลาอกุศล สิ่งที่ไม่ดี ซึ่งไม่มีคนอื่นจะเอาออกไปได้ นอกจากสติ ระลึกได้และรู้ว่าเป็นอกุศลขณะใด ก็เกิดศรัทธาและความเพียรที่จะขัดเกลาในขณะนั้น

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็กำลัง คือ สติ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติ เครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยมระลึกตามแม้สิ่งที่ทำแม้คำที่พูดไว้นานได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ สติ

. ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความเรื่องความเลื่อมใสในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และในศีล ที่ว่าเป็นโสตาปัตติยังคะ เป็นองค์ให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ความเลื่อมใสนี้ หมายถึงเลื่อมใสอย่างที่เราเคารพกราบไหว้บูชา เลื่อมใสในการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ อย่างที่ทำอยู่นี้ หรือขั้นไหนที่จะ ถือว่าเป็นองค์คุณให้ได้เป็นพระโสดาบัน

สุ. ผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยถึงไตรสรณคมน์ มี ๒ อย่าง คือ โลกียไตรสรณคมน์ กับโลกุตตรไตรสรณคมน์ ถ้าเป็นโลกียไตรสรณคมน์ก็กล่าววาจาว่า ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ไม่มั่นคงเท่ากับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในวันใดวันหนึ่ง

บางท่านอาจจะเปลี่ยนความเชื่อ เห็นว่าคำสอนของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ช่วยชีวิตของเขา คิดว่าถ้าไปเลื่อมใสในลัทธิคำสอนอย่างอื่น เขาอาจจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ความเชื่อนั้นคลอนแคลนไม่มั่นคงได้

แต่สำหรับผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะโดยรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยบุคคล ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในภพไหน ชาติไหน เพราะว่า ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ศรัทธาในการที่จะศึกษาและฟังพระธรรมก็ยังเปลี่ยนได้ง่ายๆ บางวาระเป็นผู้ที่มีศรัทธามาก และเมื่อหายไปนาน ศรัทธาก็หายไป และกลับมาใหม่ ก็เป็นไปได้ แต่บางท่านก็ไม่กลับเลย บางท่าน ๒๐ ปีจึงกลับมา แต่ ถ้าท่านสิ้นชีวิตก่อน ๒๐ ปี ศรัทธาที่ท่านเคยมี ก็ไม่ทราบว่าจะเจริญเติบโต ต่อได้อีกหรือเปล่า ถ้าเกิดในภพภูมิซึ่งไม่มีคำสอนของพระผู้มีพระภาค

บางท่านเคยฟังรายการธรรมเช้าค่ำ ไปๆ มาๆ ก็อาจจะเหลือแค่ตอนเช้า ค่ำไม่ฟัง ก็เป็นไปได้ นี่ก็เป็นเรื่องของศรัทธา

. วิริยะที่จะเป็นพละ คงต้องเป็นวิริยะในสภาพธรรมตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

สุ. ต้องได้แก่สัมมัปปธาน ซึ่งเกิดร่วมกับสัมมาสติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

. อะไรๆ ก็คงไม่พ้นที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

สุ. ต้องอาศัยวิริยะมากมายจริงๆ วันนี้เกิดเท่าไร น้อยเหลือเกิน ใช่ไหม แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งธุระ ยังไม่หมดหวัง ยังมีวิริยะความพากเพียรต่อไปที่จะระลึกอีก แม้ว่าจะน้อยอีก วันหนึ่งๆ ที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมน้อยเท่าไรก็ตาม ก็ไม่สิ้นวิริยะที่จะระลึกต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น วิริยะที่ได้สะสมที่เป็นสัมมัปปธาน ก็จะเป็นวิริยะพละ เป็นวิริยะที่มีกำลัง

ในเรื่องของกำลัง คือ สติ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยม ระลึกตามแม้สิ่งที่ทำแม้คำที่พูดไว้นานได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ สติ มีข้อสงสัยไหม

. ระลึกได้แม้สิ่งที่ล่วงมานานแล้ว ไม่ทราบว่าจะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. ไม่จำเป็น ทุกคนคิดทุกวัน และบางคนก็คิดถึงเรื่องในอดีต เคยทำอะไร เคยพูดอะไร ก็จำได้ แต่ตามปกติธรรมดาจิตที่ระลึกนั้นเป็นอกุศล แล้วแต่ว่าจะระลึกด้วยโลภะ ความพอใจ หรือระลึกด้วยความขุ่นเคืองใจ ความไม่สบายใจ นั่นเป็น การระลึกด้วยโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง แต่สำหรับสติ จะต้องเป็นการระลึก ด้วยกุศล สภาพของจิตที่ระลึกต้องเป็นกุศล ระลึกถึงสิ่งที่เคยทำหรือคำที่เคยพูดไว้ เพื่อพิจารณาว่าถูกหรือผิดประการใด และแก้ไข

ถ้าระลึกถึงสิ่งที่เคยทำไม่ดี มีประโยชน์ไหม ถ้าระลึกด้วยความกังวลและ ขุ่นข้องใจ ขณะนั้นเป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติ แต่ถ้าในขณะนั้นระลึกและเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี และรู้ด้วยว่าไม่ควรที่จะกระทำอีกต่อไป ในขณะนั้นเป็นมหากุศลที่ระลึกเรื่องที่เคยทำหรือว่าคำที่เคยพูดไว้

. หมายความว่า ต้องเป็นในทางกุศลอย่างเดียว

สุ. แน่นอน ถ้าเป็นสติต้องเป็นกุศล มิฉะนั้นก็เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก

. ขณะที่สติเกิด จะมีสัมปชัญญะร่วมทุกครั้งหรือเปล่า

สุ. ถ้าเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่มี

. สติที่เป็นความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ไม่เข้าใจว่า ต้องแยกกันหรือเปล่า

สุ. ต้องแยกกัน เวลาที่กล่าวถึงสติสัมปชัญญะ ลักษณะของสติสัมปชัญญะจะแยกเลยว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างไร กิจของสติเป็นอย่างไร อาการปรากฏของสติเป็นอย่างไร และลักษณะของสัมปชัญญะเป็นอย่างไร กิจของสัมปชัญญะเป็นอย่างไร แต่เวลาที่พูดรวมกัน สติสัมปชัญญะ ต้องหมายความถึง สติเจตสิกและปัญญาเจตสิก ซึ่งในขณะใดที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่มีแต่สติเจตสิกเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณาในเหตุผล และมีความเข้าใจ ขณะนั้นต้องเป็นสติสัมปชัญญะ คือ ต้องมีปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัมปชัญญะเกิดร่วมกับสติ นั้นด้วย

. ถ้าอย่างนั้น ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน สติเกิดแต่ละครั้งในขณะที่พิจารณารูปธรรมและนามธรรม ในขณะนั้นชื่อว่ามีสัมปชัญญะด้วย ใช่ไหม

สุ. เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่พิจารณาสังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าลักษณะของปัญญายัง ไม่ปรากฏชัด แต่ที่ปัญญาจะเจริญได้ ต้องเริ่มจากการสังเกต พิจารณา ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เกื้อกูลกันเป็นลำดับขั้น

. เป็นไปได้ไหม ขณะที่เห็นแล้ว ยังไม่ได้มีความรู้ในลักษณะของสภาพรู้ในสิ่งที่เห็น แต่เกิดไประลึกรู้ในเสียงก่อน

สุ. รู้ในสิ่งไหน

. อย่างเห็นแล้วยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร เป็นบัญญัติอะไร แต่ในขณะนั้นเกิดได้ยินเสียง และไประลึกรู้ที่เสียงก่อนอย่างนี้

สุ. เป็นไปได้ เพราะว่าการรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ แต่ละทวาร มี หลายวาระ บางวาระก็เป็นโมฆะวาระ คือ เป็นเพียงแค่อตีตภวังค์และภวังคจลนะ วิถีจิตไม่เกิดเลย บางวาระก็เป็นการรู้อารมณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ ชวนจิตไม่เกิด แต่การเห็น จักขุวิญญาณเกิดแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็รู้สึกคล้ายว่าเห็น แต่ยังไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร

. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะทราบถึงทุกข์ได้อย่างไรในขณะที่ระลึกรู้ สภาพธรรม หรือทราบเฉพาะเมื่อทุกขเวทนาที่เกิดเป็นโทมนัสหรือเป็นทุกข์กายเท่านั้น

สุ. ในสติปัฏฐานไม่ได้กล่าวไว้อย่างนั้นเลย สติปัฏฐานมี ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย เห็นกายว่าเป็นกายไม่ใช่เรา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพความรู้สึกทุกชนิด ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น มีทั้งที่เป็นอุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา หรือทุกขเวทนา หรือโทมนัสเวทนา แล้วแต่สภาพธรรมใดเกิดขึ้นและสติระลึก ไม่ใช่ว่าต้องไปรู้ทุกข์

. เพียงกำหนดรู้เฉพาะที่เวทนาที่เกิดขึ้น ใช่ไหม

สุ. ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้

ขอกล่าวถึงข้อความในพระสูตรนี้ต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็กำลัง คือ สมาธิ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบไป บรรลุทุติยฌานอันเป็นความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า กำลัง คือ สมาธิ

ก็กำลัง คือ ปัญญา เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่หยั่งถึงการเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า กำลัง คือ ปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้แล ฯ

จบ สูตรที่ ๔

ศรัทธาที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ ประการใดทั้งสิ้น ถ้าศรัทธาไม่เกิด กุศลกรรมนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย แต่บางท่านอาจจะกระทำไปโดยที่ไม่ได้สังเกต ไม่มีการระลึกได้ว่าในขณะนั้น เป็นกุศลกรรม และเมื่อเป็นผู้ที่ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ของศรัทธา ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ไม่ใช่จะต้องรอผลไปจนถึงชาติหน้า

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัทธานิสังสสูตร ข้อ ๓๘ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัปบุรุษผู้สงบในโลกทุกๆ ท่าน เมื่อจะอนุเคราะห์ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่อนุเคราะห์ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่ต้อนรับผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่แสดงธรรมแก่ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของชนเป็นอันมาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฯ

ต้นไม้ใหญ่สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้นแข็งแรง มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุข ผู้ต้องการความร่มเย็นย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา ผู้ต้องการผลก็ย่อมบริโภคผลได้ฉันใด ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นบุญเขตในโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธาซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคงฉันนั้นเหมือนกัน ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาเข้าใจทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้หมดอาสวกิเลส ปรินิพพาน ฯ

จบ สูตรที่ ๘

ต่อไปถ้าท่านมีความสนใจในการเผยแพร่พระธรรม ท่านย่อมอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีความสนใจในธรรม เพราะว่าผู้ที่มีศรัทธา เปรียบเสมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะถ้ามีศรัทธาที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นในเรื่องธรรม ก็ย่อมมีหนทางที่จะทำได้ โดยการสนทนาธรรม และมีธัมมปฏิสันถาร

การสงเคราะห์ผู้ที่มีศรัทธาก่อน เป็นการสะดวก เป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์โดยไม่ยาก ไม่เหมือนกับผู้ที่ไม่มีศรัทธา แม้ว่าจะพยายามชักจูงสักเท่าไร ก็อาจจะไม่มีความคิดที่จะเจริญกุศลก็ได้

. เวลานี้มีศรัทธาแล้ว แต่ยังตื่นตีสี่ครึ่งฟัง ตชด. ไม่ได้ อาจารย์ช่วยเพิ่มศรัทธาให้ผมหน่อย

สุ. พยายามตื่น ตั้งนาฬิกาปลุก และฟังติดต่อกันสัก ๗ วัน

ถ. ๗ วัน

สุ. ให้เวลา ๗ วัน ถ้าทำจริงๆ แล้ว จะตื่นได้ เพราะว่าเคยมีท่านที่ ๖ โมงเช้าไม่ตื่น ต้องใช้นาฬิกาปลุก ฟังติดต่อกัน ๗ วัน ตั้งแต่นั้นมาก็บอกว่า เหมือนมีนาฬิกาในหัวใจ

เปิด  250
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565