แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1554

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๙


เรื่องของการหลงลืมสติ ขาดสติ เป็นอันตรายจริงๆ ทำให้ภิกษุบางรูปขัดใจกับภิกษุบางรูป และยังมีภิกษุที่มาดร้ายต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่กับภิกษุด้วยกัน

อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค มธุปิณฑิกสูตร มีข้อความที่แสดงถึงความขาดสติของท่านพระเทวทัต เป็นเหตุให้กระทำการต่างๆ ที่เห็นผิดเป็นชอบ แม้ในการที่ท่านบวช บางท่านอาจจะมีความเห็นถูกในการบวช แต่สำหรับท่านพระเทวทัต ท่านไม่ได้พิจารณาธรรมตามควรแก่ธรรม เพราะว่า สติไม่เกิด ไม่เป็นโสภณธรรม ไม่ใช่กุศลจิตในขณะนั้น เนื่องจากท่านมีความเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีเวรกับตระกูล ไม่ทรงหวังความเจริญแก่พระนางยโสธราพิมพา ซึ่งควรที่จะได้เป็นพระมเหสี ไม่ทรงยินดีกับความเจริญของตระกูลของท่าน เมื่อให้ท่านพระราหุลบวช

นี่คือความคิดของคนที่ขาดสติ ซึ่งย่อมจะพิจารณาในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ เห็นผิดเป็นชอบ และเมื่อท่านพระราหุลผู้เป็นหลานของท่านบวชแล้ว ท่านก็ไม่เห็นความเจริญของการเป็นฆราวาสอีกต่อไป ท่านจึงได้บวชตาม

นี่คือการที่ท่านบวช และระหว่างบวชนั้นท่านมีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีเวรกับตระกูลของท่าน แม้ว่าบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ยังไม่หมดทิฏฐิ คือ ความเห็น ความคิดอย่างนั้น

ท่านคิดว่าตั้งแต่วันที่ท่านบวช พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงมองดูท่าน แม้ผู้บวชอย่างนี้ด้วยพระเนตรตรงๆ และแม้เมื่อตรัสในท่ามกลางบริษัทก็ เหมือนประหารด้วยคำเท็จมากหลาย เช่น ตรัสว่าเทวทัตเป็นสัตว์อบาย ดังนี้ นอกจากท่านจะยุยงภิกษุด้วยกันแล้ว ท่านยังยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูด้วย

แสดงให้เห็นว่า จิตวิจิตรมาก ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศล หรือทางฝ่ายอกุศล แม้แต่พระผู้มีพระภาค ท่านพระเทวทัตก็กลับเห็นว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมองดูท่านแม้ผู้บวชอย่างนี้ด้วยพระเนตรตรงๆ แสดงว่า ไม่เห็นในพระมหากรุณา ไม่เห็นใน พระบริสุทธิ์คุณ และพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคตามความเป็นจริง

และมีข้อความที่กล่าวว่า

พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงทะเลาะกับชาวโลก แต่ชาวโลกทะเลาะกับ พระผู้มีพระภาค

ฟังดูเป็นธรรมดา ใช่ไหม สำหรับพระอรหันต์ซึ่งหมดจดจากกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงทะเลาะกับชาวโลก และเป็นธรรมดาอีกเหมือนกันที่ แต่ชาวโลกทะเลาะกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะ พระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า ไม่เที่ยง แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า เที่ยง พระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า ทุกข์ แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า สุข พระผู้มีพระภาค ตรัสความจริงว่า อนัตตา แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า อัตตา พระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า ไม่งาม แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า งาม

เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่า กำลังทะเลาะกับพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า สำหรับชาวโลกที่ยังเห็นว่า เที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตา

นี่คือความละเอียดที่จะต้องพิจารณาธรรมด้วยสติ

ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะของผู้ที่หลงลืมสติ ขาดสติ เพราะว่าแต่ละท่านถ้าไม่เป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ และรู้ว่าเมื่อใดสติเกิดเมื่อนั้นเป็นกุศล แต่หลงลืมสติ และมุ่งจะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสติมีหลายขั้นตามเหตุตามปัจจัย ตามกาละ ตามเทศะ ในชีวิตประจำวันจริงๆ

ถ้าเป็นผู้ที่ไม่พิจารณาทุกอย่างด้วยสติ หลงลืมสติ และเป็นผู้ที่เห็นผิดเป็นชอบ และไม่ขัดเกลากิเลสเลย อกุศลทั้งหลายย่อมเจริญจนปรากฏลักษณะของความเป็น ผู้ที่หลงลืมสติ ถึงขั้นของความขาดสติ

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสัจจกสูตร ข้อ ๓๙๒ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลี

ท่านที่มีโอกาสได้ไปพระนครเวสาลี จะได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตร อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์

นี่คือลักษณะของความขาดสติ

ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี เขากล่าววาจาในที่ประชุมชน ในเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภ โต้ตอบวาทะกับเราจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าว ไปไยถึงมนุษย์เล่า

มีจริงๆ บุคคลอย่างนี้ ไม่ใช่ไม่มี เพราะว่าเป็นข้อความที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก นอกจากนั้นท่านผู้นี้ยังกลัวว่าท้องจะแตกเพราะเต็มไปด้วยปัญญา ท่านถึงกับเอาแผ่นเหล็กคาดท้องเที่ยวไป

ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชินุ่งสบงแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี สัจจกนิครนถ์เดินเที่ยวยืดแข้งขาอยู่ในเมืองเวสาลีได้เห็นท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ที่ไกล ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามท่านพระอัสสชิว่า

ดูกร ท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และ คำสั่งสอนของพระสมณโคดมมีส่วนอย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก

ท่านพระอัสสชิบอกว่า

ดูกร อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน

ดูกร อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย

ทุกกาลสมัยจะไม่พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ใครเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วที่เมืองเวสาลี ที่พระวิหารเชตวัน และมีโอกาสจะได้ฟังอีก แต่ยังไม่ประจักษ์รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ก็ต้องฟังต่อไป เพื่อให้สติเกิดระลึกได้และศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง แต่จะไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงเลย

สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า

ดูกร ท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังว่า พระสมณโคดมมีวาทะอย่างนี้ เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้ฟังไม่ดีแล้ว ถ้ากระไรบางทีข้าพเจ้าจะพบกับพระสมณโคดม ผู้เจริญนั้น จะได้สนทนากันบ้าง ถ้ากระไรข้าพเจ้าจะพึงช่วยปลดเปลื้อง พระสมณโคดมเสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้นได้

ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ องค์ ประชุมกันอยู่ในอาคารเป็นที่ประชุม ด้วยกรณียกิจบางอย่าง สมัยนั้น สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ครั้นเข้าไปแล้วได้กล่าวว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน วันนี้ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักตั้งอยู่ตามคำที่ภิกษุชื่ออัสสชิซึ่งเป็นสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจัก ฉุดกระชากลากถ้อยคำพระสมณโคดมมาด้วยคำข้าพเจ้า ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลัง จับแกะอันมีขนยาวที่ขนแล้วลากมาลากไป ฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนที่ทำการงานในโรงสุราซึ่งมีกำลัง วางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึก แล้วจับที่มุมชักลากฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดถ้อยคำ พระสมณโคดมเสีย ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงสุราจับถ้วยที่หูแล้ว สลัดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนอย่างที่คนเขาเล่นกีฬา ชื่อสาณโธวิก ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัยล่วงหกสิบปี จึงจะถอยกำลัง ลงสู่สระโบกขรณีมีลำน้ำลึก แล้วเล่นกีฬาชนิดที่ชื่อว่าสาณโธวิก ฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม

ท่านผู้ฟังอยากไปด้วยไหม ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนั้นจริงๆ คงจะไปแน่ๆ จะได้ฟังสัจจกนิครนถ์สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาค คงไม่ละเว้นโอกาสนั้นเป็นแน่

ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไรพระสมณโคดมจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะได้ ที่แท้ท่านสัจจกะกลับยกถ้อยคำของพระสมณโคดมเสีย

คนที่เห็นอย่างนี้ก็มี คือ เห็นว่าสัจจกนิครนถ์สามารถทำให้พระผู้มีพระภาคตามคำของสัจจกนิครนถ์ได้

บางพวกกล่าวว่า ท่านสัจจกะเป็นอะไรจึงจักยกถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้พระผู้มีพระภาคกลับจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะเสีย

ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์มีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ ห้อมล้อมแล้ว เข้าไปยังกูฏาคาศาลาป่ามหาวัน

นับว่าเป็นคนกล้ามาก เพราะว่าบางคนพูดว่าจะไปเฝ้า แต่ถึงเวลาจริงๆ ไปไม่ได้ ตัวสั่น ไม่สามารถแม้ที่จะขยับเขยื้อน แม้มีคนบอกว่า ท่านเคยบอกว่า ท่านจะไป ท่านต้องไป ก็ยังไม่สามารถที่จะไปได้ แต่สำหรับสัจจกนิครนถ์เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความเห็นของตนเองมาก

สมัยนั้น ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง สัจจกนิครนถ์เข้าไปหา แล้วถามว่า

ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้พระสมณโคดมนั้นอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดมนั้น

ภิกษุทั้งหลายนั้นบอกว่า

ดูกร อัคคิเวสสนะ พระผู้มีภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน ประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง

ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดและคำพูดของสัจจกนิครนถ์ จึงได้เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน เพราะว่าในพระวิหารมีที่นั่งไม่พอ เพื่อความสะดวกจึงได้เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน

ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์พร้อมด้วยพวกเจ้าลิจฉวีมีจำนวนมาก เข้าไปสู่ป่า มหาวันจนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาท บางพวกทูลปราศรัย บางพวกประนมมือ บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตนในสำนักพระผู้มีพระภาค บางพวกก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ก็น่าดู น่าเห็น มีการกระทำต่างๆ กัน เพราะว่าใจมนุษย์ต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย แม้แต่การที่จะได้พบได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

ในอรรถกถาอธิบายว่า

พวกเจ้าลิจฉวีที่อัญชลี คือ ไหว้พระผู้มีพระภาคนั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกสัจจกนิครนถ์ท้วงว่า ไหว้พระสมณโคดมทำไม ก็จะตอบว่า ไหว้อะไรกัน เพียงประนมมือเท่านั้น

นี่คือความคิดของคน กลัวคนอื่นจะมองในแง่ไหน จะคิดในแง่ไหน จะเป็นมิตรในแง่ไหน จะเข้าใจในแง่ไหน จะติจะชมในแง่ไหน ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ถูก แม้แต่ การที่จะแสดงความอ่อนน้อมความเคารพโดยสถานหนึ่งสถานใดย่อมทำได้ แต่ แม้กระนั้นผู้ที่หวั่นไหวด้วยอกุศลก็ยังคิดว่า ถ้าไหว้แล้วพวกสัจจกนิครนถ์ท้วงว่า ไหว้พระสมณโคดมทำไม ก็จะตอบว่า ไหว้อะไรกัน เพียงประนมมือเท่านั้น

ถ้าเป็นพวกที่นอบน้อมในพระผู้มีพระภาคท้วงว่า ทำไมท่านไม่ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคเล่า เขาก็จะตอบว่า ทำไมการถวายบังคมจะต้องศีรษะจรดพื้นเล่า เพียงอัญชลีกรรมก็เป็นการถวายบังคมมิใช่หรือ

นี่แสดงถึงความหวั่นไหว แม้แต่การที่จะถวายบังคม

ผู้ที่ประกาศชื่อและผู้ที่ประกาศโคตร ก็คิดที่จะให้ผู้ที่อยู่ในหมู่ชนนั้นรู้ว่า เป็นบุตรของตระกูลเก่า ส่วนพวกที่นั่งนิ่ง บางพวกก็คิดว่า ถ้าสนทนากันแม้เพียง ๒ คำ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้คุ้นเคยกัน เมื่อคุ้นเคยกันอยู่ จะไม่ถวายภิกษาสักหนึ่งหรือ สองทัพพี ก็ไม่ควร เพื่อที่จะให้ตนพ้นจากความคุ้นเคยนั้น จึงพากันนั่งนิ่ง

ส่วนพวกที่นั่งนิ่งอีกพวกหนึ่งนั้น ก็นิ่งเพราะไม่รู้ว่าควรจะกระทำอย่างไร

แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ต่างกันไป ทุกกาลสมัย

ข้อความต่อไปมีว่า

สัจจกนิครนถ์พอนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าพระโคดมจะทำโอกาสเพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด

สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระโคดมมีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา มีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญา ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้

ดูกร อัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา มีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย

เมื่อสัจจกนิครนถ์ได้ฟังก็เข้าใจว่า ตัวเองเป็นผู้ที่เก่งกว่าพระผู้มีพระภาค จึงขอโอกาสที่จะอุปมา และได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ท่านพระโคดม ขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า

คือ ขอโอกาสที่จะอุปมา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อัคคิเวสสนะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด

สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

พระโคดม เหมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมด ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องทำด้วยกำลังอันบุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงทำกันได้ ฉันใด ปุริสบุคคลนี้มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น

เปิด  259
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565