แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1570

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


บุญญกิริยาวัตถุประการที่ ๓ คือ ปัตตานุโมทนา

นี่เป็นสิ่งที่จะพิสูจน์หิริโอตตัปปะในจิตใจของท่าน เมื่อทราบว่าบุคคลอื่น ทำกุศล ก็ควรที่จะอนุโมทนา ไม่ยากเลย เพราะท่านไม่ได้เหนื่อยที่จะต้องกระทำ แต่กุศลนั้นก็ได้สำเร็จไปแล้วด้วยการกระทำของคนอื่น เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้อนุโมทนาในกุศลของบุคคลนั้นจริงๆ แต่ถ้าขณะใดไม่อนุโมทนา ในขณะนั้นหิริโอตตัปปะไม่เกิดแน่นอน ซึ่งขณะนั้นควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะอะไร และน่าที่จะเห็นได้ชัดเจน ถ้าไม่เป็นผู้ที่เข้าข้างตัวเอง เป็นผู้ที่ตรง ก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นอะไรเป็นเหตุให้ไม่อนุโมทนา

อวิชชา ความไม่รู้ อหิริกะ ความไม่ละอาย อโนตตัปปะ ความไม่กลัว อกุศลธรรม เป็นเหตุให้อกุศลอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น ริษยา หรือความแข่งดีก็ได้ ความมานะ สำคัญตนต่างๆ เหล่านี้ ทันทีที่ไม่อนุโมทนา ควรจะเป็นอนุสสติได้แล้ว เตือนให้ระลึกได้ เพราะแม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทำให้เห็นสภาพของอกุศลธรรมในขณะนั้น ซึ่งกำลังปรากฏ

ใครที่ไม่เคยเห็นอกุศลก็คงจะบอกว่า เห็นยาก ทางตาในขณะนี้อกุศลเกิดได้อย่างไร ทางหูในขณะนี้กุศลเกิดได้อย่างไร แต่เวลาใครทำกุศลแล้วไม่อนุโมทนา เป็นเวลาที่จะเห็นอกุศลได้ชัดเจนว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรมซึ่งเกิดกับตัวท่าน ที่จะให้สังเกต ให้รู้ชัดได้ว่า ในขณะนั้นไม่สามารถที่จะอนุโมทนาได้ แม้เพียงด้วย กุศลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง การอนุโมทนา บางครั้งก็เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขา และบางครั้งก็เป็นกุศลจิต ที่เกิดร่วมกับโสมนัส แล้วแต่กาล แล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าเป็นกุศลที่กระทำได้ยาก และมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำ ก็เป็นปัจจัยพอที่จะให้จิตของท่านเกิดยินดีด้วย ด้วยความรู้สึกโสมนัสปีติที่ท่านผู้นั้นสามารถกระทำกุศลที่กระทำได้ยาก แต่ถ้าเป็น กุศลทั่วๆ ไป เล็กๆ น้อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บุคคลที่ห่างไกล หรือเป็นบุคคลที่ห่างไกลก็ตาม แต่ถ้าเป็นกุศลซึ่งเกิดได้โดยไม่ยาก และท่านเกิดอนุโมทนาได้ อย่างเห็นใครช่วยเหลือใครแม้เพียงเล็กน้อย ก็พอที่จะสังเกตลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ว่า ท่านยินดีด้วยในกุศลของคนนั้นด้วยจิตประเภทไหน ขณะนั้นเป็นอุเบกขาหรือว่าเป็นโสมนัส เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนพอที่จะสังเกตเห็นลักษณะของหิริ และโอตตัปปะได้ เวลาที่กุศลจิตเกิด

สำหรับบุญญกิริยาวัตถุประการที่ ๔ คือ ศีล

ที่เป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ก็ย่อมจะเห็นลักษณะของหิริโอตตัปปะ ได้ง่าย ใช่ไหม ในขณะที่เว้นการฆ่าสัตว์ เว้นการถือเอาสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน เว้นการประพฤติผิดในกาม ซึ่งเป็นไปทางกายขณะใด ขณะนั้นก็เห็นสภาพ ของหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก

สำหรับทางวาจา ขณะใดที่เว้นคำพูดเท็จ คำพูดหยาบคาย คำพูดส่อเสียด คำพูดเพ้อเจ้อ ในขณะนั้นก็เห็นหิริโอตตัปปะได้เหมือนกัน เพราะว่าตามปกติธรรมดาทางวาจามักจะคล้อยไปในทางอกุศลโดยง่าย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดวิรัติ แม้แต่คำพูดเท็จก็ไม่พูด ในขณะนั้นก็ยิ่งสามารถเห็นลักษณะของหิริ ความละอาย ความรังเกียจอกุศลธรรมที่จะพูดเท็จในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เว้นไม่พูดเท็จ ขณะนั้นก็เห็นหิริโอตตัปปะ ขณะใดที่ เว้นคำพูดหยาบคาย ขณะใดที่เว้นคำพูดส่อเสียด ขณะใดที่เว้นคำพูดเพ้อเจ้อ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต

บางท่านพูดคำไม่จริงง่ายมาก จนเกือบจะเป็นปกติธรรมชาติ เพราะขาดหิริโอตตัปปะ แต่ควรทราบว่า ในขณะนั้นกำลังสะสมอุปนิสัยที่เป็นอกุศลแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งต่อไปเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ก็ย่อมจะกระทำได้โดยง่าย เพราะว่า เรื่องเล็กน้อย ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องพูดไม่จริง ก็ยังพูด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ก็จะยิ่งมีข้ออ้าง หรือมีข้อแก้ตัวที่จะพูด แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลทางวาจา ในเรื่องของการเป็นผู้ที่พูดคำเท็จ ก็จะทำให้เกิดหิริและระวังที่จะ ไม่พูดคำที่ไม่จริง

สำหรับวจีทุจริตมี ๔ คือ พูดคำเท็จ ๑ พูดคำหยาบคาย ๑ พูดคำส่อเสียด ๑ พูดคำเพ้อเจ้อ ๑

วจีสุจริตก็มี ๔ คือ พูดคำจริง ๑ พูดคำอ่อนหวาน ๑ พูดคำไม่ส่อเสียด ๑ พูดคำพอประมาณ ๑

และในเรื่องของวาจา กุศลจะละเอียดขึ้นๆ เช่น ถึงแม้จะเป็นวาจาที่มีประโยชน์ในทางโลก แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในทางธรรม ก็เป็นเดรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น เวลาที่คำนึงถึงประโยชน์ จะต้องเข้าใจให้ชัดเจนละเอียดขึ้นว่า คำพูดใดๆ ก็ตามที่เป็นประโยชน์ในทางโลกทั้งหมดซึ่งไม่ใช่ธรรม ไม่เป็นคำพูดที่เป็นทางไปสู่สวรรค์ หรือ มรรคผลนิพพาน คำพูดนั้นทั้งหมด เป็นเดรัจฉานกถา

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเว้นวจีทุจริตแล้วก็ตาม แต่คำพูดในวันหนึ่งๆ พูดในเรื่องของธรรมหรือเปล่า ถ้าพูดในเรื่องของธรรม ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องความสงบของจิต ในเรื่องของการเจริญปัญญา ในเรื่องของการละอกุศล ในเรื่องของการเจริญกุศล เมื่อเป็นอย่างนี้จริงๆ เท่านั้น ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เดรัจฉานกถา

วันหนึ่งๆ คนที่เกิดมามีอกุศลจิตเป็นพื้น และเมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา หรือว่าได้ยินเสียงทางหูก็ตามแต่ อกุศลจิตย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิกก็คิดตามสิ่งที่เห็น ตามเสียงที่ได้ยิน แต่จะคิดถูกคิดผิด มากน้อยอย่างไร เป็นกุศลเป็นอกุศลอย่างไร ซึ่งบางครั้งวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก ก็ยังไม่ถึงกับเป็นปัจจัยให้เกิดวจีวิญญัติรูปที่จะทำให้เกิดเสียงเป็นคำพูดตามความคิดออกมา เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความคิดในใจ แต่ก็เห็นกำลังของอกุศลอีกขั้นหนึ่ง คือ ไม่ใช่เพียงคิดในใจ แต่ยังกล่าวออกมาเป็นวาจาอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ เรื่องที่จะสังวร เรื่องที่จะระวัง เรื่องที่หิริจะเจริญขึ้น ที่จะมีความละอายรังเกียจอกุศลธรรม และมีความกลัวต่ออกุศลธรรมเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาคำพูดทางวาจา

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๓ ข้อความโดยย่อมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ววัสสการพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

นี่เป็นวิตกวิจารเจตสิกที่กำลังคิดอย่างนั้น จึงเป็นปัจจัยให้มีวจีวิญญัติรูป ทำให้เกิดวาจาอย่างนั้น คือ วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า

ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ทราบทางจมูก ทางลิ้น ทางกายว่า เราทราบอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตน รู้แจ้งทางใจ (คือ ที่ตนคิด) ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี

นี่เป็นความเห็นของวัสสการพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

ดูกร พราหมณ์ แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรม เจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นนั้นว่า ควรกล่าว

สิ่งที่ได้ฟัง สิ่งที่ได้ทราบ สิ่งที่รู้แจ้งทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ แล้วหลีกไป ฯ

นี่ก็เป็นหิริโอตตัปปะได้ ที่จะได้พิจารณาสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และสิ่งที่รู้แจ้งคือคิดนึกทางใจว่า สิ่งใดควรกล่าว และสิ่งใด ไม่ควรกล่าว มิฉะนั้นแล้วหิริโอตตัปปะก็จะไม่เป็นธรรมที่คุ้มครองโลก แต่เพราะว่า หิริละอายต่ออกุศล โอตตัปปะกลัวต่ออกุศล จึงเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก ไม่ให้เดือดร้อนทั้งทางกาย ทั้งวาจา และใจ

ไม่มีท่านผู้ใดทราบว่า วัสสการพราหมณ์มีหิริโอตตัปปะในขั้นใดและ ในเรื่องใดบ้าง แต่เมื่อได้ฟังก็ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค แต่เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็เกิดเป็นลิงในป่าไผ่ เพราะท่านได้กล่าวคำที่ไม่สมควรถึงท่านพระมหากัจจายนะ และไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะขอโทษ แม้ว่าพระผู้มีพระภาค จะทรงพยากรณ์ว่า ถ้าท่านไม่ขอให้ท่านพระมหากัจจายนะอดโทษให้จะเกิดเป็นลิง ในป่าไผ่ ท่านก็ให้คนไปปลูกต้นกล้วย ของกิน ของเคี้ยวของลิงไว้พร้อมที่จะไปเกิดเป็นลิง เพราะว่าหิริโอตตัปปะไม่เกิดพอที่จะเห็นโทษของอกุศล

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ณ พระวิหารเวฬุวันเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ก็ยังเป็นโอวาทที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาเตือนพุทธบริษัท ผู้ที่ยัง ไม่เกิดหิริโอตตัปปะในเรื่องใดให้พิจารณา ให้เห็นการที่ควรเพิ่มหิริโอตตัปปะขึ้น ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่มีใครรู้อกุศลของแต่ละคนว่า จะเกิดมีกำลังขึ้นมาขณะไหน หรือว่าเกิดจะเป็นผู้ที่ว่าง่าย อ่อนโยน พร้อมที่จะเกิดหิริโอตตัปปะในอกุศลในขณะใด

สำหรับบุญญกิริยาวัตถุประการที่ ๕ คือ อปจายนะ ความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ ควรอ่อนน้อม

นี่ก็เป็นการกระทำทางกายที่ย่อมจะเห็นสภาพของหิริโอตตัปปะได้ เพราะว่าในขณะใดที่เกิดความรังเกียจ ละอายอกุศล และความกลัวอกุศล ขณะนั้น จิตจะอ่อนน้อม เคารพในคุณธรรมของผู้ที่ควรเคารพ ไม่เป็นผู้ที่กระด้างไม่อ่อนน้อม ไม่อ่อนโยน ซึ่งย่อมไม่เป็นที่รักของใครๆ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นที่รักของใครๆ ผู้นั้น เป็นผู้ที่อ่อนน้อม แต่ผู้ที่ไม่เป็นที่รัก เป็นผู้ที่แข็งกระด้าง ไม่อ่อนโยน ซึ่งอาการที่ แข็งกระด้างนั้น ถ้าขณะนั้นไม่พิจารณาจิตใจอาจจะไม่ทราบว่า เป็นผู้ที่สะสมมา ในความสำคัญตน บางคนอาจจะคิดว่าตนเองเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสามารถ จึงไม่สนใจในบุคคลอื่นก็เป็นได้

ในขณะที่ไม่สนใจในบุคคลอื่น และยังขาดการพิจารณาว่า ในขณะนั้น มีความสำคัญในตนเองหรือเปล่า ฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เห็น หิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด แต่เมื่อใดเห็นจึงรู้ว่า ขณะนั้นแม้แต่ความเก่งในความสามารถ หรือความสำคัญตนนั้น ก็เป็นอกุศล ซึ่งอาจจะมีอกุศลอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น เมื่อมีความสำคัญตนก็จะเป็นเหตุให้เกิดความลบหลู่คนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ หรืออาจมีการตีเสมอบุคคลอื่นเพราะเห็นว่าตนเองก็มีความสามารถ หรือเมื่อมีความสามารถแล้วก็เลยแข่งดีกับคนอื่น ซึ่งก็มีความสามารถด้วย หรืออาจไม่พอใจเวลาที่บุคคลอื่นมีความสามารถมากกว่าตน ซึ่งความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จะเป็นความขุ่นเคืองใจที่จะเป็นความผูกโกรธทำให้มีความโกรธเกิดขึ้นได้โดยง่าย หรือถ้าคิดถึงบุคคลที่ไม่พอใจก็โกรธขึ้นมาอีก และโกรธต่อไปอีกนาน ในขณะนั้นทั้งหมด หิริโอตตัปปะไม่เกิด

เพราะฉะนั้น เพียงกายก็เตือนตัวเองได้ใช่ไหมว่า ขณะไหนที่อ่อนน้อม อ่อนโยน ขณะนั้นก็เห็นลักษณะของหิริโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่มีความเคารพ ในคุณธรรมของบุคคลอื่น ขณะใดที่เกิดกายวาจาแข็ง ขณะนั้นก็พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอหิริกะและอโนตตัปปะ

บางท่านอาจจะรู้สึกเบื่อ หรือรำคาญ คล้ายๆ กับเป็นเรื่องที่ฟังดูน่ารำคาญ ที่จะพูดถึงแต่เรื่องของอกุศลธรรม ทำไมไม่พูดถึงเรื่องดีๆ อย่างเรื่องของกุศลบ่อยๆ แต่ให้ทราบว่า ทุกคนมีอกุศลเป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เห็นอกุศลของคนอื่นนี่ เห็นง่าย แต่เห็นอกุศลของตนเองเห็นยาก อกุศลของตัวเองอภัยง่าย แต่อกุศลของคนอื่นไม่ได้อภัยง่ายอย่างที่อภัยให้อกุศลของตนเองเลย เวลาที่ทำอะไรผิดก็รู้สึกว่าทำผิดเท่านั้นก็เลิกโกรธแล้ว ใช่ไหม แต่ถ้าคนอื่นทำผิด โกรธไปอีกนาน อาจจะเป็นเดือน เป็นปี หรืออาจจะเป็นตลอดชีวิตก็ได้

เพราะฉะนั้น ยิ่งเห็นอกุศลของตนเองมากเท่าไร ละเอียดขึ้นเท่าไร บ่อยเท่าไร ย่อมเป็นทางที่จะให้รู้จักตัวเองมากเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องกุศลของตนเอง อาจจะเป็นทางที่ทำให้เกิดอกุศลคือความสำคัญตนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาประโยชน์ของธรรมแล้ว ก็คิดดูว่า พูดเรื่องอกุศลของตัวเองจะดีกว่าไหม จะได้เตือนตัวเองไปในตัวให้คนอื่นได้รับทราบด้วยว่า ตัวเองยังมีอะไรที่ไม่ดี ซึ่งคนอื่นอาจจะ คิดว่าเป็นผู้ที่ดีมาก แต่คนอื่นย่อมไม่รู้ในอกุศลของท่าน นอกจากตัวท่านเอง

ถ้าได้พูดถึงอกุศลของตัวเองบ้าง หรือบ่อยๆ และยอมรับความจริงว่า เป็นอกุศลที่จะต้องขัดเกลา ก็ย่อมทำให้ขัดเกลาได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ เริ่มอยากจะพูดเรื่องอกุศลของตัวเองบ้างหรือยัง หรือยังคงอยากจะพูด แต่เรื่องกุศลของตนเองเท่านั้น

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565