แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1562
ที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุรี
วันเสาร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๙
สุ. ขณะนี้กำลังคิด ถามคนอื่นได้ไหมว่าดิฉันคิดอะไร ถามได้ไหม ไม่มีทางเลยที่คนอื่นจะตอบได้ แต่คนคิดนั้นรู้ว่ากำลังคิดอะไร ฉันใด ขณะกำลังเห็น ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด กำลังได้ยิน ทุกคนได้ยินเหมือนกันหมด แต่สติของใคร จะระลึก หรือสติของใครไม่ระลึก ใครรู้ แทนที่จะคิดก็เป็นสติเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ซึ่งบุคคลนั้นเป็นผู้รู้ เป็นปัจจัตตัง
ธรรมที่ได้ยินได้ฟังทุกคำมีความหมายที่ลึกมาก ไม่ใช่เพียงแต่เราคิดว่า เราเข้าใจแล้ว รู้ได้เฉพาะตัว แต่เวลานี้สติเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นอกุศลหรือเปล่า ถ้าถามคนอื่นตราบใดก็หมายความว่า ยังไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า ปัจจัตตัง ซึ่งเป็นธรรมที่รู้ได้เฉพาะตัวจริงๆ
ถ. ... สีนี่ (ได้ยินไม่ชัด) ขณะนั้นเป็นการใส่ใจไหม
สุ. เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ต้องเรียกสี ไม่ต้องเรียกรูปารมณ์ ไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย ไม่ต้องคิดว่าอยู่ไกล ไม่ต้องคิดว่าอยู่ใกล้ ทั้งหมด เพียงแต่ว่าเมื่อลืมตาสิ่งนี้ปรากฏ แต่ในความรู้สึกของทุกคนซึ่งเคยชินมาตั้งกี่ชาติจนกระทั่ง ถึงเดี่ยวนี้ คือ ทันทีที่เห็นก็จำหมายลักษณะสัณฐานรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏจนคิดว่า มีคนหนึ่งคนใดในสิ่งที่ปรากฏ หรือว่ามีหลายคน มีวัตถุหลายอย่างในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความเห็นผิดที่จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นนึก แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงปรากฏทางตา และไม่มีสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น
ถ้ากระทบสัมผัส จะมีสิ่งที่อ่อนบ้าง แข็งบ้าง หลับตาลง กระทบสัมผัสสิ่งนั้น ก็ยังอ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้น อ่อนหรือแข็งเป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นสภาพธรรมอีก อย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และกว่าจะถอนความเห็นที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องกินเวลานานเท่าไร
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป บางพระองค์ ๘ อสงไขยแสนกัป และบางพระองค์ถึง ๑๖ อสงไขยแสนกัป เพื่อรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ระลึกได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ ก็ยังอีกนานกว่าจะถ่ายถอนความที่เคยยึดมั่นว่า สิ่งที่เห็นนี้เป็นคนบ้าง เป็นวัตถุบ้าง เป็นสิ่งต่างๆ บ้าง แต่ให้รู้ว่า การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมต้องจริง เมื่อเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนอ่อนหรือแข็งนั้น ไม่ปรากฏทางตาเลย
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องจะทำ หรือว่าเรื่องง่ายๆ หรือว่าบอกวิธีนิดหน่อย จะไปโยนิโสมนสิการกัน และไปทำกันเป็นการใหญ่ นั่นไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า จะต้องค่อยๆ อบรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ระลึก เหมือนกับการจับด้ามมีด
เวลาส่องกระจก เห็นใครในกระจก
ถ. เห็นเราเอง
สุ. มีเราจริงๆ ในกระจกหรือเปล่า
ถ. ไม่มี
สุ. แต่ยังมีความรู้สึกว่า เราแน่ๆ ใช่ไหม กระจกไม่ได้มีอะไรเลย เราไม่ได้เข้าไปอยู่ในนั้นเลย แต่ทำไมทุกครั้งที่เห็นกระจก เป็นเรา ฉันใด เวลานี้ก็เหมือนกัน ฉันนั้น สิ่งที่ปรากฏก็เหมือนกับเงาในกระจกและคิดว่าเป็นคนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าคิดถึงเวลาส่องกระจกว่าไม่มีเราในกระจก ฉันใด เวลานี้ก็ไม่มีใครเลยที่นี่ นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกัน
ถ้าลองจับในกระจกดู เป็นอย่างไร ... แข็ง มีเราอยู่ในนั้นหรือเปล่า ... ไม่มี ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้ ก็รู้สึกแต่ว่าแม้ในกระจกก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็เหมือนกัน จำรูปร่างสัณฐาน กระจกบานใหญ่ ไม่มีอะไรเลย
ปกติในชีวิตประจำวันเป็นผู้ที่หลงลืมสติ แต่แม้กระนั้นบางท่านก็ไม่ทราบ คือไม่รู้สึกตัวว่า ตัวเองเป็นผู้ที่หลงลืมสติ นอกจากอาการที่หลงลืมสตินั้นจะปรากฏ และได้ฟังพระธรรมที่กล่าวถึงเรื่องของการหลงลืมก็จะทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ขณะไหนบ้างซึ่งท่านเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ซึ่งลักษณะอาการของความเป็นผู้หลงลืมสติ บางประการที่ได้ทรงแสดงไว้จะทำให้ระลึกได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่หลงลืมสติในอาการอย่างไรบ้าง
ข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีแสดงนิทเทส มุฏฐสัจจทุกะ เตือนให้รู้ว่าเป็นผู้ที่หลงลืมสติในขั้นไหน ข้อ ๑๓๕๖ มีข้อความว่า
จะวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมุฏฐสัจจะ คือ สภาพอาการหลงลืมสติต่อไป
คำว่า อสติ คือ ความระลึกไม่ได้ ได้แก่ ขันธ์ ๔ อันเว้นจากสติ
นี่ก็ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่สติเจตสิกไม่เกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้น คือ อสติ ความระลึกไม่ได้ในทางที่เป็นกุศล
อนนุสสติ ความไม่ตามระลึก
ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา สติปัฏฐานไม่ได้เกิดขึ้นตามระลึกรู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน สติปัฏฐานไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้ตามระลึกลักษณะสภาพที่ได้ยินและเสียงที่กำลังปรากฏขณะใด ขณะนั้นเป็น อนนุสสติ ความไม่ตามระลึก
อัปปฏิสสติ ความไม่หวนระลึก
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและไม่พิจารณาให้ได้เหตุผล ให้ได้ความถูกต้อง ให้ได้สิ่งที่ควรจะแก้ไข เพราะว่าทุกคนจะทำถูกหมดไปตลอดไม่ได้ ต้องมีการกระทำที่อาจจะผิดพลาดพลั้งเผลอ หรือว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการพิจารณาสิ่งที่ ได้เกิดขึ้นแล้ว ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมจะยังคงทำสิ่งซึ่งกระทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นไม่ได้พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อที่จะแก้ไข ขณะนั้นก็เป็น อัปปฏิสสติ
อสรณตา อาการที่ระลึกไม่ได้
ลืมสนิทเลย เคยมีไหม บางท่านจำไม่ได้ว่าฟังอะไรบ้างแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งที่ เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของการหลงลืมสติมีมาก โดยอาการต่างๆ
อธารณตา ความไม่ทรงจำ ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะทรงจำ
คือ คนที่ประกอบด้วยความไม่ทรงจำ ได้แก่ คนที่จำไม่เก่ง หรือจำไม่แม่นยำ ก็ย่อมจะเก็บไม่ได้ คือ จำไม่ได้ ไม่อาจที่จะเก็บไว้ได้ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นปกติสำหรับคนยุคนี้สมัยนี้ ใช่ไหม ได้ยินมากเรื่อง จำได้หมดไหม หรือจำ ความละเอียดของเรื่องที่ได้ฟัง ที่ได้เข้าใจ ได้ไหม
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่ทรงจำ คือ อธารณตา ได้แก่ อาการที่ ไม่สามารถจะทรงจำได้ คนที่จำไม่เก่งจะรู้สึกตัวได้ว่าเป็นอย่างนี้ แต่บางท่านนี่จำเก่ง ใครพูดอะไร และเขาตอบว่าอย่างไร เขาสามารถที่จะกล่าวทวนไปได้ว่า คนนั้นพูดว่าอย่างนั้น และเขาตอบว่าอย่างนั้น นั่นก็เป็นเรื่องของผู้ที่สามารถจะทรงจำได้
ปิลาปนตา ความเลื่อนลอย (นี่คือลักษณะของการหลงลืมสติ) ด้วยอรรถว่า เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ เหมือนกะโหลกน้ำเต้าลอยในน้ำฉะนั้น
เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่จะปรากฏ ถ้าเป็นอารมณ์ ที่น่าเพลิดเพลิน เห็นสิ่งใดสวยงาม ก็พอใจชื่นชมยินดี เลื่อนลอยไปในอารมณ์ หรือเห็นสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่น่าพอใจ ก็เกิดความขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นก็เลื่อนลอย ไปในอารมณ์ ซึ่งท่านอุปมาว่า เหมือนกะโหลกน้ำเต้าลอยในน้ำฉะนั้น
นี่คือทุกขณะที่ลอยไปตามอารมณ์ที่กระทบ
สัมมุสนตา ความหลงลืม ได้แก่ ความเป็นผู้มีสติหายไปและหลงไป
ก็คงเป็นไปตามวัยด้วย สำหรับท่านที่สูงอายุ ซึ่งมีข้ออุปมาว่า
บุคคลผู้ประกอบด้วยความหลงลืมนั้น ย่อมเป็นดุจกาที่ทิ้งก้อนข้าว และเป็นดุจสุนัขจิ้งจอกที่ทิ้งก้อนเนื้อไว้ฉะนั้น
คือ จำไม่ได้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน ซึ่งบางคนยังไม่ถึงกับสูงวัยก็ชักจะเป็นผู้ที่หลงลืม แสดงให้เห็นถึงการขาดสติ เวลาที่สติเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งสภาพธรรมทั้งหลาย เป็นสิ่งที่สติควรจะระลึกได้ เพราะมีอยู่ตลอดเวลาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าพิจารณาจะทำให้เกิดความสลดใจ คือ สังเวค ได้แก่ความรู้สึก ที่เห็นว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยินดี เพลิดเพลิน พอใจ
อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีนิทเทสสังเวคทุกะ มีข้อความว่า
ฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
พอที่จะหาได้ไม่ยาก ใช่ไหม ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วย มรณะ ความตาย ควรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสังเวค คือ ความสลดใจ เพราะว่าชาติเกิดขึ้นขณะใด พิจารณาได้เลยว่า ย่อมนำมาซึ่งชรา ใครซึ่งเกิดมาแล้ว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดมาแล้วที่จะไม่เก่าคร่ำคร่า ไม่ชราลง เป็นสิ่งซึ่ง เป็นไปไม่ได้เลย
นี่คือความไม่เที่ยง ขณะที่สิ่งนั้นยังไม่เก่าคร่ำคร่าก็น่าดู น่าพอใจ แต่เมื่อ ถึงกาล ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องถึงในวันหนึ่ง คือ ความชรา ความไม่สะดวกกาย ไม่สบายกายทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ไม่เป็น ที่น่ายินดี และถ้าไม่มีชาติ ความเกิด ชรา พยาธิ มรณะก็ย่อมมีไม่ได้
ทุกคนที่เกิดมา ต่างวัยกัน ถ้าใครมีสติปัญญาพิจารณาเสียตั้งแต่ยังไม่ชรา หรือยังไม่มีโรคจะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้เลย และเมื่อเป็นอย่างนี้ ย่อมเกิดความพยายามที่จะทำให้ถึงการพ้นจากชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ แม้ว่าเป็นสิ่งซึ่งยากที่จะถึง แต่ก็มีทางที่จะถึงได้ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า ความพยายามโดยแยบคายของบุคคลผู้มีใจสลดแล้ว คือ เป็นผู้ที่เห็นโทษภัยของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ผู้นั้นย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่ง อกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น
ที่จะไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเมื่อมีปัจจัยก็ต้องเกิด แต่เมื่อเห็นโทษแล้วก็เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น
เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่ง กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่จืดจาง เพื่อความเพิ่มพูน เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว
นี่คือผู้ที่ไม่ประมาท คือ ผู้มีสติ
และในการที่จะไม่ให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นก็ดี เพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นก็ดี เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมก็ดี เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไพบูลย์เจริญขึ้นของกุศลธรรมก็ดี จะเป็นไปได้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ซึ่งทุกท่านย่อมจะเห็นประโยชน์ของสติว่า แม้แต่การที่จะเห็นภัย เห็นโทษของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ขณะนั้นก็ต้องเป็นสติที่ระลึกได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ความเป็นผู้กระทำโดยเคารพ เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
นี่คือทุกท่านซึ่งจะเจริญขึ้นในธรรม ต้องเป็นผู้ที่เคารพ หรือว่ากระทำโดย ความเคารพ เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ
ความเป็นผู้กระทำติดต่อเนืองๆ ไม่ขาดตอน ความเป็นผู้กระทำไม่หยุด
คือ ไม่หยุดกระทำ บางท่านอาจจะเป็นพักๆ บางพักก็กระทำ บางพักก็หยุด ไม่กระทำ
ความเป็นผู้ประพฤติไม่ย่อหย่อน ความเป็นผู้ไม่ทิ้งฉันทะ
คือ ยังคงพอใจที่จะกระทำต่อไป
ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ
คือ ไม่ละความเพียรในกุศล
นี่คือผู้ที่กระทำโดยความเคารพ เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ชีวิตประจำวันที่จะสังเกตได้ว่าสติเกิดเพิ่มขึ้น คือ เมื่อเห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสติทุกขั้นในชีวิตประจำวัน แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ในเรื่องความซื่อสัตย์ ความเป็นผู้ตรง คือ ไม่เข้าข้างตัวเอง แม้แต่อกุศลธรรมของตนเองก็เห็นว่าเป็น อกุศลธรรม เพื่อที่จะได้ละ ความกตัญญูกตเวที ความนอบน้อม ความรู้การควร ไม่ควรทางกาย ทางวาจา หรือในขณะที่เกิดความไม่โกรธ การให้อภัย ความมี เมตตากรุณา ต่างๆ เหล่านี้เป็นการแสดงถึงลักษณะของสติที่เกิดขึ้นเป็นไป ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะไม่เห็นลักษณะของศรัทธาซึ่งเกิดร่วมกับสติในขณะที่กุศลจิตเกิด แต่ในขณะที่เกิดการระลึก ตรึกเป็นไปในเรื่องการละทุจริตและในเรื่องกุศลต่างๆ ขณะนั้นก็จะเห็นลักษณะของสติได้
สำหรับประโยชน์ของสติ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปฐมอัปปมาทสูตร ที่ ๗ ข้อ ๓๗๘ - ข้อ ๓๘๐ มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้าคืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า คือ ความไม่ประมาท
ดูกร มหาบพิตร รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดินชนิดใด ชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ย่อมกล่าวกันว่า เป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นของใหญ่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ดูกร มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า คือ ความไม่ประมาท ก็มีอุปไมยฉันนั้น
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุคคลปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิด ในตระกูลสูง และความยินดีอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิต ผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า บัณฑิต
นี่เป็นพระธรรมจากพระโอษฐ์ ดูเหมือนเป็นข้อความธรรมดาๆ แต่ก็เตือน ให้ผู้ฟังระลึกว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ทั้งภพนี้และภพหน้าเท่ากับความ ไม่ประมาทในกุศลธรรม ในบุญญกิริยาทั้งหลาย ซึ่งความไม่ประมาทนั้นเป็นธรรมที่เกื้อหนุนให้ทำบุญต่างๆ และถึงแม้ว่าบุญทั้งหลายที่กระทำยังเป็นโลกียะอยู่ คือ เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังนับว่าเลิศอยู่นั่นเอง เพราะว่า เป็นเหตุให้ได้ธรรมที่เป็นกุศลระดับขั้นสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในการเจริญสมถภาวนา หรือในการเจริญวิปัสสนาภาวนา แต่ถ้าไม่มีสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้ ก็ย่อมไม่ถึงโลกุตตรกุศล