แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1566
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙
เพราะฉะนั้น แม้ว่าทั้งหิริและโอตตัปปะจะเกิดร่วมกันก็จริง แต่ขณะใดที่ ละเว้นอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด ก็พอที่จะสังเกตสภาพของจิตได้ว่า ในขณะนั้น จริงๆ ละเว้นเพราะรังเกียจ หรือละเว้นเพราะกลัวเกรงโทษภัยของอกุศล ซึ่ง บางคนอาจจะกลัวคนอื่นเห็น กลัวคนอื่นรู้ ก็เลยไม่กล้าที่จะกระทำ
แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น กิริยามารยาท ถ้าอยู่คนเดียวรู้สึกว่าจะนั่ง จะนอนตามสบาย แต่ถ้ามีคนอื่นอยู่ด้วย ก็เป็นผู้ที่มีกิริยาสงบเรียบร้อย ระมัดระวัง นี่ก็พอที่จะมองเห็นได้ว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ ความคิดของจิตใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้น เป็นผู้ละเอียด หรือว่าเป็นผู้ที่กระทำสิ่งซึ่งไม่กระทำเวลาที่อยู่ต่อหน้าคนอื่นแต่เวลาที่ ไม่อยู่ต่อหน้าคนอื่นทำ หรือไม่ว่าจะมีคนอื่นหรือไม่มีปกติก็เป็นอย่างนั้น
นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพของจิต เพราะว่าทุกคนมีกิริยามรรยาท ที่เรียบร้อย ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน เวลาที่มีคนอื่นอยู่ด้วย แต่เวลาที่อยู่คนเดียวอาจจะรีบร้อน ทำอะไรก็อาจจะหกเลอะเทอะ ก็เป็นเครื่องเปรียบเทียบ แสดงให้รู้ว่า ละเว้นเพราะละอาย รังเกียจ หรือละเว้นเพราะกลัวคนอื่นจะรู้ จะติเตียน ทำให้สังเกตเห็นสภาพที่ต่างกันของหิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิกได้
ใน อัฏฐสาลินี แสดงเรื่องของหิริและโอตตัปปะในขณะที่เว้นจากการทำชั่ว มีข้อความว่า
ความจริง บุคคลบางคนก้าวลงสู่ลัชชีธรรม คือ ความละอายต่อบาป อันมีอยู่ในภายในแล้ว ย่อมไม่กระทำกรรมชั่ว บางคนกลัวภัยในอบายภูมิ ย่อมไม่กระทำกรรมชั่ว เปรียบเหมือนกุลบุตรบางคนเมื่อจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นต้น เห็นบุคคลที่ควรละอายเพียงคนเดียว พึงถึงอาการละอาย พึงแอบกระมิดกระเมี้ยน ไม่ยอมถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นต้นฉะนั้น ในข้อนี้ มีข้ออุปมาดังต่อไปนี้ เปรียบเหมือนบรรดาก้อนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งเย็นแต่เปื้อนคูถ (คือ เปื้อนอุจจาระ) อีกก้อนหนึ่งร้อนไฟลุกโชน ในบรรดาก้อนเหล็ก ๒ ก้อนนั้น คนฉลาดย่อมรังเกียจ ไม่จับต้องก้อนเหล็กที่เย็นเพราะเปื้อนคูถ รังเกียจไม่จับต้องก้อนเหล็กอีกก้อนหนึ่งเพราะกลัวร้อน
สภาพไม่จับต้องก้อนเหล็กที่เย็นเพราะเปื้อนคูถ เป็นหิริเจตสิก สภาพรังเกียจไม่จับต้องก้อนเหล็กอีกก้อนหนึ่งเพราะกลัวร้อน เป็นโอตตัปปะ
นี่คือขณะที่เว้นจากอกุศล
ข้อความต่อไปมีว่า
ความจริงบุคคลบางคนทำหิริ ซึ่งมีความยำเกรงและความเคารพเป็นลักษณะให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ พิจารณาถึงชาติที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงศาสดา ที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงความเป็นทายาทที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงเพื่อนสพรหมจารี ที่เป็นใหญ่ แล้วย่อมไม่กระทำความชั่ว
ทรงแสดงไว้สำหรับพระภิกษุ ซึ่งควรละอายในการที่จะกระทำความชั่ว เมื่อพิจารณาถึงเพศบรรพชิตซึ่งเป็นชาติ คือ กำเนิด หรือการเกิดโดยสภาพที่เป็น ใหญ่กว่าเพศคฤหัสถ์ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิต บางท่านเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่ง ฐานะ การงาน ก็จะไม่กระทำชั่วได้เหมือนกัน
สำหรับบรรพชิต พิจารณาถึงศาสดาที่เป็นใหญ่ นอกจากนั้นพิจารณาถึงความเป็นทายาทที่เป็นใหญ่ คือ พิจารณาถึงตนเองซึ่งเป็นทายาทของพระธรรม หรือ ทายาทที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนา ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้ละเว้นความชั่ว
อีกประการหนึ่ง คือ พิจารณาถึงเพื่อนสพรหมจารีด้วยกันที่เป็นใหญ่ ในเมื่อทุกคนเป็นผู้ที่เป็นบรรพชิต เป็นผู้ที่มีศรัทธาออกบวช เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติ ตามธรรม ละเว้นจากความชั่ว ตนเองก็ควรที่จะละเว้นจากความชั่วเช่นเดียวกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายด้วย
บางคนทำโอตตัปปะ ซึ่งมีปกติกลัวต่อโทษและเห็นภัยเป็นลักษณะให้ตั้งขึ้น ด้วยเหตุ ๔ ประการ
ไม่ว่าจะเป็นหิริหรือโอตตัปปะก็ต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่พิจารณาโดยแยบคาย การที่จะละอายหรือการที่จะเกรงกลัวต่อบาปก็ย่อมไม่มี และบางคนอาจจะคิดว่าคนอื่นไม่รู้ หรือเป็นสิ่งที่เล็กน้อย แต่ขณะใดที่ละเว้นจะต้องมีเหตุ คือ การพิจารณาโดยถูกต้อง
เหตุให้เกิดโอตตัปปะ ๔ ประการ ได้แก่ ความกลัว ยำเกรงต่อการติเตียนตนเอง ๑ ความกลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น ๑ ความกลัวต่อการถูกลงโทษทัณฑ์ ๑ ความกลัวต่อการไปสู่ทุคติ ๑ แล้วย่อมไม่กระทำชั่ว
นี่ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ
ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นระดับของหิริโอตตัปปะหลายขั้น ขณะที่ละเว้นทุจริตกรรม ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะขั้นหยาบขั้นหนึ่ง แต่ขั้นละเอียดกว่านั้นอีก คือ เห็นโทษของอกุศล คือ นอกจากจะไม่กระทำทุจริตกรรมแล้วยังเห็นว่าอกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ควรละอาย ควรรังเกียจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของหิริโอตตัปปะจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น เป็นลำดับขั้น จึงสามารถมีหิริโอตตัปปะที่ละเอียดขึ้นๆ
อย่างบางท่านก็มีสมโลโภ คือ ความโลภตามธรรมดาในสิ่งที่ตนมี ไม่ได้ไปหวังในสิ่งของคนอื่น ไม่ได้ปรารถนาต้องการของๆ คนอื่น แต่มีความพอใจยินดีในสิ่งที่ตนมี ข้าวของทรัพย์สมบัติทุกอย่างในบ้าน ก็เป็นความโลภที่สม่ำเสมอ ยังไม่ถึงกับจะถึงขั้นไม่สม่ำเสมอไปจนกระทั่งโลภในสิ่งของทรัพย์สมบัติของคนอื่น แต่ขณะนั้นก็ไม่มีหิริโอตตัปปะ เพราะว่ายังมีโลภเจตสิกเกิด เพราะฉะนั้น ต้องมีการเห็นอกุศลละเอียดขึ้นๆ จึงจะเกิดหิริโอตตัปปะในการไม่ให้อกุศลจิตขั้นนั้นๆ เกิดได้
ทุกคนเป็นผู้ที่ยังมีโลภะอยู่ และการที่จะมีหิริโอตตัปปะเห็นโทษของความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามี เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะของแต่ละท่าน ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า อยู่ในระดับไหน ในขั้นไหน ตามกำลังของปัญญา
สำหรับผู้ที่ไม่กระทำชั่ว มีเหตุที่จะให้ละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นเหตุภายใน เป็นสมุฏฐาน คือ มีตนเป็นใหญ่ เหตุ ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ไม่กระทำชั่วเพราะระลึกถึงชาติ
คือ ระลึกถึงการเกิดเป็นบุคคลนี้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม สามารถระลึกได้ว่า การทำชั่วเป็นการกระทำของคนต่ำทราม ไม่ว่าเป็นใครทั้งนั้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผลของกุศล และรู้ได้เลยว่า กามาวจรธรรมที่เป็น บุญญกิริยาวัตถุเป็นมนุษยธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่มีการระลึกชาติ การเกิด เป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล ก็ควรบำเพ็ญบุญญกิริยาวัตถุซึ่งเป็นมนุษยธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นเหตุที่จะให้ละการกระทำทุจริต เพราะเห็นว่าการกระทำทุจริตเป็นการกระทำของคนต่ำทราม ถ้าระลึกได้อย่างนี้ จะไม่พูดเท็จ จะไม่ทำปาณาติบาต และจะไม่ล่วงศีล
ประการที่ ๒ ไม่ทำชั่วเพราะระลึกถึงวัย
เห็นว่าการทำชั่วเป็นเรื่องของเด็กหรือว่าผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่สามารถมีสติปัญญาพิจารณาความถูกความควรได้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พ้น จากวัยเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องที่ควรและไม่ควรแล้ว ก็ควรเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า สิ่งใดไม่ควรจะกระทำ ในขณะนั้นก็เว้นความชั่วเพราะระลึกถึงวัย
ตอนที่เป็นเด็กนักเรียนเล็กๆ ไม่ทราบว่าทุกท่านมีอกุศลจิตประเภทใดบ้าง แต่พอโตขึ้นก็ค่อยๆ หายไป แสดงให้เห็นว่า เป็นเพราะพิจารณารู้ว่า สิ่งใดที่เหมาะ สิ่งใดที่ควร และไม่อาจกลับไปทำสิ่งซึ่งเด็กเยาว์วัยกระทำได้
ประการที่ ๓ ไม่กระทำชั่วเพราะระลึกถึงความแกล้วกล้า
เพราะว่าคนขลาดย่อมทำอกุศล แต่คนกล้า กล้าที่จะทำกุศลและไม่ทำอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนกล้าหาญที่จะไม่กระทำอกุศล คนขลาดทำอกุศลเพราะว่ากลัวลำบากบ้าง กลัวยากจนบ้าง กลัวความทุกข์ต่างๆ บ้าง จึงเป็นเหตุให้กระทำทุจริต แต่ผู้ที่กล้าหาญ แม้ว่าจะลำบาก แม้ว่าจะขัดสน แม้ว่าจะยากจน แต่จะไม่ทำทุจริต ต้องเป็นผู้ที่มีความแกล้วกล้า คือ สามารถกล้าที่จะละเว้นทุจริตได้ โดยไม่กลัวความลำบากต่างๆ
ประการที่ ๔ ไม่กระทำชั่ว เพราะเห็นว่า คนทำชั่วเป็นคนไม่ฉลาด
ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ จะไม่มีทุจริตกรรมใดๆ เลย โลกนี้จะมีหิริโอตตัปปะ ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นภัยและรังเกียจอกุศล
ผู้ฟัง ในข้อ ๒ ที่ว่า ไม่ทำชั่วเพราะระลึกถึงวัย ผมว่าขึ้นอยู่กับการสั่งสมเหมือนกัน และอยู่ที่ยุคสมัยด้วย เช่น สมัยผมมีการกัดปลากัด จับจิ้งหรีดมากัดกัน ยิงไก่วัด ยิงมะม่วงวัด เท่าที่จำได้ พอถึงสมัยนี้ อย่างลูกผมไม่มีเรื่องจับจิ้งหรีดมา กัดกัน ตกปลาก็ไม่มี ไม่มีทั้งนั้นที่ผมกล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ ผมว่าอยู่ที่ยุคสมัยด้วย
สุ. สมัยของเด็กยุคนี้ก็อย่างหนึ่ง และพอถึงวัยอย่างนั้น คนวัยนั้นในยุคนั้นก็จะไม่ทำอย่างนั้น
ถ. ปุถุชนเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ บางครั้งก็ไม่มีหิริโอตตัปปะ ใช่ไหม
สุ. ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะ คือ ไม่เห็นว่า อกุศลจิตในขณะนั้นน่ารังเกียจ ยากที่จะเห็น อย่างโลภะ กำลังสนุกสนานรื่นเริง ไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใดก็ตามที่จะระลึกขึ้นมาได้ว่า ที่กำลังสนุกนั้นเป็นสภาพธรรมที่ น่ารังเกียจ ยาก ใช่ไหม
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า พระโสดาบันถึงพระอนาคามีเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ ที่สูง ละเอียดขึ้น
สุ. ตามลำดับขั้น อย่างปุถุชนที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ยังไม่เห็นประโยชน์ของสติปัฏฐาน ก็ไม่รังเกียจขณะที่หลงลืมสติ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง ไม่รังเกียจ ในอวิชชา ในความไม่รู้
เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่รังเกียจ สติเกิดจึงระลึก เพื่อที่จะศึกษาพิจารณา จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงขณะใด ขณะนั้นแสดงว่ามีความละอายในความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ท่านอาจารย์ลำดับไปถึงพระอนาคามี ทำไมเว้นพระอรหันต์ แสดงว่าพระอรหันต์ไม่มีหิริโอตตัปปะ ใช่ไหม
สุ. มีหิริโอตตัปปะที่เป็นโสภณสาธารณะ แต่เป็นชาติกิริยา ไม่เป็นเหตุ ให้เกิด ไม่เป็นกุศล เพราะว่ากุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบาก
ถ. ต่างกับปุถุชนซึ่งไม่มีหิริโอตตัปปะ
สุ. สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกุศลและอกุศล พระอรหันต์ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้น แม้หิริโอตตัปปะก็เป็นกิริยา เป็นไปตามธรรมชาติ
ถ. พระอรหันต์มีหิริโอตตัปปะ หมายความว่าเกิดกับกิริยาจิต อธิบาย ตามภาษาเราๆ คือ พระอรหันต์กลัวเฉยๆ ละอายเฉยๆ หรืออย่างไร
สุ. ขณะใดที่จิตไม่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นลักษณะของโสภณสาธารณเจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน และต่างกระทำกิจตามหน้าที่ของตนๆ เช่น สติ ก็ทำกิจของสติ หิริก็ทำกิจของหิริ โอตตัปปะก็ทำกิจของโอตตัปปะ คือ ธรรมชาติของพระอรหันต์รังเกียจละอายบาปอยู่แล้ว ใช่ไหม รังเกียจ ไม่เหมือนคนซึ่งไม่รังเกียจ
ถ. คล้ายๆ กับว่า เป็นกิริยา คือ รังเกียจเฉยๆ กลัวเฉยๆ
สุ. ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องทำกิริยาอาการรังเกียจ คำว่า รังเกียจ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องแสดงกิริยาอาการ แต่ขณะใดที่เห็นโทษและรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี ไม่ควรจะเป็น ในขณะนั้นคือความหมายของหิริโอตตัปปะ โดยสภาพของท่าน
ถ. หมายความว่า มีความละอาย และไม่เป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. ถ้าใช้คำ ละอาย ในภาษาไทย อาจจะทำให้เข้าใจความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ากล่าวถึงหิริเจตสิก ไม่มีคำอื่นที่จะใช้นอกจากพยายามเปรียบเทียบ ให้เห็นว่า ขณะใดที่รังเกียจบาป แต่ไม่ใช่หมายความว่าดูหมิ่น หรือไม่ได้หมายความว่าต้องแสดงกิริยาอาการรังเกียจ แต่ในขณะที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี ขณะนั้น ชื่อว่าละอาย ไม่ใช่คนที่คุ้นกับกิเลสจนกระทั่งไม่รู้สึก ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด ระดับใด ก็ไม่รู้สึกทั้งนั้น
ถ. ไม่มีผลเป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. สำหรับพระอรหันต์ ทั้งหมดเป็นกิริยา
ถ. หมายถึงว่าเห็นสิ่งที่ละอาย ก็เฉยๆ
สุ. ไม่ใช่ว่าต้องแสดงกิริยาละอาย ขณะใดที่อกุศลไม่เกิด สำหรับปุถุชนเป็นกุศลซึ่งมีหิริขณะนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับพระอรหันต์ไม่มีอกุศล เป็นกิริยาจิต ขณะใด ก็เป็นหิริ โดยสภาพ ...
ถ. ต้องทำสติว่า นี่เป็นสิ่งละอาย
สุ. พระอรหันต์ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว เพราะว่าไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ อกุศลธรรมเกิดเลยสักประเภทเดียว หมดกิจที่จะกระทำ เพราะกระทำเสร็จแล้ว นั่นคือพระอรหันต์ แต่คนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีกิจที่จะต้องกระทำ คือ การอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นขั้นๆ
ลักษณะของหิริโอตตัปปะ ทุกท่านพอที่จะสังเกตได้เวลาที่มีอกุศลธรรมเกิดขึ้นปรากฏ หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่ออกุศลธรรมนั้นๆ ถ้าไม่เคยรังเกียจมาก่อน แต่เมื่อได้ปฏิบัติธรรมมากๆ ขึ้น เริ่มรู้สึกรังเกียจบ้างไหมในอกุศลธรรมบางอย่าง บางประเภท แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะว่ากิเลสยังไม่ได้ดับหมด เป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง แม้ว่าตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปีมาแล้ว ใช่ไหม เริ่มรังเกียจเดี๋ยวนี้ ฟังมานาน ยิ่งรังเกียจมาก ไปขโมยไก่วัดอะไรอย่างนี้
สุ. ก็ผ่านไปแล้ว และถ้ารังเกียจจริงๆ ต้องถึงการดับเป็นสมุจเฉท เพราะว่ารังเกียจชั่วครั้งชั่วคราว พอต่างวัย เกิดมาใหม่ ก็ต้องการสนุกสนานอย่างนั้นอีก เพราะว่ากิเลสยังไม่ได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง เกิดชาติหน้าคงไม่ทำ
สุ. ยังไม่เป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง ถ้าชาตินี้เรามีหิริโอตตัปปะมากๆ ขึ้น
สุ. สะสมไป และอบรมเจริญปัญญา ต้องรังเกียจอวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ
ผู้ฟัง ตอนนั้นทำไปโดยไม่รู้ ไก่วัดไม่ค่อยมีใครดูแล ก็ไปขโมยกันมาเรื่อย
สุ. เป็นไปได้ แต่ต่อไปนี้ คือ สิ่งใดที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว เรียกกลับมาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จะรังเกียจอะไรเพิ่มขึ้น
ถ. ปกตินิสัยคนไทย โดยมากจะเป็นคนขี้อายและขี้กลัวด้วย เกี่ยวกับหิริโอตตัปปะด้วยหรือเปล่า
สุ. ไม่เกี่ยว เพราะว่าขณะนั้นถ้าพิจารณาลักษณะของจิต ก็เป็นอกุศลจิต
ถ. เป็นอกุศล ไม่เกี่ยวกับหิริโอตตัปปะ
สุ. ขณะที่อาย รู้สึกสบายใจไหม
ถ. เป็นความทุกข์
สุ. ไม่สบายใจ ใช่ไหม เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่หิริ ไม่ใช่โอตตัปปะ หิริโอตตัปปะต้องเป็นกุศลจิตที่ละอายต่อการที่จะเป็นอกุศล ขณะที่กลัวก็เป็นโทสมูลจิตเหมือนกัน ถ้ากลัวบาปไม่เป็นโทสมูลจิต ใช่ไหม เกรง รังเกียจอกุศล นั่นเป็นลักษณะของโสภณธรรม