แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1568

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


ดิฉันขอเรียนเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดหิริโอตตัปปะในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น คือ ในคราวก่อนได้เล่าให้ท่านผู้ฟังถึงเรื่องของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งท่านเห็นจิ้งจกตกลงไป ในปากแมว และท่านก็คิดถึงเรื่องของกรรม ซึ่งย่อมจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปได้ โดยที่จิ้งจกนั้นก็ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เมื่อได้เล่าให้ท่านผู้ฟังฟังแล้ว กลับไปบ้านดิฉันก็รู้สึกว่า คงจะมีอะไรที่อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะท่านที่เล่าให้ฟังว่าท่านที่เห็นจิ้งจกตกลงไปในปากแมว ท่านสงสัยเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้ ใจของดิฉันก็มุ่งไปที่ความเข้าใจของท่านผู้นั้นว่า ท่านเข้าใจถูกต้องอย่างไรในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่เห็นจิ้งจกตกลงไปในปากแมว จึงไม่ได้ฟังโดยละเอียดจริงๆ ว่า ทำอย่างไรจิ้งจกจึงตกลงไปในปากแมว แต่ในความคิดของดิฉันคิดว่าจิ้งจกอยู่บนเพดาน เพราะว่าธรรมดาจิ้งจกมักจะอยู่บนเพดานจึงตก จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นไปในลักษณะนั้น แต่ความที่เกรงว่าคงจะไม่เป็นการถูกต้อง ดิฉันก็ได้โทรศัพท์ไปเรียนถามท่านที่เล่าเรื่องว่า เรื่องเป็นอย่างไร ขอความกรุณาเล่าอีกสักครั้งหนึ่งว่า จิ้งจกตกลงไปในปากแมว ได้อย่างไร เพราะดิฉันจำได้ว่า ดิฉันได้เล่าให้ท่านผู้ฟังฟังว่า จิ้งจกอยู่บนเพดาน ท่านผู้นั้นกล่าวว่า จิ้งจกไม่ได้อยู่บนเพดาน จิ้งจกอยู่ข้างฝา แต่ด้วยประการใด ไม่ทราบ จิ้งจกนั้นก็พลิกตัวและตกลงไปในปากแมว ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดหิริโอตตัปปะ ที่จะต้องเป็นผู้ละเอียดในการฟัง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าเพียงเรื่องเล็กน้อยนิดเดียว เสียงที่ได้ยินจากที่ว่าข้างฝาก็กลายเป็นบนเพดานได้ ถ้าไม่มีความสังเกตพิจารณารับฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยความสนใจจริงๆ ย่อมจะแปลเสียงผิดได้ ทั้งๆ ที่ท่านก็เล่าว่าจิ้งจกอยู่ข้างฝาและพลิกตัวตกลงไปในปากแมว แต่ดิฉันก็ได้ยินเป็น จิ้งจกอยู่บนเพดานและตกลงไปในปากแมว

เพราะฉะนั้น แม้แต่ดิฉันเอง ซึ่งก็เป็นผู้ที่พยายามศึกษาธรรม พยายามที่จะเจริญกุศล ก็ยังต้องเกิดหิริโอตตัปปะว่า เป็นผู้ที่ขาดความสนใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่แม้อย่างนั้นก็จะเห็นความเข้าใจเอาเองของแต่ละคน ได้ว่า เรื่องเดียวกันในขณะที่ได้ยินได้ฟัง ผู้พูดอาจจะไม่มีเจตนาอะไรเลยที่เป็นอกุศล แต่ก็กระทบกระเทือนใจผู้ฟังได้ หรืออาจจะเข้าใจผิดคิดเองใหญ่โต ลืมไปว่า เหตุการณ์จริงๆ ก็เพียงเท่านั้น แต่ความคิดที่ปรุงแต่งมากมายที่เป็นสังขารขันธ์ ที่เป็นความชำนาญเกิดขึ้นที่จะคิดมาก ก็ทำให้เป็นผู้ที่เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ผิดได้ แม้ในเรื่องเล็กน้อยยังเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่านี้ อาจจะกระทบกระเทือนบุคคลอื่นมากก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเพิ่มหิริโอตตัปปะแม้ในการฟัง ที่จะต้องเป็นผู้ฟังที่สนใจและละเอียดจริงๆ

ก็ขอเรียนให้ทราบความถูกต้องในเรื่องของจิ้งจกตกลงไปในปากแมวด้วย

วันหนึ่งๆ คิดเองมากไหม จากตัวอย่างของดิฉัน ทั้งๆ ที่ผู้พูดพูดว่า จิ้งจกอยู่ที่ข้างฝา ใจก็ยังคิดเป็นจิ้งจกอยู่บนเพดานได้ เพราะฉะนั้น ทุกท่าน อย่าคิดเอง ในทุกเหตุการณ์ เพราะอาจจะทำให้ท่านเกิดความเข้าใจผิดได้ และจะ ทำให้ขณะนั้นจิตใจเศร้าหมอง เป็นอกุศล

ถ. การฟังต่างๆ เมื่อฟังมาแล้วมีการคลาดเคลื่อน อย่างที่อาจารย์เล่านี้ มีมาก แม้กระทั่งการพิจารณาคดีในศาลก็มีมาก ขนาดไปเห็นเหตุการณ์มาเองทั้ง ๒ ท่าน ภาษากฎหมายใช้คำว่า พยานคู่ ยังให้การแตกต่างกัน แต่ทางศาลเขามีทางออก อย่างตัวอย่างที่อาจารย์ว่านี้ เป็นพลความ คือ ไม่ใช่สาระสำคัญ

สุ. แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นอนุสสติ ทำให้เป็นผู้ที่เพิ่มหิริโอตตัปปะได้ ในชีวิตประจำวัน ถ้าท่านผู้ฟังเกิดความทุกข์ใจ หรือท่านโกรธใคร ท่านอาจจะคิดว่า ท่านเข้าใจผิดเองได้ไหม ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นเลย แต่ท่านคิดไปเอง ทำให้เข้าใจผิด อย่างเรื่องจิ้งจกเป็นตัวอย่างที่ดี

อีกท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า มีท่านผู้หนึ่งท่านเอื้อเฟื้อเป็นธุระในทางการกุศล ท่านผู้นั้นก็ได้อนุเคราะห์ไปรับพระภิกษุในการฉันภัตตาหาร เมื่อพระฉันภัตตาหาร เสร็จแล้ว ท่านผู้นั้นที่เห็นกุศลจิตของท่านที่อนุเคราะห์รับพระมาให้ก็ได้กล่าวว่า ช่วยไปส่งพระด้วยนะคะ เท่านั้นเอง ท่านที่ไปรับพระมาให้โกรธมาก บอกว่า ทำไม ใช้เขา คิดดู ใจของคนที่พูด อนุโมทนาในกุศลของท่านผู้นั้นและคิดว่าคงจะมี กุศลเจตนาในการช่วยอนุเคราะห์ไปส่งพระ เพียงคำพูดที่อาจจะตกหล่นไป สักเล็กน้อย แต่เจตนาเป็นกุศล ยังทำให้อีกท่านหนึ่งซึ่งได้ทำกุศลแล้วโกรธว่า ทำไมใช้เขา

เพราะฉะนั้น ยากแสนยากในเรื่องของจิตใจ คนที่ไม่มีเจตนาเลย แต่คนอื่น ก็ยังคิดเอง เข้าใจเองต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีหิริโอตตัปปะในการฟัง และถ้า เกิดโกรธใครขึ้นมา ก็ขอให้เกิดหิริโอตตัปปะด้วยว่า ในขณะนั้นควรที่จะละอายต่ออกุศลจิต และเกรงกลัวบาปอกุศลในขณะนั้นด้วย คือ ควรที่จะละอายจิตที่เป็นอกุศล ในขณะนั้น เพราะถ้าเป็นเมตตาเสียเท่านั้น ทุกอย่างจบ

ถ. เรื่องเข้าใจคำพูดของคนอื่นผิดจนทำให้โกรธ ผมนี่เป็นเป็นประจำเลย แต่ได้อาศัยการศึกษาธรรมช่วยในขณะที่โกรธเกิดขึ้น ถ้าเราไม่อาศัยธรรมช่วย จะคิดไปใหญ่ เป็นเรื่องเป็นราวไปมากมายจนทำให้จิตใจไม่สบายเศร้าหมองไปมาก ก็เลยคิดได้ว่า เรื่องอะไรจะไปโกรธโดยคิดมากมาย เพราะที่คิดนั้น เขาจะเป็นอย่างที่เราคิดหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ เราคิดไปเอง โกรธเอง แปลว่าเราโกรธความคิดของเราเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ คิดได้อย่างนี้แล้วทำให้ใจสบายขึ้น ช่วยเหลือได้มาก

สุ. ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะ คือ ละอายและเกรงกลัวอกุศลในขณะนั้น

ถ. ขณะที่ให้ทาน หิริโอตตัปปะต้องเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่เพราะอะไร จึงไม่มีความรู้สึกเลยว่า มีลักษณะของหิริโอตตัปปะ

สุ. เพราะว่าลักษณะไม่ปรากฏ

ถ. แต่ขณะนั้นมี ใช่ไหม

สุ. ต้องมี ขณะใดที่เป็นกุศลก็เพราะหิริโอตตัปปะ โดยไม่ต้องคิดเป็นคำ แต่ลักษณะสภาพของหิริเป็นลักษณะที่ละอายต่ออกุศล โลภะทำให้ไม่ให้ ใช่ไหม คิดดูขณะที่กำลังจะให้แต่ไม่ให้เพราะอะไร พอจะเห็นได้ใช่ไหมว่า เพราะขณะนั้นเป็นโลภะ แต่ถ้าละอายในขณะนั้นจริงๆ ย่อมให้

เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ เช่น ไม่ให้ และเกิดระลึกขึ้นได้ว่า เพราะอะไรจึงไม่ให้แล้วก็ให้ อย่างนั้นก็จะเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะ แต่เวลาที่เป็นผู้มีอุปนิสัยสะสมมาที่จะเป็นผู้ให้ ขณะนั้นก็มีการให้เกิดขึ้น ซึ่งลักษณะของหิริโอตตัปปะก็ไม่ปรากฏ แต่ต้องมี มีความละอายต่อโลภะ สภาพที่ติดข้องในวัตถุ มีความเกรงกลัวบาป คือ โลภะ แม้ว่าจะเล็กน้อย คือ เพียงในขั้นของการสละวัตถุ ขั้นของการสละวัตถุนี่เป็นขั้นที่เล็กน้อย ไม่เหมือนกับขั้นของการสละความโกรธ ใช่ไหม วัตถุยังพอจะให้ได้ แต่ยังโกรธอยู่ บอกไม่ให้โกรธ ก็หยุดโกรธไม่ได้ เพราะฉะนั้น สละโกรธยากกว่า

ถ. บางขณะเห็นบุคคลและเกิดเมตตาจิตให้ทานไป ขณะนั้นก็ไม่มีลักษณะของหิริโอตตัปปะเลย

สุ. บางเหตุการณ์ไม่ปรากฏ แต่เหตุการณ์จะปรากฏอย่างเวลาที่จะให้ และไม่ให้ พิจารณาดูว่า ทำไมคิดจะให้แต่ไม่ให้ หลายคน ใช่ไหม อยากจะให้ ตั้งใจว่าจะให้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่ให้ เพราะอะไร เพราะโลภะ แต่ถ้าเห็นจริงๆ ว่า ขณะนั้นโลภะทำให้ให้ไม่ได้ ดูซิว่าหิริจะเกิดไหม โอตตัปปะจะเกิดไหม ถ้าหิริเกิด โอตตัปปะเกิดจึงให้ หลังจากที่คิดว่าไม่ให้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็พอจะเห็นลักษณะ ของหิริโอตตัปปะ

เพราะฉะนั้น หิริและโอตตัปปะเป็นสภาพที่ละอายต่ออกุศลและเกรงกลัวอกุศล หิริไม่ใช่ลักษณะที่กระดากอาย หรือว่าขวยอาย หรือเอียงอายเก้อเขิน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นการละอายต่ออกุศล

ขณะที่กำลังเป็นอกุศล จะพิสูจน์ได้ว่ามีหิริไหม ก็โดยการพิจารณาว่า เว้นอกุศลในขณะนั้นไหม ถ้าไม่เว้นก็แสดงว่ายังไม่มีหิริในอกุศลที่กำลังเป็นอยู่ เช่น ในขณะที่กำลังโกรธ จะเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะได้ถ้าขณะนั้นไม่โกรธ แต่ ถ้าหิริและโอตตัปปะยังไม่มีกำลัง ก็ยังต้องโกรธต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะว่า สติไม่ได้ระลึก ศรัทธาก็ไม่มั่นคง หิริก็ไม่ละอาย โอตตัปปะก็ไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ในขณะนั้น

สำหรับโอตตัปปะไม่ใช่การกลัวถูกลงโทษอย่างเด็กกลัวถูกตี แต่ต้องเป็น การเกรงกลัวอกุศล

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้แสดงถึงเหตุใกล้ให้เกิดของเจตสิกทั้ง ๒ เช่น เหตุใกล้ให้เกิดหิริเจตสิก ได้แก่ อัตตคารวปทัฏฐานา มีความเคารพตนเป็นเหตุใกล้ และเหตุใกล้ของโอตตัปปะเจตสิก คือ ปรคารวปทัฏฐานา มีความเคารพผู้อื่น ตามศัพท์ที่แปลกันส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความถึงการกลัวผลของบาป คือ เป็นสภาพที่เกรงกลัวบาปนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า การพิจารณาธรรมต้องละเอียดขึ้นๆ เพื่อจะได้รู้ลักษณะของทั้ง หิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก และต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับตัวท่านเอง ในชีวิตประจำวัน เพราะแม้ว่าในตำราจะได้กล่าวถึงเรื่องของเจตสิกแต่ละชนิด แต่ละประเภทไว้ก็จริง แต่นั่นเป็นส่วนที่ท่านศึกษาโดยลักษณะอาการซึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้เพื่อเตือนให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพื่อการไม่หลงเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของหิริเจตสิกหรือโอตตัปปะเจตสิกก็ตาม ควรเป็นการรู้ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นกับตัวท่านในขณะที่กุศลจิตเกิดนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาเป็นลำดับขั้น เช่น ในวันหนึ่งๆ มีการให้ทาน มีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น จะสังเกตเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะในขณะนั้นได้ไหม เพราะว่าการสะสมอุปนิสัยที่จะเป็นผู้สละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น หรือว่าทางกาย ทางวาจา เป็นผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นก็จริง แต่ในขณะนั้นมีการเคารพตนเองเป็นเหตุใกล้หรือเปล่า หรือว่ากุศลจิตเกิดแล้วโดยไม่ทันคิด ไม่ทันนึกอะไรเลย

การที่จะเข้าใจ หรือหยั่งถึงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดร่วมกัน บางครั้งลักษณะของสภาพเจตสิกใดปรากฏ ก็พอที่จะสังเกตเห็นลักษณะของสภาพเจตสิกนั้นได้ และถ้าในขณะนี้ ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะให้วัตถุสิ่งหนึ่ง สิ่งใดแก่ผู้อื่น ก็อาจจะเห็นลักษณะของหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่เกิดความละอายต่ออกุศลธรรม ละอายต่อบาป ขณะนั้นก็พอที่จะเห็นลักษณะของหิริ แต่ไม่ใช่หมายความว่าทุกครั้งที่กุศลจิต เกิดขึ้นเป็นไปจะเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะเจตสิก เช่น ในขณะที่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นโดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงความเคารพตน หรือการเกรงกลัวบาป ซึ่งเป็นโอตตัปปะ แต่ขณะนั้นก็มีทั้งหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว

แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่มีการพิจารณา ขณะนั้นก็พอที่จะเห็นลักษณะของหิริ แต่ขณะใดก็ตามซึ่งแน่นอนที่สุด คือ ที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นหิริเจตสิกและ โอตตัปปะเจตสิกต้องเกิด

ในขณะที่วิรัติทุจริต ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน การไม่ฆ่า การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น การไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยกายและวาจา ในขณะนั้นต้องมีหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกเกิด แต่ขณะนั้นคิดถึงอะไรหรือเปล่า ขณะที่กำลังวิรัติทุจริตจะคิดว่า มีความเคารพตนเอง หรือว่ามีการเคารพผู้อื่นหรือเปล่า ถ้าไม่คิด ก็ไม่เป็นไร แต่ในขณะนั้นก็มีความละอายและมีความเกรงกลัวอกุศล จึงไม่กระทำทุจริต

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ปลวกขึ้นบ้านท่าน ท่านก็บอกว่า ท่านเกลียดปลวก แต่ท่านไม่ฆ่าปลวกที่ขึ้นบ้านท่าน ไม่ใช่ว่าท่านจะรักปลวกจึงไม่ฆ่า หรือไม่ใช่ว่า ท่านจะไม่รังเกียจ แต่ในขณะที่เห็นปลวกท่านใช้คำว่า ท่านเกลียดปลวก แต่ท่าน ไม่ฆ่าปลวก เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นได้ถึงระดับขั้นของหิริและโอตตัปปะ ขณะที่ ไม่ฆ่า ละอายต่ออกุศลธรรม ละอายต่อบาปที่จะฆ่า และในขณะนั้นก็มีความ เกรงกลัวบาป คือ การฆ่าด้วย จึงไม่ฆ่า ขณะนั้นใครจะไปบังคับให้ท่านฆ่า ท่าน ก็ไม่ฆ่า แต่ท่านไม่ได้เมตตาปลวก เพราะว่าในขณะนั้นรังเกียจ ในขณะนั้นท่าน บอกว่า ท่านเกลียดปลวก

เพราะฉะนั้น ทุกท่านพิจารณา ถ้าท่านเห็นปลวกเดินอยู่เป็นกลุ่มๆ ความรู้สึกของท่านจะเป็นอย่างไร สภาพของจิตย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สะสมเมตตามาพอที่จะเกิดความเมตตา ย่อม ไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตเป็นกุศลเมตตาในขณะนั้น แต่จะมีกุศลจิตระดับขั้นที่เกิด หิริ ละอายต่อบาป และกลัวต่อบาป จึงทำให้ไม่ฆ่าได้ แต่แม้กระนั้นในขณะนั้น ใจก็ยังไม่เกิดเมตตา เพราะว่าขณะนั้นรู้สึกเกลียดปลวก

เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ศึกษา ซึ่งไม่ใช่ศึกษาเฉพาะตำรา แต่ศึกษาสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริงให้เข้าใจถูกต้อง หรือแม้แต่ในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็มีหิริเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโอตตัปปะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้นจะมีการพิจารณาถึงการเคารพตน หรือ การเคารพผู้อื่นไหม ไม่จำเป็น ไม่พิจารณาก็ไม่พิจารณา แต่มีเหตุปัจจัย คือ การสะสมของกุศล เช่น สติปัฏฐานที่ได้อบรมเจริญแล้วเป็นปัจจัยทำให้เกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งลักษณะของหิริเจตสิก ก็ต้องเป็นสภาพที่ละอายต่อบาป หรือละอายต่ออกุศล และลักษณะของ โอตตัปปะเจตสิก ก็ต้องเป็นสภาพที่เกรงกลัวอกุศล จึงได้ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

การที่จะเกิดหิริโอตตัปปะ ควรจะเป็นชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงแต่รู้ลักษณะของหิริ ลักษณะของโอตตัปปะ และเพิกเฉยต่อการที่จะพิจารณาว่า วันนี้มีหิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นในอกุศลธรรมบ้างหรือยัง เช่น ในขณะที่จิตไม่ผ่องใสเป็นอกุศล ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าสติเกิดระลึกได้ และรู้ว่า ในขณะนั้นจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใสเป็นอกุศลเพราะอะไร เพราะคิดไม่ดี

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565