แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1575
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๙
การสะสมกุศลและอกุศลในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ทำให้แต่ละบุคคล มีอัธยาศัย มีอุปนิสัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาอุปนิสัยและอัธยาศัยของแต่ละบุคคลที่ต่างกัน ย่อมทำให้เห็นการสะสมของหิริโอตตัปปะได้
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อลํสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๕๒ แสดงลักษณะของบุคคลที่มีหิริโอตตัปปะต่างกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนและผู้อื่น ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ๑ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำ แล้ว ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวยไม่มีโทษ ให้รู้ประโยชน์ ๑ เป็นผู้ชี้แจงชักชวนสพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ฯ
จะเห็นได้ว่า การสะสมของหิริโอตตัปปะทำให้เป็นผู้มีความตั้งใจในการศึกษาพระธรรม และเป็นผู้มีความสามารถเข้าใจเร็ว เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังและพิจารณาธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วก็รู้อรรถ รู้ธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และเป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการอบรมเจริญหิริโอตตัปปะด้วย
สำหรับบางท่าน อลํสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๓ แสดงถึงบุคคลที่ถึงแม้ไม่มีความเข้าใจเร็วในกุศลทั้งหลาย แต่เป็นผู้ที่ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำแล้ว จึงรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ที่มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวยไม่มีโทษ ให้รู้ประโยชน์ เป็นผู้ชี้แจงชักชวนสพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง เพราะฉะนั้น เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
นี่เป็นความต่างกันของบุคคล ๒ บุคคล
สำหรับบุคคลอื่น อลํสูตรที่ ๓ ข้อ ๑๕๔ มีข้อความว่า
เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในอกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว ๑ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ (แต่) หาเป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวยไม่มีโทษให้รู้ประโยชน์ไม่ เพราะฉะนั้น ก็เป็น ผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น
จะเห็นหิริโอตตัปปะได้ไหม ทุกอย่าง ข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะพิจารณาในเรื่องของธรรมประเภทใด ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่า บุคคลที่สามารถเข้าใจเร็วในธรรมและทรงจำไว้ได้ พิจารณาเนื้อความได้ รู้อรรถ รู้ธรรม แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะมีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง แต่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น
อีกบุคคลหนึ่ง อลํสูตรที่ ๔ ข้อ ๑๕๕ มีข้อความว่า
... เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ฟังแล้ว และหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ประโยชน์ เป็นผู้ชี้แจงชักขวนสพรหมจารีให้ อาจหาญร่าเริง เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็น ผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน
เพราะฉะนั้น ผู้นี้เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็น ผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน คือ สามารถชี้แจงให้ผู้อื่นรู้ประโยชน์ได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลตนเองได้ มีไหม แสดงให้เห็นถึงหิริโอตตัปปะแต่ละอย่าง ใช่ไหม ทั้งๆ ที่สามารถเข้าใจได้เร็ว และทรงจำธรรมด้วย แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะพิจารณาให้เข้าใจในอรรถโดยละเอียด แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะในการที่จะกล่าววาจาไพเราะ เพราะฉะนั้น ก็สามารถะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น แสดงธรรมที่ไพเราะที่ดีเป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่ไม่เป็นประโยชน์ กับตนเอง เพราะว่าตนเองไม่ได้พิจารณาธรรมที่ได้ฟังโดยละเอียด และไม่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย
อีกบุคคลหนึ่ง อลํสูตรที่ ๕ ข้อ ๑๕๖ มีข้อความว่า
... ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นผู้ทรงจำธรรม ที่ได้ฟังแล้ว
ตัวใครตัวเขาหรือเปล่า แต่ละบุคคลในที่นี้พิจารณาตนเองได้ว่า ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว หรือเปล่า คือ ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ แต่ก็จำได้ว่าฟังมาอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้ แต่ว่าเป็นผู้พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำแล้ว จึงรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่เป็นผู้ไม่มีวาจางาม เพราะฉะนั้น ก็เป็น ผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น
ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวาจา วาจาที่ดีย่อมสามารถเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น แต่ถ้า ไม่มีวาจาที่ดี ก็ไม่อาจจะเกื้อกูลบุคคลอื่นได้ เกื้อกูลได้เฉพาะตนเอง
นี่เป็นข้อความที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาจะเห็นได้ว่า มีบุคคลแต่ละประเภทๆ อย่างนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจพระธรรม แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากพระธรรมก็ย่อมต่างๆ กันไป ตามอัธยาศัย
สำหรับ อลํสูตรที่ ๖ ข้อ ๑๕๗ แสดงว่า บางท่านไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว และไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว จึงไม่รู้อรรถรู้ธรรม และไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่เป็นผู้มีวาจางาม จึงเป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็น ผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน
อลํสูตรที่ ๗ ข้อ ๑๕๘ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ท่านผู้ฟังจะคิดหรือจะพิจารณาในความต่างกันแม้เล็กๆ น้อยๆ ของ แต่ละบุคคลได้ไหมว่า มีความต่างกันในแต่ละข้อ เช่น สำหรับท่านผู้นี้
... ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่เป็นผู้ทรงจำธรรม ที่ได้ฟังแล้ว
เข้าใจก็ช้า จำก็ไม่เก่ง แต่ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว ส่วนใดที่จำได้ก็พิจารณา เพราะว่าวันหนึ่งๆ ได้ฟังธรรมมาก ใช่ไหม บางท่านอาจจะฟังหลายๆ ชั่วโมง แต่จำไม่ได้ว่าที่ฟังมาทั้งหมดนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง แต่ธรรมใดที่จำได้ ก็พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว ทำให้เข้าใจอรรถ รู้ธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่เมื่อไม่เป็นผู้มีวาจางาม ก็เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ฯ
อีกท่านหนึ่ง อลํสูตรที่ ๘ ข้อ ๑๕๙
เป็นผู้ไม่เข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว จึงไม่เข้าใจอรรถและธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่เป็นผู้มีวาจางาม จึงเป็นผู้สามารถ ในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน
ถ. ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
สุ. เจริญสติปัฏฐาน
ถ. หมายความว่า ถ้าเข้าใจธรรมขั้นไหน ก็ปฏิบัติธรรมขั้นนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ใช่ไหม และการที่จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้จะต้องมีความสัมพันธ์กับข้อแรกๆ ก่อนที่จะถึงข้อนี้ เช่น ต้องฟังให้เข้าใจ ต้องจำ ให้ได้ ต้องพิจารณาเนื้อความ และจะต้องรู้อรรถรู้ธรรม คือ ต้องเข้าใจเนื้อหาสาระของข้อความที่ฟังนั้น และจึงจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ ถ้าฟังไม่เข้าใจ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็คงปฏิบัติไม่ได้
สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น บางท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นสติปัฏฐานเลย แต่อยากปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติโดยที่ ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ทำให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ทำให้เข้าใจตนเองตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์
ถ. ที่อาจารย์ยกตัวอย่าง ผมก็มาพิจารณาตนเองว่า เราพิจารณาธรรม ได้อรรถ ได้กุศลธรรมไปแค่ไหนแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วก็คิดว่า คงจะจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อย่างนี้จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ไหม
สุ. ขณะใดที่ปฏิบัติถูก ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ. ปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม แต่ยังไม่แล้ว ใช่ไหม
สุ. ต้องเป็นพระอรหันต์ เมื่อถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ก็สงสัยอีกว่า ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติธรรม ก็เป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ และกุศล ทุกประการที่จะเจริญขึ้นจะพ้นจากการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีปัญญา ความเข้าใจในพระธรรม กุศลทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ แต่ที่กุศลทั้งหลายจะเจริญได้ ก็เพราะมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น และสำหรับหิริโอตตัปปะก็เป็นเหตุให้เกิดปัญญาด้วย
ถ. ถ้าเราจะไปเกื้อกูลคนอื่น จะต้องกล่าววาจางาม กล่าววาจาไพเราะ กล่าวธรรมนั้นโดยสละสลวย ขอให้อาจารย์ขยายความ
สุ. เป็นวาจาที่เป็นประโยชน์
ถ. ถ้ากล่าวแล้วกุศลธรรมเกิดก็กล่าว ถ้ากล่าวแล้วอกุศลธรรมเกิด ก็ไม่ควรกล่าว
สุ. ถ้าเป็นวาจาที่ไม่งาม ไม่ไพเราะ ไม่สละสลวย คนฟังไม่เลื่อมใส
ถ. พูดให้เพราะเลย แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่องก็มี
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมด้วย แต่จะเร็วหรือจะช้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ. งามในที่นี้ต้องหมายถึงได้อรรถ คือ อรรถต้องถูกต้องด้วย
สุ. แน่นอน เพราะใช้คำว่า กล่าวธรรม ต้องหมายความว่าเป็นธรรม ไม่ใช่กล่าวอธรรม เป็นธรรมที่ถูกต้อง และวาจาก็เป็นประโยชน์ด้วย วาจานั้นไพเราะ สละสลวย ทำให้บุคคลอื่นเลื่อมใส ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่อยากฟัง
ถ. เดรัจฉานกถาไพเราะได้ไหม
สุ. เดรัจฉานกถาไม่ใช่ธรรม นี่เรื่องการกล่าวธรรม
ถ. แต่ทุกวันนี้ เดรัจฉานกถาไพเราะมาก
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า แม้ถ้อยคำนั้นเป็นถ้อยคำไพเราะ แต่ไม่ใช่ถ้อยคำที่จริง พระองค์ไม่ตรัส และถ้าเป็นถ้อยคำที่จริงและไพเราะ พระองค์ยังรู้กาล ที่จะตรัสด้วย
สำหรับหิริโอตตัปปะ ความรังเกียจ ความละอาย ความกลัวอกุศลธรรม เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัญญาสูตร ข้อ ๙๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
ท่านผู้ฟัง ฟังพระธรรมเพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือ เพื่อปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง เพื่อการละอกุศลธรรม เพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่จะต้องมีธรรมที่เกื้อกูลต่อการที่จะให้ปัญญาเจริญด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๘ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
สำคัญไหม หิริโอตตัปปะหรือเปล่า เป็นผู้ที่มีความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก ความเคารพอย่างแรงกล้าในผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะครู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งก็ตาม เพราะถ้าไม่เคารพผู้ที่มีความรู้ในธรรม จะทำให้ผู้นั้นตั้งใจที่จะฟัง และศึกษา พิจารณาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม
พิจารณาถึงความรู้สึกในใจของแต่ละท่าน ถ้าท่านไม่เคารพผู้แสดงธรรม ท่านหนึ่งท่านใด ท่านย่อมไม่ฟังบุคคลนั้น ใช่ไหม แต่เพราะท่านรู้ว่าผู้นั้นสามารถให้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ นี่เป็นเหตุให้เกิดความเคารพในบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้การฟังเป็นไปด้วยความเคารพ พิจารณาในเหตุผล และย่อมเป็นเหตุให้ได้ปัญญาหรือ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว นี่เป็นประการที่ ๑
ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผย ข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญา ที่ได้แล้ว ฯ
ข้อนี้ก็ไม่พ้นจากหิริโอตตัปปะ คือ ขณะที่ไต่ถาม สอบถามธรรมกับท่านผู้ใด แสดงว่ามีความเคารพในท่านผู้นั้น มิฉะนั้นท่านคงไม่ไต่ถามสอบถามท่านผู้นั้น ใช่ไหม ฉะนั้น เมื่อไต่ถามสอบถามท่านผู้ใด ย่อมแสดงว่ามีความเคารพในความเข้าใจธรรมของท่านผู้นั้น ซึ่งจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นไปเพื่อได้ปัญญา และเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและ ความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เวลาที่ฟังพระธรรมเข้าใจแล้ว ประโยชน์ คือ สงบกายและสงบจิต ไม่เบียดเบียดด้วยกายวาจาขณะใด ขณะนั้นสงบทั้งกายและจิต ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่เป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว