แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1581

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


. ผมฟังจากวิทยุที่อาจารย์พูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ว่า จะต้องเจริญทั้ง ๔ ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานใดสติปัฏฐานหนึ่ง และมีผู้ถามที่อ้าง ปปัญจสูทนี อรรถกถา เรื่องการเข้าเมืองว่า การเข้าเมืองเข้าทางใดทางหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าทั้ง ๔ ประตู ซึ่งอาจารย์ก็ได้ให้เหตุผลเป็นที่น่าฟังว่า ขณะที่เข้า ประตูเมืองจะเข้าพร้อมกันทั้ง ๔ ประตูไม่ได้ หมายความว่าในขณะที่ได้ดวงตา เห็นธรรม สติจะระลึกรู้อยู่ที่ทวารใดทวารหนึ่ง หรือสติปัฏฐานใดสติปัฏฐานหนึ่งเท่านั้น และอาจารย์ยังได้ยกเหตุผลเพิ่มเติมต่อไปว่า การที่ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ สติปัฏฐานนั้น เพราะว่าปุถุชนมีวิปลาส ๔ เมื่อมีวิปลาส ๔ แล้ว ทำไมจะเจริญ สติปัฏฐานเดียว ก็ต้องทำลายวิปลาสทั้ง ๔ เสียก่อน

ซึ่งวิปลาสทั้ง ๔ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และความเห็นที่ว่างามอีก ๑ อาจารย์พูดถึงสัญญา จิต และทิฏฐิว่า ความจำของเราไปจำสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา สิ่งที่ไม่งามว่างาม สำหรับเรื่องสัญญาผมไม่สงสัย ทิฏฐิผมก็ไม่สงสัยที่เห็นผิดในวิปลาสทั้ง ๔ แต่จิต ในวิปลาสทั้ง ๔ อาจารย์ช่วยขยายความด้วย

สุ. สัญญาเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิดและสัญญานั้นวิปลาส จิตก็วิปลาสตามด้วย

. วิปลาสนี้ สุขวิปลาส เวลาคิดถึงสุขเวทนา ก็มีจริง เป็นของจริง โสมนัสเวทนาก็เป็นของจริง มีจริง เพราะฉะนั้น คำว่าสุขวิปลาสนี้ จะขัดกันหรือเปล่า

สุ. สุขเวทนาดับไหม เป็นของจริง ไม่ใช่ไม่จริง และลักษณะของจริงนั้น คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เที่ยง และไม่ใช่ของใครด้วย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น จะยินดีพอใจในสุขเวทนาเพียงชั่วขณะที่เกิดและก็ดับไปหรือ และเมื่อดับไปนั้น ก็ดับไปหมด ไม่ได้กลับมาอีกเลย

. เกิดมีอีกก็ได้

สุ. มีอีก ก็ดับอีก

. เกิดดับอย่างนี้ถือว่าเป็นสุขวิปลาส

สุ. ถ้ายังเห็นว่าเป็นสุข ก็เป็นวิปลาสในสิ่งซึ่งความจริงแล้วเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นชั่วระยะเวลาที่สั้นมาก และดับไป หมดสิ้นไป ไม่เหลือเลย

. ผมเคยได้ยินคนแสดงธรรมเล่าถึงพระสูตรหนึ่งว่า พระราชาออกบวชสละราชสมบัติ สละข้าทาสบริวารออกบวชเหมือนกับปลดภาระออกไป แล้วบ่นว่า สุขหนอๆ อย่างนี้วิปลาสหรือเปล่า

สุ. สุขในอะไร เมื่อบวชและได้รู้แจ้งในอริยสัจธรรม ไม่ใช่สุขเวทนา แต่ เป็นสุขที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป

. ที่ว่า สุขหนอๆ ไม่ใช่สุขเวทนา

สุ. แน่นอน ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป เมื่อปรินิพพานแล้วก็ดับหมด ไม่มีการเกิดอีกเลย

. ตอนเช้ามืด ประมาณตีสี่ มักจะได้ยินวิทยุแห่งหนึ่งพูดถึงหลวงพ่อสำนักสอนวิปัสสนา มีคนไปปฏิบัติกันมาก ใช้แบบนั่งเท้าซ้ายทับเท้าขวา มือขวาทับมือซ้าย หลวงพ่อบอกว่า ทำไปๆ จะเห็นดวงใส ยิ่งใสยิ่งสุข สุขมากเลย ไม่รู้ สุขอย่างไร สุขเวทนา หรือสุขเกิดดับ

สุ. นั่นต้องวิปลาสแน่ เพราะว่าไม่ได้ประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

. ทุกขเวทนาเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน

สุ. ถูกต้อง

. โสมนัสเวทนาเกิดแล้วก็ดับ

สุ. ทุกอย่าง

. สุขวิปลาส ไม่ใช่ว่าสุขไม่มี แต่เกิดดับเท่านั้น

สุ. ไม่ใช่ตัวตน เรื่องของการเห็นผิดคลาดเคลื่อนในการปฏิบัตินี้ เป็นสิ่งที่ ควรจะต้องพิจารณาสังเกตโดยละเอียดจริงๆ

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าฟังรายการนี้มาได้ ๒๐ ปีแล้ว ท่านยังไม่ค่อยจะแน่ใจเรื่องของการปฏิบัติ แต่วันหนึ่งในขณะที่กำลังฟัง ท่านบอกว่าธรรมที่ได้ฟังนี้เหมือนกับฉุดท่านออกไปจากตัว และก็เห็นว่าสภาพธรรมในขณะนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ก็อยากจะให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นอีก ท่านบอกว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดา ไม่มีการฝืนเลย แต่ท่านอยากให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นอีก

ขอให้พิจารณาว่า จะเป็นความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ได้ไหม จะเป็นการประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ได้ไหม ถ้าขณะนี้สติไม่เกิดและระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และความรู้เพิ่มขึ้นในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนี้เอง

ไม่ใช่ว่าคอยไปจนกว่าจะถึงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เหตุจะต้องสมควรกับผล

ที่จะพิสูจน์ได้ก็คือ เมื่อไม่ใช่ของจริง ก็ละความอยากไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นอยากเหลือเกินที่ว่า ทำอย่างไรที่จะให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นอีก แต่ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะไม่มีความอยากที่เลื่อนลอย และต้องรู้ผลด้วยว่าเกิดขึ้น เพราะเหตุที่สมควร

ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องคลายการยึดถือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด และจะเริ่มคลายไปเรื่อยๆ จนกว่าความสมบูรณ์ของปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่า มีแต่เพียงความหวัง ความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ และวันหนึ่งธรรมก็จะฉุดออกไป ข้างนอกและประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป

เรื่องของการฟัง ต้องฟังด้วยการพิจารณา พร้อมทั้งระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเรื่องผลต้องแล้วแต่เหตุจริงๆ ถ้าปัญญาเกิด ปัญญาทำกิจของปัญญา คือ ละคลายความไม่รู้ซึ่งเป็นอวิชชา แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด อวิชชา ก็ยังต้องมี และยังต้องมีวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และยังมีโลภะ ความอยาก ความต้องการผล ซึ่งไม่ใช่ผลจริงๆ เพราะว่าผลจริงๆ ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ว่าใครจะไปประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม โดยขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เรื่องของหิริโอตตัปปะ เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ว่า ต้องมี ทุกๆ ขั้นตลอดไปที่จะเกิดหิริโอตตัปปะที่จะละข้อปฏิบัติที่ผิดด้วย ถ้ายังไม่รู้ว่า ข้อปฏิบัติใดผิด ข้อปฏิบัติใดถูก ขณะนั้นก็ไม่มีความละอาย ไม่มีความรังเกียจที่ ยังคงเห็นผิดยึดถือข้อปฏิบัติผิดต่อไป

และสำหรับอกุศลในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง คิดดู ถ้าอกุศลจิตเกิดขณะหนึ่งและไม่รังเกียจ ไม่ละอาย เพราะเห็นว่าเป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง น้อยมาก ใช่ไหม วันนี้ระดับขั้นของอหิริกะ อโนตตัปปะที่เกิดยังไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรมบถ เพียงแต่เกิดความยินดีพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง เพียงชั่วขณะ จิตหนึ่ง ถ้าคิดอย่างนี้ จะเป็นผู้ประมาทในเรื่องความไม่ละอาย ไม่รังเกียจใน อกุศลธรรม เพราะเห็นว่าเป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เล็กน้อย แต่ทุกขณะจิตที่เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ จะสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เป็นผู้ที่ไม่ละอายใน อกุศลธรรมทุกขั้นได้ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

เพราะฉะนั้น พระธรรมสำหรับฟัง และพิจารณา เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ตอนแรกท่านก็ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ท่าน คิดว่า ท่านฟังเพียงเพื่อต้องการรู้ความต่างกันของข้อปฏิบัติที่เป็นวิปัสสนากับการ ทำสมาธิว่าต่างกันอย่างไร นั่นคือความสนใจอยากจะรู้ความต่างกัน แต่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า ประโยชน์ของการฟังพระธรรมนั้น คือ เมื่อเข้าใจแล้วก็น้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม แต่ขณะนี้เมื่อได้ฟังเพิ่มขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น ท่านก็รู้ว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของการฟังพระธรรมนั้น คือ เมื่อเข้าใจแล้วต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย

และแทนที่จะคิดถึงการดับกิเลส ซึ่งยังอยู่อีกไกลมากกว่าสติปัฏฐานจะเกิดแทรกในวันหนึ่งๆ ซึ่งอหิริกะ อโนตตัปปะ และอกุศลธรรมทั้งหลายเกิดอยู่แล้ว เป็นประจำ โอกาสของกุศลแต่ละขั้นที่จะเกิด เช่น ทาน วันหนึ่งก็พอจะเกิดบ้าง แต่ในขณะที่เป็นทานกุศล กำลังทำทานอยู่นั้น สติปัฏฐานเกิดกี่ครั้ง ยิ่งน้อยกว่า ขณะจิตซึ่งเป็นทานกุศล กว่าจะถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมและดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท ขอให้คิดดูว่า อีกกี่ภพ อีกกี่ชาติ อีกกี่กัป ในเมื่อยังคงเป็นผู้ที่กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่ และก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดบ่อย แต่กุศลขั้นอื่นๆ ก็เกิดบ้าง และในระหว่างที่กุศลขั้นอื่นๆ กำลังเกิดขึ้น กุศลที่เป็นสติปัฏฐานก็ยังเกิด น้อยกว่านั้นอีก คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นไม่ใช่จะได้ทุกครั้งว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราที่กำลังกระทำกุศลนั้นๆ เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องเป็นความอดทน และเพิ่มโสภณธรรมทั้งหลายมากขึ้น ทั้งศรัทธา ทั้งสติ ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ซึ่งทุกคนก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว หิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นอีกทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจในขั้นใดบ้าง

ในขั้นที่ละเว้นทุจริตกรรม ถอยกลับจากการฆ่าสัตว์ ถอยกลับจากการถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ให้ ถอยกลับจากการประพฤติผิดทางกาม ซึ่งเป็นอกุศลกรรมบถ และยังละเอียดขึ้นกว่านั้นได้ คือ ถอยกลับแม้แต่การที่จะถึงไม่ฆ่า ก็ไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายด้วยกาย ไม่แม้กักขัง ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นการทุบตีให้ได้รับทุกขเวทนา

สำหรับทางวาจา อกุศลกรรมบถ ก็มีการพูดเท็จ การพูดคำส่อเสียด การพูดคำหยาบคาย การพูดคำที่ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าพิจารณาทางกายแล้ว ก็พิจารณา ทางวาจาต่อไปอีกว่า หิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นทางวาจาที่จะละคำเท็จ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเล็กน้อย แต่ถ้าหิริโอตตัปปะเกิด แม้ว่าจะเป็นคำเท็จซึ่งรู้สึกว่าไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าสะสมบ่อยๆ ก็จะมีกำลังขึ้น เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะจะทำให้เกิดการรังเกียจ และถอยกลับจากแม้พูดไม่จริงในเรื่องใดๆ ก็ตาม

นี่ก็เป็นความละเอียดที่หิริโอตตัปปะจะเจริญขึ้น ไม่พูดคำส่อเสียด ถอยกลับจากการพูดคำหยาบคาย และคำที่ไม่เป็นประโยชน์

วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า จะพูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้นเวลาที่หิริโอตตัปปะมีกำลังขึ้น แต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ แต่เวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นจะทำให้พิจารณาเห็นว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์แม้ว่ากำลังจะพูดก็ยังสามารถเว้น ไม่พูดในขณะนั้นได้

และสำหรับทางใจ ก็ควรที่จะได้พิจารณาด้วย เพราะว่าไม่ได้มีแต่การกระทำทางกาย ทางวาจาเท่านั้น แม้แต่ความคิดทางใจ ก็ถอยกลับจากการคิดทุจริตต่างๆ และแม้แต่ในเรื่องที่เล็กน้อย เช่น ถอยกลับจากการคิดด้วยความหวังในสิ่งที่ไม่ใช่ ของของตน หรือคิดที่จะละความเห็นผิด เพราะว่าบางท่านอาจจะเห็นว่าอกุศลเป็นกุศล และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเป็นเรื่องใดๆ ก็ตามในชีวิตประจำวัน ถ้าพิจารณาในเหตุ ในผล ในกุศล ในอกุศลแล้ว เกิดความ เห็นถูกขึ้นขณะใด ขณะนั้นก็เพราะหิริโอตตัปปะ ถอยกลับจากอกุศล

อย่างบางท่านอาจจะเคยคิดว่า จะต้องฆ่าคนที่ทนทุกข์ทรมาน หรือสัตว์ที่เจ็บปวดด้วยความสงสาร ในขณะนั้นขอให้พิจารณาดูว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศลมากน้อยเพียงไร เป็นความเห็นถูก หรือเป็นความเห็นผิด หรือแม้แต่ บางท่านที่มีญาติมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนอาจจะบอกว่า ต้องโศกเศร้าเสียใจในการจากไปของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่การคิดอย่างนั้นถูกหรือผิด เป็นกุศลหรือ เป็นอกุศลที่จะให้จิตใจเศร้าหมองเกิดขึ้น หรือบางคนอาจจะคิดว่า ต้องโกรธ หรือต้องแสดงความโกรธเพื่อให้คนอื่นเกรงใจ หรือกลัว หรือประพฤติในทางที่ถูก

เพราะฉะนั้น ทุกขณะ ไม่มีคนอื่นจะพิจารณาให้ตัวท่านได้ว่า ขณะนั้น เป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต แต่ขณะใดที่เป็นโสภณ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ขณะนั้นต้องมีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นด้วย

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมาปัตติสูตร ข้อ ๖ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่ศรัทธาในกุศลธรรม ยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทธิยะ (ความไม่เชื่อ ความไม่เลื่อมใส) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี

นี่แสดงถึงการที่ไม่ควรประมาทในทุกขณะจิต บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านเป็น ผู้ที่กระทำกุศลมามากแล้ว แต่ในระหว่างที่กำลังทำกุศลเป็นเพราะว่าศรัทธาก็ดี สติก็ดี หิริก็ดี โอตตัปปะก็ดี ยังไม่เสื่อม ยังไม่หายไป แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสของ อกุศลธรรม เพราะว่า เมื่อใดศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทธิยะย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนสังเกตเห็นได้

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่หิริในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด หิริเสื่อมหายไป อหิริกะ (ความไม่ละอาย) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี

เป็นการเตือนให้ไม่ประมาทว่า ไม่ใช่ว่าจะมีหิริอยู่ได้มั่นคงตลอดเวลา ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด สังเกตเห็นอหิริกะทันทีได้

ข้อความต่อไป โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่โอตตัปปะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดโอตตัปปะเสื่อมหายไป อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัว) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี

การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่วิริยะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด วิริยะเสื่อมหายไป โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศล ย่อมมี

เปิด  251
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565