แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1590

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาดูความจริงแท้ในปัจจุบันชาติ คือ อาหารปริเยฎฐิมูลกทุกข์ การแสวงหารอบในปัจจุบัน ซึ่งการแสวงหาอะไรในปัจจุบัน ที่เป็นการแสวงหารอบ ถ้าไม่ใช่การแสวงหาทุกข์ หรืออาหารของทุกข์ในปัจจุบัน

ทุกคนก้าวเดินไปไม่มีหยุดในสังสารวัฏฏ์ ทุกๆ ขณะแสวงหาอาหารของทุกข์ทั้งนั้น ทางตากำลังเห็น แสวงหาทุกข์ในสังสารวัฏฏ์โดยรอบหรือเปล่า ไม่ใช่นิดหน่อย แต่ทุกทางที่จะเกิดความยินดีพอใจทางตา ขวนขวายหาโดยรอบจริงๆ คือ ไม่เว้น ทางหูในขณะที่ได้ยินเสียง มีความพอใจ แสวงหาแล้ว ในขณะที่แสวงหาด้วย ความพอใจ คือ แสวงหาทุกข์ แสวงหามูลเหตุของทุกข์โดยรอบในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าไม่เว้นเลย

ทางจมูกได้กลิ่นหอมๆ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเครื่องหอมต่างๆ แสวงหาทุกข์โดยรอบในสังสารวัฏฏ์ไหม ไม่เว้นแม้แต่ทางจมูก ซึ่งไม่มีความจำเป็นเหมือนกับ อาหารที่ต้องบริโภค ไม่มีความจำเป็นเหมือนกับเครื่องนุ่งห่มที่จะต้องใช้ แต่แม้กระนั้นก็แสวงหาทุกข์โดยรอบ

ทางลิ้นขณะที่ลิ้มรส ทางกายขณะที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก คิด เรื่องอะไร ขณะนั้นแสวงหาทุกข์โดยรอบไหม ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ถ้าไม่รู้ จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะดับกิเลสได้ ก่อนที่อโลภเจตสิกจะเกิดจนกระทั่งมีกำลังเป็นขณะที่สละความเห็นแก่ตัวจริงๆ จะต้องรู้ลักษณะของอาหารของทุกข์ สมุทัยของทุกข์ คือ โลภะ ความยินดีพอใจ ซึ่งกำลังแสวงหาโดยรอบจริงๆ

โลภะเป็นเหตุของทุกข์ฉันใด อโลภะก็เป็นเหตุของสุขฉันนั้น คิดดู เพียงไม่ติด หรือติดน้อยลงจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การขวนขวาย การแสวงหาทุกข์จะน้อยลงไหมในสังสารวัฏฏ์ ถ้าชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าต่อไปก็เหมือนๆ อย่างนี้อีก เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์จะต้องยืดยาวต่อไปอีกนานเพียงใด ถ้าปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑ ชนสูตร ที่ ๒ ข้อ ๔๙๒ ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ สิ่งของที่นำออกได้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขา สิ่งของที่ถูกไฟไหม้อยู่ในเรือนนั้นหาเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขาไม่ ฉันใด เมื่อโลกถูกชราและมรณะแผดเผาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลควรนำเอาออกมาด้วยการให้ทาน สิ่งที่ให้ไปแล้วย่อมเป็นอันบุคคลนำออกมาดีแล้ว ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไป ผู้ซึ่งได้สร้างสมบุญไว้ แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่

ทุกคนต้องเดินทางชีวิตต่อไปอีกยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งชีวิตข้างหน้าจะสุขทุกข์อย่างไร ย่อมเป็นไปตามกรรม และถ้าทุกคนมีความมั่นใจจริงๆ มีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรม ย่อมไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะว่าข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์ทั้งสองใน ชนสูตรที่ ๒ ว่า

สิ่งที่ให้ไปแล้วย่อมเป็นอันบุคคลนำออกมาดีแล้ว ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไป ผู้ซึ่งได้ สร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่

ทุกท่านเป็นผู้ที่มั่นใจในเรื่องของกุศลกรรมและอกุศลกรรมขึ้นเมื่อได้ศึกษา พระธรรมโดยละเอียดขึ้น ขณะใดที่จิตใครเป็นกุศลก็ขออนุโมทนา ขณะใดที่จิตใคร เป็นอกุศล ก็อนุโมทนาไม่ได้ ซึ่งแต่ละบุคคลก็มีขณะที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง การอนุโมทนาก็ต้องอนุโมทนาเฉพาะกาลๆ คือ เฉพาะในขณะที่เป็นกุศลเท่านั้น ไม่ใช่อนุโมทนาตลอดไปจนกระทั่งถึงอกุศลด้วย

ทุกท่านทราบเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตใช่ไหม ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แม้แต่ความตาย เพราะฉะนั้น ไม่ควรรอคอยวันเวลา ที่จะทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน หรือกุศลอื่นๆ และกุศลที่ควรจะง่ายและสะดวก ซึ่งไม่น่าจะต้องคอยกาลเวลาเลย คือ อภัยทาน กุศลอื่นยังต้องคอยกาลเวลาใช่ไหม การใส่บาตร การทำบุญ ยังต้องคอยกาลเวลา การตระเตรียม แต่อภัยทานไม่น่าต้องคอยกาลเวลาเลย ควรจะเป็นกุศลที่ง่าย และสะดวก

แต่สำหรับบางท่านก็ยังรอไว้อีกได้ คือ ชาตินี้ยังไม่ให้อภัย อาจจะเคย ได้ยินบางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ชาตินี้ยังไม่ให้อภัย แต่คิดดู ชาติหน้าจะให้อภัยหรือ ถ้าชาตินี้ยังไม่ให้อภัย ชาติหน้าจะให้อภัยได้ไหม รอแล้วใช่ไหม รอไว้ชาติหน้า คิดว่าชาตินี้ไม่ให้อภัย ดูเสมือนว่าชาติหน้าจะให้อภัย แต่ควรรู้ความจริงว่า ถ้าชาตินี้ไม่ให้อภัย ชาติหน้าก็ให้อภัยไม่ได้เหมือนกัน ในเมื่อความเป็นบุคคลนี้จบสิ้นลงเฉพาะชาตินี้เท่านั้น ไม่มีความเป็นบุคคลนี้เหลือไปถึงชาติหน้าเลย และจะไปให้อภัยใครที่ไหน ในเมื่อทุกอย่างจบหมดแล้ว เป็นบุคคลใหม่ เรื่องใหม่ พบเหตุการณ์ใหม่ จะให้อภัยไหม ก็เป็นการผลัดไปทุกชาติๆ

ขอให้ทราบว่า ทุกชาติจะกระทำเหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเป็นบุคคลใดในชาติหน้า ต้องทำตั้งแต่ในชาตินี้ เพื่อชาติหน้าจะได้เป็นผู้ที่เหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาแล้ว คิดดู สิ่งง่ายๆ ดูจะง่ายที่สุด ง่ายกว่าอย่างอื่น ยังทำไม่ได้ และจะทำอะไรได้ สิ่งอื่นก็จะต้องยากกว่านี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น กุศลทุกประการควรกระทำในชาตินี้ ไม่ควรรอคอยถึงชาติหน้า

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มงคลวรรคที่ ๕ สุปุพพัณหสูตร ข้อ ๕๙๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้นก็เป็นเวลาดีของ สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

บุคคลทั้งหลายทำกรรมประกอบด้วยความเจริญแล้ว ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์อันประกอบด้วยความเจริญ ถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกายใจ พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ

จบ มงคลวรรคที่ ๕

เช้านี้เป็นเช้าที่ดีไหม ไม่ต้องคิดถึงฤกษ์งามยามดีอะไรทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับกุศลจิตเกิดขณะใด ในตอนเช้าก็เป็นเช้าดี ในตอนกลางวันก็เป็นกลางวันดี ในตอนเย็นก็เป็นเย็นดี แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อย่าคิดเพียงเรื่องทานกุศลอย่างเดียวว่าได้กระทำแล้วตอนเช้า ได้กระทำแล้วตอนกลางวัน ได้กระทำแล้วตอนเย็น แต่กาย วาจา และใจด้วยที่จะต้องพิจารณาว่า เช้านี้เป็นเช้าดีหรือเปล่า ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจในเรื่องเหตุและผลก็ทราบว่า ฤกษ์ดี เวลาดี มงคลดี ทั้งหมด คือ ขณะจิตที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะใด ทั้งตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น จริงไหม แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๔๕ พรรษา มีประโยชน์สำหรับผู้ที่น้อมรับฟังพระธรรมด้วยความเคารพ คือ เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เป็นการบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างสูงสุด ตามข้อความที่ตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น แต่ให้ประพฤติธรรม คือ การเจริญกุศล ซึ่งตามความ เป็นจริงทุกคนก็ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น กุศลแต่ละประการที่ได้ฟัง เป็นการ เห็นประโยชน์ของกุศลในขั้นของการฟังและในขั้นของการพิจารณา แต่ยากที่จะเกิดได้บ่อยๆ แต่ก็ยังดีใช่ไหม คือ เมื่อฟังแล้ว พิจารณาในเหตุในผลให้เข้าใจ ก็เป็นการเกื้อกูลปรุงแต่งให้เกิดกุศลในแต่ละประการเพิ่มยิ่งขึ้น แต่ถ้าฟังน้อย พิจารณาน้อย ก็ไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลเจริญขึ้นได้

กุศลของแต่ละคนจะเจริญขึ้นได้ต่อเมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เป็นการศึกษารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เพียงในขั้น ของการฟัง หรือในขั้นของการพิจารณาเท่านั้น

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พราหมณวรรคที่ ๑ พราหมณสูตร ข้อ ๔๙๓ มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เป็นกุศลหรือเปล่า แม้แต่ในเรื่องของการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ก็ต้องเป็นกุศลจิตในขณะนั้นด้วย ถ้าขาดความละเอียดจะไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ผู้ที่ละเอียดย่อมรู้ และที่จะรู้ได้คือในขณะที่สติเกิด รู้แม้แต่ ความนอบน้อมในการเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในการปราศรัย และในการนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมตรัสว่า ธรรมอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ธรรมจึงเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ บุคคลผู้กำหนัด ถูกราคะครอบงำ มีจิตอันราคะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจบ้าง เมื่อละราคะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองเลย ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนคนอื่น ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต

ดูกร พราหมณ์ แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ธรรมย่อมเป็นคุณชาติ อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ...

ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า ทุกขณะการเคลื่อนไหวของกาย วาจา หรือใจที่คิดนึก เป็นโลภมูลจิต

ท่านผู้ฟังที่ห่วงสุขภาพร่างกาย นั่นจิตอะไร วันหนึ่งๆ ตื่นขึ้นมาก็ต้องคิด เรื่องการรักษาสุขภาพ โลภะ ใช่ไหม แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะนั้น เป็นโลภมูลจิต เป็นสราคจิต ถ้าสติไม่เกิดขึ้น

ด้วยความห่วงซึ่งเป็นโลภะ ก็มีการบำรุงรักษาร่างกายด้วยประการต่างๆ มีการออกกำลังกาย เคลื่อนไหว เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะนั้นโลภมูลจิต หรือเปล่า ก็เป็นโลภมูลจิตอีก

อยากรู้จักโลภมูลจิตไหม มีโอกาสที่จะรู้จักแล้ว ขณะไหนก็ได้ที่กำลังออก กำลังกาย บริหารร่างกาย ถ้าสติเกิดจะรู้ได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ต้องการ การกระทำนั้นจึงเกิดขึ้นเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความยินดี พอใจ ในการเป็นตัวตน

ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โลภมูลจิตอยู่ที่ไหน วันหนึ่งๆ หาไม่เจอ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิด ทุกขณะการเคลื่อนไหวของกาย วาจา พิสูจน์ได้เลย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สราคจิตเกิดอยู่เป็นประจำ

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้โลภมูลจิต ไม่ใช่ขณะอื่น ท่านที่เคยออกกำลัง บริหารร่างกาย และสติปัฏฐานไม่เคยเกิด ก็ไม่รู้จักโลภมูลจิต แต่เมื่อรู้ว่าขณะนั้น เป็นโลภมูลจิต ก็ยังมีการบริหารร่างกายตามปกติ และสติก็ระลึกลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง ไม่เปลี่ยน เพราะว่าเปลี่ยนไม่ได้ จะเอาโลภมูลจิตที่มีความพอใจในความสมบูรณ์ของร่างกายที่จะ ให้แข็งแรงไปทิ้งที่ไหน ในเมื่อทุกคนบริโภคอาหาร และบริหารร่างกายเพื่อให้แข็งแรงในการดำรงชีวิตอยู่ แต่จะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

ขณะที่เป็นทาน ขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทาน อภัยทาน หรือ ธรรมทาน ขณะที่เป็นศีล ขณะนั้นก็เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นการวิรัติทุจริต หรือ การช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น การนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ในขณะที่ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือว่าอบรมจิตใจไม่ให้เป็นอกุศลจิตมากด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล

เพราะฉะนั้น ขณะที่บริหารร่างกาย ขณะที่กำลังเคลื่อนไหวกาย วาจาใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นเป็นกาลเป็นโอกาสที่จะได้รู้จักโลภมูลจิต ไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย ท่านที่ยังบริหารร่างกายอยู่เป็นประจำสติก็เกิดระลึกได้ หรือไม่ว่าในโอกาสไหนก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะไม่พ้นจากโลภะ หรืออกุศลจิตที่เป็นโทสะ โมหะ ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นกุศลที่เป็นทาน ศีล ภาวนา

และคิดดู โลภะ บุคคลผู้กำหนัด ถูกราคะครอบงำ มีจิตอันราคะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิตบ้าง เคยพิจารณาไหม ถ้ายัง เคยคิดเบียดเบียนใครบ้างไหม คิดในมุมกลับ ไม่เคยเห็นโลภะ แต่ขอให้คิดดูว่า ในขณะที่คิดเบียดเบียนคนอื่น ก็ด้วยโลภะ ความรักตัวตนที่เคยยึดถือว่ามีเราหรือเปล่า หรือทุกท่านไม่เคยคิดเบียดเบียนใครเลย

เบียดเบียนมีได้ตั้งแต่เรื่องที่เล็กที่สุด จนกระทั่งถึงเรื่องที่ใหญ่ได้ เบียดเบียนทางกาย คนอ่อนแอแต่ให้เขาทำงานหนัก นั่นเบียดเบียนหรือเปล่า รักใคร ในขณะที่ ให้คนอื่นทำงานหนักกว่าตนเองซึ่งมีร่างกายแข็งแรงกว่า

ก็เป็นเรื่องที่จะสังเกตหรือจะรู้จักลักษณะของธรรมจริงๆ ด้วยสติที่เกิด ระลึกได้ในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ใช่การศึกษาและเข้าใจโทษของอกุศลทางตำรา หรือ โดยการฟัง การพิจารณา แต่ต้องเป็นการค่อยๆ คุ้นเคยกับสภาพลักษณะที่เป็นอกุศลซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศลประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

เปิด  250
ปรับปรุง  22 ต.ค. 2566