แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1584

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


สุ. เรื่องฌานจิตเป็นเรื่องของมหัคคตกุศล ซึ่งยิ่งใหญ่กว่ากามาวจรกุศล เพราะว่าตามธรรมดาของจิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ชวนจิตเกิดไม่เกิน ๗ ขณะอารมณ์ก็ดับ จึงเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก

ความสุขในรูปก็ชั่วขณะที่รูปนั้นตั้งอยู่ ความสุขในเสียงก็ชั่วในขณะที่เสียงนั้นตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น ชวนะที่กำลังเป็นโสมนัสเวทนาในขณะนั้นมีอายุที่สั้นมาก คือ ไม่เกิน ๗ ขณะ แต่สำหรับฌานจิตซึ่งเป็นมหัคคตะ สามารถระงับอกุศลได้ตราบ เท่าที่ฌานจิตนั้นยังเกิดดับสืบต่อกันอยู่โดยภวังคจิตไม่เกิดคั่นเลย เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่มากสักแค่ไหน

คนที่โกรธก็เร่าร้อน เมื่อหยุดโกรธก็สบายดีชั่ว ๗ ขณะ แต่ถ้าขณะนั้นเป็นกุศล สงบจากอกุศลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ โมหะ อุทธัจจะ หรืออกุศลใดๆ ก็ตาม เป็นสภาพของจิตซึ่งสงบในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบจนถึงขั้น อัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่ใช่มหากุศลจิต ไม่ใช่กามาวจรกุศล และสามารถตั้งมั่นได้ตลอดเวลานานอย่างนั้น ก็ขอให้คิดดูว่าใครจะทำได้

กำลังโกรธ เพียงบอกว่า อย่าโกรธนะ แค่นี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ และจะให้สงบจากอกุศลถึงความเป็นมหัคคตะ คือ อัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่มีภวังคจิตเกิดคั่นเลย ชวนะที่สงบนั้นเกินกว่า ๗ ขณะ ตามความสามารถของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น สำหรับธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งมีผู้กล่าว ก็ควรจะตรวจสอบกับพระธรรมวินัย และคงจะ ไม่ลืมข้อความที่ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงทะเลาะกับใคร แต่แต่ละบุคคลควร จะพิจารณาตนเองว่า ทะเลาะกับพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า ในเมื่อพระองค์ทรงแสดง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มด้วยสราคจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับความยินดีพอใจ ในอารมณ์ เป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิต ซึ่งเกิดเป็นประจำ จึงควรระลึก เพราะว่าเป็นปกติ

ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะระลึกรู้ลักษณะของจิตประเภทไหนได้บ่อย

วันนี้ยังไม่ได้โกรธบ่อยๆ เท่ากับชอบ หรือติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏตั้งแต่ ลืมตา เพราะฉะนั้น จิตประเภทไหนที่เมื่อระลึกเป็นปกติแล้วจะรู้ชัดในลักษณะที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเรื่องละ อย่าลืม เป็นเรื่องรู้ รู้อะไร รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ทำให้เกิดขึ้นด้วยความต้องการ หรือด้วยความเป็นตัวตน

ก่อนจะเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ผู้ที่เคยเจริญสมถภาวนาก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ก็แสวงหาหนทางที่จะระงับกิเลส แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ เป็นสมุจเฉท สามารถถึงเพียงอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน เมื่อสิ้นชีวิตลงและไม่เป็นพระอริยบุคคล ฌานจิตที่ไม่เสื่อมซึ่งเกิดก่อนจุติจิตทำให้ปฏิสนธิในพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล แต่ยังเป็นปุถุชน

ส่วนผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้จะไม่ถึงขั้นฌาน ไม่มีฌานจิตที่จะพิจารณา แต่ก็สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริง ดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระอริยสาวกที่ไม่ได้ ฌานจิตก็มีจำนวนมากกว่าพระอริยสาวกที่บรรลุโลกุตตระเพราะพิจารณาฌาน เป็นบาท

ในกาลสมบัติ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ได้ฌานจิตยังมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฌานจิต และในสมัยนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี ยังหวังที่จะทำฌานก่อนและรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยมี ฌานนั้นเป็นบาท ก็ขอให้เปรียบเทียบดูว่า เป็นกาลสมบัติเหมือนในครั้งนั้นหรือเปล่า

ทำไมไม่พอใจกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งอายุสั้นมาก ดับแล้ว ขณะใดที่ สติไม่ระลึก ลักษณะสภาพธรรมนั้นก็ผ่านไปด้วยความไม่รู้ ก็มีชีวิตอยู่ในโลกแต่ละขณะด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไปทำอย่างอื่นขึ้นด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่หนทางที่จะละ ตราบใดที่ยังไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ทางตาที่เห็น ระลึกและศึกษาพิจารณา เพื่อที่วันหนึ่งจะรู้โดยการประจักษ์แจ้งว่า สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างไร

บางคนกล่าวว่า ไม่รู้จักปรมัตถธรรมเลย ก็เป็นความจริง เพราะแม้มี ปรมัตถธรรมจึงมีบัญญัติ แต่เมื่อไม่รู้ว่าปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร สำหรับบุคคลนั้น ก็เป็นโลกของบัญญัติตั้งแต่เกิดจนตาย โลกที่มีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ โดยไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วเป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อไม่รู้ก็เอาปรมัตถธรรมกับบัญญัติปนกันทันที อยู่ตลอดเวลา จึงแยกไม่ออกว่า สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์มีลักษณะอย่างใด และสภาพที่เป็นบัญญัติที่ไม่ใช่ปรมัตถ์นั้นคือเมื่อไร เพราะว่าทันทีที่เห็นก็ปนกันแล้ว ใช่ไหม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตาให้เห็น จะมีบัญญัติได้ไหม แต่เมื่อไม่รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปรมัตถธรรมก็เป็นบัญญัติทันที ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

แต่สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกศึกษาลักษณะของปรมัตถธรรมเพื่อที่จะรู้ว่า สภาพธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แยกปรมัตถธรรมออกจากขณะที่กำลังปนบัญญัติด้วยความนึกคิดในลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็แยกไม่ออก ก็เป็นแต่เพียงการได้ยินได้ฟังตลอด ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปีว่า ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และก็มีปรมัตถธรรมอยู่ตลอดเวลาให้รู้ได้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่รู้ เพราะอวิชชา

ขณะใดที่สติเกิดระลึกแล้ว ก็ต้องศึกษาพิจารณาน้อมไปรู้ในอาการรู้ ซึ่งเป็นลักษณะของจิต วิชานน ลักขณัง เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะจิตเกิด จึงรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ได้ยินอย่างนี้กี่ปีแล้ว และต่อไปอีกกี่ปี ถ้าสติไม่ระลึกในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่คิดนึก ก็ยังคงเป็นบัญญัติปนกับปรมัตถ์ทันทีทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องอดทนที่จะระลึกศึกษา พิจารณารู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว คงจะหมดปัญหาเรื่องการทำฌาน ใช่ไหม และถ้าไม่ใช่ฌานแต่เข้าใจว่าเป็นฌานก็ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งบางท่านก็กล่าวว่าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว

สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของหิริโอตตัปปะ ย่อมกล่าวคุณของหิริโอตตัปปะ ซึ่งเป็นธรรมที่ถอยกลับจากอกุศล ขณะใดที่ไม่รังเกียจ ไม่กลัว ก็ยังคงเป็นไปกับอกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะใดที่ระลึกได้ รังเกียจและกลัว ขณะนั้นจะถอยกลับจากอกุศล เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการพิจารณายาวนาน แต่ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นหิริโอตตัปปะกระทำกิจของหิริโอตตัปปะ คือ ถอยกลับจากอกุศล

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต หิรีมาสูตร ข้อ ๓๐ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีผิวพรรณงาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพ ในสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ ๑ ความเป็น ผู้เคารพในหิริ ๑ ความเป็นผู้เคารพในโอตตัปปะ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ

เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ไหว้เรา กระทำประทักษิณ แล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ

ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในธรรม มีความเคารพ อย่างแรงกล้าในสงฆ์ มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร มีความเคารพอย่าง แรงกล้าในสิกขา ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ มีความเคารพ ยำเกรง เป็นผู้ ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว ฯ

ก็คงจะเห็นประโยชน์ของหิริโอตตัปปะ ซึ่งเป็นความรังเกียจและกลัวอกุศลธรรม

. ที่ว่ามีความเคารพในสมาธินั้น เคารพอย่างไร คงไม่ใช่ทำให้เป็นฌานก่อน

สุ. สมาธิ คือ สัมมาสมาธิ จะใช้ในหมายความว่า การเจริญสมถภาวนา ก็ได้ ถ้าเข้าใจธรรมสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก คงจะไม่มีข้อสงสัยเวลาที่กล่าวถึงสมาธิ ซึ่งต้องมุ่งหมายถึงสัมมาสมาธิแต่ละขั้นตามความสามารถ

การศึกษาธรรมต้องละเอียด ถ้าได้ยินว่า สมาธิ คำเดียว ก็จะทำสมาธิ หรืออยากทำสมาธิ นั่นผิดทันที เพราะไม่รู้ว่าสมาธินั้นต้องหมายความถึงสัมมาสมาธิ แต่ละระดับขั้น

โสภณสาธารณเจตสิกทั้งหมดมี ๑๙ ดวง ได้กล่าวถึงแล้ว ๔ ดวง คือ สัทธาเจตสิก ๑ สติเจตสิก ๑ หิริเจตสิก ๑ โอตตัปปเจตสิก ๑

โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงนี้ จะต้องเกิดกับโสภณจิตทั้ง ๑๙ ดวง จะขาดโสภณสาธารณเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดไม่ได้เลย และแต่ละดวงก็มีประโยชน์ มีความสำคัญ เห็นคุณประโยชน์ของโสภณสาธารณเจตสิกนั้นๆ ได้ว่า เป็นสิ่งที่ควรจะเจริญให้มั่นคงขึ้น

โสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไปที่จะกล่าวถึง คือ อโลภเจตสิก

สำหรับอโลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโลภเจตสิกซึ่งเป็นสมุทัยสัจ เพราะฉะนั้น จะเกิดยากไหม ในเมื่อโลภเจตสิกเกิดอยู่เป็นประจำและเป็น สมุทัยสัจด้วย แต่อโลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เป็นสภาพที่ตรงกันข้าม ฉะนั้น กว่าจะฝืนกระแสของอกุศลคือโลภเจตสิกซึ่งเป็นสมุทัย และให้อโลภเจตสิกเจริญขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด เพราะโดยมากเวลากล่าวถึงอโลภะ ทุกคนก็คิดถึงเพียงการสละวัตถุเป็นทานเท่านั้น แต่อโลภะไม่ใช่ความติด ไม่ใช่ สภาพธรรมที่ติดในอารมณ์ จึงต้องสละ ละทุกอย่างที่เป็นอกุศลธรรม แม้แต่ความ เห็นผิดซึ่งแม้จะไม่ใช่สักกายทิฏฐิ คนที่มีความเชื่อมั่นในความเห็นของตัวเอง ยากต่อการที่จะพิจารณาว่า ในขณะนั้นที่เห็นอย่างนั้น ถูกหรือผิด เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

แต่ถ้าเป็นอโลภะ จะไม่ติดในความเห็นที่ตนยึดถือไว้ว่าเป็นความเห็นถูก แต่จะพิจารณาด้วยศรัทธา ด้วยสติ ด้วยหิริ ด้วยโอตตัปปะ และละการติด ในความเห็นซึ่งเคยเชื่อมั่นในความเห็นของตน ถ้าความเห็นนั้นผิดก็ละได้ นี่คือลักษณะของอโลภเจตสิก เพราะว่าเมื่อโลภเจตสิกเกิด จะเกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง จะไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย และสำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า อโลภเจตสิกย่อมเกิดน้อยกว่าโลภเจตสิก

สำหรับลักษณะ ๔ ของอโลภเจตสิก ข้อความใน โมหวิจเฉทนี มีว่า

อลัคคภาวลักขโณ เป็นสภาพที่ไม่ติดข้องในอารมณ์เป็นลักษณะ หรือ อเคธลักขโณ มีความไม่กำหนัดยินดีในอารมณ์เป็นลักษณะ เหมือนกับหยาดน้ำที่ ไม่ติดค้างอยู่บนใบบัวฉะนั้น

จะเห็นได้ว่า ลักษณะของโลภะตรงกันข้ามกับลักษณะของอโลภะ โลภะ ติด ยึด ไม่ปล่อยเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย หรือแม้บัญญัติเรื่องราวที่คิดนึกต่างๆ ทางใจ วันหนึ่งๆ บางคนอาจจะคิดเพลินไป ฝันไป มีความสุขเพลิดเพลินไปกับความคิด นั่นก็เป็นลักษณะของความติด แต่ลักษณะของอโลภะนั้น เหมือนหยาดน้ำ ไม่ติดค้างอยู่บนใบบัว เมื่อกระทบอารมณ์แล้วก็ผ่านไป ไม่มีลักษณะที่ต้องการ ขวนขวาย ติดข้อง แสวงหาอารมณ์นั้น

อปริคคหรโส มีการไม่หวงแหนเป็นกิจ เหมือนภิกษุผู้พ้นแล้วฉะนั้น

ในขณะที่ไม่ต้องการ ไม่ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ก็เหมือนกับภิกษุผู้พ้นแล้วจากกิเลสทั้งหลาย

อนัลลีนภาวปัจจุปัฏฐาโน มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏ เหมือนบุรุษตกลงไปในที่อันไม่สะอาดฉะนั้น

ยังอยากจะอยู่ที่นั่นไหม เหมือนบุรุษตกลงไปในที่อันไม่สะอาดฉะนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะอาการที่ปรากฏ คือ ไม่ติดอยู่ในอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ

โยนิโสมนสิการ มีการทำไว้ในใจในอารมณ์โดยแยบคายเป็นเหตุใกล้

. ลักษณะที่ปรากฏกับอาการที่ปรากฏ เกือบจะเหมือนกันเลย

สุ. แยกไม่ออกเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการหนึ่งอาการใดที่ปรากฏให้รู้ คือ สภาพที่ไม่ติดข้อง ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของอโลภะซึ่งกระทำกิจ ไม่ติดข้อง

. ในชีวิตประจำวัน ผมว่าตัวนี้เป็นตัวร้ายมาก ติดแน่นเหนียว ไม่รู้จะติดขนาดไหน

สุ. เป็นสมุทัยสัจ แม้จะเกิดในอรูปพรหมภูมิก็ไม่พ้น ถ้ายังไม่เป็น พระอริยบุคคล ยังไม่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

อโลภเจตสิกเป็นโสภณเจตสิกที่เป็นมูลของกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ขยายความกุศลบท มีข้อความว่า

ชื่อว่ากุศลมูล ด้วยอรรถว่า กุศลเหล่านั้นเป็นมูล หรือด้วยอรรถว่า ชื่อว่ามูล โดยความหมายว่า เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นสภาพให้เกิด เป็นสมุฏฐาน เป็นที่บังเกิดแห่งกุศลธรรมเหล่านั้น

สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกทั้งหมดมี ๑๙ ดวง แต่ที่เป็นมูลมี ๓ ดวง คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ และปัญญาซึ่งเป็นอโมหเจตสิก ๑

เปิด  245
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565