แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1587

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


สำหรับคำว่า เจริญกุศลทุกประการ ก็ขออย่าได้เป็นผู้เว้น ไม่เจริญกุศลประการหนึ่งประการใด ทั้งในขั้นของทาน ศีล ความสงบของจิตจากอกุศล และ การเจริญสติปัฏฐานด้วย

แม้แต่ในเรื่องของทานเรื่องเดียว ก็มีทั้งวัตถุทาน อภัยทาน และธรรมทาน ซึ่งควรที่จะครบทั้ง ๓ ทาน เพราะว่าผู้ที่ควรแก่วัตถุทานก็มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย และ วันหนึ่งๆ ถ้าไม่มีทานกุศลเลย ก็เป็นไปไม่ได้แน่ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ใน ชาติหนึ่งๆ ที่ทานกุศลไม่เกิด ถ้าไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีกุศลจิตแม้ขั้นทาน และจะให้กิเลสดับ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับอภัยทาน ไม่ต้องมีวัตถุไทยธรรมที่จะให้ แต่ควรพิจารณาว่า จะยากกว่าการสละวัตถุทานหรือเปล่า เพราะว่าเป็นการสละความเห็นแก่ตัว ความรักตัว ในการที่ไม่อภัยในความผิดของคนอื่น หรือในความบกพร่องของคนอื่น

ขณะที่ไม่อภัยให้บุคคลอื่น ขณะนั้นพิจารณาดูว่า เพราะรักตัวเองหรือเปล่า จึงทำให้ไม่สามารถอภัยในความผิด หรือในความบกพร่องของคนอื่นได้ ซึ่งลึกลงไปจริงๆ เป็นเพราะความรักตัว ความยึดมั่นในตัวตนหรือเปล่า

การสละความเห็นแก่ตัวขั้นอภัยทาน ทำให้สละความคิดร้าย สละความ แค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความ ไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น

พระธรรมเหมือนกระจกที่จะส่องตัวของท่าน ให้รู้จักตัวของท่านตามความ เป็นจริงชัดเจนว่า ท่านมีทานขั้นไหน เพียงวัตถุทาน หรืออภัยทานด้วย เพราะว่า บางคนสละวัตถุง่าย แต่อภัยทานยาก เพราะฉะนั้น ก็เห็นความเห็นแก่ตัว ความ ยึดมั่นในตัวตน ความรักตัว ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่อภัยในความผิดและความบกพร่องของคนอื่น

ถ้าเห็นความบกพร่องของตัวเองที่ไม่อภัย เห็นความเห็นแก่ตัวเองที่ไม่ให้ อภัยคนอื่น ก็ควรเห็นความเห็นแก่ตัวนั้นว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ากลัว และควร รีบอภัยให้ทันที ก็จะไม่มีอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจที่เป็นความเห็นแก่ตัวนั้นๆ และควรคิดต่อไปอีกว่า ผู้ที่ควรแก่การรับอภัยทานนั้นมีใครบ้าง เพราะบางคนก็ช่างคิด คนนี้อภัยให้ได้ คนนั้นอภัยให้ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของอกุศลทั้งนั้น ไม่มีความเสมอกัน ในสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาว่า ผู้ที่ควรแก่การรับอภัยทานนั้นมีใครบ้าง และจะเว้นไหม หรือไม่ควรเว้น ทุกคน ไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว บางคนอาจจะอภัยให้เฉพาะคนดี เพราะว่าเขาดีก็อภัยให้ได้ แต่คนชั่ว ไม่อภัย

พิจารณาจิตในขณะนั้นจริงๆ

พระธรรมที่ทรงแสดง แสดงให้เห็นถึงโลภะ ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน และอโลภะที่จะค่อยๆ สละความยึดมั่นในความเห็นแก่ตัว หรือในความเป็นตัวตน ซึ่งต้องไม่ใช่แต่เฉพาะสละวัตถุเป็นทานเท่านั้น แม้อภัยทานก็ควรที่จะมีแก่ทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะกับคนดี เพราะว่าคนดีก็อาจจะมีบางครั้งบางคราวที่ผิดพลาดพลั้งเผลอทำให้คนอื่นคิดมากเป็นทุกข์โดยไม่ตั้งใจ

ทุกคนเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งๆ สุขทุกข์เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ บุคคลต่างๆ อาจจะเป็นโดยความบังเอิญ โดยความประจวบกันของเรื่องราวและเหตุการณ์อื่นๆ หรือว่าการฟังผิด การคิดผิด การเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ ผสมผสานกันทำให้โลภะซึ่งเป็นความรักตน ยึดมั่นในตน เป็นเหตุให้ผูกโกรธ และ ไม่อภัยในกาย วาจา ใจของคนอื่น ซึ่งขณะที่ไม่อภัยให้ ขณะนั้นไม่ได้สละความ เห็นแก่ตัวของตนเอง แต่ถ้าอภัยให้เมื่อไร แสดงว่าสละความรักตน ความยึดมั่นในตน ความเห็นแก่ตนลง

ธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่การไม่อภัยก็ต้องรู้ว่า เพราะโลภะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพธรรมที่เป็นอโลภะเกิดขึ้น คลายความ ยึดมั่นในตัวตน จะทำให้อโลภะเจริญขึ้นจนถึงขั้นที่สามารถดับกิเลสได้

สำหรับธรรมทาน เป็นการสละความเห็นแก่ตัวขั้นสูง เพราะว่ากุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็เพราะธรรมทาน แม้จะมีวัตถุทานสักเท่าไรก็ไม่พอที่จะเกื้อกูลคนที่ยากไร้ ซึ่งควรแก่การที่จะรับวัตถุทานในสังสารวัฏฏ์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยวัตถุทาน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้เขาอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เวียนสุข เวียนทุกข์ ซึ่งไม่พ้นจากความลำบากยากไร้ได้โดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ธรรมทานจึงเป็นการสละความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในตัวตน โดยบำเพ็ญประโยชน์ขั้นสูงสุด คือ ผู้ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม เผยแพร่พระธรรม ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้เข้าใจพระธรรมโดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะโดยการสนทนาธรรม โดยการพิมพ์หนังสือ โดยการสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นไปในธรรม ทั้งหมดก็เป็นธรรมทาน พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกประการด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ให้ธรรมเป็นทานเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติธรรมด้วย

การฟังพระธรรม ไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรมก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำ ก็ไม่มีวันจบสิ้นจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องเจริญกุศลเป็นบารมีต่อไปเรื่อยๆ

เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการในชีวิตทุกชาติ จากการฟังพระธรรมและศึกษา พระธรรม ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐาน วิภังคนิทเทส สมาธิสัมโพชฌงค์ มีข้อความว่า

จิตสังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ ชื่อว่าสังเวควัตถุ ๘ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รวมเป็น ๔ อบายทุกข์เป็นที่ ๕ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีต เป็นที่ ๖ วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคตเป็นที่ ๗ อาหารปริเยฏฐิมูลกทุกข์ในปัจจุบัน เป็นที่ ๘ และยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัย

นี่คือการที่จิตจะสังเวชถอยกลับจากอกุศล ด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการนี้

สำหรับชาติ ความเกิด มีจริงแน่นอน ทุกคนพิสูจน์แล้ว รู้แล้ว เพราะว่า เกิดมาแล้วในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ชาติ การเกิด ต้องมีแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ และเมื่อเกิดมาแล้ว ชราต้องมีแน่นอน ท่านที่กำลังเข้าสู่ วัยชรา ล่วงไปๆ ทุกขณะ ก็เป็นการพิสูจน์ธรรมว่า ชรามีจริง เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้และพิสูจน์ได้ด้วยตนเองแน่นอน ความไม่เที่ยง เมื่อเกิดมาแล้วจะคงอยู่ในสภาพนั้นต่อไปไม่ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง จากวัยเด็กสู่วัยชรา

พยาธิก็เป็นสิ่งที่มีจริง ยังคงพอใจไหมเมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องมีโรคภัยเบียดเบียนทุกภพชาติไป นอกจากในภูมิที่เป็นสุคติภูมิขั้นเทวโลก ขั้นสวรรค์ ขั้นพรหม แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีใครสามารถอยู่ตลอดไปในสวรรค์และในพรหมโลกได้ ถ้าไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นที่ควรแก่ภูมินั้นๆ ก็จะต้องกลับมาสู่ความ เป็นอย่างนี้อีก

เวลาเป็นทุกข์เพราะโรคภัย ก็เห็นความจริงว่า ชีวิตไม่ใช่มีแต่สนุกสนานรื่นเริง แต่ความจริงนี้ไม่ใช่เป็นความจริงแต่เฉพาะในชาตินี้ แม้ในชาติก่อนๆ คือ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีต และวัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคต เกิดอีก ก็จะต้องเป็นอย่างนี้อีก จะต้องมีชาติ มีชรา มีพยาธิ มีมรณะ

ถ้าพิจารณาอย่างนี้ จะทำให้โยนิโสมนสิการเกิด เพราะว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่ได้ สิ่งใดที่เคยถือว่าเป็นของเราทั้งศีรษะตลอดเท้าก็ไม่ใช่ เพราะต้องถึงมรณะในวันหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เคยหวงแหนเป็นที่สุด สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงแม้ยังไม่จากโลกนี้ได้ จึงควรที่จะพิจารณาว่า ถึงอนาคตชาติก็ ต้องเป็นอย่างนี้อีก คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นสมบัติอันแท้จริง เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป เพราะฉะนั้น มีก็เหมือนไม่มี เป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจริงๆ เพราะเมื่อดับไปแล้ว สิ่งนั้นไม่ได้กลับมาอีก

ทุกท่านที่ได้ฟังพระธรรม หรือได้อ่านพระไตรปิฎก เคยเฉลียวใจบ้างไหมที่ ในพระไตรปิฎกเต็มไปด้วยเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ มากกว่าเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นเพียงบางสูตร เพราะว่าหนทางที่จะดับกิเลสมีหนทางเดียว คือ การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อได้เข้าใจหนทางนี้ถูกต้องแล้ว และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในชีวิตตามปกติ เช่น ในขณะที่เป็นโลภะ ในขณะที่เป็นโทสะ ในขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งมีมากกว่าขณะที่เป็นกุศลในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ยังมีปัจจัยทำให้อกุศลเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ แต่ถ้าไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ก็ดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกจึงมีเรื่องของอโลภะ อโทสะ อโมหะ และเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้รู้

บางท่านอาจจะรู้สึกว่า ท่านได้พบพระธรรม หรือได้ฟังพระธรรมเมื่ออายุ มากแล้ว แต่แม้กระนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่คนชราอายุ ๑๒๐ ปี ด้วยการพิจารณาอย่างแยบคาย ก็ย่อมเห็นคุณของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรม ซึ่งจะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการละอกุศลและเจริญกุศลยิ่งขึ้น และย่อมจะเป็นไปทั้งในชาตินี้ และต่อๆ ไปในชาติหน้าด้วย ถ้าเริ่มเจริญกุศลตั้งแต่ ในชาตินี้

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑ ชนสูตรที่ ๑ ข้อ ๔๙๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ ๒ คน เป็นคนชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด ได้ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้ ขอพระโคดมผู้เจริญทรงโอวาทสั่งสอนพวกข้าพระองค์ถึงข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พวกข้าพระองค์ สิ้นกาลนานเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ที่แท้พวกท่านเป็นคนชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้

ดูกร พราหมณ์ โลกนี้ถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่แล เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่เช่นนี้ ความสำรวมทางกาย ความสำรวมทางวาจา ความสำรวมทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดหน่วงของเขาผู้ละไปแล้ว

ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความมีอายุสั้น ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้ ควรทำบุญทั้งหลายอันนำความสุข มาให้ ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ผู้ซึ่งสร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ฯ

ตายแล้วจะหวังได้ไหมว่า จะไปสร้างบุญกันที่ไหนต่อ อาจจะได้ หรืออาจจะไม่ได้ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่ขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ที่จะทำความดีได้ต่อไป ซึ่งแต่ละบุคคลไม่ควรจะประมาทกุศล ไม่ควรคิดที่จะเพียงเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะว่า วันหนึ่งๆ ถ้ากุศลขั้นอื่นๆ ไม่เกิดเลย และหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิดเท่านั้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ข้อความในอรรถกถามีว่า

พราหมณ์ทั้งสองนั้นเห็นบุตรภรรยาของตนไม่ปฏิบัติตามคำของตน จึงได้คิด ที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อแสวงหาทางที่จะนำออกจากทุกข์

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อให้พราหมณ์ทั้งสองนั้นดำรงอยู่ในศีล ๕ เพราะเหตุที่ถึงแม้ว่าพราหมณ์นั้นจะบวช ก็ไม่สามารถจะบำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์ได้ เพราะเป็นคนแก่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้พราหมณ์นั้นดำรงอยู่ในศีล ๕ โดยการสำรวมกาย วาจา ใจ

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

บุญนั้น ชื่อว่าตาณะ เพราะเป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก

เวลาที่จะไปสู่ปรโลก เป็นเวลาที่ไม่มีใครสามารถต้านทานกรรมได้ว่า อย่าให้อกุศลกรรมนั้นให้ผล ขอให้กุศลกรรมให้ผล ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากบุญ ที่ได้กระทำแล้ว ชื่อว่าตาณะ เพราะเป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก

ชื่อว่าเลณะ เพราะเป็นที่ซ่อนเร้น

ชื่อว่าทีปะ เพราะเป็นที่พำนัก

ชื่อว่าสรณะ เพราะเป็นที่อาศัย

ชื่อว่าปรายนะ เพราะสามารถจะให้คติสูงได้

พราหมณ์ทั้งสองนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ได้ถือศีล ๕ ตลอดชีวิต เกิดในสวรรค์

เรื่องของการเจริญกุศล ต้องเป็นผู้ตรงและรู้ว่า กว่าจะดับกิเลสได้ต้องมี อกุศลเกิดแทรกการเจริญกุศลมากมาย

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังถึงการรักษาอุโบสถศีลของท่าน ซึ่งทำให้ท่านเดือดร้อนใจ เพราะว่าใจจริงของท่านนั้น ท่านอยากได้อานิสงส์ของศีล คือ ท่าน อยากสวย ซึ่งท่านทราบว่าผู้ที่รักษาศีลจะเป็นผู้ที่มีรูปร่างสวยงาม แต่เมื่อท่านได้พิจารณาจิตใจของท่านและได้ฟังพระธรรมก็รู้ว่า ตามความเป็นจริงแล้วท่านยังมีกิเลสมากมาย คิดดู อยากสวยเป็นกิเลสหรือเปล่า ก็เป็นอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นผู้ที่สมควรแก่การวิรัติทุจริตด้วยศีล ๕ ควรเป็นอุบาสิกาที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้รู้จักตนเองและกิเลสของตนเองอย่างมากมายตามความเป็นจริง ท่านก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วยการรักษาศีล ๕ โดยไม่อึดอัดใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ควรแก่ฐานะ แก่สภาพจิตของท่านที่จะรักษาได้

เปิด  258
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565