แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1589

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

สังวรก็ดี อสังวรก็ดี จะมีอยู่ในขณะภวังค์หรือในขณะแห่งอาวัชชนะเป็นต้น ขณะหนึ่งขณะใดก็หาไม่

นี่แสดงให้เห็นถึงทาง ๖ ทวาร ที่ว่า ในขณะที่เป็นภวังค์ไม่ชื่อว่าสังวร หรืออสังวร ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศลในขณะที่กำลังเป็นภวังค์ หรือในขณะ แห่งอาวัชชนะเป็นต้น

ส่วนในขณะแห่งชวนะ ย่อมเกิดความเป็นผู้ทุศีลบ้าง เป็นผู้ฟั่นเฟือน หลงลืมสติบ้าง ไม่รู้บ้าง ไม่อดทนบ้าง เกียจคร้านบ้าง ย่อมเป็นอสังวร

นี่คือแต่ละท่านตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เวลาที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก หลงลืมสติ เป็นอสังวร ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นอสังวร ไม่อดทนในวันหนึ่งๆ เป็นอสังวร ไม่อดทนในที่นี้ ต้องไม่อดทนต่อสิ่งที่ น่าพอใจที่จะให้เกิดโลภะ และไม่อดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจที่จะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ

ในขณะที่เป็นโลภะบ้างเพราะไม่อดทนต่ออารมณ์ที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นอสังวร ในขณะที่เป็นโทสะบ้างเพราะไม่อดทนต่ออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นอสังวร เกียจคร้านบ้าง มากไหมในวันหนึ่งๆ ขยันในทางอกุศล แต่ถ้าพูดถึง ความขยันจริงๆ ในทางกุศล ก็ต้องในขณะที่กุศลจิตเกิด

เมื่อขณะที่อสังวรนั้นมีอยู่ ย่อมเป็นอันมิได้คุ้มครองทั้งทวาร ทั้งภวังค์ ทั้งวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น

การเห็นเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ วิถีจิตเกิดขึ้นตั้งแต่อาวัชชนวิถี ถ้าเป็น ทางปัญจทวาร จนถึงโวฏฐัพพนวิถี ขณะนั้น ถ้าอกุศลจิตเกิดต่อก็เป็นอสังวร ถ้า กุศลจิตเกิดต่อก็เป็นสังวร เปรียบเหมือนอะไร

เปรียบเหมือนประตูในนคร ๔ ด้านที่ไม่ได้ปิดไว้ แม้จะปิดภายในเรือน ซุ้มประตูและห้องเป็นต้นไว้อย่างดีก็ตาม ถึงกระนั้นก็ย่อมเป็นอันมิได้รักษาคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมดในนครทีเดียว เพราะพวกโจรเข้าไปทางประตูนคร พึงกระทำตามที่ปรารถนาได้ฉันใด เมื่อความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นในขณะชวนะ เมื่ออสังวรนั้นมีอยู่ ก็ย่อมเป็นอันไม่ได้คุ้มครองแม้ทวาร แม้ภวังค์ แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น เหมือนฉันนั้น

การแสดงอุปมานี้ เพื่อแสดงประการเดียวเท่านั้นว่า เฉพาะชวนจิตเท่านั้น ที่เป็นสังวรและอสังวร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องประตูต่างๆ ก็ได้ แต่แสดงไว้ให้เห็นว่า แม้ว่าวิถีจิตจะเกิด แต่ชวนจิตเป็นอกุศล ก็ชื่อว่าไม่ได้ปิดประตูนครใหญ่ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องประตูต่างๆ เหล่านี้ เพียงแต่ ให้ทราบว่า อุปมานี้เพื่อแสดงว่า เฉพาะชวนวิถีเท่านั้นที่เป็นสังวรหรืออสังวร

. ในวิถีจิตวิถีหนึ่งๆ ต่างกันที่ชวนะ คือ กุศล อกุศล ใช่ไหม ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มีความต่าง อารมณ์ไม่มีความต่าง จักขุวิญญาณไม่มี ความต่าง เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ที่กุศลอกุศลเกิดนี้ โวฏฐัพพนะมีความต่างไหม

สุ. โวฏฐัพพนะเป็นจิตที่ทำกิจโวฏฐัพพนะโดยอนันตรปัจจัย เช่นเดียวกับ สัมปฏิจฉันนะทำกิจของสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะทำกิจของสันตีรณะ เพียงแต่ว่าโวฏฐัพพนจิตเกิดก่อนชวนะ ตามกาลที่ควรจะเกิดโดยอนันตรปัจจัย

. แปลว่า แม้กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด โวฏฐัพพนะก็ดวงนั้นเอง ไม่มีความต่าง

สุ. แน่นอน เพราะว่าบางวิถี โวฏฐัพพนะเกิด ๒ – ๓ ขณะโดยที่ชวนะ ไม่เกิด ไม่เปลี่ยนชาติของโวฏฐัพพนจิต

. แม้กิจก็ไม่เปลี่ยน ทุกอย่างไม่เปลี่ยน

สุ. ไม่เปลี่ยน

. ไม่มีความต่างเลย ใช่ไหม

สุ. เด็กค่อม อย่างไรๆ ก็เป็นสภาพของเด็กค่อมเตี้ย

. เรื่องสังวร อสังวรนี้ ผมนึกถึงเรื่องของพระโปฐิลเถระ ตอนที่สามเณรจะให้ท่านเจริญวิปัสสนา ท่านอุปมาว่า มีจอมปลวกอยู่แห่งหนึ่ง มีช่อง ๖ ช่อง เวลาเหี้ยเข้าไปแล้วก็ให้ปิดช่องทั้ง ๕ เสีย เหลือไว้ช่องเดียว และจับเหี้ยนั้น อุปมานี้ จะเทียบได้กับชวนปฏิปาทกมนสิการหรือเปล่า

สุ. นั่นเป็นการอุปมาในการเจริญสติปัฏฐาน ที่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏทีละอารมณ์ ไม่ได้แสดงเรื่องกิจของวิถีจิตแต่ละวิถี

. เพราะว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดทางมโนทวารอย่างเดียว ที่ท่านอุปมาอย่างนั้นที่ปิดทวารทั้ง ๕ คือ ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือไว้ทางมโนทวาร อย่างเดียว หรือว่าปิดทวารใดก็ได้ เหลือไว้ช่องหนึ่ง ทางตาเปิด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจปิด เป็นอย่างนี้หรือเปล่าที่ว่าปิด

สุ. ถ้าเข้าใจโดยพยัญชนะอย่างนี้ ท่านผู้ฟังก็จะหลับตากับอุดหู ใช่ไหม หรืออาจจะอุดจมูก หรือไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัสอะไรเลย แต่ไม่ใช่หมายความว่าอย่างนั้น เป็นแต่เพียงคำอุปมาให้ทราบว่า เวลาที่สติเกิด สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างที่ปรากฏ

. ไม่ได้หมายความว่าให้ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย และไปเปิดทางใจอย่างเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น

สุ. ไม่มีข้อปฏิบัติอย่างนั้นในพระพุทธศาสนาที่จะให้ปิดตา ปิดหู แต่จะต้องรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจนสามารถละความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะ ของสภาพธรรมได้ เพราะถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางทวารเดียว จะไม่หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมทางทวารอื่น เช่น ขณะที่แข็งกำลังปรากฏในวันหนึ่งๆ สติไม่ระลึกลักษณะที่แข็งตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่เวลาที่สติเกิด สติก็ไม่ได้ระลึกอย่างอื่นนอกจากแข็งที่ปรากฏทางกายก็ได้ นั่นคือขณะที่เริ่มศึกษาลักษณะของปรมัตถธรรม โดยเข้าถึงความหมายที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ไม่ใช่เพียงการพูดตาม แต่กำลังศึกษาลักษณะที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ไม่มีเราในแข็ง ไม่มีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่แข็งเลย นอกจากลักษณะของสภาพธรรมนั้น ที่กำลังปรากฏ นั่นคือเริ่มระลึกลักษณะของแข็งในขณะนั้น

ก่อนที่จะเข้าใจว่า ไม่มีเราในแข็ง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในแข็ง จะต้องอบรมเจริญปัญญาระลึกที่แข็งจนกระทั่งรู้ว่า แข็งไม่ใช่ลักษณะที่รู้แข็ง

ความละเอียดของสภาพธรรม นี่เป็นทวารเดียว แต่ทางตา ถ้าไม่เคยระลึกเลยก็ยังเห็นเป็นคนไปตลอดชีวิต แม้ว่าจะเริ่มเจริญสติ คือ ระลึกลักษณะของเสียงบ้าง ของคิดนึกในขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินบ้าง หรือว่าระลึกลักษณะของแข็งบ้างก็ตาม แต่ถ้าทางตายังไม่ได้ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตราบใด ตราบนั้นไม่มีทาง ที่จะหมดความสงสัยว่า ปรมัตถธรรมที่เป็นรูปารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลบความเป็นสัตว์เป็นบุคคลออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาออก โดยการรู้ว่า ตามความเป็นจริงแล้วถ้าเพียงไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน คน สัตว์ วัตถุใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่มีเลย มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบตาเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยสติที่ ระลึกด้วย

เพราะฉะนั้น จะไปปิดตาและปิดหู และจะให้ปัญญาเจริญขึ้น ให้ชินกับลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็ยังจะต้องมีความสงสัยอยู่

การอบรมเจริญปัญญาทั่วเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องสอบทานว่า มีความรู้จริงๆ ชัดเจน ประจักษ์แจ้ง ละความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ หรือไม่ เพราะว่าเพียงทวารเดียวเป็นเครื่องสอบ ไม่พอ

. ทางมโนทวารก็รับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

สุ. แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เช่น ทางตาในขณะนี้มีจักขุทวาร ต้องมีแน่ๆ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทางมโนทวาร

. จะหมายความอย่างนี้ได้ไหม คือ ท่านกำหนดรู้ทางมโนทวาร เพราะว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารแล้วก็ต้องไปปรากฏทางมโนทวาร

สุ. แต่ใครจะรู้อย่างนี้ และใครให้เลือกรู้อย่างนั้น ในเมื่อทางตา จักขุทวาร ก็มีวิถีจิตเกิด มีจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น เวลานี้ทุกคนคิดว่ามีมโนทวาร หรือ มีจักขุทวาร ในขณะที่กำลังเห็น

กำลังเห็น เห็นอย่างนี้ อาศัยตา และเห็นสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้ เป็นทวารไหน ส่วนมากทุกคนก็รู้ว่าเป็นจักขุทวาร อาศัยตาจึงเห็น หลับตาแล้วไม่เห็น ไม่ได้รู้เลยว่า มีมโนทวารคั่นแทรกอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ดูเสมือนว่าการเห็นนี้ไม่ได้ดับไปเลย ไม่มีใครรู้ คิดแต่ว่ามีการเห็น เพราะฉะนั้น จะเลือกได้อย่างไรว่า จะไม่ระลึกลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา และจะให้ทางใจไปรู้อารมณ์ที่สืบต่อจากทางตา เพราะถ้าทางจักขุทวารวิถีจิตไม่เกิด มโนทวารวิถีจิตจะรู้สีสันวัณณะต่างๆ ไม่ได้ ถ้า เสียงไม่กระทบโสตทวาร โสตทวารวิถีจิตไม่เกิด ทางใจจะให้มีเสียงกำลังปรากฏสืบต่อไม่ได้

. ที่ท่านบอกว่าให้ปิดช่องทั้ง ๕ และเหลือไว้ช่องหนึ่ง ก็หมายความว่า แล้วแต่อารมณ์จะปรากฏทางทวารไหน ก็ให้ระลึกรู้ทางทวารนั้น ไม่ใช่หลายๆ ทวารพร้อมๆ กัน

สุ. แสดงว่า สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละทวาร

. และสังวร อสังวร จะเกิดได้ก็ทางมโนทวารเท่านั้น ใช่ไหม

สุ. ทางปัญจทวารมีกุศลจิตไหม

. มี แต่หน้าที่ของจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ คือ มโนทวาราวัชชนะ

สุ. แต่ไม่ใช่มโนทวารวิถี เป็นปัญจทวารวิถี เกิดทางปัญจทวาร

. แต่มโนทวาราวัชชนจิตก็มาทำหน้าที่ทางปัญจทวาร เป็นโวฏฐัพพนะ

สุ. เมื่อทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร อารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารยังไม่ดับ วิถีจิตทางปัญจทวารยังเกิดต่อไปอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มโนทวารวิถีจิต

. แต่ก็เกิดต่อจากมโนทวารวัชชนจิต สังวร อสังวร

สุ. กุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร จะต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน แม้ทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิต โดยทำโวฏฐัพพนกิจ ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ นี่เป็นความต่างกันของกิจทางปัญจทวารและทางมโนทวาร แต่จิตนั้นให้ทราบว่า สามารถรับอารมณ์ได้กว้างขวางมาก ไม่เว้นเลยสักอารมณ์เดียว แต่โดยฐานะของเด็กค่อมเตี้ย ไม่ใช่ โดยฐานะของบัณฑิตผู้มีปัญญา

จากชีวิตของพราหมณ์ชรา ๒ คนซึ่งมีอายุถึง ๑๒๐ ปี ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ชนสูตรที่ ๑ มีพระธรรมที่เป็นประโยชน์ในการที่จะพิจารณา ด้วยโยนิโสมนสิการอย่างไรบ้างจึงได้มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก

พราหมณ์ ๒ คนเดินทางชีวิตล่วงกาลผ่านวัยมาจนถึง ๑๒๐ ปี นานไหม จากเด็กทีละขวบสองขวบ จนกว่าจะถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ก็รู้สึกว่านานมาก และต่อไปอีก ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ก็นานอีก และยังต่อไปอีกถึง ๘๐ ปี ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี ๑๑๐ ปี ๑๒๐ ปี เพราะฉะนั้น พราหมณ์ ๒ คนนี้จะผ่านสุข ผ่านทุกข์ ผ่านความกังวล ผ่านโลภะ โทสะ มามากเพียงไร ที่พราหมณ์ทั้ง ๒ กล่าวว่า มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล

ชีวิตจริงๆ ของบางท่าน ก็คงจะคล้ายคลึงกับชีวิตของพราหมณ์ทั้ง ๒ ท่าน เพราะว่าบางคนก็เกิดมามีชีวิตด้วยโลภะโดยตลอด มีความเห็นแก่ตัวตั้งแต่เด็ก ซึ่งตลอดชีวิตที่เติบโตมาก็คิดถึงแต่เรื่องของตนเอง โดยไม่ได้ทำประโยชน์แก่พี่น้อง หรือญาติมิตรสหาย

ด้วยเหตุว่า ในวันหนึ่งๆ เหตุการณ์ของแต่ละบุคคลในแต่ละชีวิตก็ย่อม ต่างกันไป บางท่านก็มีภาระในเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว พิจารณาดู วันหนึ่งๆ ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ถ้าเต็มไปด้วยเรื่องการงานอาชีพ หรือการเลี้ยงชีวิต การเลี้ยงครอบครัว คนที่ไม่ได้สะสมกุศลมาจนกระทั่งเป็นพื้นนิสัย กุศลก็ย่อมจะเกิดยากและน้อยมาก เพราะไม่มีเวลาจะเกิด ตั้งแต่เช้าก็ยุ่งวุ่นวายอยู่กับเรื่องของชีวิต เรื่องของภาระหน้าที่ครอบครัว ถ้าไม่สะสมกุศลมาจริงๆ ในขณะที่พบปะบุคคลอื่น ในขณะที่ประกอบกิจการงาน หรือในขณะที่ว่าง ก็อาจจะไม่ใช่โอกาสของกุศล อาจจะเป็นโอกาสของการพักผ่อนร่างกาย หลังจากที่ตรากตรำงานมามากแล้ว ด้วยความพอใจ ความยึดมั่นในตัวตนที่จะต้องหาความสุข หาความเพลิดเพลิน

สังเกตดูชีวิตในแต่ละวันๆ สำหรับบางท่านอาจจะไม่มีโอกาส หรือว่าไม่มีเวลาที่จะเป็นกุศลเลย

พราหมณ์ชราทั้ง ๒ ท่าน กลุ้มใจเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว ซึ่งก็น่าคิดว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะพราหมณ์ชรา ๒ คนนั้นเท่านั้นที่กลุ้มใจเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว หรือว่าเรื่องอื่นๆ สารพัดเรื่อง เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนมีเวลาที่จะกลุ้มใจ กังวลใจ ถ้าไม่ใช่เรื่องบ้าน ไม่ใช่เรื่องครอบครัว ก็เป็นเรื่องงาน ไม่พ้นไปได้ใช่ไหม เรื่องปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ แต่ละวันๆ ที่ผ่านเข้ามา เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะเป็นอนุสสติให้ระลึกได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวที่เคยกลุ้มใจ

ใครก็ตามที่อาจจะมีความกังวลใจในขณะนี้ ขอให้ทราบว่า เคยเป็นมาแล้ว เคยกังวลใจอย่างนี้ในชาติก่อนๆ ในสังสารวัฏฏ์มาแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่ความกลุ้มใจหรือความกังวลใจในชาติก่อนๆ ก็ผ่านไปๆ เหมือนกับชาตินี้ ซึ่งความกังวลใจความกลุ้มใจนั้นต้องเปลี่ยนไป จะคงอยู่ต่อไปไม่ได้ และแม้ชาติหน้าก็ต้องเกิดความกังวลใจ หรือว่าความกลุ้มใจอีก

บางท่านอาจจะมีความกังวลใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ชาติก่อนก็ไม่รู้เป็น โรคอะไรบ้าง และขณะที่กำลังเป็นโรคนั้นๆ ก็กังวลใจอย่างนี้ เมื่อถึงชาตินี้ก็อาจจะเป็นโรคใหม่ หรือเป็นโรคเก่าก็ได้ แต่ความกังวลใจก็เหมือนเดิม เหมือนที่เคยกังวลใจมาในสังสารวัฏฏ์ และต่อไปในชาติหน้าก็จะต้องมีความกังวลใจ กลุ้มใจอย่างนี้อีก

เพราะฉะนั้น ทุกคนคงไม่ลืมสังเวควัตถุ ๘ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อบายทุกข์ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีตที่ผ่านมาแล้วไม่มีใครสามารถระลึกได้ แต่ก็ไม่ต่างกับชาตินี้ วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคตที่จะเกิด ก็ต้องไม่ต่างกับชาตินี้อีก มีบ้านก็ต้องกลุ้มใจเรื่องบ้านอีก มีร่างกายก็ต้องกลุ้มในเรื่องโรคภัยอีก มีหน้าที่การงานก็ต้องเป็นกังวลห่วงใยเหมือนกับในชาตินี้อีก

เปิด  277
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565