แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1600

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๐


. ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้ว ขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม คือเป็นรูป

สุ. ขณะนี้ก็เป็นรูป สภาพธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็คือรูป สิ่งที่ปรากฏทางกายก็คือรูปคือแข็ง แต่ปัญญาจะสมบูรณ์จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งความไม่ใช่ตัวตน

. แต่ก็แตกต่างกันกับขณะนี้ ถ้าสติปัฏฐานระลึกถูก ขณะนั้นก็มี สภาพธรรมเกิดขึ้น

สุ. ปรากฏทีละอย่าง ขณะนี้ไม่ได้ปรากฏทีละอย่าง แม้ว่ากำลังเห็นอย่างนี้ก็ได้ยิน นี่ไม่ชื่อว่าปรากฏทีละอย่าง เพราะว่าสติเพิ่งจะเริ่มระลึกลักษณะของ ปรมัตถธรรม คือ กำลังจะแยกสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมกับบัญญัติที่เคยยึดถือ ปรมัตถธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเป็นตัวตน จนกว่าเมื่อไรแยกออก เมื่อนั้น สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง โดยสภาพที่ไม่มีตัวตนเลยจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง แต่ตราบใดที่ยังปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ในความทรงจำ เป็น อัตตสัญญา ขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นอนัตตา

. ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณ เป็นอารมณ์ ในขณะนั้นสติระลึกที่อารมณ์ของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณปกติ ทำหน้าที่เห็น ขณะที่เห็น จักขุวิญญาณเห็นสภาพของจริงที่ปรากฏ สติระลึก ถ้า สติระลึกที่รูป ขณะนั้นก็ไม่ได้ระลึกที่จักขุวิญญาณ ถ้าจักขุวิญญาณแท้ๆ เห็น คือ สภาพของจิตที่เห็นนี้ จะเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏโดยไม่มีสัณฐานต่างๆ ที่ปรากฏ ถ้าสติเกิดระลึกที่รูปธรรม ขณะนั้นสติก็มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ เปรียบแล้วก็เหมือน จักขุวิญญาณเห็น ซึ่งต่างกับธรรมดาที่เราเห็น ถ้าเราเห็น เราก็เห็นเป็นสิ่งของ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด จะเห็นโดยไม่มีสัณฐานต่างๆ ปรากฏ แต่เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นรูปธรรมก็ปรากฏแก่สติปัฏฐาน ซึ่งจักขุวิญญาณเองก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณทำหน้าที่เห็นอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงสัณฐานต่างๆ สภาพที่คิดถึงสัณฐานต่างๆ นั้นปรากฏทางใจ คิดถึง รูปร่างต่างๆ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียวเท่านั้น และต่อจากนั้นสติปัฏฐานก็ระลึกรู้สภาพที่กำลังเห็น สภาพที่กำลังเห็นคือจิต ซึ่งก็คือจักขุวิญญาณนั่นเองที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นสติปัฏฐานระลึกรู้ ที่รูปแล้ว ระลึกรู้ที่นามแล้ว จะต่างกับนามรูปปริจเฉทญาณอย่างไร

สุ. นามรูปปริจเฉทญาณ หมายความถึงปัญญาที่สมบูรณ์ ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่แต่เฉพาะ นามเดียว รูปเดียว

. แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ระลึก …

สุ. จะมีลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมปรากฏเป็นอารมณ์ทีละอย่าง โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

. นามก็เป็นนาม รูปก็เป็นรูปจริงๆ

สุ. ขณะนั้นธาตุรู้ปรากฏ ว่าไม่ใช่เราเลยที่กำลังรู้

. ซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้นเอง

สุ. จึงรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่สามารถจะยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่าเป็นตัวตนเลย เพราะแม้นามธรรมก็ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ในขณะนั้น

. เพราะในขณะนั้นมีสภาพธรรม เป็นโลกทางตากำลังปรากฏ ซึ่งไม่มี ตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องในขณะนั้น เป็นสภาพธรรมจริงๆ ในขณะนั้นถ้ารู้ลักษณะของรูปและนามแล้ว ขณะนั้นต่างกับนามรูปปริจเฉทญาณอย่างไร

สุ. นามธรรมทุกประเภทที่ปรากฏกับนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่สภาพ ที่เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น เมื่อนามธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่รูป เป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้เท่านั้น ในขณะนั้นแล้วแต่ว่าธาตุรู้ขณะนั้นรู้อะไร ไม่ว่าจะเป็นธาตุรู้อะไรก็ตาม ทุกนามธรรมที่เป็นธาตุรู้นั้นปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรืออาการรู้โดยตลอด ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลยว่า จะมาก จะน้อย จะยาว จะสั้นเท่าไร แล้วแต่ความสมบูรณ์ของปัญญา และเมื่อ นามรูปปริจเฉทญาณดับ ธรรมทุกอย่างก็เหมือนเดิม เพราะว่ายังมีอวิชชาเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณ

. ถ้าวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ปัญญาขณะนั้นรู้แจ้งว่า ลักษณะของรูปธรรมไม่ใช่นามธรรมเด็ดขาด

สุ. แน่นอน จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

. ต้องทั่วทุกทวารไหม

สุ. แล้วแต่ว่าขณะนั้นนามธรรมใดปรากฏ รูปธรรมใดปรากฏ ไม่มี คำถามเลยว่า ทวารไหน อารมณ์อะไร เพราะว่าสภาพธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ เมื่อลักษณะใดปรากฏ ก็ประจักษ์แจ้งในลักษณะนั้น

. ขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้งในลักษณะเช่นนั้นแล้ว ปัญญาตรงนั้นเรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ ใช่ไหม

สุ. ใช่ เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้แม้เป็นจริงอย่างนั้น แต่อวิชชาไม่สามารถประจักษ์แจ้งได้เลย แม้แต่ทางตา ที่กำลังเห็น ยังไม่สามารถแยกปรมัตถธรรมและบัญญัติ ยังไม่สามารถแยกว่า ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ในขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะจักขุทวารวิถีจิต คือ จิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็นหรือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นยังไม่มีการนึกถึง รูปร่างสัณฐานเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เวลาที่สติเกิด เมื่อมีความเข้าใจในอรรถโดยทั่วถึง ของสภาพธรรม เมื่อนั้นจะทำให้สติระลึกได้ถูกและพิจารณาธรรมได้ตรง เช่น จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท มีความสำคัญอย่างไรบ้างในชีวิตประจำวัน ทุกคนเห็นจนชิน ไม่ได้คำนึงเลยว่า ในขณะที่เห็น ชั่วขณะที่รูปกระทบกับจักขุปสาทแล้วดับ มโนทวารวิถีจิตไม่ได้ปล่อยสิ่งที่ปรากฏทางตาไปเลย ยังนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ยังมีความทรงจำในวัตถุที่ปรากฏ และมีการคิดนึกเรื่องราวยาวทีเดียวด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ

ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ นิทเทสวิญญาณธาตุ ข้อ ๑๘๑ มีข้อความอุปมาว่า

เหมือนคนเต้นรำบนเวทีเต้นรำ เพราะประกอบด้วยกิเลสนานัปการ มี ความโลภ ความโกรธ เป็นต้น

วันหนึ่งๆ ทางตาเห็น ดับไปแล้ว แต่ทางใจไม่ได้หยุดคิดเรื่องสิ่งที่เห็น และก็มีความสุขความทุกข์ไปกับเรื่อง กับเรื่องเท่านั้นเอง เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไปหมดแล้ว แต่เมื่อมีความสุข ความทุกข์ มีกิเลส กับเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เหมือนกับ คนเต้นรำบนเวทีเต้นรำ เพราะประกอบด้วยกิเลสนานัปการ มีความโลภ ความโกรธ เป็นต้น

ความโลภทำให้เต้นรำไปลักษณะหนึ่ง ความโกรธก็ทำให้เต้นรำไปอีก ลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกคนที่กำลังเต้นรำบนเวทีเต้นรำ จะเต้นสวยด้วยกุศล หรือจะเต้นไม่สวยด้วยอกุศล แต่ก็ลืมว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ทางตาเป็นแต่เพียงทวาร เป็นรูป เป็นทางให้เห็นสิ่งที่ปรากฏ สีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเองจริงๆ แต่ทางใจ เห็นใคร ชอบหรือไม่ชอบ และก็เต้นรำไปด้วยความโลภบ้าง ด้วยความโกรธบ้าง ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จะไม่สามารถรู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมกับบัญญัติ

ทางหูได้ยินเสียง เสียงดับไปแล้ว แต่ความคิดเรื่องคำต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ยาวมาก เสียงดับไปตั้งแต่เมื่อวันก่อน ถ้าเป็นเสียงที่ทำให้โกรธขุ่นเคืองใจ วันนี้ก็ยัง ขุ่นใจเพียงแค่นึกเท่านั้นเอง นึกถึงเสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็เต้นรำไปบนเวที ด้วยความโกรธอีก ไม่มีอะไรเลย นอกจากปรมัตถธรรมซึ่งเกิดมาแล้วก็มีอายุที่สั้นมาก ชั่วขณะที่เล็กน้อยจริงๆ และก็ดับ แต่โลกของความคิดนึก เก็บทุกสิ่งทุกอย่างมา ปรุงแต่งทำให้เกิดความสุข ความทุกข์ ความสำคัญในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งโดยที่แท้แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน หรือว่าเป็นวัตถุ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา สามารถรู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมกับบัญญัติได้ว่า ขณะใดที่กำลังเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏและดับไป ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีที่เป็นการคิดนึกทั้งหมด

ทุกคนสุขทุกข์อยู่ในความคิดนึก และไม่ได้พิจารณาด้วยว่า ตาก็ดี ทำให้เกิดเรื่องยาว หูก็ดีที่ได้ยินเสียง ก็ทำให้เกิดเรื่องยาว เหตุการณ์ต่างๆ ยาวมาก แม้จมูก แม้ลิ้น แม้กาย ก็โดยนัยเดียวกัน

ทุกท่านที่อ่านหนังสือจะเห็นได้จริงๆ ว่า เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำไมเรื่อง ในหนังสือนี้มากเหลือเกิน ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นวิชาการสาขาไหนทั้งสิ้น จะเป็นหนังสือสารคดี จะเป็นนวนิยาย หรือจะเป็นประวัติศาสตร์ เป็นวิชาการต่างๆ เรื่องนี่มาก ทั้งๆ ที่ทางตาเพียงปรากฏ แต่ทางใจคิดนึกแค่ไหน นี่คือความจริงของชีวิต ซึ่งถ้า ไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็ยังคงเป็นอัตตสัญญา ยังคงหลงยึดถือบัญญัติธรรมว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งความจริงแล้วไม่มีเลย เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่เกิดและดับ แต่ทางใจปรุงแต่ง

. ทางใจปรุงแต่ง ขณะที่ปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีต่อทันที ขณะนั้นทางมโนทวารวิถี ชวนะก็เสพเหมือนกับปัญจทวารวิถีเหมือนกัน เช่น ทางตา ทางมโนทวารวิถีไม่มีจักขุวิญญาณ แต่มโนทวารวิถีที่รำพึงถึงสัณฐาน รำพึงทาง มโนทวารวิถีที่ต่อจากจักขุวิญญาณวิถี หรือเกิดขึ้นโดยไม่ต้องต่อจากปัญจทวารวิถี

สุ. มโนทวารวิถีจะเกิดต่อจากปัญจทวารวิถี เวลาที่ภวังคจิตคั่นแล้วทันที เป็นปกติ แต่หลังจากนั้นมโนทวารวิถีจะเกิดขึ้นเองก็ได้ แม้ไม่เห็นก็ยังนึกถึงสิ่งที่ เคยเห็น ในขณะนั้นไม่ได้เกิดต่อจากจักขุทวารวิถี

. เช่น เดี๋ยวนี้ ถ้าเห็นแล้วรู้ว่าเป็นสัตว์บุคคล ขณะนั้นไม่มีการแยกขาดของปัญญาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นจักขุทวารที่เห็นหรือว่าเป็นทางใจที่รำพึงถึงรูปร่างสัณฐาน สงสัยว่า มโนทวารที่รำพึงถึงรูปร่างสัณฐาน เป็นมโนทวารที่ดับไปหลังจากทางปัญจทวารดับไปหรือเปล่า หรือเป็นมโนทวารที่ต่อจากนั้นอีก

สุ. เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับแล้ว รูปดับ ภวังคจิตเกิดต่อ มโนทวารวิถี วาระแรกมีปรมัตถอารมณ์เดียวกับที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ เป็นการสืบต่อจาก ปัญจทวารวิถีเท่านั้น เป็นการรู้อารมณ์สืบต่อจากปัญจทวารวิถี ซึ่งไม่มีใครยับยั้งได้

. รู้อารมณ์เป็นปรมัตถ์ หรือเป็นบัญญัติ

สุ. เป็นปรมัตถอารมณ์ ยังไม่มีเรื่องราวหรือสัณฐานทันที

. และเรื่องราวสัญฐานจะเกิดที่ ...

สุ. วาระหลังๆ จากนั้น นี่เป็นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมากทีเดียว ซึ่งในขณะนี้ตราบใดที่ยังเห็นเป็นคน ให้ทราบว่า ยังไม่จริง ยังไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะระลึกและน้อมไปรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเท่านั้น เรื่อยๆ

. ตาเห็นรูปแล้วรู้ ขณะที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปธรรม ระลึกที่อาการรู้ สภาพรู้ ก็เป็นนามธรรม เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ การที่จะเจริญให้ถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ จะต้องระลึกรู้ทั้ง ๖ ทาง บ่อยๆ เนืองๆ ใช่ไหม

สุ. ไม่ควรจะมีการเจาะจงตั้งใจว่า จะต้องอย่างนี้ หรือจะต้องอย่างนั้น แต่ควรที่จะรู้ว่า ขณะใดที่สติเกิด เพราะมีเหตุปัจจัยให้สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ โดยไม่มีเราไปแยก หรือไปจัดการ ไปจงใจว่า ขณะนี้ให้ระลึกทางตา และขณะต่อไปให้ระลึกทางหู อีกกี่เดือนกี่ปีให้ระลึกทางจมูก จนกระทั่งครบ ไม่ใช่มีความจงใจแม้แต่ว่า จนกระทั่งครบ

. กรณีที่ผู้นั้นสติเพิ่งเริ่มระลึก อาจจะระลึกได้เป็นบางทางเท่านั้น คือ เป็นบางทวาร อาจจะเป็นทางตา หรือทางหูเท่านั้น โอกาสที่นามรูปปริจเฉทญาณ จะเกิด ย่อมไม่มี

สุ. ไม่มีใครรู้ถึงการสะสมของแต่ละภพแต่ละชาติ ชาติก่อนๆ เคยเจริญ สติปัฏฐานมามากแค่ไหน ชาตินี้อาจจะเพียงระลึกและสภาพธรรมปรากฏโดย ความเป็นอนัตตา แม้ว่าไม่ได้ระลึกทางอื่นเลยก็ได้

. เรารู้ได้หรือว่า เราเคยระลึกทางอื่นมาบ้างแล้ว

สุ. ไม่มีทางที่เราจะรู้อดีตของการสะสม

. ผมอาจจะเจริญทางอื่นมาแล้วมาก

สุ. จะรู้ได้อย่างไร เมื่อไม่รู้ก็ไม่รู้

. งั้นชาตินี้ เอาทางตาอย่างเดียว

สุ. ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องตัวตนจะเอา แต่เป็นเรื่องที่ว่า ขณะนี้กำลังเห็น ธรรมดาๆ อย่างนี้ รู้ไหมว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่รู้แล้วจะไม่เอา ได้ไหม หรือเมื่อไม่รู้แล้ว ก็ระลึกศึกษาเพิ่มขึ้นจนกว่าจะรู้ เพราะว่าปัญญามีเครื่องทดสอบ ตามี หูมี จมูกมี ลิ้นมี กายมี ใจมี ขณะใดที่สติระลึกแล้วรู้ไหม ไม่ต้องถามคนอื่นด้วยว่ารู้ไหม แต่ เป็นเรื่องที่สามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นต่างกัน ถ้ายังไม่รู้ หน้าที่ต่อไป คือ ศึกษา พิจารณา น้อมไปที่จะรู้ว่า ธาตุรู้เป็นอย่างนี้ และ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ธาตุรู้ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น

. น้อมแล้ว ไม่รู้จะต้องน้อมไปอีกแค่ไหน

สุ. ยังไม่รู้อยู่ตราบใด ก็อบรมเจริญไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าจะคอย นามรูปปริจเฉทญาณ แต่ยิ่งคอย ยิ่งช้า

. อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตเรา และเรากำหนดรู้ไปที่จิต เราเห็นตัวรู้ และเรากำหนดรู้ลงไปอีก สมควรไหม

สุ. รู้ไปอีกว่าอย่างไร

. ความคิด เราก็รู้ว่าคิด ความคิดก็ขาดไป และกำหนดรู้ตัวรู้ความคิด แบบนี้สมควรไหม

สุ. ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์อีก ขอให้ทราบว่า ตลอดชีวิตให้แน่ใจจริงๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรมและรูปธรรม มิฉะนั้นจะมีตัวตนที่กำลังจะไปรู้ที่รู้ ต่อจากคิดอีก ใช่ไหม

. ผมปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยๆ สมควรไหม

สุ. นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนคงจะเหมือนๆ กัน คือ ยังไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้เป็นสมุจเฉท แต่เมื่อเป็นผู้ที่ละเอียด และพิจารณา ก็รู้ว่า ขณะนั้นมีความเป็นตัวตน หรือมีความต้องการอยู่ ก็จะละความต้องการและความ เป็นตัวตนที่จะเลือก ที่จะเจาะจง เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกคนไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เห็นแล้ว...

. หมายความว่า พอรู้แล้ว พิจารณาเลย

สุ. แต่ละขณะที่สติเกิด ให้สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้น จะเป็นเราที่คอยจะทำอย่างนั้น คอยจะทำอย่างนี้ ขอให้เป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเวลาที่สติเกิด โดยอาศัยการฟังเรื่องของสภาพนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏ และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน โดยนามธรรมต้องเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ส่วนรูป ปรากฏทางตาก็ลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางหูก็ลักษณะหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ละลักษณะ

นี่เป็นสิ่งที่ควรแก่การฟัง ควรแก่การพิจารณา ควรแก่การศึกษา คือ เรื่อง ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะไม่มีปัจจัยที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือ นามธรรมกับรูปธรรม แต่กำลังเห็นก็ไม่ละเลยที่จะรู้ว่า นามธรรมในขณะนี้ กำลังเห็น เข้าถึงลักษณะรู้ ธาตุรู้ที่กำลังเห็น ในขณะที่เห็น

นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม เพราะว่าผู้ที่ศึกษาพระธรรมควรที่จะ รู้ประโยชน์ของพระธรรมว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์อะไร นี่สำคัญที่สุด เพื่อให้จำ หรือว่าเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565