แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1592

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


. ช่วยยกตัวอย่างเบียดเบียนตนเองว่า เป็นอย่างไร

สุ. ถ้าตนเองไม่ติดในความเป็นตัวตน คงจะสบาย ไม่ต้องเดือดร้อน ไปขวนขวายหาสิ่งที่มาบำรุงตัวเอง ใช่ไหม

. การฆ่าสัตว์ ก็เป็นเบียดเบียนผู้อื่น ใช่ไหม

สุ. ใช่ ไม่มีใครอยากถูกฆ่า ทุกท่านเดือดร้อนเพราะตัวเองบ้างหรือเปล่า ลำบากเหลือเกินกว่าจะได้อาหารอร่อยๆ แต่ละมื้อ อยู่สบายๆ มีอาหารตามสมควร ไม่ถึงกับต้องเดือดร้อนมากก็ได้ แต่บางท่านก็ต้องเบียดเบียนตนเองให้ลำบาก อย่างมาก

. ผู้ที่บรรลุพระอรหันต์ นอกจากภูมิของมนุษย์กับพรหมชั้นสุทธาวาสแล้ว ยังมีภูมิอื่นอีกหรือเปล่า

สุ. สุคติภูมิทุกภูมิ สามารถบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ได้ แต่สำหรับใน อรูปพรหมภูมิต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก่อน นอกจากนั้น สามารถบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

ถ้าอรูปพรหมบุคคลนั้นไม่ใช่พระโสดาบัน ไม่สามารถบรรลุถึงความเป็น พระอรหันต์ได้ แต่ถ้าอรูปพรหมบุคคลนั้นเป็นพระโสดาบันแล้วจากภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็สามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ในอรูปพรหมภูมิได้ แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่จะต้อง รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ คือ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่า ทุกคนมีความติดในรูปธรรมอย่างมาก วันนี้ต้องการอะไร ทราบแล้วใช่ไหมว่า ต้องการรูปกันทั้งนั้น เพื่อให้เวทนาที่เป็นโสมนัสเกิดขึ้นเมื่อได้รูปนั้นๆ ที่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

รูปเป็นเพียงรูป ไม่ใช่สมบัติอันแท้จริงของใคร และปรากฏเมื่อกระทบกับ แต่ละทวาร เช่น รูปารมณ์ จะปรากฏต่อเมื่อกระทบกับจักขุปสาทชั่วขณะที่สั้นมากและดับไป แต่ความติดในรูปารมณ์โดยไม่รู้ความจริงของรูปารมณ์ ทำให้ไม่สามารถละความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ทุกภพชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน แม้ในพรหมโลก ก็ยังต้องกลับมาสู่ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอีก เมื่อปัญญายังไม่รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรม ก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล และเมื่อเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว เมื่อเกิดในภูมิอื่นที่เป็นสุคติภูมิ ก็ถึงความเป็น พระอรหันต์ได้ เพราะว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลจะไม่เกิดในอบายภูมิเลย

. พระอรหันต์ยังมีความคิดปรุงแต่งสังขารหรือเปล่า

สุ. พระอรหันต์มีใจไหม มี เห็นไหม เห็น เห็นแล้วคิดไหม

. และมีปรุงแต่งในทางอกุศลหรือเปล่า

สุ. ไม่มีเลย ที่เป็นพระอรหันต์ก็เพราะดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท กิเลส ทุกขั้นไม่เกิดอีกเลย

. ทางกุศล ท่านปรุงแต่งหรือเปล่า

สุ. พระอรหันต์ดับทั้งกุศลและอกุศล เพราะถ้ายังเป็นกุศลอยู่ ก็ยังเป็นกรรมที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ยังไม่ชื่อว่าดับทุกข์ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เมื่อ ดับกิเลสแล้ว ก็ดับกรรมทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ไม่มีเลย จิตของพระอรหันต์จึงเป็นวิบากจิตและกิริยาจิต เพียง ๒ ชาติเท่านั้น

ไม่มีใครปฏิเสธเลยในเรื่องของโลภะ เวลาที่กลุ้มรุมครอบงำจิตใจ แต่อาจจะไม่ได้พิจารณาว่า โลภะที่กลุ้มรุมครอบงำจิตใจนั้น ทำตนเองให้ลำบาก เพราะว่า เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าพิจารณาจะเห็นได้ว่า ความลำบากทั้งหลายมาจาก โลภะทั้งสิ้น ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับ เริ่มตั้งแต่เช้า การบำรุงรักษาร่างกาย ตั้งแต่ตื่น บำรุงผิวด้วยสบู่หรือด้วยเครื่องบำรุงต่างๆ บำรุงผม บำรุงรักษาส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งเช้าถึงค่ำ คิดดู ทำตัวให้ลำบากไหม ถ้าไม่ทำอย่างนั้นย่อมสบายกว่า ใช่ไหม แต่เมื่อมีโลภะก็ย่อมพอใจที่จะกระทำ ซึ่งในขณะที่กระทำอย่างนั้นก็ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วถ้าไม่ทำเสียได้จะไม่ลำบาก แต่เพราะมีความพอใจยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงกระทำด้วยความพอใจ โดยไม่เห็นว่า ขณะนั้นเป็นการทำตนให้ลำบาก

บางท่านต้องการใส่เสื้อใหม่ตอนเช้า ก็เย็บเสื้อใหม่ตลอดคืน นี่เป็นการทำตนให้ลำบากหรือเปล่า ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ได้คิดเลยว่า กำลังลำบากด้วยโลภะ เป็น การแสวงหาทุกข์โดยรอบจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และบางทีก็ไม่ได้ทำความลำบากให้เฉพาะตัวเอง ถ้าเสื้อไม่สวย เย็บไม่ดี ต้องเลาะ ต้องแก้ ก็ต้องหาคนช่วยเป็นเวลานานทีเดียว นี่ลำบากไหม ก็เป็นชีวิตประจำวันจนมองไม่เห็นว่า โลภะทำให้ตนเองลำบาก และทำให้คนอื่นลำบากด้วย

สำหรับทางหู ถ้าจะพิจารณาก็ตลอดหมด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บางท่านที่ติดในเสียงเพราะๆ ก็ต้องลำบากในการหาซื้อเสียง ไม่ว่าจะเป็นตลับเทป หรือว่าแผ่นเสียง บางคนก็หัดดีด สี ตี เป่า หัดร้องรำทำเพลง ลำบากไหมในขณะนั้น ดูเหมือนไม่ลำบาก ซึ่งความจริงถ้าไม่ทำอย่างนั้นย่อมสบายกว่า มาก แต่เมื่อมีความพอใจ จึงไม่รู้ว่าขณะนั้นกำลังทำตัวให้ลำบาก

บางท่านชอบดอกไม้หอมๆ ในบ้าน ก็ลำบากเที่ยวหาซื้อดอกไม้หอมๆ มาปลูก ต้องเสาะแสวงหา บางครั้งก็ด้วยความยากลำบากจริงๆ นอกจากนั้น แม้แต่อาหารบางชนิดก็ยังต้องอบกลิ่นด้วย ซึ่งถ้าไม่อบกลิ่น รสก็ยังคงเหมือนเดิม อร่อยอย่างเดิม แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ ยังต้องลำบากที่จะต้องอบกลิ่นให้หอมขึ้นด้วย

น่าพิจารณาจริงๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ ถ้าตัดสิ่งที่กระทำด้วยโลภะ ไม่ให้ลำบากจนเกินไป ชีวิตก็ย่อมสะดวกสบายมากขึ้น

สำหรับทางลิ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นกันอยู่ว่า กว่าอาหารแต่ละมื้อจะ เสร็จลงไปได้ด้วยรสที่กลมกล่อม ก็ต้องปรุงอย่างประณีต และก็เติมรสแล้ว เติมรสอีก คลุกแล้วคลุกอีก บางครั้งก็จะต้องถึงกับอุ่นแล้วอุ่นอีก

นี่ก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย

สำหรับทางวาจา ก็มีเรื่องลำบากหลายเรื่องเหมือนกันสำหรับบางท่าน เช่น พูดคำหลอกลวงคนอื่น ในขณะนั้นก็ลำบากแล้ว ใช่ไหม เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็ย่อมไม่ลำบาก หรือบางท่านก็ถึงกับใช้คนอื่นให้ไปว่าคนที่ตนไม่พอใจ นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนไม่สามารถดับโลภะได้ถ้าไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น และโลภะในชีวิตประจำวันก็ยังต่างออกไปเป็น ๒ ลักษณะ คือ สมโลภะ ๑ และวิสมโลภะ ๑

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พราหมณวรรคที่ ๑ ปโลภสูตร ข้อ ๔๙๖ มีข้อความอธิบายความต่างกันของโลภะ ซึ่งทุกคนมีเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน

บทว่า อธัมมราครัตตา ความว่า ราคะเป็นอธรรมโดยส่วนเดียวเท่านั้น

คือ จะว่าโลภะดี เป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นที่เข้าใจอยู่ว่า ทุกคนในโลกนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ถ้าปราศจากโลภะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โดยลักษณะสภาพแท้จริงของโลภะ เป็นอธรรม คือ ไม่ใช่ธรรมฝ่ายดีโดยส่วนเดียวเท่านั้น

ข้อความอธิบายต่อไปมีว่า

แต่ราคะที่เกิดในบริขารของตน ไม่ทรงหมายเอาว่าเป็นอธรรมราคะ ราคะ ที่เกิดขึ้นในบริขารของคนอื่น จึงทรงประสงค์เอาว่าเป็นอธรรมราคะ

คือ ยังแบ่งความพอใจว่า ถ้าพอใจในสมบัติของตนไม่ใช่อธรรม แต่ถ้า เกิดความยินดีพอใจในบริขารหรือสมบัติของคนอื่น จึงทรงประสงค์เอาว่าเป็น อธรรมราคะ เพราะฉะนั้น ทุกคนทราบว่า วันนี้มีอธรรมราคะหรือเปล่า ถ้าเป็นความพอใจเฉพาะในสิ่งของๆ ตน ไม่ใช่อธรรมราคะ แต่ถ้าต้องการของของคนอื่นในขณะใด ขณะนั้นเป็นอธรรมราคะ

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

บทว่า วิสมโลภาภิภูตา ความว่า ขึ้นชื่อว่าโลภะ จะมีเวลาสม่ำเสมอไม่มี โลภะนี้ไม่สม่ำเสมอโดยส่วนเดียวเท่านั้น

ยากที่จะเป็นผู้ตรง เพราะว่าโลภะเป็นอกุศลธรรม จึงต้องเอียง ไม่ตรง ในขณะที่โลภะเกิด สังเกตดูได้ คนที่เป็นที่รักทำผิด ไม่เป็นไร ช่วยเหลือกัน แก้ไขได้ แต่ว่าเวลาคนที่ชัง ไม่ชอบ ทำผิด ไม่ได้แล้ว ใช่ไหม ไม่แม้แต่ที่จะอภัยให้ เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมทั้งหลายไม่ทำให้เป็นผู้ที่ตรง

แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นในวัตถุที่ตนหวงแหน (คือ วัตถุที่เป็นสมบัติของตน) ชื่อว่า สมโลภะ ที่เกิดขึ้นในวัตถุที่ผู้อื่นหวงแหนเท่านั้น (คือ ในสมบัติของผู้อื่น) ทรงประสงค์เอาว่าวิสมโลภะ

เพราะฉะนั้น ไหนๆ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโลภะ ก็ควรที่จะเป็นสมโลภะ คือ หวงแหนในทรัพย์สมบัติของตน มีความพอใจยินดีในสิ่งที่เป็นของของตน ไม่ควรเป็น วิสมโลภะ คือ เกิดความพอใจในสมบัติของคนอื่น

. การอาบน้ำ ถูตัว การทำให้อาหารอร่อย ไม่ทราบเป็นโลภะหรือไม่

สุ. ขณะใดไม่ใช่กุศลจิต ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต เมื่อไม่ใช่ พระอรหันต์ ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในสมถะ ความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นอกุศล โดยไม่รู้ตัวใช่ไหมว่า เป็นโลภะแล้ว มีความต้องการเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นโลภะ ไม่ใช่มีการสละ หรือการไม่เห็นแก่ตัว

. ถ้าเราไม่อาบน้ำหลายๆ วัน แต่เราอยากให้มีความรู้สึกสบายขึ้น ก็อาบน้ำ จะเป็นโลภะด้วยไหม

สุ. อยากจะอาบน้ำให้สบายขึ้น ให้สบายขึ้นเป็นโลภะไหม ต้องการที่จะให้สบาย เป็นโลภะไหม ความต้องการแม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อยก็เป็นโลภะ เมื่อ ตื่นมาแล้วอยากจะอาบน้ำ ต้องการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นโลภะทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น การละโลภะเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ยาก การที่จะดับกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่ว่าจะดับได้โดยรวดเร็ว

สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักโลภะ ก็คิดว่าจะละโลภะได้ง่ายๆ แต่ผู้ที่เห็นโลภะตามความเป็นจริงรู้ว่า เมื่อตื่น ก็โลภะตื่น

. ไม่ได้อาบน้ำเลย ไม่มีโลภะ เวลาทานอาหารก็ไม่ต้องใช้น้ำปลา หรืออะไร กินไปเลย อย่างจับสัตว์ได้ก็กินไปเลย

สุ. หมายความถึงคนที่ไม่อาบน้ำ และไม่ปรุงอาหาร ได้อาหารมาอย่างไร ก็บริโภคอย่างนั้น จะมีโลภะหรือเปล่า ใช่ไหม

ขณะใดที่ไม่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา ขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ ถ้าจิตใจในขณะนั้นไม่ขุ่นเคือง ไม่โกรธ ไม่หยาบกระด้าง ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โมหมูลจิต

ให้ทราบว่า ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิตและกิริยาจิต ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม ตื่นขึ้นมาอยากทำอะไร นั่นล่ะโลภะตลอดหมด

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง บางวาระกุศลจิตของท่านก็เกิดมาก ขะมักเขม้นในการกระทำกุศล แต่บางวาระท่านก็มีเรื่องที่เป็นอกุศลมาก ท่านก็พิจารณาเห็นว่า กุศลนั้นช่างเกิดยากจริงๆ บางวาระมีเหตุปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิดมาก กุศลจิตก็เกิด แต่ก็ไม่ใช่ตลอดไป เพราะว่าวาระอื่นก็มีเหตุปัจจัยของอกุศลที่จะเกิดอย่างมาก

เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะพิจารณาเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลคืออะไร และ อกุศลคืออะไร กุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อกุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่ รู้ว่าเป็นอกุศล ก็ยังตามอกุศล ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แล้วแต่ว่าขณะใดโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นกุศล มีการพิจารณาสภาพธรรม อย่างถูกต้องแยบคายขณะใด ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด

ระยะนี้มีผู้ถามบ่อยๆ ในเรื่องของโยนิโสมนสิการ แต่ตามความเป็นจริง ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จะไม่สามารถรู้ได้ในความหมายของ โยนิโสมนสิการ เพราะว่าโดยศัพท์ แปลได้ แต่ไม่ทราบว่าขณะไหนเป็นโยนิโสมนสิการ และขณะไหนไม่เป็นโยนิโสมนสิการ จึงทำให้ดูเหมือนกับค้นหากันใหญ่ ถามกันว่า อย่างนี้เป็นโยนิโสมนสิการหรือเปล่า อย่างนั้นเป็นโยนิโสมนสิการหรือเปล่า

แต่ตามความเป็นจริง ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ว่าใครจะทำโยนิโส หรือใครจะใช้โยนิโส เพราะว่าสภาพธรรมทั้งโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

อย่างท่านที่ได้ฟังพระธรรมที่เป็นประโยชน์ ทำให้พิจารณาธรรมด้วย ความถูกต้องได้ บางท่านมีเรื่องที่จะทำให้เกิดความขุ่นเคืองไม่พอใจ แต่เมื่อระลึกถึงพระธรรม ขณะนั้นจิตสงบ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะที่ระลึกถึงพระธรรมด้วยความถูกต้อง ด้วยความแยบคาย และไม่เกิดอกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ต้องไปค้นหาที่ไหนอีก แต่วันหนึ่งๆ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ไม่โกรธ หรือไม่มีความคิดในทางที่ไม่ดีต่างๆ ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นโยนิโสมนสิการ

เคยไหมที่กำลังจะโกรธและนึกขึ้นได้ นึกถึงพระธรรม นึกถึงความไม่มีประโยชน์ของความโกรธ ขณะนั้นให้ทราบว่า ที่ไม่โกรธนั้น เป็นกุศลจิตและเป็น โยนิโสมนสิการ แต่ขณะใดที่กำลังจะโกรธ และยังโกรธ ระลึกเท่าไรก็ยังโกรธ ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่มีใครจะไปบังคับ หรือไปทำ โยนิโสมนสิการได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดโกรธขึ้น ความโกรธที่ เกิดนั้น ก็เพราะอโยนิโสมนสิการ

เปิด  276
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565