แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1596

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๙


. จากการสนทนาธรรมที่โบสถ์รังสี วัดบวร เรื่องมหาสติปัฏฐานว่า ในสมัยโน้นเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ ที่แคว้นกุรุเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยว่าบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เมื่อได้ฟังมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ต่างก็เจริญสติปัฏฐานกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ดีมีจน หรือทาสกรรมกร จะต้องพูดจาไต่ถามกันถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น และยังพูดไปถึงแม้สัตว์ดิรัจฉาน อย่างนกแขกเต้าซึ่งอยู่ในสำนักของภิกษุณี ก็ยังเจริญสติปัฏฐาน ผมสงสัยว่า นกแขกเต้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิสนธิด้วยอเหตุกอกุศลวิบาก จะมีปัญญาที่สามารถเจริญสติปัฏฐานได้หรือ

สุ. ไม่น่าจะเป็นไปได้

. แต่ในเรื่อง ตอนที่เหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปนั้น นกแขกเต้าก็เจริญ สติปัฏฐานโดยระลึกว่า กองกระดูกได้พาเอากองกระดูกไป จะไปตกเรี่ยรายที่ไหน ก็ไม่ทราบ

สุ. ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้วาระจิตของนกแขกเต้า และสามารถเข้าใจภาษาของ นกแขกเต้า แต่ตามความจริงแล้ว ในอบายภูมิซึ่งเป็นภูมิของสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ แต่ใครจะรู้ว่าเกิดหรือไม่เกิด ใช่ไหม ถ้าผู้รู้กล่าว ก็เป็นเรื่องของผู้รู้ ถ้าผู้ไม่รู้จะกล่าว ก็เป็นเรื่องการกล่าวของผู้ไม่รู้ เท่านั้นเอง

. เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อาจารย์ได้กล่าวถึงโยนิโสมนสิการ หมายถึง มนสิการเจตสิกที่ประกอบในมหากุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นญาณสัมปยุตต์ หรือ ญาณวิปปยุตต์ก็ตาม ถ้าเป็นมนสิการในมหากุศลจิตก็จะเป็นโยนิโสมนสิการ ถ้ามนสิการในอกุศลจิต ก็คงจะเป็นอโยนิโสมนสิการ

สุ. ถูกต้อง

. แต่ถ้าเป็นมนสิการที่ประกอบในวิบากจิตและกิริยาจิต จะเป็นอะไร

สุ. ก็เป็นอัพยากตะ แต่ก็ไม่ได้กล่าวไว้ เรื่องการคิดธรรมนี่ คิดไปได้ ทุกอย่าง แต่ต้องไม่ลืมว่า โดยชาติกับโดยภูมิ แม้จะเป็นมหาวิบาก ขณะนั้นเป็น ผลของมหากุศลก็จริง แต่ขณะนั้นรู้อารมณ์อะไร จะต้องสอดคล้องกันหมด ขณะที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว มหาวิบากทำกิจภวังค์ อารมณ์ไม่ได้ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น จะเป็นโยนิโสอย่างไรก็ไม่เหมือนกับที่กำลังเห็นและจิตเป็นกุศล เรายังสามารถรู้ได้ใช่ไหมว่า ขณะที่เป็นกุศลต่างกับขณะที่เป็นอกุศล นั่นคือขณะที่สามารถจะรู้ได้ แต่ขณะที่ไม่สามารถจะรู้ได้ เช่น ขณะที่เป็นภวังค์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำอย่างนี้ ทราบแต่ว่ามหาวิบากเป็นอัพยากตะ เพราะ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ได้ทำกิจเป็นวิถีจิตเลย นอกจากตทาลัมพนจิตซึ่งเกิดต่อจากชวนะ

. ถ้าอย่างนั้นในอรรถกถาที่ท่านกล่าวว่า โยนิโสมนสิการ ก็หมายถึง มนสิการเจตสิกที่ประกอบในมหากุศลจิต และมนสิการที่ประกอบในมหาวิบาก มหากิริยา ก็คงไม่ใช่ทั้งโยนิโสและอโยนิโสมนสิการ

สุ. ข้อความในอรรถกถาจะไม่แสดงอย่างชนิดที่หยิบมาแต่ละอัน และ ขีดเส้นว่าอันนี้ต้องเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งใดที่ใครจะเข้าใจได้ เช่น คำว่า โยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการคือขณะไหน ก็แสดงไว้ในฐานะที่เข้าใจได้ ไม่อย่างนั้นต้องไปถึงวิบากจิต กิริยาจิต อเหตุกจิต ซึ่งขณะใดที่โสภณเจตสิกไม่เกิดร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ โสภณจิต หรือถึงแม้เป็นโสภณจิต แต่ขณะนั้นทำกิจอะไร ถ้าทำกิจภวังค์ ก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับภวังคจิต เพราะจะเป็นอะไรก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้

. ที่เป็นปัญหา คือ ทำให้คิดไปว่า ถ้าท่านกล่าวเฉพาะมนสิการเจตสิกที่ประกอบในมหากุศลจิตเป็นโยนิโสมนสิการแล้ว มนสิการเจตสิกที่ประกอบใน มหากิริยาจิต โดยเฉพาะจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่มีโยนิโสมนสิการ

สุ. จะใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ ก็ได้ ถ้าอยากจะใช้ ไม่มีใครว่าอะไรเลย แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจว่า ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เป็นโยนิโส ถ้าเป็นฝ่ายไม่ดี เป็นอกุศล ก็เป็นอโยนิโส โดยมากมักจะติดเรื่องพยัญชนะ เรื่องคำ แต่ถ้าคิดถึงสภาพธรรมว่า ดีและไม่ดี ก็ทราบได้ว่า ถ้าเป็นฝ่ายโสภณก็เป็นโยนิโส

. เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน อาจารย์พูดถึงโลภมูลจิต โลภะเป็นสมุทัย และทุกข์ ทุกข์นี้คือโทสะ ใช่ไหม โทสมูลจิตเป็นทุกข์ ใช่ไหม

สุ. ทุกขอริยสัจหรือเปล่า ทุกขอริยสัจ ได้แก่ ขันธ์ ๕ สภาพธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกขสัจทั้งนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะทุกขเวทนา

. ถ้าทุกขเวทนา

สุ. เกิดขึ้นและดับไปหรือเปล่า ทุกอย่างที่เกิดและดับเป็นทุกขสัจ ไม่ใช่หมายความเฉพาะทุกขเวทนา สังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นและดับไป

. ถ้าพูดว่า โทสะ อย่างเดียวก็แคบไป

สุ. ทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดับ สังขารธรรมทั้งหมด

. แต่สมุทัยต้องหมายถึงโลภะอย่างเดียว

สุ. แน่นอน และในบางแห่งก็ทรงแสดงไว้ด้วยว่า หมายถึงอวิชชาด้วย

. นิโรธ คือ ปัญญา ใช่ไหม

สุ. นิโรธ ได้แก่ นิพพาน

. และมรรคล่ะ

สุ. มรรคมีองค์ ๘ คือ เจตสิก ๘ ดวง สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก สัมมาวาจา ...

. เรียนไปเรียนมา ง่ายๆ ก็จำไม่ได้แล้ว อริยสัจ ๔ คืออะไรจะตอบกันอย่างถูกต้องจริงๆ คงไม่ใช่ง่ายแล้ว ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายรวมๆ

สุ. เท่าที่บรรยายมาก็ได้กล่าวถึงแล้ว อย่างทุกขอริยสัจ ก็ได้แก่ ขณะนี้เอง คือ ถ้าจะศึกษาธรรม ถ้าอยู่ในตำราจะงง และสับสน และจะลืมบ่อยๆ แต่ถ้าพิจารณาธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง ที่ได้ศึกษาแล้ว กับสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ จะช่วยให้เข้าใจชัดขึ้น

อย่างสังขารธรรมทั้งหลาย สังขารธรรม หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับ และสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สังขารธรรม คือ สภาพที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป ทางตา ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เกิดแล้วต้องดับ เป็นสังขารธรรม ขณะที่ได้ยิน เกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วก็ดับ เป็นสังขารธรรม

เพราะฉะนั้น สังขารธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับนี้เองเป็นทุกข์ เพราะว่า ไม่เที่ยง ทุกคนอยากจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เที่ยง ถ้าประจักษ์ความไม่เที่ยงจริงๆ จะเห็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าที่จะติด ไม่น่าที่จะเพลิดเพลินอีกต่อไป แต่เนื่องจากไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เพียงแต่เข้าใจว่า เกิดแล้วดับ เพียงความเข้าใจอย่างนี้ และไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็ยังคงพอใจใน ทุกสิ่งที่ปรากฏ

เมื่อพอใจในทุกสิ่งที่ปรากฏ ก็ชื่อว่ายังยินดีในทุกข์ด้วยสมุทัย ต่อเมื่อไร ดับความยินดี คือ สมุทัย คือ โลภะ เมื่อนั้นจะละคลายความยึดมั่นในสภาพนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับ และโลภมูลจิตมี ๘ ดวง แต่ที่จะต้องดับก่อน คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง

สำหรับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ยังจะต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นต่อไป จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคลและพระอรหันต์

และมรรคมีองค์ ๘ คือ ขณะใดที่สติเกิด มีมรรคเกิดประกอบร่วมด้วยอีก ๔ องค์ ร่วมเป็นมรรค ๕ องค์ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก ๑ สัมมาวายามะ คือ วิริยเจตสิก ๑ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ มรรคมีองค์ ๕ นี้ เกิดพร้อมกันในขณะที่กำลังระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน

นี่คืออริยสัจ ที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่เท่าที่จะถึงสัจจะไหน

วันคืนก็ผ่านไปเรื่อยๆ จากวันเป็นเดือน เป็นปี สำหรับท่านที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมทีละเล็กทีละน้อยทุกๆ วัน จากเดือนไปสู่เดือน จนกระทั่งถึงปี ควรที่จะได้พิจารณา หรืออาจจะรู้ด้วยตัวของตัวเองว่า ในปีหนึ่งๆ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

ควรที่จะเพิ่มขึ้น ใช่ไหม แม้ความเข้าใจ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมบ้าง และก็ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือ ระลึกทางตา ระลึกทางหู ระลึกทางจมูก ระลึกทางลิ้น ระลึกทางกาย ระลึกทางใจ แล้วแต่ว่าสติปัฏฐานนั้นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด บ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ไม่บังคับ เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่า ได้มีการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

บางท่านจะไปนมัสการสังเวชนียสถาน ซึ่งขณะที่ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ควรที่จะพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตนเองว่า จากครั้งหนึ่งซึ่งได้ไปนมัสการจนถึง อีกครั้งหนึ่งที่ได้ไปนมัสการนั้น ประพฤติปฏิบัติธรรมเพิ่มความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมขึ้นบ้างไหม ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์

อะไรก็ตามที่จะเตือนให้ได้พิจารณาธรรม แม้แต่จะเป็นวันเดือนปีที่ผ่านไป และชาวโลกนิยมถือกันว่าเป็นปีใหม่และปีเก่าก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาและ ปฏิบัติธรรม ก็ยังอาศัยเหตุนั้นเป็นเครื่องระลึกได้ว่า ได้มีความเข้าใจในสภาพธรรมมากน้อยแค่ไหน เพิ่มขึ้นแล้วมากน้อยแค่ไหน

เพราะคำว่า พหูสูต คือ ผู้ที่ฟังพระธรรม และเข้าใจอรรถของพระธรรม ถึงแม้จะเป็นผู้ที่ฟังน้อย เพราะส่วนมากคงจะไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกจบทั้งอรรถกถาฎีกา แต่เป็นผู้ที่พิจารณาข้อความที่ได้ฟังแม้น้อยโดยที่ไม่ผ่านไป เช่น คำว่า จิต เป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงคำเดียวและมีอยู่ทุกขณะ แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของจิตจริงๆ เมื่อสติระลึกตรงลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้เพิ่มขึ้น ก็พอที่จะพิจารณาได้ว่า มีความคุ้นเคยและชินกับสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยรู้ เมื่อหลายปีก่อนก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย และเมื่อมีการได้ยินได้ฟังขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงคำเดียว คือ คำว่า จิต ก็ยังสามารถที่จะเกื้อกูลให้ผู้ที่พิจารณาธรรมไม่ผ่านเลยไป แต่พยายามศึกษาด้วยการระลึกได้ รู้ว่าในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นธาตุรู้อย่างไร เป็นอาการรู้อย่างไร และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

และที่มีความสำคัญว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ก็ลดความสำคัญลง จนกระทั่งเหลือเพียงว่า เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งที่สามารถจะปรากฏเมื่อกระทบกับ จักขุปสาทในขณะที่จักขุปสาทยังไม่ดับเท่านั้นเอง เมื่อจักขุปสาทดับ การเห็นก็ดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ นี่คือทุกขอริยสัจ คือ ความจริง

การแสวงหาธรรม การฟังธรรม หรือพยายามที่จะได้เข้าใจธรรม ย่อมมีมา นานแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่อื่นก็ต้องมีผู้ที่สนใจใคร่ ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต แต่ย่อมแล้วแต่บุญกรรมว่า ท่านผู้ใดมีโอกาสที่จะได้ ฟังพระธรรมและพิจารณาพระธรรมที่ประกอบด้วยเหตุผล ที่จะเกื้อกูลให้สติปัญญาเจริญขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ขอกล่าวถึงการแสวงหาธรรมของคนในอดีตในประเทศอื่น เช่น เรื่องที่เล่ากันมาของคนอเมริกันว่า มีคนฉลาดคนหนึ่งที่ทุกคนนับถือมาก เวลาที่เขาใกล้จะตาย ผู้คนก็พากันไปเฝ้าเยี่ยม โดยเฉพาะเมื่อใกล้จะตายก็คิดว่า คำพูดของคนใกล้จะตายย่อมสำคัญและมีประโยชน์มาก เป็นคำพูดตอนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ที่จะพูด เพราะฉะนั้น คงจะเป็นคำที่มีประโยชน์และมีความสำคัญ คนที่ไปเฝ้าเยี่ยมก็คอยฟังว่าท่านผู้นี้จะพูดว่าอะไร เมื่อกระซิบถามท่านที่กำลังจะสิ้นใจ ท่านก็กล่าวว่า โลกเหมือนกับถังไม้ คือ ถังไม้ที่มีรูปกลมยาว ตรงกลางป่อง สำหรับใส่เบียร์

พวกที่ไปเฝ้าคอยฟังก็พากันคิดว่า โลกเหมือนถังไม้ หมายความว่าอะไร คิดว่าคงจะมีความหมายที่ลึกซึ้งสำคัญซ่อนเร้นอยู่ แต่พยายามคิดกันเท่าไรก็คิดไม่ออก เพราะฉะนั้น ก็รีบเข้าไปถามท่านที่ใกล้จะตายนั้นว่า ไม่เข้าใจว่าโลกเหมือนถังไม้หมายความว่าอะไร ท่านผู้ใกล้จะตายนั้นก็ตอบว่า งั้นโลกก็ไม่เหมือนถังไม้

เท่านี้เอง คือ สิ่งที่คนอาจจะตื่นเต้นคิดว่า มีสาระหรือว่ามีความสำคัญ มีความลึกซึ้ง แต่ตามความจริงแล้ว ไม่ใช่ธรรมที่แจ่มแจ้ง ไม่ใช่ธรรมที่มีเหตุผล ไม่ใช่ธรรมที่เป็นของจริงซึ่งชัดเจนสามารถพิสูจน์ได้ แต่พุทธบริษัทมีโอกาสได้ฟัง พระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เพราะว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ หรือไม่ทรงแสดงธรรม ก็ไม่มีใครสามารถรู้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก และเรื่องรูปได้

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังและพิจารณา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ได้ยินว่าอย่างนี้ แต่รู้ลักษณะของกุศลจิตไหม

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ศึกษาเรื่องของสภาพธรรม กับการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม กับการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรม ปัญญาจะต้องเจริญขึ้นตามลำดับขั้น

เปิด  244
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565