แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1597

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๙


ถ้าได้ศึกษาเรื่องของกุศลจิต หรือโสภณเจตสิก ก็ทราบว่า ขณะหนึ่งขณะใด ที่กุศลจิตเกิด จะต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภเจตสิก และโสภณเจตสิกอื่นๆ ไม่น้อยกว่า ๑๙ ดวง

ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เกิดร่วมกับกุศลจิตนั้น และยังต้องมี อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมอีกไม่น้อยกว่า ๑๒ ดวง คิดดู เพียงชั่วขณะจิตเดียว ที่เกิดขึ้น และเมื่อศึกษาเรื่องของจิต ศึกษาเรื่องของเจตสิก มีความเข้าใจ แต่ถ้า สติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็จะไม่รู้จริงๆ ว่า ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับ สืบต่อกันแต่ละขณะนั้น โดยสภาพจริงๆ แล้วไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร แม้จะรู้โดยละเอียดว่า กุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งมีเจตสิกประกอบเท่าไร

รู้ได้ยาก หรือง่าย กุศลจิตขณะหนึ่งมีเจตสิกประกอบเท่าไร

ลักษณะของศรัทธา ลักษณะของสติ ลักษณะของหิริ ลักษณะของโอตตัปปะ ลักษณะของอโลภะ ถ้าจะอุปมากับเครื่องแกง ก็จะต้องมีพริก กะปิ หอม กระเทียม เกลือ รากผักชี ลูกผักชี ยี่หร่า ข่า ตะไคร้ น้ำปลา น้ำตาล กะทิ ผสมกันอย่างละเอียด ในช้อนหนึ่งที่มีรสกลมกล่อม มีใครสามารถรู้ได้ไหมว่า ส่วนไหนเป็นพริก ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ซึ่งจะขาดส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งที่รวมกันอยู่ในที่นั้นไม่ได้เลย ฉันใด ลักษณะของจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นและมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะมีศรัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก หรืออโลภเจตสิก เป็นต้น เกิดร่วมด้วยอย่างละนิดอย่างละหน่อยที่รวมอยู่ในจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดและดับ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่มีลักษณะของสภาพนั้นๆ ปรากฏให้รู้ ก็ย่อม ไม่สามารถรู้ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดง ธรรมไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะให้สติเกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ เก็บไว้ในตำรา แต่จะต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่พิจารณาจิต ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเรื่องของจิตแล้ว ก็ควรที่ สติจะระลึกและพิจารณาลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ต้องรู้ความต่างกัน ขณะที่คิดนึกเรื่องจิต กับขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของจิต ขณะที่กำลังฟัง กำลังศึกษา กำลังพิจารณา กำลังคิดเรื่องจิต ไม่ใช่ขณะที่สติระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น

. การพิจารณาเรื่องของจิต สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมใหม่ๆ การรู้ลักษณะของจิตและเจตสิกจะมีน้อย ส่วนผู้ที่ได้ฟังหรือได้เรียนพระอภิธรรมแล้วคงจะพิจารณาได้มาก เพราะฉะนั้น คนที่เจริญสติปัฏฐานโดยเรียนมาน้อยจะเสียเปรียบคนที่เรียนอภิธรรมมามาก ใช่ไหม

สุ. ขึ้นอยู่กับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เรียนมากแต่เป็นเรื่องชื่อทั้งหมด หรือเวลาที่คิดเรื่องจิต ก็อาจจะอดไม่ได้ที่จะเป็นจิตเขา จิตเรา ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของจิต

. ที่จะระลึกถึงจิต ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ๔ ก็เพียงพอแล้ว

สุ. ทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ฟัง และเข้าใจขึ้น จะทำให้ปรุงแต่งเหมือนกับ พริก กะปิ หอม กระเทียม ซึ่งจะต้องผสมกันจนกระทั่งรสกลมกล่อม จึงจะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้

ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณาเลย ถึงแม้สติจะระลึกที่ลักษณะของแข็ง ที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีเหตุปัจจัยพอที่จะละคลายการยึดถือแข็งว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือไม่รู้ความต่างกันของสภาพที่รู้แข็งกับลักษณะที่แข็ง เพราะว่าสภาพธรรมมีอยู่เสมอ และสติอาจจะระลึกได้ แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านว่า ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือยัง หรือว่าเพิ่มความรู้ความเข้าใจ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นมากขึ้นหรือยัง ถ้าปัญญาไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่มีหนทาง ที่จะละคลาย เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังด้วย

. สำหรับผู้ที่สติระลึกที่แข็ง โดยยังไม่ได้เรียนอภิธรรมเลย และยังฟังน้อยด้วย ก็คงจะระลึกได้ว่านี่แข็งกับรู้แข็ง แต่ถ้าได้เรียนอภิธรรม เรียนเรื่องจิต เรื่องเจตสิกมากๆ แล้ว สภาพแข็งและรู้แข็งที่สติระลึกตอนที่เรียนอภิธรรม กับตอนที่ยังไม่ได้เรียนอภิธรรม ตอนไหนปัญญาจะคมกล้ามากกว่ากัน

สุ. ขึ้นอยู่กับความเข้าใจอรรถ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับชื่อหรือคำที่รู้ ถ้ารู้คำ รู้ชื่อมากๆ อย่างกำลังเดินไปก็เป็นจิตตชวาโยธาตุ ถ้ากล่าวว่าอย่างนี้ เป็นเรื่องชื่อ แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะ

. รู้คำด้วย รู้ชื่อด้วย รู้ลักษณะด้วย

สุ. ถ้าขณะที่กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ใช่ไหม กำลังยืนในขณะนี้ สติระลึกลักษณะของรูปที่กาย รู้ลักษณะของรูปอะไร ชื่อจะไม่เข้ามา ยุ่งเกี่ยวเลย ใช่ไหม หรือใครจะเกิดนึกขึ้นมาว่า ขณะนี้ที่เคร่ง ตึง ไหว เป็น จิตตชวาโยธาตุ ซึ่งนั่นไม่ใช่การระลึกลักษณะที่ตึงไหว

ถ้าขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะที่ไหว หรือที่ตึง หรือที่แข็ง หรือที่อ่อน หรือที่เย็น หรือที่ร้อน ขณะนั้นกำลังมีปรมัตถธรรม ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่กำลังมีลักษณะแข็ง ข้อสำคัญ คือ จะต้องพิจารณาศึกษาจนกว่าจะเข้าใจว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ที่แข็งนั้นไม่ใช่สภาพรู้ และส่วนลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ที่กำลังรู้แข็งนั้น ก็เป็น แต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง นี่คือสิ่งที่จะต้องได้ยินและพิจารณาทันที แต่ไม่ใช่เรื่องชื่อ

เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังพระธรรม เข้าถึงอรรถ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่ทรงแสดง ไม่ใช่เรื่องการจำชื่อ

. เข้าถึงอรรถ และต้องเข้าใจคาถา ๔ บาท ที่ว่า ...

สุ. ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏประกอบกันไป ในขณะที่ฟังได้ ยิ่งเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วจะเพียงฟัง แต่ไม่ได้น้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม

. น้อมประพฤติปฏิบัติตามอย่างที่อาจารย์ได้พร่ำสอน ผมก็ได้พยายามฟังอยู่ เมื่อระลึกแล้ว ผลก็ยังไม่เห็นสักที

สุ. มิได้ ท่านผู้ฟังต้องการผลอะไร อย่าข้ามไปเลย เพื่อความละเอียด

. ก็อยากจะให้ถึงเป้าหมายว่า ให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย

สุ. ขอประทานโทษ ขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจ ในอรรถ ลักษณะของสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้และสภาพรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ในขณะนี้ไหม ต้องการผลอย่างนี้ไหม หรือไม่ต้องการขั้นนี้ แต่ต้องการจะถึงนิพพาน

. ก็ควรเป็นไปตามลำดับ

สุ. เพราะฉะนั้น ลดความต้องการลงมา จากนิพพาน เป็นการเข้าใจ ให้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม

. ลดความต้องการลงมา ก็เหมือนกับเราตั้งความปรารถนาน้อยไป

สุ. มิได้ ความปรารถนาสูงนั้นสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนี้ก่อน

. คือ ยังต้องเชื่อฟังอยู่ต่อไป

สุ. ต้องศึกษาจริงๆ พร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม

. ผมได้ยินมาว่า การศึกษาต้องให้ครบทั้ง ๓ ขั้นตอน คือ รู้ชื่อ รู้ความหมาย และรู้ลักษณะ ถ้าไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ลักษณะ ทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้ จะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถูกหรือเปล่า

สุ. เวลานี้รู้ชื่อแล้ว ใช่ไหม เวลาฟัง ชื่อว่ารู้ชื่อแล้ว และรู้อรรถ คือ เข้าใจ

. การฟังและท่องจำต่างๆ นี้ และไปติดที่ท่อง มีค้านกันว่า ท่องไม่ได้ ท่องแล้วจะเป็นเหมือนนกแก้วนกขุนทองไป และลักษณะจะไม่รู้จัก

สุ. เวลาที่เข้าใจ ต้องท่องไหม พูดถึงเมื่อเข้าใจแล้ว ท่องอะไรบ้าง ช่วยบอกตามความจริงว่า ท่องอะไรบ้าง

. อย่างสัจจะมี ๔ คือ ทุกข์ ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๑ เว้นโลภะ รูป ๒๘ เป็นทุกขสัจ สมุทัย ได้แก่ โลภเจตสิกเป็นสมุทัยสัจ

สุ. ขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมอะไร

. เพียงรู้ชื่อ

สุ. เมื่อกี้บอกว่า ต้องมี ๓ ขั้น ขั้นที่ ๑ รู้ชื่อ ขั้นที่ ๒ เข้าใจ และขั้นที่ ๓ รู้ลักษณะ โดยอะไร ทำอย่างไรจึงจะรู้ลักษณะ

. คือ สังเกตสภาพธรรม

สุ. สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าพูดถึงเรื่องจักขุวิญญาณ กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะนี้มีชื่อ และมีความเข้าใจ และขั้นรู้ลักษณะจะเกิดได้ไหม เมื่อเข้าใจแล้ว

. เกิดได้

สุ. ต้องท่องไหม

. ในขณะนั้นไม่ต้องท่อง แต่ในการศึกษาอภิธรรม มีความจำเป็นมาก

สุ. ศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือเพื่อจำได้

. เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

สุ. เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรม จำได้แน่ๆ ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมและจะจำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจำได้ไม่กี่วันก็ลืม หรือไม่กี่เดือนไม่กี่ปีก็ต้องลืมแน่ๆ เหมือนกัน

. การศึกษาด้วยการท่องจำ จะมีประโยชน์ไหม

สุ. ดิฉันเรียนถามจุดประสงค์แล้วว่า ศึกษาเพื่ออะไร ศึกษาเพื่อจะจำ หรือศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงการศึกษาธรรม จุดประสงค์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ท่านที่ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ ท่านจะรู้เลยว่า ขณะที่กำลังฟังนี้เข้าใจ และมีสภาพธรรมปรากฏให้ระลึกได้เพื่อที่จะเข้าใจชัดขึ้นอีก

อย่างคำว่า ธาตุรู้ สภาพรู้ เข้าใจแล้วว่า หมายความถึงสิ่งซึ่งไม่ใช่ลักษณะ ที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แต่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง คิดนึกบ้าง จำได้บ้าง นี่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะที่ฟังเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว มีสิ่งนั้นพร้อมที่จะให้รู้ชัดทันทีที่ระลึก เพราะฉะนั้น จะศึกษาเพื่ออะไร

ถ้าเพื่อความเข้าใจ ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เข้าใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ายังติดใจ ที่จะท่อง ก็ละเลยการเข้าถึงอรรถของธรรมที่กำลังปรากฏ

. สมัยเมื่อผมบวชอยู่ ได้รับคำสอนจากอาจารย์ที่สอนกัมมัฏฐานว่า ไม่ต้องอ่านตำรา ไม่ต้องดู เพราะว่ารู้มากทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้จิตไม่สงบ ต้องปฏิบัติอย่างเดียว เมื่อปฏิบัติใจเป็นสมาธิแล้วจะรู้เอง ท่านบอกว่า ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิแล้ว จะอบรมให้ปัญญาเกิด ผมก็พยายามกระทำตาม แต่ก็ไม่ได้ผล ก็เลยรู้ว่า การศึกษาของพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันไม่ค่อยถูกหลักเกณฑ์ เพราะเท่าที่ผมศึกษามาก็เป็นแต่เพียงท่องจำอย่างที่ว่า ไม่เข้าใจอรรถ ไม่เข้าใจลักษณะ ได้แต่เพียงท่องจำและพูดได้ บอกคนอื่นได้ แต่ความหมายที่แท้จริงไม่ค่อยจะรู้แจ้งชัดเจน

ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาอย่างนี้ ไม่สามารถเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ถ้าผมไม่ได้มาฟังอาจารย์สอน ชาตินี้ก็คงจะตายไปพร้อมกับความไม่รู้ พร้อมกับความเข้าใจผิดๆ ที่ศึกษากันมาไม่ค่อยตรงประเด็น ไม่ตรงเป้าหมาย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมและเข้าใจอรรถ รู้สภาวะ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะเกื้อกูลต่อ การปฏิบัติ

ผมนึกถึงเรื่องท่านพระโปฐิละว่า ท่านเป็นพระอาจารย์สอนหมู่คณะถึง ๑๘ คณะ แต่ก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปหาสามเณรเล็กๆ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ เมื่อสามเณรบอกท่านเพียงนิดเดียว ท่านก็สามารถช่วยตัวเองได้ แสดงว่าตอนแรก ที่ท่านศึกษาจนชำนาญแตกฉานในพระไตรปิฎกนั้น ท่านไม่รู้อรรถ หรือไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมหรืออย่างไร

สุ. จุดประสงค์สำคัญ คือ ถ้าผู้ใดรู้ว่าศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏแล้ว จะเข้าถึงอรรถที่ว่า สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ที่ใช้คำว่า ธรรม ก็แสดงอยู่แล้วว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม เพียงศัพท์หรือเพียงคำที่ได้ยินคำเดียวว่า ธรรม ก็ต้องเข้าถึงความหมายของธรรม คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้ว และก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ผู้ที่เป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมสติ ด้วยสติ จนกระทั่งรู้ชัดและประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เป็นผู้ที่จำมาก แต่หมายความว่าเป็นผู้ที่เข้าใจในอรรถ และ ศึกษาธรรมที่ปรากฏตามที่เข้าใจ นั่นจึงจะได้ประโยชน์จริงๆ เพราะถ้าศึกษาตำรามากมาย แต่ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่าตรงกับที่ได้ศึกษา ก็ไม่มีประโยชน์ เป็นแต่เพียงความจำเท่านั้นเอง

. ขณะที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น เรารู้ว่าจิตเป็นกุศล และจิตที่เป็นกุศลต้องประกอบด้วยสหชาตธรรม ต้องมีโสภณสาธารณกุศลเจตสิกประกอบอย่างน้อย ๑๙ ดวง ซึ่งในขณะที่สติระลึกรู้สภาพของกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นขณะที่สั้นเหลือเกิน สติปัญญาจะสามารถจำแนกแจกแจงว่ามีธรรมอะไรเกิดขึ้นในขณะนั้นได้อย่างไร

สุ. ถ้าคิดจะจำแนกแจกแจง ก็ไม่รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอีก เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังและการจำแนกแจกแจงเป็นปริยัติ ในขณะที่กำลังฟังและพยายามเข้าใจ แต่ขณะใดที่สติเกิดระลึกตรงลักษณะของ สภาพธรรม ขณะนั้นต้องศึกษาสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คิดเรื่องของสภาพธรรม

. ถ้าอย่างนั้น ในขณะนั้นไม่ต้องไปคิดว่า ขณะนั้นคือศรัทธา คือ หิริ โอตตัปปะ ไม่จำเป็นต้องไปคิด

สุ. แน่นอน ลักษณะของหิริมีจริง ลักษณะของโอตตัปปะมีจริง ลักษณะของศรัทธามีจริง ลักษณะของสติมีจริง ลักษณะของอโลภะมีจริง ถ้าสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ปรากฏสติระลึกไม่ได้ ไม่ใช่ให้ไปนึกจนกระทั่งให้ปรากฏ ไม่ใช่อย่างนั้น

. คงเหมือนอย่างที่อาจารย์เปรียบเทียบว่า เหมือนกับแกง คือ แกงนี้ เมื่อผสมเครื่องแกงหลายๆ ชนิดแล้วก็เป็นแกงขึ้นมา เราไม่จำเป็นต้องไปแยกแยะว่า แกงนี้มีรสมาจากเครื่องแกงอะไรบ้าง

สุ. ที่จะต้องรู้ชัด คือ ลักษณะที่เป็นนามธรรมต่างกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม เพราะเพียงได้ยินได้ฟังว่านามธรรมต่างกับรูปธรรมเท่านั้น ยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565