แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1602

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๐


สำหรับการอบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับโลภะได้เป็นสมุจเฉทถึงความ เป็นพระอรหันต์ ใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๔๑๓ มีข้อความที่แสดงถึงผู้ที่ดับโลภะแล้ว จะไม่มีการติดในอารมณ์ทั้งหลายเลย ต่างกับขณะที่ยังคงมีความพอใจ ต้องการ ยึดมั่นในอารมณ์ทุกอย่าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ข้อความมีว่า

...จักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมจักษุ และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมจักษุนั้น ฯลฯ

นี่เป็นความต่างกันมากของผู้ที่ได้ฝึกอบรมจิตแล้ว กับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมจิตเลย หรือผู้ที่กำลังอบรมจิตอยู่ เพราะว่าธรรมดา จักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป แต่ว่าพระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมจักษุ และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมจักษุนั้น

ข้อความในอรรถกถามีว่า

สำหรับม้าก็ดี ช้างก็ดีที่ยังไม่ได้ฝึก ใครจะไปห้าม ไม่ให้ประพฤติในสิ่งซึ่ง ไม่เหมาะไม่ควรก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าช้างที่ฝึกแล้ว ม้าที่ฝึกแล้ว ใครจะไปห้าม ไม่ให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรก็ไม่ได้ ฉันใด คนที่ยังไม่ได้ฝึก ที่จะห้าม ไม่ให้ชอบในสิ่งที่ปรากฏ ทางตาก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ใครจะมาชี้แจงพร่ำสอนอย่างไร แต่ผู้ที่ไม่ได้ฝึกก็ยังต้องออกไปนอกทางของคำสอนนั้นตามกิเลสที่สะสมมา แต่ถ้าผู้นั้นฝึกแล้วจริงๆ ก็ไม่มีใครสามารถแนะนำชักชวนให้ผู้ที่ได้ฝึกจิตแล้ว มีความประพฤติเหมือนเช่นที่ไม่ได้เคยฝึกฝนมาก่อน

ข้อความต่อไปมีว่า

หูเป็นธรรมชาติชอบเสียง จมูกเป็นธรรมชาติชอบกลิ่น ลิ้นเป็นธรรมชาติ ชอบรส กายเป็นธรรมชาติชอบโผฏฐัพพะ ใจเป็นธรรมชาติชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์ ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระอรหันต์คุ้มครอง รักษา สำรวมใจ และแสดงธรรมเพื่อความสำรวมใจนั้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนทั้งหลายย่อมนำพาหนะที่เขาฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม พระราชาทรงขึ้นพาหนะที่เขาฝึกแล้ว บุคคลผู้ฝึกฝนแล้ว อดกลั้นถ้อยคำที่ล่วงเกินได้ เป็นผู้ประเสริฐสุดใน หมู่มนุษย์

ม้าอัสดร ม้าสินธพผู้อาชาไนย ช้างใหญ่กุญชรที่เขาฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ บุคคลผู้ฝึกตนแล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น

ใครๆ ไม่พึงไปถึงนิพพานอันเป็นทิศที่ไม่เคยไปด้วยยานเหล่านั้น เหมือนบุคคลผู้ฝึกแล้ว มีตนอันฝึกแล้ว ฝึกดีแล้ว ย่อมไปถึงได้

พระอรหันต์ไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย เป็นผู้พ้นขาดแล้วจากภพใหม่ เป็นผู้บรรลุถึงแล้วซึ่งภูมิที่ฝึกแล้ว คือ อรหัตตผล พระอรหันต์เหล่านั้นเป็นผู้ชนะแล้ว ในโลก

ผู้ใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายในโลกทั้งปวง ทั้งในภายใน ทั้งในภายนอก ผู้นั้นฝึกดีแล้ว รู้โลกนี้และปรโลกแล้ว รอคอยอยู่ซึ่งกาลมรณะ

การฝึกตนมีมาก และทุกเหตุการณ์ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บุคคลผู้ฝึกฝนแล้ว อดกลั้นถ้อยคำที่ล่วงเกินได้ เป็นผู้ประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ ซึ่งก่อนนั้นจักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป หูเป็นธรรมชาติชอบเสียง จมูกเป็นธรรมชาติชอบกลิ่น ลิ้นเป็นธรรมชาติชอบรส กายเป็นธรรมชาติชอบโผฏฐัพพะ ใจเป็นธรรมชาติชอบธรรมารมณ์

ชอบมากไหม ธรรมารมณ์ หรือว่าชอบแต่สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความชอบธรรมารมณ์นี้จะมากไหม

กำลังอ่านหนังสือสนุกมาก ชอบอะไร เรื่องที่อ่านสนุกมาก นวนิยายเรื่องต่างๆ สารคดีต่างๆ ชอบอะไรในขณะนั้น ก็ชอบธรรมารมณ์ ไม่ได้ชอบสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น กว่าจะฝึกจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่าหลงชอบสิ่งที่ไม่มีเลย นอกจากคิดเอา คิดเอาทั้งนั้น และห้ามไม่ได้ด้วย เพราะตราบใดที่ยังไม่ฝึก ก็จะต้องชอบธรรมารมณ์ต่อไป

อโลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดยาก การสละ การไม่ติดข้องในอารมณ์ ทั้ง ๖ เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมอโลภะ ความไม่ติดข้อง ด้วยความพากเพียรจริงๆ

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ ปธานสูตร ข้อ ๒๔๘ มีข้อความว่า

ความเพียร ท่านกล่าวว่า ปธาน เพราะเป็นภาวะอันบุคคลพึงตั้งมั่น หรือเพราะกระทำให้เป็นประธาน

โลภะมีมากเหลือเกิน เมื่อไหร่จะน้อยลง ถ้าไม่มีความเพียร หรือไม่มีความ ตั้งมั่นคงที่จะเพียรละโลภะจริงๆ วันหนึ่งๆ โลภะก็ยังคงต้องมีกำลังมาก เพราะ ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะคิดนึก ให้ทราบว่า โลภะยังมีกำลังอยู่มาก

ข้อความต่อไปมีว่า

ทุกคนมีโลภะเป็นธรรมดา

จริง ใช่ไหม และให้เห็นกำลังของโลภะ และความอ่อนกำลังของโลภะ ตามข้อความที่ว่า

การที่บุคคลจะกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้าท่อนเก่าที่เย็บแล้ว ๔ ครั้งก็ดี

คือ ทั้งปะ ทั้งชุน ๔ ครั้งแล้ว

จงให้ภัตสักว่าข้าวสารกำมือหนึ่งก็ดี

วันนี้ถ้าใครมาขอข้าวสารกำมือหนึ่ง จะสละข้าวสารกำมือหนึ่งได้ไหม หรือว่า เพียงกำมือหนึ่งก็ไม่ให้

จงให้บรรณศาลาที่มีขนาดสี่เหลี่ยมก็ดี

ไม่ต้องเป็นอาคารใหญ่โต เพียงแค่บรรณศาลาขนาดสี่เหลี่ยมเท่านั้น

หรือจงให้เภสัชมีประมาณน้อยในเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำผึ้งเป็นต้นก็ดี แก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นก็ดี หรือแม้การนำออกมาแล้วให้ก็ดี ชื่อว่าเป็นการกระทำได้ยากยิ่ง เป็นเช่นกับการเข้าไปสู่สงครามของกองทัพ ๒ ฝ่าย

ถ้ายังยึดถือว่าเป็นของเราและมีไว้สำหรับเพื่อการอุปโภคบริโภค คิดดูตามความเป็นจริงว่า ข้อความนี้ผิดหรือไม่ผิด เวลาที่ไม่มีกุศลเจตนาที่จะให้ แม้แต่ เพียง เภสัชมีประมาณน้อยในเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำผึ้งเป็นต้นก็ดี ที่จะให้ แก่ชนเหล่าอื่นก็ดี หรือแม้การนำออกมาแล้วให้ก็ดี ชื่อว่าเป็นการกระทำได้ยากยิ่ง

เรื่องของอกุศลทั้งหลาย เป็นเรื่องของคนพาล ไม่ใช่เป็นของบัณฑิต เพราะฉะนั้น คนพาลจะไกลตัวหรือว่าใกล้ตัว เพราะบางท่านคิดถึงลักษณะของพาลว่าเป็นลักษณะของผู้อื่น แต่ถ้ารู้ว่าพาล คือ อกุศลจิต จะทำให้รังเกียจอกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ปรารถนาที่จะให้ตนเองเป็นคนพาล หรือมีอกุศลมากๆ อย่างนั้น

มโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๑ อรรถกถา ลักขณสูตร ข้อ ๔๔๑ มีข้อความว่า

หนทางอันคนพาลไปแล้ว ย่อมเป็นดุจหนทางที่เปลวเพลิงอันเผาไหม้ต้นไม้ กอไม้ บ้าน และนิคม เป็นต้น ไปแล้ว ฉะนั้น

คนพาล คือ อกุศลจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นดุจหนทาง ที่เปลวเพลิงอันเผาไหม้ต้นไม้ กอไม้ บ้าน และนิคม เป็นต้น ไปแล้ว ฉะนั้น

หนทางที่บัณฑิตไปแล้ว เป็นเช่นเดียวกันกับหนทางอันเมฆซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ นำความถึงพร้อมแห่งข้าวกล้านานาชนิด ยังหนองและบึงให้เต็มแล้ว

นี่คือหนทางของบัณฑิต คือ ไปทางกุศล ทางอโลภะ ทางการไม่ติด ทางการบริจาค ทางการสละ เป็นเช่นเดียวกับ หนทางอันเมฆซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ นำความถึงพร้อมแห่งข้าวกล้านานาชนิด ยังหนองและบึงให้เต็มแล้ว เพราะว่าย่อมนำมาซึ่งสมบัติในหนทางที่บัณฑิตไปแล้ว ไม่ใช่นำมาซึ่งไฟไหม้ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่นำมาซึ่งข้าวกล้านานาชนิด

ทุกท่านที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็เห็นกำลังของโลภะได้ว่า มากมาย จริงๆ ในแต่ละวัน ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ ดูไม่น่าเชื่อเลยที่จะเป็นไปได้ว่า คนที่เคยพอใจทุกอย่างในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตลอดกาลยาวนานของสังสารวัฏฏ์นี้ เมื่อได้อบรมเจริญปัญญา ปัญญานั้นสามารถจะ ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ละ ค่อยๆ ดับโลภะนั้นได้ตามลำดับขั้น

เพราะฉะนั้น ก็เห็นหนทางของอกุศลธรรมกับโสภณธรรม แม้ว่าโลภะจะเกิด อยู่เป็นประจำทุกวันในชาตินี้ และในสังสารวัฏฏ์ ในอดีตที่ยาวนานมาแล้วก็จริง ซึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะมีผู้ที่อบรมเจริญปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกระทั่งปัญญานั้น คมกล้าสามารถดับโลภะได้ตามลำดับขั้นจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ควรพากเพียร เป็นสิ่งที่ควรพยายามไปทุกภพทุกชาติ เพราะถ้าไม่ได้เจริญอบรมปัญญา ถึงขั้นที่จะดับกิเลส จะเห็นได้ว่า การละ หรือการสละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น เป็นได้เพียงชั่วขณะจริงๆ ไม่นานเลย เพราะว่า สละวัตถุเพื่อเป็นทาน เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นชั่วเล็กน้อยในวันหนึ่งๆ หมดแล้ว หลังจากนั้นโลภะก็เข้ามาอีก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฉะนั้น มีหนทางเดียวจริงๆ คือ อบรมเจริญปัญญา ดับโลภะที่เกิดร่วมกับความ เห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก่อนที่จะถึงการดับกิเลสขั้นต่างๆ

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ รัฏฐปาลสูตร ข้อ ๔๒๓ มีตัวอย่างของท่านที่อบรมเจริญปัญญาเห็นโทษของโลภะ และสะสมมาพร้อมที่จะดับโลภะเป็นสมุจเฉท หลังจากที่ในอดีต ในสังสารวัฏฏ์ ท่านเป็นผู้ที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชีวิตของท่านพระรัฐปาละผู้เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้บวชด้วยศรัทธา

ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปในหมู่ชนชาวกุรุ พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของชาวกุรุอันชื่อว่า ถุลลโกฏฐิตะ (คือ เป็นที่ที่มีข้าวแน่นยุ้ง เป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร)

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกพราหมณ์และพวกคฤหบดี ชาวถุลลโกฏฐิตนิคม ให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

ครั้งนั้น รัฐปาลกุลบุตร ผู้เป็นบุตรของสกุลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคม ได้ ขออนุญาตมารดาบิดาบวชด้วยความยากยิ่ง เพราะว่าท่านเป็นบุตรเพียงคนเดียว มีทรัพย์สมบัติมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม แต่เมื่อได้ฟังธรรมท่านก็เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์สำหรับท่านเป็นการยาก เพราะท่านสะสมอุปนิสัยที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศบรรพชิต ความยากของการที่ท่านจะขออนุญาตมารดาบิดาบวช ทำให้ท่านต้องอดอาหารตลอด ๗ วัน มิฉะนั้นมารดาบิดาก็ไม่ยอมให้บวช แต่เมื่อเห็นศรัทธาของท่านที่มั่นคง ในที่สุดมารดาบิดาก็ยอมให้บวช โดยกล่าวว่า เมื่อบวชแล้วให้มาเยี่ยมบ้าง

เมื่อท่านรัฐปาละอุปสมบทได้กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคได้ประทับอยู่ใน ถุลลโกฏฐิตนิคมตามควรแล้ว ได้เสด็จจาริกไปถึงพระนครสาวัตถี ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และไม่นานท่านพระรัฐปาละ ก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

คำว่า ไม่นาน ไม่นาน ในพระไตรปิฎก ควรที่จะได้ทราบว่า ในแต่ละสูตรนั้น ข้อความในอรรถกถาแสดงว่าอย่างไร สำหรับท่านพระรัฐปาละที่กล่าวว่าไม่นาน ท่านพระรัฐปาละก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คือ ๑๒ ปี

เมื่อท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้ทูลขออนุญาตพระผู้มีพระภาคไปเยี่ยมมารดาบิดาของท่านที่ถุลลโกฏฐิตนิคม เมื่อท่านไปถึงบ้านมารดาบิดาของท่าน ขณะนั้นบิดาของท่านกำลังให้ช่างตัดผมสางผมให้ที่ซุ้มประตูบ้าน ซึ่งซุ้มประตูบ้านของท่านมี ๗ ซุ้ม เมื่อบิดาของท่านเห็นท่านแต่ไกล ไม่รู้ว่าเป็นบุตร ก็ได้กล่าวว่า

พวกสมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ บวชบุตรคนเดียวผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา

ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละไม่ได้การให้ ไม่ได้คำตอบที่บ้านบิดาของท่าน (คือ ไม่ได้การเชื้อเชิญหรือการนิมนต์) ที่แท้ได้แต่คำด่าเท่านั้น

เพราะบิดาของท่านกล่าวว่า พวกสมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ บวชบุตรคนเดียว ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา

ขณะนั้น ทาสีของญาติของท่านพระรัฐปาละกำลังจะเอาขนมกุมมาสค้างคืน ไปทิ้ง ท่านรัฐปาละก็ได้กล่าวว่า ถ้าจะทิ้ง ก็ขอให้ใส่ลงในบาตรของท่านเถอะ เมื่อกล่าวอย่างนั้น ทาสีก็จำเสียงได้ และจำสัณฐานมือเท้าของท่านได้ ก็ได้รีบ ไปเรียนให้มารดาของท่านทราบว่า ท่านรัฐปาละมาแล้ว

เมื่อมารดาบิดาของท่านได้ไปหาท่านรัฐปาละซึ่งอาศัยฝาเรือนแห่งหนึ่ง ฉันขนมกุมมาสค้างคืนนั้น มารดาบิดาก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปฉันที่บ้าน แต่ท่านก็ กล่าวว่าท่านฉันเสร็จแล้ว มารดาบิดาจึงนิมนต์ท่านให้ไปฉันในวันรุ่งขึ้น

แม้ว่าอาหารที่บ้านจะเป็นอาหารที่ประณีต และอาหารที่กำลังฉันเป็น ขนมกุมมาสค้างคืน แต่สำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้วไม่มีความต่างกัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องไปฉันต่อที่อื่นอีก

ในวันรุ่งขึ้นมารดาบิดาของท่านก็ให้ขนเงินทอง ทรัพย์สมบัติออกมากองเป็น อันมาก

ที่ว่าเป็นอันมาก หมายความว่ากองจนคนที่ยืนข้างนี้ไม่เห็นคนที่ยืนอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้ท่านลาสิกขาบทออกมาใช้ทรัพย์สมบัตินั้นและทำบุญ เพราะว่าเมื่อมีเงินก็ยังสามารถที่จะทำกุศลอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องบวช แต่ท่านพระรัฐปาละก็ได้กล่าวตอบว่า

ดูกร คฤหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้ ท่านพึงให้เขาขนกองเงินกองทองนี้บรรทุกเกวียน ให้เข็นไปจมเสียที่กลางกระแสแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะความโศก ความร่ำไร ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส มีทรัพย์นั้น เป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน

ไม่ค่อยมีใครพิจารณาว่า ความทุกข์ของท่านเกิดจากทรัพย์ แต่อยากได้ทรัพย์ เพราะเห็นว่า ถ้าได้ทรัพย์แล้วจะไม่มีความทุกข์ แต่ขอให้คิดจริงๆ ว่า ความทุกข์ ของท่านทั้งหมดมาจากทรัพย์ จริงไหม มาจากเยื่อใย ความติดข้อง ความต้องการ ความปรารถนาทรัพย์ ขณะที่กำลังติดข้องต้องการ ปรารถนา แต่ไม่ได้ เป็นทุกข์ไหม หรือที่จะต้องหมดสิ้นไปก็เป็นทุกข์ ใช่ไหม

ขอให้ดูชีวิตของบางคนที่อาจจะไร้ทรัพย์ แต่ยังสามารถที่จะเป็นสุข มีหน้าตาเบิกบาน ยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้ ในขณะที่คนมีทรัพย์มากๆ บางทีหน้าตาก็ ไม่เป็นสุขเลย นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตใจว่า ท่านมีความผูกพัน เกี่ยวข้อง ปรารถนาทุกข์ที่เกิดจากทรัพย์มากน้อยแค่ไหน

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565