แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1605

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๐


ทางวาจาก็มีเจตนาในขณะที่ต้องการจะกล่าวคำไม่จริง คำเท็จ ที่เป็นมุสาวาท ในขณะที่ต้องการจะกล่าวคำส่อเสียด ในขณะที่ต้องการจะกล่าวคำหยาบคาย ในขณะที่ต้องการจะกล่าวคำเพ้อเจ้อ

เจตนาเกิดดับ มีอยู่แล้วที่ใจ แต่ก็ยังไม่พอ ยังต้องการให้สำเร็จลุล่วงออกไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอกุศลกรรมบถ หมายความว่า เจตนานั้นเป็นกรรม เป็น ปถ เป็นทางที่จะทำให้สำเร็จทางกายหรือทางวาจา

เพราะฉะนั้น กายสัญเจตนา ทั้งหมดจึงมี ๒๐ อย่าง คือ เป็นกุศล ๘ และอกุศล ๑๒ ตามประเภทของจิตในวันหนึ่งๆ

เวลานี้ทุกคนก็มีจิตประเภทต่างๆ ตามที่ศึกษา ถ้าจะมีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา ต่อไปนี้ก็สังเกตลักษณะของเจตนาได้ คือ ความจงใจขวนขวายที่จะให้ การกระทำนั้นสำเร็จตามเจตนา ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

แต่สำหรับมโนสัญเจตนาหารมีมากกว่านั้น คือ รวมมหัคคตเจตนาอีก ๙ จึงเป็น ๒๙

ข้อความในพระไตรปิฎก ยังแสดงละเอียดจนถึงเจตนาทางกายทวารที่ว่า มี ๒๐ ก็สามารถจะเป็นถึง ๘๐ ได้ ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

บัดนี้ การรวบรวมเจตนาอันบัณฑิตพึงประชุมลงในทวารทั้งหลายแม้ ๓

ถามว่า อย่างไรนี่

แก้ว่า

เจตนา ๒๐ อันมีกรรมอันตนเองทำเป็นมูลในกายทวาร ๑

เจตนา ๒๐ อันมีการชักชวน บังคับให้กระทำเป็นมูลในกายทวาร ๑

เจตนา ๒๐ อันมีการรู้ตัว คือ รู้ในเหตุ ในผล ในกรรม ในวิบาก เป็นมูล ในกายทวาร ๑

เจตนา ๒๐ อันมีการไม่รู้ตัว หรือว่าไม่รู้ในเหตุในผลเป็นมูลในกายทวาร ๑

รวมแล้วจากเจตนา ๒๐ คูณอีก ๔ เท่า จึงเป็นเจตนา ๘๐ ในกายทวาร

ถ้าจะให้ละเอียด ต้องเป็นเรื่องของการพิจารณาจิต เพราะว่าบางครั้งกุศล หรืออกุศลนั้นก็เกิดด้วยตนเอง เป็นการกระทำของตนเอง ตั้งใจเอง คิดเองที่จะทำ และก็ทำด้วยกุศลจิต ๑ ใน ๘ ประเภท หรือถ้าเป็นทางอกุศลกรรม ก็เป็นอกุศลจิต ๑ ใน ๑๒ ดวง แต่ทั้งหมดเมื่อเป็นเจตนา ๒๐ คือ ฝ่ายกุศล ๘ ฝ่ายอกุศล ๑๒ ทำเอง ๒๐ ไม่มีใครชักชวนเลย อีก ๒๐ เป็นเพราะคนอื่นอาจจะชักชวนหรือว่าบังคับ อย่างบางท่านจำต้องทำเพราะว่าคนอื่นสั่ง หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องรับคำสั่งนั้น ก็รวมเป็น ๔๐ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นผู้ที่ไม่รู้เลยว่า นี่คือกรรม บอกให้ทำก็ทำ แต่ไม่รู้ว่า ที่กำลังทำเป็นกุศลหรืออกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดผล ก็เป็นการทำโดยไม่รู้อีก ๒๐ และสำหรับบางท่าน รู้และก็ทำ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายอกุศลหรือทางฝ่ายกุศล ก็อีก ๒๐ จึงรวมเป็นเจตนาในกายทวาร ๘๐

ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย อย่าคิดว่าอยู่ในตำรา ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ในชีวิตของแต่ละคน แต่ละวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงประมวลรวบรวมสภาพของเจตนา นั้นๆ ที่เป็นไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ให้ทราบว่า ทั้งหมดมีประเภทเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นทางกาย ๘๐ ทางวาจา ๘๐ แต่ทางใจนั้นถึง ๑๑๖ เพราะว่า เพิ่มมหัคคตะอีก ๙ เป็น ๒๙ คูณด้วย ๔ คือ ๑๑๖

เป็นเรื่องจำนวน ตัวเลข ซึ่งฟังแล้วลืมได้ไม่ต้องติดใจอะไร เพียงแต่ให้ทราบว่า นี่เป็นชีวิตจริงๆ ถ้าสติของใครจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็จะได้เห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะทรงแสดงไว้ด้วยจำนวนเท่าไร ก็คือจิตของแต่ละคนนั่นเอง

ถ. ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้มี

สุ. ทำอย่างไรถึงจะให้ไม่มี ต้องเจริญปัญญา เพราะสังขารทั้งหลาย ได้แก่ ปุญญาภิสังขารบ้าง อปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มีอวิชชาเป็นปัจจัย

ถ. ต้องใช้สติไปกำหนดรู้ก่อน

สุ. ใช้สติได้หรือ

ถ. ให้เกิดปัญญา

สุ. ต้องอบรมเจริญสติ เพราะว่าสติยังไม่มี ต้องอบรมเจริญจนกว่าจะมี

ถ. อบรมสติในขณะที่เจตนากำลังจะเกิดขึ้น

สุ. พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ ไม่เจาะจง ขณะที่มีความเห็นถูก ขณะที่สติเกิด ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศล ไม่ใช่ว่าไม่เป็นกุศลกรรม เป็นกุศลกรรมที่เป็นมโนกรรม

ถ. ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอกุศลกรรมบถขณะที่ทำ ผลของกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับที่ไม่รู้ อย่างไหนจะแรงกว่ากัน

สุ. ที่ไม่รู้ต้องแรงกว่า เพราะอย่างไรๆ ก็ตาม เมื่อรู้แล้วก็ยังมีความ ไม่อยากจะกระทำ แต่ไม่สามารถจะต้านทานความเป็นอนัตตาได้

ถ. มโนกรรมที่เกิดทางปัญจทวาร ที่ไม่ถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ จะให้ผลเป็นวิบากข้างหน้าไหม

สุ. ถ้าไม่เป็น ปถ คือ ไม่เป็นคลอง ไม่เป็นทางที่จะให้วิบากจิตเกิด ก็ ไม่เป็น

ถ. หมายความว่าเป็นกรรม แต่ไม่ให้ผลเป็นวิบาก ใช่ไหม

สุ. ถ้าใช้คำว่า กรรม หมายความถึงเจตนาเจตสิกทุกชาติทุกดวง เพราะฉะนั้น ที่จะไม่เป็นมโนกรรมนั้น ไม่มี ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทางกาย ทางวาจา ยังไม่ถึงความเป็นกรรมทางกาย ทางวาจา

ถ. และกรรมที่ยังไม่ถึงกรรมบถ จะไม่ให้ผลเป็นวิบาก ใช่ไหม

สุ. ไม่ให้ผลเป็นวิบาก เพราะว่าเป็นการสะสมของจิต

ถ. เป็นกรรม

สุ. กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก และเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว เวลาที่เกิดทางปัญจทวาร มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แม้เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับ อกุศลจิต เช่น โลภมูลจิตทางปัญจทวาร ก็ชื่อว่ามโนกรรม แต่ไม่ใช่มโนกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบถ

ถ. และไม่ให้ผลด้วย แต่สะสม ใช่ไหม

สุ. ไม่ได้เป็นอกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก

ถ. ขณะที่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นสุจริต สามารถนำไปอบายได้ไหม

สุ. ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นทุกคนต้องไปอบายหมด ใช่ไหม ไม่มีทางรอด

ถ. ที่ว่าปฏิบัติศีล ๕ แสดงว่าศีล ๕ วิสุทธิจริงๆ ขณะนั้นต้องไม่มีอกุศลกรรมบถทุกขณะเลย ใช่ไหม

สุ. จิตเกิดทีละขณะ ขณะที่เป็นกุศล วิรัติทุจริต

ถ. บางทีมีเจตนา คือ อกุศลกรรมบถเกิด มโนกรรมก็เกิดต่อ สลับกันมาก

สุ. สลับอยู่เสมอเลย

ถ. จะมีหนทางทำให้มโนกรรมเกิดมากกว่าอกุศลกรรมบถหรือเปล่า

สุ. ต้องการฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น ใช่ไหม ต้องอบรมเจริญปัญญา

ถ. ต้องฟังมากๆ

สุ. ฟังแล้วต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าเพียงฟัง

ถ. กรรมบถที่ปรากฏขึ้นมานั้น เป็นชวนจิตทั้งหมด ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง

ถ. มีความแตกต่างกันอย่างไรในชวนจิตดวงที่ ๑ ถึงดวงที่ ๗

สุ. แตกต่างกันที่ชวนะดวงที่ ๑ ยังไม่เป็นผลของอาเสวนปัจจัย เพราะว่าเพิ่งเกิดขึ้นเป็นขณะแรก

ถ. ชวนจิตทั้ง ๗ ดวง จำเป็นต้องเป็นกุศลหรืออกุศลเหมือนกันทั้งหมด ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง ไม่สลับกันเลย ๗ ขณะต้องเหมือนกันทีเดียว

คำถามเรื่องของมโนทวาร คือ ถ้ากล่าวถึงมโนทวาร โดยนัยของทวาร ๖ เพราะว่าทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ แต่ขณะที่นอนหลับสนิท จิตรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย

ขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น รู้อารมณ์เลย เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นอาศัยตาเป็นทวาร ขณะที่ได้ยินอาศัยหู เป็นทวาร ขณะที่ได้กลิ่นอาศัยจมูกเป็นทวาร ขณะที่ลิ้มรสอาศัยลิ้นเป็นทวาร ขณะที่ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอาศัยกายเป็นทวาร ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นึกคิดขึ้นมาเอง ขณะนั้นอาศัยใจเป็นทวาร เพราะว่าที่จะให้มีใจเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยพอใจ ไม่พอใจ จะเป็นการสะสมที่เป็นอารมณ์ ที่ทำให้จิตรำพึงถึง นึกถึง คิดถึง เพราะฉะนั้น ในขณะที่ความคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด เรื่องหนึ่งเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นจิตรู้อารมณ์โดยอาศัยใจนั่นเอง เป็นทวาร

จิตเกิดขึ้นทีละขณะ เปรียบเทียบให้เห็นชัด คือ ขณะที่กำลังหลับสนิท ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันดำรงความเป็นบุคคลนั้น ภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจใดๆ ทั้งสิ้น แต่เวลาที่เกิดคิดนึกขึ้น ภวังค์ไหวตามอารมณ์ที่จะคิดนึก เพราะว่าอารมณ์นั้นต้องกระทบใจตามการที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยกระทบสัมผัส

ท่านที่มีความกังวลมากๆ ก่อนจะนอนก็ยังคิดถึงเรื่องที่กังวลอยู่ และทันทีที่ตื่น คิดถึงเรื่องอะไร ก็ยังต้องคิดถึงเรื่องที่กังวลนั้นแหละ ถ้าเป็นเรื่องต้องกังวลมากๆ จะเห็นได้เลยว่า ก่อนหลับก็คิดถึงเรื่องนั้น เมื่อตื่นก็ยังต้องหมกมุ่นครุ่นคิดถึงเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจัยที่ให้ภวังคจิตไหว และเมื่อภวังคจิตไหวและดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทก็เกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย และเมื่อภวังคุปัจเฉทดับแล้ว วิถีจิตต้องเกิด แต่เมื่อไม่ใช่สีกระทบตา ไม่ใช่เสียงกระทบหู ไม่ใช่กลิ่นกระทบจมูก ไม่ใช่รสกระทบลิ้น ไม่ใช่เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กระทบกาย ขณะนั้นเป็นการกระทบทางใจ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตก็คิดถึงอารมณ์นั้นหรือเรื่องนั้น แต่ยังไม่เป็นชวนวิถี ยังไม่เป็นโลภะ ยังไม่เป็นโทสะ ยังไม่เป็นกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่นึกถึงเท่านั้นและก็ดับ เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จึงเป็นการคิดนึกเรื่องนั้นด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือด้วยโมหะ หรือด้วยกุศลจิต

เพราะฉะนั้น มโนทวารทางใจ ได้แก่ ภวังคุปัจเฉท ซึ่งเป็นกระแสภวังค์ ดวงสุดท้ายนั่นเอง ซึ่งถ้าภวังคุปัจเฉทไม่เกิดและดับไป มโนทวาราวัชชนะซึ่งเป็นวิถีจิตจะนึกถึงเรื่องนั้นไม่ได้เลย และที่วันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะคิดถึงเรื่องอะไรขึ้นมา ให้ทราบว่า ก่อนคิดถึงเรื่องนั้นต้องเป็นภวังค์ เมื่อภวังคจลนะดับแล้ว ภวังคุปัจเฉทเกิดต่อ ซึ่ง ภวังคุปัจเฉทนั่นเองเป็นมโนทวารเพื่อที่จะให้วิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต นึกถึงเรื่องนั้นได้ เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับ การนึกถึงเรื่องนั้นก็นึกด้วยโลภมูลจิต หรือด้วยโทสมูลจิต หรือด้วยกุศลจิต

ถ. มโนทวาราวัชชนจิตที่เป็นชาติกิริยา ขณะที่ไปตัดสินทำโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร ที่ตัดสินดีหรือไม่ดี ขณะนั้นชื่อว่าสั่งสมสันดานของตนหรือเปล่า

สุ. สั่งสมขณะที่เป็นชวนจิต

ถ. ปุพเพกตปุญญตา บุญที่เคยสั่งสมไว้ในแต่ปางก่อนก็อยู่ที่ชวนะ

สุ. ถูกต้อง

ถ. กิริยาที่ตัดสินว่า ดี ไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่การสั่งสมหรือ

สุ. การที่จะตัดสิน ไม่ได้มีอำนาจพิเศษเฉพาะมโนทวาราวัชชนะที่จะ ทำได้ตามใจชอบ แต่ในวิถีวาระหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเห็นอารมณ์ ไม่สามารถจะยับยั้ง ชวนจิตได้ เช่น ขณะที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรก รู้ว่าอารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ขณะนั้นยังไม่เห็น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้ เป็นเพียงกิริยาจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว กุศลจิตและอกุศลจิตก็ยัง เกิดไม่ได้เพราะว่ายังไม่เห็น ในเมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้ วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ แต่ยังไม่เห็น จึงยังไม่เป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ขณะที่เป็นจักขุวิญญาณชั่วขณะเดียวที่เห็น ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลหรืออกุศล เพราะเป็นวิบากจิตที่จะต้องเห็น สิ่งที่ดีเมื่อเป็นกุศลวิบาก หรือเห็นสิ่งที่ไม่ดีเมื่อเป็นอกุศลวิบาก

เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว กุศลจิตและอกุศลจิตก็ยังเกิดทันทีไม่ได้เพราะว่าสัมปฏิจฉันนจิตต้องเกิดรับอารมณ์นั้นสืบต่อโดยอนันตรปัจจัย เป็นจิตแต่ละประเภท ซึ่งต้องเกิดสืบต่อกันว่า เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้วจิตอื่นเกิดไม่ได้ นอกจากทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดใน ๑๐ ดวง และเมื่อทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่ง ดวงใดใน ๑๐ ดวงดับไปแล้ว จิตดวงนั้นเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยว่า จิตที่เกิดต่อต้องเป็นสัมปฏิจฉันนะ จะเป็นกุศลและอกุศลทันทีไม่ได้ เมื่อ สัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ให้สันตีรณจิตเกิดต่อ กุศลจิตและอกุศลจิตก็ยังเกิดไม่ได้ เมื่อสันตีรณจิตดับไป สันตีรณจิตเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ซึ่งได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง แต่ทำกิจโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร โดยกระทำกิจ กำหนด กระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด

เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ ไม่มีอำนาจพิเศษอะไร แต่เป็นปัจจยุปบันธรรมของสันตีรณจิต ซึ่งเมื่อสันตีรณจิตดับแล้วจิตนี้ต้องเกิด ก่อนกุศลหรืออกุศลเท่านั้นเอง โดยฐานะที่จิตนี้ต้องเกิดก่อนกุศลหรืออกุศล จึงเป็น จิตที่กระทำทาง หรือเป็นจิตที่ทำให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อตามการสะสม

ถ้าสันตีรณจิตดับไป จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อทันทีไม่ได้ ยังไม่ใช่ฐานะ ยังไม่ใช่กิจของจิตนี้ที่จะเกิดต่อจากสันตีรณะ แต่จิตที่จะเกิดต่อจากสันตีรณจิตต้องเป็นโวฏฐัพพนจิตเท่านั้นที่จะกระทำกิจนี้ก่อน ตามฐานะ แต่ไม่ใช่อำนาจสิทธิขาด

ต้องเข้าใจด้วยว่า จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นกระทำกิจชั่วขณะหนึ่งๆ ตามสภาพ ตามฐานะ ตามโอกาสของจิตนั้นๆ โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้แต่กุศลจิตอยากจะให้เกิดก็ยังเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการสะสมมา และเมื่อสะสมมาแล้วจะให้เกิดก่อนโวฏฐัพพนจิตก็ไม่ได้ ไม่ใช่ฐานะที่จะเกิดก่อนโวฏฐัพพนจิต แต่ต้องเกิดหลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับไปทางปัญจทวาร ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเล็กน้อยจริงๆ เพราะว่าหลังจากที่ทางปัญจทวารทวารหนึ่ง ทวารใดดับไปแล้ว ทางมโนทวารจะคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ มากมาย โดยที่ลืมสีที่ปรากฏทางตา กลายเป็นคน กลายเป็นวัตถุเป็นสิ่งต่างๆ นึกถึงแต่เรื่องของคนที่เห็น หรือสิ่งที่เห็น ส่วนทางหู แทนที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงเสียงที่กระทบกับ โสตปสาทและดับไป ก็กลายเป็นเรื่องราวต่างๆ ทำให้หมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องที่ได้ยิน

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะสามารถแยกทางปัญจทวารกับทางมโนทวารและรู้ตามความเป็นจริงว่า ทางมโนทวารเป็นเรื่องของความคิดนึก เรื่องของอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงเรื่อง ซึ่งถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ สติปัฏฐานก็จะหันกลับมาระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะรู้ว่าตามความ เป็นจริงแล้ว เรื่องราวต่างๆ ไม่มี แต่ปรมัตถธรรมนั้นเองที่เกิดขึ้นและดับไปที่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ทางที่จะละคลายความยึดมั่นในความเห็นว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน ก็โดยการระลึกได้ว่า สภาพปรมัตถธรรมเพียงปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง โดยไม่ได้มีเรื่องราวต่างๆ มาปะปน ถ้าคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคนอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติของสิ่งที่เพียงปรากฏ สั้นๆ และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว คงเหลือแต่ความทรงจำกับเรื่องราวต่างๆ

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรมได้ถูกต้อง ถ้ายังแยกไม่ได้ ก็ยังคงเป็นโลกของสมมติบัญญัติอยู่ และไม่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565