แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1607

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๐


การเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท

เพราะว่าสมาทานได้ แต่ถึงเวลาเผชิญหน้าจริงๆ กับเหตุการณ์และอารมณ์ ที่ปรากฏ จะล่วงศีลหรือไม่ล่วงศีล ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาในขณะนั้น ไม่ล่วงศีล แต่ถ้าไม่มีเมตตา แม้สมาทานแล้ว ก็ยังล่วงศีลได้

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท มีผลมากกว่าการมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะว่า บางท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเพียงด้วยการกล่าวตามว่าเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่จริงๆ แล้ว ต้องเข้าใจในพระพุทธคุณ ในพระธรรมคุณ ในพระสังฆคุณ ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่า สรณะจริงๆ นั้น คือ พระธรรม คำสอนที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล และ รู้เหตุ รู้ผล รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ละเอียดขึ้น ทำให้เพิ่มความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ แต่ถ้าเพียงมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะโดยไม่สมาทานสิกขาบท หรือโดยไม่เจริญเมตตาจิต ก็ไม่พอ เพราะว่าเป็นการถึงโดยการกล่าวตามเท่านั้น

การมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีผลมากกว่าการสร้างวิหาร ถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ

พระสงฆ์ที่ท่านมาจากทิศต่างๆ เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญา และมีผู้ที่มีศรัทธาสร้างวิหารถวาย ในขณะนั้นก็เป็นทานกุศลซึ่งเกิด แต่ไม่บ่อย และไม่นาน แต่จิตซึ่งเกิดดับเป็นประจำวันที่จะไม่ให้เป็นไปใน การเบียดเบียนบุคคลอื่น หรือให้เป็นไปในการเจริญกุศลยิ่งขึ้นด้วยเมตตา ย่อมมีมากกว่าการที่เพียงสร้างวิหารถวายสงฆ์ซึ่งมาจากจตุรทิศ เพราะบางคนมักจะคิดว่า ทำบุญอย่างไรถึงจะได้อานิสงส์มาก จะสร้างวิหารดี หรือจะถวายทานดี หรือ จะทำอะไรดี แต่ลืมว่าการสร้างวิหารก็ดี เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวเดียวที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ๑ นาที ๒ นาที ๓ วัน ๔ วัน แต่เทียบกับวันหนึ่งๆ ที่จะมีการทำบุญด้วยทาน ด้วยวัตถุที่เป็นทาน หรือการสร้างวิหาร ก็ยังจบยังสิ้น แต่จิตใจของทุกคนในทุกวัน ซึ่งไม่จบ และขณะใดที่ไม่ได้ให้ทานวัตถุ หรือวันใด เดือนใด ปีใดที่ไม่ได้สร้างวิหาร จิตเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตแต่ละขณะย่อมสำคัญกว่าที่จะต้องระลึกว่า

การเจริญเมตตาจิตแม้ที่สุดเพียงสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมี จิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท มีผลมากกว่าการมีจิตเลื่อมใส ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

การมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีผลมากกว่าการสร้างวิหาร ถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ

การสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขบริโภค

การถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าการถวายทานที่บุคคลถวายให้พระผู้มีพระภาคเสวย

การถวายทานที่บุคคลถวายให้พระผู้มีพระภาคเสวย มีผลมากกว่าทาน ที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์บริโภค

การถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์ มีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ องค์

การถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ องค์ มีผลมากกว่าการถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์

การถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์ มีผลมากกว่าการถวายทานแก่ พระอรหันต์ ๑ องค์

การถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑ องค์ มีผลมากกว่าการถวายทานแก่ พระอนาคามี ๑๐๐ องค์

นี่เป็นเรื่องของจิต ซึ่งถ้าย้อนกลับไปถึงทานทั้งหมด ก็ยังไม่เท่ากับการที่ บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เวลาสูดดมของหอม และเมตตา คือ อโทสเจตสิก

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร ข้อ ๑๖๐ มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

บุคคลที่มีชีวิตอยู่ในพระไตรปิฎก ที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่ปรินิพพาน จะอยู่ที่ไหนในสมัยนี้ เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงสภาพของจิตของบุคคล แม้ในครั้งนี้และ ในครั้งนั้นก็ไม่ต่างกัน แม้ภิกษุรูปนี้

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ …

ถูกใจไหม ท่านที่อยากจะฟังพระธรรมย่อๆ แม้ในครั้งนั้นก็มีภิกษุที่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

เวลาที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม จะให้พระองค์ทรงแสดงธรรมเปล่าๆ หรือเพื่อที่จะปฏิบัติตามด้วย

นี่เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะสังเกตว่า แม้แต่ผู้ที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และขอให้ทรงแสดงธรรม แต่ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะเสียเวลาของ พระผู้มีพระภาคไหม ที่เมื่อแสดงแล้วก็ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็เหมือนกัน อย่าให้เป็นการเสียเปล่า เหมือนกับว่าได้เข้าไปเฝ้าและขอให้ทรงแสดง และเพื่อที่พระองค์จะได้ไม่ทรงแสดงเปล่าๆ จึงต้องประพฤติตามที่ทรงแสดงด้วย แม้ว่าจะทรงแสดงโดยย่อสักเพียงใด ก็ตาม แต่สิ่งที่ทรงแสดงโดยย่อ ต้องปฏิบัติกันตลอดชีวิต ทุกชาติ จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเชื้อเชิญเราโดยหาเหตุมิได้ เมื่อเรากล่าว ธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่าควรติดตาม ด้วยคิดว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ไฉนหนอเราพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระองค์ ไฉนหนอเราพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระองค์

เพราะฉะนั้นแหละภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ดูกร ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

นี่โดยย่อ คือ ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ด้วยดี คือ ให้เป็นกุศล อย่าให้เป็นอกุศล

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุ เมื่อใดจิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่นดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้นเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญกระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว ดูกร ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

นี่เป็นความสำคัญของการเจริญเมตตา ซึ่งไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน และที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุนั้นปฏิบัติ แม้ว่าจะโดยย่อ สั้น แต่การปฏิบัติของผู้รับฟังพระธรรมโอวาทโดยย่อนั้น จะปฏิบัติตามได้อย่างมั่นคงแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่ พุทธบริษัทจะต้องน้อมรับพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติด้วยความเคารพ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสให้ภิกษุรูปนั้นเจริญเมตตาพรหมวิหาร จนถึงรูปฌาน คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และให้เจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขาพรหมวิหารถึงปัญจฌาน แต่เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเจริญเมตตาก็ตาม

ถ. จิตเรามีแต่กุศลโดยเฉพาะกับลูกหญิง ลูกชาย แต่เขาไม่ปฏิบัติให้เราถูกใจ ถ้าเราจะแกล้งโกรธ ทั้งๆ ที่เรามีเมตตาจะผิดหรือเปล่า คือ เราเฆี่ยนนิดเดียวเขาก็ไม่เชื่อ ก็อยากจะเฆี่ยนให้เจ็บสักหน่อย แต่จิตใจเรายังมีความเมตตา

สุ. มีความหวังดี และพยายามใช้ความหวังดีนั้นด้วยวิธีที่จะทำให้เกิดผล ฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังต้องอยู่ในโลก ไม่ใช่อยู่คนเดียว ยังต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ที่จะให้มีแต่ธรรมคล้ายกับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องแล้วแต่การวินิจฉัย คือ การรู้จักบุคคลแต่ละบุคคลว่า ประพฤติปฏิบัติต่อ บุคคลนั้นอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์จริงๆ

เมื่อสักครู่ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า เวลาที่ท่านขุ่นเคืองใจ โทสะเกิดขึ้น สติก็ระลึก ขณะนั้นโทสะหายไป แต่แล้วก็เกิดอีก ได้เรียนถามท่านว่า ต้องการอย่างไร ท่านก็ต้องการไม่ให้โทสเจตสิกเกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หมายความว่าปรารถนาในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปตามความเป็นจริง ที่จะให้กิเลสทั้งหลายไม่เกิดอีก เป็นไปไม่ได้

ข้อสำคัญที่จะต้องรู้ คือ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ดับ ไม่ใช่ไม่ดับ แต่บางท่านที่เห็นว่าธรรมนั้นเกิดแล้วดับ ก็เกิดความพอใจ แทนที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วธรรมทั้งหมดเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะโทสะที่ต้องการให้ดับ ไม่ว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก ก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัย ปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไปทันที

เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งโดยตามความเป็นจริง คือ เพียงชั่วขณะเล็กน้อย อย่างทางตาที่กำลังเห็นให้ทราบว่า ชั่วขณะเล็กน้อยจริงๆ เพราะว่าทางหูได้ยินเสียง นี่แสดงให้เห็นว่า ความเล็กน้อยของ ทางตาที่กำลังเห็นเล็กน้อยสักแค่ไหน คิดดู ในขณะที่เห็น เล็กน้อย และทางหูก็ได้ยิน และก็เล็กน้อย และทางตาก็เห็นอีกเพียงเล็กน้อย และกระทบแข็งอีกเพียงเล็กน้อย

ถ้าทางใจไม่ปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ มากมาย สภาพธรรมย่อมจะปรากฏตามความเป็นจริง แต่เมื่อลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏทางทวารหนึ่ง ทวารใดใน ๕ ทวารแล้ว ทางมโนทวารรับต่อ และปรุงแต่งอย่างมากจนกระทั่งปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เล็กน้อย เกิดขึ้นและ ดับไป อย่างทุกท่านอาจจะเห็นเก้าอี้ตั้งอยู่ตั้งนาน เมื่อกี้ก็ยังอยู่ หรืออาจจะคิดถึงอาทิตย์ก่อน เก้าอี้ตัวนี้ก็ยังอยู่ เพราะว่านึกถึงความเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้ว่า ทางตาชั่วขณะที่กำลังปรากฏ เล็กน้อย และขณะที่กำลังกระทบแข็ง ก็เล็กน้อย เพราะว่าแข็งที่ปรากฏในขณะที่กระทบครั้งที่ ๑ ดับไปแล้ว เมื่อแข็งกระทบอีกครั้งหนึ่ง ต้องไม่ใช่แข็งเก่าที่ปรากฏ

นี่คือความเล็กน้อยชั่วขณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย นอกจากรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

เรื่องของความโกรธ ทำให้จิตใจไม่สบาย และถ้าเป็นความไม่พอใจในสิ่งที่ ไม่มีวิญญาณ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความไม่พอใจนั้นก็จะไม่นานเท่ากับความ ไม่พอใจในสัตว์บุคคล เพราะถ้าเป็นความไม่พอใจในสัตว์บุคคลจะทำให้นึกถึง เป็นสัตว์บุคคลนั้นอีก และความไม่พอใจนั้นก็เกิดอีก แต่ความไม่พอใจในสิ่งที่ ไม่ใช่สัตว์บุคคลจะไม่อยู่นาน แต่จะเกิดตามการกระทบของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้

เพราะฉะนั้น ควรที่จะรู้ประโยชน์ของสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ได้แก่ อโทสเจตสิก และถ้าเป็นไปในสัตว์ ในบุคคล ก็เป็นลักษณะของเมตตา ซึ่งเป็น สภาพที่เย็นสบาย ไม่เดือดร้อนใจเลย เพราะว่าลักษณะของเมตตานั้นเป็นลักษณะของความเป็นมิตรหรือความเป็นเพื่อน

ในขณะที่เกิดความขุ่นเคืองใจ หรือไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขอให้พิจารณาดูจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร ถ้าพิจารณาจริงๆ จะรู้ว่า ไม่ใช่เพราะคนอื่น ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ปรากฏภายนอก แต่เป็นเพราะกิเลสของตนเองทั้งสิ้น

สำหรับการที่จะเกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความขุ่นเคืองใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด บางทีถ้าขาดการพิจารณาตนเองจะไม่ทราบว่า ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจนั้น สมควรหรือไม่สมควร

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อรรถกถา ฆฏิการสูตร มีข้อความว่า

เมื่อพระเจ้ากิกิกาสิราชได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ให้ทรงรับการอยู่จำพรรษาที่เมืองพาราณสีของพระองค์ เพื่อที่พระองค์จะได้บำรุงพระสงฆ์เห็นปานนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะตรัสว่า พระองค์รับการอยู่จำพรรษาของฆฏิการะช่างหม้อแล้ว ซึ่งพระเจ้ากิกิก็ทรงปรารภถึงความไม่มีลาภ และมีความเสียพระทัย มีจิตโทมนัสว่า เราไม่ได้เพื่อถวายทานตลอดไตรมาส และไม่ได้เพื่อฟังพระธรรม และไม่ได้เพื่อปฏิบัติพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุถึง ๒๐,๐๐๐ รูป โดยทำนองนี้ แต่ว่าพระเจ้ากิกิไม่ได้ทรงปรารภพระผู้มีพระภาค เพราะว่าไม่ได้ทรงน้อยพระทัย หรือเสียพระทัยในพระผู้มีพระภาค เป็นแต่ว่า เกิดความโทมนัสเสียใจว่า พระองค์จะไม่ได้ถวายทานตลอดไตรมาส และไม่ได้ ฟังธรรมตลอดไตรมาส

คำถามมีว่า เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพราะพระองค์เป็นพระโสดาบัน

เพราะฉะนั้น ความโกรธของแต่ละคนในแต่ละวัน ควรที่จะได้พิจารณาว่า สมควรหรือไม่สมควร ถูกหรือผิด เสียใจหรือน้อยใจในบุคคลที่ควรน้อยใจ หรือเสียใจไหม อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรมีผู้หนึ่งผู้ใดน้อยใจหรือเสียใจเลย เพราะว่าพระองค์เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถวายทานต่อ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อคิดถึงพระคุณสูงสุดของพระองค์แล้ว ก็ไม่ได้น้อยใจเสียใจที่พระองค์ไม่ได้อยู่จำพรรษาที่พระนครพาราณสี แต่ไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองของฆฏิการะช่างหม้อ

เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดว่า เคยน้อยใจใครบ้าง หรือเคยเสียใจใครบ้าง และสมควรไหม ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีพระคุณอย่างมารดาบิดา หรือว่าญาติผู้ใหญ่

นี่เป็นสิ่งที่ถ้ามีความละเอียดในการพิจารณาจิต และเกิดสติพิจารณา แม้เพียงความควรหรือไม่ควร จะทำให้อกุศลทั้งหลายเบาบางลงบ้าง

เปิด  204
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565