แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1608

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๐


ลักษณะของเมตตา คือ

มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูลเป็นลักษณะ

มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีการจำกัดความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

มีการเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นที่พอใจเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ไม่ใช่เห็นแล้วขัดหูขัดตา ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสะ

ถ้าสติเกิด ระลึกลักษณะของจิต ขณะที่โกรธจะต่างกับขณะที่เมตตา ลักษณะของจิตต่างกันจริงๆ ขณะที่โกรธเป็นขณะที่จิตมีสภาพที่หยาบกระด้าง แต่เวลาที่เกิดเมตตา ขณะนั้นสงบจากความพยาบาท เป็นสภาพของจิตที่อ่อนโยน

เวลาที่ไม่อยากจะโกรธ อยากมีเมตตาไหม หรือเพียงไม่อยากให้ตัวเอง ขุ่นเคืองใจ เพราะว่าไม่ชอบความเดือดร้อนใจ แต่ในขณะนั้นไม่ได้คิดถึงการที่ควรมีเมตตาต่อสัตว์บุคคลทั้งหลายเพิ่มขึ้น ซึ่งลักษณะของเมตตาจะต้องทราบว่า คล้ายกับลักษณะของโลภะ จึงต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ลักษณะของเมตตานั้น มีการสงบจากความโกรธหรือความพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดโลภะหรือเสน่หา เป็นวิบัติ

เพราะฉะนั้น เมตตาจะไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่โลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านผู้ฟังพิจารณาได้ เวลาที่เกิดความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ความไม่พอใจ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ เพราะถ้าท่านมีความเมตตา ต่อบุคคลใดจริงๆ จะไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเลย

ถ้ามีญาติผู้ใหญ่หรือมิตรสหายที่เคารพนับถือที่ชอบพอคุ้นเคย จากโลกนี้ไป ถ้าเสียใจ ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภะ

เมตตามีโลภะเป็นข้าศึกใกล้ และมีโทสะหรือพยาบาทเป็นข้าศึกไกล คือ อยู่ห่าง ไม่เข้ามาใกล้ได้เลย ระหว่างความโกรธกับความเมตตาเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันจริงๆ เข้าใกล้กันไม่ได้ แต่ลักษณะของเมตตากับโลภะใกล้เคียงกันมากซึ่งถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ก็เป็นอกุศล คือ โลภะ ไม่ใช่เมตตา

วิธีที่จะทดสอบสภาพธรรมและรู้จริงๆ ว่า ความรู้สึกที่คิดว่ามีเมตตาต่อกันนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นโลภะหรือเป็นเมตตา ก็โดยพิจารณาว่า ความรู้สึกที่เข้าใจว่า เป็นเมตตานั้น เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์หรือไม่ ถ้าขณะใดเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เมตตาจริงๆ แต่เป็นโลภะ

ท่านที่มีสัตว์เลี้ยง ทราบไหมว่าเป็นเมตตาหรือโลภะ แล้วแต่ขณะจิตจริงๆ ถ้ามีอันเป็นไปเกิดขึ้นและต้องเศร้าโศกเสียใจเพราะสิ่งใด ให้ทราบว่าไม่ใช่เมตตา ในสิ่งนั้น แต่เป็นความพอใจ เป็นโลภะในสิ่งนั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่โลภะเป็นข้าศึกใกล้ ก็เพื่อประโยชน์ คือ ให้ปฏิบัติ ให้สังเกต ให้พิจารณา ให้รู้ เพื่อที่จะละคลายเหตุ แห่งทุกข์ให้ลดน้อยลง เพราะถ้าไม่รู้ทุกคนก็เข้าใจว่าเมตตา แต่ความจริงเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะโลภะ แต่ถ้ารู้ว่าโลภะกับเมตตามีลักษณะที่ต่างกัน กุศลจิตก็ย่อมเจริญขึ้น โดยคลายความติด ความเสน่หา หรือโลภะ และเพิ่มความเมตตาขึ้น จนกระทั่งแม้สิ่งนั้นจะมีอันเป็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ นั่นคือลักษณะของเมตตาจริงๆ

ข้อความในอรรถกถามีว่า

การเจริญขึ้นของเมตตานั้น เริ่มด้วยกัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความพอใจ ที่จะอบรมเจริญเมตตา

นี่เป็นขั้นต้น เพราะทุกคนทราบว่า อโทสะเป็นโสภณธรรม เมตตาต่อสัตว์บุคคลทั้งหลายเป็นธรรมฝ่ายดี แต่ทำอย่างไรจึงจะมีเมตตาเพิ่มขึ้นมากๆ

ถ้ายังโกรธใครอยู่ ก็แสดงว่าขณะนั้นขาดเมตตา เพราะถ้ายังโกรธ ชื่อว่าเมตตาเกิดไม่ได้ เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น การที่เมตตาจะเจริญขึ้นได้ ต้องเริ่มด้วยกัตตุกัมยตาฉันทะ ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา เมื่อได้ฟังพระธรรมมามากแล้ว ก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามโดยเฉพาะในเรื่องของเมตตา ถ้าอบรมเจริญแล้วก็ไม่ยากที่จะมีความ เป็นมิตรกับทุกคน และอภัยให้ในสิ่งซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องของบุคคลอื่น แต่ถ้า เป็นผู้ที่ไม่มีฉันทะ ไม่มีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา ก็ยังคงขัดหูขัดตา หรือว่าขุ่นเคืองไม่พอใจในสัตว์ ในบุคคลทั้งหลาย

ถ. เมตตาในผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่คุ้นเคย เป็นไปได้ยากมาก คุ้นเคยมาก รักมาก ก็มีโทสะมาก ที่จะเป็นเมตตา ทำได้ยากมาก

สุ. ทุกอย่างที่ยากต้องเริ่มต้น จนกว่าจะง่ายขึ้น ถ้าเห็นว่าเมตตาเป็นกุศล และโลภะเป็นอกุศล ก็เลือกได้แล้วว่า วันหนึ่งๆ ควรที่จะมีเมตตา ไม่ใช่โลภะ ต้องรู้ความต่างกันจริงๆ และเริ่มมีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตาด้วย ไม่ใช่ว่า เมื่อยากก็ปล่อยไปทุกวันๆ ไม่ทำให้ง่ายขึ้น

ถ. บางครั้งมีโทสะแบบรุนแรง และมีสติระลึกว่า ขณะนี้เรากำลังมีโทสะอยู่ ขณะระลึกผมว่าไม่ใช่สติระลึก เป็นโทสะระลึกโทสะ

สุ. สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม และสติก็ดับ โทสะก็เกิด เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนใช่ไหมว่า สภาพธรรมใด ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล

ถ. สภาพธรรมปรากฏขึ้นเล็กน้อย ผมได้ยินได้ฟังมานานแล้ว ปรากฏเล็กน้อย ให้มีสติระลึกในขณะที่มีโทสะรุนแรงเลย แต่สติจะมีคั่นขึ้นมาบ้างหรือเปล่า บางทีผมก็สังเกต ...

สุ. คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากตัวเอง ธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัว

ถ. ผมว่าการเจริญสติปัฏฐานนี่ยากมาก

สุ. ถูกต้อง ไม่ง่าย

ถ. และให้มีสติระลึกสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง มีความคิด อย่างนี้ แต่เวลาระลึกจริงๆ ระลึกไม่เป็น ระลึกไม่ถูก

สุ. จนกว่าจะถูก

ถ. มีการสังเกต ต้องมีโดยแยบคาย โดยถูกภูมิของตัวเอง

สุ. ต้องมีความเพียร ทุกคนทำอะไรไม่เป็นตั้งแต่ต้น แต่ว่าอยู่ไปๆ ค่อยๆ ตั้งอกตั้งใจ มีความเพียรขึ้น อบรมขึ้น ก็ทำได้

ถ. เริ่มต้นสังเกต ต้องมีอุบายที่แยบคายในการสังเกต

สุ. อยากหาอุบาย ทุกคนต้องการอุบาย ทำไมไม่ระลึกเดี๋ยวนี้ไปเรื่อยๆ นั่นคืออุบาย ทันทีเลย เดี๋ยวนี้ แทนที่จะไปพยายามเสาะแสวงหาทางหรืออุบายอื่น ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ระลึก ศึกษา พิจารณา รู้ สภาพรู้ต่างกับ สิ่งที่ปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษา

ถ. อย่างเริ่มต้นจากการฟัง ฟังแล้วเข้าใจ เข้าใจก็ยังไม่พอ ต้องสังเกตด้วย ผมฟังมามากเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

สุ. ถ้าเทียบกับ ๔ อสงไขยแสนกัป มากไหมที่ฟังนี่

ถ. เทียบไม่ได้

สุ. ยังใช้คำว่า มาก ไม่ได้ ยังน้อยอยู่

ถ. ผมประมาณ หลายครั้งแล้วเหมือนกัน

สุ. ถ้าฟังมากแล้ว สติระลึกคล่องแคล่วชำนาญ ถ้าอบรมมามาก

ถ. เวลาผมไปสนทนาธรรมกับเพื่อนด้วยกัน เขาคุยเรื่องสติปัฏฐานกัน ผมคิดว่า ผมระลึกสู้เขาไม่ได้

สุ. ขอประทานโทษ สติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องสำหรับคุย

ถ. คุยแล้วผมรู้สึกว่า ไม่ค่อยเข้าใจเลย

สุ. ขณะนี้สติของท่านผู้ฟังหลายท่านอาจจะกำลังระลึกลักษณะของ อ่อน หรือแข็ง หรือเสียง หรือได้ยิน ท่านบอกใครบ้างไหม หรือเพื่อนฝูงที่นั่งใกล้ๆ ว่า ขณะนี้สติของท่านกำลังระลึกทางไหน ก็ไม่จำเป็นต้องบอกใคร

ถ. เขามีเหตุผลในการคุยว่า เขามีการเจริญสติกัน แต่ผมเจริญไม่เป็น ระลึกก็ระลึกไม่เป็น

สุ. ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ตรง ข้อสำคัญที่สุด ต้องตรงต่อตัวเอง ถ้ายังไม่รู้ สติเพิ่งจะเริ่ม ก็อบรมระลึกศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น และจะทราบว่า ท่านทั้งหลายที่ท่านรู้ขึ้นแล้ว ท่านต้องผ่านอย่างเดียวกัน คือ เริ่มด้วยสติระลึก และค่อยๆ ศึกษาไป จากไม่รู้จนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น เป็นของธรรมดา ถ้าระลึกและ รู้ทันที พระอรหันต์ก็ต้องมากมายในโลกนี้

ถ. จะระลึกอย่างไร

สุ. ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ

ถ. ทางตา ก็มีเห็นพระพุทธรูป เห็นนาฬิกา เห็นต่างๆ

สุ. ถ้าเป็นปรมัตถธรรม หมายความถึงเป็นสิ่งที่สามารถปรากฏ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท

ถ. เราระลึกบัญญัติธรรมได้ไหม

สุ. ไม่ได้

ถ. ระลึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่คิดนึกทางใจเป็นบัญญัติ เราระลึกอย่างนี้ไปก่อน

สุ. นั่นเป็นเรื่องราว คิดเป็นคำๆ เป็นเรื่องของปรมัตถธรรม ไม่ใช่สติ ที่ระลึกลักษณะที่แม้ไม่ต้องคิดเป็นคำ สภาพธรรมนั้นปรากฏแล้ว

ถ. ถ้าสติปัฏฐาน อารมณ์ต้องเป็นปรมัตถ์

สุ. แน่นอน เป็นหนทางเดียวที่จะแยกบัญญัติธรรมและปรมัตถธรรม ถ้ายังไม่แยกก็หมายความว่า ยังรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เป็นเรื่องของปรมัตถ์ แทนที่จะเป็นลักษณะของปรมัตถ์ อย่างแข็งที่กำลังกระทบสัมผัส ควรที่จะศึกษาว่า ไม่มีเราเลย มีแต่สภาพที่กำลังรู้และสภาพแข็ง ลืมอย่างอื่นหมด ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีความเป็นอัตตสัญญาความทรงจำว่าเป็นตัวตนที่กำลังนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดินใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรอื่น ไม่มีใครในโลกนอกจากแข็งกับสภาพที่รู้แข็ง นั่นคือการเริ่มศึกษาลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

ถ. ในขณะแข็งปรากฏก็ระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นสภาพแข็งซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นเริ่มศึกษาแล้วใช่ไหม

สุ. ค่อยๆ เริ่ม

. ผมสงสัยว่า เป็นการคิดเอามากกว่า

สุ. ก็รู้เอง รู้ด้วยตัวเองทั้งนั้น ปัญญาของแต่ละคนเป็นเรื่องของแต่ละคน ที่จะรู้ว่า คิดหรือว่ารู้ ต้องแยกอีกระหว่างคิดกับรู้ เพราะว่าทุกคนห้ามคิดไม่ได้ แต่รู้ว่า ขณะที่คิดไม่ใช่กำลังศึกษารู้แข็งกับสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังรู้

สภาพธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นโสภณเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภท ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป แต่ว่าสติไม่ระลึก และเวลาที่ศึกษาบางท่านอาจจะไม่ได้ระลึก ไปด้วย จึงเป็นการรู้เรื่องของปรมัตถธรรม ไม่ใช่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เพียงรู้เรื่อง หรือรู้ชื่อ แต่ต้องรู้ขณะที่เมตตากำลังเกิด หรือโทสะกำลังเกิด หรือโลภะกำลังเกิด ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง โดยลักษณะ โดยกิจ โดยอาการปรากฏ โดยเหตุใกล้ให้เกิด

ทุกท่านต้องถือประโยชน์จากสิ่งที่ได้ฟังว่า ทรงแสดงไว้เพื่ออะไร

เพื่อให้สังเกตได้ เพื่อให้รู้ได้ว่า ถ้าเป็นเมตตาจะมีลักษณะอย่างนั้น ถ้าเป็นโทสะจะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง และกิจหน้าที่การงานของเจตสิกทั้ง ๒ นี้ก็ต่างกัน อาการที่ปรากฏก็ต่างกัน แม้แต่ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด ก็ต่างกัน

เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นโสภณทั้งหลาย ควรที่จะได้มีความพอใจ คือ ฉันทะ ที่จะอบรมเจริญขึ้น แม้แต่เมตตาเมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสภาพธรรมที่สงบ ระงับพยาบาท หรือความโกรธ คนที่ไม่อยากโกรธ มีทางเดียว คือ ต้องอบรมเจริญเมตตา โดยการเห็นว่า น่าที่จะเจริญมากๆ ควรที่จะเจริญมากๆ มีฉันทะ มีความพอใจเกิดขึ้นแล้วที่จะเริ่มเจริญเมตตา ไม่ใช่เพียงแต่ทราบว่าเมตตาดี แต่ยังไม่เจริญสักที เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าดี ก็ควรมีฉันทะที่จะเจริญด้วย ตามข้อความในอรรถกถาที่ว่าการเจริญขึ้นของเมตตานั้น เริ่มด้วยกัตตุกัมยตาฉันทะ ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตาเป็นเบื้องต้น

ข้อความต่อไปมีว่า

มีการข่มนิวรณ์เป็นท่ามกลาง มีอัปปนาสมาธิ คือ ฌานจิต เป็นที่สุด

เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของเมตตา คิดดู ทุกท่านอยู่ข้างไหน คงจะ บอกว่า กำลังเตาะแตะ ล้มลุกคลุกคลาน เพราะว่ามีเพียงฉันทะที่จะอบรม เจริญเมตตาหรือยัง นี่เป็นขั้นแรก ถ้ามีแล้วจะต้องพยายามเจริญขึ้นในวันหนึ่งๆ จึงจะรู้ลักษณะที่ว่า แทนที่จะโกรธ กลับไม่โกรธ ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟัง ได้เห็น สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยไม่พอใจ แต่เวลาที่เมตตาค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น ก็ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ขณะนั้นเป็นความไม่โกรธ ไม่เดือดร้อนใจกับสิ่งที่เคยทำให้ เดือดร้อนใจ แต่คงจะไม่ถึงที่สุด คือ อัปปนาสมาธิ ซึ่งได้แก่ ฌานจิต หรือคงจะ ไม่ถึงแม้อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิที่สงบมั่นคงใกล้ที่จะเป็นอัปปนาสมาธิ

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สังเกตได้ว่า ไม่ใช่การท่อง แต่ต้องเป็นการปฏิบัติ เพราะว่าการที่จะขยายอารมณ์ให้กว้างออกไปเป็นเมตตาซึ่งหาประมาณไม่ได้ ต้องต่อเมื่อจิตสามารถที่จะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว จึงจะแผ่เมตตาออกได้กว้างขวางจริงๆ โดยกำหนดอาวาสคือที่อยู่แห่งหนึ่ง และเจริญเมตตาในบุคคลทุกคนที่อยู่ในที่นั้น นี่เป็นขั้นต้น ไม่ใช่ท่อง

วันนี้ที่บ้านมีใครบ้าง มีเมตตาในบุคคลที่อยู่ในบ้านครบถ้วนทุกคนไหม ถ้ายังไม่มีเมตตาในบ้านครบถ้วนทุกคน ก็ไม่ต้องไปแผ่ หรือไปขยายเมตตาไปถึงที่อื่น เพราะต้องเริ่มจากการกำหนดอาวาส คือ ที่อยู่แห่งหนึ่ง และเจริญเมตตาในทุกชีวิต ที่อยู่ในอาวาสนั้น จากทุกคน เป็นทุกชีวิต ได้ไหม

ข้อความในอรรถกถามีว่า

เหมือนชาวนาผู้ฉลาด ทำการกำหนดสถานที่ที่จะพึงไถก่อน แล้วจึงไถ

นี่คือการที่จะอบรมเจริญเมตตา

เมื่อสามารถที่จะกระทำจิตให้อ่อนควรแก่การงานในอาวาสนั้นแล้ว จึงควรกำหนดอาวาส ๒ แห่ง

คือ เริ่มจากที่อยู่แห่งเดียวไปสู่อีกแห่งหนึ่ง อีกบ้านหนึ่ง บ้านใกล้เรือนเคียง ก็ได้ มีกี่คน นอกจากกี่คนแล้ว ก็ทุกชีวิตในบ้านนั้น ในที่อยู่ที่อาศัยแห่งที่ ๒ และ ค่อยๆ ขยายไป จากบ้านหนึ่งสู่อีกบ้านหนึ่งๆ จนถึงตรอกหนึ่ง นิคมหนึ่ง ชนบทหนึ่ง แว่นแคว้นหนึ่ง ทิศหนึ่ง จนกระทั่งทั่วจักรวาล

นี่คือผู้ที่อบรมเจริญเมตตา เพราะเห็นประโยชน์ของเมตตา แต่ถึงอย่างนั้น โดยการเจริญสมถภาวนา ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

นี่แสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่นของกิเลส แม้จะไม่โกรธเป็นเวลานาน และ มีเมตตามากนับไม่ถ้วน แผ่ขยายออกไป แต่ก็ยังดับโทสะไม่ได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

แต่ใครก็ตามที่มีฉันทะที่จะเจริญเมตตา และเมตตาก็ค่อยๆ เจริญขึ้นเรื่อยๆ เมตตานั้นเป็นพรหมวิหาร โดยความเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ เพราะอรรถว่าประเสริฐ

คิดดู คนที่ไม่โกรธเป็นคนประเสริฐ ใช่ไหม ทุกวันนี้ถ้ามีใครซึ่งอาจจะมีคน ว่าร้าย กล่าวร้าย เข้าใจผิด หรือแสดงกิริยาอาการต่างๆ แต่ผู้นั้นก็ยังไม่โกรธ ใครๆ ก็คงต้องเห็นความประเสริฐของคนที่ไม่โกรธ

ด้วยเหตุนี้ เมตตาชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ เพราะเป็นข้อปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย

คนที่อยู่ด้วยกันที่จะมีความสุข ผาสุกจริงๆ ก็ด้วยข้อปฏิบัติชอบ คือ เมตตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงท่อง และไม่ใช่เพียงรู้ แต่ต้องปฏิบัติด้วย

เปิด  237
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565