แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1611

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐


สุ. โลกของปรมัตถธรรมสั้นมาก เล็กน้อยมาก ทันทีที่เห็นแล้วดับ แต่ ทางใจปรุงแต่งเป็นเรื่องราว เป็นบุคคล เป็นสัตว์ต่างๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว ก็ไม่รู้ และความไม่รู้ทำให้ไม่ประจักษ์การดับไปของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา แต่เป็นความนึกคิดที่ปรุงแต่งตลอดซึ่งเป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องรูปร่าง กับรูปภาพ (เกี่ยวข้องกับคำถามของท่านผู้ฟังข้อที่ ๓ ในครั้งก่อน) แต่ให้รู้ว่าขณะนี้สภาพรู้ต่างกับสิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

รู้อย่างนี้เมื่อไร จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่จะต้องรู้อย่างนี้เพิ่มขึ้นๆ

คำถามของท่านผู้ฟังข้อต่อไป

ข้อที่ ๔ มีตัวอย่างบัญญัติอารมณ์ในกรณีอื่นๆ อีกหรือไม่

สุ. ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ พอไหมเท่านี้ ถ้าเป็นอตุละก็บอกว่าไม่พอ เพราะฉะนั้น ต้องแล้วแต่ฉันทะของ แต่ละท่านจริงๆ

ถ. ข้อความในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรตอนหนึ่งมีว่า คำว่า จัตตาโร ๔ เป็นศัพท์กำหนดจำนวนด้วยจำนวนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการกำหนดจำนวนสติปัฏฐานว่า ไม่ต่ำกว่านั้น ไม่สูงกว่านั้น คำว่า สติปัฏฐานทั้งหลาย ได้แก่ สติปัฏฐาน ๓ คือ อารมณ์แห่งสติก็มี ความที่พระบรมศาสดาทรงล่วงเลยความยินร้ายและยินดีในพระสาวกทั้งหลายผู้ปฏิบัติ ๓ อย่างก็มี ตัวสติก็มี

คำว่า สติปัฏฐาน ๓ ในที่นี้หมายความถึงอะไร

สุ. หมายความถึง ๑.อารมณ์ที่สติระลึก ๒.สติที่ระลึกที่อารมณ์นั้น ๓.เป็นหนทางที่พระผู้มีพระภาคและพระอรหันต์ทั้งหลายดำเนิน คือ ปฏิบัติ ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายไม่ได้ปฏิบัติทางอื่นนอกจากทางนี้ ขณะนี้ที่กำลังเห็น ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานมี ๒ นัย คือ สติปัฏฐาน ๓ และสติปัฏฐาน ๔

ถ้าสติปัฏฐาน ๔ หมายความถึงสติปัฏฐานที่เป็นอารมณ์ของสติเจตสิก และ ที่สติเจตสิกจะเป็นสติปัฏฐาน ก็เพราะระลึกที่อารมณ์ ๔ อย่างนี้ ไม่ใช่ระลึกเรื่องอื่น คือ ระลึกที่กาย ระลึกที่เวทนา ระลึกที่จิต ระลึกที่ธรรม

ถ. ผู้ที่ทำฌานจนฌานจิตเกิดขึ้น จำเป็นต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิไหม

สุ. ขั้นฌาน

ถ. และผู้ที่เป็นฌานนอกศาสนา

สุ. เหมือนกัน พระพุทธศาสนาไม่จำกัด เป็นสภาพธรรม ฌานจิตไม่ว่าจะเกิดกับใคร จะเกิดกับพวกเดียรถีย์ หรือจะเกิดกับพระสงฆ์สาวก ก็เป็นฌานจิต

ถ. ส่วนผู้ที่เห็นว่าโลกเที่ยง พรหมโลกเที่ยง และทำฌานเพื่อที่จะไปอยู่บนพรหมโลก

สุ. เป็นผู้ที่เห็นผิด เพราะว่าเพียงแต่เจริญฌาน ไม่ได้ดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท

ถ. แต่ในขณะที่ฌานจิตเกิด มีสัมมาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย

สุ. คนละขณะ

ถ. ขณะที่โลภะ โทสะ โมหะเกิด มีวิธีการอย่างอื่นไหมที่จะระงับได้ หรือสังเกตไปเรื่อยๆ

สุ. ต้องการที่จะดับเป็นสมุจเฉท หรือเพียงแต่ระงับ

ถ. เพียงให้บรรเทาไป

สุ. บรรเทาไป ก็คิดถึงกิเลสของเราเองแทนที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น โกรธกิเลสของตัวเองบ้างไหม หรือโกรธแต่เฉพาะกิเลสของคนอื่น

ถ. ขณะที่เกิด มีวิธีการสังเกตทางอื่นไหมที่จะให้รู้

สุ. สติระลึกได้ว่า ขณะนั้นทำร้ายตัวเอง ไม่มีคนอื่นสามารถทำร้ายจิตใจของคนอื่นได้นอกจากกิเลสของบุคคลนั้นเอง

ถ. ผมใช้วิธีทางอ้อม คือ สังเกตจากลมหายใจ ถ้าผิดปกติ อารมณ์จะเปลี่ยนไป ก็ควบคุมลมหายใจ เป็นการกระทำกรรม กระทำได้ และจะระงับไปเองโดยอัตโนมัติ

สุ. เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ละท่าน ถ้าท่านยังเห็นว่าสามารถระงับได้ ควบคุมได้ มีอำนาจเหนือ กระทำได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่การเจริญปัญญาที่ดับความ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

อะไรก็ตามซึ่งอยากจะทำและคิดว่าทำได้ และเมื่อทำได้แล้วพอใจ ก็เป็น ความยินดีพอใจที่เป็นความติด แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับของสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น ความพอใจของแต่ละคนมีหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้โลภเจตสิกหรือโลภมูลจิตสามารถมีอารมณ์ได้ทุกอย่างนอกจากโลกุตตรธรรม เวลาที่กุศลจิตเกิด พอใจได้ ใช่ไหม หรือเวลาที่อกุศลจิตเกิด เป็นผู้ที่มีความสามารถกระทำสิ่งอื่นได้ดี ขณะนั้นโลภมูลจิตเกิดได้ไหม เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ มีความชำนาญในทางโลก ในการอาชีพ หรือแม้แต่การที่จะระงับจิต ก็คิดว่าอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาที่ทำได้ ก็ต้องเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ

ถ้าไม่รู้จักโลภะ ไม่รู้จักสมุทัย วันหนึ่งๆ จะไม่รู้เลยว่าเป็นสิ่งที่สะสมอยู่เรื่อยๆ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนถึงความคิดนึกทางใจ

ขอนำการสนทนาธรรมที่พุทธสมาคม จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐ ออกอากาศให้ท่านได้รับฟังด้วย

สุ. ชาวพุทธทั่วๆ ไป ถ้าจะกล่าวก็รู้สึกว่า ขอประทานโทษที่จะขอใช้คำที่บางท่านอาจจะคิดว่าไม่สมควร แต่ก็ขอให้ท่านคิดและพิจารณาตามว่า เป็นความจริงหรือไม่ที่ว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา

บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะว่าท่านก็ได้ฟังพระธรรม โดยการไปที่วัด และได้อ่านหนังสือธรรม ซึ่งก็คงจะมากแล้ว แต่ถ้าท่านจะพิจารณาจริงๆ ว่า ทำไม ผู้ที่ได้ศึกษาธรรมแล้วยังมีความเห็นอย่างนี้ ดิฉันขอเรียนว่า แม้แต่การที่เราจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร และทรงแสดงธรรมอย่างไร เป็นสิ่งที่เราเพียงฟังเท่านั้นหรือ หรือว่าเราจะต้องศึกษาอย่างมากจริงๆ จึงจะเข้าใจพระธรรมได้ เพราะสำหรับผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ธรรมดาในทางโลก ก็ยังต้องเข้าโรงเรียนและศึกษาเป็นเวลา ๑๐ กว่าปี หรือ ๒๐ กว่าปี ถ้าเป็นสาขาวิชาที่ยากมาก ก็จะต้องศึกษานานกว่านั้น

แต่สำหรับพระธรรม คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัปเพื่อที่จะตรัสรู้สภาพธรรม และไม่ใช่ในฐานะของ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ธรรมเพียงเพื่อพระองค์ผู้เดียว แต่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องทรงประกอบพร้อมด้วยพระญาณ ที่มีกำลังที่จะทำให้สามารถทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้พิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามจนดับกิเลสได้ และเราจะเพียงฟังนิดๆ หน่อยๆ หรืออ่านหนังสือเพียง ๒ – ๓ เล่ม และคิดว่าเข้าใจพระพุทธศาสนาแล้ว ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่ค้นคว้าพิจารณาจิตใจของตัวเองว่า ได้เข้าใจพระธรรมจริงๆ หรือเปล่า แม้แต่สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง ถ้าเป็น ในเรื่องของศีลธรรม เช่น ในเรื่องของศีล ๕ ซึ่งทุกคนก็ทราบจากชีวิตประจำวัน และจากการศึกษาตามโรงเรียน และไม่ใช่แต่เฉพาะพระพุทธศาสนา ทุกประเทศก็มีข้อบัญญัติในเรื่องของการที่จะอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม เพราะฉะนั้น นั่นคงไม่ใช่ สิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพียงแค่ศีล ๕

เท่าที่ดิฉันได้ศึกษามา ดิฉันก็รู้ว่าจะต้องศึกษาตลอดไป ไม่ว่ากี่ภพกี่ชาติที่เกิด ผู้ที่จะเข้าใจพระธรรมจริงๆ จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษา ค้นคว้า พิจารณา และเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา และส่วนใหญ่ในสมัยก่อนเป็น ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ในครั้งโน้นจึงมีผู้ที่ศึกษาน้อย แต่เมื่อพระไตรปิฎกและ อรรถกถาได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็พร้อมที่จะให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลีสามารถเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎกได้

แต่ถ้าท่านลองอ่านพระไตรปิฎกจริงๆ ซึ่งประกอบด้วยพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎกก็ไม่ง่ายเลย จะต้องมี พระวินัยธรซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเหมือนนักกฎหมายที่จะต้องพิจารณาดูว่า ข้อบัญญัติแต่ละข้อมีข้อปลีกย่อยที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามในแต่ละกาล ในแต่ละโอกาสอย่างไร และสำหรับพระสุตตันตปิฎกซึ่งดูเหมือนว่าไม่ยาก เพราะว่ามีข้อความที่กล่าวถึงในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานและพระองค์เสด็จไป ยังสถานที่ต่างๆ ทรงสนทนาธรรม แสดงธรรมกับบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน ดูเหมือนไม่ยาก แต่เมื่อถึงพระอภิธรรมปิฎก แม้เล่มที่ ๑ ถ้าไม่ศึกษาพื้นฐานมาก่อน จะไม่สามารถเข้าใจได้เลย

และหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่พระอภิธรรมปิฎก เพราะว่าทำให้เข้าใจในคำสอนทั้งหมดได้ แม้แต่พระธรรมที่ทรงแสดงสั้นๆ ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าท่านเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ จะรู้ว่า คำนี้ยากหรือง่าย ที่จะเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

ธรรมทั้งหลาย แต่ธรรมนั้นอยู่ที่ไหน และธรรมนั้นคืออะไร ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ ท่านก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา

เท่าที่ดิฉันศึกษามาและได้บรรยายธรรมตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งได้อัดเทปไว้ แต่ความจริงศึกษาก่อนนั้น และได้บรรยายธรรมก่อนนั้น แต่ที่อัดเทปไว้ในการออกอากาศเผยแพร่ เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่จบ และคงจะทำไปเท่าที่สามารถจะทำได้เท่านั้นเอง แต่ว่าไม่มีวันจบ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังและศึกษารุ่นหลังๆ จะมีแนวทางจากการฟังและการศึกษาจากผู้ที่เคยศึกษามาก่อน ซึ่งจะช่วยทำให้การศึกษาของคนรุ่นหลังก้าวไปไกลกว่า นั้นอีก แต่จะต้องศึกษาจริงๆ ฟังจริงๆ พิจารณาจริงๆ โดยจะต้องเริ่มคิดว่า ยังไม่ได้เข้าใจพระพุทธศาสนาจริงๆ ก่อน เพราะถ้าคิดว่าเข้าใจพระพุทธศาสนาแล้ว ก็คงจะไม่ศึกษาอีก ไม่ฟังอีก ไม่ค้นคว้าอีก แต่เมื่อเริ่มคิดว่ายังไม่ได้เข้าใจ หรืออาจจะเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ ผิดหรือถูกไม่ทราบ ยังไม่ได้เทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ซึ่งควรจะเป็นอย่างนั้น แทนที่จะคิดว่าเข้าใจแล้ว ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องสอบทานกับพระไตรปิฎกอีกต่อไป แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เข้าใจนั้นละเอียดพอหรือไม่ กว้างขวางถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ก็มีหนทางเดียว คือ จะต้องเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา และต้องอาศัยความเป็นผู้ละเอียดในการพิจารณาธรรมด้วย

สำหรับการศึกษาธรรมนั้นมีมาก จึงไม่สามารถกล่าวได้เพียงในเวลา ๒ ชั่วโมง หรือ ๑ วัน หรือ ๑ เดือน แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมในวันหนึ่งๆ ไม่น้อยเลย คือ ในตอนเช้า ถ้าพระองค์ทรงตื่นบรรทมก่อนเวลาบิณฑบาต ก็ได้เสด็จไปสู่สถานที่ที่บุคคลนั้นควรแก่การที่จะได้ฟังธรรม แม้เป็นพวกนิครนถ์ก็ได้ทรงสนทนาธรรมด้วย ทรงแสดงธรรมด้วย หลังจากกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงพักผ่อน เพียงเล็กน้อย และทรงแสดงธรรม แม้ในตอนเย็น แม้ในตอนค่ำ เป็นประจำตั้งแต่ ทรงตรัสรู้จนกระทั่งถึงใกล้ที่จะปรินิพพาน

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงมากมายจริงๆ ไม่มีใครกระทำกิจทาง พระศาสนาได้เทียบเท่ากับพระองค์ อย่างวันหนึ่งที่จะได้ฟังธรรม สนทนาธรรม และพิจารณาธรรม ก็อาจจะมีเพียงครึ่งชั่วโมงบ้างในตอนเช้า และตอนค่ำอีกครึ่งชั่วโมงจากการฟังรายการธรรมต่างๆ หรือบางท่านอาจจะเป็นในวันพระ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีมาก เพียงพอสำหรับชีวิตของแต่ละคนที่จะศึกษาและค้นคว้าจริงๆ เพื่อประโยชน์

สำหรับในวันนี้ เนื่องด้วยเวลาจำกัดมาก ก็ขอให้เป็นการสนทนาธรรมหรือ ตอบปัญหาธรรมเท่าที่ดิฉันสามารถจะกระทำได้

เปิด  230
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565