แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1617
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๐
ถ. คาวุต เป็นอย่างไร
สุ. ต้องถามผู้รู้บาลี คงเป็นจำนวน ระยะทาง
ถ. ตลอดระยะทาง ๑ คาวุต ได้รับคำบริภาษก็ไม่ได้โต้ตอบ และจิตใจ ก็เบิกบานด้วยขันติ
สุ. เพราะขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด
ถ. ความอดทนเป็นภาระ ภาระในที่นี้คงจะเป็นหน้าที่ ไม่ใช่ภาระที่หนัก คือ พยัญชนะทำให้คิดว่าต้องไปรับภาระ ความจริงหน้าที่ของท่านตอนนั้น ต้องอดทน ไม่ขุ่นข้องหมองใจ จิตใจเบิกบาน เป็นโสภณ ผมเข้าใจอย่างนั้น
สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่อดกลั้น แต่ต้องเป็นกุศลด้วย เป็นผู้ที่มีใจเบิกบานไม่เดือดร้อน
ถ. ที่ว่าการเห็นสมณะเป็นมงคล ทำไมแค่เห็นสมณะเป็นมงคล อาจารย์ช่วยขยายความด้วย
สุ. สำหรับผู้ที่จิตไม่สงบ จะเห็นลักษณะของความสงบได้ไหม จะรู้ธรรม ที่ต่างกันของผู้ที่สงบกับผู้ที่ไม่สงบได้ไหม
เพราะฉะนั้น คนที่โกรธจะรู้จักจิตใจของคนที่ไม่โกรธได้ไหมว่า เพราะอะไรเขาจึงไม่โกรธ ทำไมเขาสงบจากความโกรธได้ ดูเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์จริงๆ เพราะว่า ตัวบุคคลนั้นยังเป็นผู้ที่โกรธอยู่ เมื่อยังเป็นผู้ที่โกรธอยู่ ก็มองไม่เห็นประโยชน์เลยว่า ทำไมจะต้องไม่โกรธในเมื่อคนอื่นไม่ดี นี่เป็นมนสิการของคนที่ยังโกรธ
ที่ว่าไม่เห็นสมณะ คือ ไม่เห็นสภาพของผู้ที่สงบจากความโกรธ เพราะว่าตนเองยังไม่สงบจากความโกรธ ยังไม่สงบจากโลภะ ยังไม่สงบจากโทสะ ยังไม่สงบจากโมหะ จึงคาดไม่ถึงเลยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร หรือว่าควรจะเป็นอย่างนั้น ได้อย่างไร ในเมื่อตนเองยังมีฉันทะที่จะมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ ยังมากด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ใช่ผู้ที่อดทนจริงๆ ในการฟังพระธรรม ในการพิจารณาพระธรรม ในการเห็นประโยชน์ของพระธรรม ในการน้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมจนปัญญาเจริญขึ้น ย่อมไม่สามารถเห็น สภาพความสงบของผู้ที่สงบแล้วจากโลภะ โทสะ โมหะได้
สำหรับลักษณะของขันติ ความอดทน คือ ความอดกลั้นเป็นลักษณะ ชื่อว่า อธิวาสนขันติ ซึ่งเป็นความอดทน ความอดกลั้น ต่อความยากลำบาก ความหนาว ความร้อน รวมทั้งคำว่าร้ายของบุคคลอื่น และจะต้องรู้ว่า การอดทนต่อความหนาว ความร้อนนั้น ไม่ใช่ดุจพวกสมณะเปลือย
นี่เป็นความละเอียด มิฉะนั้นจะเข้าใจผิดว่า พวกชีเปลือยต่างๆ นั้น คงจะต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อความหนาว อดทนต่อความร้อนมาก แต่ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นความอดทน ที่เป็นอธิวาสนขันติ ซึ่งอดทนต่อความหนาว ความร้อน อดทนต่อคำกล่าวชั่วของคนอื่นนั้น ต้องเป็นกุศล เพราะไม่ว่าจะหนาวมากหรือร้อนมาก ปัญญาก็ยังเกิดได้ เช่น ในขณะที่หนาวมาก บางท่านพิจารณาว่า ยังน้อยกว่าโลกันตนรก เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะระงับ ความกระวนกระวายได้ เมื่อเทียบถึงโลกันตนรกซึ่งหนาวเย็นจนสุดที่จะทนได้ทีเดียว เพราะฉะนั้น ความหนาวในโลกมนุษย์จะมากสักเท่าไร ถ้ามีการคิดพิจารณาว่า ยังน้อยกว่าโลกันตนรก ก็จะทำให้คลายความไม่อดกลั้นลงไปได้
และถ้าร้อนมาก สติก็ยังสามารถเกิดพิจารณารู้ได้ว่า ยังน้อยกว่าอเวจีมหานรก ซึ่งทุกคนจะไปถึงเมื่อไร วันไหน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น ถ้ายังไม่เป็น พระอริยบุคคล ไม่ว่าจะทำกุศลมามากสักเท่าไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ใช่ พระอริยบุคคล ก็ยังต้องไปพบความร้อนในอเวจีมหานรกได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคิด ไปถึงอย่างนี้ ยังอยู่ในโลกมนุษย์ แม้ว่าจะร้อน ร้อนมากขึ้นสักเท่าไรก็ตาม ก็ยัง น้อยกว่าอเวจีมหานรก จึงพอจะทำให้อดทนได้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เกิดวจีวิญญัติ ที่ทำให้เกิดการบ่น แม้เพียงคำสองคำก็จะรู้สภาพของจิตได้ว่า ขณะนั้นไม่อดทน และเป็นโทสมูลจิตแล้ว
เวลาที่ไม่ได้อาหารหรือน้ำดื่ม ๒ - ๓ วาระ ก็ยังเกิดสติที่จะพิจารณาถึงการเกิดในปิตติวิสัย คือ ยังทุกข์น้อยกว่าในชาติที่เคยเกิดเป็นเปรต ลืมไปหมดแล้วก็จริง แต่จะยังไปสู่ภพภูมินั้นได้ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยะ เพราะฉะนั้น ถ้าหิวหรือกระหายน้ำวาระหนึ่งหรือสองวาระ ก็พอจะทนได้โดยไม่บ่น จิตใจก็ยังเบิกบาน หมายความว่าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งจะเป็นหนทางทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ไม่ต้องไปเกิดเป็นเปรตอีกต่อไป
ให้ทราบ ให้เห็นภัยว่า ขณะที่หิวก็อาจจะทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของ สภาพธรรม เพราะรู้ว่าถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เจริญขึ้น อาจจะไปเกิดเป็นเปรต หิวกระหายมากยิ่งกว่าการไม่ได้อาหารหรือน้ำดื่มเพียง ๒ – ๓ วาระ
เวลาที่ถูกเหลือบ ยุง ลม แดดกระทบสัมผัส ควรพิจารณาถึงชาติที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่มีเสื้อผ้าป้องกัน ไม่มีบ้าน ไม่มีมุ้งม่าน ที่อยู่อาศัย ซึ่งก็มองเห็น อยู่ว่าจะลำบากสักแค่ไหน แต่ในเมื่อทุกคนเกิดเป็นมนุษย์ มีบ้านที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่จะป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดดที่กระทบสัมผัสร่างกายได้ เพราะฉะนั้น บางกาลที่มีเหลือบบ้าง ยุงบ้าง แดดบ้าง ลมบ้างกระทบสัมผัส ก็ควรระลึกถึงชาติ ที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สำหรับจะป้องกันสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่อดทนได้มากขึ้น
และเวลาที่ถูกสัตว์เลื้อยคลานกระทบสัมผัส ก็พิจารณาถึงชาติที่เคยกลิ้งเกลือกอยู่ในปากสัตว์ร้ายมีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น
นี่คือการเห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ว่า ถ้ายังทนภัยเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ไม่ได้ ตราบใด ก็ต้องผจญกับภัยที่ใหญ่กว่านี้แน่นอนในทุคติภูมิ
เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กุศลจิตจะเกิด ก็ย่อมมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ขั้นที่ระลึกได้ และขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน
สำหรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ บางท่านก็อาจจะบอกว่าท่านทนได้ ทนได้ทุกอย่าง หนาวทนได้ ร้อนทนได้ หิวทนได้ เหลือบ ยุง ลม แดดทนได้ สัตว์เลื้อยคลานทนได้ แต่ทนคำหยาบของบุคคลอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะของผู้ที่เลวกว่า
ก็เป็นเรื่องของจิตใจที่ละเอียดของแต่ละคน บางท่านก็ทนคำของผู้ที่สูงกว่า ประเสริฐกว่าได้ แต่ทนคำของผู้ที่เลวกว่าไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่กุศลจะเจริญขึ้นๆ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมโดยละเอียดขึ้น ตามที่ สรภังคดาบส กล่าวว่า
บุคคลพึงอดทนถ้อยคำของผู้สูงกว่าได้เพราะความกลัวแล อนึ่ง พึงอดทนถ้อยคำของผู้เสมอกันได้เพราะเหตุแห่งความแข่งดีกัน ส่วนผู้ใดในโลกนี้พึงอดทนถ้อยคำของผู้เลวได้ สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนนั้นของบุคคลนั้นว่า สูงสุด
เคยพิจารณาความอดทนต่อวาจาหยาบของคนอื่นไหมว่า ทนได้เพราะอะไร ทนได้เพราะว่าผู้นั้นสูงกว่า มีกิจหน้าที่การงานดีกว่า เหนือกว่า หรือทนเพราะอะไร หรือทนผู้ที่เสมอกันได้ แต่ทนผู้ที่เลวกว่าไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะรู้ว่า ถ้าทนจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นใคร ทนได้ทั้งหมด นั่นคือสติที่ระลึกได้พร้อมกับปัญญา
มังคลัตถทีปนี ข้อ ๔๓๐ ใน พราหมณสังยุต มีข้อความว่า
พราหมณ์ภารทวาชะพี่น้องชาย ๔ คน โกรธพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าวคำล่วงเกินพระผู้มีพระภาคโดยประการต่างๆ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านเหล่านั้นก็เกิดศรัทธาและอุปสมบท ในเวลาไม่นานก็ได้บรรลุอรหันต์
พวกพระภิกษุทั้งหลายก็พากันพูดว่า
พระพุทธคุณน่าอัศจรรย์หนอ ก็พระผู้มีพระภาคแม้ถูกพราหมณ์เหล่านั้นล่วงเกินแล้ว มิได้ตรัสคำอะไรเลย กลับเป็นที่พึ่งพิงแก่พวกเขาเหล่านั้นเสียอีก
พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย เรา เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือขันติ ไม่ประทุษร้ายในบุคคลผู้ประทุษร้าย จึงเป็นผู้พึ่งพิงของมหาชนโดยแท้
ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถานี้ในพราหมณวรรคธรรมบทว่า
ผู้ใดไม่ประทุษร้ายบุคคลผู้ด่า ผู้ประหารและจองจำ ย่อมอดกลั้นไว้ได้ เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีกำลังคือขันติ มีหมู่พลคือขันติ ว่า เป็นพราหมณ์
พลในที่นี้ คือ กองพล หรือกองทัพ มีกองทัพ คือ ขันติ คิดดู เป็นผู้ที่ ไม่หวั่นไหว ไม่ประทุษร้ายบุคคลผู้ด่า ผู้ประหารและจองจำ ย่อมอดกลั้นไว้ได้ เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีกำลังคือขันติ มีหมู่พลคือขันติ ว่า เป็นพราหมณ์
ท่านผู้ฟังมีกองทัพอะไรในตัวบ้าง มีกองทัพโทสะ มีกองทัพโลภะ แต่สำหรับ ผู้ที่มีปัญญา มีความอดทนเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สะสมไป อีกไม่นานเลย ผู้นั้นก็จะมีกองทัพของขันติ เพราะว่าเกิดขึ้นบ่อยๆ ถ้าเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวก็ยัง ไม่ชื่อว่ากองพล ยังไม่ชื่อว่ากองทัพ เพราะยังมีจำนวนน้อยอยู่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกอบรมจริงๆ ในวันหนึ่งจะต้องมีกองพลของขันติได้
เพราะฉะนั้น ก็น่าพิจารณาว่า จะเป็นโมฆบุรุษ หรือจะเป็นบัณฑิต จะเป็นผู้ว่าง่ายเดี๋ยวนี้ หรือว่ารอไปๆ และเมื่อไรจะเป็น หรือไม่มีโอกาสที่จะเป็นเลย เพราะในขณะที่รอนั้น อกุศลทั้งหลายก็เพิ่มพูนขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
... แม้พระผู้มีพระภาค มีพระประสงค์จะแสดงโทษของความไม่อดทน แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ทรงประกอบไว้ในความอดทน เมื่อตรัสเรื่องหญิงเจ้าเรือนชื่อ เวเทหิกาแล้ว จึงตรัสอีกว่า
อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเป็นผู้เสงี่ยมเจียมตัว ถ่อมตัวนักถ่อมตัวหนา สงบระงับ ตลอดเวลาที่ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจยัง ไม่กระทบเขา ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแลถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจกระทบภิกษุ ในกาลนั้นอันท่านทั้งหลายพึงทราบว่าภิกษุเป็นผู้สงบเสงี่ยม พึงทราบว่าเป็นผู้ถ่อมตัว พึงทราบว่าเป็นผู้สงบ
น่าพิสูจน์ไหม หรืออยากจะขอให้ใครมาพิสูจน์ตัวท่าน โดยลองกล่าวคำร้ายๆ กับท่าน เพื่อท่านจะได้รู้ว่า ท่านสามารถจะอดกลั้นหรือสามารถจะอดทนได้ไหม เพราะว่าบางคนนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ย่อมเป็นผู้เสงี่ยมเจียมตัว ถ่อมตัวนักถ่อมตัวหนา สงบระงับ ตลอดเวลาที่ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจยังไม่กระทบเขา
เพราะฉะนั้น นี่เป็นบทพิสูจน์สำหรับแต่ละท่านที่เมื่อมีคำที่ไม่พอใจกระทบ ก็จะได้ทราบว่า ท่านยังเป็นผู้ที่เสงี่ยมเจียมตัว ถ่อมตัวนัก ถ่อมตัวหนา เป็นผู้ที่ สงบระงับอยู่หรือเปล่า
ยาก แต่นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อเกื้อกูลตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งกว่าจะได้ทรงแสดง ต้องบำเพ็ญพระบารมีที่จะประสูติและทรงแสวงหาทางที่จะได้ทรงตรัสรู้หนทางที่จะทรงสามารถแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อเกื้อกูล พุทธบริษัทให้เห็นประโยชน์ของกุศล และให้เห็นโทษของอกุศล
ไม่ทราบว่าพร้อมที่จะเป็นผู้ว่าง่ายหรือยัง เมื่อคิดถึงพระมหากรุณาคุณ
สำหรับเรื่องของการเป็นผู้ว่าง่าย เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่า การ ที่จะเป็นผู้ว่าง่ายนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งข้อความใน มังคลัตถทีปนี มีโดยละเอียดในเรื่อง ของความเป็นผู้ว่าง่าย เริ่มตั้งแต่แม้ในเรื่องของการขัดคอ นี่คือความละเอียดของชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะเป็นผู้ว่าง่าย หรือผู้ว่ายาก
ข้อความมีว่า
ผู้ถือแผกไปจากการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ กรรมอันเป็นข้าศึกต่อ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นนั่นแล คือ ความปฏิบัติชั่ว เป็นที่พอใจ เป็นที่ปรารถนาของบุคคลนั้น เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่ามีความยินดีในการขัดคอ
เรื่องเล็กไหม เรื่องขัดคอ ดูเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งดูเหมือนว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็น่าจะขัดคอได้ แต่ตามความเป็นจริง ขอให้พิจารณาถึงใจของคนที่ ขัดคอ ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุผลและต้องการที่จะแสดงเหตุผล ก็รอกาลที่สมควร ทั้งกาล ทั้งสถานที่ ทั้งบุคคล เพื่อจะได้ชี้แจงด้วยความเมตตาที่จะให้บุคคลนั้นได้พิจารณา ในเหตุในผล อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่าเป็นการขัดคอ
แต่บุคคลใดก็ตามที่ชอบขัดคอและกล่าวว่าคนอื่นพูดผิด ไม่ฟังคำของคนอื่นเลย หรือถึงแม้จะฟัง ก็ไม่พิจารณา แต่คัดค้านทันทีว่า คนอื่นผิด ตนเองถูก แม้ในการกล่าวธรรม ก็เป็นผู้ที่ ถือแผกไปจากการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ เป็นเครื่องส่องไปถึงจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องพิจารณาในเหตุในผลจริงๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
ในบุคคลผู้ยินดีในการขัดคอนั้น ก็บุคคลผู้เป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้เว้นจาก ความเอื้อเฟื้อและความเคารพในระเบียบแห่งศาสนาอันเป็นโอวาท และในผู้สั่งสอน เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ
คือ ไม่ใช่ผู้ที่ใจกว้าง ที่คิดจะทำประโยชน์แก่บุคคลอื่น เพียงแต่เป็นผู้ต้องการ ที่จะถูก และไม่ต้องการให้บุคคลอื่นถูก
สองบทว่า ตัสสะ กัมมัง ความว่า เจตนาอันเป็นไปด้วยอำนาจความ ไม่เอื้อเฟื้อของบุคคลผู้ว่ายากนี้ ชื่อว่าโทวจัสสัง
สองบทว่า ตัสสะ ภาโว คือ ความมีกรรมของบุคคลผู้ว่ายากตามที่กล่าว แล้วนั้น ชื่อว่าโทวจัสสตา เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า ความเป็นผู้ ว่ายากนั้น โดยเนื้อความก็คือสังขารขันธ์ ก็ท่านกล่าวอย่างนั้น เพราะความที่ สังขารขันธ์มีเจตนาเป็นประธาน
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องของการเป็นผู้ว่ายาก การเป็นผู้ว่าง่าย หรือการขัดคอ ก็เป็นสังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นประธาน
ทั้งหมดนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อใคร สำหรับใคร ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ จริงๆ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณา ก็จะเกื้อกูลแก่ผู้ที่อาจจะเข้าใจในความละเอียดและเห็นประโยชน์ของธรรมที่ละเอียดได้