แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1630
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๐
อุเบกขาที่ ๒ ในอุเบกขา ๑๐ คือ พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสภณจิต เป็นสภาพที่วางตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย
บางคนสะสมความเป็นกลางตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น ตัตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ไม่จำกัดวัยว่าจะต้องเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะบางคนก็เป็นกลางและเป็นคนที่ยุติธรรมมากแม้ว่ายังเป็นเด็กอยู่
ลูกชายของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งท่านผู้นั้นก็เอาเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงด้วย และเวลาที่ มีอาหารที่รู้สึกว่าไม่ค่อยมีรสอร่อยเพราะเก็บไว้นานหรือรสชาติไม่ดี ก็ให้ลูกที่เอามาเลี้ยงรับประทาน แต่ลูกจริงๆ ของคนนั้นกล่าวกับคุณแม่ว่า ทีลูกของตัวไม่ให้รับประทาน แต่ให้เด็กอื่นรับประทาน
คิดดูถึงความยุติธรรมของเด็กคนนั้นว่า เข้าใจถึงจิตใจของแม่ว่าเป็นกลาง หรือเปล่าในขณะที่อาหารไม่อร่อยไม่ให้ลูกของตัวเองรับประทาน แต่ให้ลูกคนอื่นรับประทาน ทำให้ผู้เป็นมารดาเกิดระลึกได้ถึงความไม่เป็นกลาง
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตทุกอย่าง เป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่ตรง สะสมตัตรมัชฌัตตตามาแล้ว มีความเป็นกลาง ไม่ว่าตัวเองหรือบุคคลอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นลูก และเป็นผู้ที่จะได้รับประทานอาหารอร่อย ส่วนอีก คนหนึ่งเป็นเด็กที่เอามาเลี้ยงไม่ใช่ลูกจริงๆ ได้รับประทานอาหารที่ไม่อร่อย ผู้ที่เป็น ลูกจริงๆ นั้นก็ถึงกับกล่าวกับคุณแม่ว่า ทำไมลูกของตัวไม่ให้รับประทานอาหารที่รสชาติไม่อร่อย แต่ให้ลูกคนอื่นรับประทาน
นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้เห็นประโยชน์ของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งจะสะสม สืบต่อไป ทำให้เป็นผู้ที่เจริญกุศล โดยการเป็นผู้ที่เป็นกลางจริงๆ แม้ตนเองเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็ยังคิดถึงคนอื่นว่า ทำไมคนอื่นไม่ได้ประโยชน์อย่างนั้นด้วย ซึ่งก็ยากที่เด็กในวัยนั้นจะคิด เพราะโดยมากทุกคนมักจะเห็นแก่ตัว ถ้าได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วก็ไม่คำนึงถึงคนอื่น หรือถ้าตนเองได้สิ่งที่ดีแล้ว คนอื่นได้สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นผู้ที่เป็นกลางจริงๆ จะเห็นว่า ความเป็นธรรมนั้น ควรจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะ เป็นลูกเขาหรือลูกเราก็ควรที่จะเหมือนกัน นั่นคือสภาพของอุเบกขาพรหมวิหาร
อุเบกขาที่ ๓ ในอุเบกขา ๑๐ คือ โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อข้อปฏิบัติที่ตรง ด้วยตัตรมัชฌัตตตาตั้งแต่ต้น เพราะต้องเป็นการพิจารณาข้อปฏิบัติโดยรอบคอบจริงๆ ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน โดยรอบคอบ จะไม่ทราบเลยว่า ความต้องการผลอย่างรวดเร็ว โลภะจะทำให้ข้อปฏิบัตินั้นเพี้ยนไปหรือว่าเขวไป ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องการให้เกิดสติมากสักเท่าไร พยายามหาทางอื่นอีก สักเท่าไร ก็ต้องคิดว่า ถ้าเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตามพระไตรปิฎกแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น ถ้าตราบใดยังไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แสดงว่าไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาจะต้องตรงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น และค่อยๆ เพิ่มความรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน จนสามารถที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ เป็นปกติอย่างนี้ นามธรรมที่เกิด เกิดเพราะเหตุปัจจัย รูปธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดเพราะเหตุปัจจัย สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นี่เป็นหนทางเดียว ไม่ใช่ไปพยายามทำอย่างอื่นขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ปกติ
ขอให้พิจารณาจริงๆ และต้องระลึกอยู่เสมอว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐานเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วโลภะจะทำให้คลาดเคลื่อน อยากจะให้มีวิธีการ อย่างนั้นอย่างนี้บ้าง และถ้าเป็นวิธีหนึ่งวิธีใดที่ไม่ใช่การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้สภาพธรรมทั่วไม่ได้ เพราะถ้ารู้ทั่ว ต้องเป็นในขณะนี้ ไม่ใช่เป็นการไปทำอย่างอื่นขึ้นมา เพราะว่าสติระลึกได้ทันทีตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งต้องเกิดตั้งแต่การพิจารณาข้อปฏิบัติให้ตรง ให้ถูกต้อง และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ ศึกษาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาตามปกติ ทางหูตามปกติ ทางจมูกตามปกติ ทางลิ้นตามปกติ ทางกายตามปกติ ทางใจตามปกติ จนคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ว่าจะยาก แต่ก็เป็นของจริง ถ้าไม่ใช่ของจริง ปัญญาไม่สามารถละกิเลสได้เลย เพราะขณะนั้นแม้โลภะเกิด ที่จะให้ทำอย่างอื่นก็ไม่รู้ เข้าใจว่าขณะนั้นสติเกิดมาก แต่ถ้าไม่ใช่สัมมาสติใน มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง
มีใครคิดหาทางที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ มากๆ บ้างไหม
และขณะที่คิด นั่นไม่ใช่ขณะที่ระลึกทันที เพราะฉะนั้น ก็ผ่านไปอีกแล้ว เลยสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ และหลงติดในความคิดที่ว่ามีหนทางอื่น ไม่ใช่การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นหนทางเดียว
เมื่อปัญญาค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญขึ้น จะเป็นโพชฌังคุเปกขา คือ เป็นอุเบกขาที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ว่า มีอุเบกขาชนิดไหน
ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาที่ ๑ ไม่มี
อุเบกขาที่ ๒ พรหมวิหารุเปกขา จะต้องพิจารณาด้วย ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ สำหรับการที่จะเจริญพรหมวิหารุเปกขา
อุเบกขาที่ ๓ โพชฌังคุเปกขา แต่ถ้าปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นที่จะเป็นองค์ของการตรัสรู้อริยสัจธรรม ตัตรมัชฌัตตตานั้นก็ยังไม่เป็นโพชฌังคุเปกขา
สำหรับโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์ของการตรัสรู้มี ๗ คือ
สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ สติเจตสิก
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก
วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ วิริยเจตสิก
ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปีติเจตสิก
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิก
สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก
อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
จะเห็นได้ว่า เป็นธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ อบรมขึ้น แม้แต่สติสัมโพชฌงค์ ก็จะต้องเกิดขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในขณะนี้ จนกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่ศึกษารู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมค่อยๆ เพิ่มขึ้น ชินขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีความเข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ
วิริยะที่เกิดร่วมกับสติและปัญญานั้น ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์
และในขณะที่มีสติและปัญญาและวิริยะอย่างนั้น จะมีปีติสัมโพชฌงค์เกิด ร่วมด้วย เป็นสภาพของกุศลจิตที่ผ่องใสที่ปีติในปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งละเอียดและยากที่จะรู้ได้ และไม่เคยรู้มาก่อน แต่โดยอาศัยการที่สติเจริญขึ้น ปัญญาพิจารณาทั่วขึ้นละเอียดขึ้น วิริยะที่เกิดร่วมด้วยก็เกิดขึ้น ในการพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ปีติสัมโพชฌงค์เกิดร่วมกัน พร้อมกับปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิกที่จะกล่าวถึงต่อไป
ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีสภาพของความสงบจากอกุศล ซึ่งได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิกนั่นเอง เพราะการที่สภาพธรรมแต่ละขณะจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แม้แต่จิตขณะเดียวที่จะเป็นกุศลก็ต้องอาศัยเจตสิกหลายประเภท แต่เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและดับไป และสติไม่ได้ระลึก จึงไม่สามารถพิจารณา วิจัยลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะที่กำลังเป็นกุศลนั้นได้ แต่ภายหลังอาจจะสังเกตลักษณะของปัสสัทธิซึ่งเป็นสภาพที่สงบของจิตได้
เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกนั้น ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ และตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุต ภิกขุสูตร ข้อ ๓๙๐ – ข้อ ๓๙๓ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะเรียกว่า โพชฌงค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้
ดูกร ภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ
ทั้งหมดนั้นเป็นไวพจน์ คือ ชื่อของพระนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นวิเวก วิราคะ นิโรธ อาศัยการอบรมเจริญปัญญาเพื่อการดับกิเลสทำให้โพชฌงค์เหล่านี้เกิดขึ้น
ข้อต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (คือ ทั้งสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์) อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ
เมื่อภิกษุนั้นเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกร ภิกษุ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้ ฉะนี้แล
จบ สูตรที่ ๕
ข้อความในพระสูตรสั้นมาก รู้สึกว่าถ้าไม่พิจารณาก็จะเจริญสัมโพชฌงค์กันเลย เพราะถ้าไม่เจริญไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สัมโพชฌงค์ ต้องมาจากการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้จึงจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนถึงขั้นที่เป็นองค์ของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
การศึกษาธรรมต้องละเอียดรอบคอบ และต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เข้าใจพระธรรมผิดคลาดเคลื่อน ถ้าเพียงแต่จะอ่านเฉพาะข้อความบางตอน แม้แต่ในเรื่องของโพชฌังคุเปกขาที่ได้กล่าวถึงแล้ว
อุปวาณสูตร ข้อ ๔๐๓ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุปวาณะและท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็นแล้ว เข้าไปหาท่านพระอุปวาณะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุปวาณะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุปวาณะว่า
ท่านพระอุปวาณะผู้มีอายุ ภิกษุจะพึงรู้หรือไม่ว่า โพชฌงค์ ๗ อันเราปรารภ ดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความ อยู่เป็นผาสุก
ท่านพระอุปวาณะตอบว่า
ท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ ภิกษุพึงรู้ได้ว่า โพชฌงค์ ๗ อันเราปรารภดีแล้ว อย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความ อยู่เป็นผาสุก
แม้แต่ข้อความเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ก็น่าที่จะพิจารณาว่า การอบรมเจริญปัญญาจะต้องปฏิบัติด้วยความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าทำไปโดยวิธีหนึ่งวิธีใด และไม่รู้ นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น แม้แต่ท่านพระสารีบุตร ท่านก็ได้กล่าวคำถามแม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้กับท่านพระอุปวาณะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังรุ่นหลังที่จะได้พิจารณาคำของท่านพระสาวก ทั้งสอง เพื่อจะได้รู้ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ท่านผู้มีอายุ ภิกษุปรารภสติสัมโพชฌงค์ย่อมรู้ได้หรือว่า จิตของเราหลุดพ้น ดีแล้ว ถีนมิทธะเราถอนเสียแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะเรากำจัดได้แล้ว ความเพียรเราปรารภแล้ว เรากระทำไว้ในใจโดยมิได้ย่อหย่อน
ข้อความต่อไปก็ต่อไปถึงสัมโพชฌงค์ข้ออื่นๆ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งท่านพระอุปวาณะก็กล่าวตอบว่า
ท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ ภิกษุพึงรู้ได้อย่างนี้แลว่า โพชฌงค์อันเราปรารภ ดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความ อยู่เป็นผาสุก
เวลาที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นปลอดโปร่งจากกิเลสทั้งหลายที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญจนกระทั่งสามารถ ที่จะเป็นโพชฌงค์ รู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
การที่จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตน พิจารณาถึงชีวิตประจำวัน ที่นานๆ ครั้งสติจะเกิด และขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ช่วงขณะที่สติเกิด แต่ละครั้งย่อมห่างไกลกัน โดยมีการหลงลืมสติคั่นอยู่ ซึ่งช่วงขณะที่หลงลืมสตินั้นยึดถือว่าเป็นตัวตนตลอด เพราะฉะนั้น ช่วงขณะที่หลงลืมสติที่ยังยึดถือว่าเป็นตัวตนจะมากสักแค่ไหน และบางขณะสติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลัง ปรากฏบ้างเพียงเล็กน้อย เพียงระยะสั้นๆ กว่าจะทั่ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เวลาอ่านหนังสือมีรูปภาพประกอบและมีเรื่องราวต่างๆ กับเวลาที่เห็นสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่ได้อ่านหนังสือ เมื่อไรจะเหมือนกันที่ว่า ในขณะที่อ่านหนังสือ เห็น และเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย นานาประเทศ นานาข่าว นานาสารคดี เป็นเรื่องมากมาย กับเวลาที่เห็นโดยที่ไม่ได้อ่าน ก็มีเรื่องมากมาย เรื่องของบุคคลนั้นบุคคลนี้ การคิดนึก ธุรกิจการงานต่างๆ ซึ่งก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ เพราะเวลาอ่านหนังสือ เห็น และก็นึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ฉันใด แทนที่จะเห็นตัวหนังสือ ก็เห็นเป็นตัวคนต่างๆ กำลังทำกิจการงานต่างๆ และเป็นใจที่คิดนึกเรื่องของบุคคลที่กำลังทำกิจการงานต่างๆ ในขณะนั้นก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ แต่เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ที่จะรู้ว่า เห็น เป็นชั่วขณะหนึ่ง และก็คิดนึก ไม่ว่าจะจากเรื่องในหนังสือที่อ่าน หรือจากสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยไม่ใช่หนังสือที่อ่านก็เหมือนกัน คือ เป็นการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นสมมติ เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราว
คำถามหนึ่งที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถาม คือ เวลาเห็นคนเคลื่อนไหว ทำกิจการงานหรือเล่นฟุตบอล ขณะนั้นการรู้อย่างนั้นเป็นอะไร คือ เข้าใจว่า ไม่ใช่การคิดนึก แต่ความจริง ถ้าเห็นรูปภูเขา ก็คิดถึงภูเขา ถ้าเห็นรูปต้นไม้ ก็คิดถึงต้นไม้ ถ้าเห็นรูปสัตว์ ก็คิดถึงสัตว์
รูปเขียน ภาพภูเขานึกถึงภูเขา ภาพต้นไม้นึกถึงต้นไม้ ภาพสัตว์นึกถึงสัตว์ ฉันใด เวลาที่ไม่ใช่ภาพเขียน แต่เป็นการเห็นทางตา ก็เหมือนกับภาพเขียนเช่นกัน ที่จะรู้ว่า เห็นเป็นขณะหนึ่ง และคิดถึงสิ่งที่เห็นโดยรูปร่างสัณฐานต่างๆ เป็นอีกขณะหนึ่ง เป็นโลกของความคิด เป็นโลกของสมมติบัญญัติ ซึ่งจะต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย คนตายไม่เห็นอะไร ไม่เห็นการเคลื่อนไหวใดๆ ไม่มีการคิดนึกเรื่องบุคคลนั้นบุคคลนี้กำลังเคลื่อนไหวเลย นั่นคือคนตายซึ่งไม่มีนามธรรม
คนเป็นที่ยังไม่ตาย เห็นทุกขณะ ไม่ว่าจะเห็นเป็นคนนั้นคนนี้กำลังเคลื่อนไหว ขณะนั้นคือนามธรรมนั่นเอง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งกว่าปัญญาจะเจริญจนกระทั่งละการยึดถือทุกขณะ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด คิดเรื่องอะไร ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม ที่กำลังคิดนึกเรื่องนั้นเท่านั้น ซึ่งคนตายไม่เห็นและไม่รู้ ไม่ได้คิดตามว่า มีคนกำลังเดินเล่น หรือกำลังทำกิจธุรการงานต่างๆ
เพราะฉะนั้น นามธรรมในวันหนึ่งๆ ซึ่งคนตายไม่เห็น ไม่รู้ ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกเลย มีมากเท่าไร ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้ที่เจริญปัญญาจะต้องรู้ความจริงว่า ทั้งหมดทุกขณะนั้น คือ นามธรรมเท่านั้น
นี่คือการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องทั่วจริงๆ เพราะช่วงที่สติไม่เกิด ก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น จะต้องเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ทั่วหมดว่า ไม่ใช่ตัวตน โดยสติจะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ และทั่วจริงๆ ทั้ง ๖ ทาง
ชีวิตในขณะนี้ทุกขณะ ถ้าสติระลึกก็รู้ว่า เป็นนามธรรมที่เห็น ที่คิด และส่วนที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรม นี่เป็นเหตุที่จะต้องมีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละ การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล