แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1622

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


ข้อความใน สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๓ เป็นความละเอียดเพิ่มขึ้นในการที่ พระธรรมจะเสื่อมสูญและไม่เสื่อมสูญ

ข้อ ๑๕๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อย่างคำถามของท่านผู้ฟังทั้ง ๒ ท่านที่ว่า เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วจะเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด แสดงให้เห็นว่า ถ้า ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ ทรงจำไว้ไม่ดี คือ ไม่ได้ทรงจำไว้โดยถูกต้อง แต่ทรงจำไว้คลาดเคลื่อน ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความ มีนัยไม่ดี

ที่จะรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังดีหรือไม่ดี ทั้งบททั้งพยัญชนะ ก็โดยการที่ว่า ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ก็หมายความว่าสิ่งที่ทรงจำไว้นั้นไม่ถูกต้อง แม้แต่การบกพร่องด้วยพยัญชนะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณา

แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตคนหนึ่งคนใดที่จะไปตรวจสอบดูอักขระ บท และพยัญชนะของพระไตรปิฎกทั้งหมดตั้งแต่ต้นโดยตลอดได้ เพราะว่าความสามารถของบุคคลในรุ่นนี้กับความสามารถของบุคคลในรุ่นก่อนก็ต่างกัน แต่ เป็นข้อเตือนใจว่า ไม่ว่าใครจะอ้างว่าเป็นข้อความที่มาจากพระสูตร หรือมาจากพระไตรปิฎกส่วนใดก็ตาม ย่อมพิสูจน์ได้ว่าสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ได้ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ประชุมชนเหล่านั้นก็เป็น ผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ต้องอาศัยหลายอย่างหลายประการที่จะทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ ซึ่งถ้าขาดธรรมที่จะทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ ย่อมทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญ

ประการที่ ๕ คือ

อีกประการหนึ่ง สงฆ์เป็นผู้แตกกัน เมื่อสงฆ์แตกกันย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมไม่เลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเหินห่าง นี้เป็นธรรม ข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ทุกท่านคงจะพิจารณาได้ว่า ยุคนี้สมัยนี้จะเป็นยุคที่พระสัทธรรมเจริญรุ่งเรือง หรือเป็นยุคสมัยที่พระสัทธรรมกำลังค่อยๆ เสื่อมลง พิสูจน์จากแต่ละบุคคล แต่ละท่าน และแต่ละกลุ่มของบุคคลด้วย

ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาจาก ๕ ประการหลัง ผมว่าพระสัทธรรมนี้เสื่อมแน่ เล่าเรียนและทรงจำไว้ไม่ถูกต้องก็มาก เป็นผู้ว่ายากก็มาก ประกอบด้วยธรรมเป็นผู้ว่ายาก ก็มาก และพหูสูตผมว่าไม่มี เป็นพหูสูตแล้วไม่บอกต่อ มักมาก เป็นหัวหน้า ล่วงละเมิด ประพฤติย่อหย่อน สรุปแล้วทั้ง ๕ ประการ ผมว่ายุคนี้ใกล้เข้าไปทุกที

สุ. เพราะฉะนั้น ทุกท่านช่วยตัวเอง เป็นยุคสมัยที่ต้องพิจารณาธรรม และเป็นผู้ที่ว่าง่าย เป็นผู้อดทนที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อให้พ้นจากการตกไปในทางฝ่ายอกุศล ซึ่งจะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญเร็วยิ่งขึ้น แต่ไม่มีใครสามารถแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เพราะเป็นไปตามยุคสมัย

สำหรับเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งมั่น ซึ่งตรงกันข้าม ขอกล่าวถึงโดยตลอด เพื่อที่จะได้พิจารณา และพยายามที่จะดำรงพระสัทธรรมไว้

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ย่อมเป็นเนื้อความที่มีนัยดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต เล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมบอกแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อม ไม่ขาดเค้ามูลมีหลักฐานอยู่ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระย่อมไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด เป็นหัวหน้าในทางวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง สงฆ์ย่อมเป็นผู้สมัครสมานกันดี ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเป็นอย่างเดียวกัน อยู่สบาย ก็เมื่อสงฆ์สมัครสมานกันดี ไม่มีการด่า กันและกัน ไม่บริภาษกันและกัน ไม่มีการแข่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

จบ สูตรที่ ๖

ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด เกื้อกูลและเป็นประโยชน์สืบเนื่องซึ่งกันและกัน เช่น ในมงคลสูตร มงคลคาถาที่ ๘ ที่ว่า ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ กรรม ๔ อย่างมีความอดทนเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

เริ่มตั้งแต่ความเป็นผู้อดทน ความเป็นผู้ว่าง่าย และการเห็นสมณะ เพราะถ้าเป็นผู้ที่ไม่อดทน เป็นผู้มักโกรธ ซึ่งไม่เป็นมงคลเลย จึงทำให้เป็นคนว่ายาก เมื่อเป็นผู้ว่ายากแล้ว ย่อมไม่อดทนที่จะฟังและศึกษาพระธรรมเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลส ฉะนั้น การเป็นผู้ว่ายากไม่เป็นมงคล เพราะไม่ทำให้เห็นสมณะ

แสดงให้เห็นว่า การเห็นสมณะไม่ใช่สิ่งที่เห็นง่าย และจะเห็นสมณะเมื่อไร และเห็นอะไรที่ว่าเห็นสมณะ

สมณะ คือ ผู้สงบจากกิเลส ถ้าเห็นแต่เพียงจีวร หรือไตรจีวร หรือเครื่องหมายของเพศบรรพชิต นั่นชื่อว่าเห็นสมณะหรือยัง เพราะว่าสมณะต้องเป็นผู้สงบ

สำหรับผู้ที่ครองไตรจีวรเป็นเพศสมณะ ถ้าเห็นความประพฤติของผู้ที่ครอง ไตรจีวรในเพศสมณะจะชื่อว่าเห็นสมณะไหม ซึ่งบางขณะกายวาจาดี บางขณะ กายวาจาไม่ดี ก็ยังไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบจริงๆ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้สามารถดับกิเลสได้ จึงจะเป็นผู้ที่สงบจริงๆ

การเห็นสมณะเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ง่าย จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาอบรมเจริญปัญญา รู้หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสเมื่อไร เมื่อนั้นจึงสามารถเห็นสมณะได้ ถ้าไม่รู้ข้อปฏิบัติ ที่จะทำให้เป็นสมณะ ให้กิเลสสงบ จะกล่าวว่าเห็นสมณะได้ไหม

เมื่อไม่รู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่สงบจากกิเลส ย่อมไม่สามารถเห็นสมณะได้ และย่อมไม่สามารถไปหาเพื่อที่จะเห็นสมณะด้วย

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุต สีลสูตร ข้อ ๓๗๓ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสสนะ การได้เห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การได้ฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้น ก็ดี การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี แต่ละอย่างๆ เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว ย่อมหลีกออก อยู่ด้วย ๒ วิธี คือ หลีกออกด้วยกาย ๑ หลีกออกด้วยจิต ๑ เธอหลีกออกอยู่ อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น

นี่เป็นประโยชน์จากการที่จะได้เห็นสมณะ

สำหรับในมงคลข้อที่ว่า การเห็นสมณะนั้นหมายความถึงการเห็น ๒ อย่าง คือ การเห็นด้วยจักษุ ๑ และการเห็นด้วยญาณคือเห็นด้วยปัญญา ๑ ซึ่งก่อนที่จะเห็น ด้วยญาณ จะต้องเห็นด้วยจักษุก่อน เพราะการเห็นด้วยจักษุนั้นเป็นการเกื้อกูลแก่ การเห็นด้วยญาณ เพราะเมื่อเห็นด้วยจักษุแล้วก็เป็นเหตุให้ได้ฟัง เป็นเหตุให้เข้าไปหา เป็นเหตุให้เข้าไปนั่งใกล้ เป็นเหตุให้ระลึกถึง เป็นต้น จนกระทั่งสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมได้ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติและรู้ว่าบุคคลใดปฏิบัติเช่นนั้น และการเห็นบุคคลนั้นก็เป็นมงคลอย่างสูงสุด เพราะว่าเป็นเหตุให้ได้ฟังพระธรรม เป็นเหตุให้เข้าไปนั่งใกล้ เป็นเหตุให้ระลึกถึงพระธรรมที่ได้ฟัง และน้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม

ข้อความต่อไปมีว่า

การเห็นด้วยจักษุ (การเห็นด้วยตา) คือ การแลดูพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วย จักษุอันเลื่อมใส

บางท่านไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นพระอริยบุคคล จึงไม่มีการมองดูด้วยความเลื่อมใส เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเลื่อมใสในพระอริยะได้ หมายความว่าต้องมีความ เข้าใจถูกในข้อปฏิบัติและสามารถรู้ว่าบุคคลใดปฏิบัติอย่างนั้นซึ่งจะเป็นหนทางที่ทำให้เป็นพระอริยะ จึงมองดูด้วยความเลื่อมใสได้

แม้การได้ยินด้วยหูว่า มีพระอรหันต์อยู่ในแว่นแคว้น หรือในชนบท ในนิคม ในวิหาร ในถ้ำชื่อโน้น แม้การได้ฟังอย่างนี้ ก็มีอุปการะมากเหมือนกัน

แต่ต้องเป็นความจริง ไม่ใช่การตื่นเต้นโดยไม่รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ จริงหรือไม่ ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแต่ได้ยินว่ามีพระอรหันต์ ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ที่เลื่อมใส เพราะว่ายังไม่รู้หนทางที่ทำให้เป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้ารู้หนทาง และ ได้ยินด้วยหูว่า มีพระอรหันต์อยู่ในแว่นแคว้น หรือในชนบท ในนิคม ในวิหาร ในถ้ำชื่อโน้น แม้การได้ฟังอย่างนี้ก็มีอุปการะมากเหมือนกัน เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน หรือประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ก็มีโอกาสที่จะได้ไปเฝ้า ได้ฟังธรรม ซึ่งนั่นคือมงคลอย่างสูงสุด และเมื่อรู้ว่ามีพระอริยบุคคล หรือมีพระอรหันต์อยู่ในที่ใด ผู้นั้นต้องการเห็นเพื่ออะไร

เพราะฉะนั้น การเห็น คือ การเข้าไปหาด้วยจิตเห็นปานนี้ว่า จักถวายทาน จักถามปัญหา จักฟังธรรม หรือจักทำสักการะ หรือจักทำกิจมีการรับใช้ ก็ชื่อว่า เข้าไปนั่งใกล้เหมือนกัน

ไม่ใช่เข้าไปหาเฉยๆ เพียงแต่จะไปดู แต่จะถวายทาน หรือจะถามปัญหา หรือจะฟังธรรม หรือจะทำการสักการะ หรือจะทำกิจมีการรับใช้ นี่คือประโยชน์ ที่จะได้รับ คือ กุศลนานาประการที่จะเกิดจากการเห็นพระอริยเจ้า

มังคลัตถทีปนี ข้อ ๔๕๘ มีข้อความว่า

กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์เกื้อกูล เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือนแล้ว ถ้าไทยธรรมมีอยู่ พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมตามกำลัง ถ้าไม่มี พึงทำเบญจางคประดิษฐ์ไหว้ เมื่อทำเบญจางคประดิษฐ์นั้นไม่สำเร็จ พึงประคองอัญชลีนมัสการ แม้เมื่อประคองอัญชลีนมัสการนั้นไม่สำเร็จ ควรแลดูด้วยจักษุอันเจือด้วยเมตตา อันเลื่อมใส คือ ด้วยจิตอันเลื่อมใส

บางท่านอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ว่า ขณะที่ท่านมองบุคคลอื่น หรือเห็นบุคคลอื่น แววตาเป็นอย่างไร ถ้าจิตไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใส ตาก็จะไม่ประกอบด้วย แววของความเมตตา เพราะฉะนั้น ถ้าได้เห็นผู้ที่มีศีล แม้เมื่อประคองอัญชลี นมัสการนั้นไม่สำเร็จ ควรและดูด้วยจักษุอันเจือด้วยเมตตาอันเลื่อมใส คือ ด้วยจิตอันเลื่อมใส

น่าจะเป็นอย่างนี้ไม่ว่าจะดูใครหรือเปล่า หรือเว้นก็ดีถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยจริงๆ

พระธรรมทั้งหมดเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่พิจารณาตนเอง ประโยชน์ คือ พิจารณารู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะแต่ละท่านคงจะไม่เห็นแววตาของตัวเอง แต่สามารถรู้สภาพของจิตได้ว่า ถ้าจิตขณะนั้นไม่เป็นกุศล การมองดู ลักษณะของตาหรือแววตา ที่ดูจะเปิดเผยถึงสภาพของจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ควรเป็นผู้ที่มีปกติมีเมตตา จะทำให้ไม่ว่าจะเห็นใคร ก็ดูด้วยตาอันเจือด้วยความเมตตา หรือด้วยจิตอันเลื่อมใสสำหรับท่านผู้มีศีล

มีท่านผู้หนึ่ง จากการได้ฟังธรรมคราวก่อนเรื่องของการขัดคอ ท่านเล่าให้ฟังถึงการที่ท่านได้ขัดคอไปแล้วแต่ไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งได้ฟังพระธรรมเรื่องขัดคอ ท่านจึงพิจารณาเสียงของท่านในขณะที่ท่านได้กล่าววาจาเช่นนั้นว่า เป็นการขัดคอจริงๆ

คือ มีบุคคลหนึ่งซึ่งพูดถึงการกระทำของเขาเอง และบุคคลนั้นก็เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น ก็กล่าวด้วยเสียงซึ่งขณะนั้นคงจะไม่รู้สึกตัว แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของการขัดคอแล้วก็ระลึกขึ้นได้หลังจากที่ได้ฟังแล้วว่า เสียงที่พูดนั้นช่างเป็นเสียงที่กระด้าง แม้เป็นการกล่าวคำที่ควรเช่นว่า ท่านก็ศึกษาพระวินัยแล้ว ทำไมท่านไม่เกื้อกูลต่อพระวินัย นี่เป็นคำที่ท่านผู้นั้นกล่าว แต่เมื่อระลึกถึงจิตในขณะนั้น ท่านก็รู้ว่า เสียงในขณะนั้นต้องเป็นเสียงที่กระด้าง เพราะขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เมตตา และเป็นการขัดคอการกระทำของบุคคลนั้นทันทีที่เขาได้เล่าถึงการกระทำนั้น

เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด เมื่อระลึกถึงเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้น ย่อมเห็นความถูกและความผิด แต่ถ้าเป็นวิตกเจตสิกซึ่งเพียงตรึกนึกถึงเรื่องนั้น ด้วยอกุศลจิตจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควร และสภาพของจิตที่ได้กล่าวคำ ขัดคอนั้นเป็นจิตที่เป็นอกุศล ซึ่งนั่นคือวิตกเจตสิก คือ นึกถึงเรื่องต่างๆ ด้วยความโกรธบ้าง ด้วยความพอใจบ้าง แต่ถ้าตรึกด้วยสติ จะสามารถย้อนพิจารณาการกระทำของตนเองและสามารถรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และถ้ารู้อย่างนี้ ต่อไปจะไม่มีการ ขัดคอด้วยอกุศลจิตอีก แต่จะเป็นการเตือนด้วยเมตตาจิต ด้วยเสียงซึ่งประกอบ ด้วยเมตตา และด้วยแววตาที่ประกอบด้วยเมตตาด้วย

การฟังพระธรรมโดยละเอียด และพิจารณาสภาพจิตของตนเอง จะทำให้เห็นโทษของอกุศล และเป็นผู้ที่อ่อนโยน ไม่กระด้างด้วยความโกรธ

เปิด  253
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566