แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1623

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


มังคลัตถทีปนี ข้อ ๔๕๙ มีข้อความว่า

ก็เพราะบุญแม้มีการเห็นอย่างนี้ก็เป็นมูลเหตุ (คือ การเพียงมองดูด้วยตา ที่เมตตา) โรคก็ดี โทษก็ดี ความฝ้าฟางก็ดี ต้อก็ดี ย่อมไม่มีในนัยน์ตาตลอดพันชาติเป็นอเนก นัยน์ตาย่อมเป็นธรรมชาติผ่องใส บุคคลย่อมเป็นผู้ได้สมบัติทุกชนิด ในเทพยดาและในมนุษย์ตลอดกาลประมาณแสนกัป ก็ข้อที่บุคคลเป็นมนุษย์ มีชาติแห่งความเป็นคนมีปัญญาพึงเสวยวิบากสมบัติเห็นปานนี้ เพราะบุญซึ่งสำเร็จด้วยการเห็นสมณะอันตนให้เป็นไปแล้วโดยชอบ (คือ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ในขณะที่มองดู) แม้สัตว์ดิรัจฉานผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วเพื่อที่จะได้เป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ยังมีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคด้วยความคุ้นเคย ในพระพุทธศาสนามาก่อน

อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสีหนาทสูตร ข้อ ๑๕๓ มีข้อความที่เป็นตัวอย่างว่า

ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทศาล ณ เวทิสสกบรรพต ครั้งนั้น นกฮูกตัวหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ก็บินตามได้ครึ่งทาง ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับมา ก็บินออกไปต้อนรับครึ่งทาง

ในวันหนึ่ง นกฮูกนั้นลงจากภูเขา ไหว้พระผู้มีพระภาคซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งในเวลาเย็น โดยป้องปีกประคองอัญชลีทำศีรษะให้ต่ำลง ยืนนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแลดูนกฮูกนั้นแล้วทรงกระทำการยิ้มแย้ม

ท่านพระอานนท์เถระทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นปัจจัย อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยแห่งการทรงยิ้มแย้มให้ปรากฏ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เธอจงดูนกฮูกนี้ นกฮูกนี้ยังจิตให้เลื่อมใสในเราและใน พระภิกษุสงฆ์ แล้วท่องเที่ยวในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดแสนกัป จักเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าโสมนัส

แม้จะเป็นสัตว์ดิรัจฉานในกำเนิดของนกฮูก แต่เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วเพื่อที่จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคได้ด้วยความคุ้นเคยในพระพุทธศาสนามาก่อน

ท่านผู้ฟังจะเป็นอย่างนกฮูกได้ไหม หรือว่านกฮูกเก่งกว่า

เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าการกระทำกุศลทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่การที่จะ เป็นผู้ที่มีจิตอ่อนโยน เป็นผู้ว่าง่าย เริ่มต้นไป ค่อยๆ เป็นไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นการคุ้นเคยในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม และเมื่อได้ฟังพระธรรมโอวาท หรือคำพร่ำสอนก็จะเป็นผู้ที่มีเมตตา แม้จะไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังสามารถมีจิตอ่อนโยนได้ เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใสในบุคคลที่ควรเลื่อมใส ด้วยความที่เคยคุ้นเคยมาแล้วในพระศาสนา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นมงคล ก็เป็นมงคลจริงๆ

ถ. การเห็นสมณะ ในมังคลัตถทีปนีท่านจำแนกไว้หรือเปล่าว่า หมายถึงการเห็นพระอริยะ

สุ. การเห็น ๒ อย่าง คือ การเห็นด้วยตาและการเห็นด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ใครจะเป็นพระอริยะหรือไม่เป็น

ถ. ในปัจจุบันนี้ เราไปวัดก็ดี หรือเห็นพระมาบิณฑบาตก็ดี จัดว่าเป็นการเห็นสมณะได้หรือเปล่า

สุ. ถ้าไม่มีปัญญาจะทราบได้ไหมว่า ท่านเป็นผู้สงบ หรือไม่เป็นผู้สงบ แต่ท่านเป็นผู้มีศีลในขณะนั้น

ถ. เพราะฉะนั้น ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ขณะที่เราเห็นพระบิณฑบาตก็ดี หรือตามวัดก็ดี ท่านเป็นผู้ทรงศีลหรือเปล่า แต่ที่เป็นกุศลแน่ๆ คือ ไม่ไป เพ่งโทษว่าท่านบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ และถ้าจะใส่บาตรก็ไม่ได้คิดว่า พระวัดนี้ ไม่อยากใส่เพราะปฏิปทาไม่น่าเลื่อมใส เพราะถ้าคิดแล้วจะไม่ใส่บาตร ก็ตั้งใจว่า เราทำบุญเป็นการเสียสละ เมื่อใส่บาตรแล้ว ท่านจะไปแจกให้ใครก็เป็นเรื่องของท่าน เรื่องนี้ผมบอกที่บ้านเป็นประจำ เขาบอกว่าไม่ค่อยจะศรัทธา พระท่านไม่ฉันหรอก อาหารเหลือเฟือเหลือเกิน อาหารที่เหลือก็ทิ้งเกลื่อนกลาด ไม่เป็นประโยชน์อะไร ผมก็บอกว่า อย่าไปเพ่งอย่างนั้น ต้องนึกถึงว่าเราได้เสียสละ เมื่อเราบริจาค เป็น การสละความตระหนี่ที่เรามี ถือว่าเราได้บุญได้กุศลแล้ว การเพ่งโทษผู้อื่นแทนที่จะได้ บุญกุศลกลับได้อกุศลเพิ่มขึ้น คิดอย่างนี้ จะจัดอยู่ในข้อการเห็นสมณะเป็นมงคล ได้หรือเปล่า

สุ. วันหนึ่งๆ จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ควรที่จะได้พิจารณา ซึ่งโดยมากเป็นอกุศลเวลาที่เห็นบุคคลอื่น หรือพิจารณาบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นพระภิกษุ และพิจารณาถึงปฏิปทาหรือวัตรข้อปฏิบัติของท่าน ขณะนั้นพิจารณาดูใจว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สำคัญอยู่ที่จิตของตนเอง ถ้าพิจารณาแล้วเป็นกุศลก็ควรพิจารณา แต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นอกุศล ก็ควรพิจารณาถึงจิตที่คิดถึงคนอื่นแล้วเป็นอกุศล

ถ. สมณะในพระไตรปิฎกที่อาจารย์บรรยาย คือ พระอริยบุคคล ใช่ไหม สุ. สมณะหมายความถึงผู้สงบ

ถ. นั่นสมัยก่อน แต่ปัจจุบันเราเรียกพระว่า สมณะ สงสัยว่าเราเรียกกันมาตั้งแต่เมื่อไร อยากทราบว่าในสมัยพุทธกาลท่านเรียกพระภิกษุที่ยังไม่บรรลุ พระอริยบุคคลว่าสมณะหรือเปล่า มีปรากฏในพระไตรปิฎกไหม สมณะ ปัจจุบันนี้หมายถึงพระห่มจีวร

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็เป็นผู้ที่อบรม ข้อประพฤติปฏิบัติที่จะเป็นผู้สงบ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยก็เป็นโมฆบุรุษ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า โมฆบุรุษ

ถ. เมื่อวานนี้ได้มีการสนทนาธรรมกันคำว่า คาวุต ผมไปค้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายว่า เป็นมาตราวัดความยาวโบราณ มีระยะทางเท่ากับ ๑๐๐ เส้น เท่ากับ ๔ กิโลเมตร ซึ่งตรงกับพจนานุกรมของท่านมหาประยุทธ์ ปยุตโต

สุ. ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาสำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของระยะทาง และในความละเอียดของคำในภาษาบาลี

ก่อนที่จะถึงโสภณเจตสิกดวงต่อไป คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ขอกล่าวถึงโทษของโทสเจตสิก เพื่อที่ว่าเมื่อได้เห็นโทษของโทสะแล้ว ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อโทสเจตสิกเกิดได้ เพราะว่าส่วนมากจริงๆ โทษของโทสเจตสิกจะรู้ในขณะที่โทสะไม่เกิด แต่เวลาที่โทสะกำลังเกิดอยู่ ย่อมไม่เห็นโทษของโทสะในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และพิจารณาเห็นโทษของโทสะ แม้ในขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจ อโทสเจตสิกก็เกิดได้ เพราะพิจารณาเห็นโทษของโทสะในขณะนั้น ซึ่งในวันหนึ่งๆ ทุกคนมักจะคิดถึงเรื่องสุขภาพของร่างกาย และเห็น โทษภัยของความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ และมีความปรารถนาที่จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้ว่าจะมีเงินทองทรัพย์สมบัติมากมาย แต่เมื่อท่านมีโรคภัยไข้เจ็บจนกระทั่ง ไม่สามารถที่จะมีความสุขได้จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าเพียงปราศจากโรคจะมีความสุขความสะดวกสบายมาก แต่ในขณะที่ยังไม่เป็นโรค ก็ลืมว่า แท้ที่จริงแล้วลาภอันประเสริฐคือความไม่มีโรค เพราะว่าสามารถลุกนั่ง เดินเหินทำกิจการงานต่างๆ ได้

แต่แม้กระนั้น โรคทางกายก็ยังสามารถรักษาให้หายได้ มีนายแพทย์ มียาที่พอจะรักษาได้ โดยที่ทุกคนลืมคิดว่า โรคที่สำคัญกว่าโรคทางกาย คือ โรคทางใจ ซึ่งทุกคนอาจจะไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณาเลยว่า โรคทางใจของแต่ละท่านมีอะไรบ้าง มีโรคอะไรบ้างทางใจ เมื่อไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณา ย่อมไม่เห็นโทษของโรคทางใจนั้น

เมื่อโรคทางใจเป็นโรคที่เห็นยากเพราะไม่ได้พิจารณา การที่จะรักษาโรคทางใจก็ต้องรักษายากกว่าโรคทางกาย และต้องใช้เวลานานในการที่จะอบรมเจริญกุศล ซึ่งเป็นยาที่จะรักษาอกุศลที่เป็นโรคทางใจ

ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่ตนมีตามความเป็นจริงและรีบแก้ไข คือ พิจารณาเห็นโทษ ก็คงดีกว่าการที่จะปล่อยให้โรคนั้นกำเริบหรือทรุดหนักจนกระทั่งถึงกับเป็นอัมพาตทางใจ คือ ไม่ยอมที่จะขัดเกลากิเลสเลย และถ้าอกุศลมากมายเพิ่มพูนเหนียวแน่นถึงอย่างนั้น ก็ควรที่จะเห็นโทษในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ยอม แม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลส

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายอโทสะ สภาพที่ไม่โกรธ มีข้อความว่า

ที่ชื่อว่าอโทสะ โดยที่ไม่ประทุษร้าย

ที่ชื่อว่าอโทสะ เพราะไม่ก่อร้าย

อาการที่ไม่ประทุษร้าย ชื่อว่าอทุสสนา

ภาวะแห่งบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ชื่อว่าอทุสสิตัตตะ

สภาวะที่ชื่อว่าอัพยาบาท เพราะไม่ปองร้าย โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท

ที่ชื่อว่าอัพยาปัชฌะ เพราะไม่เบียดเบียน โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์อันเกิดแต่ความโกรธ

นอกจากนั้น

กุศลมูล คือ อโทสะ ชื่อว่ารากเหง้าแห่งกุศล

นี่เป็นลักษณะอาการของอโทสะ ซึ่งตรงข้ามกับโทสะ

อโทสะ ไม่ประทุษร้าย ไม่ก่อร้าย ไม่พยาบาท เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท และไม่เบียดเบียน โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์อันเกิดแต่ความโกรธ

ถ้ากุศลจิตไม่เกิด อโทสเจตสิกเกิดไม่ได้ และถ้าอโทสเจตสิกเกิดขณะใด ขณะนั้นจิตเป็นกุศล

เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาตนเองเพื่อประโยชน์ เพราะการที่แต่ละท่านจะมี พระธรรมเป็นที่พึ่งอย่างมั่นคงถึงขั้นโลกุตตรสรณคมน์นั้น จะต้องอบรมเจริญกุศลที่จะ ขัดเกลาอกุศลไปเรื่อยๆ พร้อมกับการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเพียงแต่ เจริญกุศลเท่านั้นโดยไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถดับกิเลสได้ หรือถ้าคิดที่จะเจริญสติปัฏฐานโดยไม่เจริญกุศลอื่นเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะอกุศลจะต้องเพิ่มพูนมากขึ้น ไม่เป็นปัจจัยต่อการที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

การที่จะเจริญกุศลจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ต้องประกอบด้วยธรรมที่เป็นบารมี ๑๐ ซึ่งธรรมแต่ละส่วนที่ได้ฟังจากพระไตรปิฎกเกื้อกูลจริงๆ และไม่ใช่ว่า แยกจากกัน แม้แต่บารมี ๑๐ ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งการอบรมเจริญหนทาง ที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าขาดการอบรมเจริญกุศล คือ บารมี ๑๐ ให้มั่นคงแล้ว การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็มีไม่ได้

บารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานเมตตา และอุเบกขา

จะเห็นได้ว่า อโทสะ คือ เมตตา เป็นบารมีด้วย ใครที่ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้ที่ มีเมตตาเพิ่มขึ้นๆ ก็ไม่มีทางถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น จะขาดบารมี ข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ ต้องมีทั้งทาน ศีล เนกขัมมะ คือ การออกจากความติดข้องพัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าจะไม่ใช่โดยวัตถุกามแต่โดยจิต คือ โดยสติ ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนขณะใด ขณะนั้นก็ชื่อว่าการออกจาก ความติด ความพอใจยึดมั่นนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาบารมีพร้อมกับวิริยะ คือ ความเพียร พร้อมทั้งขันติ คือ ความอดทน เพราะผลของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยเร็วและโดยง่าย แต่ต้องเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ จากการหลงลืมสติ ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งค่อยๆ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรม และสังเกต ศึกษา พิจารณาจนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากจะมีความเพียรแล้ว ยังต้องอาศัยขันติ คือ การรอคอยผล ซึ่งเป็นไป ทีละเล็กทีละน้อยด้วย

นอกจากนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ ความจริงใจต่อการที่จะเป็นผู้ที่ตรงในการ ละกิเลส ต้องมีความตั้งใจมั่น คือ อธิษฐาน และมีเมตตา คือ อโทสะ และบารมี ที่ ๑๐ คือ อุเบกขา ซึ่งบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ได้แก่ โสภณจิตและโสภณเจตสิกนั่นเอง

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการดับกิเลส ขณะใดที่เป็นกุศลประการหนึ่งประการใด ย่อมต้องเป็นไปในบารมีหนึ่งบารมีใด

เปิด  225
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565