แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1625

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๐


ผู้ฟัง ก็คงจะได้กุศลขึ้นมาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าช่างละเอียดจริงๆ แม้แต่เจตสิกซึ่งละเอียดขนาดนี้ ท่านก็ยังแสดงได้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณจริงๆ ไม่มีนักปราชญ์ผู้ใดที่จะมารู้ความละเอียดของจิตถึงขนาดนี้ได้ ระลึกถึงพุทธคุณจริงๆ

สุ. ถ้าไม่ละเอียดอย่างนี้ดับกิเลสไม่ได้ เพียงตัวอย่างของท่านผู้ฟัง ก็ยังเห็นได้ ขณะนั้นเพียงเราหรือเขา นั่นก็ไม่ใช่ผู้ตรงต่อลักษณะของจิตและเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดขึ้นๆ อีก จึงจะมีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ เพราะว่าขณะใดที่กล่าวคำขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ควรที่จะขอถึงการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยทุกครั้งที่กล่าว

ส่วนใหญ่กล่าวคำขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ จบ เร็วมาก ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้นเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ขณะใดที่ขอถึง พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ที่จะมีพระธรรมเป็นสรณะได้ จริงๆ ไม่ใช่เพียงฟัง และไม่ใช่เพียงศึกษา ไม่ใช่เพียงรู้ว่ามีจิตเท่าไร มีเจตสิกเท่าไร แต่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติ เพราะในขณะที่ขอถึงพระธรรมนั้น ลืมว่าควรที่จะ ขอถึง คือ ขอประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่กล่าวคำว่า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ขอให้น้อมจิต คิดว่า ขอปฏิบัติตามพระธรรมด้วย ขอประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ จิตจะอ่อนโยนจริงๆ และจะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น แม้ว่ายังมีกิเลสอยู่ แต่สติ ก็ระลึกได้ว่า ขณะใดเป็นอกุศลและขณะใดเป็นกุศล โดยเฉพาะเมื่อได้ศึกษาเรื่องโสภณสาธารณเจตสิกแต่ละดวง จะเห็นความสำคัญว่า จะขาดโสภณสาธารณเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดไม่ได้จริงๆ ในการที่กุศลจิตจะเกิดแต่ละขณะ แม้แต่ในการที่จะพิจารณาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เพื่อที่จะเป็นผู้ที่ยุติธรรม เป็นผู้ตรง และแม้แต่จะรู้ว่า ใครถูก ใครผิด หรือรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ขณะนั้นยังต้องพิจารณาจิต ของตนเองว่า เมื่อรู้แล้ว หวั่นไหว เอนเอียง และชังในผู้ที่ประพฤติผิดหรือเปล่า

นี่คือสิ่งที่จะต้องเกิดต่อจากการที่รู้ความจริงของแต่ละเหตุการณ์ ของแต่ละบุคคล ของแต่ละเรื่องด้วย ถ้ารู้ว่าใครผิดแล้วชิงชังในบุคคลนั้น ตัตรมัชฌัตตตา ไม่มีอีกแล้ว มีในขณะที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ความถูกเป็นอย่างไร ความผิด เป็นอย่างไร แต่จิตที่รู้ว่าใครผิด ขณะนั้นพิจารณาดูว่า มีตัตรมัชฌัตตตาที่จะเกิดเมตตาไหม ถ้าเกิดเมตตาได้ ขณะนั้นพร้อมทั้งศรัทธา สภาพของจิตที่ผ่องใสสะอาด ทั้งสติที่ระลึกได้ จะไม่หวั่นไหวไปเป็นอกุศล มีทั้งหิริ ความรังเกียจ และมีทั้งโอตตัปปะ ความเห็นโทษภัยของการที่จะต้องชิงชัง หรือเกิดการขุ่นเคืองใจขึ้น และ ทำกิจถอยกลับจากอกุศล ในขณะที่ตัตรมัชฌัตตตาเกิด คือ ความเป็นผู้ตรง

ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ต้องอบรมต่อไปอีกๆ จนกว่ากุศลจะเพิ่มขึ้นๆ จริงๆ และในวันหนึ่งๆ ทุกคนซึ่งเป็นผู้ตรงจะรู้ได้ว่า กุศลเกิดมากหรือน้อยเทียบกับเวลาของวันเวลาในวันหนึ่งๆ ตอนเช้ามีกุศลสักกี่ขณะ กี่เหตุการณ์ ตอนกลางวันมีกุศล หรือเปล่า ตอนเย็นมีกุศลไหม หรือว่าโลภะบ้าง โทสะบ้าง และความหวั่นไหวด้วยอคติต่างๆ บ้าง

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาว่า วันหนึ่งอกุศลเกิดมากกว่ากุศล เป็น ผู้ตรงมาขั้นหนึ่งแล้ว ยังต้องคิดแก้ไขด้วย นั่นคือตัตรมัชฌัตตตา และต่อไปจะต้องรู้ว่า ไม่ควรเลยที่จะปล่อยให้เป็นอกุศลเพิ่มขึ้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะสิ้นชีวิตไป ขอให้คิดถึงอกุศลในวันหนึ่งๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ได้ส่วนกับกุศลเลย และต่อไปจะเป็นอย่างไร

ตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท อาจจะหลงลืมสติไปบ้าง แต่แม้กระนั้น ก็ตาม การที่เป็นผู้ที่ถึงพระธรรมเป็นสรณะด้วยการขอประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ เป็นผู้ที่มีสัจจะและอธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่น จะทำให้เกิดการระลึกได้ละเอียดขึ้น และพิจารณาว่า ในวันหนึ่งเมื่อทานอาจจะไม่ได้เกิดเลย ทานกุศล การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นในวันนี้มีบ้างไหม คิดดู ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ถ้าไม่มี ศีล ในวันนี้มีการวิรัติทุจริตทางกาย ไม่เบียดเบียนทางวาจา ไม่ประทุษร้ายบุคคลอื่น และทางใจ ยังต้องเป็นผู้ตรงอีกว่า แม้ไม่ประทุษร้ายด้วยกายวาจา ใจคิดอย่างไร บางที ใจคิดเบียดเบียน แต่ยังไม่ทำก็ได้ ใช่ไหม โกรธใครก็อาจจะนึกคิดถึงคำแรงๆ อยู่ในใจได้ ยังไม่ได้กล่าวออกไป แม้อย่างนั้นก็ยังจะต้องเห็นว่า ในขณะนั้นจิตไม่สงบ

เพราะฉะนั้น การที่จะเจริญกุศล นอกจากจะพิจารณาเรื่องทาน เรื่องศีล ซึ่งไม่ได้เกิดบ่อยในชีวิตประจำวันแล้ว ยังจะต้องพิจารณาส่วนที่เหลือในวันหนึ่งๆ ว่า เมื่อทานไม่เกิด ศีลก็ไม่ได้เกิดบ่อย ส่วนที่เหลือควรจะเจริญกุศลอื่นซึ่งไม่ใช่ทานและศีล ได้แก่ ความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ถ้ารู้อย่างนี้ พิจารณาว่าชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะ โดยฐานะของหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ในฐานะของผู้ใหญ่ หรือในฐานะของผู้น้อย ในฐานะของญาติ หรือในฐานะของเพื่อนฝูง หรือในฐานะของ คนคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคยก็ตาม ควรที่จะพิจารณาว่า ทานก็ไม่ได้ทำบ่อย ศีลก็ไม่ได้ ทำบ่อย และจิตใจหวั่นไหวไป กระสับกระส่ายไป วุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ จากวจีสังสารมากขึ้น หรือว่าน้อยลง

นี่คือการขัดเกลากิเลส คือ เริ่มพิจารณา ถ้ายังไม่ได้พิจารณาจะไม่มีวันน้อยลง แต่ถ้าเริ่มพิจารณา อกุศลทั้งหลายจะเริ่มน้อยลง แม้แต่วจีสังสาร การที่จะกล่าวเรื่องราวต่างๆ ต่อกันไปต่อกันมา โต้ตอบ หรือว่าวนเวียนไปเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้อีก ก็ควรที่จะพิจารณาดูว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร

ตัตรมัชฌัตตตา จะทำให้เป็นผู้ที่เริ่มเห็นโทษเห็นภัยของความยุ่งยากต่างๆ อกุศลต่างๆ เพราะถ้าตัตรมัชฌัตตตายังไม่เกิด อกุศลก็ต้องทวีคูณขึ้นทุกประการ

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ซึ่งมีการพบปะบุคคลอื่น เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น และไม่ได้เป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ควรที่จะให้จิตสงบด้วยพรหมวิหาร ๔ ซึ่งได้ยินกันบ่อยมาก และเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะ ในชีวิตประจำวันมีใครบ้างที่จะไม่เห็นคนอื่น มีผู้ที่เฉยๆ มีผู้ซึ่งเป็นที่รัก มีผู้ซึ่งเป็นที่ชัง มีผู้ที่ใกล้ชิด มีผู้ที่ห่างไกลทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น ทุกบุคคล ขณะนั้นไม่ใช่เรื่อง ของทาน ไม่ใช่เรื่องของศีล แต่ควรจะเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิตด้วย พรหมวิหารหนึ่งพรหมวิหารใดในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตา ได้แก่ อโทสเจตสิก กรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก มุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก อุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย บางขณะที่มีจิตเมตตา ไม่รู้เลยว่าสภาพธรรมนั้นคืออะไร แต่ยึดถือว่าเป็นเราที่เมตตา ความจริงแล้วไม่ใช่เรา ขณะที่เมตตานั้นเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่งซึ่งทำกิจของสภาพธรรมนั้น ซึ่งเจตสิกอื่นทำกิจของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เมื่อเมตตาเจตสิกเกิดต้องทำกิจของเมตตา โดยที่เจตสิกอื่นจะทำกิจของเมตตาไม่ได้

สำหรับกรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก ขณะที่เห็นบุคคลที่ยากไร้ หรือตกทุกข์ ได้ยาก และมีจิตใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการอนุเคราะห์ช่วยเหลือต่างๆ ในขณะนั้นก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นกรุณาเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ เลย แต่ไม่ชินกับสภาพธรรม ชินกับความรู้สึก เวลาที่ เห็นคนตกทุกข์ได้ยากและคิดที่จะช่วยเหลือ ความรู้สึกอย่างนี้มี ใช่ไหม แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นเจตสิกฝ่ายดี เป็นโสภณเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต โสภณจิต ก็เข้าใจว่า เรากำลังกรุณา แต่ความจริงไม่ใช่เรา เพราะกรุณาเจตสิกต่างหากที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจกรุณาในขณะนั้น

พรหมวิหารที่ ๓ คือ มุทิตา การพลอยยินดีด้วยกับความสุขของคนอื่น ได้แก่ มุทิตาเจตสิก เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เวลาเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แม้จะยังไม่รู้จักชื่อภาษาบาลี แต่ก็เริ่มศึกษา เริ่มรู้ในลักษณะนั้นๆ ว่า เป็นสภาพที่ต่างกัน เมตตาเจตสิกเป็นอย่างหนึ่ง กรุณาเจตสิกเป็นอย่างหนึ่ง มุทิตาเจตสิกเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นสภาพของเจตสิกแต่ละอย่างๆ จริงๆ และต่อไปจะค่อยๆ ชินกับชื่อในภาษาบาลี ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องจำชื่อภาษาบาลี เพราะสามารถสังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ แต่ถ้าจำได้ก็มีประโยชน์ เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาสากลสำหรับพุทธศาสนา สำหรับคำสอนของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็ใช้ภาษาบาลีทั้งนั้น

พรหมวิหารที่ ๔ อุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือ สภาพที่เป็นกลาง สม่ำเสมอในอารมณ์ ไม่ตกไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือ ด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ

ขอกล่าวถึงพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้ เพราะเป็นการอบรมเจริญกุศลใน ชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเกิดได้บ่อยมากกว่าขั้นทานหรือศีล เพราะสำหรับทานต้อง มีวัตถุปัจจัยที่จะสละให้บุคคลอื่น ส่วนศีลก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าที่จะให้ วิรัติทุจริต แต่ในขณะที่ไม่มีโอกาสของทาน หรือโอกาสของศีล ทุกขณะกุศลจิตที่ เป็นสมถะในชีวิตประจำวัน คือ การอบรมความสงบของจิต หรือการเจริญสติปัฏฐานย่อมเกิดได้

สำหรับสติปัฏฐานต้องอาศัยความเข้าใจและอาศัยการอบรม นานๆ จะเกิดสักครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง สำหรับบางท่าน หลายเดือนห่างกันมากแล้วก็เกิดอีก ก็เป็นไปได้ ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลเลย เพราะเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของตัวตนที่จะคิดพยายาม จะบังคับบัญชาสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อาศัยความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้กุศลแต่ละประเภทค่อยๆ เจริญขึ้น และไม่หวั่นไหวที่สติจะเกิดเป็นสติปัฏฐานมากหรือน้อย เมื่อเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวแล้ว ก็แล้วแต่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้น และกุศลทั้งหลายจะค่อยๆ เจริญขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ควรเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองในเรื่องของเมตตาพรหมวิหารว่า มีมากหรือมีน้อย ถ้ามีน้อยก็ไม่เป็นไร อบรมเจริญให้มากขึ้นอีกทีละเล็กทีละน้อยได้ อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้จะไม่ขัดเกลากิเลสเลย แต่ถ้าคิดว่าทำได้ ยาก ไม่ง่าย แต่ทำได้ ก็ค่อยๆ ทำ ได้ไหม

มีท่านผู้หนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านแจกของให้คนรับใช้ในบ้านหรือเพื่อนบ้านของท่านด้วย และคนรับใช้ของเพื่อนบ้านด้วย แต่มีคนรับใช้คนหนึ่งซึ่งทำหลายอย่าง ที่ไม่สมควร ท่านก็ไม่ค่อยอยากจะให้ คือ รู้สึกว่าไม่น่าจะให้ ไม่ควรจะให้ ซึ่งก็ต้องอาศัยตัตรมัชฌัตตตา ความเป็นผู้ตรงอีกเหมือนกันว่า ควรหรือไม่ควร แม้จะให้ผู้ซึ่ง ไม่ชอบ ทำได้ไหม สิ่งไหนดีกว่ากัน ตัตรมัชฌัตตตาต้องพิจารณาเห็นว่า การให้ ย่อมดีกว่า แต่ถ้าเป็นอกุศล อโยนิโสมนสิการก็เห็นว่า ให้ทำไม ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ทำคุณบูชาโทษ หรือคิดนึกปรุงแต่งเป็นเรื่องยาวมากมายอีกหลายเรื่อง ได้ทั้งสิ้นด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่มีปัจจัยที่จะคิดเอง อย่างนั้น ที่จะปรุงแต่งอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่จะคิดด้วยกุศลจิต หรือคิดด้วยอกุศลจิต และในที่สุดผู้ที่จะขัดเกลากิเลสก็ให้

ทำได้ไหม ถ้าทำขณะนี้ไม่ได้ ขณะต่อไปยิ่งยากขึ้น แต่ถ้าทำแม้ขณะเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ได้ ขณะต่อไปก็ยิ่งคล่องแคล่วรวดเร็วและชำนาญขึ้น และเห็นว่า เป็นเรื่องแสนง่าย คือ ใครจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้น ไม่เกี่ยวกับกุศลจิตของผู้ที่จะให้เลย ด้วยความเป็นผู้ตรงต่อกุศลจริงๆ ย่อมเห็นว่า กุศลของตนเองเป็นสิ่งที่ควรเจริญ และไม่ไปก้าวก่ายกับอกุศลของคนอื่น เพราะว่า แม้จะอยากให้เขาเป็นกุศลมากสักเท่าไรก็ตาม พากเพียรอธิบายชี้แจงสักเท่าไร แต่ถ้ากุศลจิตของเขายังไม่เกิด หรือมีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้คิดเอาเองเป็นเรื่องราวของอกุศลมากมาย คนอื่นก็ไม่สามารถไปก้าวก่ายในความคิดปรุงแต่งของคนอื่นได้

ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ทุกคนจะกระทำกิจของตนเอง คือ ละอกุศลของตนเอง และไม่ไปทำให้คนอื่นเกิดอกุศล แต่การให้ของบุคคลนั้นเป็นประโยชน์ เพราะว่า คนรับใช้คนนั้นเป็นผู้ที่ช่วยเหลืออย่างดีในโอกาสต่อไป ซึ่งไม่ใช่ด้วยสินจ้างอามิสก็ได้ แต่เป็นการเห็นน้ำใจของผู้ที่ไม่โกรธตอบ

นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าผู้ใดมีกุศลและมีความอดทน มีความมั่นคงจริงๆ ในการ เจริญกุศล ก็จะเป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นที่จะทำให้อดทนตาม ไม่หวั่นไหวตาม และ ทำกุศลไปโดยที่ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่นว่าจะมีสังขารขันธ์ปรุงแต่งคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นประโยชน์ของเมตตา ต้องทำได้แม้ว่าจะยาก ค่อยๆ ทำ ทีละเรื่อง ทีละเหตุการณ์ และพิจารณาดูเมื่อได้เข้าใจเรื่องของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ขณะนี้ เรื่องนี้ เหตุการณ์นี้ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดหรือยัง ถ้ายังไม่เกิดอีก เรื่องต่อไปคราวหน้าเกิดหรือยัง คอยดูว่าตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกจะเกิดเมื่อไร ถ้าเป็นผู้ที่ตรง และตรงขึ้นๆ ค่อยๆ ตรงทีละน้อย ในที่สุดตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็ย่อมเกิด และวันนั้นจะรู้สึกสบายใจ หมดเรื่องราวที่เคยกังวลหมกมุ่นเป็นทุกข์ เดือดร้อนทุกอย่าง เพราะสภาพของกุศลจิตเป็นสภาพที่ไม่ทำร้าย และไม่ทำให้ ไม่สบายใจ ตรงข้ามกับลักษณะของอกุศลเจตสิกและอกุศลจิต

เปิด  217
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565