แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1627

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๐


ผู้ฟัง ธรรมข้อที่ว่า จะเป็นผ้าเช็ดธุลี ตรงกับใจผม ผมอยากจะเป็นจริงๆ หลายๆ ครั้งที่นึกถึงคนที่พูดถึงผ้าเช็ดธุลี นึกถึงท่านพระสารีบุตรทีไร อยากจะเป็น จริงๆ ซาบซึ้งจริงๆ คือ เรายอมให้เขาเหยียบได้ ย่ำได้ มานะจะลดไปมากเลย

สุ. ขอให้บุคคลอื่นลองทดสอบเราดู

ผู้ฟัง ซาบซึ้งจริงๆ เรื่องผ้าเช็ดธุลี

สุ. เมื่อซาบซึ้งแล้ว ก็รับการทดลองได้

ผู้ฟัง อาจารย์ไปที่นั่น ไปหาผ้าเช็ดธุลี ซาบซึ้งในธรรมบทนี้จริงๆ

สุ. บทพิสูจน์มีมาก ตั้งแต่ ณ บัดนี้เป็นต้นไป เวลาใครพูดอะไรหรือทำอะไรซึ่งแต่ก่อนเคยไม่พอใจ เคยโกรธ ต่อไปนี้ก็พิจารณาสภาพของจิตว่า เป็นผ้าเช็ดธุลีหรือเปล่า อย่างน้อยก็เป็นอนุสติที่จะระลึกได้ เป็นคุณของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แม้ท่านพระสารีบุตร ท่านกล่าวทำไมเรื่องความประพฤติของท่านดุจดังผ้าเช็ดธุลี ถ้าไม่ใช่เป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นหลังที่จะได้พิจารณาเห็นประโยชน์ว่า แม้แต่ท่านเองยังเป็นอย่างนั้น เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส เป็นผู้อ่อนน้อมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เป็นตัวอย่างสำหรับพุทธบริษัทที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงแสดงและผ่านไป แต่ประโยชน์ที่จะได้จากพระธรรม คือ พิจารณาทุกพยัญชนะและถือสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้แต่เรื่องผ้าเช็ดธุลีก็ไม่ควรที่จะผ่านไป อย่างน้อยก็เตือนให้ระลึกได้ว่า วันนี้ยอม เป็นผ้าเช็ดธุลีหรือเปล่า ซึ่งขอหวังว่า วันหนึ่งคงจะได้เป็น

พรหมวิหารที่ ๒ คือ กรุณาพรหมวิหาร ได้แก่ กรุณาเจตสิก

กรุณาเจตสิกไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก หมายความว่าไม่ใช่โสภณเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิตหรือโสภณจิตทุกดวง เพราะถ้าเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ไม่ว่า โสภณจิตประเภทใดจะเกิด จะขาดโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวงนี้ไม่ได้เลย ซึ่ง ๑๙ ดวงนี้ ไม่รวมกรุณาเจตสิก เพราะฉะนั้น กรุณาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับ โสภณจิตทุกดวง เกิดกับโสภณจิตบางดวง ในบางกาล คือ เมื่อประสบกับบุคคล ซึ่งกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน เป็นปัจจัยให้กรุณาเจตสิกเกิด

สำหรับลักษณะของกรุณาพรหมวิหารนั้น เป็นสภาพธรรมที่ระงับวิหิงสา คือ การเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี กรุณาพรหมวิหาร มีว่า

ที่ชื่อว่ากรุณา เพราะย่อมกระทำจิตของคนดีให้หวั่นไหวในเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์

วันหนึ่งๆ คงจะได้ประสบพบเห็นผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งทุกข์มากมายใหญ่หลวง คิดดูว่า ถ้าท่านเป็นบุคคลนั้น ท่านจะสามารถรับความทุกข์อย่างนั้นไหวไหม จะมีความอดทนพอ จะมีความอาจหาญพอที่จะมีชีวิตต่อไปด้วยกุศลจิตได้ไหม เพราะฉะนั้น สำหรับลักษณะของกรุณาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ ย่อมกระทำจิตของคนดีให้หวั่นไหวในเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์

ถ้าเห็นคนอื่นเป็นทุกข์และยังไม่หวั่นไหวด้วยความต้องการที่จะช่วยให้เขา พ้นทุกข์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กรุณาเจตสิก

อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่ากรุณา เพราะถ่ายความทุกข์ของผู้อื่น หรือกำจัด คือ ทำให้ทุกข์ของผู้อื่นพินาศไป

อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่ากรุณา เพราะกระจายออกไป คือ แผ่ออกไปด้วยอำนาจการแผ่ไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์

ท่านที่เคยคิดถึงเฉพาะตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเพื่อตัวเอง ของตัวเอง และอาจจะขยายวงออกไปเล็กน้อย คือ เพื่อคนในบ้าน ในครอบครัวของตัวเอง จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นลักษณะของกรุณาเจตสิกจะเป็นการกระจายออก คือ แผ่ออกไป ด้วยอำนาจการแผ่ไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์ ไม่เลือกเลยว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน รู้จักหรือไม่รู้จัก แต่คนนั้นกำลังมีความทุกข์

ขณะใดที่ความรู้สึกกระจายออกไปด้วยความต้องการที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ นั่นคือสภาพของกรุณาเจตสิก ซึ่งเป็นกรุณาพรหมวิหาร พิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ เกิดบ่อยไหม เพราะคนที่มีความทุกข์มีมาก แต่บางท่าน ลืมคิดถึง หรือเห็นแล้วก็ลืม

ยากหรือง่าย กรุณาพรหมวิหาร ถ้าใครเขาเสียใจเพราะคำพูดของเรา เพียงคิดเท่านี้ และเขากำลังเป็นทุกข์เพราะคำพูดของเรา จะมีความกรุณาอะไรเกิดขึ้นได้ไหม ที่จะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น ด้วยคำพูดที่ทำให้เขาสบายใจขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้น แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่จะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่กำลังมีความทุกข์พ้นความทุกข์ ก็ควรทำ

พรหมวิหารที่ ๓ คือ มุทิตาพรหมวิหาร ได้แก่ มุทิตาเจตสิก ซึ่งไม่ใช่ โสภณสาธารณเจตสิก มุทิตาเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับจิตที่ดี แต่ แม้กระนั้นมุทิตาเจตสิกก็ไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เพราะไม่เกิดกับ โสภณจิตทุกดวง แต่เกิดกับโสภณจิตในขณะที่มีสมบัติหรือความสุขของสัตว์อื่น เป็นอารมณ์

มุทิตาพรหมวิหาร เป็นสภาพที่ยินดีด้วยในความสุข หรือในสมบัติของคนอื่น

ไม่น่าจะยากเลย ใครได้ดีมีสุขก็ยินดีด้วย จิตใจก็เบิกบานแช่มชื่นผ่องใส ในขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว แต่ถ้าไม่รู้สึกอย่างนั้น คงไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะตัตรมัชฌัตตตาไม่เกิด ไม่เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า เพราะอะไรจึงไม่ยินดีด้วย ในความสุขหรือในสมบัติของคนอื่น

สำหรับมุทิตาพรหมวิหารนั้น เป็นสภาพธรรมที่ระงับความไม่พอใจ และเป็นธรรมที่เป็นเครื่องสละออกซึ่งความริษยา ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันยังไม่ได้ดับอิสสาเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก บางคนอาจจะมีมาก บ่อย แต่บางคนอาจจะเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณา ลักษณะของความอิสสาในความสุขของคนอื่นจึงไม่มี แต่แม้อย่างนั้นเมื่อยังไม่ใช่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังไม่ได้ดับอิสสาเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น บางขณะซึ่งอาจจะเป็นอิสสาที่บางเบาเล็กน้อยและละเอียด แต่เมื่อเกิดกับจิตของผู้ใด และตัตรมัชฌัตตตาเกิดในขณะนั้น จะเป็นผู้รู้สภาพของจิต ตามความเป็นจริงว่า นี่เป็นอกุศล ซึ่งถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีทางที่จะละคลายอกุศลได้เลย แม้แต่ความอิสสา ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าท่านไม่มี แต่บางกาลอาจจะนานๆ ครั้งหนึ่ง หลายเดือน หลายปีครั้งหนึ่ง และเพียงเล็กน้อยที่เกือบจะสังเกตไม่ได้ ก็อาจจะมีได้ นี่เป็นเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังมีเชื้อของสภาพอกุศลประเภทใดที่จะเกิด สภาพของอกุศลประเภทนั้นก็ต้องเกิด เพราะยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

สำหรับพรหมวิหารที่ ๔ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับโลภะ โทสะ ด้วยความเป็นกลาง

ขอกล่าวถึงลักษณะของพรหมวิหารที่ ๑ เพื่อพิจารณาว่า ตัตรมัชฌัตตตา ต้องตรงจริงๆ ที่จะไม่สับสนลักษณะของเมตตาพรหมวิหารกับสภาพธรรมอื่น

เมตตา มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูลเป็นลักษณะ

เพียงเท่านี้ก็จะพิจารณาชีวิตประจำวันได้แล้วว่า ในวันหนึ่งๆ ความเกื้อกูล ในขณะนั้นเป็นสภาพของธรรมอะไร ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ต้องตรงจริงๆ ว่า

มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูลเป็นลักษณะ

มีการนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีการกำจัดความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีการเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่าพอใจ คือ ไม่ใช่เป็นที่น่าขัดเคือง

เมตตาพรหมวิหารมีราคะ คือ โลภะ เป็นข้าศึกใกล้ที่จะต้องระวังและ เป็นผู้ตรง และเป็นผู้รู้ชัดเจนว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยตัตรมัชฌัตตตาเกิดพิจารณาในขณะที่เกื้อกูลว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจริงๆ หรือมี ข้าศึกใกล้เข้ามาใกล้ชิดแล้ว คือ ลักษณะของโลภะหรือราคะนั่นเอง

ถ้าชอบใคร มักจะช่วยเหลือคนนั้น เกื้อกูลคนนั้น ให้อะไรคนนั้น ช่วยทุกสิ่ง ทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยโลภะได้ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และจะตรงได้จริงๆ ด้วยตัตรมัชฌัตตตา ที่จะไม่มีการเอนเอียง แต่เป็นสภาพที่ทำให้กุศลจิตสม่ำเสมอที่จะเป็นเมตตาโดยที่ไม่ใช่โลภะในขณะนั้น แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาอาจจะมีความเอียงด้วยฉันทาคติและ ทำประโยชน์ให้กับบุคคลซึ่งเป็นที่รักโดยที่ละเลยคนอื่นและไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงขณะนั้นไม่ใช่กุศล แต่เป็นอกุศลนั่นเอง

สำหรับเมตตา มีข้าศึกไกลที่เห็นชัด คือ พยาบาท ความโกรธเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา เพราะเมตตากับโทสะเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกัน เพราะฉะนั้น เป็นข้าศึกที่ไกล เข้าใกล้ไม่ได้ แต่โลภะสามารถเข้าใกล้เมตตาได้ และสามารถเกิดแทรก เกิดสลับกับเมตตาได้ เพราะโลภะเป็นสภาพธรรมที่ย่อมเกิดได้เร็ว เพราะฉะนั้น พึงรักษาเมตตาจากราคะนั้นไว้ให้ดี เพราะราคะเหมือนคนที่เดินอยู่ใกล้ๆ

เมตตามีการสงบระงับความพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดความเสน่หา เป็นวิบัติ

นี่คือชีวิตประจำวันของผู้ที่จะเพียรขัดเกลากิเลส เจริญกุศลเพื่อละอกุศล

ถ้าจะละโลภะ ต้องเปลี่ยนโลภะที่เคยมีให้เป็นเมตตา แต่ถ้าไม่เริ่มอบรมเมตตาก็ยังยาก และโลภะก็ง่ายดี เพราะเร็วเสมอที่จะเกิด ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

บางคนอยากจะให้คนอื่นรัก เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อยากจะให้เป็นที่รัก หรือว่าตัตรมัชฌัตตตาทำให้ไม่ชอบที่จะให้คนอื่นรัก แต่ชอบและดีใจถ้าคนอื่นเมตตา นี่คือความตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ ถ้ามีคนรักและคนนั้นเป็นผู้ตรง ก็ควรที่จะพยายามทุกอย่างที่จะเปลี่ยนความรักนั้นให้เป็นความเมตตาที่มีต่อตน ถ้าทำได้จะเป็นการเกื้อกูลทั้งบุคคลอื่นด้วย ไม่ให้เป็นที่รัก แต่ให้เป็นที่เมตตา จะทำให้จิตของเขาเป็นกุศลเพิ่มขึ้น

คนที่เคยชอบที่จะให้เป็นที่รัก ต่อจากนี้ต้องระวังตัวแล้ว ใช่ไหม อย่าให้ใครรัก แต่ให้คนเมตตาจะดีกว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา

ไม่ทราบท่านผู้ฟังจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น โลภะต้องเป็นอกุศล เมตตาต้องเป็นกุศล

ส่วนใหญ่แล้วชาวโลกต้องการจะเป็นที่รัก แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของ ทางธรรม ก็เปลี่ยนจากการที่คิดอยากจะให้คนอื่นรัก เป็นคิดที่จะให้คนอื่นเมตตามากกว่า ไม่ต้องรักแต่ว่าเมตตา เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย เป็นลักษณะที่ต่างกับโลภะ

ถ้าเป็นโลภะ เดือดร้อนวุ่นวายมากมายใหญ่โต คนโน้นก็รัก คนนี้ก็รัก วุ่นวาย ใช่ไหม เดี๋ยวคนโน้นรักน้อย คนนี้รักมาก หรือว่าคนโน้นรัก และไม่ได้ทำตามใจที่ คนโน้นรัก คนนี้ไม่รัก สารพัดอย่างที่จะวุ่นวาย แต่ถ้าเป็นเรื่องเมตตา เป็นเรื่องที่สบายใจมาก ไม่มีการที่จะต้องเดือดร้อนประการใดๆ เลย

ต่อไปนี้ทุกท่านคงจะพิจารณาธรรมละเอียดขึ้นด้วยตัตรมัชฌัตตตา ซึ่งจะ ทำให้เห็นชัดในลักษณะที่ต่างกันของโลภะและเมตตา

ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่า เมตตากับโลภะใกล้กัน และคนที่จะรู้ลักษณะต้องมีความตรง คือ ตัตรมัชฌัตตตา ว่า นั่นเป็นเมตตาหรือเป็นโลภะ เราเองในฐานะ เป็นนักศึกษาธรรมยังพิจารณายากกว่าจะรู้ กว่าจะเข้าใจได้ และเราจะไปหวังเมตตาจากคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม หรือเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน ผมว่ายิ่งจะยากขึ้น

สุ. พยายามให้คนอื่นเกิดเมตตากับท่านแทนความรัก จะดีกว่าไหม

ถ. ใช่ แต่เมตตากับโลภะหรือราคะใกล้กัน เราก็ไม่รู้ที่เขาให้เราเป็นเมตตา หรือเป็นโลภะ

สุ. ท่านผู้ฟังรู้สึกว่า ไม่รู้ว่าใครรัก

ถ. แต่เขารักด้วยโลภะ

สุ. เพราะฉะนั้น รู้ ใช่ไหม แต่ท่านผู้ฟังก็มีข้อคิดอีกว่า ยากแสนยากที่จะให้เขาเปลี่ยนจากรักเป็นเมตตา เพราะแม้แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมเองก็ยังยากที่จะพิจารณา รู้ว่า เป็นเมตตาหรือเป็นโลภะ ใช่ไหม

ถ. ใช่

สุ. เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป ต้องสนใจที่จะเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม เห็นอกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล ช่วยตัวเองที่จะให้เป็นเมตตา แทนที่จะเป็นโลภะ และในขณะเดียวกันสำหรับผู้อื่นที่ฟังธรรมด้วยกัน ก็ต้องช่วยกันพิจารณาเพื่อที่จะได้เจริญเมตตามากกว่าที่จะมีโลภะ แต่เป็นสิ่งที่ยากและฝืนกระแสของคนอื่น เพราะทุกคนดูเหมือนพอใจที่จะได้รับความรัก ความเอาใจใส่ของคนอื่น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าขณะนั้นเป็นการเอาใจใส่ด้วยเมตตา ย่อมสะอาด และย่อม ไม่เกิดโทษภัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าทำด้วยความรัก จะเกิดเสียใจ จะเกิดน้อยใจ จะเกิดขุ่นเคืองใจได้ ซึ่งเป็นโทษของโลภะนั่นเอง แต่ตราบใดที่ยังไม่เห็นโทษ ตัตรมัชฌัตตตาไม่เกิด ไม่พิจารณา กุศลทั้งหลายก็เจริญไม่ได้

ถ. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คิดๆ แล้วคล้ายๆ กับอุเบกขาเวทนา แต่ องค์ธรรมของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเป็นเจตสิกดวงหนึ่ง ส่วนอุเบกขาเวทนานั้น เป็นเวทนาเจตสิก

สุ. ถูกต้อง

ถ. ลักษณะของตัตรมัชฌัตตตาที่ว่าเป็นกลางนั้น คืออย่างไร

สุ. เป็นสภาพที่ทำให้จิต เจตสิก สม่ำเสมอในอารมณ์ที่ปรากฏ คือ ไม่ตกไปในฝ่ายยินดีหรือยินร้าย ไม่เป็นไปด้วยฉันทาคติ หรือโทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ คือ ไม่ตกไปในฝ่ายอกุศลนั่นเอง

ถ. ถ้าพูดลักษณะอย่างนี้ คล้ายๆ กับอุเบกขาเหมือนกัน

สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะเข้าใจว่า อุเบกขาเป็นความเฉยๆ แต่ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา วันนี้รู้สึกเป็นอย่างไร ก็เฉยๆ อาหาร อร่อยไหม ก็เฉยๆ คนนั้นเป็นอย่างไร เรื่องนั้นเป็นอย่างไร เฉยๆ

คือ คิดว่าเฉยๆ นั้นเป็นอุเบกขา แต่ความจริงถ้าเป็นอุเบกขาเวทนาหมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่โสมนัส ไม่ใช่โทมนัส คือ ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่เสียใจ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เป็นความรู้สึกซึ่งเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตอะไร

อย่างเวลาที่ดื่มน้ำ รู้สึกอย่างไร เฉยๆ ถ้าถามถึงจึงรู้สึก แสดงถึง อุเบกขาเวทนา แต่ขณะนั้นที่ดื่มน้ำและเฉยๆ ไม่ใช่กุศล ตัตรมัชฌัตตตาต้อง เป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับกุศลจิต เพราะฉะนั้น เดินไปเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก รู้สึกอย่างไร รู้สึกเฉยๆ ซึ่งเฉยๆ ในขณะนั้นเป็นความรู้สึก ไม่ใช่โสภณจิต เป็นการ ไม่สนใจ แต่ตัตรมัชฌัตตตาเป็นความไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง ไม่เศร้าหมอง และ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เป็นโลภะ

ถ. ตกลงตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับจิต ที่เป็นกุศลอย่างเดียว ส่วนอุเบกขาเวทนาอาจจะเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ และในพรหมวิหาร ๔ นี้ องค์ธรรมของเมตตา คือ อโทสเจตสิก ส่วนกรุณา คือ กรุณาเจตสิก มุทิตา คือ มุทิตาเจตสิก และอุเบกขา คือ เวทนาเจตสิก

สุ. ไม่ใช่ อุเบกขาพรหมวิหารเป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ไม่ใช่เวทนา ถ้าเป็นพรหมวิหารต้องเป็นฝ่ายโสภณ เพราะฉะนั้น ต้องได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565